ตั้งวงนินทาผู้ใหญ่ โดย เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ แอนด์เดอะแก๊ง

ไม่กี่วันก่อน บนโลกโซเชียลได้มีการพูดถึงเพลงเพลงหนึ่งที่เขียนด้วยลายมือซึ่งขึ้นต้นประโยคว่า “ผู้ใหญ่เอ๋ยผู้ใหญ่ดีต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน” ทันทีที่เรากวาดสายตาอ่านจนจบ ก็รู้ว่าเป็นการล้อกลับเพลง ‘เด็กเอ๋ยเด็กดี’ และเนื้อเพลงนี้ก็ได้สะท้อนกลับและตั้งคำถามกับ ‘ผู้ใหญ่’

เพลงผู้ใหญ่ดี 10 ประการ (lyrics) ภาพ: เพจมนุษย์กรุงเทพฯ facebook.com/bkkhumans/

กระแสรูปดังกล่าวโด่งดังมากในช่วงเวลาไม่นาน จำนวนแชร์และคอมเมนต์ในเฟซบุ๊คพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับคอมเมนต์ที่แสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย บ้างก็ว่า

“ขอแชร์นะคะ”

“เพลงมีสาระที่สุดในรอบหลายปีเลย”

“สุดยอดคิดได้ไงเนี่ย สุดๆไปเลย”

“คงมีคนจุก…บ้างล่ะ”

เมื่อค้นต่อไปจึงได้ทราบว่าเนื้อเพลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘วันผู้ใหญ่แห่งชาติ 2017: แด่ผู้ใหญ่สมัยโลกพัฒนา’ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 ที่พิพิธภัณฑ์บางลำพู ถนนพระสุเมรุ กรุงเทพฯ จัดโดยกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทและสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา

เรานัดพวกเขาในวันที่ศิลปินเกาหลีขวัญใจเด็กไทยมาปรากฏตัวกลางสยามสแควร์ ท่ามกลางอากาศร้อนระอุ โดยเลือกที่จะหลบมุมร้อนมาพูดคุยกับทุกคนใต้ร่มไม้และผ้าใบสีน้ำเงินหน้าตึกคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากซ้ายไปขวา โน้ต-ปิยะบุตร ภูธัสพงษ์, พี-พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ และ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์

เขามากันสามคน คือ

โน้ต-ปิยะบุตร ภูธัสพงษ์ นักศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พี-พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ นักศึกษาปีสุดท้ายจากรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง

และ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักเรียนชั้นปีสุดท้ายของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ทั้งสามคนเป็นทีมที่ช่วยกันสกัดและขบคิดถ้อยคำจนตกผลึกออกมาเป็นเนื้อเพลง ‘ผู้ใหญ่ดี 10 ประการ’

“หิวจัง เสร็จจากนี้แล้วไปหาไรกินกันเถอะ” คือประโยคแรกที่เพนกวินเอ่ยเมื่อเจอหน้าเพื่อนๆ ครบทั้งสองคน แม้ทั้งสามจะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่บทสนทนาระหว่างพวกเราก็ต้องเริ่มต้นขึ้นแล้ว

รีวิวเพลงผู้ใหญ่ดี 10 ประการ

ถ้า ‘ผู้ใหญ่ดี 10 ประการ’ คือเงา ‘เด็กดี 10 ประการ’ ก็คือแสงแดด ในแง่ที่อุดมการณ์และความคิดของเด็กรุ่นหลัง ทำให้เกิดเพลงสำหรับผู้ใหญ่วันนี้

“มาแจงเพลงทีละข้อกันดีกว่า” พีโพล่งขึ้นกลางวงสนทนา เราจึงชวนพวกเขามาวิจารณ์แสงแดด

หนึ่ง…นับถือศาสนา

พวกเขาย้อนมองว่า แล้วคนไม่มีศาสนาจะเป็นคนดีไม่ได้หรือ ซึ่งปัจจุบันก็สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าคนไม่มีศาสนาสามารถเป็นคนดีได้เหมือนกัน

สอง…รักษาธรรมเนียมมั่น

“ธรรมเนียมคืออะไร ธรรมเนียมหรือวัฒนธรรม” พีหันไปถามเพื่อนๆ ทั้งสองคน ก่อนที่เพนกวินจะอธิบายต่อว่า “คำว่าธรรมะกับนิยม เมื่อรวมกันก็หมายถึงสิ่งที่เป็นที่นิยม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”

นอกจากนั้นแล้วโน้ตยังได้ยกตัวอย่างทศกัณฐ์ (มิวสิควิดีโอเพลง ‘เที่ยวไทยมีเฮ’ ที่ เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ ใส่ชุดโขนร้องและร่วมแสดง พาตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์ ทศกัณฐ์และเสนายักษ์ ตระเวนเที่ยวตามที่ต่างๆ) ที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เมื่อปีที่แล้ว ถือว่าธรรมเนียมมั่นมากๆ เพราะแก้ไขและแตะต้องแทบจะไม่ได้เลย

สาม…เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์

“แล้วถ้าสิ่งที่เชื่อตามกันมามันไม่ถูกต้องล่ะ เราต้องเชื่อด้วยเหรอ ซึ่งถ้าเราเชื่อไปตลอดนั้นจะไม่เท่ากับว่าเราจะไม่ออกจากกะลาเลยเหรอ เราจะอยู่กับที่แบบนี้ตลอดเลยเหรอ”

ไม่รู้ว่าพวกเขาย้อนถามกลับพวกเราในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่กว่า หรือเป็นการถามกลับต่อผู้ใหญ่อีกกลุ่ม แต่แน่นอนว่าพวกเราไม่ได้ตอบ

สี่…วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน

พวกเขาค่อนข้างเห็นด้วยกับเรื่องนี้แต่ก็มีข้อโต้แย้งเล็กน้อย แล้วหากสุภาพอ่อนหวานแต่ไม่มีสาระล่ะ รวมถึงยังอธิบายสิ่งที่สังคมมักเป็นกันก็คือ คุณพูดผิดเพราะคุณพูดไม่ดีหรือเถียงเขาไม่ได้ ก็เลยบอกว่าเขาเป็นคนก้าวร้าว โดยมองว่าเรามีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์อะไรสักอย่าง หรือมีสิทธิ์ที่จะ ‘หัวร้อน’ และควรมีการโต้เถียงกันอย่างมีเหตุมีผล มากกว่ามองแค่ว่าคุณพูดคำหยาบคือคุณผิด ก็ถูกมองว่าไม่ดีไปแล้ว

ห้า…ยึดมั่นกตัญญู

พวกเขาอธิบายว่า บริบทสังคมไทยนั้นไม่ใช่เรื่องความกตัญญูอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความคาดหวังและได้ยกตัวอย่างพ่อแม่บางคนที่อยากให้ลูกรับราชการเพื่อจะเอาสิทธิ์ค่ารักษาพยาบาล

ตัวอย่างนี้สามารถมองได้สองมุม มุมแรกคือ อิสรภาพทางความคิดของเด็กที่นอกจากจะถูกปิดกั้นแล้วยังถูกครอบงำอีกด้วย มุมที่สองคือการตั้งคำถามกลับไปที่รัฐ หากสิทธิ์ค่ารักษาพยาบาลทุกคนได้เท่ากันอย่างเท่าเทียม กล่าวคือรัฐมีความสามารถในการกระจายปัจจัยสี่ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค … ค่านิยมรับราชการเพื่อสิทธิ์ในค่ารักษาพยาบาลยังจะต้องมีอยู่ไหม

“แล้วถ้าเราตายไปก่อนใครจะดูแล” โน้ตชวนคิด

“แม่ผมเคยพูดว่า ถ้าแก่แล้วป่วยแบบรักษาไม่ได้ให้ปล่อยให้ตายไปเลย ซึ่งถ้าประเทศที่มีสวัสดิการที่ดีมันจะไม่มีคำแบบนี้” เพนกวินตอบด้วยน้ำเสียงเรียบๆ แต่กลับสะท้อนให้เห็นแนวคิดของคนอีกรุ่นที่ไม่คาดหวังอะไรจากรัฐที่พวกเขาเสียภาษีให้อีกต่อไป

“สะท้อนคุณภาพชีวิตของสังคมไทยดีจัง” โน้ตกล่าวติดตลกอย่างเศร้าๆ

 หก…เป็นผู้รู้รักการงาน

พวกเขาและเธอมองว่าในบริบทของเพลง คำว่า ‘รัก’ ในที่นี้หมายถึงการขยันทำงาน ซึ่ง ณ ตอนนี้การขยันทำงานนั้นเราต้องตอบตัวเองให้ได้ด้วยเช่นกันว่า เราทำเพื่ออะไร

“อย่ารักแต่งานจนไม่สนใจอะไร” เพนกวินกล่าวสั้นๆ

ในอดีต เรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวถูกมองว่าเป็นคนละเรื่อง ซึ่งในความจริงแล้ว บางครั้งงานชิ้นหนึ่งก็ดีได้เพราะมีส่วนผสมอย่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวที่ลงตัวและสอดคล้องกัน

เจ็ด…ต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญ ต้องมานะบากบั่น ไม่เกียจ ไม่คร้าน

ทั้งสามคนต่างเห็นพ้องกับเพนกวินที่มองว่า เด็กมีความสามารถที่จะเชี่ยวชาญได้ แต่ต้องสามารถเชื่อมโยงกับความสามารถอื่นๆ ในหลายด้านได้ด้วย การศึกษาสมัยก่อนเป็นการศึกษาในเชิงลึก แต่ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลนั้นสำคัญมากกว่า เพราะทุกอาชีพต้องสามารถนำทุกองค์ความรู้มาบูรณาการได้ เราจึงเห็นหมอบางคนวาดรูปเก่ง หรือการ์ตูนนิสต์บางครั้งเชี่ยวชาญด้านการดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง

แปดรู้จักออม ประหยัด

พวกเขาค่อนข้างเห็นด้วย แต่อยากให้ผู้ปกครองหันมาสอนลูกๆ ให้รู้จักบริหารเงินมากกว่าออมเงินอย่างเดียว

เก้าต้องซื่อสัตย์ตลอดกาล น้ำใจนักกีฬากล้าหาญ ให้เหมาะกับการสมัยชาติพัฒนา

พวกเขาเสนอว่า คำว่าซื่อสัตย์ในบริบทของเพลงนี้น่าจะเป็นเรื่องของความจงรักภักดีมากกว่า และมันก็สามารถที่จะโยงกลับไปสู่ข้อกตัญญูได้ ส่วนน้ำใจนักกีฬากล้าหาญ พวกเขาค่อนข้างเห็นด้วย พีมองว่า เมื่อคุณทำธุรกิจอย่างหนึ่งคุณก็ควรจะมี ถ้ามองว่าน้ำใจนักกีฬาคือจรรยาบรรณอย่างหนึ่ง

สิบ…ทำตนให้เป็นประโยชน์ รู้บาปบุญคุณโทษ สมบัติชาติต้องรักษา เด็กสมัยชาติพัฒนา จะเป็นเด็กดีพาชาติไทย เจริญ

“ประโยชน์ของใคร อะไรเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์”

พียกตัวอย่างสองอาชีพระหว่างเป็น ‘ทหาร’ กับ ‘สถาปนิก’ ในสายตาคนทั่วไปทหารคงเป็นอาชีพที่ทำประโยชน์ให้กับชาติ แต่จริงๆ แล้วการที่สถาปนิกออกแบบตึก สร้างตึกมาก็สามารถทำประโยชน์ให้ชาติได้เช่นกัน

ในประเด็นของเรื่องสมบัติของชาติ เพนกวินอธิบายว่า ประเทศไทยนั้นมีความเป็น collective ไม่สุด หากเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นแล้ว จะเห็นได้ว่าสมบัติของชาติส่วนใหญ่นั้นทุกคนเป็นเจ้าของ แต่หากย้อนกลับมามองในสังคมไทย เขาสงสัยว่ามันมีความเป็นของทุกคนอยู่ในนั้นมากน้อยแค่ไหน

“ในไทยมันเป็นการสถาปนาลอยๆ ขึ้นมาเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งนำไปใช้ให้เกิดความภาคภูมิใจต่อตัวเองหรือเอาไปใช้กดคนอื่น เวลาผู้ใหญ่พูดว่าเด็กเดี๋ยวนี้ไม่มีจิตสาธารณะ คำถามคือเด็กเข้าไปมีส่วนร่วมในนั้นขนาดไหน ทำไมฝรั่งเคารพกฎ เพราะส่วนรวมเป็นของเขา เป็นของสังคมด้วย เพราะส่วนรวมมาช่วยพวกเขา การที่เราไม่มีความเป็นเจ้าของก็ไม่ต่างอะไรกับการเช่าเขาอยู่” โน้ต อ้างคำพูดของ อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา

พร้อมกันนั้นเองโน้ตยังได้ถามกลับในฐานะนักศึกษาที่เรียนด้านการสื่อสารมวลชนว่า “อย่างเรื่องของคลื่นวิทยุและคลื่นโทรทัศน์ที่เป็นสมบัติของรัฐ แต่จำนวนช่องฟรีทีวีนั้นมีน้อยนิด กลายเป็นประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้น้อยมาก ซึ่งการรักษาสมบัติของรัฐแบบนี้ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ และถ้ามัวแต่รักษาไว้แต่ไม่นำมาใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์”

นักศึกษาสายศิลปะอย่างพียกตัวอย่างใกล้ตัวคือเรื่องวงการศิลปะไทย ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังคงชื่นชมแต่ศิลปะที่อนุรักษนิยมมากๆ เช่น งานที่มีลวดลายไทยเข้ามาผสมผสาน แต่งานชนิดอื่นกลับไม่ได้รับการสนับสนุน ยิ่งไปกว่านั้นบางอย่างไม่สามารถแตะต้องได้ด้วยซ้ำ

ออกกะลา: ที่มาของ ‘ผู้ใหญ่ดีสิบประการ’

“เพลงผู้ใหญ่เอ๋ยผู้ใหญ่ดีสิบประการนั้นเป็นการแต่งขึ้นมาเพื่อใช้ในงานเสวนาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยหากพูดกันอย่างหยาบๆ แล้วก็เป็นการแต่งขึ้นเพื่อล้อวันเด็กแห่งชาติ เพราะว่าเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีเป็นเพลงที่คอยบอกว่าเด็กควรทำตัวอย่างไร เราเลยลองทำขึ้นมาบ้าง ก็เลยกำหนดธีมผู้ใหญ่ประจำปี โดยปีนี้คือ ‘ออกกะลา’ ส่วนอีกข้อหนึ่งคือ ต้องการบอกผู้ใหญ่ว่าโลกของเด็กซึ่งเป็นโลกที่เขาตามไม่ทันมันเป็นยังไง” เพนกวินเล่า

แล้วโลกของเด็กและโลกของผู้ใหญ่มันต่างกันยังไง?

พีและโน้ตอธิบายว่าจริงๆ แล้วพวกเขาพยายามจะบอกว่า เด็กกับผู้ใหญ่ก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกัน แต่การที่พวกเขาโดนปิดกั้นทางความคิด ทำให้ผู้ใหญ่ไม่ได้ยินเสียงที่พวกเขาต้องการจะสื่อ ยกตัวอย่างเช่น ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการศึกษา แต่ไม่มีใครสนใจมากนักเพียงเพราะพวกเขาเป็นเด็ก

“การที่เรามองว่าเด็กและผู้ใหญ่เป็นคนเหมือนกัน เท่ากับว่าคนนั้นต้องมีความหลากหลาย เพราะถ้าเกิดเราโตมาเป็นพิมพ์แบบเดิมๆ ก็แสดงว่าเราไม่มีความเป็นคน เพราะเราไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ธรรมชาติของแต่ละคนคือ แต่ละเจเนอเรชั่น ยังไงก็ไม่มีทางคิดเหมือนกันแน่ๆ”

ดูเหมือนทั้งสามคนที่มองว่าตัวเองเป็นปากเป็นเสียงและต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของเด็กนั้น พวกเขาเพียงต้องการให้ผู้ใหญ่ทุกคนยอมรับ เคารพและปล่อยให้พวกเขาเดินไปตามทางของเขา

แต่… “อย่ามาคาดหวังอะไรจากพวกเราเลย” เพนกวินพูดขึ้นอย่างติดตลก ท่ามกลางเสียงหัวเราะจากพวกเราทุกคน

พีให้คำตอบที่น่าสนใจว่า “คนทุกคนสามารถเป็นคนรุ่นใหม่ได้ ถ้าเราก้าวทันโลก ถ้าเรารู้ว่าเทรนด์ตอนนี้มันเป็นยังไง อาชีพมันเปลี่ยนไป ทุกอย่างมันเปลี่ยนไป ทุกคนสามารถเป็นคนรุ่นใหม่ได้หมด แม้ว่าจะอายุเกินห้าสิบแล้วก็ตาม”

ช่วงตอบคำถามสื่อมวลชน

ผู้ใหญ่แบบไหนที่พวกคุณไม่ชอบ?

โน้ต: ผู้ใหญ่ที่ชอบมองอะไรแคบๆ หรือไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นนอกจากตัวเอง

พี: ผู้ใหญ่ที่ชอบครอบงำหรือตีกรอบความคิด “ไม่ต้องรู้หรอก เดี๋ยวก็รู้เองแหละ เป็นเด็กอย่าทำแบบนี้สิ พูดแบบนี้โดยไม่มีเหตุผลอะไรมารองรับ ซึ่งจริงๆ แล้วหนูเห็นว่าทั้งสองฝ่ายต้องรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกันสิ ถึงจะถูกต้อง”

เพนกวิน: “ผู้ใหญ่ขี้เสือก”

สิ้นเสียง ทั้งคนพูดคนฟังหัวเราะขึ้นมาพร้อมกัน โน้ตและพีเองก็แสดงท่าทีเห็นด้วยก่อนที่เพนกวินจะอธิบายต่อว่า

“ขี้เสือกมีสองแบบ แบบแรกคือละลาบละล้วงซึ่งอันนี้พอจะรับได้ ส่วนอีกอย่าง คือการคิดแทน”

เขายกตัวอย่างกรณีการกำหนดชีวิตการเรียน เช่น

“ทำไมไม่เลือกเรียนอันนี้ล่ะ บ้านนู้นเป็นแบบนี้ทำไมเราไม่เป็น”

คุณแยกแยะเส้นแบ่งระหว่าง ‘ขี้เสือก’ กับ ‘ห่วงใย’ อย่างไรที่จะทำให้พวกคุณรู้สึกว่า นี่คือล้ำเส้นแล้ว

เพนกวิน: ความขี้เสือกกับความเป็นห่วง จริงๆ เราต้อง define (นิยาม) ให้ได้ก่อนว่า พื้นที่นั้นเป็นของใครเมื่อก้าวเข้ามาแล้วเขาไม่มีสิทธิ์มาบังคับ ถ้าเป็นความรักที่ผิดมันจะเป็นความรักที่อันตราย

พี: เป็นห่วงได้ แต่ต้องให้โอกาสด้วยและเราก็ต้องรับผิดชอบตัวเองด้วยเช่นกัน

ถ้าวันเด็ก ผู้ใหญ่เขาพาเด็กๆ ไปสวนสัตว์ ดูเครื่องบิน ไปสภา แล้ววันผู้ใหญ่ อยากพาเขาไปไหน

พี: อยากพาไปทำกิจกรรมที่เธอชอบทำ เช่น การพาไปเล่นเกม โดยเธอยังเล่าต่อว่า

“ตอนที่เกมส์ Pokémon Go ออกมาแรกๆ ก็ลองชวนแม่เล่นไม่คิดว่าจะเล่นจริงๆ ตอนนี้กลายเป็นติดมากจ้า”

เราหัวเราะและนึกภาพผู้ใหญ่วัยกลางคนที่บ้านที่ตอนนี้เล่นเกมและติดโซเชียลหนักมากกว่าเราซะอีก

โน้ต: อยากพาแม่ไปหอศิลป์ เพื่อที่แม่จะได้รู้จักเรามากขึ้น เข้าใจโลกของกันและกัน รวมถึงการที่โดนบังคับพาไปในสถานที่ที่ตัวเองไม่ชอบนั้นจะได้เข้าใจว่ารู้สึกยังไง

เพนกวิน: คงจะพาไปห้องสมุดหรืองานกิจกรรมที่เขาทำ ก่อนจะนั่งนึกสักพัก และตบโต๊ะรัวเมื่อคิดอะไรบางอย่างออก ก่อนจะถ่ายทอดออกมาให้ฟัง

“มีครั้งหนึ่งผมต้องไปบรรยายเรื่องค่านิยมสิบสองประการ ซึ่งครั้งนั้นพ่อไปส่งและเป็นครั้งเดียวที่พ่อไป ระหว่างการบรรยายผมก็นั่งคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ อาจารย์ก็ชี้ให้ดูผู้ชายคนนั้นสิ ผิวก็คล้ำลักษณะคล้ายทหาร ฟังก็ไม่ตั้งใจฟัง หลับด้วย ต้องใช่แน่ๆ ผมก็บอกอาจารย์ไปว่า เออ อาจารย์ครับ นั่นพ่อผม”

สิ้นประโยค เสียงหัวเราะจากทั้งโต๊ะก็ดังขึ้น เรานึกภาพหน้าอาจารย์ท่านนั้นออก แม้เราจะไม่รู้จักกันก็ตาม

“จริงๆ แล้วผมอยากให้ผู้ใหญ่มาดูว่าเรากำลังทำอะไร เพื่อจะได้เข้าใจกันและกันมากขึ้น” เพนกวินกล่าวทิ้งทาย

บทสนทนาของวันนี้จบลงอย่างสนุกสนาน พวกเขาขอตัวไปกินข้าวตามที่วางแผนเอาไว้ พวกเราจึงกล่าวลาและแน่นอนว่าต้องไม่ลืมที่จะแอดเฟรนด์เป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊ค

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า