ทวงถาม 4 ปัญหาเร่งด่วนองค์การเภสัชกรรม

Board26Oct14_3

 

(26 ต.ค.57) ความคืบหน้าจากเมื่อบ่ายวานนี้ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) หลังจากตัวแทน 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพได้ยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของ อภ. ก่อนหน้าที่คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมที่มี พล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร เป็นประธานจะเข้าประชุม ทั้งนี้ หลังการประชุมตัวแทนเครือข่ายสุขภาพแจ้งว่าบอร์ด อภ. มีมติเลิกจ้าง นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.

 

4 ปัญหาเร่งด่วนที่รอการแก้ไขจากองค์การเภสัชกรรม มีดังต่อไปนี้

 

  1. การบริหารจัดการการผลิตยาจําเป็น โดยเฉพาะยาต้านไวรัสเอชไอวี และยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น ยาเบาหวาน ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมัน ที่องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของประเทศยังคงขาดแคลน ดังเช่นที่โรงพยาบาลในหลายจังหวัดยังจําเป็นต้องเกลี่ยยาต้านไวรัสเอฟฟาไวเรนช์ (EFV) ให้กับคนไข้ครั้งละ 10-15 เม็ด หรือบางโรงพยาบาลจําเป็นต้องไปซื้อจากบริษัทเอกชนมาสํารองให้คนไข้ไปก่อนทั้งที่จังหวัดร้อยเอ็ด หนองบัวลําภู เลย และบางส่วนในจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้ เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯและชมรมเภสัชชนบทกําลังเร่งรวบรวมข้อมูล

 

  1. การดําเนินการเพื่อเร่งเปิดใช้งานโรงงานผลิตยารังสิตโดยด่วน เพื่อรองรับการขาดแคลนเวชภัณฑ์ จนถึงขณะนี้ยังไม่มี ความคืบหน้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้อํานวยการองค์การเภสัชกรรมไม่สนับสนุนนโยบายของบอร์ดหรือไม่

 

  1. ยังไม่มีการตรวจสอบและเอาผิดกับการเช่าพื้นที่โรงพยาบาลมหาสารคามอินเตอร์ จัดบริการศูนย์ล้างไต และการจัดจ้างที่ปรึกษาที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

 

  1. ยังไม่มีผลการสอบประเมินประสิทธิภาพการทํางานของ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อํานวยการ อภ. ซึ่งหากไม่มีประสิทธิภาพจริง การปล่อยให้อยู่ในตําแหน่งต่อไปจะเป็นการถ่วงรั้งองค์การเภสัชกรรมในภาพรวม

 

อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ได้ทำหนังสือร้องต่อ พล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานบอร์ด อภ. และต่อมาได้รับเชิญให้ร่วมหารือกับประธานบอร์ด อภ.และคณะกรรมการบางส่วนเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา โดยที่ประธานบอร์ด อภ.ได้ยืนยันต่อสาธารณชนผ่านการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า จะเร่งแก้ปัญหาด้วยการเร่งผลิตยาจำเป็นก่อน เร่งเปิดโรงงานผลิตยาที่รังสิตให้เปิดโรงงานได้ภายในต้นปี 2558 และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ.ว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ จึงต้องมาทวงถามความคืบหน้า เพราะขณะนี้ ทุกปัญหายังคงอยู่เหมือนไม่ได้รับการแก้ไข

 

“ขณะนี้ผ่านมาเดือนเศษแล้วนับแต่การหารือ แต่ปัญหาเร่งด่วนต่างๆ เหมือนยังไม่ได้ถูกแก้ไขเลย โรงพยาบาลในหลายจังหวัดยังจำเป็นต้องเกลี่ยยาต้านไวรัสเอฟฟาไวเรนช์ (EFV) ให้กับคนไข้ครั้งละ 10-15 เม็ด หรือบางโรงพยาบาลจำเป็นต้องไปซื้อจากบริษัทเอกชนมาสำรองให้คนไข้ไปก่อน ทั้งที่จังหวัดร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู เลย และบางส่วนในจังหวัดนครราชสีมา

 

“ขณะนี้เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯและชมรมเภสัชชนบทกำลังเร่งรวบรวมข้อมูล แต่จนถึงขณะนี้กลับไม่มีความคืบหน้าเรื่องการเปิดใช้งานโรงงานผลิตยาที่รังสิต เราต้องการทราบว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ทั้งที่บอร์ดมีนโยบายให้เร่งเปิดใช้งานแล้ว เป็นเพราะผู้อำนวยการ อภ.จงใจไม่สนองนโยบายบอร์ด โดยที่ไม่สนใจว่าปัญหายาขาดกระทบกับชีวิตของผู้ป่วยมากนอกแค่ไหนหรือไม่”

 

นอกจากนี้ ตัวแทน 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพยังมาทวงถามคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะของประธานบอร์ดบอร์ด อภ. ที่ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและประเมิน นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ.

 

“จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีผลการสอบประเมินประสิทธิภาพการทำงานของ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ. ซึ่งหากไม่มีประสิทธิภาพจริง การปล่อยให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจะเป็นการถ่วงรั้งองค์การเภสัชกรรมในภาพรวม หากปัญหานี้ไม่ถูกแก้ไข หรือลากออกไปต่ออีก 3 เดือน 6 เดือน การบริหารงานที่ผิดพลาดและความไร้ประสิทธิภาพของ ผอ. จะหมายถึงชีวิตของผู้ป่วยและเป็นการทำลายความมั่นคงในระบบยาโดยรวมของประเทศ ซึ่งไม่มีใครได้ประโยชน์นอกจากบริษัทยาเอกชนเท่านั้น”

 

ทางด้าน สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเสริมว่า ไม่เพียงปัญหายาต้านไวรัสขาดแคลน ขณะนี้มีแนวโน้มว่า ยาจำเป็นอีกหลายตัวขาดแคลนเพิ่ม

 

“เช่น ยาโคลพิโดรเกล ซึ่งเป็นยาละลายลิ่มเลือด เป็นยาที่ทำซีแอลเดิม อภ. เคยทำหน้าที่ซื้อจากอินเดียเข้ามาให้ทุกระบบสุขภาพ แต่พบว่า ขณะนี้การสั่งยาทำเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพเท่านั้น เชื่อว่าอีกไม่นานยาตัวนี้ในระบบประกันสังคมจะขาดแคลน หากต้องไปซื้อของบริษัทเอกชนราคาจะเพิ่มขึ้นจากเม็ดละ 3 บาทที่ อภ. รับดำเนินการอยู่จะเป็นเม็ดละ 30 บาททันที”

 

นอกจากนี้ ยังไม่มีการตรวจสอบและเอาผิดกับการเช่าพื้นที่โรงพยาบาลมหาสารคามอินเตอร์จัดบริการศูนย์ล้างไต และการจัดจ้างที่ปรึกษาที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ในประเด็นนี้ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ กำลังเร่งรวบรวมข้อมูลและพิจารณานำเรื่องร้องเรียนต่อ ปปช. ต่อไป

 

ทั้งนี้ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิเภสัชชนบท ได้ร่วมกันสักการะอนุสาวรีย์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ผู้ก่อตั้งองค์การเภสัชกรรม ก่อนเข้าหารือกับพล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานบอร์ด อภ. เป็นเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนที่บอร์ดจะเริ่มประชุม

 

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า