คำตอบที่สุดปลายรุ้ง: ความรักไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศใด

 

“อยากให้โลกนี้เป็นโลกที่ลูกๆ ของเราไม่ต้องเปิดตัวแต่อย่างใด เพราะว่าพวกเขาไม่ต้องซ่อนตัวเองตั้งแต่แรก ซึ่งจากประสบการณ์ของตัวเอง ดิฉันทราบดีว่าลูกสาวรู้สึกกลัวที่จะต้องมาเปิดตัวให้โลกรู้ คล้ายๆ กับเด็กๆ ทุกคนในโลกที่กลัวที่จะ come out หรือเปิดตัว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะส่งเสริมในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกๆ คน”

คำกล่าวของ โดนิกา พ็อทธี (Donica Pottie) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ที่มีต่อบุตรสาวผู้มีความหลากหลายทางเพศ บอกเล่าถึงประสบการณ์ในชีวิตและยังบอกเราให้ตระหนักท่ามกลางฟ้าครึ้มเหนือมหานครกรุงเทพฯ ว่าอาจจำเป็นต้องถึงเวลาแล้วที่ขอบฟ้าอันสดใสของการเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศในครอบครัวอันเต็มไปด้วยจารีตประเพณีที่เป็นมาแต่อดีตของสังคมไทยต้องเปลี่ยนแปลงเสียที

17 พฤษภาคม ในที่อื่นๆ ทั่วโลก คือ ‘วันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ’ (International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia หรือ IDAHOT) สำหรับประเทศไทยได้จัดมาแล้วตั้งแต่ปี 2558 มาในปีนี้ งานได้รับการจัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘ครอบครัวสายรุ้ง’ หรือ Rainbow Family มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมทั้งกระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ธนาคารโลก ยูเนสโก สถานทูตแคนาดา สถานทูตอังกฤษ ตลอดจนพันธมิตรอีกกว่า 30 องค์กร

จุดมุ่งหมายของงาน นอกจากจะเน้นย้ำถึงความท้าทายที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เผชิญมาและกำลังเผชิญ ยังรวมไปถึงการนำเสนอบทบาทของคนภายในครอบครัวที่มีส่วนช่วย หรือมีส่วนในการสร้างเสริมแรงบันดาลใจต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศให้เกิดความกล้าหาญ เพื่อจะประกาศต่อสังคมว่า นี่แหละคือสิ่งที่ฉันเป็น

17 พฤษภาคม ‘วันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ’ (International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia หรือ IDAHOT)

กรอบความเป็นแม่

เรื่องเล่าของครอบครัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ อันธิกา แสงชัย ในฐานะของผู้เป็นแม่และในฐานะตัวแทนคนรักเพศเดียวกัน ได้แบ่งบันประสบการณ์ว่า แต่แรกนั้นตนเองก็แต่งงานอยู่กินกับสามีตามปกติ มีลูกสาวด้วยกัน 1 คน จากนั้นอันธิกาได้เลิกรากับสามี ก่อนจะมาใช้ชีวิตอยู่กับคนรักที่เป็นเพศเดียวกันจนกระทั่งปัจจุบัน

ในระยะแรกของชีวิตคู่และชีวิตครอบครัว อันธิดายอมรับว่าค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนรักเพศเดียวกัน ตลอดจนการตั้งคำถามต่อความเป็นแม่

ความเป็นแม่ในสังคมไทยค่อนข้างจะมีกรอบอย่างชัดเจน ความเป็นแม่มีข้อบังคับเยอะมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราจะต้องตัดสินใจด้วยว่า เราจะใช้ชีวิตในฐานะของผู้หญิงรักต่างเพศ หรือผู้หญิงรักเพศเดียวกัน แต่พอถึงช่วงที่จะเปลี่ยนนี่แหละค่ะ มันพลิกเลย มันถล่มทลาย”

ถึงกระนั้น อันธิกามองว่าคำถามสำคัญที่สุดที่จำต้องตอบให้ได้คือ คำถามจากตัวเธอเอง คำถามที่นำไปสู่การค้นหาคุณค่าในตัวเอง คุณค่าที่นำไปสู่คำตอบที่ว่า ชีวิตที่เลือกแล้วนี้มอบความสุขได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

อันธิกา แสงชัย นักวิชาการ นักกิจกรรม และเจ้าของร้านหนังสือบูคู ปัตตานี

ด้วยทัศนคติและการตีกรอบที่ค่อนข้างจำกัด อันธิกากล่าวว่านอกจากต้องเผชิญกับคำถามต่อบทบาทความเป็นแม่ ยังต้องเผชิญคำถามต่อบทบาทความเป็นลูกอีก เนื่องจากครอบครัวของอันธิกาไม่เคยรับรู้ว่าตัวเธอนั้นไม่อยากใช้ชีวิตร่วมกับสามีที่เป็นคนต่างเพศแล้ว ในมุมมองของอันธิกา บทบาทที่พลิกผันในห้วงเวลานั้น สังคมไม่เพียงไม่มีคำตอบให้กับความเป็นแม่ที่เปลี่ยนแปรไปของเธอเท่านั้น สังคมยังเป็นสังคมที่ไม่ปลอดภัยต่อสถานะความเป็นแม่ และความเป็นผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงอีกด้วย

“มันเป็นเรื่องยากของคนทุกคนที่เผชิญหน้ากับเรื่องราวเหล่านี้ เพราะว่ามันไม่เป็นไปตามกรอบของสังคม มันไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม และมันมีคุณค่าบางอย่างที่สำคัญมาก คือคุณค่าของครอบครัวนี่แหละค่ะ มันคือจุดสูงสุดของชีวิตมนุษย์ และยิ่งพอเวลาที่เรามีลูก เวลาที่เราเป็นภรรยา เวลาที่เราเป็นผู้หญิงที่ดีของสังคม เวลาที่เราเป็นแม่ มันบังคับความเป็นผู้หญิง”

เมื่อได้คำตอบที่ชัดเจน อันธิกาจึงสามารถที่จะบอกกล่าวให้ครอบครัวได้รับรู้ สามารถที่จะเข้มแข็งเพื่อจะยืนหยัดในสังคมที่พูดใส่ลูกสาวของเธอด้วยท่วงทำนองที่ว่า ก่อนนี้เคยมีแม่ที่ปกติ แต่ตอนนี้แม่ไม่ปกติแล้ว

หลังจากโซซัดโซเซกับคำถามและกรอบที่ชี้นำของสังคม อันธิกาบอกว่า ถึงเวลาที่ควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบต่อสังคมที่ไม่เคยมีทางเลือก ไม่เคยบอกว่าเพศมีความหลากหลาย ว่าคนที่ไม่ได้มีความรักแค่ในกรอบของหญิง-ชาย ก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ด้อยไปกว่า

เมื่อหวนกลับมามองดูลูกสาว อันธิกากังวลว่า ในอนาคตหากสังคมยังไม่เติบโต ยังละทิ้งคนบางคนของสังคมให้กลายเป็นคนที่ถูกตีตรา ถูกเหยียด และถูกเลือกปฏิบัติ ลูกสาวของเธออาจเผชิญคำถามและกรอบที่เธอเคยเผชิญมาแล้วเช่นเดียวกัน

วันที่กล้าเปิดเผย

สำหรับ โดนิกา พ็อทธี เธอมองว่า การเลือกใช้ชุดถ้อยคำบางอย่างที่จะสื่อสารไปยังลูกก็มีความสำคัญเช่นกัน เช่น ในตอนเด็กๆ คนทั่วไปมักจะมีชุดคำต่อลูกสาวในทำนองว่า พอหนูโตขึ้น คุณพ่อคงจะต้องไว้หนวดให้ดูเข้มเพื่อกีดกันไม่ให้ผู้ชายเข้ามาจีบ ซึ่งคำพูดทำนองนี้นอกจากเป็นการตีกรอบในเรื่องเพศสภาพแล้ว ยังจำกัดกรอบทางเลือกให้เด็กผู้หญิงต้องเติบโตขึ้นมาเพื่อแต่งงานกับผู้ชายเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่พ็อทธีพยายามบอกก็คือ จำเป็นที่จะต้องให้ความรู้กับลูกๆ ว่า ความรักนั้นมีได้หลายรูปแบบ และความหมายของความเป็นครอบครัวไม่ได้จำกัดแค่คู่สามี-ภรรยา ในรูปแบบของชาย-หญิงเท่านั้น

อย่างลูกสาวของดิฉันเอง เมื่อถึงวันที่เธอเดินมาเปิดตัวกับดิฉันแล้ว แม้ว่าชีวิตของเธอจะต้องเดินต่อไปตามปกติ แต่ข้อเท็จจริงในการเลือกปฏิบัติยังคงดำรงอยู่ และเกิดขึ้นจากน้ำมือของผู้ใหญ่อย่างเราๆ นี่เอง ในฐานะของแม่ ดิฉันจะบอกให้ลูกสาวรับรู้อย่างสม่ำเสมอว่า เธอเป็นคนที่ดี เป็นคนที่มีค่าเพียงไร และดิฉันรักเธอมากแค่ไหน”

โดนิกา พ็อทธี (Donica Pottie) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย

ฝันของเรา ฝันของครอบครัว

เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ไบรอัน จอห์น เดวิดสัน (Brian John Davidson) บอกเล่าประสบการณ์จากเมื่อครั้งที่ได้บอกกล่าวให้แม่รับทราบถึงเพศสภาพของเขาว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่น่าหวาดหวั่น เพราะทั้งพ่อและแม่ล้วนคาดหวังในตัวเขามาก

“สิ่งที่ผมห่วงในตอนนั้นไม่ใช่ห่วงความหวัง หรือความฝันของตัวเอง แต่ห่วงความคาดหวัง ความฝันของครอบครัว ของพ่อและแม่ ว่าเราจะไม่สามารถเป็นในสิ่งที่ครอบครัวต้องการได้ และจากอดีตที่ไม่เคยเชื่อว่าจะได้มาทำงานในตำแหน่งนี้ จะได้สร้างครอบครัว ได้แต่งงานกับคนที่รักแบบนี้ จากจุดนั้นมาถึงจุดนี้ ผมถือว่าตัวเองเป็นคนที่โชคดีมาก ซึ่งอย่างที่คุณพ็อทธีได้บอกไว้ว่า ครอบครัวนั้นมีได้หลายรูปแบบ ครอบครัวของคุณพ็อทธีก็แบบหนึ่ง ครอบครัวของผมกับสก๊อต (Scott Kelly Chang) พร้อมกับลูกชายก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ถึงที่สุดแล้ว เราก็ตระหนักได้ว่าครอบครัวของเราสามารถขยายได้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือเพื่อนของเพื่อน รวมทั้งครอบครัวที่อยู่รอบๆ ที่คอยสนับสนุนตลอดเส้นทางของความรักของครอบครัวเรา”

เอกอัครราชทูตเดวิสัน ยังกล่าวขอบคุณทั้งต่อผู้บริจาคสเปิร์มและผู้ตั้งครรภ์ให้กับลูกชาย ซึ่งล้วนมีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างครอบครัวขึ้นมา

คำว่า ‘ครอบครัว’ ในนิยามของเดวิสัน ไม่ได้จำกัดแค่เพียงครอบครัวของเขาเอง แต่ยังขยายไปจนถึงครอบครัวสีรุ้งอื่นๆ ที่จะต้องเป็นชุมชนที่เด็กๆ ในครอบครัวของพวกเขาจะไม่ต้องกังวลถึงความหวาดกลัวเช่นที่ตัวเขาเคยเผชิญอีกต่อไป เพราะไม่จำเป็นต้องมีการเปิดตัวใดๆ ลูกๆ ของครอบครัวสีรุ้งจะต้องเติบโตขึ้นโดยรับรู้ถึงความหลากหลายทางเพศที่มีหัวใจหลักสำคัญ นั่นก็คือ ความรักของกันและกัน

ไบรอัน จอห์น เดวิดสัน (Brian John Davidson) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

สถานที่ของความปลอดภัย

“ดิฉันเคยเดินทางไปต่างประเทศ ได้พบว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศในเอเชียเป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาสเป็นอย่างมาก หลายคนถูกผลักออกไปจากครอบครัว ไม่มีงานทำ ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ โดยเฉพาะประเทศที่มีความเคร่งครัดในจารีตประเพณี”

ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อังคณา นีละไพจิตร บอกเล่าเสี้ยวประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นพยาบาล และเธอยังมีส่วนในการพยาบาลเด็กที่เกิดมามีสองเพศในร่างเดียว ก่อนที่เด็กคนนั้นจะถูกแม่ตัดสินใจเลือกเพศให้เหลือเพียงหนึ่งจากการผ่าผัด ซึ่งทำให้เด็กประสบสภาวะที่ทุกข์ทรมานจากทางที่ตนเองไม่มีสิทธิ์ได้เลือก และเด็กคนนี้เป็นหนึ่งในผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่เคยได้รับโอกาสใดๆ ด้วยข้อจำกัดของจารีต ประเพณี และกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งศาสนาที่กีดกันโอกาสในการเข้าถึง ตลอดจนโอกาสที่จะเปิดใจรับรู้การมีอยู่ของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ

สิ่งหนึ่งที่ดิฉันอยากจะขอเน้นย้ำ ในฐานะที่ดิฉันเป็นแม่ ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างน้อยที่สุดเราจะทำอย่างไรให้ครอบครัวเป็นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ ทุกคน ครอบครัวจะต้องเป็นที่ที่จะสอนให้มนุษย์รู้จักความรัก และรู้จักที่จะให้ความรักแก่คนอื่น เมื่อไรก็ตามที่ครอบครัวเป็นที่ที่ทำให้เด็กเรียนรู้ความรุนแรง เมื่อนั้นเยาวชนของเราที่เติบโตขึ้นก็จะไปใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น

“ดิฉันขอยืนยันว่า เราจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับมนุษย์ด้วยกัน เราต้องยืนยันว่าจะไม่เลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ทุกกลุ่ม และเราต้องถือว่าครอบครัวเป็นจุดเล็กที่สุดของสังคม เมื่อครอบครัวเข้มแข็ง เมื่อครอบครัวมีความเป็นมนุษย์ที่เสมอภาคเท่าเทียม ดิฉันเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถนำพาชุมชน สังคมของเรา ให้มีความเข้มแข็ง และยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคนได้ในที่สุด”

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สุดปลายสายรุ้ง

ดวงไฟหลากสีสุกสว่างขึ้นท่ามกลางความมืดที่โรยตัวลงมา ขณะที่ผู้คนทยอยแยกย้ายไปคนละทาง อีกไม่นานไฟคงดับ แล้วแสงสว่างของรุ่งเช้าจะเวียนมาอีกครั้ง

สิ่งที่ทั้งเอกอัครราชทูตแคนาดา เอกอัครราชทูตอังกฤษ รวมถึงผู้หลากหลายทางเพศได้ร่วมมาแบ่งปันประสบการณ์เพื่อบอกกล่าวต่อเรา ตอกย้ำซึ่งสิ่งที่สำคัญมากกว่าการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศก็คือ ‘บ้าน’ บ้านที่แท้จริง และเป็นอนาคตของลูกหลาน ไม่ว่าเขาจะเติบโตขึ้นเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือมีทัศนคติอย่างไรต่อเรื่องเพศสภาพ

บ้านที่แสนอบอุ่น ต้องไม่ใช่แค่เพียงมอบความรัก แต่ยังต้องมอบความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ มอบความเข้าใจในฐานะของคนในครอบครัว เพราะรุ้งนั้นให้หลากสีเพียงไร หากสีที่แท้จริงของรุ้งนั้นมีเพียงหนึ่งเดียว

เฉกเช่นกัน มนุษย์ให้หลากหลายแค่ไหน เราล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน

ทุกคน ทุกเพศ


Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า