ไอจีในมือเด็ก

แม้อินสตาแกรมจะกำหนดให้อายุขั้นต่ำของผู้ใช้ไว้ที่ 13 ปี แต่เอาเข้าจริง เด็ก 8 ขวบข้างบ้านกลับเชี่ยวชาญจนสอนผู้ใหญ่หัดแต่งรูปในไอจีได้แล้ว

เรื่องแบบนี้ไม่ว่าไทยหรือเทศก็เหมือนกัน ยกตัวอย่างจากเมืองผู้ดี จากการสำรวจของ OfCom หน่วยงานที่ดูแลและควบคุมการสื่อสารของอังกฤษ พบว่า เด็กอายุ 12-15 ปีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เล่นอินสตาแกรม และเด็กอายุ 8-11 เล่นอินสตาแกรมจำนวน 43 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่ Ofcom สงสัยมากกว่านั้นคือ เด็กๆ และเยาวชนเหล่านี้เข้าใจในเนื้อหาและเงื่อนไขที่พวกเขา agree ลงไปก่อน register หรือไม่

ผลการสำรวจดังกล่าวถูกรวบรวมไว้ในรายงานเรื่อง ‘Growing Up Digital’ ซึ่งจัดทำโดยต้นสังกัดใหญ่อย่างคณะกรรมาธิการด้านเด็กและเยาวชนแห่งประเทศอังกฤษ (UK Children’s Commissioner) ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

รายงานฉบับดังกล่าว นำเสนอผลการสำรวจ และพบว่าความเข้าใจของเด็กๆ ต่อเนื้อหาและการเข้าใจอินสตาแกรม เท่ากับ 0

“คุณแน่ใจเหรอว่ามันจำเป็น หนูคิดว่ามันก็เหมือนกับเพจเฟซบุ๊คอื่นๆ (อีกหลายร้อยเพจ) นั่นแหละ” เด็กวัย 13 ปีคนหนึ่งตอบคำถามว่า ได้อ่านข้อตกลง/สัญญา (terms of service) ของอินสตาแกรมก่อนสมัครหรือไม่ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีเนื้อหาประมาณ 17 หน้า – 5,000 คำ

ในรายงานฉบับนี้ จึงมีตอนหนึ่งที่นำเสนอ ข้อตกลงของอินสตาแกรมฉบับ (ภาษา) เข้าใจง่าย ซึ่งเขียนขึ้นใหม่โดย เจนนี อาเฟีย (Jenny Afia) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายความเป็นส่วนตัว (privacy) จากบริษัทกฎหมาย Schilling ที่มีสำนักงานใหญ่ในประเทศอังกฤษ และนี่คือตัวอย่างการเขียนใหม่บางส่วน

  • โดยทางการ คุณ (เด็กๆ) คือเจ้าของภาพและคลิปวิดีโอที่โพสต์ และเรา (อินสตาแกรม) ได้รับอนุญาตให้ใช้ นอกจากนั้นแล้วเราก็เชิญชวนคนอื่นๆ ให้มาใช้ภาพกับคลิปได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ตาม คนอื่นๆ อาจจะจ่ายเงินให้เราเพื่อใช้รูปหรือคลิปเหล่านั้น แต่เราจะไม่จ่ายเงินจำนวนนั้นให้คุณ
  • เราอาจจะเก็บ ใช้ และแชร์ข้อมูลส่วนตัวของคุณให้กับบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอินสตาแกรม ข้อมูลเหล่านี้คือ ชื่อของคุณ อีเมลแอดเดรส โรงเรียน ที่อยู่อาศัย รูปภาพ เบอร์โทรศัพท์ สิ่งที่คุณชอบและคุณไม่ชอบ ที่ที่คุณไป เพื่อนของคุณ คุณใช้อินสตาแกรมบ่อยแค่ไหน และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ของคุณ เช่น วันเกิด หรือ คนที่คุยด้วย รวมถึงข้อความส่วนตัวที่ส่งถึงกัน
  • เราอาจส่งโฆษณาต่างๆ ที่ตรงกับความสนใจของคุณไปให้ คุณไม่สามารถห้ามไม่ให้เราทำอย่างนี้ และมันจะไม่เป็นการโฆษณาอย่างโจ่งแจ้งแน่ๆ
  • เรามีสิทธิ์เปลี่ยนหรือยกเลิกอินสตาแกรม หรือห้ามไม่ให้คุณใช้อินสตาแกรมเมื่อไหร่ก็ได้ หรือด้วยเหตุผลใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องบอกคุณล่วงหน้า เราสามารถสุ่มลบโพสต์และเนื้อหาอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องบอกคุณก่อน และจะทำเพื่อเหตุผลใดก็ได้ และถ้าเราทำเช่นนี้ เราก็ไม่ต้องรับผิดชอบโดยการจ่ายเงินชดเชยใดๆ และคุณก็ไม่มีสิทธิ์บ่นหรือร้องเรียนด้วย
  • เราสามารถบังคับคุณให้ยกเลิกการใช้ username ของคุณได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
  • เรามีสิทธิ์ (แต่ก็ไม่จำเป็น) ที่จะเอาออก ตัดทอน/ตกแต่ง หรือ ตรวจสอบทุกโพสต์ ทุกแอคเคาท์ที่เราคิดว่าผิดกติกา และเราจะไม่รับผิดชอบถ้าใครก็ตามทำผิดกฎหมายหรือละเมิดกฎของเรา และถ้าคุณทำ คุณก็ต้องรับผิดชอบเอง

หลังจากได้อ่านข้อตกลงฉบับอ่านง่าย เด็กอายุ 13 คนเดิมบอกว่า “ถ้าข้อตกลง/สัญญาเขียนให้ง่ายมากขึ้น หนูคิดว่าคนก็จะอ่านและคิดก่อนใช้แอพพลิเคชั่นนี้มากขึ้น”

ด้านอาเฟียชี้ว่า 1 ใน 3 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคือเด็กๆ

“แต่อินเทอร์เน็ตกลับไม่ได้สร้างให้เด็กเลย” อาเฟียชี้จุด

แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่เด็กเท่านั้นที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ ผลการศึกษาจากรายงานฉบับเดียวกัน เผยอีกว่า มีเพียงผู้ใหญ่ที่จบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีเท่านั้นถึงจะอ่านแล้วไม่งง

แล้วพ่อแม่ทำอะไรได้บ้าง?

นโยบายความเป็นส่วนตัวที่ถูกเขียนใหม่ให้เข้าใจง่ายขึ้น คือจุดเริ่มต้นที่ดีที่พ่อแม่จะเริ่มคุยกับลูกเรื่องแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่พวกเขากำลังใช้ ทั้งนี้องค์กรไม่แสวงหากำไรอย่าง ConnectSafely.org ได้จัดทำคู่มือการใช้อินสตาแกรมสำหรับพ่อแม่ขึ้นมา

“จากหลายๆ กรณีที่เจอ เมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือก็เมื่อพวกเขาใช้แอพพลิเคชั่น นี่เป็นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงไปไกลกว่าข้อแนะนำและข้อตกลงในการใช้ ด้วยการเสนอ แอพพลิเคชั่นเพิ่มเติม (in-app) เพื่อเป็นตัวช่วยด้านความปลอดภัยและรักษาความเป็นส่วนตัว”

ในประเทศอังกฤษ อาเฟียเผยว่า กฎหมายอนุญาตให้พ่อแม่มีสิทธิ์รู้ว่า บริษัทด้านโซเชียลมีเดียต่างๆ มีข้อมูลอะไรของลูกบ้าง และ ลูกๆ แชร์ข้อมูลให้กับใครบ้าง

“แต่ไม่มีใครขอ ไม่เคยมีใครใช้เครื่องมือตรงนี้ในการขอดูเลย” อาเฟียเผย

มากกว่านั้น รายงานฉบับ Growing Up Digital จะมีคำแนะนำและลิงค์ข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ สำหรับพ่อแม่ ยกตัวอย่างเช่น ‘คำแนะนำด้านเทคโนโลยี’ จากศูนย์ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตแห่งประเทศอังกฤษ (UK Safer Internet Centre), คำแนะนำสำหรับแอพพลิเคชั่นยอดนิยมในกลุ่มเด็ก และจัดอันดับความปลอดภัยตามนโยบายการรักษาความเป็นส่วนตัว ฯลฯ จากโครงการ Net Aware Offers a Parents รวมถึงคำแนะนำจาก American Pediatric Family Media Plan ถึงกิจกรรมต่างๆ ที่น่าจะชวนเด็กๆ ทำเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ให้แก่พวกเขา

สุดท้าย รายงานฉบับนี้ยังเสนอ ให้สร้างคอร์สหรือวิชา ‘สิทธิพลเมืองดิจิตอล’ ภาคบังคับ แก่เด็กอายุ 4-14 ปี โดยเนื้อหาที่สอนไม่ได้ให้ความสำคัญกับรหัสหรืออัลกอริธึมเหมือนหลักสูตรทั่วๆ ไป แต่จะสอนเรื่องการปกป้องสิทธิ์ของตัวเองในโลกออนไลน์ และการเคารพสิทธิ์คนอื่น รวมถึงวิธีการรู้จักออกและเข้าโลกออนไลน์ให้เป็นและรู้เท่าทัน

เนื้อหาสำคัญคือ สอนสิทธิ์ทั้ง 5 ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งนำเสนอโดย บีแบน คิดรอน (Beeban Kidron) ผู้กำกับภาพยนตร์ที่บอกว่าความปลอดภัยของเด็กๆ ในโลกออนไลน์นั้น เป็นเรื่องสำคัญเกินกว่าจะให้รัฐทำ” ซึ่งสิทธิ์ทั้ง 5 ได้แก่

  • สิทธิ์ในการเอาข้อมูลทุกอย่างที่โพสต์ ออกไป
  • สิทธิ์ที่จะรู้ว่าใครเข้าถึงข้อมูลเราบ้าง และด้วยจุดประสงค์อะไร
  • สิทธิ์ที่จะได้รับความปลอดภัยและการช่วยเหลือ หรือรู้ว่าถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นมา จะแก้ปัญหาได้ที่ไหน
  • สิทธิ์ที่จะได้รับข้อมูลและใช้อย่างรู้เท่าทัน รวมถึงวิธีการหลีกเลี่ยง
  • สิทธิ์ที่จะเรียนรู้ทักษะการใช้เครื่องมือดิจิตอลอย่างเหมาะสม รวมถึงการเรียนรู้วิธีการใช้และจุดประสงค์ในการใช้

 


Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า