16/2 ปัจเจกบุคคล รัฐ และสิทธิที่จะถูกลืม

 

มาตรา 16/2 ผู้ใดรู้ว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ในความครอบครองของตนเป็นข้อมูลที่ศาลสั่งให้ยึดและทําลายตามมาตรา 16/1 ผู้นั้นต้องทําลายข้อมูลดังกล่าว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 หรือมาตรา 16 แล้วแต่กรณี

 

destroy-history-sq

หนึ่งในหลายความกังวลของผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ต่อ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปรับปรุงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ที่อาคารรัฐสภา คือ มาตรา 16/2

ช่วงตอนหนึ่งที่มีผู้ถามถึงเนื้อหาในมาตรา 16/2 ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ว่า ในทางปฏิบัตินั้นเป็นการเอื้อโอกาสให้เกิดการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่ ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายไซเบอร์ และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. … ตอบความกังวลต่อเนื้อหาในมาตรา 16/2 โดยอ้าง หลักสิทธิที่จะถูกลืม (right to be forgotten) ในการร่างเนื้อหาในมาตราดังกล่าว เพื่อเป็นเหตุในการกำหนดความผิดฐานใหม่ ให้ทำลายข้อมูลที่ศาลสั่งว่าผิด

ข้อกังวลต่อเนื้อหาในมาตรา 16/2 มีอยู่ว่า หากรัฐบาลต้องการให้ประชาชนลืมบางเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ แล้วขอให้ผู้ให้บริการ (ISP) ลบลิงค์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ออกจากดัชนี เมื่อประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นจะหายไป เช่นเดียวกับกรณีรัฐบาลจีนป้องกันไม่ให้มีกลไกสืบค้นไปยังเหตุการณ์ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน โดยอ้างว่าตนมีสิทธิความเป็นส่วนตัวเช่นเดียวกับปัจเจกบุคคล

คำตอบของ ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ทำให้เกิดการตีความได้ว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตีความว่า รัฐสามารถอ้างสิทธิที่จะถูกลืมได้เช่นเดียวกับปัจเจกบุคคล

ซึ่งรัฐสามารถอ้างสิทธิที่จะถูกลืม (right to be forgotten) ได้หรือไม่

สิทธิที่จะถูกลืมคืออะไร?

สิทธิที่จะถูกลืม (right to be forgotten) มีความสัมพันธ์กับหลักสิทธิมนุษยชน หลักของสิทธิที่จะถูกลืมตั้งอยู่บนฐานคิดว่า สิทธิดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการรักษาศักดิ์ศรีของบุคคลนั้น นักวิชาการที่สนับสนุนเรื่องสิทธิที่จะถูกลืมจึงถือว่า การเป็นผู้ตัดสินใจเอง (autonomy) หมายรวมถึงความสามารถในการจัดการข้อมูลส่วนตัวของตนตามที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ตด้วย

เคสคลาสสิกในเรื่องสิทธิที่จะถูกลืมคือคดีที่ มารีโอ คอสเตฆา กอนซาเลส เรียกร้องสิทธินี้ต่อกูเกิลประเทศสเปน ประสงค์ขอให้กูเกิล ‘ลบ’ ข้อมูลการเป็นหนี้ล้มละลายของเขาเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งมันยังคงปรากฏอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเขาได้เคลียร์หนี้สิน เริ่มชีวิตใหม่ และอยากลบอดีต

ศาลยุติธรรมยุโรป (Court of Justice of the European Union: CJEU) ยืนยันว่า ข้อมูลของเจ้าของข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลเก่าหลายสิบปีก่อนจึงเป็นข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้อง (irrelevant) หรือล้าสมัย (outdated) การเก็บรักษาหรือประมวลข้อมูลดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกต่อไป เจ้าของข้อมูลจึงมีสิทธิ์เรียกร้องให้กูเกิลนำผลการค้นหาที่เชื่อมโยงไปยังข้อมูลดังกล่าวออก

รัฐหรือปัจเจกบุคคล ใครมีความชอบธรรมที่จะถูกลืม

จากคำพิพากษาดังกล่าว โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนวิเคราะห์ต่อกรณีคดีกูเกิลสเปนโดยวิเคราะห์จากมุมมองของปรัชญาว่า เมื่อประชาชนมีสิทธิ์เรียกร้องให้เว็บค้นหาข้อมูลทั้งหลายแก้ไข หรือลบ หรือซ่อน (ไม่ให้ค้นหาได้โดยตรง) ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตนได้ หากเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเคยมีส่วนเกี่ยวข้องแต่เป็นอดีตไปแล้ว ซึ่งคำพิพากษานี้ ชี้ให้เห็นว่าปัจเจกบุคคลมีสิทธิ์สูงสุดในการควบคุมข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง

ขณะที่ คณาธิป ทองรวีวงศ์ นักวิชาการด้านกฎหมายสิทธิส่วนบุคคล เขียนวิเคราะห์ว่า ศาลยุติธรรมยุโรปอาศัยหลักกฎหมายหลายหลักในการคุ้มครอง ‘สิทธิที่จะถูกลืม’ ของชาวสเปนคนนี้ ทั้งกฎหมายคุ้มครองข้อมูล (Directive 95/46/EC) และมาตรา 7 ของ กฎบัตรสิทธิขั้นพื้นฐานของสหภาพยุโรป (Charter of Fundamental rights of the European Union) ซึ่งคุ้มครอง ‘สิทธิในชีวิตส่วนตัวและครอบครัวของเจ้าของข้อมูล’ จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายเหล่านี้ล้วนแต่คุ้มครอง ‘บุคคล’ ธรรมดา ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลและมีสิทธิ์ในชีวิตส่วนตัว ไม่ได้ให้สิทธิ์แก่ ‘รัฐ’ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ประสงค์จะให้ข้อมูลบางอย่างถูก ‘ลืม’ ไปจากโลกออนไลน์

สิทธิที่จะถูกลืม Vs. สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ตั้งข้อสังเกตว่า สิทธิในการถูกลืมเป็นอีกแง่หนึ่งของการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตหรือไม่ เนื่องจากการขอให้กลไกการค้นหาต่างๆ ลบลิงค์ที่นำไปสู่ข้อมูลก็เท่ากับปิดกั้นไม่ให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ แม้ว่าสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารรวมถึงหน้าที่ของรัฐที่ต้องเคารพสิทธินี้ด้วยการไม่ปิดกั้นการไหลเวียนอย่างเสรีของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในสังคมประชาธิปไตย

ปัญหาใหญ่มากที่นักปรัชญาและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมแก้ไขคือ ในเมื่อสิทธิที่จะถูกลืมมองได้ว่าเป็นสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกก็เป็นสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน เราจะแก้ ‘การปะทะกัน’ ระหว่างสิทธิทั้งสองนี้ได้อย่างไร และจะทำให้การใช้สิทธิที่จะถูกลืมแตกต่างจากการปิดกั้นข้อมูลไม่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างไร

การปะทะกันของสองสิทธินี้ เราควรเลือกอะไร?

อาจารย์โสรัจจ์ได้เขียนความเห็นเพิ่มเติมต่อท้ายการวิเคราะห์กรณีคดีกูเกิลสเปน ซึ่งเป็นกรณีตั้งต้นของหลักสิทธิที่จะถูกลืม ว่า

“สำหรับเรื่องการปะทะกันระหว่างสิทธิที่จะถูกลืมกับเสรีภาพในการแสดงออกนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า หากต้องเลือกเราควรเลือกอย่างหลังก่อน เพราะสิทธิที่จะถูกลืมเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่ต้องการปกปิดอดีตของตนเอง ในขณะที่อย่างหลังเป็นเรื่องของสังคม หรือคนทั่วไปที่ควรจะได้รับการปกป้องสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร นอกจากนี้สิทธิที่จะถูกลืมก็อาจจะถูกขยายจนทำให้เกิดการบังคับให้สังคมลืมเรื่องบางอย่างที่ไม่ควรลืมก็ได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ‘ผู้ทรงสิทธิ์’ ในกรณีนี้ไม่มีอะไรบังคับว่าจะต้องเป็นปัจเจกบุคคลเท่านั้น รัฐหรือองค์กรใดก็อาจจะอ้างสิทธินี้ได้ และไปเรียกร้องให้กูเกิลลบลิงค์ไปยังข้อมูลใดๆ ที่ตนไม่อยากให้สังคมรับรู้ หากสิทธิที่จะถูกลืมกินความมากกว่าปัจเจกบุคคล โอกาสที่จะเกิดการบิดเบือนประวัติศาสตร์และละเมิดสิทธิอื่นของประชาชนก็จะยิ่งมีมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว” คือข้อความคิดเห็นของอาจารย์โสรัจจ์

มาตรา 16/2 เป็นเพียงมาตราหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และหากไล่สายตาดูร่างแก้ไขใน พ.ร.บ. ฉบับใหม่ จะพบว่า ยังมีอีกหลายข้อสังเกตว่า สิ่งที่ถูกปกป้องนั้น ไม่ใช่สิทธิ์ของประชาชน แต่เป็นไปเพื่อการปกป้องผู้ใช้อำนาจ ซึ่งถ้าเป็นจริงตามสมมุติฐานนี้จะเท่ากับว่า สิทธิของบุคคลธรรมดาจะถูกละเมิด ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่นี้ จึงมีส่วนเกี่ยวข้องและใกล้ตัวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนมากกว่าที่คิด


อ้างอิงข้อมูลจาก: thainetizen.org
หนังสือ โลกใหม่ใครกำกับ: กรณีศึกษาเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า