คุยเรื่องภาษี อย่างมีภาษี

เรื่อง: อาทิตย์ เคนมี / ณัฐกานต์ อมาตยกุล
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

ทุกครั้งที่พูดถึงคำว่า ‘ภาษี’ เชื่อว่าคนไทยผู้มีอันจะกินทั้งหลายคงต้องพากันขนหัวลุก

แม้บรรดาคนเหล่านั้นจะไม่ได้ยากแค้นลำเค็ญกับการใช้ชีวิตมากนัก แต่ก็มักรับไม่ได้หากตัวเองจะต้องถูกเฉือนส่วนแบ่งรายได้ แม้จะเป็นแค่เศษเสี้ยวเดียวก็ตาม คำว่าภาษีจึงกลายเป็นคำแสลงหูทุกครั้งที่ได้ยิน ถึงขั้นต้องหาวิธีซิกแซก-หลบ-เลี่ยง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

กล่าวอย่างตรงไปตรงมา แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเห็นแก่ตัวเป็นพื้นฐาน ยิ่งเมื่อโลกก้าวสู่ยุคทุนนิยมเสรีอย่างทุกวันนี้ ยิ่งเปิดโอกาสให้คนมือยาวสาวได้สาวเอา ถีบคนที่ด้อยกว่าให้ต่ำเตี้ยและอับจนหนทางลงไปเรื่อยๆ

กลไกการเก็บภาษีจึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยสร้างสมดุล เกลี่ยทุกข์เกลี่ยสุข เจียดแบ่งรายได้จากคนรวยที่มีอยู่ล้นเหลือ เผื่อแผ่ไปยังคนที่ขัดสนจนแทบไม่มีอันจะกิน มากบ้างน้อยบ้างตามแต่สังคมนั้นจะกำหนดกติกา

ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยายามหาวิธีอุดช่องว่างทางสถานะของผู้คนที่กำลังถ่างกว้างออกจากกันมากขึ้น โดยลงมือศึกษาวิจัยว่าด้วยเรื่อง ‘การปฏิรูประบบภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ’ (ปี 2555) จนกระทั่งชำแหละให้เห็นถึงความพิลึกกึกกือของกลไกการจัดเก็บภาษีของไทยที่บิดเบี้ยวมาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าคนที่ตักตวงประโยชน์สูงสุดจากกติกาภาษี กลับเป็นคนที่มีฐานะดี หาใช่คนยากคนจนอย่างที่เราเข้าใจ

ยิ่งกว่านั้นภาวินยังล่วงล้ำเข้าไปในอาณาจักรของตลาดหุ้น ด้วยงานวิจัยเรื่อง ‘การสำรวจองค์ความรู้ภาษีผลได้จากทุนในตลาดหุ้น และข้อเสนอสำหรับประเทศไทย’ (ปี 2556) และพยายามที่จะ ‘ล้วงตับ’ บรรดานักเก็งกำไรทั้งหลายที่ซื้อขายหุ้นกันอุดลุตโดยไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว

ในอดีต ‘โรบินฮูด’ อาจต้องหลบซ่อนตัวอยู่กลางป่า ดักปล้นสะดมคนรวย ช่วยเหลือคนจน แต่กับยุคนี้คงไม่มีใครสามารถทำตัวเป็นวีรบุรุษนอกกฎหมาย

วิธีเดียวคือต้องสู้กันตามกติกา และข้อเสนอของภาวินในบรรทัดถัดจากนี้อาจทำให้ผู้มีอันจะกินทั้งหลายต้องรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ กันเลยทีเดียว

 

ทำไมเวลาพูดถึงคำว่า ‘ภาษี’ คนทั่วไปมักจะขยาดหวาดกลัวกัน แสดงว่าทุกวันนี้เราจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงอยู่แล้วหรือไม่

ไม่สูงเลยครับ ประเทศไทยนี่ถือว่าสัดส่วนรายได้จากภาษีต่อ GDP ยังต่ำมาก เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร แต่ทีนี้ผมเข้าใจว่าเสียงบ่นเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มคนที่มีอยู่เพียง 2-3 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดเกือบ 70 ล้านคน เพราะฉะนั้นถ้าจะจัดเก็บเพิ่ม มันก็จะโดนคนกลุ่มนี้แหละ ซึ่งแนวคิดหลักที่ผมได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบระบบภาษีก็เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล

ถ้าดูจากพัฒนาการของโครงสร้างภาษีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดๆ เลยว่า เราเสียภาษีกันน้อยเกินไป และไม่ใช่ลักษณะอัตราก้าวหน้า ซึ่งมันไม่น่าจะเป็นแบบนั้น แล้วอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ถ้าหากไม่อยากเสียภาษีมากขึ้นก็ต้องไปกดดันรัฐบาลว่า อย่าเอาเงินไปใช้จ่ายเยอะ หรือทำในสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะรายจ่ายของรัฐบาลกับการเก็บภาษีมันมาคู่กันเสมอ

ในความเป็นรัฐ รัฐบาลก็มีความชอบธรรมในการเรี่ยไรเงินจากประชาชนเพื่อนำไปบริหารจัดการไม่ใช่หรือ

ต้องพึงระลึกไว้ว่า รายได้หลักของรัฐบาลประมาณร้อยละ 90 มาจากการจัดเก็บภาษีจากพวกเราเอง ยิ่งถ้าเราเรียกร้องให้รัฐบาลใช้จ่ายมากขึ้นเท่าไหร่ รัฐบาลก็จำเป็นจะต้องเก็บภาษีเรามากขึ้นเท่านั้น ถ้ามองประเทศไทยในภาพรวม รัฐบาลก็คล้ายกับ agent คนหนึ่งที่เอาเงินของพวกเราไปซื้อของแทนเราหรือไปจัดการอะไรบางอย่าง ขณะเดียวกัน กิจกรรมอะไรก็ตามถ้าเราทำกันเองได้ก็อาจจะประหยัดกว่าหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าที่รัฐบาลทำ

มองในมุมที่ง่ายที่สุดอย่างเช่นอาหารการกิน ถ้าเราซื้อขายกันเองได้ อาจจะสะดวกกว่า รวดเร็วกว่า และได้อะไรที่เราต้องการมากกว่า โดยที่เราอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งรัฐบาล เพราะบางอย่างถ้าให้รัฐบาลทำแทนมันจะมีข้อเสียก็คือ ต้องผ่านระบบระเบียบขั้นตอนหลายชั้น เช่น ถ้าจะให้รัฐบาลซื้อข้าวแทนเราก็ต้องผ่านการอนุมัติจาก ครม. แล้ว ครม. จึงจะสั่งการให้หน่วยปฏิบัติไปหาข้าวให้เรามาจานหนึ่ง ซึ่งมันสิ้นเปลือง นี่ยังไม่นับปัญหาเรื่องคอร์รัปชันอีก ซึ่งท้ายที่สุดเราอาจจะไม่ได้ของที่เราต้องการอย่างแท้จริง

ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ เราจึงต้องพยายามจำกัดหน้าที่ของรัฐบาลให้ทำอะไรเท่าที่จำเป็น เพราะเราไม่อยากให้เกิดการสิ้นเปลืองในระบบเศรษฐกิจมากนัก และบทบาทหนึ่งที่เราคิดว่าเป็นหน้าที่ที่จำเป็นของรัฐบาลก็คือ การลดความเหลื่อมล้ำ ถ้ารัฐบาลไม่ทำ เอกชนก็จะไม่มีแรงจูงใจที่จะทำด้วยตัวเอง

กลไกทางภาษีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างไรบ้าง

การลดความเหลื่อมล้ำในมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์ เริ่มต้นง่ายๆ คือดูที่รายรับกับรายจ่าย ทุกคนในสังคมควรจะมีรายรับกับรายจ่ายในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน รัฐบาลสามารถเข้ามามีบทบาทหน้าที่นี้ได้โดยใช้เครื่องมือหลักๆ 2 ส่วนคือ หนึ่ง การใช้จ่ายตามโครงการต่างๆ เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการเรียนฟรี ซึ่งเป็นการสนับสนุนคนจนอย่างชัดเจน และสอง การเก็บภาษี ซึ่งก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลจะใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำได้

การลดความเหลื่อมล้ำโดยใช้ภาษี มีแนวคิดง่ายๆ ก็คือ คนที่มีความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า ควรที่จะเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่า ส่วนคนที่มีความสามารถในการใช้จ่ายน้อยกว่าก็ควรที่จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า

หมายความว่าถ้าคนที่รวยมากๆ มีรายได้ปีหนึ่งเป็นล้าน เขาบริโภคเพียงพออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องมีความสามารถในการจ่ายภาษีเยอะกว่าคนที่มีรายได้ทั้งปีแค่ 50,000 บาท ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตามสัดส่วนของรายได้ คนที่มีฐานะดีกว่าก็ควรจ่ายสัก 30-40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่คนที่มีรายได้ต่ำมากๆ อาจจ่ายแค่ 0-10 เปอร์เซ็นต์ไปเลยก็ได้ หรือจ่ายแค่ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7 เปอร์เซ็นต์ โครงสร้างแบบนี้มันจะทำหน้าที่ในการลดความเหลื่อมล้ำได้

ทีนี้มาดูโครงสร้างภาษีของประเทศไทยนะครับ หลักๆ เรามี 2 ประเภท ประเภทแรกคือ ภาษีเงินได้ ซึ่งเก็บจากคนที่มีรายได้หรือนิติบุคคล เช่น โรงงานหรือกิจการที่มีรายได้โดยตรง แบบที่สองคือ ภาษีทางอ้อม ซึ่งจะจัดเก็บผ่านการอุปโภคบริโภคต่างๆ เช่น VAT

ความแตกต่างของภาษีทั้ง 2 ประเภทนี้ก็คือ ภาษีทางตรงมันผลักภาระไปให้ใครไม่ได้ เพราะเป็นการจัดเก็บจากผู้ที่มีรายได้โดยตรง ส่วนภาษีทางอ้อมอย่างเช่น VAT แม้ในทางทฤษฎีรัฐบาลจะจัดเก็บจากธุรกิจที่ขายสินค้า แต่ในทางปฏิบัติผู้บริโภคกลับเป็นคนจ่าย เพราะภาษีในลักษณะนี้ผู้ขายสินค้าสามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้โดยการขึ้นราคา ถ้าเก็บภาษีเพิ่ม เขาก็ขึ้นราคา

ฉะนั้น การลดความเหลื่อมล้ำด้วยภาษีทางตรงจะสามารถทำหน้าที่ได้ดีกว่า แต่ภาษีทางอ้อมนี่ไม่ใช่ เพราะถ้ายิ่งไปจัดเก็บกับสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภค มันจะมีผลกระทบกับทุกคน ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน

โครงสร้างภาษีของประเทศไทยมีช่องโหว่อะไรบ้างที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

ถ้ามองถึงโครงสร้าง ภาษีทางตรงหรือภาษีเงินได้ที่มีลักษณะเป็นอัตราก้าวหน้า โดยมีการจัดเก็บกับคนรวยในอัตราที่สูง จัดเก็บกับคนจนในอัตราที่ต่ำ มีโครงสร้างที่ชัดเจนอยู่ประเภทเดียวก็คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นอัตราก้าวหน้าเช่นกัน เพราะเก็บจากผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราที่ต่ำกว่าบริษัทใหญ่ๆ แต่ในทางปฏิบัติเป็นที่รู้กันว่าผู้ประกอบการรายเล็กมักจะมีสองบัญชี จนดูเหมือนว่าเขาขาดทุนตลอดก็เลยไม่ต้องเสียภาษี มันจึงมีแค่บริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และเมื่อมองลึกๆ ถึงแม้เราจะจัดเก็บภาษีจากเขาแล้วก็ตาม แต่เขาก็สามารถผลักภาระไปยังลูกค้าของเขาได้อีก

โดยส่วนตัวผมจึงเชื่อมั่นว่า โครงสร้างภาษีหลักๆ ที่จะทำหน้าที่ในการลดความเหลื่อมล้ำได้ก็คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่มีโครงสร้างการจัดเก็บแบบก้าวหน้า

การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกวันนี้ถือว่าเป็นธรรมแล้วหรือไม่

ยังต้องปรับปรุงอีกมาก ถ้าดูพัฒนาการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทย จะเห็นว่ามันยังไม่ใช่อัตราก้าวหน้าจริงๆ โดยในปี 2535 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรไทยอยู่ที่ประมาณ 4,000 เหรียญสหรัฐ จนถึงปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 8,000 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่สัดส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีต่อ GDP มันแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย มันคงที่อยู่ประมาณ 15-18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ถ้าเรามีโครงสร้างการจัดเก็บภาษีในลักษณะที่ก้าวหน้าจริงๆ เวลาคนรวยขึ้น การจัดเก็บภาษีของรัฐก็ควรจะได้เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่เราสังเกตเห็นมันกลับไม่ใช่ ทั้งๆ ที่เราจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในลักษณะที่เป็นอัตราก้าวหน้า แต่เรากลับไม่เห็นรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่มันควรจะเพิ่มขึ้นตามรายได้ของคนเลย

หมายความว่าการกำหนดอัตราภาษีของไทย ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาไม่มีการปรับขึ้นตามสัดส่วนของรายได้ประชากรที่เพิ่มขึ้นเลย?

ถ้าย้อนกลับไปดูพัฒนาการจะเห็นชัดว่า ภาษีทางตรงที่จัดเก็บโดยรัฐบาล ทั้งเงินได้นิติบุคคล เงินได้บุคคลธรรมดา และเงินได้ปิโตรเลียม จะเห็นว่าตั้งแต่ช่วงหลังจากวิกฤติปี 2540 เป็นต้นมา ภาษีเงินได้นิติบุคคลมันโตขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จัดเก็บจากการขุดน้ำมันปิโตรเลียมในเขตประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เก็บจาก ปตท. นี่แหละ มันก็โตขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกัน แต่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากลับไม่เพิ่มขึ้นตามสัดส่วน GDP ทั้งๆ ที่คนเรารวยขึ้น แต่ทำไมมันถึงคงที่อย่างนี้

เรื่องนี้สามารถอธิบายได้ว่า แม้เราจะมีโครงสร้างการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า แต่ถ้ามองย้อนไปในช่วง 20 ปี อัตรามันลดลงโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2535-2550 เป็นต้นมา และภายหลังยังมีการกำหนดอัตราภาษีใหม่ ซึ่งก็ลดลงเรื่อยๆ ไม่เคยปรับขึ้น เช่น ในปี 2547 คนที่มีรายได้ 0-100,000 บาท จากที่เคยจ่ายภาษี 5 เปอร์เซ็นต์ พอปี 2551 คนที่มีรายได้ตั้งแต่ 0-150,000 บาทก็ไม่ต้องจ่ายแล้ว

การปรับลดอัตราภาษีสำหรับคนที่มีรายได้น้อย ถ้าฟังหน่วยงานรัฐพูด เขาจะบอกว่ามันให้ประโยชน์กับชนชั้นล่าง แต่ในความเป็นจริงมันได้ประโยชน์กับทุกคน เพราะในโครงสร้างภาษีไทย (ปี 2551) เวลาจัดเก็บจะเริ่มจากระดับล่างสุดขึ้นมาถึงบนสุด เช่น ถ้าผมมีรายได้สุทธิปีละ 500,000 บาท รายได้ของผมในช่วง 0-150,000 บาทแรก ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่จะเริ่มเก็บตั้งแต่ 150,001-500,000 บาท ในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นถ้าจินตนาการถึงคนที่มีรายได้ 4 ล้านบาท เขาก็ได้รับประโยชน์เหมือนกัน เพราะรายได้ในช่วง 0-150,000 บาท เขาก็ไม่ต้องเสีย

ด้วยเหตุนี้มันจึงมีประเด็นถกเถียงกันว่าการลดอัตราภาษี ถึงแม้ว่าจะปรับลดสำหรับคนระดับล่างๆ แต่มันก็ได้ประโยชน์กับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนจน แล้วยิ่งถ้าเทียบกับสมัยก่อนคนที่มีรายได้ 80,000 บาทต่อปี เขาไม่เสียอยู่แล้ว เมื่อขยายเพดานใหม่เป็น 0-150,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี เขาก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นเลย เพราะทุกอย่างเหมือนเดิมหมด

แต่คนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนที่มีรายได้มากกว่า 80,000 บาทขึ้นไป และในอนาคตถ้ารัฐบาลขยายเพดานการจัดเก็บภาษีเป็น 0-500,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี คนที่ได้ประโยชน์ก็คือ คนที่มีรายได้มากกว่า 500,000 บาทขึ้นไป

 

ถ้าจะลดภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย จริงๆ แล้วควรมีเงื่อนไขอื่นกำกับด้วยไหม เช่น คนที่มีรายได้เกินเพดานที่ลดหย่อน จะต้องเสียภาษีตั้งแต่ 1 บาทแรกขึ้นมาเลย

ก็อาจจะเป็นแนวทางหนึ่ง แต่ในส่วนนี้มันยังถกเถียงกันได้ว่าเราควรจะลดอัตราภาษีลงหรือเปล่า ตรงนี้ยังไม่ค่อยชัดเจน คือถ้ามันได้ประโยชน์กับคนที่มีรายได้น้อยจริงๆ ก็โอเค ส่วนเหตุผลในการปรับลดอัตราภาษีสำหรับคนที่มีรายได้สูงๆ นั้น ผมคิดว่าอาจไม่จำเป็นต้องปรับลดด้วยซ้ำ แต่ถ้ามองในมุมที่เป็นกลางหรือมองในเชิงเศรษฐกิจ ทางกรมสรรพากรก็จะให้เหตุผลว่า การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยก็เพื่อเป็นการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะคนที่มีรายได้สูง เช่น หมอ วิศวกร เขามีทางเลือกในการย้ายไปทำงานต่างประเทศ ถ้าอัตราภาษีของเราสูงกว่า มันอาจส่งผลให้เกิดสถานการณ์สมองไหล ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนั้น เหตุผลนี้ก็พอจะฟังขึ้น

แต่ทีนี้มันมีอีกองค์ประกอบหนึ่งของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำก็คือ ค่าลดหย่อนภาษี ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือกองทุน LTF (Long Term Equity Fund: กองทุนรวมหุ้นระยะยาว) กับ RMF (Retirement Mutual Fund: กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) หมายความว่า ถ้าผมมีรายได้เยอะ ผมก็สามารถใช้สิทธิ์ซื้อ LTF แล้วนำมาหักค่าลดหย่อนได้สูงสุดถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้

พัฒนาการเงินลดหย่อนของประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน คือมีการเพิ่มประเภทการลดหย่อนใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ LTF RMF นี่ก็เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานนัก แล้วยังมีการลดหย่อนเงินประกันชีวิต ประกันบำนาญ ซื้อประกันให้พ่อแม่ เงินลดหย่อนบุตรหลาน ทั้งที่สมัยก่อนแทบจะไม่มีเลย นอกจากนั้นมันยังเพิ่มปริมาณอีก ในกรณีของ LTF RMF นี่ชัดเจน จากเดิมกำหนดเพดานไว้ว่าสามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ต่อมารัฐบาลก็มีการปรับเพิ่มเพดานขึ้นเป็น 500,000 บาท (ปี 2553)

เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่มีรายได้เยอะๆ สามารถซื้อกองทุนทั้งสองประเภทนี้แล้วนำมาหักลดหย่อนได้รวมกันถึง 1,000,000 บาท นั่นหมายความว่าคนที่มีรายได้เยอะยิ่งได้ประโยชน์จากเงินลดหย่อนประเภทนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วถ้าซื้อประกันชีวิตก็ยังสามารถนำมาลดหย่อนได้อีก 100,000 บาท

ผมลองคำนวณโครงสร้างการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2553 จะเห็นได้ว่าแม้แต่คนที่มีรายได้ 60,000 บาทต่อเดือน หรือ 720,000 บาทต่อปี ถ้าใช้สิทธิ์ลดหย่อนเต็มที่จริงๆ เขาไม่ต้องเสียภาษีสักบาทเดียวด้วยซ้ำ เพราะเมื่อหักค่าลดหย่อนต่างๆ ทั้งหมดรวมกันแล้ว จะเหลือเงินได้สุทธิพึงประเมิน 150,000 บาท จึงเข้าข่ายได้รับการยกเว้นภาษี

เพราะเหตุใดรัฐบาลจึงต้องเพิ่มสิทธิ์เงินลดหย่อนภาษี

มองในแง่บวกนี่ค่อนข้างหาเหตุผลได้ยากมาก เหตุผลของเขาอาจมองว่าเพื่อสนับสนุนตลาดหุ้นให้มันมีการลงทุนระยะยาวมากขึ้น อย่าง RMF ก็จะบอกว่าเป็นการสนับสนุนให้คนออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ การซื้อประกันชีวิตก็คล้ายๆ กัน หากเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดเหตุร้ายแรงจะได้ไม่ต้องมาเป็นภาระของรัฐบาล อะไรอย่างนี้นะครับ คือมันจะมีเหตุผลประการอื่นๆ สนับสนุนขึ้นมา แต่ผลจากจากการเพิ่มประเภทและเพิ่มปริมาณในการลดหย่อนภาษีก็ทำให้โครงสร้างที่จะลดความเหลื่อมล้ำของภาษีเมืองไทยมันลดลงไป

หากการลดหย่อนแบบนี้จะเกิดประโยชน์ต่อตลาดหุ้นหรือการลงทุน โดยที่รัฐยอมเสียรายได้จากภาษี ถ้าบวกลบกันแล้วมันคุ้มค่าหรือเปล่า

อันนี้มันพูดได้ยาก แต่ถ้าเรามองว่าคนที่จะได้ประโยชน์จากเงินลดหย่อนอย่างเห็นได้ชัดก็คือ คนที่มีฐานะดี ซึ่งจะได้ประโยชน์ในสัดส่วนที่สูงมาก ในขณะที่คนที่มีเงินได้สุทธิต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี รวมถึงคนที่มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน หรือ 240,000 บาทต่อปี คนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นจะต้องใช้สิทธิ์ลดหย่อนเพิ่มเติมเลย เพราะเขาได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว และเขาอาจจะไม่มีกำลังซื้อ LTF RMF หรือประกันชีวิตด้วยซ้ำ ฉะนั้นคนกลุ่มนี้จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อะไรเลย

คนที่จะได้ประโยชน์จริงๆ คือคนที่มีรายได้มากกว่า 240,000 บาทต่อปีขึ้นไป ซึ่งในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้มีอยู่แค่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้ากลับมาดูโครงสร้างการลดหย่อนภาษีในปัจจุบัน (2556) นั่นหมายความว่าคน 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิ์ลดหย่อนอะไรเพิ่มเติม มีเพียงคนแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องยื่นแบบเสียภาษีและสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนกันได้เต็มที่ แล้วกลุ่มที่ใช้สิทธิ์เต็มเพดานจริงๆ ก็คือคนที่มีรายได้ประมาณ 1-4 ล้านบาท

ข้อเสนอของผมจึงอยู่ที่ว่า ถ้าจะเพิ่มรายได้ให้กับรัฐและลดความเหลื่อมล้ำด้วย มันต้องแก้ที่โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยการทบทวนค่าลดหย่อนต่างๆ ส่วนอัตราการเสียภาษี ผมว่าอย่าไปปรับมันจะดีที่สุด เพราะปรับทีไรก็ต่ำลงกว่าเดิมทุกที น่าจะปรับที่โครงสร้างค่าลดหย่อน ซึ่งผมเชื่อว่าจะไม่กระทบกับคน 70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ เช่น ยกเลิกค่าลดหย่อนจาก LTF RMF ยกเลิกค่าลดหย่อนจากเงินประกันชีวิต ประกันบำนาญ เพราะส่วนนี้ไม่ได้กระทบคนส่วนใหญ่ และน่าจะทำให้โครงสร้างภาษีมันกลับมาเป็นลักษณะอัตราก้าวหน้า คนที่มีฐานะดีก็ควรจ่ายในอัตราที่สูงขึ้น

ในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลมีความเชื่อมโยงกับการลดความเหลื่อมล้ำอย่างไรบ้าง

ภาษีเงินได้นิติบุคคลจะมีความเกี่ยวข้องเล็กน้อยก็คือ การให้สิทธิ์ยกเว้นภาษีกับภาคธุรกิจที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI (Board Of Investment) ในช่วงแรกๆ BOI ตั้งขึ้นมาด้วยแนวคิดที่จะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตก้าวหน้าได้ แต่ในระยะหลังการให้สิทธิพิเศษทางภาษีของ BOI มันเริ่มไม่เป็นทิศเป็นทาง แม้แต่บริษัทไทยแท้เขาก็ให้ ทั้งที่ไม่มีเหตุผลใดสนับสนุนว่ามันเป็นการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา

จริงๆ ตามทฤษฎีมันควรจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับบริษัทต่างชาติเพื่อดึงดูดให้เข้ามาลงทุนทางตรงหรือเข้ามาตั้งโรงงานในไทย แทนที่จะเข้าไปลงทุนในมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ซึ่งเราก็จะได้ประโยชน์บางอย่าง เช่น การจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี อย่างนี้โอเค ยอมรับได้ แต่ทีนี้บางบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว มันก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปลดภาษีให้เขา แม้ว่าเขาจะมีการขยายการลงทุนเพิ่ม

แต่ก็เดาได้ว่าต้องลงทุนในไทย เพราะตลาดสินค้าของเขาอยู่ที่เมืองไทย เขาคงไม่ไปลงทุนในเวียดนามแล้วเสียค่าขนส่งเข้ามาขายในไทย มันไม่คุ้ม บริษัทอย่างนี้ทำไม BOI ถึงให้สิทธิทางภาษี มันไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องให้ ถ้าอธิบายในมุมลบ มันก็เป็นเรื่องทางการเมืองและความไม่เท่าเทียมของโครงสร้างภาษี เพราะคนที่เป็น สส. มันเป็นกลุ่มที่ต้องเสียภาษีเยอะ

สิ่งที่ต้องปฏิรูปใหม่คือ ปรับโครงสร้างภาษี BOI ให้มันตรงกับแนวคิดหรือวัตถุประสงค์ดั้งเดิมจริงๆ เพราะทุกวันนี้การให้สิทธิพิเศษทางภาษีอย่างสะเปะสะปะ มันทำให้รายได้ของรัฐลดลงโดยไม่จำเป็น อีกทั้งไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นกับสังคมเลย ที่ผ่านมาแม้จะมีเสียงทักท้วงดังขึ้นเรื่อยๆ แต่มันก็ยังไม่พอ ตอนนี้เข้าใจว่าแม้แต่ในกระทรวงการคลังเองก็มีข้อเรียกร้องบางส่วนเหมือนกัน แต่ไม่ทราบว่ามันสะดุดอะไร แต่ถ้าปฏิรูปได้ก็จะเกิดผลดี

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของอาจารย์ เรื่องการจัดเก็บภาษีผลได้จากทุนในตลาดหุ้น (ปี 2556) อาจารย์มีข้อเสนออย่างไร

ผมสนับสนุนให้มีการจัดเก็บ เพราะคนที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นต้องเป็นคนที่มีฐานะดี ในปี 2553 บัญชีที่ลงทุนในตลาดหุ้นมีอยู่ประมาณ 700,000 บัญชีเท่านั้น เมื่อเทียบกับประชากร 70 ล้านคน มันแค่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมไม่เชื่อว่าคนระดับล่างจะเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นได้ เพราะเขาไม่สามารถเปิดบัญชีลงทุนได้ มันต้องมีหลักทรัพย์อะไรบางอย่างไปแสดง คนที่เข้าไปได้จริงๆ ก็คือคนระดับบน และคนที่ลงทุนในหุ้นเยอะจริงๆ ต้องมีฐานะค่อนข้างดี อย่างน้อยถ้าไม่มองรายย่อย มองที่ตัวเจ้าของธุรกิจ มันมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท คิดเป็นมูลค่านับหมื่นล้าน แล้วเวลาที่คนกลุ่มนี้ขายหุ้นในตลาด เขาไม่ต้องเสียภาษีเลยสักบาทเดียว

กรณีของผู้ที่มีพอร์ตหุ้นขนาดใหญ่มากๆ ซื้อขายทีละเป็นล้านหุ้น กำไรเป็นล้าน เขาไม่ต้องเสียภาษีเลย เพราะได้รับการยกเว้นตามกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีรายได้มหาศาลจากการซื้อมาขายไป แน่นอนเขามีความเสี่ยง แต่ว่าเขามีรายได้เพิ่มขึ้นแน่ และไม่มีเหตุผลอะไรที่จะบอกว่าคนที่มีรายได้บางอย่างในประเทศไทยไม่ต้องเสียภาษี ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนที่มีฐานะดี

มีแนวทางใดบ้างที่จะเก็บภาษีจากนักเล่นหุ้นเหล่านี้

ภาษีผลได้จากทุนจะจัดเก็บจากผลกำไรจากการซื้อขายหุ้น แต่ปัจจุบันยังไม่มีการจัดเก็บภาษีส่วนนี้เลย มีแค่ค่าธรรมเนียมกับ VAT บนค่าธรรมเนียมของโบรกเกอร์ แต่ VAT ที่เสียก็น้อยมาก เช่น ผมซื้อหุ้นประมาณ 30,000 บาท เสียภาษีน่าจะไม่เกิน 7 บาท

ผมลองเปรียบเทียบการลงทุนในตลาดหุ้น กับการซื้อล็อตเตอรีหรือเล่นชิงโชคฝาชาเขียว ในกรณีของการลงทุนในตลาดหุ้นนั้นถือว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าการซื้อล็อตเตอรีหรือชิงโชคเสียอีก เพราะสลากกินแบ่งหรือฝาชาเขียวนี่มันจ่ายแล้วจ่ายเลย ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งกลับคืนมา ในขณะที่การลงทุนในหุ้น ถ้าราคามันลง ก็ยังมีส่วนหนึ่งกลับคืนมาได้

ถ้าราคาลง 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังเหลืออีกครึ่งหนึ่ง ถ้าราคามันขึ้นก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนโดยที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าถูกล็อตเตอรีขึ้นมาปุ๊บจะต้องเสียภาษีทันที คือจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3 เปอร์เซ็นต์ก่อน แล้วเงินรางวัลจากล็อตเตอรียังถูกนำไปคำนวณรวมกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะฉะนั้นคนมีฐานะดีที่ลงทุนในหุ้นกลับได้รับการยกเว้นภาษี ในขณะที่คนฐานะไม่ดีไปซื้อสลากกินแบ่ง ถ้าเขาถูกรางวัลขึ้นมา เขาต้องเสียภาษี

มันมีเหตุผลสนับสนุนอยู่ว่า การไม่เรียกเก็บภาษีเพราะต้องการให้คนไปลงทุนในหุ้นมากขึ้น เพื่อพัฒนาตลาดทุน แต่อันที่จริงผมคิดว่าถ้าจะพัฒนาตลาดทุนระยะยาวนั้น เรื่องภาษีมันไม่ใช่เรื่องหลัก เพราะคนที่จะซื้อหุ้นลงทุนระยะยาวจริงๆ เขาไม่ซื้อขายบ่อยๆ ซึ่งในกรณีการจัดเก็บภาษีผลได้จากตลาดทุน ถ้าเขายังไม่ขายก็ยังไม่มีการจัดเก็บ ฉะนั้นถ้าเขาถือหุ้นเพื่อลงทุนระยะยาวจริงๆ เขาก็ไม่ต้องเสียภาษีบ่อย ถ้าขายเมื่อไหร่จึงจะเสีย และในความเป็นจริงนักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ถือหุ้นกันสั้นมาก บางรายถือไม่เกิน 6 เดือน พอราคาขึ้นก็ขายแล้ว

โดยส่วนตัวผมเห็นว่าควรจะเก็บภาษี เพราะเป็นหลักของความเป็นธรรม จากประสบการณ์ของต่างประเทศ ถ้าเริ่มมีการเก็บภาษีผลได้จากตลาดทุนมันอาจจะกระทบตลาดหุ้นบ้าง แต่ก็แค่ระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 3 ปี ถ้าคนชินแล้วมันก็จะพัฒนาต่อไปด้วยตัวมันเอง แต่มองในแง่ความเป็นธรรม ทำไมคนที่มีรายได้แม้จะเป็นรายได้ที่มาจากความเสี่ยงก็ตาม หรือมีรายได้จากการนั่งเฉยๆ ก็ตาม ทำไมคนกลุ่มนี้ไม่ต้องเสียภาษี อันนี้ไม่มีใครตอบได้

เราจะมีเครื่องมืออย่างอื่นในการจัดเก็บภาษีอีกไหม เช่น เก็บภาษีจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทแข็ง

ประเด็นนี้มันเกี่ยวข้องกับเรื่องของค่าเงิน เป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ แต่ก็มีส่วนคล้ายกับภาษีผลได้จากตลาดทุน เพราะถ้ามีการเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินก็อาจจะต้องจัดเก็บ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ สมมุติตอนค่าเงินบาทอ่อน เขาเข้ามาแลก 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ รอให้บาทแข็งเหลือ 25 บาท เขาก็เอาเงิน 25 บาทไปซื้อเงินดอลลาร์ได้เพิ่มขึ้น อย่างนี้มันก็ควรจะจัดเก็บบ้าง แต่เรื่องนี้ก็ค่อนข้างเซนซิทีฟ เพราะโดยหลักการสากลก็คือ เราไม่อยากให้มีการปิดกั้นการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ถ้าหากมีการจัดเก็บปุ๊บ ในช่วงเริ่มต้นคนอาจจะตกใจ เหมือนกับมาเลเซียช่วงหนึ่งที่เขาเริ่มใช้มาตรการนี้ก็ทำให้นักลงทุนตกใจอยู่พักหนึ่ง

เงินทุนระหว่างประเทศมันมีหลายแบบ แบบที่เราอยากจะดึงดูดก็คือการเข้ามาลงทุนทำธุรกิจจริงๆ มีการซื้อที่ดิน สร้างโรงงาน เกิดการจ้างงาน แต่เงินทุนต่างประเทศที่เราไม่อยากดึงดูดก็คือ เข้ามาแล้วสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดหุ้น พอกำไรปุ๊บก็ขายออกไป แบบนี้เราไม่อยากได้ แต่ในความเป็นจริงมันแยกแยะยากมากระหว่างสองกลุ่มนี้ เพราะมันมีกลุ่มที่มีพฤติกรรมก้ำกึ่งเยอะ บางทีเขาอาจต้องการเข้ามาลงทุนแต่ยังไม่สามารถซื้อที่ดินได้ก็เลยเอาเงินทุนไปพักอยู่ในตลาดหุ้นหรือไปซื้อตราสารหนี้เอาไว้ก่อน จนกระทั่งซื้อที่ดินได้ถึงจะเริ่มลงทุน อย่างนี้เราจะนิยามเขาว่าเป็นการลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาวอย่างไร มันตอบยาก

เมื่อไม่สามารถจำแนกนักลงทุนได้ วิธีการในโลกปัจจุบันก็คือ ต้องพยายามไม่ควบคุมอะไรเลย ปล่อยให้มีการไหลเข้าไหลออกเสรี การจัดเก็บภาษีจากเงินลงทุนระหว่างประเทศนี่ เขาเรียกว่าเป็น capital control รูปแบบหนึ่ง ถ้าเก็บไม่มากนักมันก็เป็นระดับอ่อนๆ ซึ่งไม่ทำให้นักลงทุนตกใจนัก คือถ้าเขามาลงทุนในระยะยาวก็แทบไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย แต่ถ้ามาลงทุนระยะสั้นๆ นี่แหละถึงจะกระทบ และยิ่งทำให้ตลาดหุ้นปั่นป่วนมาก หลังจากประกาศวันเดียวหุ้นอาจจะลง 50-60 จุด สรุปก็คือแนวคิดหลักๆ ในโลกปัจจุบันเขาอยากให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี เพราะฉะนั้นถ้ามันมีมาตรการลักษณะนี้ปุ๊บ เขาจะตกใจ และอาจกระทบกับผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในระยะยาวได้

ภาษีทรัพย์สินเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สังคมพยายามเรียกร้องให้ต้องปฏิรูปอย่างมโหฬาร อาจารย์มีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร

ภาษีทรัพย์สินถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการกระจายตัวของสินทรัพย์นี่แย่ยิ่งกว่าการกระจายตัวของรายได้ของคนอีก ถ้าไปดูข้อมูลการถือครองที่ดินจะพบว่าคนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ที่รวยที่สุดของไทย ถือครองที่ดินถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ถ้าเราจะจัดเก็บภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ภาษีทรัพย์สินก็นับเป็นทางเลือกที่ดีอีกประการหนึ่ง เพราะโครงสร้างภาษีทรัพย์สินในปัจจุบัน แม้จะมีการจัดเก็บภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ส่วนใหญ่มันไม่อัพเดท และการจัดเก็บก็ทำได้น้อยมาก

ที่ผ่านมามีความพยาพยามที่จะผลักดันการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินโดยการวัดมูลค่าที่ดิน แล้วเรียกเก็บภาษีจากสัดส่วนของมูลค่านั้น แต่ว่ากฎหมายนี้ก็ยังไม่ออกมาสักทีแม้ว่าจะเข้าสภาไปนานแล้ว แต่ก็มีการแก้ไขไปเรื่อยๆ มีการนำมาพูดใหม่ในรัฐบาลชุดที่แล้ว แล้วก็เงียบหายไป

มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่กฎหมายภาษีทรัพย์สินจะถูกผลักดันโดยคนที่เขาเสียประโยชน์เอง

ถ้ามองในมุมมองของการเมือง กฎหมายฉบับนี้คงออกมาได้ยากมาก ยกเว้นว่าจะมีกระแสสังคมเข้ามาหนุน ซึ่งในความคิดส่วนตัวกระแสสังคมมันน่าจะจุดได้ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ถือครองทรัพย์สิน มีแค่คน 10 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ที่เสียงดัง และอาจจะนั่งอยู่ในสภาด้วย

แล้วภาษีมรดกจะปฏิรูปอย่างไร

การเก็บภาษีมรดกนี้อาจจะต้องคิดให้ดีๆ ก่อน ถ้าดูตัวอย่างในต่างประเทศ บางประเทศก็กำลังจะยกเลิกจัดเก็บแล้ว เพราะไม่คุ้ม ภาษีมรดกมันนิยามได้ยากมาก สมมุติว่าคนที่กำลังจะเสียชีวิตในวัย 70 มีสินทรัพย์อะไรบ้างที่ถือว่าเป็นมรดก แล้วถ้ารู้ตัวว่ากำลังจะเสียชีวิตเขาก็โอนให้ลูกหลานหมด ไม่ต้องเสียภาษีสักบาท นอกจากนั้นยังต้องมีการตีมูลค่าอีก อย่างเช่นงานศิลปะ รูปภาพ อาคาร มูลค่ามันเท่าไหร่ ถ้าเขายกให้ลูกหลานแล้วต้องจัดเก็บภาษีจากลูกหลานเท่าไหร่ ซึ่งมันใช้ต้นทุนทางธุรกรรมค่อนข้างเยอะในการจัดเก็บภาษีมรดก และแน่นอนมันต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเยอะ

หากสามารถจัดเก็บภาษีที่ดินได้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หรือเกิดการกระจายรายได้อย่างเห็นผลจริงจังเลยหรือไม่

ผมเชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น คือคน 10 เปอร์เซ็นต์ที่ถือครองที่ดินถึง 90 เปอร์เซ็นต์นั้น เขาเก็บไว้เก็งกำไร ไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์อะไรเป็นหลัก บางทีก็ปล่อยเช่าถูกๆ บางทีก็ปล่อยทิ้งให้รกร้าง ถ้ามีการจัดเก็บภาษีที่ดิน ผมเชื่อว่าอย่างน้อยจะทำให้เขามีแรงจูงใจที่จะถือครองน้อยลง แล้วกระจายไปให้คนอื่นได้มากขึ้น การใช้ประโยชน์จากที่ดินก็น่าจะดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสามารถโยกที่ดินจากกลุ่มคน 10 เปอร์เซ็นต์บนสุดของประเทศไปสู่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินมันก็น่าจะมีประโยชน์มากกว่า ถ้ามองในภาพรวมของประเทศ มันไม่ใช่แค่การลดความเหลื่อมล้ำเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของประสิทธิภาพการใช้ที่ดินด้วย ภาษีที่ดินจึงเป็นภาษีที่ควรจะจัดเก็บเป็นอย่างยิ่ง

ปัญหาก็คือ ประเทศไทยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าใครถือครองที่ดินมากน้อยแค่ไหน

แม้จะเปิดเผยรายชื่อออกมาไม่ได้ แต่อาจจะเปิดเผยได้ว่าลำดับที่หนึ่งถือครองอะไรบ้าง ลำดับที่สองถือครองอะไรบ้าง และหากไปดูข้อมูลจริงๆ บางทีมันอาจจะสะดุดองค์กรบางองค์กรก็ได้

ภาษีประเภทอื่นๆ อย่างภาษีสรรพสามิตควรจะต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมไหม

ภาษีสรรพสามิตมันเป็นภาษีทางอ้อม ซึ่งในทางทฤษฎีจะจัดเก็บจากผู้ผลิต แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ถูกผลักภาระไปยังผู้บริโภคได้ ถ้าจัดเก็บปุ๊บ เขาก็ขึ้นราคา โดยปกติแล้วภาษีสรรพสามิตจะไม่จัดเก็บจากสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่จะจัดเก็บจากสินค้าที่ให้โทษต่อสังคม เช่น ก่อให้เกิดมลภาวะ ภาษีเหล้า ภาษีบุหรี่ ซึ่งที่จริงแล้วถ้าดูโครงสร้างภาษีเหล้าบุหรี่ในปัจจุบันนี่ก็สูงมากอยู่แล้ว ถ้าเก็บเพิ่มอีกก็ไม่น่าจะสร้างรายได้อะไรมากนัก และสุดท้ายมันก็จะไปผลักภาระกับผู้บริโภค เพราะราคาขึ้นไปเรื่อยๆ

ภาษีสรรพสามิตบางตัวถ้าจะมีการจัดเก็บเพิ่มก็ควรจะเก็บจากสินค้าฟุ่มเฟือย แต่การจัดเก็บก็ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะสินค้าฟุ่มเฟือยบางอย่างไม่ได้ผลิตในไทย แต่สรรพสามิตจะจัดเก็บเฉพาะสินค้าที่ผลิตในไทย อย่างเช่นเรือยอชต์มันไม่ได้ผลิตในไทย ปีหนึ่งก็คงจัดเก็บได้ไม่เท่าไหร่

สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง อย่างนี้ควรเก็บภาษีให้หนักเลยไหม

อันนี้มันก็จะมีเหตุผลของมันอีกแบบหนึ่ง เช่น รัฐกลัวว่าจะกระทบต่อเกษตรกร แต่อีกมุมหนึ่งก็อาจมองว่าเป็นสินค้าที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็นพวกนี้คงต้องถกเถียงกันอีกเยอะ แนวคิดมันถูกที่ว่าต้องจัดเก็บภาษีกับสินค้าที่ทำให้เกิดมลพิษ สินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่ก่อให้เกิดโทษกับสังคม

มีภาษีสรรพสามิตอีกประเภทหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังผลักดันคือ ภาษีเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ เช่น เครื่องดื่มผสมน้ำตาล เขาเรียกว่าเป็นภาษีอ้วน แต่ก็มีคนถกเถียงกันอยู่พอสมควรว่าคนไทยนี่มันอ้วนหรือยัง หรือมันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยหรือเปล่า

อย่างไรก็ดี ในต่างประเทศเขาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตไม่เยอะเท่าของเรานะครับ และทุกวันนี้ก็จัดเก็บในอัตราที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ถ้าเก็บเพิ่มก็คงไม่ส่งผลต่อรายได้รัฐบาลมากนัก หรืออาจไม่กระทบกับโครงสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมสักเท่าไหร่ ประชาชนเองก็สามารถเลือกที่จะไม่บริโภคได้ หรือไม่ก็อาจหันไปบริโภคสินค้านำเข้าแทน

มีทางออกใดอีกบ้างที่รัฐจะมีรายได้จากภาษีเพิ่มมากขึ้น

กรมสรรพากรเองก็พยายามเร่งดำเนินการ 2 เรื่อง เพื่อจะจัดเก็บภาษีให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น เรื่องแรกคือ การจัดทำฐานข้อมูล โดยพยายามจะเชื่อมโยงฐานข้อมูลขององค์กรต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เช่น องค์กรแต่ละแห่งมีการจ่ายรายได้ออกไปหรือเปล่า ถ้ามี เขาก็จะตรวจสอบได้ว่าจ่ายให้ใครบ้าง จากเดิมสมัยก่อนไม่ต้องมีการรายงานข้อมูลตรงนี้ อีกเรื่องหนึ่งคือ การลดต้นทุนในการยื่นแบบจ่ายภาษี เดี๋ยวนี้สามารถยื่นทางอินเทอร์เน็ตได้หมดแล้ว

ปัญหาเรื่องการตกแต่งบัญชีของบริษัทต่างๆ จะแก้ไขอย่างไร

ถ้ามีการแต่งบัญชีมาตั้งแต่ต้นทาง ปลายทางมันก็เก็บภาษีไม่ได้ เพราะมันไม่มีการรายงานมาตั้งแต่ต้น แต่ถ้าดูตัวอย่างของต่างประเทศ เขาจะมีระบบฐานข้อมูลกลางที่ลิงค์ข้อมูลกันทุกส่วน สมมุติบริษัทหนึ่งนำสินค้าเข้ามาขาย สินค้าที่นำเข้ามานั้นส่งต่อไปที่บริษัทไหนบ้าง ขายให้กับผู้บริโภครายใด ถ้าสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบนี้ได้ มันก็หนีภาษียาก ยิ่งถ้ามีฐานข้อมูลดีจริงๆ ก็คงตรวจสอบไม่ยาก แต่ทีนี้ฐานข้อมูลของเรามันค่อนข้างกระจัดกระจาย ตอนนี้ภาครัฐจึงพุ่งเป้าไปที่กลุ่มธุรกิจทางอินเทอร์เน็ต หรือ e-commerce เพราะตรวจสอบได้ง่ายกว่า ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ดี แต่ว่าธุรกิจที่เป็น traditional จริงๆ อย่างโชห่วย ค้าปลีก อะไรอย่างนี้ ค่อนข้างตรวจสอบยาก ไม่มีหลักฐาน บางทีถ้าจะไปตรวจสอบก็ต้องไปยืนดูว่าเขาขายได้กี่ชิ้นต่อวัน ยิ่งซื้อขายกันเป็นเงินสด ยิ่งไม่มีทางรู้เลยว่าเงินมันหมุนไปทางไหน เขาก็แค่รายงานว่ารายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย ก็ไม่ต้องเสียภาษีแล้ว

ในอนาคตธุรกิจ e-commerce จะเป็นที่นิยมมากขึ้น หน่วยงานรัฐจะตรวจสอบได้ทั่วถึงหรือไม่

e-commerce ส่วนใหญ่จะทำธุรกรรมผ่านทางบัตรเครดิตหรือผ่านการโอนเงินทางธนาคาร ซึ่งตรวจสอบได้ไม่ยาก เพราะข้อมูลมันอยู่ที่ธนาคารซึ่งมีไม่กี่แห่งในประเทศไทย ถ้ารัฐคิดจะทำก็สามารถกำหนดเป็นกฎหมายได้ว่า การทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตหรือการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารต้องเปิดเผยข้อมูล ผมว่ามันก็ทำได้ระดับหนึ่ง ถ้าในอนาคตมีการทำธุรกิจในลักษณะ e-commerce มากขึ้น ก็น่าจะเป็นผลดีต่อการจัดเก็บภาษี เพราะช่วงที่ผ่านมาเสียภาษีกันน้อยมาก ส่วนใหญ่ก็ไม่รายงาน ถือเป็นเงินได้ที่อยู่นอกระบบอีกแบบหนึ่ง

อาจารย์บอกว่า ถ้าประชาชนไม่อยากเสียภาษีมากก็ต้องควบคุมการใช้จ่ายของรัฐ แต่การที่รัฐบาลกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบขนส่งแบบราง กรณีนี้ประชาชนกลับไม่สามารถควบคุมได้

การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทนี้ถือเป็นโครงการลงทุนในหลายส่วน บางส่วนผมเชื่อว่ามีประโยชน์ อย่างรถไฟฟ้ารางคู่ ผมคิดว่าควรทำ เพราะน่าจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าได้จริง แต่บางส่วนก็ยังไม่เห็นภาพว่ามีประโยชน์จริงหรือเปล่า อย่างเช่นรถไฟความเร็วสูง ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมาแสดงให้ประชาชนเห็นเลย แล้วจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์อย่างที่รัฐบาลอ้างได้จริงหรือ ถ้าใช้ขนส่งผู้โดยสารจะขาดทุนหรือไม่ และถ้าขาดทุนขึ้นมาเหมือนแอร์พอร์ตลิงค์จะทำยังไง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีแผนอะไรรองรับชัดเจน ฉะนั้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นเรื่องของการลงทุน ถ้าจ่ายวันนี้ ต้องดูว่ามันคุ้มไหมในวันหน้า

แต่สุดท้ายปลายทางก็ต้องเก็บเงินภาษีจากประชาชนเพื่อมาใช้หนี้?

แน่นอน และโครงการนี้อาจจะส่งผลต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะ 10 ปีแรกที่กู้มา ยังไม่ต้องใช้คืน แต่จะใช้คืนตั้งแต่ปีที่ 11 ถึงปีที่ 50 แล้วก็ต้องใช้คืนในสัดส่วนที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยช่วงปีท้ายๆ ต้องใช้หนี้คืนเยอะสุด เพราะฉะนั้นก็เหมือนผลักภาระไปให้รุ่นลูกรุ่นหลาน ถ้าโครงการมันคุ้ม ก็โอเค คนที่ได้ประโยชน์ก็คือรุ่นลูกรุ่นหลานนั่นแหละ แต่ถ้ามันเจ๊งขึ้นมา ลูกหลานเราก็ต้องรับภาระไป เพราะอย่าลืมว่ารายได้รัฐบาล 90 เปอร์เซ็นต์มาจากภาษีของเรา

นอกเหนือจากโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้าน ยังมีโครงการที่รัฐควรจะต้องลดหรือเลิกก็คือ โครงการประชานิยม ซึ่งนิยามของคำว่าประชานิยมในทางเศรษฐศาสตร์หมายถึงโครงการที่มีลักษณะแจกอย่างเดียว ไม่มีการพัฒนาคุณภาพหรือศักยภาพของคนตามมา เช่น โครงการรับจำนำข้าว โครงการแจกแท็บเล็ต หรือแม้แต่โครงการที่ตอนตั้งต้นเหมือนจะเป็นประโยชน์ เช่น กองทุนหมู่บ้าน โอท็อป บางทีถ้าลดหรือเลิกบางอย่างลงได้ก็น่าจะดี

โครงการรับจำนำข้าวนี่ผมว่าเป็นโครงการหนึ่งของรัฐบาลที่แย่ที่สุด ในยุคปัจจุบันมันไม่ควรทำแล้ว การรับจำนำข้าวที่ราคา 15,000 บาท ไม่ใช่แค่ประชานิยมอย่างเดียว แต่มันทำลายอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์ มันทำลายแรงจูงใจที่จะทำให้ชาวนาพัฒนาคุณภาพข้าว เพราะตอนนี้เกษตรอินทรีย์มันราคาต่างกันนิดเดียว ฉะนั้นเขาจะไปทุ่มทุนลงแรงทำเกษตรอินทรีย์ทำไม ในเมื่อปลูกข้าวอายุสั้นก็ได้เงิน 15,000 บาทแล้ว เขาก็หันไปปลูกข้าวอายุสั้น ใส่ปุ๋ยเคมีให้มันโตเร็วๆ ดีกว่า แล้วอีก 1-2 ปีข้างหน้า ข้าวคุณภาพดีจะไม่มีในไทย แต่จะมาจากพม่า ลาว ที่เขายังคงส่งเสริมข้าวคุณภาพดี ในประเทศไทยแม้จะมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว แต่ไม่มีใครเอาไปปลูก สุดท้ายก็จะทำลายชื่อเสียงข้าวไทยทั้งหมด ซึ่งไม่เพียงจะกระทบต่อส่งออกนำเข้าระยะสั้น แต่มันจะส่งผลกระทบระยะยาว

เหตุใดกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงจึงมีอัตราการเรียกเก็บภาษีที่สูงตามไปด้วย มีคำอธิบายในเรื่องนี้ไหม

กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง เขามักคำนึงถึงสังคมส่วนรวมเยอะ เขามีความหวงแหนในเงินภาษีที่เขาจ่ายไป แต่ประเทศไทยมันขึ้นภาษีลำบากเพราะสัดส่วนคนจ่ายภาษีมันน้อย ฉะนั้นความหวงแหนในเงินภาษีของเราจึงน้อยกว่า แล้วคนก็มักจะเรียกร้องให้รัฐบาลทำโน่นทำนี่โดยที่ตัวเองไม่อยากจ่ายภาษี

ในประเทศที่มีรายได้เยอะ คนส่วนใหญ่เสียภาษี มีความหวงแหนเยอะ เพราะฉะนั้นการจัดเก็บภาษีเขาจะค่อนข้างมีเหตุมีผล เช่น ในสภาเขาจะไม่เถียงกันว่าควรจะทำโครงการนี้หรือไม่ควรทำ แต่เขาจะหาเหตุผลกันว่าถ้าจะทำโครงการนี้แล้วต้องเสียภาษีเพิ่ม ประชาชนเห็นด้วยหรือเปล่า หรือถ้าจะโครงการนี้ก็ต้องไปหักลบจากโครงการโน้นมา ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้ เป็นต้น

ถึงที่สุดแล้วกลไกภาษีจะเป็นเครื่องมือเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขได้แค่ไหน

แนวคิดพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ถือว่า มนุษย์ส่วนใหญ่เห็นแก่ตัว ถ้าคนเรายังขัดสนอยู่ก็คงไม่คิดถึงเรื่องเมตตาธรรมหรือการเผื่อแผ่ให้คนอื่นสักเท่าไหร่ เพราะเขาต้องหาอะไรมาประทังชีวิตเขาให้ได้ก่อน แต่ถ้าเขามีรายได้ระดับหนึ่งหรือสามารถที่จะดำรงชีพได้เพียงพอแล้ว เรื่องของการช่วยเหลือผู้อื่นมันก็อยู่ในสำนึกของคนอยู่แล้ว

ทีนี้ถ้ามองว่าในสังคมไทยมันอยู่ที่ระดับไหน ผมเชื่อว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยอยู่ในระดับที่คำนึงถึงเรื่องคุณธรรมจริยธรรมได้แล้ว เห็นได้จากเงินบริจาคน้ำท่วม เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือช่วยเหลือเด็ก แม้ไม่ได้มีการบังคับ แต่คนก็บริจาคกันเป็น 10 ล้าน แต่ปกติแล้วถ้าไม่มีคนเป็นผู้นำก็คงทำอะไรไม่ได้มาก ฉะนั้นในทางเศรษฐศาสตร์เราเชื่อว่า ถ้ารัฐบาลไม่ทำหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรม คนอื่นก็จะทำหน้าที่นี้ในระดับที่น้อยลงไป

การเก็บภาษีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่อย่างไร บางครั้งอาจต้องไปดูที่ปลายทางด้วยว่ารัฐเอาเงินภาษีนั้นไปทำประโยชน์อะไร?

อันนี้เห็นด้วย เราต้องดูว่ารัฐบาลเอาภาษีนั้นไปใช้ทำอะไร แต่การใช้จ่ายของรัฐมันจะค่อนข้างกว้าง เพราะโครงการรัฐบาลมีหลายรูปแบบมาก และแต่ละรูปแบบก็มีแนวคิดเบื้องหลังไม่เหมือนกันเลย เช่น การจำนำข้าว คนที่ได้รับประโยชน์เป็นคนรวยหรือคนจนกันแน่ ถ้าเป็นคนรวย ทำไมต้องไปจำนำข้าวให้เขา ถ้าเขาพึ่งตัวเองได้อยู่แล้ว ทำไมต้องไปสนับสนุนเขาอีก

ในภาพรวม ผมเชื่อว่าถ้าเราเก็บภาษีในระดับที่สูงขึ้น แล้วนำไปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์จริงๆ หรือเอื้อต่อกลุ่มที่ควรจะได้รับประโยชน์จริงๆ ผมเชื่อว่าคนไทยก็ยินดีที่จะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลเอาเงินไปทำอะไรที่มันน่าสงสัย


(บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เรียบเรียงจากหนังสือชุด Reform Dialogue
พูดดีๆ: รวมบทสัมภาษณ์จากปากคนที่พูดแต่เรื่องดีๆ
โดย สำนักพิมพ์ WAY of BOOK, กรกฎาคม 2556)

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า