ทินกร หุตางกูร แต่งนิยายลมละเมอดุจแมลงตัวเล็กพยายามเปล่งแสงให้เหมือนดาว

 

เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

เด็กสาวบนอาณานิคมดวงจันทร์สูบบุหรี่บนดาดฟ้า / แมลงชีปะขาว / มิโนทอร์/ ยักษ์พูดได้ / มนุษย์กลายพันธุ์มีปีกบินได้ / อำนาจโบราณ / พหุจักรวาล / รัฐบาลทหาร / เด็กหนุ่มวัย 23 สอนภาษาอังกฤษ / หุ่นยนต์คุยกับพระพุทธเจ้า พระเยซู และพระมะหะหมัด / เด็กหนุ่มยืนสูบบุหรี่ในห้องที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์วางผังเมือง / บารัก โอบามา ถูกลอบสังหารระหว่างมาเยือนประเทศไทย / มนุษย์กลายพันธุ์สองคนกางปีกร่วมรักบนเตียง ฯลฯ

คือชิ้นส่วนกระจัดกระจายที่ประกอบกันเป็น ลมละเมอ นวนิยายที่มีชื่อภาษาอังกฤษ: Psychedelic Wind นวนิยายเล่มใหม่ของ ทินกร หุตางกูร

ดวงดาวในบ่อน้ำ (2538) คนไต่ลวดบนดาวสีฟ้า (2542) โลกของจอม (2545) ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร (2547) นกเพลง (2549) ดวงอาทิตย์กับดอกทานตะวัน (2550) จุดตัดบนเส้นเอ็กซ์วาย (2551)

คือผลงานก่อนหน้าทั้งหมดของทินกร

16.00 น. ของวันที่ 14 มีนาคม ทินกรเดินทางมายังสำนักงานนิตยสาร WAY เขาสวมเสื้อยืดสีขาวพิมพ์รูป Crow’s foot in a circle ออกแบบโดย เจอรัลด์ โฮลทอม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1958 เดิมเป็นสัญลักษณ์ผู้ชุมนุมเดินขบวนต่อต้านนิวเคลียร์ ก่อนจะเป็นไอคอนของสันติภาพ กางเกงยีนส์สีเข้ม รองเท้าผ้าใบหุ้มข้อสีดำ สะพายกระเป๋าถักใบเล็ก ในนั้นมีบุหรี่มาร์ลโบโรสีขาว หูฟังอินเอียร์ ไอพอด ทินกรเหมือนตัวละครเด็กหนุ่มวัย 18 ที่ตนเขียนในนิยายหลายเล่ม ผิวซีด ผอม แอบสูบบุหรี่ในห้องซักรีด ดาดฟ้า ห้องเก็บถังน้ำขนาดใหญ่ และบนดวงจันทร์

เราเลือกเล่นแผ่นเสียงของ โจแอน เบซ เป็นแผ่นแรก เธอร้องเพลง ‘A Hard Rain’s A-Gonna Fall’ ในบ่ายอากาศร้อน เสียงของเธอทำให้เราเห็นภาพเด็กสาวเศร้า มีปัญหากับเพื่อนร่วมชั้น ครู โรงเรียน กฎระเบียบ ฝนตกหนัก เธอไม่กางร่ม แต่เดินออกไปร้องเพลงกลางสายฝน

ทินกรดื่มสเตราท์เหมือนเด็กแอบกินอเมริกาโนสีดำ สูบบุหรี่หลังตอบคำถามไป 7 ข้อ สางผมยุ่งขณะจัดเรียงความคิดเป็นระเบียบ ผูกเชือกรองเท้าผ้าใบหุ้มข้อ หัวเราะกับคำถาม เศร้าใจกับคำตอบที่มีข้อจำกัด ฯลฯ

4 วันต่อมา WAY เดินทางไปยังบ้านย่านประชาชื่นของทินกรหลังอ่านนิยายของเขาจบเพื่อบันทึกภาพ การพูดคุยกับทินกรทั้ง 2 ครั้ง ห้อมล้อมไปด้วยเพื่อนและน้องๆ ของเขาในแวดวงคนทำสื่อ บรรณาธิการ นักเขียน

การอ่านลมละเมอ และได้พูดคุยกับทินกร หุตางกูร ทำให้เรานึกถึงแมลงตัวเล็กพยายามเปล่งแสงให้เหมือนดาว

 

ระหว่างที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้ (14 มีนาคม) ผู้แทนรัฐบาลไทยจำนวน 46 คนเข้าร่วมชี้แจงข้อซักถามบนเวทีสหประชาชาติที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศไทยถูกตั้งคำถามเรื่องการใช้อำนาจของรัฐบาลทหาร เสรีภาพในการแสดงความเห็น ถ้า 1 ใน 46 ผู้แทนรัฐบาลไทยเกิดท้องเสียไม่สบาย คุณจะเลือกตัวละครตัวไหนใน ลมละเมอ ไปเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมที่นครเจนีวา

เชิญบุญครับ เชิญบุญกับจักรกลคือ 2 ตัวละครที่เป็นขบถต่อกฎระเบียบที่จำกัดสิทธิ เสรีภาพ แต่เลือกเชิญบุญเพราะคิดว่ามีความมั่นใจในตัวเอง กล้าพูด กล้าแสดงออกมากกว่าจักรกล จักรกลเป็นคนเก็บตัว ขี้อาย คงไม่เหมาะจะไปพูดในวงประชุมหรือที่สาธารณะ จักรกลคงพูดเสียงเบา เผลอยกนิ้วลูบคางกับริมฝีปากอย่างประหม่าทุกครั้งเวลาจะตอบคำถาม

 

คุณคิดว่าเชิญบุญจะพูดถึงสถานการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างไร

เชิญบุญคงยอมรับความจริง ไม่พยายามแก้ตัวเพื่อรักษาภาพลักษณ์ประเทศของตัวเอง เชิญบุญคงไม่อยากเป็นเด็กหญิงเลี้ยงแกะในห้องประชุมขององค์การสหประชาชาติ เพราะตอนนี้ใครก็รู้ใช่ไหมครับว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นอย่างไร ประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพ กฎหมายที่ไม่เคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนถูกประกาศใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมคนเห็นต่าง

 

คำให้สัมภาษณ์ของนายกสมาคมนักเขียนฯคนล่าสุดที่บอกว่า “พยายามจะเชื่อมต่อกับภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการอ่าน ซึ่งเมื่อเกิดการอ่านจะนำไปสู่การเขียนที่ยั่งยืน” ถ้าเรามองว่ารัฐบาลทหารคือศัตรูของประชาชนในห้วงเวลาแบบนี้ คุณคิดว่าจำเป็นต้องให้ภาครัฐอุปถัมภ์งานวรรณกรรมหรือไม่

รัฐบาลกับประชาชนไม่ได้เป็นศัตรูกันโดยอัตโนมัติ แต่เราจะรู้สึกว่ารัฐบาลเป็นศัตรูก็ต่อเมื่อรัฐบาลพยายามตั้งตัวเป็นผู้ปกครอง ควบคุมเรา ซึ่งรัฐบาลทหารมักเป็นอย่างนั้น รัฐบาลทหารไม่เหมาะกับโลกปัจจุบันที่ไม่ว่าอย่างไรผมก็ยังเชื่อว่าต้องเป็นโลกของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนต้องเป็นฝ่ายควบคุมรัฐบาล คอยกำกับให้รัฐบาลทำสิ่งที่เราต้องการ เราไม่ควรหวังพึ่งรัฐบาลทหาร สิ่งที่เราควรทำกับรัฐบาลทหารคือเรียกร้องให้ออกไป ไม่ต้องกลับมาอีก

แต่ยุคนี้ทุกอย่างซับซ้อน ไม่มีใครพูดแทนใครได้ สิ่งที่เราคิดเราเชื่ออาจไม่ได้เป็นความคิดความเชื่อของคนอื่น แม้จะเป็นเพื่อนกัน อยู่บ้านเดียวกัน หรือทำงานคล้ายกัน นักเขียนก็เหมือนกัน มีความคิดความเชื่อทางการเมืองต่างกันไป พูดเฉพาะตัวเอง ผมเชื่อว่างานเขียนเป็นงานเชิงสร้างสรรค์ เป็นครีเอทีฟ ถ้าเราไม่ตั้งคำถามกับอำนาจเลย ก็ยากที่จะเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาได้ใช่มั้ยครับ ถ้าเรา get along กับอำนาจไปทั้งหมด ทิศทางของสังคมก็จะเป็นไปแบบเดิม ไม่เกิดสิ่งใหม่ที่เป็นนวัตกรรมหรือความสร้างสรรค์อะไรขึ้นมา

ผมเพิ่งฟังข่าวว่า มีมหาวิทยาลัยต่างประเทศแห่งหนึ่งให้ทุนคนที่คิดขบถ ขบถในที่นี้คือขบถกับกฎเกณฑ์หรือระเบียบแบบแผนแบบโบราณ เพราะว่าการที่มีความคิดที่เป็น rebellion เป็นขบถกับกฎเกณฑ์จะทำให้เกิดนวัตกรรม เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่จะพาโลกไปสู่ทิศทางที่ดีกว่า

 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย คนที่ลุกขึ้นมาขบถต่อกฎเกณฑ์หรืออำนาจรัฐ อย่างคนหนุ่มคนสาว นักศึกษา นักกิจกรรม แต่จุดหมายปลายทางของพวกเขาคือเข้าคุก

ผมคิดว่ามันเป็นโศกนาฏกรรมนะ คนที่ขบถต่อกฎเกณฑ์มักได้รับความเจ็บปวดเสมอ คนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจเป็นคนที่น่ายกย่อง เขาไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาแบบเรา ซึ่งจะใช้คำว่าอะไรก็ได้ที่มีความหมายถึงบางอย่างที่เหนือกว่า เขาอาจจะรู้สึกว่าไม่สามารถนิ่งเฉยได้อีกต่อไป เขาทุกข์ทรมาน และอาจจะรู้ด้วยซ้ำว่าการที่ลุกขึ้นมาแบบนี้อะไรคือสิ่งที่ต้องเผชิญ แต่ยอมที่จะได้รับผลนั้น เพื่อรักษาบางสิ่งที่สำคัญกว่า

 

คุณคาดหวังในบทบาทของนักเขียนอย่างไร

คาดหวังว่านักเขียนจะเขียนในสิ่งที่เขาคิดและรู้สึกออกมา โดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดอะไรทั้งสิ้น ผมอยากเห็นสมาคมนักเขียนฯ ทำหน้าที่นี้ หน้าที่ในการปกป้องนักเขียนให้มีอิสระในการพูด คิด อ่าน เขียน เหมือนประโยคที่วอลแตร์พูดใช่มั้ยครับ “ผมไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ผมจะยอมตายเพื่อปกป้องสิทธิในการพูดของคุณ” มีคนบอกว่าวอลแตร์ไม่ได้พูดแบบนั้น วอลแตร์เขียนว่า “ผมไม่ชอบสิ่งที่คุณเขียน แต่ผมจะสละชีวิตเพื่อให้คุณสามารถเขียนต่อ” วอลแตร์อาจไม่ได้พูดหรือเขียนทั้งสองประโยคนั้น แต่ใครพูดหรือเขียนไม่สำคัญเท่าเนื้อหา

หน้าที่นี้สำคัญที่สุด ไม่ว่าสมาคมนักเขียนฯจะโดนยุบหรือมีชะตากรรมอย่างไรหลังจากนั้น ก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำ สมาคมนักเขียนก็ไม่จำเป็นต้องมี หน้าที่อื่นอย่างการส่งเสริมการอ่านเพื่อการเขียนที่ยั่งยืน ไม่ใช่หน้าที่ของสมาคมนักเขียนฯ สมาคมนักเขียนฯมีหน้าที่ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของนักเขียน สมาคมนักเขียนฯคือการรวมตัวของนักเขียนเพื่อให้มีพลังเวลาอยากต่อสู้เรียกร้อง การต่อสู้เรียกร้องโดยคนใดคนหนึ่งลำพังไม่มีพลังพอ การต่อสู้เรียกร้องในนามสมาคมนักเขียนฯอาจจะสู้กับอำนาจรัฐไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่านี่คือตัวแทนของอาชีพหนึ่งในประเทศนี้

คงยากที่สมาคมนักเขียนฯจะมีมติออกเป็นแถลงการณ์ร่วมว่ามีแนวคิดหรือจุดยืนทางการเมืองแบบไหน เห็นด้วยกับรัฐประหารหรือไม่ เพราะสมาคมนักเขียนฯเป็นที่ชุมนุมของนักเขียนที่มีความคิดต่างกัน บางคนอาจเห็นด้วยกับรัฐประหาร บางคนอาจไม่เห็นด้วย บางคนชอบสีนั้น บางคนชอบสีนี้ ทุกคนมีสิทธิ์ การมีแถลงการณ์ร่วมในแง่จุดยืนทางการเมืองอาจทำไม่ได้ เพราะความหลากหลาย ไม่สามารถหาข้อสรุป แต่ถ้าคุณเป็นนักเขียน ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน มีความคิดความเชื่อทางการเมืองอย่างไร สิ่งที่คุณจะต้องต่อสู้เพื่อมันคือสิทธิและเสรีภาพในการพูด คิด อ่าน เขียนในทุกเรื่องทุกประเด็น

 

คุณเป็นสมาชิกสมาคมนักเขียนหรือไม่

ไม่ได้เป็นครับ แต่ถ้าสมาคมนักเขียนอยากได้รายชื่อสนับสนุน เพื่อออกแถลงการณ์ปกป้องสิทธิเสรีภาพของนักเขียนในการพูด คิด อ่าน เขียน แล้วเขานับผมเป็นนักเขียน ผมก็ยินดีครับ

 

เคยมีคนพูดในทำนองนี้ครับ วรรณกรรมไม่ควรที่จะถูกใช้เป็นพร็อพพาแกนดาทางการเมือง คุณเห็นด้วยไหม

ทำไมครับ โดยส่วนตัว ผมมองว่านักเขียนวรรณกรรมไม่ต่างกับนักโฆษณาชวนเชื่อ การสร้างเรื่อง สร้างตัวละคร สมมุติฉาก สมมุติเหตุการณ์ และการเลือกใช้คำ บนความมุ่งหวังว่าผู้อ่านจะเกิดความพอใจ มีความรู้สึก มีอารมณ์ร่วมไปกับสิ่งที่ตัวเองเขียนคือการโฆษณาชวนเชื่อ นักเขียนไม่ใช่ผู้สื่อข่าว เราเรียกร้องความเป็นกลางจากนักเขียนไม่ได้ เพราะงานของนักเขียนคือแสดงตัวตน ความคิด ความรู้สึก จุดยืน มุมมองต่อโลก นักเขียนต้องเลือก ต้องมีความเห็นต่อสิ่งต่างๆ แต่ผู้อ่านมีสิทธิ์เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่นักเขียนเสนอ ถ้าผมคิดว่าระบอบเผด็จการดีกว่าระบอบประชาธิปไตย ผมก็ต้องเสนอออกไปในงานเขียน ต้องชวนคนอ่านว่าไปอยู่กับระบอบเผด็จการกันเถอะครับ ทำไมผมไม่ควรมีสิทธิ์ชวน แต่ผู้อ่านจะไปไม่ไป ก็ขึ้นอยู่กับผู้อ่าน ทำไมผมต้องถูกคาดหวังว่าต้องทำเหมือนไม่มีความรู้สึกเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ในขณะที่ผมชอบระบอบเผด็จการ ไม่ชอบระบอบประชาธิปไตย นักเขียนไม่พูดเรื่องการเมืองไม่ได้หรอกครับ เพราะการเมืองมีผลต่อชีวิตของเราทุกคน

ผู้สื่อข่าวหรือสื่อมวลชนเป็นอีกอย่าง คุณไม่จำเป็นต้องมาเสนอตัวตนของคุณ นักข่าวเป็นมีเดีย คุณต้องเอาข้อมูลของแต่ละด้านมาให้ประชาชนเลือกหรือตัดสินใจ ถ้าคุณอยากแสดงความคิดเห็น คุณต้องสลับไปสวมหมวกคอลัมนิสต์ หมวกคอมเมนเตเตอร์ หรืออะไรก็ว่าไป

ผมคิดว่าผู้สื่อข่าวไม่มีแล้วในโลกสมัยนี้ ถ้าเราดูจริงๆ สถานีโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์เกือบทั้งหมด ประกาศจุดยืนหมดเลยว่าตัวเองอยู่ข้างไหน อย่างสถานีโทรทัศน์ของฟอบส์ก็ประกาศเชียร์ทรัมป์ ซีเอ็นเอ็นก็บอกว่าไม่เอาทรัมป์ นิวยอร์คไทม์สก็บอกไม่เอาทรัมป์ หรือในประเทศไทย เดลินิวส์หรือเนชั่นก็แสดงออกชัดเจนว่าสนับสนุนรัฐบาลทหารใช่มั้ยครับ ถ้าทำแบบนี้ คุณก็ไม่ใช่มีเดีย

 

แต่ถ้าสื่อนั้นทำให้ผู้รับสื่อใช้วิจารณญาณของตัวเองในการรับรู้ไปเลยว่า สื่อนี้สนับสนุนอะไร มันจะไม่สามารถเป็นไปได้เลยเชียวหรือ

ได้ครับ ถ้าอย่างนั้นเราก็ห้ามว่ากันว่า ชอบใครก็เสพแต่ข้อมูลฝ่ายนั้น ทำไมไม่ดูให้รอบด้าน ก็แต่ละช่องมันไม่รอบด้าน ฉะนั้นไม่ต้องโทษกัน

 

กลวิธีประพันธ์ที่มีรูปแบบให้ซุกซ่อน นำเสนอสัญญะ รูปแบบของวรรณกรรมน่าจะเหมาะกับสภาพสังคมที่เราเป็นอยู่ เป็นไปได้ไหมครับว่าปัญหาบางปัญหาที่พูดไม่ได้ ก็อาจจะไม่เป็นปัญหาในพื้นที่ของวรรณกรรม ขอเน้นนะครับว่าเฉพาะพื้นที่ของวรรณกรรม

นักเขียนที่อยู่ในโลกที่โดนปิดกั้นเสรีภาพใช้วิธีนี้มาโดยตลอด ใช้วิธีนำเสนอแบบซ่อนนัยยะสู้กับอำนาจ แต่ผมอาจจะฝันมากไป ทำไมต้องปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อย่าปิดกั้นได้ไหม

นักเขียนบางคนอาจพอใจ และตั้งใจจะเลือกใช้วิธีนี้ แต่ถ้านักเขียนอีกคนบอกว่า ไม่ ผมไม่ต้องการใช้วิธีนี้ ต้องการพูดตรงๆ ทำไมต้องพูดถึงพัดลมเพื่อให้คนคิดถึงโต๊ะ ผมอยากให้คนคิดถึงโต๊ะ ก็ต้องพูดถึงโต๊ะ ทำไมพูดไม่ได้

 

 

ระหว่างที่อ่าน ลมละเมอ นึกถึงคำพูดของนักเขียนชื่อ จูเลียน บาร์นส์ เขาบอกว่า วรรณกรรมคือหนทางที่ดีที่สุดในการพูดความจริง คุณเห็นด้วยกับคำพูดนี้ไหม

ผมเชื่อว่าเรื่องแต่งไม่ใช่เรื่องจริง เชื่อแบบ มิลาน คุนเดอรา ว่ามันไร้สาระที่เราจะพยายามทำให้คนอ่านรู้สึกว่าตัวละครมีตัวตนจริง เดินอยู่กับเราบนถนน นี่เป็นความเชื่อส่วนตัว ผมเชื่อว่าตัวละครในเรื่องแต่งเป็นตัวละครที่ถูกสร้าง สิ่งต่างๆ ในนิยายไม่ใช่ภาพจริงบนโลก แต่เป็นภาพสะท้อน เหมือนภาพเขียนแนวแอบสแตร็คหรือเซอร์เรียล เราเขียนสิ่งต่างๆ จากอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงที่ลึกซึ้งมากกว่าที่เห็นจากสายตา ผมก็เชื่อว่า fiction เป็นหนทางในการพูดความจริงได้ดีที่สุด

เรื่องแต่งบอกถึงสิ่งที่อยู่ภายในด้วย

 

คุณสร้างฉากให้ตัวละครที่เป็นหุ่นยนต์สมองกลพูดคุยกับพระพุทธเจ้า พระเยซู พระมะหะหมัด คุณกังวลกับมันแค่ไหนในเรื่องของไดอาล็อกที่คุณใส่เข้าไป คนอ่านมีแนวโน้มจะมองว่า ผู้ประพันธ์จับคำพูดตัวเองยัดใส่ปากตัวละครที่เป็นพระพุทธเจ้า พระเยซู พระมะหะหมัด

ใช่ครับ มันก็คือการใส่ปาก เราไม่รู้หรอกว่าจริงๆ พระพุทธเจ้าเคยพูดอะไร ด้วยน้ำเสียงท่าทางแบบไหน ทุกอย่างเป็นจินตนาการของคนเขียน แต่เราอาศัยกรอบบางกรอบเป็นตัวกำหนด คือพระพุทธเจ้าจะไม่มีวันยุยงให้มีการฆ่า คำพูดที่เราให้พระพุทธเจ้าตรัสก็ต้องเป็นไปในทางนั้น

ผมเชื่อในเรื่องความคิดเสรี ผมเชื่ออย่างนั้น มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ตีความในแบบของเรา มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสิทธิเสรีภาพ

ศาสนาผ่านการตีความมาทุกยุคทุกสมัย การแยกย่อยเป็นลัทธิในศาสนาส่วนหนึ่งก็เกิดจากการตีความ ทำไมพุทธจึงมีหลายนิกาย คำสอนของพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน แต่เรามองคนละมุม เหมือนการมองฟ้า ผมนั่งมองจากตรงนี้ คุณเดินไปมองจากตรงนั้น ฟ้าเดียวกัน แต่ผมกับคุณเห็นต่างกัน

คุณบอกว่านิยายเรื่องนี้มีความเกรี้ยวกราด มันเป็นความพยายามที่จะขบถ ขบถทุกแง่มุมต่อสิ่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ในการมีความคิด ความเชื่อ ความฝันของตัวเอง ทั้งศาสนา การเมือง และปรัชญาบางอย่าง เป็นความทะเยอะทะยานของแมลงเรืองแสงตัวเล็กที่อยากเปล่งแสงให้เหมือนดาว

นวนิยายเรื่องไหนใช้วิธีการนี้บ้าง

The Last Temptation of Christ เอาชีวิตพระเยซูมาเขียนเป็นเรื่องแต่ง มีเลือดเนื้อ มีอารมณ์ความรู้สึก มีนิยายอีกมากที่เอาบุคคลจริงในประวัติศาสตร์มาเป็นตัวละคร นักเขียนอาจรู้ข้อมูลสำคัญ แต่รายละเอียดอย่างท่าทาง น้ำเสียง กิริยาที่ทำติดเป็นนิสัย อาจไม่มีบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ นักเขียนต้องอาศัยจินตนาการกับการตีความ มาร์เกซใช้วิธีนี้ เขียนเรื่อง The General in His Labyrinth ซึ่งตัวละครเอกคือนายพลซีโมน บิดาของทวีปอเมริกาใต้ ที่มีตัวตนจริง

 

เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งชื่อ ‘นักฟิสิกส์’ ของคุณ ตัวละครเข้าไปอยู่ร่วมการประชุมทางฟิสิกส์ที่สถาบันซอลเวย์ ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พ.ศ. 2470

ครับ ตัวละครเข้าไปอยู่ในข้อมูลจริง แต่รายละเอียดว่าใครจะทำหน้ายังไง ยิ้มหรือเศร้า อันนั้นเป็นจินตนาการ ไอน์สไตน์บอกว่ารับไม่ได้กับสิ่งที่ เวอร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์ก นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน เสนอไอน์สไตน์บอกว่าพระเจ้าไม่ได้ทอดลูกเต๋า เราไม่รู้หรอกว่าไอน์สไตน์ถอนหายใจมั้ย แต่เราเขียนให้เขาถอนใจ เวลาเราไม่เห็นด้วยกับสิ่งไหนหรืออึดอัดใจกับเรื่องอะไร อาการถอนหายใจก็เป็นไปได้ เป็นจินตนาการ เป็นการตีความของนักเขียน

 

โลกของ ลมละเมอ เข้าไปก่อกวนกลั่นแกล้งโลกของข้อเท็จจริงตลอดเวลา เช่นฉากที่มนุษย์สังหารไปลอบสังหาร บารัก โอบามา ขณะมาเยือนประเทศไทย คุณมีเส้นแบ่งแค่ไหนว่าโลกในเรื่องแต่งเข้าใกล้โลกข้อเท็จจริงเกินไปแล้วนะ เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือเวลาเราดูหนังพีเรียด ตัวละครย้อนอดีตย้อนเวลาได้ แต่ข้อแม้คือห้ามไปเปลี่ยนอดีตนะ แต่ในลมละเมอ โลกของข้อเท็จจริงถูกก่อกวนจนสะดุ้งนะครับ

ประเด็นของผมคือตราบใดที่มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้หยั่งรู้ทุกอย่างในจักรวาล รู้เพียงเศษเสี้ยว คุณไม่มีสิทธิ์ไปบอกหรือชี้นำใครว่า สิ่งนี้จริง สิ่งนั้นไม่จริง ต้องเชื่อแบบนี้ ห้ามเชื่อแบบนั้น ความคิดลักษณะนี้เป็นความคิดเชิงอำนาจ คุณอยากจะควบคุมคนอื่น แล้วใช้กลไกทุกอย่างเป็นเครื่องมือ ศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ ผมพยายามจะให้ตัวละครต่อสู้เพื่อให้ตัวเองมีสิทธิเสรีภาพในการคิดการเชื่อ มันอาจจะผิดหรือถูก แต่ใครคือผู้ตัดสิน

อาจจะผิด แต่ถ้ามนุษย์ไม่ใช่ผู้หยั่งรู้ทุกอย่าง ทำไมไม่มีพื้นที่สำหรับคนคิดต่าง ประเด็นอยู่ตรงนี้ ประเทศนี้ใครคิดต่างไม่ได้

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าโอบามาโดนหรือไม่โดนลอบสังหาร (ในนวนิยาย) แต่ทุกอย่างมีพื้นที่ของความเป็นไปได้ ใช่ไหม? ขึ้นอยู่กับคุณมองจากมุมไหน มนุษย์จะตัดสินสิ่งหนึ่งว่าจริงหรือไม่จริงจากอะไร มนุษย์ยังไม่ได้รู้อะไรทั้งหมด ฉะนั้นมันมีเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ เสมอ

เหมือนรุ้ง มนุษย์เห็นว่ารุ้งมี 7 สี แต่ผึ้งเห็นรุ้งมี 24 สี แล้วเราจะตัดสินใจว่าอันไหนเป็นรุ้งจริงอันไหนเป็นรุ้งปลอม ดวงตาของผึ้งสามารถแยกสีได้มากกว่ามนุษย์ ถ้ามเราว่ารุ้งมีกี่สี มนุษย์จะตอบ 7 สี แต่ถ้าผึ้งพูดได้ ผึ้งจะบอกว่าไม่จริง เพราะรุ้งสำหรับผึ้งมี 24 สี มนุษย์ก็จะยืนอยู่บนจุดของมนุษย์ว่า ไม่จริง รุ้งมี 7 สี ผึ้งก็ยืนบนจุดของผึ้งว่า ไม่จริง รุ้งมี 24 สี

 

ประโยคหนึ่งของไอแซค นิวตัน ที่บอกว่า “เราทุกคนก็เหมือนเด็กที่วิ่งเล่นบนชายหาด” มีความหมายกับคุณอย่างไร คุณจึงใส่ไว้ในนวนิยาย

เวลามอง ไอแซค นิวตัน เราจะมองว่าเขาเป็นผู้ค้นพบความจริงที่สำคัญของโลก เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีหน้าที่บอกความจริงกับมนุษย์ แต่ชีวิตของไอแซค นิวตัน เขาสนใจเรื่องการเล่นแร่แปรธาตุเวลาอยู่คนเดียวตอนกลางคืน ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เขาเขียนว่า เขาไม่รู้เหมือนกันว่าคนอื่นมองเขาเป็นอะไร แต่เขามองตัวเองว่าเป็นเพียงเด็กคนหนึ่งที่วิ่งเล่นบนชายหาด เลือกเก็บเปลือกหอยสวยๆ ขณะที่มหาสมุทรแห่งความจริงที่ยังไม่ถูกค้นพบทอดตัวอยู่เบื้องหน้า มีความจริงอีกมากที่มนุษย์ยังไม่รู้ หลายสิ่งที่มนุษย์เคยคิดว่าเป็นความจริงก็อาจเปลี่ยนเป็นไม่จริงเมื่อเวลาผ่านไป เช่น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์

เมื่อก่อนเราคิดว่าอะตอมเป็นเหมือนเม็ดพลาสติกกลมๆ แข็งๆ แต่ตอนนี้เราพบว่าไม่ใช่ อะตอมโปร่ง มีสเปซข้างใน มีอนุภาควิ่งวนอยู่ ใช่ไหม? ฉะนั้นการที่คุณบอกใครว่าต้องเชื่อแบบนั้นแบบนี้ เป็นวิธีคิดเชิงอำนาจนิยม คุณต้องการสร้างกรอบควบคุม ครอบงำบุคคลนั้น ในนิยายเรื่องนี้ผมพยายามดิ้นรนออกจากกรอบทุกอย่าง

 

ชื่อภาษาอังกฤษของ ลมละเมอ คือ Psychedelic Wind ช่วยอธิบายเรื่องไซคีเดลิคให้ฟังหน่อยครับ มันเกี่ยวโยงกับงานศิลปะจนมาถึงนิยายเล่มนี้ยังไง

ไซคีเดลิคมาจากยุคที่คนใช้ LSD ซึ่งมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เห็นได้ยินในสิ่งที่เราไม่เห็นไม่ได้ยินในยามปกติ เหมือนสิ่งอื่นบนโลกที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป งานศิลปะที่เรียกว่าไซคีเดลิคเป็นงานที่สร้างขึ้นโดยการนำสิ่งที่อยู่ในภาวะที่ยาทำงานต่อฤทธิ์ประสาทมาสร้างงานศิลปะ มีลักษณะบางอย่างที่ไม่ยึดติดกับหลักความเป็นจริงหรือหลักฟิสิกส์ทั้งหลาย

 

แต่ตัวละครในเรื่องไม่ได้เสพยา และผู้เขียนก็ไม่ได้เสพยา คำถามก็คือทำไมจึงเลือกใช้ภาวะที่เกิดขึ้นในงานเพลงแบบไซคีเดลิคมาใช้ในนิยายเล่มนี้

ผมได้รับอิทธิพลจากเพลงยุค 60s-70s ผมไม่ได้เสพยา แต่อ่านข้อมูลภายหลังว่าเพลงบางเพลงถูกแต่งขึ้นจากการใช้ยา เช่น เพลงของ Jefferson Airplane, The Doors, Grateful Dead ซึ่งมีลักษณะฟุ้งฝัน บินหนีจากตรรกะความเป็นจริง ฟ้ากลายเป็นสีแดง ดาวส่องแสงตอนกลางวัน บนฟ้ามีดวงจันทร์ 6 ดวง ทุกอย่างเป็นไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมชอบในภาพเบลอที่ดูไม่จริงนี้ มันทำให้เรารู้สึกถึงความจริงอะไรบางอย่างข้างใน ถ้าเพลงเพลงหนึ่งกำลังถ่ายทอดความรู้สึกของคนที่แปลกแยกกับสังคมหรือกำลังเหงา ฉากแบบนี้จะจับใจเรามากที่สุด นั่งมองฟ้าแล้วเห็นดวงจันทร์ 6 ดวง หรือนั่งอยู่แล้วเห็นฟ้ากลายเป็นสีแดง ในที่สุดก็กลับมาสู่ประเด็นที่เราคุยกัน งานวรรณกรรมไม่ใช่ความจริง แต่ควรสะท้อนความจริงในมิติที่ลึกกว่า

ไซคีเดลิคคือภาวะที่เราอยากจะหนีจากกฎเกณฑ์ กฎเกณฑ์ทุกกฎเกณฑ์ ไปหาสิ่งใหม่ เราอาจไม่รู้ว่าสิ่งใหม่คืออะไร แต่เราอยากไปจากตรงนี้ จากกรอบระเบียบสังคมแบบนี้ กรอบความจริงแบบนี้ วิธีคิดแบบนี้

 

ตัวละครใน ลมละเมอ เป็นเพื่อนกับบุคคลจริงอย่างลูกชายของนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ตัวละครไปพบปะกับบุคคลจริงทั้งที่ตายและยังมีชีวิต เช่น บารัก โอบามา แดร์ริดา บุคคลในประวัติศาสตร์ พระพุทธเจ้า พระเยซู พระมะหะหมัด พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เลยเถิดไปกว่านั้นยังไปเจอผี มนุษย์ต่างดาว ยักษ์พูดได้ มิโนทอร์ ฯลฯ ทำไมตัวละครของคุณต้องเจออะไรแบบนี้ด้วย

เพราะจริงๆ แล้ว มนุษย์ไม่อาจตัดขาดจากอดีตและอนาคตได้ มีอยู่ตอนหนึ่งในนิยายที่ผมพูดถึงผีแดร์ริดา ทุกอย่างที่ผ่านมาจนถึงจุดที่เรายืนอยู่ เราไม่สามารถตัดทิ้งได้ บางครั้งผมประทับใจกับช่วงเวลาในอดีต อาจจะไม่ได้เจอกับตัวเอง แต่ผมได้รับรู้ข้อมูลมาจากสื่อต่างๆ หนัง หนังสือ เพลง ผมอยากให้ตัวละครของผมได้ไปเจอ ผมในฐานะคนเขียน มีอิสระที่จะสร้างสถานการณ์ให้ตัวละครไปเจอ เพื่อดูว่าตัวละครจะรู้สึกอย่างไรหากได้กลับไปพบเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ ร้องไห้ ยิ้ม หัวเราะ หรือเศร้า ในทางกลับกันการมีตัวละครเป็นมนุษย์ต่างดาวคือการฝันถึงอนาคต

มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่ผมจะสรุปความคิดของตัวเองในเรื่องมนุษย์ต่างดาว ผมเชื่อว่าสักวันมนุษย์จะเลิกอหังการเมื่อมนุษย์ต่างดาวมาเยือนโลก การพบว่าตัวเองไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาชนิดเดียวในจักรวาลจะเปลี่ยนมุมมองของเราต่อทุกสิ่ง มนุษย์คงถ่อมตัว อ่อนโยนมากขึ้น

แต่ตอนนี้ ผมไม่มีความหวังนักว่าจะมีมนุษย์ต่างดาวมาเยือนโลก จักรวาลอาจกว้างเกินไป จนยากจะมีการเดินทางติดต่อถึงกันระหว่างสองอารยธรรมที่อยู่บนดาวคนละดวง หรือบางทีมนุษย์ต่างดาวก็อาจไม่สนใจจะติดต่อกับมนุษย์ อนาคตมนุษย์จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งอหังการหรือถ่อมตัวอ่อนโยนมากขึ้นเป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ ตัดสินใจเอง

ด้วยลักษณะทางกายภาพที่เคลื่อนที่ไปไหนต่อไหนได้ยากลำบาก ข้อจำกัดทางร่างกายเชื่อมโยงกับลักษณะในนวนิยายของคุณไหมที่สถานการณ์ต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นไปได้ทั้งสิ้น ดังคำถามเมื่อครู่

อาจจะเกี่ยวนะครับ ไม่รู้ว่าจริงไหม แต่มีคนพูดว่า ถ้าเราเคลื่อนที่ได้น้อย เราจะใช้ส่วนอื่นมาชดเชย เช่น จินตนาการ เหมือนที่นางเอกใน Out of Africa พูดว่าเธอเป็น Psychic Traveler หรือนักเดินทางทางจิต สมมุติคนที่ใช้แขนไม่ค่อยได้ เท้าของเขาจะมีศักยภาพบางอย่างที่คนอื่นทำไม่ได้ เช่น จับพู่กันวาดรูป มันอาจจะเป็นเรื่องของการชดเชย

 

คุณต้องไปดูสถานที่จริงของฉากในนิยายมั้ย

ผมไม่ค่อยรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหากับเรื่องนี้นัก ผมไม่ได้อยากไปเห็นสถานที่จริง แล้วรู้สึกถึงรายละเอียดทุกอย่าง ถ้าผมจะเขียนถึงดอยอินทนนท์ ผมขอดูภาพถ่ายก็ได้ แค่ให้รู้ว่านี่คือ outline ของดอยอินทนนท์ แต่สิ่งที่เป็นรายละเอียด อาจไม่จำเป็นในการเขียนนิยาย ผมอยากใช้จินตนาการเติมลงไป ซึ่งน่าจะได้ภาพของดอยอินทนนท์ที่มีเสน่ห์ไปอีกแบบ ไม่ต่างกับการวาดรูปที่ผมรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดจนเหมือนภาพถ่าย

ภาพวาดต้องมีความเป็นภาพวาด fiction ก็ต้องมีความเป็น fiction

 

ใน ลมละเมอ มีฉากบู๊อย่างละเอียดยิบและมีการอุปมาอุปไมยในลักษณะที่ให้ความสวยงามแช่มช้า ทำไมจึงใส่ฉากบู๊เข้าไปในเรื่องนี้ครับ

ตอนเขียนเรื่องนี้ ผมรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเด็กนักเรียนหัดเขียนที่ทะเยอทะยาน แล้วผมก็นึกถึงตัวเองตอนเป็นเด็ก แอบแม่ไปอ่านนิตยสารบางกอก อ่านนิยายบู๊ ให้ลูกพี่ลูกน้องไปเช่านิยายของพนมเทียม สยุมภู ทศพล ซึ่งเป็นเรื่องบู๊ ยิงกันสนั่น มีปงมีปืน ตอนนั้นผมอายุ 10-11 ขวบ ได้รับแรงบันดาลใจ แอบแต่งนิยายบู๊ของตัวเอง เขียนในสมุดจด ได้ 2-3 หน้า แต่เขียนไม่เคยจบ พระเอกเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบปลอมตัวไปปราบผู้มีอิทธิพล ก็เขียนเหมือนเรื่องที่ผมอ่าน

ลมละเมอ เป็นภาวะอัดอั้นที่เรากำลังอยากต่อสู้กับอะไรบางอย่าง แล้วความรู้สึกตอนเด็กๆ ก็เข้ามา คิดถึงฉากบู๊ที่เคยอ่าน แต่ผมอยากเขียนฉากแอ๊คชั่นที่มีปืน และความจริงจังให้สวยงามเหมือนฉากเต้นรำ เป็นความท้าทายที่อยากทำ ผสมสองอย่างที่ดูเหมือนจะเข้ากันไม่ได้ให้เข้ากันได้ คล้ายงานทุกเล่มที่ผ่านมา ผมพยายามจะเอาสิ่งที่คนมองว่าผสมกันไม่ได้มาผสม เช่น ใน โลกของจอม  ก็เอา non-fiction ผสมกับ fiction

 

ฉากอีโรติกของคุณเป็นฉากที่บรรยายอย่างสวยงาม แต่ฟังคุณบรรยายฉากบู๊คือต้องการผสมสองสิ่งที่ขัดแย้งกันออกมา เช่น ฉากบู๊กับคนเต้นรำ แล้วฉากอีโรติกล่ะคุณมีมายด์เซ็ตแบบไหนในการสร้างมัน

ผมคิดถูกไหมครับว่าฉากอีโรติกที่เป็นความสุขควรมีความสวยงามกับความรู้สึกทางกามารมณ์ แต่ถ้าเป็นฉากอีโรติกที่ไม่มีความสุขก็ต้องมีความเศร้ากับความหดหู่

 

ทำไมตัวละครในงานเขียนของคุณเป็นเด็กหนุ่มเด็กสาวอายุ 18 ปีอยู่เสมอๆ

ผมคิดว่าคนอายุ 17-18 อยู่ระหว่างโลกของเด็กกับโลกของผู้ใหญ่ ผมชอบโลกของเด็ก ขณะเดียวกันก็อยากให้ตัวละครของผมแสดงความเห็น-ความรู้สึกต่อปัญหาต่างๆ ในโลก หรือสวมเสื้อของความเป็นผู้ใหญ่ด้วย เพื่อพูดถึงสิ่งที่ซับซ้อนเกินกว่าเด็กจะพูดได้

ตัวละครของผมเป็นเหมือน ‘ตัวรับ’ ความคิดของผม คล้ายเครื่องฉายโปรเจ็คเตอร์ ถ้าผมสร้างตัวละครที่เป็นผู้ใหญ่ไปเลยหรือเด็กไปเลย ผมก็ไม่อาจเล่นสลับไปสลับมาระหว่างสองโลก

 

อยากฟังความทรงจำวัย 18 คุณช่วยเลือกหยิบความทรงจำตอนนั้นมาเล่าได้มั้ย

ตัวจริงของผมตอนอายุ 18 ไม่เหมือนตัวละคร ตัวละครของผมค่อนข้างมีความรู้ แต่ผมตอนอายุ 18 เป็นแค่เด็กที่อ่านหนังสือ บ้าดูหนัง ฟังเพลง ตอนเรียน ม.ปลาย ผมมีคนขับรถขับไปรับที่โรงเรียน ระหว่างทางกลับบ้าน ผมจะแวะร้านเทปทุกวัน เจ้าของร้านเป็นลูกศิษย์ของแม่ ผมติดเงินเขาได้ คือเอาเทปมาก่อน แล้วค่อยเอาเงินไปจ่าย ผมมีเทปกลับบ้านทุกวัน อย่างน้อยหนึ่งม้วน

 

ทำไมต้องสร้างให้ตัวละครเป็นเด็กหนุ่มเด็กสาวที่แอบสูบบุหรี่

ถ้าไม่นับบุหรี่เป็นหนึ่งในสิ่งช่วยบอกภาวะความรู้สึกของตัวละคร ผมมองว่าบุหรี่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นขบถเล็กๆ การสูบบุหรี่ไม่ดี ตัวละครของผมจะสูบบุหรี่ เป็นแค่สัญลักษณ์ ไม่มีความหมายอะไรมากกว่านั้น หรือถ้าจะมี การสูบบุหรี่ของตัวละครทำให้ตัวละครมีมูฟเมนต์เวลาเราเขียนบรรยาย และอาจสะท้อนตัวตนของคนเขียนที่ข้างนอกเป็นคนเงียบๆ ไม่กล้าแสดงความขัดแย้งกับอะไร แต่ข้างในแอบเป็นขบถ

 

แมลงชีปะขาวมีความหมายอะไรกับคุณ

นิยายของผมทุกเรื่องมีแมลง ไม่รู้เหมือนกันครับว่าทำไม ผมอาจรู้สึกว่าแมลงเป็นสัตว์ที่ไม่ได้รับการให้ค่า มันจะได้รับการให้ค่าก็ต่อเมื่อเรามานั่งคิด เช่น คิดว่าผีเสื้อมีประโยชน์กับโลก แต่ปกติแมลงตัวหนึ่งตาย คนก็ไม่เศร้า ผมอาจไม่มีเหตุผลอะไรพิเศษ หรือจะเป็นการสะท้อนอะไรลึกๆ ข้างในมั้ย ผมก็ไม่แน่ใจ แต่บางครั้งอยากได้ภาพ เวลาเขียนผมจะเห็นภาพในหัวว่าฉากนี้เป็นอย่างไร จะมีอะไรบ้างในฉาก ผมชอบให้มีแมลงเข้ามาอยู่ในเฟรมภาพ

 

 

คุณมีตารางการทำงานไหม

อายจัง ผมเป็นคนไม่มีระเบียบวินัย ทำอะไรตามใจฉัน เวลามีงานที่ยังเขียนไม่จบ ผมจะตื่นเช้า ชงกาแฟ เปิดคอมพิวเตอร์ ดูว่าเมื่อวานเขียนถึงไหนแล้ว กินกาแฟเสร็จก็เขียนต่อจากเมื่อวาน แต่ถ้าวันไหนรู้สึกขี้เกียจ หรือเขียนไม่ออก ผมก็จะไปทำอย่างอื่น หายไม่มายุ่งกับต้นฉบับ 2-3 วันโดยไม่รู้สึกผิด ซึ่งไม่ดีครับ วันไหนรู้สึกสดชื่น คิดอะไรก็เขียนออกมาได้ตรงตามที่ใจคิด วันนั้นจะเขียนได้เยอะ และมีความสุข

 

ใน ลมละเมอ คุณอุทิศให้ใคร

 พ่อครับ พ่อเพิ่งเสียไป

 

ใช้เฟซบุ๊คมั้ยครับ

ใช้ครับ ใช้ติดตามข่าวสาร ติดตามเพื่อนๆ น้องๆ ที่รู้จักกัน จะได้รู้ว่าเพื่อนๆ น้องๆ พี่ๆ ทำอะไรกัน ก็ไปกดไลค์ แต่ผมไม่ได้ใช้เฟซบุ๊คในการแสดงความคิดเห็นอะไร ไม่เคยโพสต์

 

คุณไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องมือเหล่านี้หรือ อย่างน้อยๆ ก็ประชาสัมพันธ์ผลงานของตัวเอง หรือจะแสดงออกถึงตัวตนหรือจุดยืนทางความคิดอะไรแบบนั้นหรือครับ

ผมก็ยังติดอยู่กับยุคที่การพูดถึงตัวเองหรืองานของตัวเองในแง่มุมชื่นชมหรือโฆษณา-เป็นเรื่องน่าเขิน ผมเขินที่จะพูดถึงตัวเอง นอกจากจะมีคนถามอะไรมาเกี่ยวกับเราใช่ไหมครับ แต่อยู่ๆ จะให้ไปโพสต์เกี่ยวกับตัวเอง ผมยังเขินอยู่

ถ้าเป็นการแสดงความคิด ความเชื่อ หรือจุดยืนต่างๆ ผมจะถ่ายทอดผ่านงานเขียนบทความ เรื่องสั้น และนิยายที่ตีพิมพ์บนกระดาษ

 

เขียนนิยายเรื่องนี้จบ คุณมีความรู้สึกอย่างไร

ดีใจ ในที่สุดก็ทำงานเสร็จ งานที่มีความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกช่วงหนึ่งในชีวิตของเราอยู่ในนั้น

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า