‘อุตสาหกรรมช่วยการหลบเลี่ยงภาษี’ The Rich Man’s Rules

itchy

ภาพประกอบ: Shhhh

 

เรียกเสียงฮือฮาซี้ดซ้าดส์กันไปได้ทั่วโลก เมื่อเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของผู้สื่อข่าว 370 คนจาก 78 ประเทศ ร่วมกันขุดคุ้ยและทยอยตีแผ่ข้อมูลการถือครองบริษัทนอกอาณาเขต (offshore company) ที่อยู่ในฐานข้อมูลของสำนักกฎหมายชื่อ มอสแซค ฟอนเซกา (Mossack Fonceka) ที่เป็นบริษัทรับจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอกอาณาเขตที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ปานามา และมีสาขาอยู่ใน 42 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย หรือขณะนี้รู้จักกันในนาม ปานามาเปเปอร์ส (Panama Papers) หรือ ปานามาลีกส์ (Panama Leaks) ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลของบริษัทนอกอาณาเขตทั้งหมด 214,000 บริษัท ครอบคลุมผู้คนที่ใช้บริการกว่า 200 ประเทศ

เพราะเพียงทยอยเปิดข้อมูลเป็นรายงานและข่าวไปไม่กี่วัน ก็สร้างผลสะเทือนราวแผ่นดินไหวหลายแมกนิจูดในหลายดินแดน เช่น การชุมนุมประท้วงของชาวไอซ์แลนด์ ที่สามารถขับ ซิกมุนเดอร์ เดวิด กุนน์ลอกสัน นายกรัฐมนตรีที่ยักย้ายถ่ายเทเงินตัวเองและเมียไปตั้งบริษัทนอกประเทศ ก่อนหน้าที่กฎหมายการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินไปต่างประเทศของไอซ์แลนด์จะมีผลบังคับใช้ หรือการฉีกหน้ากาก กอนซาโล เดลาวิอู ประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ประจำประเทศชิลี องค์กรอิสระต่อต้านคอร์รัปชันระดับโลก ที่ทำงานเพื่อความโปร่งใส แต่กลับไปมีส่วนในบริษัทลับเสียเองถึงห้าบริษัท

ปานามามีประวัติศาสตร์ในการเป็นแดนสวรรค์ของคนชอบหลบภาษีมาอย่างยาวนานเกือบ 100 ปี จากข้อมูลของสถาบันภาษีแห่งนอร์เวย์ระบุว่า กฎหมายของปานามาถูกออกแบบเพื่อช่วยบริษัท Standard Oil ของอภิมหาเศรษฐี ร็อกกีเฟลเลอร์ หลบเลี่ยงภาษีในสหรัฐ ตั้งแต่ปี 1927 โดยกฎหมายต้นแบบนั้น อนุญาตให้ชาวต่างชาติมาตั้งบริษัทในปานามาแบบไม่ต้องเสียภาษีใดๆ ไม่ต้องให้ข้อมูลอะไรกับหน่วยราชการ ไม่บังคับให้ต้องมีการตรวจสอบบัญชี แค่เสียเฉพาะค่าธรรมเนียมรายปีก็พอ ซึ่งไม่ได้มากมายอะไร แถมยุคใหม่ยังสามารถใช้ที่อยู่ของตัวแทนรับจดทะเบียนบริษัทเป็นที่อยู่สำนักงาน ว่าง่ายๆ คือ ไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานจริงๆ เป็นแค่เปลือก (shell companies) ไว้ตกแต่งบัญชี

แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกบริษัทหรือทุกบุคคล ที่เปิดบริษัทนอกอาณาเขตจะเป็นเรื่องผิด เพราะอาจเป็นการทำธุรกิจตามปกติ อย่างไรก็ตาม การใช้บริษัทนอกอาณาเขตที่ถูกกฎหมายเช่นนี้สามารถทำสิ่งผิดได้หลายประการ “เช่น เป็นเครื่องมือในการเลี่ยงภาษี ฟอกเงิน ต้มตุ๋น ดังตัวอย่างที่เห็นในกรณีโกงกินหลายกรณี ที่นักการเมืองบางประเทศเคลื่อนย้ายเงินทุจริตไปตามที่ต่างๆ ในโลก โดยผ่านบริษัทนอกอาณาเขต”

Oxfam ประมาณการแค่ 50 บรรษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ก็ใช้กลไกเหล่านี้ในการสร้างกำไรด้วยการหลบภาษีเป็นเงินมากถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ (1,400,000,000,000) ระหว่างปี 2008-2014 ซึ่งอันที่จริง เม็ดเงินเหล่านี้ ประเทศที่พึงได้ภาษีควรสามารถกระจายความมั่งคั่งของคนรวยไปพัฒนาสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม แต่กลับกลายว่ามันไม่เคยไหวตกลงไปที่ประชาชนโดยรวม แต่กระจุกเป็นกำไรของคนรวยเท่านั้น

“นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะบางบริษัท” โจเซฟ กานิทสกี ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาวิจัยการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยไมอามี (Center for International Business Education and Research: UM CIBER) ระบุว่า “มันคืออุตสาหกรรม (ช่วยการหลบเลี่ยงภาษี) มันเป็นวัฒนธรรม” เป็นหลักการพื้นฐานชัดเจน “คุณจะไปขโมย หรือจะไปโกงเงินที่ไหนมาก็ตาม ไม่ใช่ปัญหาของเรา”

ปี 2010-2011 รัฐบาลสหรัฐเจรจา FTA กับปานามา โดยพยายามป่าวประกาศกับสาธารณชนว่า ด้วยความตกลงฯดังกล่าว จะ ‘ปฏิรูป’ ปานามา ไม่ทำให้คนอเมริกันรวยๆ ขนเงินไปหลบเลี่ยงภาษีได้อีก ประธานาธิบดีบารัก โอบามา และ ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้น ถึงกับรับปากรับคำสภาคองเกรสว่า นี่จะเป็นโฉมหน้าใหม่ของการอุดช่องโหว่ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเชื่อ

เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกอิสระจากรัฐเวอร์มอนท์ในขณะนั้น ตั้งข้อสังเกตในการประชุมสภาคองเกรสอย่างชัดเจน “FTA สหรัฐกับปานามาจะยิ่งทำให้สถานการณ์การหลบเลี่ยงภาษีเลวร้ายลง และยิ่งทำให้สหรัฐไม่มีโอกาสจัดการกับแหล่งหลบเลี่ยงภาษีอย่างนี้อีกต่อไป”

แล้วมันก็จริงดังคาดว่า ห้าปีหลัง FTA สหรัฐ-ปานามามีผลบังคับใช้ ข้อมูลจาก Panama Papers ได้พิสูจน์ข้อสังเกตของ เบอร์นี แซนเดอร์ส เพราะความตกลงนี้เท่ากับเป็นตราประทับ ‘ความถูกกฎหมาย’ ให้กับ ‘อุตสาหกรรมช่วยหลบเลี่ยงภาษี’

จากรายงานเจาะลึกของ IMF พบว่า ‘การปฏิรูป’ ระบบป้องกันการฟอกเงินของปานามาหลัง FTA กับสหรัฐมีผลบังคับใช้ยังมีช่องโหว่อีกมาก เพราะระบบป้องกันการฟอกเงินไปควบคุมเฉพาะธนาคารและสถาบันการเงิน แต่ไม่ครอบคลุมสำนักงานกฎหมาย บริษัทรับทำบัญชี ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และนายหน้าซื้อขายวัตถุมีค่าทั้งหลาย ซึ่ง มอสแซค ฟอนเซกา ในฐานะสำนักงานให้คำปรึกษาทางกฎหมายอยู่ในช่องโหว่นี้

ฉะนั้น ใครที่เผลอไปชื่นชมคำกล่าวของ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีโค้งสุดท้ายที่ชี้ให้เห็นปัญหาอย่างชัดเจนว่า มันเป็นระบบที่ตั้งใจออกแบบมาให้การหลบเลี่ยงภาษีเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ใครมีเงินมาก มีปัญญาจ้างที่ปรึกษากฎหมายมากๆ นักการบัญชีมาตกแต่งบัญชีได้เยอะๆ ก็ไม่ต้องจ่ายภาษี ต่างจากประชาชนคนธรรมดาที่ต้องเสียภาษี ดังนั้นจึงต้องปฏิรูประบบภาษีและการจัดการการฟอกเงินในระดับโลก อาจต้องเสียใจ

ตรง ชัด ฟันธง และจริงอย่างที่สุด เพราะมีแต่การปฏิรูปกฎระเบียบทางด้านภาษี การเก็บภาษีการโอนเงินระหว่างประเทศ (Financial Transaction Tax) ปฏิรูประบบการป้องกันการฟอกเงินในระดับโลก และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ฟ้าไร้รอยตะเข็บในการไล่ล่าคนรวยชอบหลบภาษีเท่านั้น จึงจะแก้ปัญหานี้ได้ แต่จากการทำหน้าที่มาเกือบแปดปี ผู้นำสหรัฐไม่ได้พิสูจน์ว่าเขาทำเช่นนั้น

ใครบางคนอาจช่วยเถียงแทน เพราะอย่างน้อยเมื่อปี 2014 รัฐบาลโอบามาออกกฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) ซึ่งเป็น ‘กฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบและป้องกันการเลี่ยงภาษีของ ผู้มีรายได้สัญชาติอเมริกันที่มีแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ และเพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภาษีกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา’ ทำให้ปัจจุบันนี้การเปิดบัญชีธนาคารของคนไทยธรรมดาๆ ต้องกรอกข้อมูลจากกฎหมายนี้กันถ้วนหน้า

ในความเป็นจริง สหรัฐ ‘ขอความร่วมมือ’ จากประเทศอื่น (อันที่จริงควรเรียกว่าบังคับ เพราะถ้าไม่ให้ความร่วมมือ จะมีการตอบโต้ทางการค้า จึงได้รับความร่วมมืออย่างดี) แต่สหรัฐกลับไม่ยอมที่จะให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับการหลบเลี่ยงภาษีโดยเฉพาะการตั้งบริษัท offshore กับประเทศต่างๆ แม้แต่กับประเทศกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) หรืออาจให้ข้อมูลตามการร้องขอเป็นรายกรณี เฉพาะในรายที่มีความชัดเจนจริงๆ เท่านั้นว่า หลบเลี่ยงภาษีแน่ๆ ดังนั้น เมื่อแม้แต่ความร่วมมือใน OECD สหรัฐยังไม่ร่วมมือ จะไปพึ่งหวังอะไรได้ที่จะเห็นการปฏิรูป คงจะได้เห็นการ ‘ปฏิลูบปฏิคลำ’ ไปก็เท่านั้น

 

itchy-2

 

ที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเพราะสหรัฐกำลังได้ประโยชน์มหาศาลจากชนชั้นนำผู้ร่ำรวยที่แห่ไปใช้ ‘บริการ’ ในสี่รัฐ คือ เดลาแวร์ เนวาดา ไวโอมิง และน้องใหม่ เซาธ์ดาโกตา จนทำให้อันดับดินแดนหลบหนีภาษีที่ดึงดูดที่สุดในโลกเมื่อปี 2015 สหรัฐขึ้นมาเป็นอันดับ 3 เป็นรองแค่ เกาะเคย์แมน และสิงคโปร์เท่านั้น ส่วนปานามา ที่ทั่วโลกฮือฮากับ Panama Papers ห่างจากสหรัฐถึง 10 อันดับ อยู่อันดับที่ 13 โน่น

The Economist รายงานว่า ยิ่งกฎระเบียบในยุโรปและแคริบเบียนถูกปฏิรูปให้เข้มงวดมากขึ้นเท่าไหร่ เม็ดเงินก็ยิ่งไหลจากบาฮามาส เบอร์มิวดา และสวิตเซอร์แลนด์ ไปสหรัฐ จนได้รับการขนานนาม ‘เกาะเคย์แมนน้อยบนแผ่นดินใหญ่’

‘อุตสาหกรรมช่วยการหลบเลี่ยงภาษี’ ในสหรัฐกำลังเจริญรุ่งเรืองพรวดๆ ถึงขั้นที่มีโครงข่ายล็อบบี้ยิสต์ในระดับต่างๆ ที่สามารถขัดขวางการปรับระเบียบกลไกป้องกับการหลบเลี่ยงภาษี เป็นผู้สนับสนุนหลักในการเลือกตั้งสหรัฐแทบทุกระดับ แน่นอนว่า รวมทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และแถมยังมีลูกค้ารายใหญ่อย่าง CIA มาใช้บริการเพื่อผ่องถ่ายเงินและอาวุธไปยังรัฐบาลและบางกลุ่มที่ไม่สามารถกระทำการอย่างเปิดเผย ทำให้การโฆษณาชวนใช้บริการใน 3-4 รัฐนี้คึกคักมาก เคยมีผู้สื่อข่าวจาก Fusion ลองจดทะเบียนบริษัทโดยใช้ชื่อแมวที่เลี้ยง ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาทีก็เรียบร้อย

ในบรรดารัฐเหล่านี้ มีการแข่งลดค่าธรรมเนียมรายปีที่ดึงดูด ขณะนี้อยู่ที่รัฐเดลาแวร์ 174 ดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น ถึงจะน้อยนิดแต่ทางการก็ยังสามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้เป็นกอบเป็นกำเพราะจำนวนบริษัทเปลือกๆ มีเป็นจำนวนมาก อย่างรัฐเดลาแวร์ ที่มีประชากรน้อยกว่าหนึ่งล้านคน สามารถเก็บค่าธรรมเนียมบริษัทบวกกับภาษีในกรณีที่บริษัทนี้ไม่มีชื่อเจ้าของ (แต่สามารถจดทะเบียนได้ตามกฎหมายของที่นั่น) แต่ละปีได้มากกว่า 860 ล้านดอลลาร์

“ไม่มีใครสามารถตามหาความรับผิดชอบจากคุณได้ จินตนาการสิ นี่เป็นไปได้” คือคำโฆษณาของนายหน้าแห่งหนึ่งในรัฐไวโอมิง

กลับมาที่ประเทศไทย ความเคลื่อนไหวของหน่วยราชการในการติดตามข้อมูลว่ามีการหลบเลี่ยงภาษี…เงียบมาก มีเพียง ปปง. ที่ออกมาแถลงข่าวหลังเผชิญคำถามถาโถมเท่านั้น ขณะที่กรมสรรพากรทำตัวราวกับไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ในประเทศต่างๆ หน่วยงานด้านสรรพากรจะเป็นหน่วยงานหลักในการติดตามตรวจสอบดูว่า การตั้งบริษัทนอกอาณาเขตเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่ เช่นเดียวกับที่ไม่มีหน่วยงานรัฐไทยใดๆ ไปดำเนินการกับข้อมูลที่ว่า เมื่อปี 2013 สำนักข่าวอิศรา จับมือกับ ICIJ เจาะข่าวการถือครองบริษัทนอกอาณาเขต พบนักการเมือง มหาเศรษฐี นักร้องดัง หลากอาชีพกว่า 600 ราย เป็นเจ้าของบริษัทในพื้นที่ปลอดภาษีทั่วโลก

รศ.ดร.ภวิดา ปานะนนท์ จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตในบทความ ‘Owning up to Panama Papers in Thailand’ ถึงความไม่กระตือรือร้นของหน่วยราชการไทย

หน่วยราชการไทยไม่รู้ข้อมูลเหล่านี้มาก่อนจริงๆ หรือ ทั้งที่ตัวเลขการออกไปลงทุนนอกประเทศของนักลงทุนไทยในดินแดนหลบเลี่ยงภาษี บริติชเวอร์จิน เคย์แมน และมอริเชียส คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนออกนอกทั้งหมด เทียบกับ 29 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ออกไปลงทุนในอาเซียน ซึ่งเป็นจุดหมายหลักของนักลงทุนไทย และโตแบบก้าวกระโดด 20 เปอร์เซ็นต์ทุกปีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทหลักๆ ที่ไปเกาะสวาทหาดสวรรค์ทางภาษีเหล่านี้ก็คือ บรรดาบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ชัดเจนว่า ‘เพื่อประสิทธิภาพทางภาษี’ อันเป็นศัพท์เทคนิคที่รู้กัน นี่จึงไม่ใช่หน้าที่ของ ปปง. ตามลำพังที่จะจัดการ

นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึงความ double standard ของหน่วยราชการไทย ต่อกรณีการติดตามนอมินีของ บริษัทกุหลาบแก้ว ที่ซื้อหุ้นของ ทักษิณ ชินวัตร แต่กลับไม่ทำอะไรกับข้อมูลการขายที่ดินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มูลค่า 600 ล้านบาท ที่บริษัทผู้ซื้อมีความเกี่ยวพันกับบริษัทในเครือ Thai Bev ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ณ บริติชเวอร์จิน

ในเมื่อชื่อที่สำนักข่าวอิศราและ ICIJ ทยอยเปิดออกมายังเป็นชนชั้นนำในสังคมไทย ที่ไม่ว่าฝ่ายใดครองอำนาจก็รุ่งเรืองเสมอ หากมีการเปิดเผยรายชื่อธุรกิจการเมืองหรือกลุ่มทุนต่างสี เราก็อาจจะได้เห็นความกระตือรือร้นจากหน่วยราชการไทย เช่นที่เกิดขึ้นในระดับสากล ระหว่างนี้ก็ปล่อยให้ ‘อุตสาหกรรมช่วยการหลบเลี่ยงภาษี’ และบรรดาชนชั้นนำทั่วโลกและชนชั้นนำไทยเพลิดเพลินกันต่อไป

 


อ้างอิงข้อมูลจาก:
Bangkok Post
Post Today
สำนักข่าวอิศรา / isranews.org
ASTV ผู้จัดการ / manager.co.th
The Guardian / theguardian.com
The Associated Press / ap.org
Foreign Policy / foreignpolicy.com
USA Today / usatoday.com
Truth-Out / truth-out.org
Public Citizen / citizen.org
The Intercept / theintercept.com
Common Dreams / commondreams.org
anti-media.org

 

Author

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เป็นตัวอย่างของคนทำงานสื่อที่มีพัฒนาการสูง จากนักข่าวรายวันสู่คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุที่รอบรู้และรอบจัดในการสังเคราะห์ข้อมูล ขณะที่อีกขาหนึ่งยังรับบทผู้ประสานงาน และทำงานวิชาการป้อนข้อมูลให้องค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเข้มข้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า