กระท่อมโกเจแปน

2016-09-04-01

จากกรณีที่เพจ BIOTHAI หรือ มูลนิธิชีววิถี เปิดเผยข้อมูลว่า ขณะนี้กลุ่มนักวิจัยญี่ปุ่นได้ยื่นจด ‘สิทธิบัตรกระท่อม’ ต่อองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ผ่านสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty: PCT) ซึ่งจะมีผลขอให้คุ้มครองสิทธิบัตรยาไปยังประเทศภาคีเครือข่ายกว่า 117 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย

เพจ BIOTHAI ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สิทธิบัตรดังกล่าวจะมีผลกระทบในแง่ของการนำสารดังกล่าวไปวิจัยต่อยอดหรือการแปรสภาพเพื่อใช้ประโยชน์ โดยที่สถานะของสิทธิบัตรกระท่อมตอนนี้ มีผลครอบคลุมแล้วในประเทศญี่ปุ่นหนึ่งฉบับ และสหรัฐอเมริกาสองฉบับ หากยังไม่มีผลคุ้มครองในประเทศไทย เพราะกระบวนการยื่นขอสิทธิบัตรยาผ่าน PCT ยังไม่เสร็จสิ้น

2016-09-04-02

ตำรับยาที่ชื่อว่า ‘กระท่อม’

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร WAY ว่า สิทธิบัตรดังกล่าวคือการวิจัยของนักวิจัยญี่ปุ่นร่วมมือกับนักวิชาการไทย เพื่อสกัดสาร mitragynine จากใบกระท่อม ซึ่งจะสามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเพื่อบรรเทากลุ่มอาการปวดต่างๆ ของร่างกายทั้งในคนและสัตว์ได้ต่อไป

อ้างอิงจากงานวิจัย ‘ภูมิปัญญาการใช้กระท่อมของหมอพื้นบ้านภาคใต้ของประเทศไทย’ โดย ปราณี รัตนสุวรรณ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะ ในรายงานระบุว่ากระท่อมมักนำมาใช้กับชาวบ้านที่ทำงานหนัก โดยเฉพาะการต้องทำงานกรำแดดเป็นระยะเวลานาน และมีหลักฐานในแง่วัฒนธรรมชุมชนยืนยันว่า หมอพื้นบ้านใช้กระท่อมเป็นตำรับยาหนึ่งเพื่อใช้รักษาโรคมานานแล้ว

สรรพคุณของใบกระท่อมมักใช้ในการรักษาอาการปวดท้อง ปวดเมื่อยตามร่างกาย และพบว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการโรคเบาหวานด้วย

รายงานฉบับนี้ยังกล่าวว่า ชาวบ้านมีวิธีใช้ใบกระท่อมโดยไม่ให้เกิดอาการเสพติด ด้วยการรูดเอาแต่ใบไม่เอาก้าน เคี้ยว ห้ามกลืนกาก หรือถ้าเสพติดแล้วก็จะมีตำรับล้างพิษต่อไป

2016-09-04-03

กระท่อมอยู่หลังบ้าน ทำไมเราไม่วิจัยเอง

ต่อคำถามนี้ วิฑูรย์อธิบายว่า เป็นเพราะประเทศไทยติดกับดักทางกฎหมายอยู่สองประการ กล่าวคือ

“ประเด็นแรกคือข้อจำกัดด้านกฎหมายในเรื่องการครอบครองยาเสพติด เพราะกระท่อมถูกจัดอยู่ใน ‘ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522’ ฉะนั้นการที่คุณจะทำงานวิจัย คุณก็ต้องไปทำเรื่องกับทางการเพื่อขอครอบครองตัวยาชนิดนี้ เป็นข้อจำกัดประการหนึ่งที่ทำให้งานวิจัยในบ้านเราไม่ค่อยคึกคัก

ประเด็นสำคัญต่อมา คือมาตรการทางกฎหมายของไทยในเรื่องการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญานั้นไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร

สอบถามไปยัง ลาวัณย์ สาโรวาท ผู้ประสานงานเครือข่ายคนทำงาน กล่าวถึงกับดักทางข้อกฎหมายที่ประกาศให้พืชสมุนไพรใบกระท่อมยังคงเป็นพืชเสพติดที่ผู้ครอบครองมีโทษทางกฎหมายอยู่นั้น เธอเห็นว่า

“แนวความคิดนี้เกิดขึ้นมาจากความตื่นตระหนกของผู้ที่ทำงานด้านยาเสพติดสากลที่ประกาศข้อกังวลว่ากระท่อมอาจมีสารที่ทำให้เกิดการเสพติดได้ ซึ่งเขาก็มีงานวิจัยมารองรับว่ามันมีสารที่ส่งไปกระตุ้นประสาท แต่ในอีกแง่ แง่วัฒนธรรมทางการแพทย์ของหมอชาวบ้าน ก็ชัดเจนว่ากระท่อมเป็นสมุนไพรที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมาเป็นระยะเวลานาน

ปัญหาก็คือ พอเราบรรจุกระท่อมให้เป็นยาเสพติดประเภท 5 ผู้ใดมีไว้ในครอบครองจะต้องโทษทางอาญา พอจะมีผู้ค้นคว้าหรือต้องการทำวิจัยก็ต้องวิ่งไปขออนุญาตจากทางราชการให้วุ่นวาย แม้กระทั่งจะปลูกเอาไว้สองต้นที่บ้านก็อาจเสี่ยงโดนจับ และต้องโทษคดีอาญาได้

ในมุมมองของผู้ที่ทำงานเพื่อลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด เธอเห็นว่าการยื่นขอจดสิทธิบัตรยาดังกล่าว ประเด็นของเรื่องไม่ได้อยู่ที่ว่า สิทธิบัตรยานี้ควรเป็นของไทยเพราะเป็นพืชพันธุ์เป็นวัตถุดิบในประเทศไทยหรือไม่ หากเป็นข้อกังวลเรื่องขั้นตอนทางกฎหมายที่อาจทำให้สิทธิเรื่องความหลากหลายของเราตกไปเป็นของประเทศอื่น

“สุดท้ายแล้วเราจะดูแค่กรณีกระท่อมไม่ได้ ยังมีสมุนไพรอื่นที่ยังถูกกฎหมายกำกับไว้ว่าเป็นสารเสพติดให้โทษ ที่กักกันทำให้มันไม่เกิดการพัฒนา ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำวันนี้คือการคุยกันด้วยข้อมูลว่า สมควรดึงสารตัวไหนออกจากพืชเสพติดไหม แล้วถ้าดึง ต้องการ option อะไรมาเสริมเติม และมีข้อกังวลต่อสุขภาพแบบไหนที่เราต้องดูแล

“ไม่ใช่ว่ามีกระท่อมอยู่ที่บ้านสองต้น แล้วจะต้องโดนโทษทางอาญา”

2016-09-04-04

สถานะทางข้อกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีต้องการทำความเข้าใจ คือข้อเท็จจริงที่ว่า

หากดูตามข้อเท็จจริง เป็นเรื่องถูกต้องของการขอรับสิทธิบัตร ในแง่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการสกัดสารจากพืชใดๆ ขึ้นมา เขาสามารถขอรับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรได้ และเราก็ไม่ได้โต้แย้งว่าสิทธิบัตรตัวยานี้สมควรเป็นของเรา

“แต่เรากำลังพูดถึงเรื่องปัญหาจริยธรรมและการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ที่เรียกว่า ‘โจรสลัดชีวภาพ’ ในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งมีข้อกำหนดเป็นหลักการสากลไว้ชัดเจนว่า การจดสิทธิบัตรตัวยาใดๆ ต้องชี้แจงให้ชัดเจนถึงที่มาของเชื้อพันธุ์ มีการร่วมมือทางความรู้กับใครบ้าง ซึ่งจุดนี้อยู่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองพันธ์ุพืช ปี 2542 ของประเทศไทย และยังเป็นการละเมิดความตกลงระหว่างประเทศและจริยธรรมการวิจัยระหว่างประเทศ ที่เขียนเอาไว้ในอนุสัญญาสากลว่าด้วยเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ด้วย”

หลักการของอนุสัญญา CBD ที่วิฑูรย์พูดถึง เป็นแนวทางที่กฎหมายระหว่างประเทศระบุไว้เรื่องอนุสัญญาเพื่อการอนุรักษ์ชนิดพันธุกรรมและระบบนิเวศเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งกำหนดหลักการไว้อยู่สามประการคือ

  • การขออนุญาตเข้าถึง (Prior Informed Consent)
  • ความตกลงร่วมกัน (Mutually Agreed Terms)
  • การเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม (Access and Benefit Sharing)

เหตุใดต้องแบ่งปันผลประโยชน์?

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีชี้แจงว่า เพราะหลักการที่เรียกว่า ‘ทรัพยากรชีวภาพ’ ที่หมายถึงพวกสมุนไพร พันธุ์พืช สัตว์ จุลินทรีย์ ที่พบอยู่ในดินแดนประเทศใด ให้ถือว่าเป็นสิทธิอธิปไตยของประเทศนั้น ใครก็ตามที่เข้าถึงและใช้ประโยชน์ ต้องมีการขออนุญาตและแบ่งปันเรื่องผลประโยชน์

“จุดนี้เป็นสิ่งที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาของเราละเลยและเพิกเฉยต่อการเข้ามาดำเนินงานของกลุ่มวิจัยญี่ปุ่นตั้งแต่ต้น ร่วมกับข้อเท็จจริงอีกประการที่ว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น คือมหาวิทยาลัยชิบะและมหาวิทยาลัยโจไซ กับนักวิชาการไทยจำนวนหนึ่ง ทำงานร่วมกันมาหลายปีแล้ว และไม่ใช่การศึกษากระท่อมเพียงอย่างเดียว เข้าใจว่าศึกษาสมุนไพรชนิดอื่นๆ ด้วย

“มีชื่อนักวิชาการของไทยปรากฏในเปเปอร์อย่างชัดเจน แต่การณ์กลับเป็นว่าทางญี่ปุ่นได้นำเอาผลการวิจัยไปขอรับสิทธิบัตรแต่เพียงผู้เดียว มันก็เป็นประเด็นเรื่องจริยธรรมด้วย ฉะนั้น ครั้งนี้สิ่งที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาของเราจะทำได้ต่อไป คือการขอให้มีการตรวจสอบแหล่งที่มาของทรัพยากรชีวภาพ ในฐานะที่เราเป็นภาคีเครือข่ายของสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือ PCT ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก”

ขณะนี้ญี่ปุ่นอยู่ในขั้นตอนขอจดสิทธิบัตรโดยผ่าน PCT หรือการยื่นขอให้มีการคุ้มครองสิทธิบัตรไปที่องค์กรกลางองค์กรเดียว แต่มีผลคุ้มครองไปยังประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่าย โดยประเทศไทยได้สมัครเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตรแล้ว เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2552 ซึ่งถือเป็นสมาชิกลำดับที่ 142

“ญี่ปุ่นยื่นขอจดสิทธิบัตรกระท่อมไปยัง PCT แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2014 ทาง PCT จะตรวจสอบงานวิจัยไปตามกระบวนการและจะส่งเรื่องกลับมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญาของแต่ละประเทศภายใน 30 เดือน หรือประมาณสองปีครึ่ง คำนวณแล้วเรื่องน่าจะถูกส่งกลับมายังประเทศไทยในราวเดือนเมษายน ปี 2017 จุดนี้เองที่เรื่องจะเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติสิทธิบัตรโดยประเทศไทยต่อไป”

ในขั้นตอนดังกล่าว ประเทศที่ร่วมลงนามอนุสัญญา CBD จะต้องยื่นขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและตรวจสอบที่มาของพันธุ์พืช จากนั้น วิฑูรย์เห็นว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยก็ต้องยื่นเรื่องขอแบ่งปันผลประโยชน์ในฐานะเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติต่อไป

 

 

logo sponsor

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า