โรค K: โรคร้ายปริศนาที่ช่วยชีวิตชาวยิวจากนาซี

ปฏิบัติการกวาดล้างชาวยิวในยุโรปกว่า 6 ล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชุมชนชาวยิวในอิตาลีก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งในการสังหารหมู่ แต่ก็มีชาวยิวเล็กๆ กลุ่มหนึ่งรอดชีวิตมาได้ด้วยโรคร้ายแรง

ตอนนั้นตรงกับฤดูใบไม้ร่วงปี 1943 ทหารเยอรมันในอิตาลีเริ่มควบคุมตัวชาวยิวและส่งพวกเขาราวๆ 10,000 คนไปค่ายกักกันนาซี และแทบไม่มีใครได้กลับออกมา

แต่ที่กรุงโรม แพทย์กลุ่มหนึ่งได้ช่วยชีวิตชาวยิวจำนวน 20 คน ด้วยการวินิจฉัยว่าพวกเขาเป็นโรค K ที่ร้ายแรง ซึ่งความรุนแรงของโรคทำให้ผู้ป่วยผิดรูปผิดร่าง และที่สำคัญติดต่อง่ายเพียงแค่สัมผัส

โรงพยาบาล Fatebenefratelli ที่มา: wikipedia

ณ โรงพยาบาล Fatebenefratelli ซึ่งมีอายุกว่า 450 ปี อยู่รอดปลอดภัยบนเกาะเล็กๆ กลางแม่น้ำไทเบอร์ (Tiber) ในกรุงโรม ห่างจากชุมชนแออัดของยิวแค่ข้ามแม่น้ำ เมื่อกองทัพนาซีเข้ายึดพื้นที่แห่งนี้เมือวันที่ 16 ตุลาคม ปี 1943 ชาวยิวจำนวนหนึ่งจึงหนีไปหลบที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ที่ที่พวกเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค K

โรคดังกล่าวไม่มีปรากฏในตำราแพทย์ใดๆ ในโลก แม้แต่ในองค์ความรู้ของหมอคนไหนก็ไม่มี เพราะในความเป็นจริงแล้ว โรค K ไม่เคยมีอยู่ในโลก แต่เป็นชื่อรหัสที่ตั้งขึ้นโดย นายแพทย์เอเดรียโน ออสซิชินี (Adriano Ossicini) นักกิจกรรมเคลื่อนไหวผู้ต่อต้านฟาสซิสต์ของ เบนิโต มุสโสลินี ซึ่งเป็นพันธมิตรกับพรรคนาซี เพื่อแยกผู้ป่วยจริงและผู้ป่วยหลอกให้ออกจากกัน (กลุ่มต่อต้านการเมืองหลายคนและสถานีวิทยุใต้ดินเพื่อการปฏิวัติก็ซ่อนตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ด้วย)

โรคอุปโลกน์ดังกล่าว ถูกอธิบายไปไกลและเกินจริงเอามากๆ เช่น ห้องพักและแหล่งรวมของผู้ป่วยโรค K คือห้องที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคติดต่อที่ร้ายแรง เจ้าหน้าที่นาซีไม่ควรเข้าไป ยิ่งไปกว่านั้นเด็กๆ ชาวยิวถูกสั่งให้ไอเลียนแบบคล้ายวัณโรค ทุกครั้งที่กลุ่มทหารเดินผ่านโรงพยาบาล

“นาซีคิดว่าโรค K คือมะเร็งหรือวัณโรค พอเจอพวกเขาก็วิ่งหนีแทบจะไม่ทันเชียว” วิตตอริโอ ซาแชร์โดติ (Vittorio Sacerdoti) แพทย์ชาวยิวท่านหนึ่งที่เคยทำงานในโรงพยาบาล Fatebenefratelli โดยใช้ชื่อปลอม ให้สัมภาษณ์ BBC ในปี 2004 นอกจากนี้ยังมีแพทย์คนอื่นๆ ที่ร่วมโกหกครั้งนี้ด้วย หนึ่งในนั้นคือ ศัลยแพทย์ โจวานนี โบโรมิโอ (Giovani Borromeo) หนึ่งในผู้ที่ได้รับเกียรติให้เป็น Righteous Among the Nations หรือ ผู้ผดุงคุณธรรมในบรรดาประชาชาติทั้งมวล หมายความถึง สตรีและบุรุษผู้กล้าหาญที่ช่วยชีวิตชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

Giovani Borromeo ที่มา:  wikipedia

21 มิถุนายน ค.ศ. 1943 โรงพยาบาล Fatebenefratelli ได้รับเกียรติให้เป็น House of Life โดยมูลนิธิ Raoul Wallenberg องค์กรอเมริกันที่ยกย่องบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์สังหารหมู่โฮโลคอสต์ ในโอกาสนี้ ออสซิชินี ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์อิตาเลียน La Stampa เรื่องโรคปริศนาที่ชื่อว่า K

“โรค K ถูกระบุลงไปในประวัติคนไข้เพื่อบอกว่าผู้ป่วยในโรงพยาบาลไม่ได้ป่วยทุกคน โดยเฉพาะชาวยิว เราสร้างเอกสารต่างๆ ขึ้นมาเพื่อยืนยันว่าชาวยิวกลุ่มนี้ป่วยจริงๆ และตอนนั้นเราต้องอธิบายว่าพวกเขาป่วยด้วยโรคอะไร โรค K จึงเกิดขึ้น ซึ่งแสดงหมายความโดยนัยว่า ‘พวกเรา (อิตาลี) ยอมรับชาวยิว’ ตอนนั้นพวกเขา (ชาวยิว) ไม่ได้ป่วย ทุกคนสบายดี”

แล้วทำไมถึงเรียกว่าโรค K?

ออสซิชินี เฉลยว่าไอเดีย K มาจากเขาเอง

โดย K มาจากชื่อ จอมพลอัลแบร์ต แคสเซิลลิง (Albert Kesserling) นายทหารเยอรมันที่บัญชาการในกรุงโรม และ K ของ เฮอร์แบร์ต แคปเปลอร์ (Herbert Kappler) ผู้บัญชาการตำรวจของเยอรมันที่มาประจำการในกรุงโรม ทั้งสองคือผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ชาวยิวอิตาเลียนและนักโทษการเมืองในกรุงโรม (Ardeatine massacre) ปี 1944

“บทเรียนจากประสบการณ์ครั้งนั้นคือ เราต้องไม่ทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่ต้องทำเพื่อหลักการ ถ้าเราไม่ทำนั่นคือเรื่องน่าอับอาย” ออสซิชินีบอก

กาเบรียล ซอนนิโน และ หลุยส์เซียนา เทดเดสโก อดีตเด็กชาวยิวสองคนที่ได้รับการช่วยชีวิตในโรงพยาบาล Fatebenefratelli ที่มาภาพ: Franco Ilardo / Fatebenefratelli Isola Tiberina Hospital

ไม่แน่ชัดว่า ชาวยิวในอิตาลีที่ได้รับการช่วยชีวิตด้วยโรค K มีจำนวนเท่าไหร่ อาจจะหลักสิบหรือหลักร้อย แต่จากคำให้การของผู้รอดชีวิตที่รวบรวมและปรากฏใน Yad Vashem (อนุสรณ์สถานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว 6 ล้านคนในประเทศอิสราเอล) ช่วยยืนยันว่า อย่างน้อยๆ 3-4 ครอบครัว (ที่มีเด็กเล็กๆ) ก็อยู่รอดปลอดภัยตลอดช่วงฤดูหนาวตอนนั้น

รวมถึง หลุยส์เซียนา เทดเดสโก วัย 83 ปีเผยว่า เขาเป็นเด็กเล็กๆ อีกคนหนึ่งที่หลบภัยในโรงพยาบาลตอนนั้น ตอนที่กองทัพเยอรมันกลับเข้ามายังโรงพยาบาลอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 1944

ทั้งนี้ ชาวยิวในอิตาเลียนถือเป็นชุมชนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป และโรค K คือหนึ่งเกร็ดประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะวีรกรรมยิ่งใหญ่ที่ทำโดยคนธรรมดา นั่นคือการยอมเสี่ยงชีวิตตัวเองเพื่อช่วยชีวิตคนบริสุทธิ์ด้วยหลักสิทธิมนุษยชน ผลักความเป็นชาติและการเมืองไว้ข้างหลัง

 


ที่มา: qz.com
wikipedia.org
yadvashem.org

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า