ผ่าไส้ในกฎหมายพ่วง รธน.

littlelaw

ภาพประกอบ: antizeptic

 

ร่างรัฐธรรมนูญยุค คสช. ได้ผ่านประชามติสมปรารถนาคนไทยเสียงส่วนใหญ่ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในเมื่อคนหมู่มากเลือกที่จะเดินเส้นทางนี้ก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า คสช. จะอยู่ดูแลเราต่อไปอีกอย่างน้อยห้าปี พร้อมๆ กับ ม.44 ที่ยังคงมัดตราสังข์ประเทศไว้อย่างแน่นหนา

หลังประชามติจบสิ้นแล้ว นับจากนี้จะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ คสช. และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะต้องดำเนินการวางกรอบกติกาที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายลูกเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้ ครม. ในรัฐบาลชุดใหม่ต้องเดินตามกรอบที่ คสช. วางไว้ อีกทั้งเรื่องการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ รวมถึงการร่างกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปในด้านต่างๆ ที่ต้องเร่งรัดให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เนื่องด้วยการประดิษฐ์ถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างความสับสนคลุมเครือในหลายประเด็น อีกทั้งไส้ในของร่างรัฐธรรมนูญยังไม่มีการลงรายละเอียดที่แน่ชัด หากจะมีการออกกฎหมายอื่นๆ ตามมาอาจส่งผลให้เกิดการตีความที่ผิดเพี้ยนได้ง่าย

โดยเฉพาะประเด็นพื้นฐานใกล้ตัวที่มีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ การตีความเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการได้รับเบี้ยยังชีพคนชรา สิทธิเรียนฟรี 12 ปี ความเท่าเทียมในการนับถือศาสนา การมีส่วนร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชน รวมถึงการเซ็นสัญญาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 190 เดิม ที่กำหนดว่ารัฐบาลต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ฯลฯ

ด้วยเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชัดเจนในหลายประเด็น หลายฝ่ายจึงแสดงความกังวลว่า ผลพวงจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติอาจฉุดรั้งให้ประเทศไทยถอยหลังไปไกลเกินกว่าจะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

โปรดอย่าลืมว่า กฎหมายพ่วงที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนอยู่ในเงื้อมมือของ คสช. และ กรธ. อันเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ประชาชนหมู่มากยอมยกอำนาจของตนให้อย่างเต็มอกเต็มใจจากการลงประชามติ 7 สิงหา และนับจากนี้ไปคนทั้งประเทศต้องเตรียมรับชะตากรรมเดียวกัน

. . .

‘สิทธิเสรีภาพ’ ใต้กฎเหล็กความมั่นคง

การให้นิยามของ ‘สิทธิเสรีภาพ’ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างความน่าเคลือบแคลงอย่างมีเงื่อนไข โดยมีการยักย้ายสิทธิอันพึงมีของประชาชนในหลายมาตราไปไว้ในหมวด ‘หน้าที่ของรัฐ’

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) อธิบายไว้ในบทความที่ชื่อ สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: เมื่อ “สิทธิเสรีภาพ” เขียนใหม่เป็น “หน้าที่ของรัฐ”  โดยระบุว่า

“น่าสังเกตว่า หมวดหน้าที่ของรัฐหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ‘สิทธิ’ และพันธกรณีของรัฐที่มีต่อประชาชนยังลดน้อยลงด้วย ทำให้หลายฝ่ายแสดงความเป็นกังวลว่า หมวดหน้าที่ของรัฐจะเป็นการลดทอนสิทธิประชาชน บ้างก็ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังหวนกลับไปมองสิทธิในแบบที่รัฐต้องจัดหาให้ ไม่ได้มองว่า สิทธิเป็นสิทธิที่มีติดตัวมนุษย์ ดังนั้นประชาชนจึงไม่ใช่ผู้ทรงสิทธิอีกต่อไป” iLaw ระบุ

ดูเหมือนว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามจะบ่งบอกว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะมีได้ก็ต่อเมื่อรัฐเป็นผู้มอบให้ตามสมควร ทั้งที่ในความเป็นจริงสิทธิเสรีภาพเป็นของประชาชนอยู่ก่อนแล้ว นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบบประชาธิปไตย

ในบทความชื่อ สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: ประชาชนมีสิทธิถ้ากฎหมายไม่ห้าม และไม่กระทบความมั่นคง ให้ข้อสังเกตเพิ่มว่า นิยามของคำว่าสิทธิและเสรีภาพในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติยังถูกจำกัดภายใต้เงื่อนไข ‘ความมั่นคงของรัฐ’ สี่ข้อ คือ 1.กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ 2.กระทบต่อความสงบเรียบร้อย 3.กระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และ 4.ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งหากผู้ใดใช้สิทธิเสรีภาพเข้าลักษณะเหล่านี้ก็เป็นเหตุให้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพได้ อีกทั้งความหมายของความมั่นคงดังกล่าวยังสามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง

iLaw ชี้ว่า กฎหมายที่ใช้ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่กระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าระบุว่า การจำกัดสิทธิจะกระทำ ‘เท่าที่จำเป็น’ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนเเทนว่า ‘ไม่เกินสมควร’ นอกจากนี้ยังตัดคำว่า ‘ไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิ’ ออก

panthong

ยกเลิกบัตรทอง?

มีข้อห่วงใยมากมายจากคนในแวดวงสาธารณสุขว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติอาจส่งผลให้มีการยกเลิกบัตรทอง หรืออาจทำลายเจตจำนงในหลักการพื้นฐานของระบบ ‘สวัสดิการ’ ให้เป็นเพียงการ ‘สงเคราะห์ผู้ยากไร้’ และมองประชาชนเป็นแค่ผู้แบมือรอรับความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 ระบุว่า

“บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐ

“บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ

“บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”

โดยภาพรวมดูเหมือนว่า รัฐจะให้ความคุ้มครองด้านสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างครอบคลุมทั่วถึง ทว่าหากพิจารณาลงลึกในรายละเอียด กลับพบว่ามีข้อจำกัดมากมายซ่อนอยู่ในหลายถ้อยคำ

iLaw ได้สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับ สิทธิทางสาธารณสุข ไว้ว่า หากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 จะพบว่าสิทธิด้านสาธารณสุขถูกลดทอนและหายไปหลายประเด็น

กล่าวคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติได้ตัดคำว่า ‘สิทธิเสมอกัน’ และ ‘การได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและเหมาะสม’ ออกไป เป็นเหตุให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะนำไปสู่การยกเลิกระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม และยังลดทอนให้เหลือเฉพาะ ‘ผู้ยากไร้’ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งจาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ตัดสิทธิของประชาชน แต่ในทางกลับกันเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านสาธารณสุข อีกทั้งระบบบัตรทองไม่เคยถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาก่อน ซึ่ง กรธ. เพียงแค่กำหนดไว้เพียงว่า ผู้ยากไร้ต้องได้รับการดูแลทางด้านสาธารณสุขอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ยังต้องคำนึงถึงความเป็นได้ในการดำเนินการด้วยเช่นกัน

panthong

เบี้ยยังชีพคนชราผู้ยากไร้

ร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการของผู้สูงอายุ มาตรา 48 ระบุว่า “บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ”

iLaw ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติจะระบุเหมือนว่า ผู้สูงอายุที่ยากจนเท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ แต่เนื่องจากมี พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2553 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2552 กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า ผู้สูงอายุทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพไม่ว่ายากจนหรือร่ำรวย ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงควรร่างให้สอดคล้องกับในทางปฏิบัติ หรืออย่างน้อยก็ควรคุ้มครองสิทธิประชาชนไม่ให้ต่ำกว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่จริง

panthong

เรียนฟรี 12 ปี เริ่มต้นที่อนุบาล

เมื่อนิยามคำว่า ‘สิทธิ’ ที่ประชาชนพึงมี ถูกย้ายไปไว้ในหมวด ‘หน้าที่ของรัฐ’ เรื่องของสิทธิทางการศึกษาก็เช่นกัน โดยหลายประเด็นถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องจัดให้

สิ่งที่เหมือนกันกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนก็คือ รัฐยังคงต้องให้การรับรองสิทธิเรียนฟรี 12 ปีเช่นเดิม ต่างกันตรงที่ว่าเดิมทีกำหนดให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาฟรีตั้งแต่ ป.1-ม.6 แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ร่นมาเป็นระดับก่อนวัยเรียนหรือชั้นอนุบาล 1-ม.3 ภายใต้แนวคิดว่า เด็กควรได้รับการดูแลที่ดีตั้งแต่ระดับปฐมวัย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้เมื่อเติบใหญ่ขึ้น ดังมาตรา 54 ที่ระบุว่า

“รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

“รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังเป็นที่น่าห่วงใยว่า ในการดูแลเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสมนั้น ควรจะต้องมีการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือเด็กก่อนวัยเรียนอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกัน เด็กในระดับชั้น ม.4-6 ที่ถูกตัดสิทธิเรียนฟรี จะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องจากรัฐอย่างไร

นอกจากนี้ สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ แนวทางจัดการศึกษาที่มุ่งให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ แต่สิ่งสร้างความประหลาดใจก็คือ ‘การปลูกฝังให้ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตย’ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ไม่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้ก่อนหน้านี้จะมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็ตาม

panthong

อุ้มพุทธเถรวาท

ในร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับก่อนหน้านี้เกิดข้อถกเถียงกันมานานว่า ในรัฐธรรมนูญควรบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ โดยมีองค์กรชาวพุทธหลากหลายองค์กรออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง ท่ามกลางข้อท้วงติงของผู้เห็นต่างว่า การขีดเส้นแบ่งศาสนาเช่นนี้อาจทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ เกิดความไม่เท่าเทียม ทั้งยังเป็นการกีดกันผู้คนที่นับถือศาสนาอื่นจนเกิดการแบ่งแยก

สุดท้ายรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงหาทางออกด้วยการระบุในมาตรา 79 ว่า “รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน” โดยไม่มีการระบุให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ถึงแม้จะมีการหลบเลี่ยงกระแสกดดัน โดยไม่ได้บัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็มีการซุกบางถ้อยคำไว้อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการมุ่งส่งเสริมเฉพาะศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ทั้งยังเพิ่มเงื่อนไขเกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาด้วยข้ออ้างถึงความเป็นภัยต่อรัฐ ดังนี้

“มาตรา 31 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

และ “มาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น

“ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”

นอกจากนี้ยังมีการตัดข้อความ “ห้ามลิดรอนสิทธิเพราะการนับถือศาสนาแตกต่างกัน จากเดิมที่เคยปรากฏอยู่ในทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550

panthong

ลดทอนสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในภารกิจที่ คสช. หยิบยกขึ้นมาสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจคือ การปฏิรูปประเทศ และหนึ่งในภารกิจเร่งด่วนของการปฏิรูปคือ การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของประชาชน และการรับฟังความคิดเห็นก่อนการดำเนินโครงการใดๆ ทว่าเนื้อหาที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญกลับมีแนวทางปฏิบัติที่ต่างออกไป

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ในบทความที่ชื่อ สิทธิการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม: อีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่ถูกลดทอนแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติมีการตัดทอนสิทธิและแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550

“สิทธิเสรีภาพสองประการที่มีความสำคัญควบคู่กับสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้ คือ สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (Right to Information) และสิทธิการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม (Right to Public Participation in Environmental Decision-Making) ด้วยเหตุว่าสิทธิทั้งสองประการนี้เป็นต้นทางที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของรัฐอย่างรอบคอบก่อนการอนุมัติอนุญาตโครงการหรือการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพวิถีชีวิตของประชาชน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน ช่วยลดการเผชิญหน้าและความขัดแย้งลง”

EnLAW ให้ทัศนะว่า สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในรูปธรรมของหลักประชาธิปไตยทางตรงที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะการรับฟังข้อมูลจากเพียงหน่วยงานราชการหรือเอกชนเจ้าของโครงการ โดยเฉพาะข้อมูลสภาพพื้นที่ตั้งโครงการทั้งในทางระบบนิเวศและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ย่อมไม่อาจครบถ้วนละเอียดรอบคอบไปกว่าการรับฟังข้อมูลของผู้คนที่ดำรงชีวิตและประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่นั้นๆ

เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 จะเห็นได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติลดทอนสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อมลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยตัดบทบัญญัติรับรองสิทธิตามมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ออกไปทั้งมาตรา และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิตามมาตรา 67 วรรคสอง ไปไว้ในหมวด ‘หน้าที่ของรัฐ’ แทน ตามมาตรา 58 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติที่บัญญัติว่า

“การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

“บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง

“ในการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า”

EnLAW วิเคราะห์ว่า เมื่อ ‘สิทธิ’ ของประชาชนถูกเปลี่ยนเป็น ‘หน้าที่ของรัฐ’ นอกจากจะทำให้มีผลสภาพบังคับในการยกขึ้นอ้างสิทธิตามกฎหมายที่แตกต่างกันแล้ว ยังทำให้การรับรองกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลและการแสดงความคิดเห็น ถูกจำกัดอยู่เพียงโครงการที่อาจมีผลกระทบ ‘อย่างรุนแรง’ เท่านั้น ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 รับรองสิทธิดังกล่าวสำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในทุกระดับ

“คำถามและข้อสังเกตที่เกิดขึ้นต่อร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 คือ อะไรคือโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงฯ ใครจะเป็นผู้นิยามความหมาย และเหตุใดจึงต้องจำกัดกระบวนการชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นไว้เฉพาะโครงการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงฯ เท่านั้น” EnLAW ระบุ

panthong

ทุบ ม.190 เปิดช่องรัฐเซ็นสัญญาข้ามชาติ

ในมาตราที่ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งเดิมคือมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ 2550 นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศในระยะยาว เนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับข้อผูกมัดระหว่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อพิจารณาการตรวจสอบโดยละเอียดรอบคอบ

ผลจากการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) พบข้อสังเกตว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญส่วนนี้ถือเป็นการถอยหลังอย่างถึงที่สุดเท่าที่เคยมีมา เนื่องจากดึงอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดไปอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ตัดการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้น

“จากนี้เราจะเห็นความน่ากลัวอีกครั้งหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หากเทียบเนื้อหาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2540 มีความน่ากลัวน้อยกว่านี้ ความก้าวร้าวในเชิงเนื้อหาไม่มากเท่านี้ ฉะนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไปไม่ทันโลก

“หากก่อนหน้านี้ใครบอกว่า รัฐบาลทักษิณเจรจาเอฟทีเอแบบไม่สนใจใคร จนผลได้กระจุกในกลุ่มทุนใกล้ชิดรัฐบาล แต่ผลเสียกระจาย

“สิ่งเหล่านี้จะหวนกลับมาอีกครั้ง หลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้” แถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559 ของกลุ่ม FTA Watch ระบุ

แต่เดิมมาตรา 190 มีเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดขั้นตอนการเจรจาด้วยหลักธรรมาภิบาล ต้องมีงานวิจัยรองรับและให้ข้อมูลแก่ประชาชนก่อนการเจรจา รวมถึงต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่เมื่อหลักการนี้ถูกตัดทิ้งไปอาจส่งผลให้กลุ่มชนชั้นนำฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายนี้ ซึ่งกลุ่ม FTA Watch ยืนยันว่า ภาคประชาชนจะเดินหน้าตรวจสอบด้วยความเข้มข้นต่อไป

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า