จงปล่อยให้ลูกของคุณเล่นอย่างอิสระ

 

เล่น
ก. ทำเพื่อสนุกหรือผ่อนอารมณ์ เช่น เล่นเรือ เล่นดนตรี หรือ สาละวนหรือหมกมุ่นอยู่กับสิ่งใดๆ ด้วยความเพลิดเพลิน เป็นต้น  – พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
Play
(Verb) when you play, especially as a child, you spend time doing an enjoyable and/or entertaining activity – Cambridge Dictionary

พ่อแม่หลายคนคงเคยสังเกตเห็นว่า ลูกๆ ของตัวเองสามารถหยิบจับอะไรก็ได้มาเล่นอย่างสนุกสนาน แม้จะมีเพียงแค่กล่องกระดาษทิชชูตั้งอยู่ตรงหน้า เจ้าตัวน้อยก็สามารถเล่นได้แล้ว

การปั่นจักรยานกับเพื่อนๆ รอบหมู่บ้าน การนอนเอกเขนกอยู่ที่สวนหลังบ้านกับเพื่อนๆ พากันจิตนาการเมฆลูกแล้วลูกเล่า ต่างก็ถือว่าเป็นการเล่นอย่างอิสระที่สามารถช่วยพัฒนาการทั้งสมองและอารมณ์ของเด็กได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กเล็กเรียกการเล่นในลักษณะเช่นนั้นว่า การเล่นอย่างอิสระหรือตามใจชอบ (free play) กล่าวคือ การเล่นของเด็กเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ต้องสอน ไม่ต้องเรียนรู้ พวกเขาก็สามารถเพลิดเพลินและสนุกนานได้แล้ว

ทำไมการเล่นจึงสำคัญ

เพราะการเล่นสำคัญต่อพัฒนาการเด็กเล็ก สำคัญถึงขนาดที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเคยแถลงไว้ว่า เด็กทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเล่นอย่างอิสระ

แต่ดูเหมือนว่า โลกที่กำลังหมุนอย่างรวดเร็วกำลังทำให้กิจกรรมการเล่นของเด็กถูกจำกัด ผู้ปกครองหลายคนเลือกให้ลูกเรียนพิเศษเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันทางการศึกษาที่สูงขึ้น ส่งผลให้เวลาว่างเพื่อเล่นอย่างอิสระของเด็กถูกบีบให้ลดลง และกลายเป็นสิ่งไร้สาระ

ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น การเล่นของเด็กสมัยนี้กลับกลายเป็นการเล่นที่หมกมุ่นอยู่กับการใช้คีย์บอร์ดและหน้าจอเสียมากกว่า

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนปี 1997 ชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 1981 เด็กอเมริกันมีเวลาว่างในการเล่นลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งข้อสรุปคล้ายกับงานวิจัยของ ปีเตอร์ เกรย์ (Peter Grey) จากมหาวิทยาลัยบอสตันที่กล่าวว่า เวลาว่างสำหรับการเล่นของเด็กๆ จะลดลงอย่างต่อเนื่อง

การเล่นอย่างอิสระสำคัญต่อการพัฒนาอารมณ์และปัญญาของเด็ก โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโดพบว่า เด็กอายุตั้งแต่ 6-7 ขวบที่เล่นกิจกรรมในลักษณะที่สามารถสะท้อนแนวคิดสร้างสรรค์ หรือคิดวิเคราะห์ เช่น การเล่นบทบาทสมมุติ การอ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลิน หรือการเล่นบอร์ดเกม เมื่อโตขึ้นพวกเขาจะสามารถพึ่งพาตัวเองและประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าเด็กอีกกลุ่ม ที่ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมในลักษณะเช่นนั้น เนื่องจากพวกเขามีความเป็นผู้นำมากกว่า สามารถจัดการเวลาของตัวเองได้ รวมถึงรู้เป้าหมายอนาคตข้างหน้า

ข้อดีของการเล่นอย่างอิสระ

  • การเล่นช่วยพัฒนาการสมองให้ดีขึ้น: 75 เปอร์เซ็นต์ของสมองมนุษย์เริ่มพัฒนาตั้งแต่เกิดจนถึงช่วงอายุ 20 ปี ดังนั้นแล้วการเล่นในวัยเด็กจึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาสมอง โดยเฉพาะในด้านการตัดสินใจที่ดีและการวางแผน
  • การเล่นบทบาทสมมุติช่วยพัฒนาจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก: มีงานวิจัยเปิดเผยว่า เด็กที่ชอบจินตนาการเมื่อเติบโตขึ้นมาจะเป็นคนคิดสร้างสรรค์ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่แต่เรื่องศิลปะอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมไปถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ด้วย
  • การเล่นช่วยพัฒนาการทำงานของสมองด้านการจัดการ (executive function): สมองด้านการจัดการในที่นี้หมายถึง ทักษะทางด้านจิตใจที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จในการใช้ชีวิต เช่น การยับยั้งความคิด การแก้ไขปัญหา การวางแผน การจดจำหรือความสามารถในการควบคุมความคิดตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการทางปัญญาที่ต้องพัฒนากันตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก

อ้างอิงข้อมูลจาก:
psychcentral.com
outsideonline.com
childdevelopmentinfo.com

 

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า