เมื่อหุ่นยนต์ได้รับใบอนุญาตให้ฆ่า

Untitled

นเรศ ดำรงชัย

ภาพประกอบ : ฝันสีรุ้ง

 

วันก่อนมีข่าวแปลกๆ มาจากรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ว่า ตอนนี้หน่วยงานระดับ อบต. ที่นั่นกำลังเตรียมจะใช้ฝูงเครื่องบินไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) เข้ากำจัดยุงเพื่อปราบให้สิ้นซาก

ผมนั่งนึกจินตนาการถึงฝูงบินขนาดจิ๋วที่ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ เข้าต่อกรกับฝูงบินของยุงที่มีขนาดพอๆ กัน บางครั้งสงสัยจะต้องดวลกันตัวต่อตัวในระยะประชิด บรรดายุงตัวแล้วตัวเล่าคงจะถูกเครื่องบินหุ่นยนต์ขนาดจิ๋วนี้สอยร่วงลงมา ผมสงสัยว่าอาวุธที่ติดตั้งในหุ่นยนต์บินได้พวกนี้จะเป็นอาวุธแบบไหน อาจจะเป็นเครื่องปล่อยคลื่นเสียง ใช้ควันแบบยากันยุงตราไก่ เอ…หรือว่าจะใช้แสงเลเซอร์

แต่เปล่าครับ เครื่องบินขนาดเล็กไร้คนขับ ที่มักมีชื่อเรียกทั่วไปว่า ‘โดรน’ (Drone) ของ อบต. ที่ฟลอริดาไม่ได้เล็กและยังไปไม่ไกลถึงขั้นนั้น เวลานี้เขาเพียงแค่ติดกล้องที่มีระบบค้นหาเป้าหมายได้เองเข้าไปที่เครื่องบิน เพื่อสำรวจหาแหล่งขังน้ำที่มีลูกน้ำอาศัยอยู่ แล้วเจ้าหน้าที่จึงตามไปกำจัดลูกน้ำเหล่านั้นในภายหลัง

 

drone

 

สหรัฐอเมริกาใช้เครื่องบินสงครามที่ไม่มีคนขับเข้าประหัตประหารฝ่ายตรงข้ามในสนามรบแถบประเทศอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอิหร่าน มาเป็นเวลาระยะหนึ่งแล้ว อากาศยานแบบนี้มักยังเป็นแบบกึ่งอัตโนมัติอยู่ คือ บินได้เอง แต่ในหลายกรณียังต้องมีคนช่วยบังคับจากระยะไกล เพื่อให้บินไปทำลายล้างแหล่งที่มั่นของข้าศึก แล้วบินกลับมา

เราถึงเรียกกันว่า สมัยนี้เป็นยุคของ ‘สงครามกดรีโมท’

แต่ว่าต่อไปก็จะไม่ต้องแม้แต่กดรีโมทแล้ว เพราะที่ยุโรป อเมริกา เกาหลี และอิสราเอล (และน่าจะอีกหลายประเทศ) มีการพัฒนา UAV ไปจนถึงขั้นที่ควบคุมตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ไร้กังวล ถ้าเป็นหลายสิบปีก่อน ยุคที่จรวดร่อนครูซมิสไซล์เพิ่งโด่งดัง ก็เคยมีการโฆษณาว่านี่เป็นระบบ Fire and Forget คือยิงจรวดเสร็จ คนยิงไปนั่งกินกาแฟหรืออาบน้ำได้เลย ที่เหลือหัวนำวิถีที่คุมโดยคอมพิวเตอร์จะจัดการพามันไปถล่มจุดหมายเอง

จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ในยุคนี้จะส่งหุ่นยนต์ให้เหินฟ้าไปปฏิบัติภารกิจ เสร็จแล้วบินกลับมารายงานผลให้หัวหน้าฟังได้ ถ้าไม่ถูกสอยร่วงไปเสียก่อน

ขอแอบบอกว่าในประเทศไทยก็มีการใช้โดรนแบบนี้อยู่เหมือนกัน แต่เป็นภารกิจในทางสันติภาพ (เท่าที่รู้) เป็นพวกที่เขาส่งไปสำรวจสภาพน้ำสภาพภูมิประเทศ โดยเฉพาะในช่วงหลังน้ำท่วมเมื่อ 2 ปีก่อน แล้วเอามาทำแผนที่รายงานได้แบบนาทีต่อนาที ในวันนี้โดรนของประเทศไทยยังทำงานได้จำกัด เพราะติดปัญหาเรื่องน้ำหนักบรรทุกที่ยังรับได้น้อย ต้องเลือกติดอุปกรณ์ที่จำเป็นจริงๆ และเรื่องการบังคับที่ต้องใช้คนช่วยดูแลจากระยะไกล เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนกะทันหันมีผลทำให้นักบินหุ่นยนต์เหล่านี้กลับบ้านไม่ถูก

กลับมาที่เรื่องสงคราม โดรนเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีการทำสงครามในยุคต่อไป ที่มีแนวโน้มชัดเจนว่าพยายามจะถึงคนออกจากสนามรบ แล้วส่งให้หุ่นยนต์เข้าไปอยู่แนวหน้าแทน เพราะหุ่นยนต์ไม่มีชีวิต จะส่งไปตายเท่าไหร่ก็ได้ (ถ้าไม่เสียดายเงิน)

บางคนก็บอกว่านี่เป็น ‘ยุคพระศรีอาริย์’ แต่บางคนกลับบอกว่ามันคือ ‘กลียุค’

 

ถ้าจะถามว่า การให้หุ่นยนต์ทำสงครามแทนคน ผิดจริยธรรมหรือไม่ ในความหมายที่ว่า นี่มันเอาเปรียบฝ่ายตรงข้ามกันหรือเปล่า ผมคิดว่าคงตอบได้ไม่ยากว่า ไม่ผิด อย่างน้อยก็ไม่ได้ผิดมากกว่าที่เคยผิดมา เพราะความเท่าเทียมคือมายา สงครามไม่เคยมีคำว่าเท่าเทียมตั้งแต่แรก สงครามไม่ใช่การชกมวยบนเวที ที่ก่อนขึ้นชกจะต้องมีการแก้ผ้าชั่งน้ำหนัก เพราะสงครามคือการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามด้วยทุกสรรพกำลังที่มีอยู่

 

แต่ก็ไม่แน่เสมอไป ในอดีตยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยที่กองทัพของพระเจ้าจักรพรรดิญี่ปุ่นยังไม่มีเรดาร์ใช้ แต่มีความพยายามนำเทคโนโลยีเรดาร์เข้ามา ว่ากันว่านายทหารในกองทัพญี่ปุ่นหลายคนปฏิเสธการใช้เรดาร์ด้วยเหตุผลที่ว่า “แอบเฝ้ามองข้าศึกที่ไม่เห็นตัวด้วยการใช้เครื่องจักรช่วย ถือเป็นเรื่องขี้ขลาดไม่สมเป็นชายชาติทหาร”

สมัยนี้เครื่องบินโจมตีไร้คนขับใช้เพื่อจุดประสงค์หลัก คือ บินเข้าไปสำรวจ ทำลายเรดาร์และระบบป้องกันอื่นของข้าศึก หลังจากนั้นค่อยส่งกำลังพลที่เป็นคนเข้าไป วิธีนี้ช่วยลดความสูญเสียของกำลังพล (ฝ่ายตัวเอง) ได้มาก เวลานี้ทหารของพระเจ้าจักรพรรดิอาจจะต้องตั้งคำถามใหม่ว่า ฝ่ายไหนแน่ที่ขี้ขลาด

ระบบอินเทอร์เน็ตก็เริ่มมาจากการวิจัยในทางทหาร เขาต้องการให้มีเครือข่ายการติดต่อสื่อสารข้อมูลระหว่างกันในห้วงเวลาสงคราม เครือข่ายที่ว่านี้รูปร่างเป็นร่างแห สมมุติว่าเส้นทางส่งข้อมูล (ให้นึกภาพสายโทรศัพท์) ระหว่างเมืองนิวยอร์กกับแอลเอ ต้องผ่านชิคาโก แต่ชิคาโกถูกระเบิดปรมาณูของโซเวียตสมัยนั้น ถล่มราบเป็นหน้ากลองไปแล้ว จะต้องมีระบบที่บอกให้ข้อมูลกระจายตัวเลี้ยวไปทางอื่นได้อีกหลายทาง เช่น ออกจากนิวยอร์ก ข้อมูลก็อ้อมไปทางเมืองฟิลาเดลเฟีย ฯลฯ แทน สุดท้ายบรรดาข้อมูลไปรวมพลที่แอลเอได้เหมือนกัน ตามทฤษฎีนี้ ทุกจุดในโลกนี้จะต้องสามารถติดต่อกันได้หมดไม่ว่าอยู่ที่ไหน

กลายมาเป็นระบบอินเทอร์เน็ตที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้

ในอนาคตหุ่นยนต์จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอินเทอร์เน็ต สมองของมันไม่ได้อยู่ที่หัว แต่จะอยู่บนเมฆ การตัดสินใจคำนวณโดยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ไหนสักแห่งในโลก เพราะมันจะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา เท่าๆ กับที่ทุกวันนี้เราป้อนคำถามเข้าไปที่กูเกิลแล้วมันดีดคำตอบออกมาให้ได้ในพริบตา

เกมส์ Wii สุดฮิตที่ทำให้คุณพ่อลุกขึ้นมาเล่นเกมตีเทนนิสกับคุณลูกได้ที่หน้าจอทีวี ด้วยเทคโนโลยีเซนเซอร์ที่ติดไว้ที่รีโมทคอนโทรล ความแพร่หลายของเกมแบบนี้ใช้เทคโนโลยีรับรู้และตอบสนองความเคลื่อนไหวของคนได้ บวกกับความนิยมที่ระเบิดเถิดเทิงของโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ทำให้อุปกรณ์เซนเซอร์ เครื่องวัดความเร่ง และไจโรสโคป (ที่ทำให้โทรศัพท์มือถือของคุณรู้ตำแหน่ง บอกทิศได้ว่าบน ล่าง หรือเอียง ใช้กันเยอะในเกม) เหล่านี้ราคาถูกลงมาเหลือตัวละไม่กี่สิบบาท

ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือเริ่มติดเซนเซอร์เต็มไปหมดเพราะราคามันถูกมาก อีกไม่นานเราจะใช้มือถือวัดอุณหภูมิได้แทนปรอท ใช้วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ มือถือจะรู้ในสิ่งที่มันไม่ควรรู้มากขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งมันจะตัดสินใจได้แทนเราว่า จะเลือกรับสายใคร ปฏิเสธสายใคร หรือจะตอบโกหกเมียว่าอย่างไร

โทรศัพท์มือถือจะเป็นหุ่นยนต์ และหุ่นยนต์จะเป็นมือถืออย่างแน่นอนครับ

ถ้าโจทย์ของสงครามในอนาคตคือ ทำให้คนตายน้อยที่สุด แต่ยังชนะสงคราม ผมสงสัยว่าเราคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้หุ่นยนต์สู้รบกันในอนาคต แต่คำถามที่น่าคิดในเชิงจริยธรรมคือ ระยะห่างที่มากขึ้นจากสมรภูมิ มันลดทอนความเห็นอกเห็นใจในความเป็นเพื่อนมนุษย์ของฝ่ายตรงข้ามที่มีเลือดเนื้อให้น้อยลงจนถึงไม่รู้สึกอะไรเลยหรือไม่ เพราะเทคโนโลยีทำให้เราถอยห่างไกลออกมา จากสงครามที่ต้องเข้าประชิดใช้มีดฟันเลือดพุ่งกระฉูด มาเป็นใช้ปืนยิงจากระยะไกล มาถึงวันนี้ใช้การกดปุ่มเอา และในอนาคตคือปล่อยให้หุ่นยนต์ตัดสินใจแทน จะฆ่าใครหรือฆ่ากันเอง มนุษย์ก็เกือบจะไม่ต้องรับรู้ หรือเปล่า?

นิยามของหุ่นยนต์ก็คือเครื่องจักร (หรือระบบ) ที่รับรู้ได้ ตัดสินใจได้ และลงมือได้เอง ถ้าหุ่นยนต์รู้มากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้น ใครเคยดูภาพยนตร์เก่าๆ เรื่อง สองพันหนึ่งจอมจักรวาล (2001: A Space Odyssey) จะจำได้ว่า ท้องเรื่องเป็นการเดินทางของนักบินอวกาศ 2 นายกับหุ่นยนต์ตัวหนึ่งในร่างของระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมดูแลยานอวกาศ หุ่นยนต์ตัวนี้รู้วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเดินทางและต้องเก็บเอาไว้คน (ตัว) เดียวโดยที่นักบินไม่รู้ เมื่อ ‘ความเครียด’ ของมันมาถึงจุดหนึ่งที่ไม่อาจเก็บความลับไว้ได้อีกต่อไป และไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องมีมนุษย์อยู่บนยานลำนี้ มันจึงวางแผนหลอกนักบินว่าอุปกรณ์นอกยานขัดข้อง เมื่อนักบินออกไปแก้ไขก็จัดการฆ่าเสีย ด้วยการตัดสายนิรภัยให้นักบินลอยคว้างออกไปสู่ห้วงอวกาศลึก

นี่เป็นภาพยนตร์ที่สร้างและฉายเมื่อ 45 ปีที่แล้ว

ผมเสนอว่าเราไม่จำเป็นต้องรอให้หุ่นยนต์มีบุคลิกภาพเหมือนคน อย่างที่ภาพยนตร์แนวโรแมนติกบางเรื่องชอบวาดภาพให้เราดูและเกิดอารมณ์ร่วมหรอกครับ หากแต่โจทย์ของอนาคตที่ต้องคิดคือ ในวันที่หุ่นยนต์สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจได้เหมือนคน ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างการเลือกรับหรือไม่รับโทรศัพท์ ไปจนถึงการเข้าต่อกรในสงคราม เราจะให้ ‘ใบอนุญาตให้ฆ่า’ แก่มันหรือไม่

แล้วเราจะรู้สึกผิดไหม?

 

*********************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Dualism นิตยสาร Way ฉบับ 65)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า