ตาดูดาว มือจับหางเสือ และเรือประมง

เด็กๆกำลังขุดหาหอยบนชายหาดในอ.เทพา จ.สงขลา

เรื่อง/ภาพ : ปริตตา หวังเกียรติ

 

เช้ามืดวันนั้น อัสรีย์ หมีนหวัง หรือ ‘บังหรี’ จับทิศทางลมและกระแสคลื่น พลางลดความเร็วเครื่องยนต์เรือหัวโทงลงที่หลังเกาะเขาใหญ่ อำเภอละงู จังหวัดสตูล เขาพยักหน้าให้ ‘กะยะ’ ภรรยาซึ่งยืนอยู่ที่หัวเรือ ในมือเธอถือไม้คันธงสีแสดติดทุ่นลอย ด้านปลายมีตาข่ายอวนกุ้งติดลูกทุ่นเป็นระยะ

เธอพยักหน้ารับ พลันโยนทุ่นลอยลงน้ำ อวนถูกแรงดึงลากลงน้ำ ค่อยคลี่ออกจากกองตาข่ายที่พับไว้ทีละชั้น บังหรียังคงบังคับหางเสือมุ่งตรงไปข้างหน้า เมื่อถึงปลายสุดของตาข่ายมีไม้คันธงสีแสดติดทุ่นลอยอีกอันผูกไว้ กะยะโยนมันลงไปในน้ำ การวางอวนกุ้งรอบแรกเสร็จสิ้น อวนวางตัวเป็นแนวเส้นในน้ำ คันธงสองคันลอยเหนือน้ำย้ำบริเวณที่อวนถูกวางไว้เพื่อดักกุ้ง เหลือเพียงการรอเวลาที่เหมาะสมที่จะสาวมันขึ้น

จากนี้คือเวลากาแฟ…

2.บังหรี ขณะสาวอวนกุ้งขึ้นจากน้ำ

 

-1-

กะยะต้มน้ำร้อนด้วยถังแก๊สในเรือ เธอหยิบกาแฟผงซองและแก้วกระดาษขึ้นมาส่งให้บังหรี สีหน้าของทั้งคู่ดูไม่อิดโรยเลย แม้พวกเขาพาเรือออกจากฝั่งมาตั้งแต่รุ่งเช้า บังหรีเดินไต่ขอบเรือจากส่วนท้ายขึ้นมาที่ส่วนหัว แล้วเอนตัวลงนั่งจิบกาแฟ

สักพัก เรือของ ‘เฒ่าทะเล’ แล่นเข้ามาเทียบข้างเรือของบังหรี ทั้งสองตะโกนพูดคุยหยอกล้อกันเหมือนอย่างทุกครั้ง เฒ่าทะเลเป็นฉายาที่เพื่อนตั้งให้ ‘หมาด หมีนหวัง’ ชาวประมงพื้นบ้านอายุกว่า 70 ปี ผู้เป็นที่รู้จักในละแวกปากบารา ไม่นานนักเรือของชาวประมงลำอื่นก็เข้ามาร่วมวงสนทนาระหว่างรอเวลาสาวอวน

“เอากาแฟม้าย?” บังหรีถามเพื่อนๆ

“ไม่พรื้อ กินต๊ะ” หนึ่งในชาวประมงตอบ “วันก่อน หมู่นู้น (พวกนั้น) ไปชักอวนฝั่งนั้น ได้กุ้งมาหนัด (มาก)”

“นั่นแล ไม่รู้วันนี้จะได้หนัดม้าย?”

“วันนี้ผมว่าผมขาดทุนแน่ แต่คืน ผมฝันว่าไปหาหมอให้ฉีดยาที่ก้น ผมเห็นว่าก้นผมล้างไม่สะอาด” วิเชียร งะสะมัน หรือ ‘บังเชียร’ อีกหนึ่งชาวประมงเทียบเรือเข้ามาแล้วเล่าให้ฟัง ทุกคนหัวเราะเสียงดัง

ชาวประมงที่นี่เชื่อว่าหากฝันดี เช่น ฝันว่าได้นอนกับผู้หญิงหรือได้กินอาหารอิ่มๆ แล้วจะจับปลาได้มาก

 

เฒ่าทะเลขอปลีกตัวออกจากวงสนทนาเป็นคนแรกเพื่อไปสาวอวนของตัวเอง เขาได้กุ้งไม่มากนัก สักพักเรือหัวโทงอีกลำก็เข้ามาเทียบเรือของบังหรี ชาวประมงบนเรือรายงานว่าได้กุ้งไม่มากเช่นกัน เขาแนะนำว่าให้แล่นเรือไปวางอวนที่หน้าเกาะเขาใหญ่อาจจะดีกว่า

บังหรีตัดสินใจวางอวนหลังเกาะเขาใหญ่ต่อไป แม้ว่าการสาวอวนรอบแรกจะได้กุ้งไม่มากนัก ผลยังคงเป็นเช่นนั้นแม้จะผ่านการวางอวนรอบที่ 4

“วันนี้ธนาคารทะเลปิดทำการ เลยปล่อยกุ้งออกมาน้อย” บังหรีพูดไปหัวเราะไป พลางช่วยกะยะปลดกุ้งออกจากอวนอย่างระมัดระวังเพื่อให้กุ้งอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด จากนั้นทั้งสองช่วยกันพับอวนเก็บเข้าที่ บังหรีแล่นเรือกลับเข้าฝั่งโดยไม่เสียดายกุ้งที่อาจกำลังหลบซ่อนอยู่ใต้ผืนน้ำ เราใช้เวลาอยู่บนเรือร่วม 8 ชั่วโมง

หนึ่งในวิถีประมงพื้นบ้าน จับสัตว์น้ำเท่าที่มี เท่าที่ทะเลจัดสรรให้

สองวันถัดมา ถึงทีของบังหรีบ้าง เขาออกเรือแล้วได้ปลาใหญ่ ขายได้หลายพันบาท

ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวปากบาราจ. สตูล

-2-

วิถีประมงพื้นบ้านอาจไม่เป็นที่สังเกตเห็น โดยเฉพาะเมื่อการแสดงออกแห่งวิถีเกิดขึ้นบนเรือเล็กลอยลำกลางทะเลใหญ่

ใต้มหาสมุทรมีหลายที่ที่มนุษย์ยังไปไม่ถึง เกาะแก่งผาลึก สัตว์หลายชนิดที่ยังไม่ถูกค้นพบ ความลี้ลับคือเสน่ห์ที่ทำให้มนุษย์ยอมเสี่ยงชีวิตออกสำรวจใต้ผืนน้ำ ขณะที่นักเขียนนิยายผจญภัยหลายคนใช้ทะเลเป็นฉากหลัก

นักเขียนชาวฝรั่งเศส Jules Verne แต่งนิยายชื่อดัง 20,000 Leagues Under the Sea เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2413 ว่าด้วยเรื่องของเรือดำน้ำ ‘นอติลุส’ ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ป่าใต้ทะเล สัตว์น้ำนานาชนิด และ ‘กัปตันนีโม’ ผู้ละทิ้งแผ่นดินเพื่อหาอิสรภาพใต้ทะเลลี้ลับ เขาทิ้งคำกล่าวอันเป็นที่จดจำไว้ว่า…

“บนแผ่นดินมีความหิวโหยและความกลัว มนุษย์ใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เมื่อพวกเขากลัว จึงทำลายกันและกัน แต่การครอบครองเขตแดนของพวกเขาอันตรธานหายไปภายใต้คลื่นที่ความลึกเพียงไม่กี่ฟุต ปีศาจในตัวพวกเขาจมน้ำตายตาม ที่นี่ บนพื้นมหาสมุทรคือความเป็นอิสระหนึ่งเดียว ฉันเป็นอิสระ!”

แต่ความลี้ลับในโลกแห่งความเร่งรีบปัจจุบันกลายเป็นเรื่องไร้สาระ

สิ่งที่มองไม่เห็นใต้น้ำถูกลดทอนคุณค่า เช่นเดียวกับชาวประมงพื้นบ้านผู้สรรหาอาหารทะเลสดเข้าสู่ตลาด แต่ในสังคมบริโภคที่รวดเร็วทำให้ผู้คนไม่พินิจพิเคราะห์ถึงกระบวนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ การต่อสู้และความขัดแย้งของการตักตวงผลประโยชน์จากทะเลกลายเป็นความลับที่เสียเวลาจะค้นหาคำตอบ

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ในการจับสัตว์น้ำเพื่อให้ทันความต้องการที่ไม่สิ้นสุด

ปีศาจในตัวคนไม่จมหายไปแม้อยู่ใต้คลื่น

 

เรดาร์ จีพีเอส คลื่นจับเสียง ตาข่ายขนาดตาเล็ก รวมถึงเครื่องมือประมงประเภททำลายล้าง ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถจับสัตว์น้ำได้เร็วและมากที่สุด แต่ก็ขาดความประณีตมากที่สุด

‘อวนลาก’ อาศัยเครื่องยนต์เรือลากอวนไถครูดหน้าดินใต้น้ำ ‘อวนรุน’ ใช้เครื่องยนต์เรือดันอวนไปข้างหน้า เก็บกวาดสัตว์น้ำจากบนผิวน้ำจนถึงหน้าดิน ‘เรือปั่นไฟ’ ล่อสัตว์น้ำหลายแสนเข้ามาใกล้เพื่อช้อนจับง่ายขึ้น สัตว์น้ำไม่ว่าใหญ่หรือเล็กจำนวนมหาศาลจึงติดร่างแหขึ้นมาโดยไม่ถูกคัดแยก สัตว์น้ำอนุรักษ์ เช่น เต่า ปลาฉลาม พลอยถูกลูกหลงไปด้วย และบ่อยครั้งที่ร่างของพวกมันถูกโยนทิ้งกลับไปในทะเล เพราะไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

ภายใต้ความเย้ายวนของผลกำไรในธุรกิจประมง เรือที่ใช้เครื่องมือประมงประเภททำลายล้างจึงเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะเรือเถื่อนที่ไม่มีใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือเหล่านี้ และมีเรืออีกมากที่ยอมฝ่าฝืนกฎหมายเข้าไปหาสัตว์น้ำในเขตหวงห้าม

ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เลยที่สัตว์น้ำตัวใดจะรอดชีวิตไปได้

เรือไฟเบอร์กลาซบนชาดหาดบ้านสวนกง

-3-

งานศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ในปี 2549 ระบุว่า หากเรายังจับสัตว์น้ำเกินศักยภาพทะเลเช่นนี้ต่อไป อุตสาหกรรมประมงทั่วโลกจะล่มสลายภายในปี 2591 หรือราว 30 กว่าปีข้างหน้า เช่นเดียวกับกรณีของปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Atlantic Bluefin Tuna) ซึ่งถูกเรือประมงพาณิชย์จับส่งตลาดปลาดิบจนกระทั่งประชากรปลาลดลงถึงขั้นเกือบสูญพันธุ์

เมื่อความต้องการบริโภคสัตว์น้ำของโลกเพิ่มขึ้น กว่าครึ่งของสัตว์น้ำทุกวันนี้จึงต้องนำมาจากการเพาะเลี้ยง ขณะที่การบริโภคสัตว์น้ำของคนไทยพุ่งสูงขึ้น 2 เท่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หรือเฉลี่ยคนละ 32-42 กิโลกรัมต่อปี รสนิยมการกินอาหารบุฟเฟต์ทะเลและปลาดิบผุดขึ้นเป็นกระแส

การประมงพาณิชย์ถูกชูขึ้นเป็นพระเอก ในฐานะผู้ผลิตอาหารและผู้ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ สถิติกรมประมงในปี 2556 รายงานว่า การประมงน้ำเค็มสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยถึง 56,191 ล้านบาท ด้วยปริมาณการจับสัตว์น้ำที่ 1.6 ล้านตัน โดย 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากการจับด้วยเครื่องมือประมงพาณิชย์ อวนลาก อวนรุน อวนล้อม และเรือปั่นไฟ

แม้มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงของประเทศไทยจะดีดตัวสูงขึ้น 2 เท่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยการเติบโตของอุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเลและอาหารสัตว์ แต่ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ก็ลดลงเกือบ 2 เท่า มีเพียง 24 เปอร์เซ็นต์ของสัตว์น้ำที่ถูกนำไปใช้เพื่อการบริโภคสด อีก 24 เปอร์เซ็นต์ เป็นอาหารแช่แข็ง และ 26 เปอร์เซ็นต์ ถูกใช้เป็นอาหารสัตว์ ที่เหลือถูกนำไปแปรรูป

ด้วยสัดส่วนสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคที่ไม่มากนัก อาหารทะเลสดกลับกลายเป็นสินค้าราคาแพงในประเทศไทย ทั้งๆ ที่บริเวณด้ามขวานประเทศไทยมีข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการเป็นแหล่งผลิตอาหารโลก

ข้อมูลของกรีนพีซระบุว่า ปริมาณสัตว์ทะเลที่ถูกจับโดยเรืออวนลาก มี ‘ปลาเป็ด’ หรือปลาเล็กปลาน้อย ซึ่งถูกนำไปทำปลาป่นเพื่อผสมอาหารสัตว์มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ทว่า 32 เปอร์เซ็นต์ของปลาเป็ดเหล่านี้แท้จริงแล้วเป็นลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่หากปล่อยให้โตขึ้นแล้วจะมีมูลค่าเพิ่มมหาศาลและเป็นอาหารสดคุณภาพ

“ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เมื่อไม่มีปลาเล็ก ปลาใหญ่ก็ไม่มา พอปลาใหญ่ไม่มีกิน มันก็ไม่สามารถอยู่ได้ ก็เหมือนคนนั่นล่ะ” บ่าว ยะหมันยะ หรือ ‘บังเหต’ ชาวประมงพื้นบ้านบ้านสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา อธิบายแบบง่ายๆ และเมื่อสัตว์น้ำไม่สามารถอยู่รอดเพื่อการขยายพันธุ์ ทรัพยากรสัตว์น้ำจึงลดลงอย่างรวดเร็ว

บังเหตได้รับสมญานามว่า ‘จ้าวทะเล’ จากกลุ่มเพื่อน เมื่อออกเรือครั้งใด มีโอกาสน้อยนักที่เขาจะไม่ได้สัตว์น้ำกลับเข้าฝั่ง ความสามารถในการดูลมและกระแสน้ำ การคำนวณวันเวลาและข้างขึ้นข้างแรม ทำให้บังเหตสามารถเดาใจสัตว์น้ำได้ว่าพวกมันจะไปที่ใด

หลายครั้งที่เขานั่งอยู่ริมหาดสวนกงยามค่ำคืน เขาเห็นไฟจ้าเหมือนดวงไฟหลายดวงส่องสว่างเรียงเป็นแถวเป็นแนวตลอดเส้นขอบฟ้า นั่นคือเรือปั่นไฟปลากะตัก บังเหตเคยเห็นกับตามาแล้วหลายครั้งว่า ในเข่งปลาที่ถูกพาขึ้นฝั่งโดยเรือปั่นไฟเหล่านั้นมีปลากะตักเพียง 1 ใน 4 ที่เหลือเป็นลูกปลาอินทรี ปลาทู และปลาที่มีมูลค่าอื่นๆ

ผลพวงของการเร่งขับเคลื่อนตัวเลขทางเศรษฐกิจจากกลไกระบบทุนและนโยบายรัฐ ทำให้วิถีชาวประมงพื้นบ้านถูกผลักให้ยืนอยู่บนความเปราะบาง ถูกลดทอนคุณค่าแห่งวิถีประมงอนุรักษ์ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การทำประมงพื้นบ้านสามารถผลิตอาหารทะเลสดเกรดดี เพื่อการบริโภคภายในประเทศได้อย่างเพียงพอและสามารถส่งออกในรูปแช่แข็งในสัดส่วนที่มีนัยยะสำคัญ

หลายครั้งที่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจำเป็นต้อง ‘จับหางเสือ’ หันหัวเรือปะทะเรือประมงพาณิชย์ที่ทำผิดกฎหมาย เพราะหากไม่ลุกขึ้นสู้ นั่นหมายถึงการล่มสลายของประมงท้องถิ่น

“เราแพ้มาตลอด เราไปร้องเรียนมาหลายครั้ง เพื่อให้รัฐมีการจัดการกับเรือผิดกฎหมาย แต่ทุกครั้งเรื่องก็เงียบ” กำพล ถิ่นทะเล ชาวประมงพื้นบ้าน บ้านท่ามาลัย อำเภอละงู จังหวัดสตูล เล่า “หากรัฐไม่มองเรื่องผลประโยชน์ทางตัวเลข ทะเลจะมีอาหารให้เรากินไปอีกนาน”

สำมะโนประมงสำรวจล่าสุดโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2543 ระบุว่า มีชุมชนชาวประมงทั่วประเทศ 3,797 ชุมชน มีครัวเรือนที่ทำประมงอย่างเดียว 56,859 ครัวเรือน เป็นครัวเรือนประมงขนาดเล็กหรือประมงพื้นบ้าน 92 เปอร์เซ็นต์

รัฐนิยามการทำประมงพื้นบ้านตามประเภทเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ หรือหากมีเครื่องยนต์ต้องเป็นเรือที่มีระวางบรรทุกน้อยกว่า 10 ตันกรอส และทำประมงอยู่ในเขต 3 ไมล์จากชายฝั่ง ซึ่งกำหนดให้เป็นเขตสงวนสำหรับการทำประมงพื้นบ้านเท่านั้น

การตีกรอบนิยามที่แคบเช่นนี้ ทำให้เกิดความสับสนต่อเนื้อแท้ของการประมงพื้นบ้าน ขนาดและระยะทางอาจไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะแท้จริงแล้วหัวใจของประมงพื้นบ้านคือ การใช้เครื่องมือที่ไม่ทำลายล้าง ใช้ภูมิปัญญาที่อิงแอบกับกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ

เครื่องมือที่ว่านี้ถูกออกแบบด้วยภูมิปัญญาเพื่อให้จับสัตว์น้ำได้เฉพาะอย่าง เป็นสัตว์น้ำที่โตเต็มวัย และมีเงื่อนไขจำกัดในการจับเฉพาะฤดูกาล เช่น ‘อวนกุ้ง’ จะใช้ได้เฉพาะเวลาที่มีกระแสน้ำไหลช่วยพาอวนไปปะทะกับกุ้ง ‘ลอบหมึก’ ถูกประดิษฐ์ขึ้นตามพฤติกรรมหมึกที่ชอบว่ายน้ำขึ้นๆ ลงๆ ‘อวนปู’ ใช้ขนาดตาอวนที่มุ่งจับเฉพาะปูเป็นหลัก

ภูมิปัญญาที่แฝงอยู่ในเครื่องมือประมงพื้นบ้านคงอธิบายด้วยคำพูดเชิงขบขันของชาวประมงคนหนึ่งที่พูดว่า

“ปล่อยให้ปลาสาวไปอ้อร้อ (เที่ยวเล่น) บ้าง ลูกมันอีกล้านๆ ตัวจะได้กลับมาเล่นน้ำในฤดูกาลหน้า”

เรือชาวประมงพื้นบ้านแล่นผ่านคลองปากบาราในจ.สตูล ป่าชายเลน

-4-

เบญ หมื่นท่องวารี ชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดตรัง

ถูกยิงเสียชีวิตในปี 2528 หลังจากเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนและต่อต้านเรือประมงอวนรุนผิดกฎหมาย

 

อุสัน มิ่งพิจารย์ ชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดพังงา

ถูกยิงเสียชีวิตในปี 2539 ขณะกำลังไล่เรือประมงใช้เครื่องมือทำลายล้างออกจากพื้นที่อนุรักษ์

 

จุรินทร์ ราชพล นักเคลื่อนไหว จังหวัดภูเก็ต

ถูกยิงเสียชีวิตในปี 2544 หลังจากทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องป่าชายเลนมาอย่างยาวนาน

 

บันทึกแห่งการสูญเสียฝังติดแน่นในความทรงจำของ วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นักเคลื่อนไหวด้านการประมงและสิ่งแวดล้อม

ยังมีอีกหลายชีวิตจบลงด้วยความพยายามในการปกป้องทรัพยากรทางทะเล คราบน้ำตาหยดแล้วหยดเล่าถูกคลื่นซัดสาดหายไป แล้วปลาตัวใหม่ก็ถูกจับส่งถึงผู้บริโภค โดยไม่มีใครรับรู้ถึงมหากาพย์ความขัดแย้งเบื้องหลังรสชาติแสนอร่อย

“มีทั้งบาดเจ็บ ล้มตาย เศร้า ร้องไห้ วงแตก มีผิดหวังกับข้อตกลงของรัฐบาล” วิโชคศักดิ์เล่า “แต่มันก็ดีขึ้น วิถีประมงพื้นบ้านได้รับการยอมรับมากขึ้นกว่าอดีต รัฐมีการปรับตัว ชาวประมงเองก็มีการปรับตัวรวมเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากขึ้น”

เมื่อจำนวนอวนลากและอวนรุนเพิ่มขึ้นอย่างมากจนทำให้สัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงออกระเบียบควบคุมจำนวนเครื่องมืออวนลากและอวนรุนในปี 2523 โดยไม่ให้มีการออกอาชญาบัตรใหม่ให้กับเครื่องมือทั้งสองประเภท ตามด้วยการออกประกาศในปี 2543 ห้ามเรือปั่นไฟที่ใช้เครื่องมืออวนล้อมที่มีช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในทะเล

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยในหลายยุคกลับออกมาตรการผ่อนผันให้มีการจดทะเบียนเรือและเครื่องมือใหม่ หรือที่เรียกกันว่าให้ ‘นิรโทษกรรม’ แก่เรืออวนลากและอวนรุนผิดกฎหมาย นำไปสู่การคัดค้านอย่างหนักของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและนักวิชาการสิ่งแวดล้อม

เมื่อพบความผิดหวังในหลายครั้ง ชาวประมงพื้นบ้านบางกลุ่มเลือกเผชิญกับความเสี่ยงด้วยการเปิดหน้าชกกับกลุ่มเรือประมงพาณิชย์ที่ทำผิดกฎหมาย ในเมื่อรัฐไม่ช่วยเหลือ พวกเขาจึงดำเนินการเองเช่นกรณีความขัดแย้งที่จังหวัดกระบี่

ปี 2541 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศห้ามเรืออวนรุนและอวนลากทุกชนิดเข้าทำประมงในเขตอ่าวพังงา รวมถึงในทะเลเขตจังหวัดกระบี่ ชาวประมงพื้นบ้านยินดีกับชัยชนะได้เพียงแค่ชั่วครู่ เรือใหญ่ยังคงลักลอบเข้ามาทำการประมงในเขตหวงห้ามอย่างไม่เกรงกลัว

ต้อเหต คลองยวน ชาวประมงพื้นบ้านหมู่บ้านคลองยวน จังหวัดกระบี่ เล่าว่า ชาวประมงในพื้นที่ได้รวมตัวกันจัดเวรยามเฝ้าระวัง ใช้วิทยุสื่อสารเป็นพาหะ เมื่อพบเรืออวนรุนอวนลากเข้ามาในเขตหวงห้าม ชาวประมงพื้นบ้านจะร่วมกันออกเรือเพื่อทำการกดดันเรือผิดกฎหมายให้ออกนอกเขต มีกระทบกระทั่งหลายครั้ง จนทุกวันนี้เรืออวนรุนและอวนลากผิดกฎหมายไม่กล้าย่างกรายเข้ามาในเขตหวงห้าม

ต้อเหตจำได้ว่า มีครั้งหนึ่งที่เรือตรวจการณ์ของเจ้าหน้าที่มีน้ำมันไม่พอ ชาวประมงพื้นบ้านจึงใช้เรือของตนลากเรือยางพร้อมเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจจับเรือใหญ่ด้วยกัน

“เราได้ทุกอย่างมาจากเล เราเลยรักมัน” ต้อเหตกล่าว

การทำประมงเลี้ยงครอบครัวลูกสองของเขาได้อย่างสบาย สลับกับการทำเรือท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น ลูกชายของเขาขึ้นชั้น ป.6 เด็กน้อยออกทะเลและบังคับหางเสือได้เองแล้ว สองพ่อลูกเป็นกำลังหลักในการป้อนปูและหมึกสดสู่ผู้บริโภคในท้องถิ่น

อาหารทะเลจากประมงพื้นบ้าน 2

-5-

กลางปี 2558 เมื่อสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองเป็นสัญญาณเตือนถึงความล้มเหลวของประเทศไทยในการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU) รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงพยายามออกมาตรการตรวจจับเรือผิดกฎหมายอย่างเข้มข้นเพื่อปลดล็อกใบเหลือง หาไม่แล้วประเทศยุโรปจะแบนสินค้าประมงไทยโดยเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้ เรือประมงพาณิชย์ผิดกฎหมายจึงไม่กล้าออกเรือ

เพียงช่วงเวลาไม่กี่เดือนหลังจากเรือประมงแบบทำลายล้างหยุดเดินเรือ ชาวประมงพื้นบ้านหลายพื้นที่รายงานว่าสามารถจับปลาได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีปลาทูโตเต็มวัยกลับมายังชายฝั่ง และมีรายงานในหลายพื้นที่ว่า พบการกลับมาของปลาบางชนิดที่หายสาบสูญไป

นี่อาจเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ทะเลฟื้นฟูได้เองอย่างรวดเร็ว เพียงแค่มนุษย์รู้จักพอ

“ต้นเหตุปัญหาเกิดจากความละโมบในการจับ” วิโชคศักดิ์กล่าว

“ที่ผ่านมากฎหมายเราเอื้ออำนวยอยู่แล้ว เหลือแต่การปฏิบัติตาม แต่การแก้ปัญหายังเป็นที่ปลายเหตุ แทนที่จะส่องดูเรือทุกลำว่ากระทำผิดไหม ก็น่าจะมีกฎหมายอีกแบบที่บังคับให้มีการตรวจจับตรงหน้าท่า ดูว่าใช้เครื่องมืออะไร และต้องจำกัดขนาดของสัตว์น้ำที่จับ”

ไม่เพียงแค่การทำประมงเกินศักยภาพเท่านั้นที่กำลังทำลายทะเลไทย การรุกคืบของอุตสาหกรรมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่มักตั้งโครงการขนาดใหญ่อยู่ริมทะเล และทับซ้อนกับแนวเขตของการทำประมงพื้นบ้าน ด้วยข้ออ้างว่าทะเลแถบนั้นไม่ใช่เขตอุดมสมบูรณ์

“นักวิชาการคนนั้นคนนี้บอกว่าเลเราร้าง ได้ยินอย่างนั้นแล้วเหมือนน้ำตาเราจิพลัด (ร่วง) เพราะต้นกำเนิดชีวิตของพวกเราได้มาจากเล แล้วจึงไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้” รุ่งเรือง ระหมันยะ ชาวประมงพื้นบ้าน บ้านสวนกง กล่าว

ทะเลอ่าวไทยสีครามหน้าบ้านสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ถูกเสนอเป็นพื้นที่ทำโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 เพื่อกระตุ้นการค้าและการส่งออกประเทศ ในขณะที่ชายฝั่งทะเลอันดามันฝั่งจังหวัดสตูล ถูกเสนอให้เป็นที่ตั้งโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และยังมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกเสนอให้ตั้งอยู่ติดทะเลในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่

ชาวประมงพื้นบ้านรู้ดีว่าใต้ทะเลนั่นคือชีวิต บางกลุ่มริเริ่มทำข้อมูลชุมชนเพื่อนำความจริงขึ้นสู่บนดิน

ที่อำเภอจะนะ ชาวบ้านสำรวจข้อมูลชุมชนพบว่า มีเรือประมงพื้นบ้าน 825 ลำ การประมงพื้นบ้านสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากกิจการสัตว์ทะเลถึง 250 ล้านบาทต่อปี มีเงินหมุนเวียนจ้างงานอีก 57 ล้านบาทต่อปี มีสินค้าสัตว์น้ำหมุนเวียนในตลาดภายในประเทศและส่งออกสู่ต่างประเทศ

เช่นเดียวกับที่บริเวณอ่าวปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล สำรวจเฉพาะ 3 หมู่บ้าน มีเรือประมงพื้นบ้าน 584 ลำ ทำรายได้มากกว่า 75 ล้านบาทต่อปี

ชาวประมงพื้นบ้านไม่ต่ำกว่า 10 คน บอกเล่าว่าทุกคนมีรายได้จากหลายหมื่นจนถึงเกือบแสนบาทต่อเดือนจากการผลิตอาหารทะเลเพื่อการบริโภค เพียงแต่จำนวนรายได้นี้อยู่นอกระบบ ไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมที่ประมงพาณิชย์ครอบครองเป็นสัดส่วนหลัก

นอกจากนี้ มีความพยายามของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยในการพัฒนา ‘บลูแบรนด์’ หรือทำมาตรฐานสัตว์น้ำเพื่อรับรองสินค้าประมงในกลุ่มสมาชิกว่าเป็นสินค้าสด ไม่ใส่ฟอร์มาลิน ใช้เครื่องมือประมงถูกกฎหมาย ไม่ทำลายล้าง และมีการรวมกลุ่มของชาวประมงพื้นบ้านเพื่อเปิดร้านขายอาหารทะเลสดโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางเช่นร้านที่ชื่อ ‘คนจับปลา’

การเคลื่อนไหวอย่างเป็นพลวัตเช่นนี้ อาจทำให้ทะเลมีความหวังกับมนุษย์บ้าง แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมการบริโภคของผู้คน และการตั้งคำถามถึงที่มาของสินค้าที่วางอยู่ตรงหน้า

หาไม่แล้ว สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลเวิ้งว้างอาจสูญหายไปพร้อมเสียงเรือประมงที่ค่อยๆ แผ่วลงอย่างรวยริน

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า