Magical Realism ในความเหนือจริง มีความสมจริง

bigfish-1

เรื่อง / ภาพ: ปริชาติ หาญตนศิริสกุล

 

มนุษย์กับศิลปะนั้นอยู่คู่กันมาตั้งแต่โบราณกาล ศิลปะเป็นศาสตร์ที่สะท้อนสุนทรียะ วัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต และอุดมการณ์ของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย เมื่อพูดถึงถึงศิลปะ หลายคนมักนึกถึงภาพวาดสีน้ำมัน ประติมากรรมตามสถานที่สำคัญ แต่แท้จริงแล้วศิลปะยังพัฒนาและแตกยอดออกไปในหลายแขนง อาทิ เครื่องนุ่งห่ม ดนตรี สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ฯลฯ จากนั้นยังถูกแยกย่อยและจัดเป็นหมวดหมู่ต่างๆ มากมาย

จากวงสัมมนาวิชาการศิลปะกับการเมือง ในหัวข้อ ‘ความมหัศจรรย์ของสัจนิยมและสัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรม’ วันที่ 17 สิงหาคม ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการอธิบายความเป็นมาของแนวคิดงานศิลปะประเภท ‘สัจนิยม’ ซึ่งสะท้อนจากการสร้างอนุสาวรีย์ต่างๆ และวิเคราะห์สัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรมไว้ด้วยประเด็นน่าสนใจ

magical-realism-3

สัจนิยมในศิลปะ

ในยุคสงครามเย็น รัฐบาลไทยให้สหรัฐเข้ามาใช้พื้นที่เป็นฐานต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง คือช่วง พ.ศ. 2491-2500 ด้วยเหตุนี้ไทยจึงนับตนเองอยู่ในสังกัดประเทศโลกเสรี ที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ

ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายแนวคิดความเป็นมาสัจนิยมในศิลปะการสร้างอนุสาวรีย์ไว้ว่า

“รูปแบบศิลปะของค่ายโลกเสรีไม่ได้เป็นสัจนิยม (realism) แต่เป็นศิลปะนามธรรม (abstract) เพราะถือว่าศิลปะนามธรรมเป็นรูปแบบศิลปะที่เชื่อมโยงกับอุดมการณ์เรื่องเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ซึ่งมีนัยการต่อต้านฟาสซิสต์และคอมมิวนิสต์ เพราะฝ่ายคอมมิวนิสต์ใช้สัจนิยมแนวสังคมนิยม (social realism) เพื่อเป็นรูปแบบโฆษณาชวนเชื่อที่แสดงให้เห็นความรุ่งโรจน์ของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ และอุดมการณ์ที่อยู่ตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์ก็จำเป็นที่ต้องหาศิลปะที่ไม่เป็นรูปเป็นร่าง คือ abstract หรือศิลปะแบบนามธรรม”

แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาต้องการจะเป็นผู้นำโลกใหม่ ไม่ใช่เพียงเฉพาะด้านการเมือง แต่ต้องการเป็นผู้นำทางศิลปะด้วย และเพราะเหตุนี้ประติมากรรมในที่สาธารณะและอนุสาวรีย์ที่อยู่ในรูปแบบนามธรรมจึงเฟื่องฟูในสหรัฐในช่วงหลัง พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา

หากสังเกตจากอนุสาวรีย์ต่อต้านสงครามเย็นจะพบว่า ในประเทศไทยไม่ได้นำเสนอด้วยศิลปะรูปแบบนามธรรม แต่กลับใช้รูปแบบสัจนิยมมาแสดงอุดมการณ์ทางการเมือง เหตุที่เป็นเช่นนี้เกิดจากการสืบทอดรูปแบบทางศิลปะของทางการไทย ที่ชนชั้นนำไม่นิยมศิลปะนามธรรมมาตั้งแต่ยุคก่อนหน้านั้น

นอกจากนี้แนวคิดสัจนิยมก็แพร่ขยายไปยังศิลปะแขนงอื่นเช่นในวรรณกรรม ซึ่งทางพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า ‘สัจนิยม’ ไว้ว่า

สัจนิยม (ศิลปะและวรรณคดี) น. คตินิยมในการสร้างสรรค์วรรณกรรมหรือศิลปะ ซึ่งแสดงให้เห็นชีวิตและโลกอย่างสมจริง ; (ปรัชญา) ทฤษฎีที่ถือว่าโลกและวัตถุเป็นสิ่งมีอยู่จริงเช่นเดียวกับจิต และมีอยู่อย่างอิสระจากจิต (อ. realism)

magical-realism-2

สัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรม

‘Magical Realism’ สัจนิยมมหัศจรรย์ในทางศิลปะถือกำเนิดมาจากฝั่งยุโรปต้นศตวรรษที่ 20 ในยุค Post Expressionism ในปี 1925 เพื่อแข่งขันกับศิลปะสมัยใหม่ ซึ่งในยุคนั้นก็มีศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่ชื่อว่า ‘Surrealism’ อภิสัจนิยม หรือ เหนือจริง แต่ Surrealism ก็เฟื่องฟูและแตกแขนงไปเป็นศิลปะอื่นๆ

จนกระทั่งกลางศตวรรษที่ 20 นักเขียนชาวคิวบา อเลโค การ์เปนเตียร์ นำเสนอแนวคิดที่ว่า ‘โลกในลาตินอเมริกาในความเป็นจริงคือความมหัศจรรย์’ ซึ่งในขณะนั้นโลกลาตินอเมริกาเป็นเผด็จการ การ์เปนเตียร์คิดว่า การจะนำเสนอความจริงในสังคมต้องใช้สิ่งมหัศจรรย์เข้ามาช่วย ซึ่งความมหัศจรรย์บางครั้งอาจสวนทางกับความคุ้นเคยอยู่บ้าง แต่ผู้คนทั่วไปอาจไม่ทันสังเกต กระทั่งรู้สึกถึงความประหลาดนั้น

Surrealism เป็นศาสตร์ที่หลายคนเข้าใจว่าจะต้องหมายถึงความเหนือจริง ทว่า Magical Realism ก็นำเสนอเนื้อหาด้วยความเหนือจริงเช่นกัน จุดแตกต่างของศิลปะทั้งสองแขนงอยู่ตรงที่ Magical Realism หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ คือการนำเรื่องเหลือเชื่อหรือเรื่องอาจจะเป็นไปได้มาอยู่โลกแห่งความเป็นจริงที่ดำเนินด้วยระบบเหตุผล ส่วน Surrealism เป็นความเหนือจริงชนิดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเชื่อพื้นฐานของสังคม Surrealism นั้นใช้ ‘ความเหนือจริง’ ในเรื่องมาเป็นสัญลักษณ์เพื่อนำเสนอแนวคิดบางอย่าง ตัวอย่างวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ชื่อดังเรื่องหนึ่งคือ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนชาวโคลอมเบีย ผู้มีอิทธิพลต่อแวดวงวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ในเวลาต่อมา

แม้เราใช้เกณฑ์ ‘ความเหนือจริง’ มาพิจารณาก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะคัดแยกว่างานศิลปะใดเป็นงานสัจนิยมมหัศจรรย์ งานใดเป็นอภิสัจนิยม ซึ่งทั้งนี้จำต้องพิจารณาควบคู่กันไปคือ ‘เนื้อหาและรูปแบบ’ ไม่ควรประเมินด้วยเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งปัญหาของการจัดจำแนกมักเกิดจากการยึดติดกับคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจนหลงลืมอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญพอๆ กัน

magical-realism-1

สัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรมไทย

ถ้าหากเราพิจารณาสิ่งรอบตัวในสังคมไทยแล้ว นิทานพื้นบ้านไทยอย่าง นางสิบสอง ปลาบู่ทอง แม่นาคพระโขนง ต่างก็มีเรื่องราวความเชื่ออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อยู่  ซึ่งคนไทยก็ดูเชื่อถือเรื่องเหลือเชื่อที่อยู่ในนิทานเหล่านี้ ดูจากหลักฐาน เช่น การตั้งชื่อต้นไม้ตามนิทาน การมีศาลเจ้าไว้เคารพสักการะ ฯลฯ หากเราจัดจำแนกให้นิทานพื้นบ้านนี้ให้เป็นงานสัจนิยมมหัศจรรย์จะได้หรือไม่ รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำสาขาวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอความคิดเห็นว่า

“ผมคิดว่านิยายอภินิหาริย์ผีๆ สางๆ ทั้งหลายแหล่ของวรรณกรรมไทยที่มีมาก่อนยุคสัจนิยม ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์ เพราะว่ามันมีการแบ่งกันชัดเจนระหว่างโลกอภินิหาริย์กับโลกของความเป็นจริง

สัจนิยมมหัศจรรย์คือการทำให้โลกที่อยู่เหนือความเป็นจริงอันคุ้นเคยมาอยู่ตรรกะเดียวกับโลกความเป็นจริงได้

แม้สัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรมไทยและลาตินอเมริกาจะมีฉากผีสางและอภินิหาริย์เหมือนกัน ทว่ากระบวนการสร้างความมหัศจรรย์ก็แตกต่างกันอยู่ วรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ของลาตินอเมริกาจะพยายามให้การบรรยาย (การอุปลักษณ์ หรือ metaphor) ที่มีความมหัศจรรย์เป็นจริงในระดับจริงทุกมิติ แต่วรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ไทยมักสอดแทรกความมหัศจรรย์ขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบเพื่อส่งสารบางอย่าง หรือเป็นแค่การอุปลักษณ์แก่ภูมิปัญญาชาวบ้านที่กำลังจะถูกทำลาย ซึ่งหลายต่อหลายครั้งนักเขียนไทยมักนำเสนอความมหัศจรรย์ออกมาในรูปแบบวิพากษ์สังคม วิถีชีวิตชาวบ้าน วัฒนธรรมท้องถิ่น

เมื่อพิจารณารูปแบบและเนื้อหาของศิลปะสัจนิยมมหัศจรรย์แล้ว เราอาจเคยคิดว่าวรรณกรรมที่มีการบรรยายด้วยฉากอภินิหาริย์ชวนเพ้อฝันไม่เกิดประโยชน์อะไร และเป็นเรื่องไกลตัว ทว่าบรรดาความคิด บรรดาความงมงายของชาวบ้านที่เราอาจเคยดูแคลนก็ถูกสร้างใหม่ด้วยคำว่า ‘ภูมิปัญญา’ อันเกิดจากการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้นไม่ได้เขียนด้วยตัวมันเอง แต่เขียนภายใต้กรอบประวัติศาสตร์ชาติ ซึ่งชูศักดิ์เสนอความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า

กระแสที่มาอยู่ด้วยกันคือภูมิปัญญาชาวบ้าน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เพิ่งสร้าง และวัฒนธรรมชุมชน ทำให้สัจนิยมมหัศจรรย์ไทยเฟื่องฟูขึ้นมาในยุคนั้น ดังนั้นสัจนิยมแบบไทยๆ ก็เหมือนประชาธิปไตยแบบไทยๆ คือเน้นแต่ความมหัศจรรย์สูงมากและเยอะมาก

นี่คือข้อแตกต่างระหว่างสัจนิยมมหัศจรรย์ในลาตินอเมริกากับสัจนิยมมหัศจรรย์ของไทย

แม้วรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ของไทยยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าเรื่องใดใช่ เรื่องใดไม่ใช่ แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วศิลปะแนวสัจนิยมมหัศจรรย์อาจมีอยู่ทั่วทุกมุมโลกและใกล้ตัวคุณมากกว่าที่คิด เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Big Fish หรือการ์ตูนอย่างโดราเอมอน และ ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า