ป้ามาลี: ไพร่ศักดินาคนสุดท้าย

2016-12-15-malee-lead

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี / ภาพ: อารยา คงแป้น

 

ทำไมต้องเป็นป้ามาลีน่ะเหรอ?

เรื่องเกิดขึ้นที่เกือบดึกวันหนึ่ง…

กองบรรณาธิการนิตยสาร WAY ได้รับโทรศัพท์จากชายผู้หนึ่ง เขาเป็นอาจารย์หนุ่มผมยาว มีความพึงใจชอบใส่เสื้อผ้ารัดรูปนิดๆ และตอนนี้โทรมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เขามีข้อมูลมาเล่าและว่าให้ลองนำเรื่องไปทบทวนดู

เขาว่า ชีวิตของคนผู้หนึ่ง ป้ามาลี ทองสุกงาม น่าสนใจมากนะ เขาพบผู้หญิงคนนี้ทำอาชีพนักการภารโรงมาตั้งแต่สมัยเขาเรียนที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปี 2 กระทั่งจบปริญญาเอกแล้วบรรจุเข้าทำงานที่คณะเดียวกัน เขาก็ยังพบและมีถ้อยคำตามประสา ‘อาจารย์-ภารโรง’ อยู่เสมอ

แต่เขาไฮไลท์ว่ามันไม่ใช่ ‘อาจารย์-ภารโรง’ อย่างที่อาจารย์มักมีชนชั้นสูงกว่าภารโรงเสมอไป บางครั้งเขารู้สึกว่ากับนักการบางคน เขาก็ต้องรู้ว่าคนนี้ ‘เป็นคนของใคร’

ไม่ใช่ในเชิงชู้สาว แต่เป็น ‘คนของใคร’ อย่างที่อาจารย์ต้องให้ความยำเกรง อย่างคนที่มีศักดินาสูงกว่า อย่างนายกับบ่าว ที่สลับบทบาทแล้วแต่สถานการณ์อยู่เสมอ

“บางทีนักการเขาก็ตวาดผมนะ ผมงี้กลัวจริงๆ”

ประเด็นที่เขาต้องการขาย คือบรีฟสั้นๆ ที่อาจารย์ศักดินาคนนี้เล่าว่า

“ป้ามาลีน่ะนะ แม้จะเกษียณไปเกือบสิบปี แต่ทุกวันนี้เธอยังมานั่งขายของที่ชายขอบถนนหน้าสหกรณ์ ไม่มีใครไล่ ทุกคนยินดี แม้แต่ผมเองก็ยังไปซื้อของของแกด้วยความสมัครใจ

“ผมรู้จักแกมานาน ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจในตัวแก คือแกคล้ายกับเป็น ‘ไพร่ศักดินาคนสุดท้าย’ ของจุฬาฯ ป้ามาลีกลมกลืนกับระบบแบบนี้ แกเข้ามาทำงานได้เพราะแม่แกฝากเข้ามา พ่อป้ามาลีก็ทำงานที่นี่ อาจารย์ทุกคนก็รักและเคารพป้าถวิล แม่ของป้ามาลีน่ะนะ ขนาดผมมาไม่ทันรุ่นป้าถวิล ผมก็ยังรู้จักแกเลย”

ข้อมูลแวดล้อมที่อาจารย์ผมยาวในชุดรัดรูปให้เพิ่มเติม คือการบอกว่า เท่าที่อยู่มา “มีครอบครัวนักการ” อีกจำนวนหนึ่ง ที่ส่งต่อสกุลการงานในจุฬาฯ ด้วยการสืบสายแบบนี้

แต่ป้ามาลีเป็นคนสุดท้ายแล้ว เป็นนักการในระบบมหาวิทยาลัยก่อนที่จุฬาฯ จะเซ็นสัญญาออกนอกระบบในปี 2540 เพราะหลังจากนั้นระบบการรับคนเข้า ก็เปลี่ยนรูปแบบเป็นการว่าจ้างบริษัทรับเหมาภายนอก

และอยากเน้นย้ำ เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเจตนาผิด บทความชิ้นนี้เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ และประวัติชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง ในยุคหนึ่ง และด้วยธรรมชาติของการสอบสัมภาษณ์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนยังไม่ต่อสนิท ย่อมมีเรื่องที่ถูกเก็บงำและเว้นช่องว่างไว้

ทั้งผู้เขียนและทีมงานไม่ได้มีเจตนามุ่งเป้าทำลาย หรือรื้อถอนระบบเก่านั้น เพียงต้องการบันทึกประวัติศาสตร์ของตัวละครหนึ่ง ที่ต้องถูกนับรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘สตาฟ’ ในระบบการศึกษาไทย และทรัพยากรคนหนึ่งของประเทศชาติ ที่อยากให้เห็นภาพว่ามันไม่ควรถูกทำให้เบลอไป

ขอเรียนเชิญพบกับป้ามาลี คนดังแห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ป้ามาลีเป็นใคร มาจากไหนคะ

ฉันเข้ากรุงเทพฯ ตอนอายุ 14 บ้านเดิมอยู่ที่อ่างทอง ตอนแรกก็มาเป็นกรรมกรก่อน พ่อแม่รับจ้างทำงานหลายอย่าง สุดท้ายน้าข้างแม่ เขาทำเสมียนอยู่ที่จุฬาฯ น้าเลยไปคุยกับอาจารย์ฝากให้แม่เข้าไปทำภารโรง หลังจากนั้นพ่อก็ตามไป ส่วนฉันน่ะ ตอนแรกรับจ้างขายของหน้าเตา (ขายอาหาร) อยู่ที่โรงอาหารรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้เงินวันละ 8 บาท ทำอยู่หลายปีเหมือนกัน แล้วก็ย้ายไปเป็นยามอยู่ที่มาบุญครอง

พอแม่จะต้องเกษียณ แม่ก็บอกว่าให้ฉันเข้าไปทำต่อ ตอนแรกฉันไม่อยากทำหรอกนะ เพราะก่อนหน้านั้นแม่ก็ชวนอยู่ตลอด ว่าให้เข้าไปช่วยทำ แต่เราไม่อยากทำงานกับห้องน้ำ คือเราไม่ชอบขี้ ไม่ชอบเลย แต่พอแม่ต้องเกษียณจริงๆ เราก็ต้องไปทำต่อ ภารโรงรุ่นนั้นน่ะ มีอยู่ 8 คน และเป็นรุ่นสุดท้ายด้วยนะ (เสียงสูง) รุ่นสุดท้ายที่ได้บรรจุเป็นลูกจ้างประจำ หลังจากรุ่นพวกฉันเกษียณหมดก็จะเป็นภารโรงในชุดสีน้ำเงิน เป็นภารโรงจากเอเย่น (เอเจนซี) จ้างมาน่ะ

แล้วตอนนั้นป้าใส่เครื่องแบบอะไร ไม่เหมือนภารโรงรุ่นนี้เหรอ

ตอนนั้นภารโรงใส่ชุดสีกากีนะ แต่ตอนที่แม่ฉันทำ ยังใส่ผ้าถุงอยู่เลย ตอนฉันเข้ามาปีสองปีแรก ฉันก็ใส่อยู่นะ ผ้าถุงน่ะ สะดวกไหมน่ะเหรอ? อะโธ่…ทำไมจะไม่สะดวก ตอนอยู่บ้านนอกก็ใส่ผ้าถุงทำงานกันทั้งนั้น สบายดีออก แต่ช่วงหลังๆ เขาก็ให้ใส่เสื้อเหลืองกับกางเกงสีดำได้ มันก็ดีนะ

เริ่มเข้ามาทำเป็นภารโรงอย่างจริงจังตั้งแต่ปีอะไร และเหตุผลหลักๆ ที่เข้ามาเพราะแม่จะเกษียณตัวเอง เป็นคล้ายๆ กับการดำเนินกิจการต่อจากแม่ไหม?

ไม่รู้นะ เหมือนเหรอ? ตอนนั้นแค่คิดว่าก็ต้องมาทำแทน แม่ก็ไปคุยกับอาจารย์ให้ ฝากให้ฉันเข้าทำงาน แต่จำได้ว่าเข้ามาเป็นภารโรงต่อจากแม่เมื่อปี 2523 ลาออกปลายๆ ปี 2550 ก่อนปีที่ต้องเกษียณจริงๆ 1 ปี เหลืออีก 1 ปีก็จะครบอายุเกษียณ แต่มันไม่มีใจทำต่อแล้ว เพราะในปี 2552 เขาจะตั้งกองทุนบำเหน็จให้กับลูกจ้างประจำไง แต่ถึงฉันทำจนครบอายุเกษียณก็ไม่ได้อยู่ดี เลยไม่มีใจจะทำต่อ ตอนนั้นอาจารย์มาขอเลยนะ บอกมาลีอยู่ต่อเถอะๆ ฉันก็ไม่ เอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่ (หัวเราะ) เสียใจในโชคชะตา

คิดว่าถ้าแม่ไม่ได้เป็นภารโรงอยู่ก่อน ตัวเองจะเข้ามาทำได้ไหม

ไม่ได้สิ เพราะใครจะรับรองให้ ใช่ไหม? อย่างแม่กับพ่อที่เข้ามาทำ ก็เป็นเพราะน้าเราทำเสมียนอยู่ก่อนแล้ว แต่มันก็มีเหมือนกันที่สมัครเข้ามาเอง

ตอนนั้นป้าต้องสัมภาษณ์งานกับหัวหน้าไหม หรือตอนนั้นเขาใช้วิธีการยังไงในการเลือกคนเข้าทำงาน

ตอนนั้นแม่ให้ฉันไปคุยคณบดีรัฐศาสตร์เลย เขาก็ไม่ได้ว่าอะไรมาก แต่ก็ให้ฉันลองอ่านหนังสือ เพราะบางทีภารโรงก็ต้องเอาเช็คไปส่งหนังสือ หรือเซ็นอะไรใช่ไหม หนังสือก็ต้องอ่านออกให้ได้ ไม่มีอะไรมาก

การเป็นภารโรงในสถานะ ‘ลูกจ้างประจำมหาวิทยาลัย’ หมายความว่ายังไง

เอ๊า…ก็ใส่ชุดสีกากี เวลาเจ็บป่วยก็เบิกโดยตรงกับเขาได้เลย พ่อแม่เขาป่วยก็เบิกได้ อย่างตอนที่แม่ฉันป่วย น้องสาวฉัน ชื่อมาลัย ก็มาเบิกค่ารักษาแม่ได้

เงินเดือนเดือนแรกของป้า ได้เท่าไร

จำไม่ได้แล้ว น่าจะพันกว่าบาทนะ แต่เงินเดือนก่อนปลดเกษียณได้ประมาณหมื่นนิดๆ เงินก้อนตอนออกได้ประมาณ 3 แสนกว่าบาท ลองคำนวณดูสิ เพราะเขาบอกว่าเงินก้อนที่ได้นี่คูณกับอายุงาน ฉันก็ไม่รู้หรอก ได้เงินหลวงตอนออกมาเท่าไร ฉันก็เอาเงินนั้นไปเอาที่ที่จำนองไว้กับสหกรณ์ออกหมด มีเงินแล้วต้องใช้หนี้นะ ไม่ได้หรอก อายเขา

เงินเดือนแรกเข้าพันกว่าบาทในสมัยนั้น ถือว่าพอใช้จ่ายไหม และเงินหนึ่งพันบาทนี้ ต้องแบ่งกันใช้กับใครในบ้านบ้าง

ก็พอนะ หูย…สมัยก่อน พ่อฉันทำงานเงินเดือน 450 บาท ฉันทำอยู่โรงอาหารได้วันละ 25 บาท เงินน้อยจะตายแต่ฉันมีตังค์เก็บนะ (เสียงสูง) มีทองใส่ เอาสิ แต่เดี๋ยวนี้นะ อย่าให้พูด เงินเดือนขึ้นก็จริงหรอก แต่ของก็ขึ้นตาม คิดดูว่า เดี๋ยวนี้ทองเส้นเท่าไร เราจะมีเงินเหลือเก็บไปซื้อของแบบนั้นได้ยังไง

ฉันไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน เงินเดือนก็พอกิน แต่มันพอแบบเดือนชนเดือน ต้องกู้เขาบ้างอะไรบ้าง และก็ขายก๋วยเตี๋ยวขายของอะไรไปเรื่อย ของมันแพงเดี๋ยวนี้ จะให้ทำยังไง แต่ฉันไม่คิดแล้ว อายุเท่านี้เดี๋ยวก็ตาย เรามันเป็นคนจน ก็ช่างมันเหอะ จะไปคิดอะไรมาก

ตอนสาวๆ มีอยากได้ของใช้หรืออะไรไหม เช่น เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง

หึย…เครื่องสำอางอย่าไปพูดถึง เราไม่เคยซื้อเลย ที่อยากได้คือพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า ตอนนั้นอยากได้พวกเครื่องอบ ที่จะทำเค้กก็ได้ ปิ้งก็ได้ ย่างลูกชิ้นหรือปลาหมึกก็ได้ อยากได้ไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว ทุกอย่างนี้ซื้อหมด แต่ไม่ได้ใช้เลย เพราะไม่มีเวลา ทุกวันนี้ไม่ต้องซื้อพวกนี้เลยนะ เพราะมีหมดแล้ว (หัวเราะ)

นี่…แล้วตอนนั้นนะ เรากำลังคิดจะซื้อเครื่องซักผ้า กำลังจะซื้ออยู่แล้วเชียว พอดีตอนนั้นสหกรณ์เขาจับรางวัลกัน สรุปว่าวันนั้นเขาบอกว่าเราได้เครื่องซักผ้า เราเฮเลยนะ (ยิ้มยิ่งใหญ่ เขย่ามือประกอบจังหวะเฮ) เลยไม่จ้างเขาซักแล้วหลังจากนั้น

โห…เครื่องใหญ่เบ้อเร่อเลย แล้วความที่ดีใจ เราบอกว่าฝากเอาไว้ที่สหกรณ์ก่อนเถอะ แต่ผัวบอกให้ใส่ท้ายรถกลับบ้านไปเลย เราก็ค่อยๆ ใส่ขึ้นรถ ขับขึ้นทางด่วนแล้วลงดอนเมือง แต่กว่าเราจะใช้เครื่องได้จริงๆ เป็นเดือนนะ กว่าน้องชายของแฟนจะสอนให้ใช้เป็น (หัวเราะ) ทุกวันนี้เครื่องนั้นยังอยู่เลย

เห็นว่าตอนที่ป้าเข้าไปทำงาน แม่ของป้าต้องปลดเกษียณแล้ว อย่างนี้เงินเดือนจะพอเลี้ยงดูแม่และครอบครัวหรือ

พอสิ ทำไมจะไม่พอ เพราะถึงแม่จะปลดเกษียณ แต่เขาก็ตามอาจารย์ที่จุฬาฯไปทำงานที่อื่นต่อด้วย ไปช่วยอะไรจุ๊กจิ๊กๆ ตัดหนังสือพิมพ์บ้าง ทำความสะอาดบ้าง แล้วแม่ฉันโชคดีนะ ไม่ค่อยเจ็บป่วยอะไร เขากินหมากน่ะ คนแก่ และตอนที่แม่ยังอยู่ ฉันเบิกค่ารักษาพยาบาลกับที่คณะได้ น้องก็เป็นภารโรงที่คณะวิทยาศาสตร์เหมือนกัน ก็เลยดีไปใหญ่ ให้น้องเบิกได้ด้วย

เงินเดือนก็เพิ่มทุกปี สิบปีแรกได้เพิ่มปีละ 1 ขั้น ขั้นละ 300 บาท แต่หลังจากนั้นก็ได้เพิ่มปีละ 2 ขั้น อย่างที่บอก ยิ่งเพิ่มของก็ยิ่งแพง เฮอะ!

ป้าทราบไหมว่าเกณฑ์การขึ้นเงินเดือน หรือการประเมินการทำงานคืออะไร

ไม่รู้เลย ฉันไม่เคยสนใจเลย เขาจะขึ้นหรือไม่ขึ้นไม่รู้ เราก็ทำงานของเราไปให้ดีที่สุด เราไม่ได้เดือดร้อน แต่มันก็มีบางคนที่เข้ามาทำหลังฉันแล้วได้ขึ้นเงินเดือนเร็วกว่าก็มีนะ แต่เราไม่คิด เราไม่อยากยุ่ง ทำงานของเราไป

เห็นว่าตอนที่ป้าทำภารโรง ป้าก็ขายก๋วยเตี๋ยวไปด้วย

ใช่ ถือเป็นงานอดิเรก แต่ขายเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ เพราะยังไงเราก็ต้องมาเปิดห้องให้นักเรียนอยู่แล้ว ทำอะไรเสร็จก็มาขายก๋วยเตี๋ยว ขายที่ต้นมะม่วงตรงตึกรัฐศาสตร์นี้เลย โหย…นักเรียนชอบกัน ฉันชอบขายของ

แล้วยามเขาไม่มาไล่เหรอ

ไม่ไล่ เพราะยามก็กิน อาจารย์ก็กิน (หัวเราะ)

อย่างนี้จะได้หยุดพักวันไหน

เชื่อไหม…ตอนที่ทำงานหลวง เราไม่เคยหยุด ไม่เคยทำงานของตัวเองเลย บ้านช่องนี่ไม่เคย (เน้นเสียง) ทำแต่บ้านคนอื่น เสื้อผ้าของตัวเองก็จ้างเขาซัก เพราะตอนนั้นยังไม่มีเครื่องซัก จ้างเขาซักก็เดือนละ 400 บาทใช่ไหม แต่เราขายก๋วยเตี๋ยวได้มากกว่านั้นไง ก็ช่างมัน

ตามหลักเราต้องเข้างานตอนสองโมงเช้าใช่ไหม แต่เราก็ต้องมาถึงจุฬาฯ ตอน 6 โมง เพราะต้องมาทำเตรียมไว้ก่อน เดี๋ยวอาจารย์มาแล้วจะทำไม่สะดวก มาถึงก็เซ็นชื่อเพื่อเอากุญแจจากยาม แล้วก็เริ่มทำงานเลย แล้วกว่าจะถึงบ้านก็มืดค่ำไปแล้ว

บ้านอยู่แถวดอนเมือง ใช้เวลาเดินทางก็ร่วมๆ 3 ชั่วโมง บางทีออกจากที่นี่ 4 โมงเย็น ถึงบ้านก็ทุ่มไปแล้วนะ แล้วจะมีเวลาทำกับข้าวเหรอ ดีนะที่แม่เขาอยู่บ้าน เขาก็ทำกับข้าวของเขาไปเอง แม่เขาทำอะไรเราก็กินกับเขาไป มันเป็นอย่างนั้น

กิจวัตรประจำวัน ต้องทำอะไรบ้าง

มาถึง 6 โมงเช้าก็ทำในห้องเรียนก่อนเลย ดูตารางว่าวันนี้ห้องไหนจะใช้กี่โมงบ้าง แต่ในห้องก็ไม่ได้มีอะไร มีแต่หนังสือทั้งนั้น เราไม่ยุ่งกับของมีค่า เราปัดกวาดเช็ดพื้น เช็ดกระจก ทำห้องเรียนให้เสร็จแล้วก็มาเช็ดพื้นข้างนอก ตรงทางเดิน ทำห้องน้ำ เพราะถ้าเราไม่มาตอนเช้า เวลาที่ถูพื้นแล้วยังไม่ทันแห้ง ก็จะมีคนเดินมาย่ำพื้นใช่ไหม? มันก็จะไม่เสร็จเอา แต่อย่างห้องน้ำน่ะ ช่างมันเถอะ…เพราะเราต้องทำทุกชั่วโมง นักเรียนเรียนเสร็จก็ต้องเข้าห้องน้ำ แต่งตัว

แล้วที่บอกว่าไม่ชอบทำงานกับห้องน้ำ เพราะไม่ชอบขี้ วันแรกที่ต้องทำ รู้สึกอย่างไร

(หัวเราะ) จำไม่ได้แล้ว แต่เรากินเงินเดือนเขาหมดแล้ว ก็ต้องทำไง ใช่ไหม? (หัวเราะแรง)

ป้า…ถามจริงๆ อยู่กรุงเทพฯ ก็ใช่จะสบาย กลับไปทำงานที่อ่างทองดีไหม

ที่อ่างทองไม่มีอะไรให้ทำหรอก พ่อแม่เราเป็นกรรมกรนะ เราเข้ามาเลี้ยงเด็กที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 14 ขวบ จะให้เรากลับไปทำอะไร

การที่ต้องทำงานซ้ำเดิมทุกวัน มันต้องมีเบื่อกันบ้าง แล้วงานของป้ายังมีแนวโน้มต้องเจอกับนิสิต และผู้คนมากหน้าหลายตา มีเบื่อหน่ายบ้างไหม

ไม่เบื่อ (ตอบทันที) เราชอบ เรารักงานที่ทำ มันสนุกนะ

เคยทะเลาะกับนิสิตบ้างไหม

ไม่เคยนะ ปกติไม่ค่อยได้พูดคุยกันอยู่แล้ว แต่มีเหมือนกันที่เราไม่ชอบนักเรียนอยู่คนหนึ่ง (ชื่อนักการเมืองคนหนึ่ง) คนนี้เอาแต่ใจตัวเองมาก คิดดูสิ…จะมาขอยืมไมค์ เราก็ต้องขอบัตรนิสิตไว้ใช่ไหม เพราะถ้าหายแล้วเราจะได้ตามตัวถูก ถ้าเขาไม่คืน เราก็ต้องใช้เขาเท่านั้น สุดท้ายเราเลยไปบอกอาจารย์ให้เขาพูดคุยกันเอง

นอกจากงานทำความสะอาดแล้ว การเป็นภารโรงต้องทำอะไรอีกบ้าง

ก็ทำทุกอย่าง อาจารย์เขาก็จะเรียก มาลีไปทำนี่ให้ที มาลีไปทำนั้นให้ที อย่างเช่น ตอนเช้าเรามาถึงก็เช็คว่าวันนี้อาจารย์จะใช้ห้องไหนสอนบ้างใช่ไหม เราก็เช็ดไมค์ เตรียมเสิร์ฟน้ำ เที่ยงๆ ก็ไปซื้อข้าวให้อาจารย์ เอาเช็คไปส่ง ไปธนาคารให้บ้าง แล้วแต่เขาจะเรียก แล้วแต่ว่าอาจารย์จะใช้ให้ทำอะไร มีอยู่เหมือนกันนะ บางทีอาจารย์ฝากให้ไปซื้อข้าว แล้วมันไม่มีที่เขาสั่ง เราก็ซื้ออย่างอื่นมาแทนให้ เขาโกรธเราก็มี จากนั้นเราเลยคิดว่า ต่อไปต้องถามแล้ว ถ้าไม่มีอันนี้จะเอาอะไร ถ้าไม่สั่งมา ก็จะไม่ทำเลย เข็ดจริงๆ จากนั้นมา

อะไรที่ภารโรงมักจะเห็น แต่คนอื่นไม่เห็น

เรื่องนี้อย่าเอาไปเขียนนะ (ก้มลงมากระซิบ) — แต่เรื่องนี้เขียนได้ ก็จะรู้ว่าคณะไหนเขม่นกับใคร อย่างตอนที่ฉันขายอาหารที่โรงอาหาร เราก็จะเห็นเขาเฮกันไปก็เฮกันมา แต่ไม่ได้ต่อยหรือลงไม่ลงมือกันนะ เฮกันเฉยๆ

img_9955

มาที่ชีวิตป้าหลังจากเกษียณบ้าง ตอนที่ลาออกมา ได้ค่าตอบแทนยังไง

ได้สิ ได้เงินก้อนประมาณ 3 แสนบาท ฉันก็เอาเงินนั้นไปโปะหนี้สหกรณ์ เพราะตอนที่ทำงานเราขายบ้านที่อ่างทอง มาซื้อบ้านที่ดอนเมืองใช่ไหม เราก็กู้กับสหกรณ์ เอาที่เข้าไปจำนอง เงินก้อนนั้นก็โปะหนี้ไปหมดเลย

ตอนนี้รายรับทุกเดือนๆ ของป้ามีอะไรบ้าง

ฉันไม่มีเงินบำนาญใช่ไหม เพราะอย่างที่บอก กองทุนบำนาญมันตั้งขึ้นปี 52 แต่ฉันต้องเกษียณ 51 เลยไม่ได้ ได้แต่เงินก้อน ก็เอาไปใช้หนี้ ทีนี้ก็มีเงินคนแก่เดือนละ 600 บาท ฉันก็เหลือเดือนละ 100 แล้วเนี่ย (หัวเราะ) เพราะต้องเอาไปช่วยค่าน้ำ ค่าไฟบ้านฝ่ายผัวที่อ่างทอง ก็ช่างมันเหอะ เพราะเราไปอยู่กับเขาใช่ไหมล่ะ ก็ต้องช่วย

ถามว่าพอไหม? มันไม่มีใครพอหรอก แต่ก็ช่างมันเหอะ มาขายของที่นี่ ได้อาทิตย์ละพันสองพันก็ช่างมันเหอะ ใช่ไหม ถือว่าสนุกๆ ไป ให้คิดว่าเป็นงานอดิเรก คือยังไงล่ะ อยู่ที่อ่างทองมันก็มีข้าวกินใช่ไหม แต่เราก็ต้องออกมาซื้อน้ำมัน พริก น้ำยาซักผ้า อะไรแบบนี้ จะให้ทำยังไง เงินคนแก่ที่ไหนจะพอ ใช่ไหม?

เห็นว่าป้าฉีดยาด้วยตัวเอง เพราะเป็นโรคเบาหวาน พอเกษียณแล้ว สามารถรักษาพยาบาลโดยไม่ลำบากไหม

ก็มีบัตรทองไง บัตร 30 บาทน่ะ สบาย ไม่เดือดร้อน ที่เป็นเบาหวานก็เพราะตอนทำงานเราติดน้ำอัดลมไง เป๊ปซี่-โคล่า เช้ามาก็ต้องซัดแล้ว บ่ายก็กินอีก ยังไงล่ะ มันสดชื่นน่ะ ทำงานมาเหนื่อยๆ ก็อยากกินอะไรหวานๆ ใช่ไหม แล้วก็เป็นกรรมพันธุ์ด้วย พ่อเราก็เป็นเบาหวาน แต่ฉันไม่คิดอะไรแล้ว จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่นี่ถ้าฉันตายผัวฉันก็ได้เงินนะ ถ้าผัวตาย ฉันก็ได้เงินเหมือนกัน (หัวเราะ)

img_9990

แล้วมาขายของที่พื้นที่ตรงนี้ แผงก็ไม่มี เป็นร้านแบกะดิน อย่างนี้เขาไม่ว่าเหรอ ต้องจ่ายค่าที่เหมือนร้านอื่นๆ ไหม

ไม่ว่า (เสียงสูง และหัวเราะนำ) เราก็เดินไปขอกับทางคณะว่าขอขายของได้ไหม เพราะตอนที่ทำงานอยู่ที่นี่เราก็ขายอะไรเรื่อยๆ อยู่แล้ว เขาก็คงชินไป และเราก็ผูกพันกับที่นี่ด้วย ผูกพันนะ แต่ไม่เคยเดินไปที่คณะเลย (หัวเราะ) แต่ก็ดี เพราะว่าเราก็ได้เจอเพื่อนๆ ได้พูดคุยกับอาจารย์ มีลูกค้าประจำ ถามว่าคุ้มกับการเดินทางจากอ่างทองมาขายทุกอาทิตย์ไหม? ก็คุ้มนะ ได้พันสองพัน ก็ช่างมันเถอะ

ป้าคิดว่า ที่เขามาซื้อของ เขามาซื้อเพราะป้า หรือมาซื้อเพราะของที่ป้าขายมันอร่อย

เพราะของ (ตอบเร็วมาก) และเราไม่โกหก ไม่เอากำไรมาก อย่างนี้จะได้ขายได้ยาวๆ

แต่พอเราถามกลับไปที่ลูกค้าที่หยิบข้าวต้มมัดใส่ถั่วมาเปิดกินและยืนคุยกับป้ามาลีด้วยคำถามเดียวกัน พวกเขาส่ายหน้า และตอบอย่างรวบรัดว่า

“เหอะ ไม่อะ ก็มาซื้อเพราะเป็นป้ามาลีคนดังนี่แหละ”


 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า