Máxima Acuña / แม็กซิมา อคูนญา

2016-03-22 maximaภาพประกอบ: Shhhh

 

ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในเปรูเติบโตอย่างรวดเร็ว ปี 2011 รัฐบาลเปรูให้สัมปทานพื้นที่ ราว 30 ตารางกิโลเมตร ในแคว้นคาฮามาร์คา (Cajamarca) ให้กับ Minera Yanacocha เหมืองทองคำเปิดขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลก ภายใต้การดำเนินการของกลุ่มทุนสัญชาติอเมริกัน Newmont Mining Corporation และ Buenaventura บริษัทเหมืองของชิลี โดยทางบริษัทสัญญากับชาวบ้านที่ยังยากจนในแถบนั้นว่า จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

Conga คือโครงการเหมืองทองคำและทองแดงในปี 2010 ของ Yanacocha ที่พยายามขยายพื้นที่ออกมาจากเดิม 10 ไมล์ หรือประมาณ 16 กิโลเมตร ทำให้โครงการนี้กินพื้นที่ของทะเลสาบลากูนาอาซูล (Laguna Azul) ซึ่งจะใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการทำเหมือง

ปี 1994 แม็กซิมา อคูนญา และสามีซื้อที่ดินผืนเล็กๆ ในทรากาเดโรกรันเด (Tragadero Grande) บนที่ราบสูงแอนดีน (Andean) ริมลากูนาอาซูล ที่ใช้ดื่มกิน ทำการเกษตร เพื่อสร้างบ้าน ปลูกมันฝรั่ง ปลูกพืชไร่ เลี้ยงวัวกับแกะเพื่อเก็บนมไว้ทำชีส ครอบครัวของเธอมีรายได้จากการเก็บผลผลิตทางการเกษตร และทำงานฝีมือแล้วเดินทางไปขายในเมือง

วันหนึ่งในปี 2011 บริษัทเหมืองได้เดินทางมาที่บ้าน เพื่อขับไล่เธอออกไปจากที่ดินผืนนี้ เมื่ออคูนญายืนกรานปฏิเสธ ก็โดนข่มขู่ ทุบตี และทำร้ายร่างกาย กระทั่งปี 2012 กลุ่มทุน Newmont ก็ชนะคดีที่พวกเขากล่าวหาว่าอคูนญาบุกรุกที่ดินในโครงการ Conga ทำให้เธอโดนคาดโทษจำคุกสามปี และปรับ 2,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากสำหรับเกษตรกรเปรู

ก่อนหน้านั้นเคยมีการประเมินไว้ในปี 2010 ว่า Conga จะทำให้ลากูนาอาซูลกลายเป็นแหล่งรวมสารพิษ ทั้งไซยาไนด์ และสารหนู จนโครงการนี้มีทีท่าว่าจะถูกยุติในปี 2011 แต่ประธานาธิบดี ออยันตา อูมาลา อยากเดินหน้าโครงการต่อไป ทำให้กลุ่มเกษตรกรชุมนุมประท้วง ไม่นานจากนั้น เขาอนุมัติให้กองกำลังทหารลงพื้นที่ และมีสิทธิ์จับกุมผู้ต่อต้านได้ทันที เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้รัฐมนตรีหลายคนของรัฐบาลเปรูตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง

หลังพ่ายแพ้ในชั้นต้น อคูนญา เกษตรกรวัย 47 ปี ขอความช่วยเหลือจาก GRUFIDES องค์กร NGO ในคาฮามาร์คา ซึ่งแนะนำให้เธอเดินเรื่องในศาลสูงเพื่ออุทธรณ์ข้อหาดังกล่าว และรวบรวมเอกสารเพื่อพิสูจน์ว่าเธอมีสิทธิ์บนที่ดินผืนนั้นตามกฎหมาย จนในปี 2014 ศาลจึงกลับคำพิพากษา ให้โครงการ Conga ต้องออกจากกราเดโรกรันเด และห้ามไม่ให้ Newmont ขยายพื้นที่ไปสู่ลากูนาอาซูล

การต่อสู้ยังไม่จบ เพราะครอบครัวของอคูนญายังคงถูกข่มขู่จากตำรวจที่ถูกจ้างมาเพื่อก่อกวนและขับไล่ นอกจากนี้ บริษัทเหมืองยังสร้างรั้วรอบที่ดินของอคูนญา เพื่อไม่ให้เข้าออกได้สะดวก แอบขโมยพืชผล ทำลายไร่มันฝรั่ง แต่อคูนญาก็ยังยืนยันในสิทธิ์การอยู่อาศัยและทำกินบนผืนดินของตนเอง

อคูนญาเป็นที่รู้จักทั่วลาตินอเมริกา สำหรับความกล้าหาญและเป็นแบบอย่างของชาวบ้าน ที่แม้ไม่รู้หนังสือ แต่กล้าลุกขึ้นต่อสู้กับกลุ่มทุนใหญ่ เพื่อปกป้องที่ดิน แหล่งน้ำ ทำให้เมษายน 2016 เธอเป็นหนึ่งในเจ้าของรางวัล Goldman Environmental Prize ซึ่งมอบแก่คนรากหญ้านักต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดหกคนจากหกทวีป โดย แม็กซิมา อคูนญา คือตัวแทนหนึ่งเดียวจากทวีปอเมริกาใต้

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า