สภาเภสัชกรรม หวั่นร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย. ทำประชาชนเสี่ยงบริโภคยาอันตราย

Pharmacy-1

เหตุแก้ไขนิยามประเภทยาผิดหลักสากล จี้ทบทวนก่อนเสนอ สนช.

ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ในฐานะกรรมการสภาเภสัชกรรม และอนุกรรมการด้านกฎหมาย สภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. … ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา และเตรียมเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น ทางคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม มีความกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อระบบยาของประเทศ ทำให้ประชาชนเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง

ภก.วรวิทย์ กล่าวว่า สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ยา ที่จะกระทบต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชนคือ การแบ่งประเภทยาใหม่ ประกอบด้วย 1.ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา จากเดิมเรียกว่ายาควบคุมพิเศษ 2.ยาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพ จากเดิมเรียกว่ายาอันตราย และ 3.ยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งเป็นยาบรรจุเสร็จที่ประชาชนสามารถซื้อหาเองได้

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ในหมวดยาอันตรายที่เปลี่ยนนิยามใหม่ เป็นยาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพ หมายความว่าแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย หรือผู้ประกอบโรคศิลปะ สามารถเป็นผู้จ่ายยาได้เองทั้งสิ้น จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้จ่ายยาโดยเภสัชกรเท่านั้น” ภก.วรวิทย์ กล่าว

ภก.วรวิทย์ กล่าวอีกว่า กรณีการสั่งจ่ายยาในกลุ่มที่เป็นยาอันตราย เภสัชกรในฐานะผู้จ่ายยาจะต้องมีความรอบคอบรัดกุม เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชน ดังนั้นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจึงต้องผ่านการศึกษา ฝึกอบรม ตามหลักวิชาด้านยาโดยเฉพาะ เพื่อจะสามารถพิจารณาสั่งจ่ายยาที่ถูกต้องเหมาะสมตามขนาด ความแรงตัวยา โรคหรืออาการของโรค ข้อห้ามการใช้ยา การแพ้ยา อาการอันไม่พึงประสงค์ของยา การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา คำแนะนำในการใช้ยา เพศ และวัยของผู้ใช้ยา เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย สภาเภสัชกรรม ให้ความเห็นว่า การแบ่งประเภทยาตามร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ไม่สอดคล้องตามหลักสากลว่าด้วยการแยกหน้าที่ระหว่างผู้สั่งใช้ยาและเภสัชกรในฐานะผู้จ่ายยา ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องในการจ่ายยาและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ยา ดังนั้นจึงควรมีการทบทวนแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับดังกล่าวก่อนที่จะเสนอให้ สนช. พิจารณา

ทางด้าน รศ.ดร.วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะกรรมการสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ที่มีการขยายนิยามของกลุ่มยาอันตราย โดยกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร สัตวแพทย์ ทันตแพทย์ กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย สามารถเป็นผู้จ่ายยาเองได้ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ประชาชนที่จะได้รับยาไม่เหมาะสม เกิดการบริโภคยาที่เกินความจำเป็น และนำไปสู่อันตรายได้

“การเปิดให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาอันตรายได้ โดยไม่ต้องมีใบสั่งยา จะยิ่งทำให้ประชาชนเสี่ยงมากขึ้น เพราะใครก็สามารถขายยาหรือส่งมอบยากลุ่มนี้ให้กับผู้ป่วยได้ ตรงนี้เป็นช่องโหว่มหาศาล ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยก็มีปัญหาเรื่องการใช้ยาพร่ำเพรื่อ การใช้ยาไม่สมเหตุสมผล รวมถึงการขาดแคลนยาที่จำเป็น และปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย” รศ.ดร.วงศ์วิวัฒน์ กล่าว

รศ.ดร.วงศ์วิวัฒน์ กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ยา 2510 เป็นกฎหมายเก่าแก่ที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข แต่หากแก้ไขแล้วผิดไปจากหลักการสากลก็สมควรต้องมีการทบทวนใหม่ โดยควรคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้บริโภคเป็นหลัก

“ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่นี้อยู่ระหว่างรอการลงนามโดยผู้มีอำนาจเสนอกฎหมาย แต่ปัจจุบันไม่มีสภาผู้แทนราษฎร มีแต่ท่าน คสช. สนช. ซึ่งก็หวังว่าท่านจะพิจารณาให้ถ้วนถี่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับสังคมไทย” รศ.ดร.วงศ์วิวัฒน์ กล่าว

 

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า