กล่องแพนโดราที่ชื่อว่าร่างกาย

เรื่อง: ลีนาร์ กาซอ

 

แม้การตรวจสุขภาพจะช่วยชีวิตคนได้มากมายเพราะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หลายคนกลับพูดตรงกันว่า การทดสอบบางอย่างเช่น สแกนร่างกาย อาจทำให้พบอาการบางอย่างที่ทำให้วิตกกังวล ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ แถมอาจส่งผลเสียต่อร่างกายอีก

แล้วการตรวจร่างกายยังจำเป็นหรือไม่?

การตรวจสุขภาพส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาเพื่อการค้นหาสัญญาณเริ่มต้นของโรคที่นำขบวนมาด้วยโรคหัวใจและมะเร็ง 1 ใน 4 ของการเสียชีวิตมาจากหัวใจล้มเหลว และประมาณ 50-80 เปอร์เซ็นต์สามารถป้องกันได้ ซึ่งการตรวจร่างกายทำให้รู้วิธีดูแลตัวเองได้เร็ว

แมตต์ เคียร์นีย์ (Matt Kearney) อายุรแพทย์และผู้อำนวยการศูนย์สาธารณสุขแห่งชาติเพื่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด (The National Clinical Director for Cardiovascular Disease Prevention) ดีใจที่คนหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกการทดสอบจะให้ผลดีอย่างเดียว

“เราควรเปิดเผยให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพได้ เช่น หมอต้องยินยอมให้ผู้รับบริการรู้ทางเลือกและรายละเอียดมากกว่านี้”

ระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษแนะนำให้คนที่มีอายุ 40-74 ปี ตรวจสุขภาพทุกห้าปี เพื่อเช็คสัญญาณเสี่ยงของโรคเส้นเลือดตีบ เบาหวาน ภาวะสมองเสื่อม รวมถึงโรคเกี่ยวกับไตและหัวใจ เคียร์นีย์บอกว่า มีคำอธิบายชัดเจนถึงสาเหตุสนับสนุนการตรวจเช็คสัญญาณเหล่านี้ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรและขาดหลักฐานบ่งชี้ที่มีประสิทธิภาพ

“การตรวจเช็คและช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มตรวจร่างกายในระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติจะอ้างอิงจากหลักฐานทั้งหมด แม้ตอนนี้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานถึงประโยชน์ในระยะยาว แต่เรามีจำนวนผู้ป่วยโรคที่ป้องกันได้อย่างเบาหวานเพิ่มขึ้น ตอนนี้จึงต้องทำอะไรสักอย่างบ้าง”

โรคที่ไม่มีเชื้อให้ตรวจพบอย่างความดันโลหิตสูง กำลังเกิดขึ้นในวงกว้าง มูลนิธิหัวใจของอังกฤษประเมินว่า ผู้คนราว 7 ล้านคนไม่รู้ว่าตัวเองมีความดันเลือดสูง ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหรือหลอดเลือดอุดตันจึงเพิ่มขึ้น ในจำนวนผู้ใหญ่ 1.5 ล้านคนในอังกฤษที่ตรวจร่างกายกับบริการสาธารณสุขแห่งชาติ จะพบคนที่มีความดันเลือดสูง 1 คนในทุกๆ 27 คน โดยที่ไม่รู้ตัวมาก่อน แม้การรักษาจะยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่เคียร์นีย์คาดว่า การดูแลและปฏิบัติตัวที่ดีขึ้นจะช่วยป้องกันคนกลุ่มนี้จากโรคหลอดเลือดตีบได้ราว 14,500 คน และโรคหัวใจได้อีก 9,710 คน ภายในสามปีข้างหน้า

แต่ด้วยโรคที่พัฒนาไปตามยุคสมัย ทำให้หลายคนกังวลกับโรคระดับรุนแรงและเป็น rare item อย่าง มะเร็งต่อมไทรอยด์ เนื้องอกในสมอง ทำให้การสแกนร่างกายกลายเป็นที่นิยม รวมถึงการตรวจเลือด ทดสอบปอดและหัวใจ แถมยังมีการทดสอบเฉพาะเพศ เช่น การตรวจรังไข่และเต้านมของผู้หญิง การตรวจอัณฑะและต่อมลูกหมากของผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ชายที่มักถูกชวนให้ตรวจเลือดเพื่อป้องกันโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมากและแถมช่วยให้เห็นสัญญาณของโรคมะเร็งได้ด้วย

แต่ ศาสตราจารย์ทิโมธี วิลท์ (Timothy Wilt) จากวิทยาลัยแพทย์ มหาวิทยาลัยมินเนโซตา ไม่แนะนำให้ทำอย่างนั้น

“เพราะได้รับประโยชน์น้อยและมีความเสี่ยงมาก ผลจากการทดลองสองครั้งใหญ่แสดงให้เห็นว่า การสแกนร่างกายไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก”

ศาสตราจารย์กิลเบิร์ต เวลช์ (Gilbert Welch) จากสถาบันเพื่อนโยบายด้านสุขภาพและเวชปฏิบัติดาร์ทมัธ (The Dartmouth Institute for Health Policy and Clinical Practice) คิดว่าต้องมีการเฝ้าระวังกันหน่อย เพราะมีงานวิจัยพบว่า ในกลุ่มวัยกลางคนสุขภาพดีกว่า 1,000 คน การสแกนร่างกายทำให้พบความผิดปกติโดยเฉลี่ย 2.8 แห่งในแต่ละครั้ง กว่า 1 ใน 3 ของพวกเขาต้องได้รับการติดตามอาการต่อไป

การสแกนร่างกายอาจกระตุ้นอาการและจบลงด้วยการผ่าตัด ร่างกายมนุษย์เต็มไปด้วยสิ่งผิดปกติมากมายและการฉายภาพสมัยใหม่นั้นละเอียดอ่อนมาก เราไม่รู้จะตีความทุกสิ่งที่เราเห็นยังไง

ผลการศึกษาของ เวลช์ พบว่า อเมริกามีการสแกนร่างกายโดยไม่จำเป็นเสมอ และมีอัตราการผ่าตัดไตสูงด้วย เขาคิดว่ามีความเชื่อมโยงกันในระหว่างสองเหตุการณ์นี้

“การสแกนร่างกายอาจเหมือนเปิดกล่องแพนโดรา ทำให้เกิดจุดบนตับ ปอด ต่อมหมวกไต ต่อมไทรอยด์ รังไข่ ตับอ่อน และไต หมอเองยังไม่แน่ใจว่าคืออะไร เราจึงตั้งใจตรวจสอบซึ่งทั่วไปแล้วก็ต้องใช้เนื้อเยื่อและทำให้คุณต้องขึ้นเตียงผ่าตัด ยากที่จะรู้ว่ามีคนได้รับการช่วยเหลือจากขั้นตอนนี้แค่ไหน แต่เห็นได้ง่ายว่าพวกเขาได้รับผลเสีย ทั้งความวิตกกังวลโดยไม่จำเป็น การผ่าตัดที่ไม่ต้องมีก็ได้ และแม้การเสียชีวิตจะเกิดขึ้นได้ยากจากขั้นตอนนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย”

นอกจากนี้ มาร์กาเร็ต แม็คคาร์ทนีย์ (Margaret McCartney) อายุรแพทย์ผู้ทำสารคดีเกี่ยวกับการสแกนร่างกาย ชี้ให้เห็นว่า การวินิจฉัยที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ได้ให้ผลลัพธ์ดีกว่า เช่น กรณีการสแกนร่างกายครั้งใหญ่เพื่อเช็คมะเร็งต่อมไทรอยด์ในเกาหลีใต้ ซึ่งตรวจพบผู้ป่วยมากกว่าการทดสอบครั้งก่อนหน้านั้นถึง 15 เท่า แต่อัตราการเสียชีวิตยังคงเดิม

แม็คคาร์ทนีย์คิดว่า ผู้คนยังไม่ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทดสอบที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ความเครียดและความกังวล

อย่างไรก็ตาม เคียร์นีย์บอกว่า ทุกคนควรได้มีสิทธิเลือกการตรวจร่างกาย และใครที่พบอาการที่อธิบายไม่ได้หรือน่ากังวล มีประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัวที่น่าเป็นห่วงก็ควรได้มีโอกาสพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบ่อยๆ ไม่ว่าจะตรวจร่างกายหรือไม่ก็ตาม โดยความเห็นส่วนใหญ่ของผู้เชี่ยวชาญดูจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ อยากตรวจอะไรก็ได้ แต่ก็ควรระมัดระวังให้มากๆ ด้วย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า