on this day: โซฟี โชล ถูกเกสตาโปจับ ฐานแจกใบปลิวต้านนาซี และจตุภัทร์ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

22 กุมภาพันธ์ 1943

โซฟี โชล เสียชีวิตวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1943 กิโยตินพรากชีวิตวัย 21 ของเธอจากร่างกาย คมมีดยังบั่นคอ ฮันส์ โชล พี่ชายของเธอ และ คริสตอฟ พรอบส์ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้านนาซี

ตัวพวกเขาตาย แต่ความกล้าหาญคือร่องรอยที่พวกเขาทิ้งไว้

หลังการตายของสามนักศึกษาในนาม ขบวนการกุหลาบขาว (กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยมิวนิค และนักวิชาการที่ต่อต้านระบอบนาซี) ในค่ำวันเดียวกันนั้นกลุ่มนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมิวนิคนับพันคนร่วมกับพลเมืองชาวมิวนิคผู้คลั่งไคล้นาซีและศรัทธาท่านผู้นำ แถลงการณ์ประณามกลุ่มนักศึกษากุหลาบขาวว่าเป็น ‘คนทรยศ’

แต่..

“ลูกจะได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์” คือคำพูดสุดท้ายที่ โรเบิร์ต โชล ผู้เป็นพ่อของ ฮันส์ และโซฟี โชล บอกกับสองนักโทษประหารชีวิตข้อหาแจกใบปลิวต่อต้านนาซี ซึ่งเป็นลูกของเขา

โรเบิร์ต โชล พูดถูก

เพราะในเวลาต่อมา ประวัติศาสตร์ได้กลับข้าง ลานจัตุรัสใกล้กับอาคารศูนย์กลางในมหาวิทยาลัยมิวนิคได้จารึกชื่อ ‘จัสตุรัสสองพี่น้องโชล’ การตั้งชื่อสถานที่ต่างๆ เป็นชื่อบุคคลในขบวนการกุหลาบขาวมีใจความที่ การยืนหยัดต่อต้านความอยุติธรรม

เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า การกระทำของพวกเขาในปี 1943 และก่อนหน้านั้น – ชอบธรรม

โซฟี โชล และขบวนการกุหลาบขาวได้รับสถานะและความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ พวกเขากลายเป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้กับความอยุติธรรมของสังคมและบริบทต่างๆ ทั่วโลก

แต่ในห้วงเวลานั้น ในปี 1943 โซฟี โชล และเพื่อนกุหลาบขาว เป็นเพียงส่วนน้อยที่กล้าลุกขึ้นมาต่อต้านนาซี ในตอนนั้นประวัติศาสตร์ยังมองไม่เห็นพื้นที่ว่างในการบรรจุเรื่องราวของพวกเขาภายใต้อำนาจเผด็จการนาซี

ความกล้าหาญที่จะยืนหยัดต่อต้านความไม่เป็นธรรม คือต้นทุนเดียวที่คนหนุ่มสาวเหล่านี้มี แน่นอนกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า ความกล้าหาญเหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็น และประวัติศาสตร์ต้องปกปักรักษา

โรเบิร์ต โซล ผู้มีสายตากว้างไกล มองเห็นว่า คนบางคนไม่ต้องรอถึงวันพรุ่งนี้ ประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกพวกเขาไปเรียบร้อยแล้ว

คนบางคนตายไปแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่

คนบางคนยังอยู่ แต่ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว

ภาพถ่าย โซฟี โชล ในฐานะผู้ต้องหาคดีต่อต้านนาซี

19 พฤศจิกายน 2557

นักศึกษาชายห้าคน สวมเสื้อยืดสีดำ เสื้อดำแต่ละตัวสกรีนข้อความต่างกัน ดังนี้

เอา/ ไม่/ ประ/ หาร/ รัฐ

แต่เมื่อนักศึกษาทั้งห้าคน ยืนเรียงกันในตำแหน่งที่ถูกต้อง ข้อความบนเสื้อจะอ่านได้ว่า: ‘ไม่เอารัฐประหาร’

พวกเขาถูกจับกุมหลังจากลักลอบแต่งกายด้วยเสื้อยืดดังกล่าว เดินไปชูสามนิ้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการต่อต้านรัฐประหาร พวกเขากระทำการซึ่งหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ขณะมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน บริเวณศาลากลาง จังหวัดขอนแก่น

รายชื่อนักศึกษาที่ถูกจับกุมในวันนั้น ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, วสันต์ เสตสิทธิ์, เจตษฤษติ์ นามโคตร, พายุ บุญโสภณ และ วิชชากร อนุชน

กลุ่มดาวดินแนะนำตัวต่อสังคมวงกว้างด้วยการกระทำครั้งนั้น พวกเขาเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเผยแพร่ และให้ความรู้ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมก่อนหน้านั้นหลายปี กลุ่มดาวดินดำเนินการในรูปแบบอาสาสมัครและสานต่อกันแบบรุ่นสู่รุ่น ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจาก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

พวกเขาเป็นคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นต่อต้านรัฐประหารเมื่อปี 2557 การกระทำในวันนั้นส่งผลให้พวกเขาถูกนำตัวไปปรับทัศนคติ ตามศัพท์ของรัฐบาล

ถือว่าเบา เมื่อเทียบกับสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญในปีถัดๆ มา

บางทีไม่ใช่แค่พวกเขา แต่รวมถึงพวกเรา – สังคมไทย

โถง Lichthof ภายในมหาวิทยาลัยมิวนิค เป็นจุดที่ ฮันส์ และ โซฟี โชล นำใบปลิวต่อต้านนาซีมาวางตามจุดต่างๆ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1943 ก่อนจะถูกจับในวันเดียวกัน

18 กุมภาพันธ์ 1943

สี่วันก่อนถูกประหารชีวิต วันพฤหัสที่ 18 กุมภาพันธ์ 1943 เป็นวันที่ ฮันส์ และ โซฟี โชล ถูกจับกุมโดย เกสตาโป หลังจากลักลอบแจกจ่ายใบปลิวที่มีเนื้อหาต่อต้านระบอบนาซีภายในมหาวิทยาลัยมิวนิค ในช่วงเวลานั้นรัฐนาซีกำลังปกครองเยอรมนีด้วยแนวความคิดชาตินิยมสุดโต่ง ละเมิดสิทธิพื้นฐานของพลเมือง รวมถึงพาเยอรมนีสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 รุกรานประเทศต่างๆ

บางส่วนของใบปลิว

ใบปลิวฉบับที่หนึ่ง ปี 1942

ทุกคนมีส่วนผิด: “นับตั้งแต่การเข้าพิชิตโปแลนด์ คนยิวในแผ่นดินนี้มากกว่าสามแสนคนถูกฆ่าล้างผลาญไปในสภาพเลวร้ายยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน … แล้วก็อีกเช่นเคย ประชาชนเยอรมันต่างพากันนอนหลับนิ่งเฉย นอนอยู่อย่างทึ่มทื่อและโง่งั่ง ปล่อยให้บรรดาอาชญากรฟาสซิสต์เหล่านี้ มีโอกาสแสดงความมุทะลุดุดันออกอาละวาดอย่างบ้าคลั่ง … และพวกมันก็กำลังลงมือทำอยู่ตลอดเวลา … ทุกคนมีส่วนผิด … ผิด  … ผิด … ผิด!”

ใบปลิวฉบับที่สี่ ปี 1942

ฮิตเลอร์คือปีศาจชั่ว: “ทุกถ้อยคำจากปากฮิตเลอร์คือความเท็จ เมื่อเขาบอกว่า สันติภาพ นั่นหมายถึงสงคราม และเมื่อใดที่เขาเอ่ยนามพระเจ้าอย่างขาดความเคารพ นั่นหมายถึงพลังแห่งปีศาจร้าย เทพตกสวรรค์ ซาตาน ปากของเขาคือปากปล่องเหม็นเน่าแห่งนรกโลกันตร์ และอำนาจของเขามาจากเบื้องลึกซึ่งได้ถูกสาปตรึงไว้ที่นั่น

“จริงอยู่ว่าเราจำต้องดิ้นรนต่อสู้กับรัฐก่อการชั่วร้ายของพรรคเนชันแนลโซเชียลิสต์ ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างพร้อมสรรพ แต่ว่าใครก็ตามในวันนี้ที่ยังคงเคลือบแคลงสงสัยความเป็นจริง ความคงอยู่ของอำนาจปีศาจ ได้ล้มเหลวอย่างมากมายสุดกู่ ที่จะได้เข้าใจพื้นฐานเบื้องหลังเชิงอภิปรัชญาของสงครามครั้งนี้” –๐ “เราจะไม่เงียบเสียง เราคือมโนธรรมต่ำช้าของท่าน กุหลาบขาวจะไม่ยอมให้ท่านอยู่เป็นสุข!”

ใบปลิวฉบับที่ห้า ปี 1943

เสียงเรียกร้องต่อชาวเยอรมัน: “ชาวเยอรมันทั้งหลาย! ท่านและลูกหลานต้องการแบกรับความทุกข์สาหัสเช่นที่ได้กระทำลงต่อชาวยิวอย่างนั้นหรือ? ท่านต้องการถูกตัดสินพิพากษาด้วยมาตรฐานเดียวกันกับพวกคนที่ฉ้อฉลต่อท่านอย่างนั้นหรือ?  …

“เราจะกลายเป็นประเทศซึ่งได้รับความเกลียดชังและถูกปฏิเสธโดยมวลมนุษยชาติทั้งหมดไปจนตลอดกาลหรือไร? ไม่มีทาง จงนำตนเองออกห่างจากแวดวงอาชญากรแห่งพรรคเนชันแนลโซเชียลิสต์ จงใช้การกระทำพิสูจน์ว่าท่านคิดแตกต่างไปอีกทางหนึ่ง …

“สงครามปลดแอกครั้งใหม่กำลังจะเริ่มขึ้น”

ใบปลิวฉบับที่หก ปี 1943

ลุกขึ้นเถิด!: “ชื่อประเทศเยอรมนีจะต้องเสื่อมเกียรติไปชั่วกาลนาน ถ้าหากเยาวชนเยอรมันไม่ยืนหยัดลุกขึ้นมาในที่สุด จงเอาคืน จงสำนึกผิด จงทำลายผู้ทรมานทรกรรมประเทศ แล้วก่อตั้งยุโรปแบบใหม่ที่เปี่ยมจิตวิญญาณ”

ใบปลิวฉบับที่ 5

 

ภายใต้ช่วงเวลา 1933-1943 ระบอบนาซีสร้างตัวขึ้นจากอำนาจไม่ชอบธรรม หลังจากขึ้นสู่อำนาจพวกเขาขจัดพรรคการเมืองคู่แข่ง ผู้คิดต่างจากรัฐ คนเชื้อชาติยิวและกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยต่างๆ สร้างมาตรการต่างๆ เช่น ค่ายกักกันพลเมืองที่กระด้างกระเดื่องต่อนาซี, การตรากฎหมายที่ไร้ความเป็นธรรมอย่างกฎหมายนูเรมเบิร์ก โดยจัดลำดับชั้นพลเมืองตามเชื้อชาติกำเนิด, โครงการที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในการมีชีวิตอย่าง T4 หรือการสังหารชาวยิว

สองพี่น้องตระกูลโชลเติบโตมากับบรรยากาศสังคมแบบนี้ สังคมที่คนส่วนใหญ่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรม คนที่กล้าลุกขึ้นมาส่งเสียงจะถูกกำจัดเพื่อข่มขู่ไม่ให้มีใครกล้าลุกขึ้นมาอีก พลเมืองเยอรมนีส่วนใหญ่ต่างมอบเสรีภาพและสามัญสำนึกแก่ระบอบนาซี พวกเขา ‘อยู่เป็น’ กับอำนาจที่ครอบงำสังคมเยอรมัน (และโลก) ขณะนั้น แต่ไม่ใช่กับฮันส์ โซฟี และผู้คนส่วนหนึ่ง

ครอบครัวโชลได้รับผลกระทบโดยตรงต่อความอยุติธรรมอย่างน้อยก็สองครั้ง ครั้งแรก ฮันส์ โชล พี่ชายที่ โซฟี โชล รักและนับถือ ถูกดำเนินคดีฐานรักร่วมเพศ ซึ่งถือเป็นโทษภายใต้ระบอบนาซี ครั้งที่สอง โรเบิร์ต โชล พ่อผู้มีแนวคิดประชาธิปไตยของโซฟี ถูกจับกุมฐานหลุดปากวิจารณ์ผู้นำให้เลขาฯฟัง และเธอก็แจ้งเกสตาโปจับเขา

หลังการแจกใบปลิวฉบับที่ 5 ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ทั้งสองถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนภายใต้รัฐนาซีที่เป็นไปในลักษณะรวบรัด ตัดตอน และปราศจากความยุติธรรม

เกสตาโปได้รับพยานหลักฐานว่า สองพี่น้องตระกูลโชลมีส่วนในการแจกใบปลิวต่อต้านรัฐนาซีสี่ฉบับก่อนหน้า และมีพยานบางคนซัดทอดไปยังสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มนักศึกษา ซึ่งพวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘ขบวนการกุหลาบขาว’ สองพี่น้องตระกูลโชลถูกนำตัวขึ้นศาลประชาชน (ศาลที่ระบอบนาซีตั้งขึ้นมาอย่างไร้ความชอบธรรม) และเป็นการพิจารณาคดีแบบลับ

ทั้งสามคน ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหา ‘ทรยศต่อชาติ ด้วยการสร้างองค์กรเพื่อลงมือกระทำทรยศช่วยเหลือ สนับสนุนข้าศึกยามสงคราม และทำลายขวัญกำลังใจของกองทัพ’

ก่อนที่จะถูกประหารชีวิตในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ โซฟี โชล ตอบคำถามหัวหน้าชุดสืบสวนคดีนี้ที่ถามว่า “คุณคิดหรือไม่ว่าการกระทำของคุณเข้าข่าย ‘อาชญากรรมต่อผลประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวม’ ”

โซฟีตอบ “จากจุดยืนของดิฉันไม่ใช่เช่นนั้นเลย…ดิฉันเชื่อว่าพวกเราทำสิ่งประเสริฐสุดให้แก่ประเทศชาติ ดิฉันไม่เสียใจในสิ่งที่ได้ทำลงไป ดิฉันยินดีรับผลพวงอันเนื่องจากการกระทำของตนเอง”

โซฟี โชล

17 กุมภาพันธ์ 1943

นอกจากเหตุการณ์การสอบสวนคดีของเกสตาโป ไพรัช แสนสวัสดิ์ ผู้ค้นคว้าและเขียนหนังสือเล่มนี้ พยายามจะฉายภาพในส่วนที่เป็นบุคลิกภาพ นิสัยใจคอ รสนิยมทางการอ่านและศิลปะ ที่เราอาจจะนำมาพิจารณาควบคู่ไปกับภาพของเด็กสาวที่ชาญฉลาด สงบนิ่ง พูดจาฉะฉาน กล้าหาญ และรักความเป็นธรรม ได้อย่างรอบคอบต่อความน่าเคลือบแคลงต่อความทะเยอทะยานในการเขียนประวัติวีรชนโดยทั่วไป

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เธอเติบโตมาในครอบครัวที่มีบิดามีหัวคิดไปทางเสรีนิยมและมารดาผู้ศรัทธาพระเจ้า

โซฟี โชล เป็นนักอ่านทั้งวรรณกรรม ปรัชญา ศาสนา เธอชอบฟังเพลงและเป็นนักดนตรีมือสมัครเล่น

ความอยุติธรรมของสังคมเยอรมันในช่วงนั้น คือครูที่คอยหล่อหลอมความคิดโซฟี ในวัยเด็กโซฟีโต้แย้งครูเมื่อพี่สาวของเธอถูกลดเกรดในวิชาเรียนหนึ่ง และนี่ไม่ใช่ครั้งเดียวที่เธอลุกขึ้นมาต่อกรกับอำนาจ

เหตุการณ์หนึ่งที่ครูในโรงเรียนที่เธอเรียนถูกไล่ออก โซฟีลุกขึ้นมาวิจารณ์ “เขาไม่ได้ทำผิดอย่างใดแม้สักนิด เพียงเพราะเขาไม่ได้เป็นนาซีเท่านั้น ทำไมต้องถือว่านั่นเป็นอาชญากรรมด้วย”

ฮันส์ โชล พี่ชายของเธอถือเป็นเบ้าหลอมความคิดของเธอด้วย ดังในบทความชิ้นหนึ่งที่ ฮันส์ เขียนเพื่อต่อต้านโครงการ T4 หรือที่นาซีเรียกว่า การุณยฆาต แต่โดยข้อเท็จจริงก็คือการสังหารใครก็ตามที่เป็นชาวยิว

ฮันส์ตั้งคำถามกับเพื่อนร่วมสังคม “เมื่อทุกสิ่งจบสิ้นลง พวกเราจะถูกตั้งคำถามว่า เราได้ลงมือทำสิ่งใดบ้าง แล้วเราก็จะไม่มีคำตอบ”

หลังจาก โรเบิร์ต โชล พ่อของเธอถูกจำคุกฐานหมิ่นหยามท่านผู้นำเป็นเวลาสี่เดือน โซฟี โชล ตระหนักว่าโทษที่บิดาได้รับในคดีหมิ่นนี้ เป็น “พิษร้ายแห่งความอยุติธรรมในสังคมเยอรมันภายใต้อำนาจครอบงำของเผด็จการนาซี” (หน้า 193)

ค่ำคืนหนึ่ง โซฟีพาตัวเองมายืนสงบนิ่งหน้ากำแพงเรือนจำ เป่าฟลุตที่เตรียมมา บรรเลงเพลง Die Gedanken sind frei หรือ ความคิดเป็นอิสระ

โดยหวังว่า เสียงเพลงจะลอยข้ามกำแพงเรือนจำสู่โสตประสาทพ่อของเธอ

 

ความคิดนี้เสรี ความคิดฉันผลิบานโดยอิสระ

ความคิดนี้เสรี ความคิดฉันก่อเกิดพลัง

ผู้รู้มิอาจกำหนด ผู้ล่ามิอาจดักจับ

ไม่มีใครปฏิเสธได้: ความคิดนี้เสรี

ฉันคิดเช่นที่ต้องการ สิ่งนี้ก่อสุขสันต์

มโนธรรมกำหนด ฉันต้องให้คุณค่าต่อสิทธินี้

ความคิดฉันไม่สนองต่อเจ้านายหรือผู้เผด็จการ

ไม่มีใครปฏิเสธได้: ความคิดนี้เสรี

ถ้าทรราชจับฉันโยนเข้าคุก

ความคิดฉันจะยิ่งเบ่งกระจายเสรีเช่นพฤกษาฤดูผลิบาน

รากฐานจะพังภินท์ โครงสร้างจะล้มสลาย

เสรีชนจะตะโกนก้อง: ความคิดนี้เสรี

เนื้อเพลง Die Gedanken sind frei ฉบับแปลไทย

 

หนึ่งวันก่อนที่เธอและพี่ชายจะถูกจับ หนึ่งวันก่อนที่เธอจะออกไปทำภารกิจลับ วางใบปลิวต่อต้านระบบนาซีที่มหาวิทยาลัยมิวนิค ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เธอเล่นแผ่นเสียง chamber music ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรี 5 ชิ้น ในบทเพลง Trout Quintest ประพันธ์โดย ฟรานซ์ ชูเบิร์ต ในจดหมายที่เธอเขียนถึงเพื่อน ระบุว่า

“ฉันเพิ่งเล่นแผ่นเสียง Trout Quintet  จบลง … ท่อน andantino ของเพลงนี้ช่างทำให้ฉันอยากเป็นปลาเทราต์เสียเอง มันชวนให้ฉันแทบจะออกเผ่นโผ โลดเต้น ดีใจ หัวเราะ ไม่ว่าขณะอยู่ในอารมณ์แบบไหน … เมื่อมองเห็นมวลเมฆบนท้องฟ้า กิ่งไม้ใบไม้แกว่งไกวโอนเอน ท่ามกลางแสงสีแจ่มใส ฉันตั้งหน้ารอคอยให้ฤดูใบไม้ผลิกลับมาถึงอีกครั้ง … เพลงของชูเบิร์ตชิ้นนี้ย่อมดลบันดาลให้เรารู้สึกถึงมนตร์เสน่ห์ชัดเจน สามารถสัมผัสกลิ่นอายของสายลมพลิ้ว ได้ยินนกนานาชนิดส่งเสียงเพลงเจื้อยแจ้ว ขณะสรรพสิ่งทั้งหลายกู่ก้องร้องตะโกนอย่างสุขหรรษา”

รุ่งเช้าวันที่ 18 กุมภาพันธ์ โซฟี โชล โดนจับ ก่อนจะถูกประหารชีวิตในวันที่ 22 กุมภาพันธ์

Trout Quintet จึงเป็นเพลงสุดท้ายที่เธอได้ฟัง

18 กุมภาพันธ์ 2560

18 กุมภาพันธ์ 2560 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ยังคงอยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่น ภายหลังจากเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซีไทยบนเฟซบุ๊คของตัวเองตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2559 จตุภัทร์ได้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 400,000 บาท ก่อนถูกศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งเพิกถอนประกัน ด้วยเหตุผลว่าจตุภัทร์โพสเฟซบุ๊คเย้ยหยันอำนาจรัฐ

จตุภัทร์ ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แม้จะยื่นขอประกันตัวอีกหลายครั้งแต่ศาลไม่อนุญาต และทุกครั้งที่ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลจะสั่งไต่สวนเรื่องการฝากขังเป็นการลับ

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลได้รับฟ้องคดีของจตุภัทร์ แต่มีการเรียกร้องให้การพิจารณาคดีนี้เป็นการพิจารณาคดีแบบเปิดเผย

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายผู้ดูแลคดี เปิดเผยภายหลังที่ได้ออกมาจากห้องพิจารณาคดีกับสำนักข่าวมติชนว่า “เรายืนยันว่าคดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนสมควรจะรู้ เพราะถ้อยคำที่ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นถ้อยคำที่หมิ่นสถาบัน แล้วถ้อยคำที่เขียนอยู่นี้มันไม่เป็นความจริง ประชาชนจะได้รู้ว่าจริงๆ ที่กล่าวมานี้มันไม่สมเหตุสมผล เราจะขอให้ศาลเปิดการพิจารณาคดีแบบเปิดเผยก็ต้องรอดูว่าศาลท่านจะรับเรื่องหรือไม่”

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นนักศึกษานิติศาสตร์ เขายังไม่ได้สอบในวิชาสุดท้าย แต่กระบวนการยุติธรรมที่เขาเผชิญด้วยตนเอง น่าจะเป็นข้อสอบที่ทรงคุณค่ากว่าการสอบตามหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตในรั้วมหาวิทยาลัย

ถ้า โซฟี โชล ยังมีชีวิต เธออาจจะเดินทางไปยังเรือนจำจังหวัดขอนแก่น เป่าฟลุตเพลง Die Gedanken sind frei ให้จตุภัทร์และคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกับเขาฟัง

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ โซฟี โชล ตายแล้ว แต่เราสามารถส่งเพลงให้จตุภัทร์ และผู้ประสบชะตากรรมเดียวกับเขาได้

เพลงนั้นควรเป็นเพลงอะไร

การอ่านหนังสือ ‘โซฟี โชล: กุหลาบขาว และนาซี’ ของ ไพรัช แสนสวัสดิ์ ในช่วงเวลานี้ จึงมีความสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยร่วมสมัยเป็นอย่างยิ่ง

กรณีของโซฟี โชล และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ตั้งคำถามกับเราว่า 18 กุมภาพันธ์ และถัดจากนี้ เราจะอยู่อย่างไรภายใต้สังคมอยุติธรรม


อ่านเพิ่มเติม:

พริ้ม บุญภัทรรักษา: จากครอบครัวนักปกป้องสิทธิ์ชาวบ้านสู่มารดาของผู้ต้องหา

โซฟี โชล: กุหลาบขาว และนาซี

 

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า