‘สอนลูกให้หล่อ’ เราจะส่งต่อสังคมแบบไหนให้คนรุ่นลูก

IMG_7210

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

การที่พ่อหล่อจะสอนลูก คงไม่ใช่สิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามจะตอบคำถาม แต่เป็นการตั้งคำถาม และหาคำตอบต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

คือถ้อยสรุปวงสนทนาที่ ชนกพร พัวพัฒนกุล รองคณบดี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปิดวงสนทนา ‘สอนลูกให้หล่อ’ งานแลกเปลี่ยนและพูดคุยถึงเนื้อหาในเล่ม พ่อหล่อสอนลูก Papa, youre handsome โดย อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหาร WAY ว่าด้วยอนาคตบุตรหลานเราในร่มเงาครึ้มฟ้าครึ้มฝน…อนธการประเทศ ในช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม 2559 ณ ร้านหนังสือเดินทาง ถนนพระสุเมรุ

IMG_7227cv

พ่อหล่อ แคปซูล และหลักศิลาจารึก

“เวลาที่เขียนถึงลูก ไม่ได้หมายความว่ารู้จักความเป็นพ่ออย่างเทียมแท้ขนาดที่จะเขียนตำราการเลี้ยงลูกออกมาได้ มันเป็นแค่บทสนทนาของผู้ชายเกกมะเหรกเกเรคนหนึ่ง ที่ผ่านการปรับตัวและสูญเสียลักษณะเฉพาะบางประการของตัวเองไป ได้เรียนรู้ว่าชีวิตที่ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น จะหาจุดสมดุลของความทุกข์สุขได้อย่างไร”

สำหรับจุดกำเนิดของหนังสือเล่มนี้ อธิคมเล่าว่า ส่วนหนึ่งเป็นกิเลสของคนทำหนังสือที่อยากจะสื่อสารเนื้อความคิด แล้วโยนไปให้ผู้อ่านช่วยประเมินคุณค่าว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยประการใด ทั้งหมดเพื่อยังให้เกิดการถกเถียง

โดยประเด็นแรกเริ่มของการถกเถียงคือกระบวนการสร้าง ‘แคปซูล’ เพื่อยังความขาวใสให้มนุษย์บุตรธิดา

“มันคงมีจริตของชนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยที่ต้องการสร้างแคปซูลให้ลูกเรา และเชื่อว่ามันจะปกป้องลูกๆ ของเราให้อยู่รอดปลอดภัยในสังคมที่มีสภาพแบบนี้ แต่นั่นมันก็คือกระบวนการหลอกตัวเอง ปลอมสภาพจิตตัวเอง ว่าจริงๆ มันไม่มีหรอกโลกที่ดำมืด”

โดยแคปซูลที่ว่าอาจเป็นรูปแบบของโรงเรียนทางเลือก อาจเป็นเรื่องการพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในกรอบใดกรอบหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะอัดแคปซูลขนานดีขนาดไหน เขาก็ต้องเข้าไปเจอกับแคปซูลจากโลกอื่นๆ ผ่านเรื่องเล่าของเพื่อนร่วมห้อง ผ่านการอบรมจากคุณครูที่โรงเรียน ผ่านการเข้าแถวเคารพธงชาติ สิ่งเหล่านี้อธิคมอธิบายว่า สิ่งที่เขาจะเลือกให้เป็นกันชนแคปซูลอื่นๆ ที่ควบคุมไม่ได้ คือการสื่อสารด้วยตรรกะ เหตุผล ข้อมูล

“ถ้าหนูต้องไปตอบคำถามวิชาประวัติศาสตร์ไทยว่า พ่อขุนรามคำแหงเป็นคนคิดประดิษฐ์อักษรไทย พ่อก็จะมีเรื่องเล่าของพ่อเหมือนกันว่า จริงเหรอลูก ที่คนคนเดียวจะเอาสิ่วไปตอกหลักศิลาจารึก และคิดคำได้ทั้งหมด เราก็หาหลักฐานอื่นมาเล่าให้เขาฟัง เริ่มจากการคิดตรรกะ ด้วยเหตุด้วยผล ว่าจะมีคนคิดประดิษฐ์อักษรได้โดยลำพังแต่เพียงผู้เดียว

แต่เรื่องเศร้าก็คือ ต้องสะกิดเขาด้วยว่า แต่เวลาหนูตอบคำถาม หนูรู้ใช่ไหมว่าต้องตอบยังไง

IMG_7218athikhom

ปีศาจหม่ามี้

ใครยังไม่ได้อ่านหนังสือ อาจจะงงว่าใครคือ ‘ปีศาจหม่ามี้’ แต่เมื่อในเรื่องนี้มีตัวละครแสนอบอุ่นอ่อนโยน เข้าใจเด็กๆ อย่าง ‘เจ้าชายพ่อหล่อ’ ตัวละครลับอีกตัวในเรื่อง หนีไม่พ้นที่จะต้องถูกวางไว้เป็นตัวร้าย…ในสายตาของเขา

“อย่าไปเชื่อว่าหนังสือหนึ่งเล่มจะเล่าเรื่องจริงทั้งหมด คือปีศาจหม่ามี้ร้ายกว่าในหนังสือหลายเท่า” อธิคมพูดกลั้วหัวเราะ

อนึ่ง ประโยคยั่วเย้าภรรยาข้างต้น มาจากช่วงหนึ่งของบทสนทนาที่อธิคมพยายามอธิบายว่าตัวละคร ‘ปีศาจหม่ามี้’ ถูกออกแบบมาให้มีบุคลิกที่ไม่ค่อยหล่อมากนัก อันเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ในสังคม คนที่เติบโตมากับระบบการศึกษาที่แข่งกันว่าใครสอบได้คะแนนดีและเป็นผลผลิตของสังคมทุนนิยม เพียงเพื่อจะบอกว่ามันมีเรื่องแบบนี้ มีคลื่นของสิ่งที่อยู่ข้างนอกจำต้องซัดเข้ามาในบ้านอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เหล่านั้นต่างหากคือสิ่งที่อยากจะคุยกับลูกและผู้อ่าน ว่าจะหาวิธีจัดการกับสิ่งนี้เหล่านี้อย่างไร

“ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเราก็มาจากผลผลิตของสังคมแบบนั้น ตอนนี้เราก็ต้องเป็นทาสของทุนนิยมเหมือนกัน”

IMG_7234

พ่อหล่อกับคำถามที่ตอบไม่ได้

คงต้องมีบางเรื่องที่พ่อหล่อตอบไม่ได้ หรือเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับคอนเซ็ปต์ยากๆ เช่น ทำไม ‘เขา’ ต้องออกมาพูดทุกๆ วันหยุดสุดสัปดาห์?

มีบางคำตอบที่ตอบไม่ได้ก็จะบอกว่าตอบไม่ได้ ขอทดไว้ก่อน กลับไปหาข้อมูลแล้วค่อยมาตอบใหม่ แต่บางทีเราก็เจอคำถามยากๆ เช่น เรื่องราวที่เกิดขึ้นในโทรทัศน์ หรือเวลาเขาเห็นเรานั่งเล่นเฟซบุ๊คแล้วหงุดหงิด สิ่งที่ทำส่วนใหญ่ก็อาจไม่ได้อธิบายอะไรใหญ่โตและฟันว่าถูกผิด

อธิคมยกตัวอย่างว่า ไม่กี่วันก่อน ลูกสาวเห็นว่าเขากำลังนั่งเล่นเฟซบุ๊คแล้วเห็นคนอยู่ในคุก ลูกก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น บางทีเขาอาจจะไม่ได้ตอบตรงๆ แต่ไปรื้อหนังสือและขอความช่วยเหลือจากตำราบางเล่ม

“เราก็ชวนคุยเรื่องประวัติศาสตร์ชนเผ่า ไล่มาเรื่องการต้องการจับจองที่ดิน สังคมเริ่มซับซ้อนขึ้น เกิดการจับจองช่วงชั้นต่างๆ ของคนในสังคม ให้เขาเห็นที่มาที่ไป และให้ข้อมูลเพื่อต่อรองกับสิ่งที่เขาต้องไปเจอนอกบ้าน”

พอไล่เลียงมาถึงจุดนี้ ชนกพรก็ถามคำถามคาใจใครหลายๆ คน – ยากไหมเป็นลูกพ่อหล่อ? เพราะดูเหมือนว่าการจะ ‘ดีล’ กับมนุษย์ลูกในสไตล์อธิคม ดูเหมือนว่าต้องใช้กลไกการสื่อสารและเรียบเรียงความคิดบางประการ

“ลูกสาวมักตำหนิว่าพ่อหล่อชอบใช้คำที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ”

นั่นเป็นสิ่งที่อธิคมจงใจออกแบบไว้ เพราะเขาเชื่อว่าการสร้างบรรยากาศการซักถามทำให้เกิดการสนทนา ทำให้เข้าใจการเรียบเรียง เกิดการใช้ตรรกะ ผลิตคำพูด และภาษายังให้เกิดความหลากหลายทางความคิด

IMG_7400freedom-imagine

เราจะส่งมอบสังคมแบบไหนให้คนรุ่นลูก?

คำถามสุดท้าย หากเป็นประเด็นตั้งต้นในวงสนทนา อธิคมยอมรับว่าการจะส่งมอบสังคมในแบบที่ตั้งใจไว้ให้กับคนรุ่นลูก ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่คนรุ่นเขาพอจะทำได้ คือการสร้างเส้นแบ่งสำคัญเอาไว้

ผมเองตระหนักดีว่าคงไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้หมดโดยลำพัง คงจะต้องอาศัยเรี่ยวแรงของคนรุ่นหนุ่มสาวในสมัยนี้ ถ้าเราพูดในขีดจำกัดที่ย่อยลงมา ในหน่วยสังคมที่เล็กลงมาระดับประเทศ ข้อเท็จจริงที่มันปะทะกันอยู่ทุกวัน เราเห็นความขัดแย้งทางความคิด เราเห็นคนผลิตคำหยาบคายใส่กันได้ทุกวี่วัน เราเห็นคนผลิตเรื่องโกหก หรือเรื่องเล่าบนความเชื่อล้วนๆ

“สังคมที่ตรรกะเหตุผลและความรู้ผิดเพี้ยนไปหมด เราเห็นสิ่งเหล่านี้และมันจำเป็นที่จะเกิดขึ้น เพราะว่าเป็นสิ่งที่เราสะสมมายาวนานเกินกว่าที่จะแก้กันภายในเวลาอันรวดเร็ว ก่อนที่เราจะทำอะไรได้ สังคมแบบไหนที่จะส่งทอดต่อไปให้คนรุ่นลูกได้

“ผมคิดว่ามันมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนเส้นหนึ่งที่สำคัญ ที่จะบอกว่าคนในสังคมควรจะเคารพหลักอะไรบ้าง เช่น ความเท่ากัน ความเสมอภาคของคน เราต้องมีเสรีภาพที่จะยืนยันความคิดเชื่อ มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และมีสิทธิ์ที่จะเอาข้อมูลข่าวสารนั้นมาแลกเปลี่ยน ถกเถียง อย่างผู้มีสติปัญญา เส้นตรงนี้คือเส้นที่อยากจะชวนให้ช่วยกันค้ำเอาไว้

ต้องบอกตัวเอง บอกคนรอบข้าง ว่าเมื่อใดก็ตามที่หากมีการล้ำเส้นนี้เกิดขึ้นในสังคมของเรา เราต้องแสดงออกมาว่าจะไม่มีใครล้ำเส้นนี้ไปได้ ไม่สำคัญว่าเราจะทะเลาะกันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ไม่สำคัญว่าเราจะชอบหรือยืนอยู่ข้างใคร สำคัญที่หากใครก้าวล้ำเส้นแบ่งนี้ สังคมจะพังทลายและไม่มีใครที่จะก้าวต่อไปได้

อธิคมกล่าว

“ถ้าเราเปิดหน้าแรกของหนังสือเล่มนี้ เราจะเจอคำอุทิศที่มอบให้แก่เด็กทุกคน แต่เชื่อว่าผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือเล่มนี้คงได้อะไรหนักๆ กลับไปไม่แพ้กัน” ชนกพร ทิ้งท้าย

ก่อนที่ห้องพูดคุยจะมืดสนิท บุคคลกลุ่มหนึ่งปรากฏตัวขึ้นด้านหน้าเวทีด้วยเสื้อยืดขาว สกรีนตัวหนังสือสีดำสนิท ทุกคนถือตะเกียงหลอด LED ส่องไปยังตัวอักษรทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นส่วนประกอบของคำสำคัญ ‘F R E E D O M’ เราคิดเอาเองว่าคำคำนี้กระมัง คือสิ่งที่อธิคมและคนรุ่นเขาอยากฝากผ่านไปให้ถึงคนรุ่นลูกทุกคน

 


 

ติดตามชมคลิปและบรรยากาศงานโดยไม่มีการตัดทอนได้ที่ facebook live บนเพจ WAY Magazine 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า