มรดกมาตรการจากรัฐบาลทหารพม่า

myanmar suukyi

รัฐบาลออง ซาน ซูจี กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชน นักศึกษา และเหล่านักกิจกรรม ที่เริ่มแสดงความกังวลว่า รัฐบาลใหม่ยังคงมาตรการเข้มงวดด้านสิทธิในการแสดงออกไว้ ซึ่งครั้งหนึ่ง กฎหมายเหล่านี้คือสิ่งที่พวกเขาต่อต้าน เพราะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของระบอบทหารที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน

เมื่อครั้งอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ในปี 2011 โดย กระทรวงมหาดไทย (Ministry of Home Affairs) กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมอย่างสงบ (Peaceful Assembly Act) คือ การชุมนุมหรือการเดินขบวนต้องได้รับการอนุมัติจากตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐประจำท้องถิ่น และโทษของการฝ่าฝืนกฎด้วยการชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย คือการจำคุกหนึ่งปี

มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ในปี 2014 รายละเอียดที่เปลี่ยนไป เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธการยื่นขอชุมนุม แต่กฎหมายยังบังคับให้ผู้ชุมนุมต้องยื่นขออนุญาตก่อนหน้าห้าวัน และต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย และยังมีโทษจำคุก แต่ลดลงจากหนึ่งปีเหลือหกเดือน

ความกังวลครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเพราะการแก้ไขกฎหมายการชุมนุมอย่างสงบ ฉบับ NLD ยังมีรายละเอียดบางอย่างคล้ายคลึงกับสมัยรัฐบาลทหาร เช่น ต้องแจ้งตำแหน่ง เส้นทางการเดินขบวน ช่วงเวลา และวัตถุประสงค์ของการชุมนุม ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสองวัน หากมีการละเมิด ยังคงโทษจำคุกไว้สามเดือนเป็นขั้นต่ำ และสามารถควบคุมตัวผู้ทำผิดไว้ได้สูงสุด 15 วัน

กฎหมายฉบับใหม่เริ่มมีการบังคับใช้ โดยกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมได้เดินขบวนในย่างกุ้งตั้งแต่วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม เพื่อเรียกร้องความสมานฉันท์ และการยอมรับกันอย่างเท่าเทียมของแต่ละชาติพันธุ์ หลังจากหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มชาวพุทธชาตินิยมได้โหมกระแสต่อต้านมุสลิมกระทั่งกลายเป็นเหตุนองเลือดหลายครั้งในรัฐยะไข่ แต่หลังจากขบวนออกนอกเส้นทาง ในวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม ตำรวจได้เข้าจับกุมแกนนำห้าคน ภายใต้มาตรา 19 ของกฎหมายการชุมนุม

นอกจากนี้ กฎหมายการชุมนุมยังส่งผลต่อกลุ่มชาวพุทธชาตินิยมเช่นกัน เมื่อแกนนำเจ็ดคนที่นำขบวนล้อมสถานทูตสหรัฐถูกจับกุม หลังประท้วงไม่ให้ทางสหรัฐยอมรับการมีอยู่ของ ‘โรฮิงญา’ ในฐานะชาติพันธุ์หนึ่งของพม่า

credit: epa.eu

องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้ออกมากระตุ้นให้รัฐบาล NLD มองไปถึงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกฎหมายดังกล่าว เพราะในอนาคตอาจมีนักกิจกรรมอีกมากที่จะกลายเป็นนักโทษจากกฎหมายนี้ แม้เป็นการชุมนุมเล็กๆ ก็ตาม

ทาง NLD ให้เหตุผลว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กฎหมายนี้มีไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เป็นการยืนยันถึงสิทธิ์ในการแสดงออก รวมถึงป้องกันการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของตำรวจ และหลังจากนี้ NLD จะพิจารณาแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหาร ที่เป็นเครื่องมือทางกฎหมายสำคัญที่ใช้สำหรับจับกุมผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง

หลังได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และรัฐบาล NLD ซึ่งสมาชิกส่วนหนึ่งเคยเป็นนักโทษการเมืองเนื่องจากเลือกยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเผด็จการทหาร ได้ส่งสัญญาณว่าจะแก้ไขกฎหมายที่มีลักษณะกดขี่ รวมถึงประกาศปล่อยนักโทษการเมืองกว่า 200 คน เพื่อคลายความกดดันที่สะสมมานาน และขณะนี้ยังมีนักโทษการเมืองอีก 61 คนอยู่ในเรือนจำ กับอีกราว 100 คนที่ถูกควบคุมตัวระหว่างรอการตัดสิน

 


อ้างอิงข้อมูลจาก:
aljazeera.com
frontiermyanmar.net
pressliberal.com
reuters.com
mizzima.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า