วิชาปรัชญากับการศึกษาไทยที่ไม่ตั้งคำถาม

 

เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล

 

คำถามตั้งต้นของคนในแวดวงการศึกษากลุ่มหนึ่งมีอยู่ว่า แท้จริงแล้วการศึกษาของเด็กไทยตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงระดับมัธยมศึกษานั้น สมควรแก่เวลาในการบรรจุวิชาปรัชญาเข้าไปในหลักสูตร โดยแยกออกจากวิชาศาสนาแล้วหรือยัง หากยังไม่สมควร สาเหตุนั้นเกิดจากอะไร และทำไม?

คำถามนี้นำมาสู่การจัดวงเสวนาหัวข้อ ‘เด็กเรียน (ไม่) ได้ ผู้ใหญ่เรียน (ไม่) ดี: ปรัชญากับสังคมที่ไม่ฉงน’ โดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ร่วมกับกลุ่ม Black Circle ที่ประกอบด้วยศิลปิน นักเขียน และนักวิชาการ

เพื่อจะคลี่ปมข้อสงสัยที่ว่านั้น รชฏ ศาสตราวุธ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผศ.ยอดพล เทพสิทธา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ จากสถาบันสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา จึงมาร่วมอภิปราย โดยมี คงกฤช ไตรยวงค์ จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รับหน้าที่ชวนพูดคุย

ปรัชญาคือ?

รชฏ ศาสตราวุธ แจงถึงสาเหตุที่นำมาสู่การเสวนาในครั้งนี้ ซึ่งเริ่มต้นจากข่าวเมื่อปีที่แล้วที่จะให้มีการบรรจุวิชาปรัชญาลงในแบบเรียนระดับชั้นมัธยม แต่การศึกษาในประเทศไทยมักจัดหมวดวิชาปรัชญาไว้เป็นของสูงในการส่งเสริมศีลธรรม ขณะที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศหนึ่งที่มีการบรรจุวิชาปรัชญาไว้ในระดับมัธยม หรือแม้กระทั่งระดับประถม หากทว่าก่อนจะไปถึงคำถามว่าเด็กควรจะเรียนหรือไม่เรียนปรัชญา รชฏเชื้อเชิญวงเสวนาให้กลับมาพิจารณาถึงคำถามที่ว่า ปรัชญาคืออะไรก่อน

รชฏกล่าวว่า หากไปถามนักเรียนปรัชญาจะได้คำตอบว่า ปรัชญาคือการค้นหาความจริง ซึ่งถูกเพียงส่วนหนึ่ง เพราะวิชาประวัติศาสตร์ก็ค้นหาความจริง วิชาอื่นๆ ก็เช่นกัน เพียงแต่ปรัชญานั้นคือการค้นหาความจริงในเชิงความคิดที่อยู่เบื้องหลังเรื่องต่างๆ มากกว่าการเรียกร้องการขึ้นราคายาง เบื้องหลังความคิดนั้นไม่ใช่เพราะราคายางตก แต่เป็นเพราะผู้เรียกร้องรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม

“เพราะฉะนั้นการพูดถึงเรื่องปรัชญา เราไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องความจริงเชิงประจักษ์อย่างเดียว แต่เรายังพูดถึงเรื่องของไอเดียบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังเรื่องต่างๆ”

นอกจากนี้ นักปรัชญายังมีหน้าที่ชี้ให้เห็นความจริงอีกด้านของแนวคิด เช่น เมื่อพูดถึงเรื่องสันติภาพ เราต้องพูดถึงเรื่องความรุนแรงควบคู่กันด้วย ปรัชญาต้องการให้เกิดการถกเถียง กล่าวได้ว่า ปรัชญามีไว้เพื่อถามตัวเราเอง และมีไว้เพื่อตั้งคำถามกับโลกรอบตัว อีกทั้งปรัชญายังตอบคำถามด้วยคำถาม ไปจนถึงการชี้ให้เห็นว่าโลกที่ไม่มีปรัชญานั้นเป็นอย่างไร

รชฏยกตัวอย่างเรื่องการบริจาคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับให้ชาวโรฮิงญา ซึ่งสะท้อนการขาดความเข้าใจต่อมนุษย์ที่มีความหลากหลาย หรืออีกตัวอย่างเช่นวรรณกรรมเรื่อง ติสตู นักปลูกต้นไม้ ซึ่งติสตูตั้งคำถามต่อผู้เป็นพ่อของตัวเองที่เป็นผู้ผลิตอาวุธว่า ในความรักของพ่อนั้น พ่อทำให้ลูกๆ คนอื่นต้องกำพร้า มาจนถึงคำถามสุดท้ายต่อโลกที่ไม่มีปรัชญา คือหากมหาวิทยาลัยไทยไปสู่ระดับโลก หากแต่เบื้องหน้ากลับมีนักศึกษาที่ไม่มีเงินจ่ายค่าหน่วยกิต เราจะตอบคำถามเหล่านี้อย่างไร

“ทั้งหมดที่ผมกำลังจะบอกก็คือ โลกที่ไม่มีคำถามปรัชญา คือโลกที่ไม่มีไดเรคชั่น เรามีกูเกิล แต่เรายังโง่อยู่เลย เรามีพาวเวอร์พอยท์ แต่ความคิดของเราห่วยมาก พาวเวอร์พอยท์ทำแทนหมด เราทำความดี แต่เซนส์ของศีลธรรมยังต่ำทราม”

รชฏ ศาสตราวุธ

รู้มากก็ยากนาน รู้น้อยก็พลอยรำคาญ

พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ มองว่า ปรัชญานั้นตั้งคำถามกับทุกสิ่ง โลกจึงต้องมีปรัชญา หากแต่มองถึงระบบการศึกษาไทยที่ไม่มีการสอนในเรื่องของการสงสัย เรื่องการตั้งคำถาม เรื่องการตรวจสอบ ฉะนั้น จะมีความเป็นไปได้แค่ไหนสำหรับการเรียนการสอนปรัชญาในสังคมที่แทบจะไม่เคยมีการปลูกฝังให้คนรู้จัก ‘ฉงน’ หรือตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ใดๆ เลย

“สังคมไทยไม่ได้มีพื้นที่ที่จะตั้งข้อสงสัยมากนัก ไม่มีได้มีพื้นที่ที่จะตรวจสอบ เพราะฉะนั้นอาจจำเป็นต้องกลับมาดูคุณสมบัติของคนในสังคมด้วยว่า เป็นสังคมที่มีคนพูดเรื่องปรัชญาได้มากน้อยแค่ไหน การที่เราจะสามารถพูดคุยเรื่องสังคมได้มากกว่านี้ ต้องมีพื้นที่ในการตั้งข้อสงสัยได้มากกว่านี้”

พัทธ์ธีราให้นิยามของความเป็นนักปรัชญาที่ดีไว้ว่า นักปรัชญาอาจไม่จำเป็นต้องมาจากการศึกษาด้านปรัชญาโดยตรง แต่ควรมีความสงสัยและตั้งคำถามกับทุกเรื่อง มีวิธีที่จะค้นคว้าหาคำตอบต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ในเชิงปรัชญา คำถามที่ควรถกกันคือ เราจะใส่ใจต่อการพูดคุยในเรื่องปรัชญามากน้อยแค่ไหน

“ดิฉันรู้สึกมีแต่ความมืด…”

กลับมาที่ประเด็นปรัชญาคืออะไร? พัทธ์ธีราตั้งคำถามว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้คนไม่สนใจปรัชญา และหากพิจารณาความจริงที่อยู่นอกเหนือไปจากห้องเรียนแล้ว เรามีพื้นที่อย่างเสรีภาพแค่ไหนในการแสดงความคิดเห็น

“คนที่จะตั้งคำถามเชิงปรัชญาจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่มีพื้นที่ที่มีเสรีภาพในการแสดงคิดเห็น เพราะปรัชญาไม่ได้ต้องการแค่คำตอบ แต่ต้องไปเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่านั้น”

พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

คำถามของกฎหมาย

“ในการเรียนกฎหมาย วิชาปรัชญากฎหมายมีการตั้งคำถามอะไรบ้าง คำถามแรกก็คือ ทำไมถึงต้องเชื่อฟังหรือเคารพตัวกฎหมาย คำถามที่สองคือ กฎหมายไม่ยุติธรรมได้หรือไม่”

ยอดพล เทพสิทธา เปิดประเด็นว่าด้วยปรัชญากฎหมายที่แม้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับปรัชญา แต่โดยเนื้อหาของวิชานี้ก็เป็นการตั้งคำถามต่อเบื้องหลังความคิดแบบเดียวกับที่รชฏและพัทธ์ธีราได้กล่าวไป โดยเฉพาะคำถามที่ว่ากฎหมายคืออะไร ความยุติธรรมคืออะไร ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายและความยุติธรรม การเกิดขึ้นของกฎเกณฑ์ต่างๆ เทคนิคการตีความกฎหมาย รวมถึงศีลธรรมในทางกฎหมาย

“สุดท้ายที่เราควรพูดกันในยุคสมัยนี้คือ เราสามารถที่จะไม่เคารพกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมได้หรือไม่”

อย่างที่เข้าใจและแทบจะเป็นแม่แบบทางความคิดในระบบการศึกษาไปแล้ว เมื่อถามคำถามว่ากฎหมายคืออะไร คำตอบคือคำสั่งที่ออกโดยรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเราต้องปฏิบัติตาม แต่หากคำสั่งนั้นส่งผลกระทบโดยตรง เรามักเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตาม เช่น หากมีคำสั่งให้นำตัวมารดาไปประหารโดยไม่มีเหตุผล คุณจะต่อต้านอำนาจของกฎหมายนั้นไหม นั่นประเด็นหนึ่ง อีกประเด็นที่ยอดพลนำเสนอคือ ในระดับการศึกษาชั้นนิติศาสตร์นั้น นักศึกษาส่วนมากแล้วยังไม่หนักแน่นในหลักการและมั่นคงในประเด็น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ ว่ากฎหมายให้ประหารโดยไม่มีเหตุผลนั้น ไม่ยุติธรรมแน่นอน แต่ทำไมเราจึงต้องเคารพ คำตอบที่ได้คือ เพราะเป็นคำสั่งที่ออกโดยรัฏฐาธิปัตย์

“พูดถึงศีลธรรมทางกฎหมาย หลายคนมักพูดกันว่าคนไทยเป็นเมืองพุทธ เราเป็นคนมีศีลธรรม เราจะไม่ทำแท้ง การทำแท้งเป็นอะไรที่เรารู้สึกว่าเลวร้าย ทั้งหลักศาสนา หลักศีลธรรม ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าผิดหลักศีลธรรมอย่างไร แล้วถ้าตั้งท้องโดยไม่ได้ตั้งใจจะทำอย่างไร ทั้งที่เราไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กคนนี้ได้แน่นอน แต่เราต้องทำตามกระแสสังคมที่มากดดันว่าเราต้องรักษาศีลธรรมอันดี ถามว่าอะไรอยู่เบื้องหลังความคิดแบบนี้”

ยอดพลยกตัวอย่างคดีสองตายายบุกรุกป่าที่ทั้งสองอ้างว่าเข้าไปเก็บเห็ดนั้น นักกฎหมายไม่เคยใช้ปรัชญาในการตั้งคำถามกับตัวบทกฎหมายเลย ไม่เคยถามตัวเองเลยว่าทำไมเราต้องเคารพกฎหมายที่เรารู้สึกไม่เป็นธรรม

ยอดพล เทพสิทธา

ปลายทางบทสนทนา

คงกฤช ไตรยวงค์ กล่าวถึงการเรียนปรัชญาสำหรับเด็ก หรือ Philosophy of Children ในสหรัฐอเมริกานั้นเฟื่องฟูมาก ตัวอย่างเช่นเรื่องสองพ่อลูกที่จะไปเที่ยวงานเทศกาลในวันสุดท้าย แต่ทว่าตัวพ่อนั้นไม่ได้พกเงินมาเพียงพอต่อการเข้าไปเล่นเครื่องเล่น ทำได้แค่เพียงจ่ายค่าบัตรผ่านประตูเท่านั้น ยกเว้นแต่ตัวลูกจะโกหกว่าตัวเองยังอายุไม่ถึง 7 ขวบ ซึ่งจะได้ลดค่าตั๋วลงครึ่งราคา คำถามต่อกรณีตัวอย่างนี้ก็คือ เราจะโกหกหรือจะยอมไม่เล่นเครื่องเล่นโดยแบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่ม

ประเด็นที่คงกฤชบอกเล่าก็คือ คำตอบของเด็กทั้งสองกลุ่มหาได้เป็นประเด็นสำคัญ หากแต่เป็นกระบวนการในการหาเหตุผลมาสอดรับกับคำตอบต่างหาก ไม่ว่าเด็กจะเลือกโกหกหรือไม่ สิ่งที่ห้องเรียนในวิชาปรัชญานี้ต้องการเน้นก็คือ “การสนทนาระหว่างกลุ่มคนที่เห็นต่างกัน”

“มันกลายเป็นว่า เด็กนักเรียนหญิงในชั้นเรียนนั้นให้เหตุผลว่า ไม่จำเป็นต่อเด็กเจ็ดขวบคนอื่นๆ ทีนี้ ปรัชญาในชั้นเรียนนี้ไม่ได้เน้นว่าเรียนปรัชญาของใคร ไม่ว่าจะเป็นคานท์ เฮเกล เพราะนั่นเป็นปรัชญาสำหรับผู้ใหญ่ ไม่ใช่เป้าหมายในการเรียนสำหรับเด็ก

“ไคร์ส อีแวน มองว่า ปรัชญาสำหรับเด็กจะต้องมีความเชื่อในมั่นอะไรบางอย่างร่วมกัน อย่างที่สองคือทักษะทางปรัชญา การใช้เหตุผล การเปรียบเทียบ และสุดท้ายคือประเด็นทางปรัชญา การหาข้อสรุปว่ากติกานั้นไม่ยุติธรรมต่อเด็ก 7 ขวบคนอื่นๆ นั้นเป็นประเด็นสุดท้ายจริงหรือเปล่า”

คงกฤช ไตรยวงค์

เด็กไม่ควรเรียนปรัชญาจริงหรือ

รชฏเสริมว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับหลักประกันความปลอดภัย คือเหตุผลที่ต้องเรียนปรัชญา

รชฏกล่าวว่า มหาวิทยาลัยไทยไม่เคยตั้งคำถามแบบเดียวกับที่อริสโตเติลถามว่า ในที่สุดแล้วโลกนี้ ของต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมีธรรมชาติอย่างไร เช่น โต๊ะ ธรรมชาติของมันคือวางสิ่งของได้ รองเท้า ธรรมชาติของมันคือสวมใส่แล้วเดินสบาย

“ของแบบนี้ถ้าเรียกกันอย่างภาษาโบราณคือ โต๊ะมีคุณธรรมของมัน เป้าหมายของโต๊ะคือสามารถวางหนังสือ เขียนหนังสือได้ คุณธรรมของรองเท้าหรือเป้าหมายของรองเท้าก็คือ เดินแล้วไม่เปียกไม่แฉะ คำถามคือคุณธรรมของมหาวิทยาลัยคืออะไร คุณธรรมของมหาวิทยาลัยคือ ranking หรือเปล่า”

virtue หรือคุณธรรม ในสังคมไทยมองว่าการเชื่อฟังต้องมาก่อน แต่ถ้าหากเราหันกลับมาทบทวนก่อนว่า อะไรคือธรรมชาติของเด็ก เราจะรู้ว่าการศึกษาควรจะเป็นอย่างไร

“คำถามที่สำคัญก็คือประเทศเราอยากได้อะไร เราต้องถามธรรมชาติของพลเมือง ถ้าเรารู้ธรรมชาติของพลเมือง เราจึงจะรู้ว่าเราจะเรียนปรัชญาไปทำไม”

สังคมแปรเปลี่ยน

ประเด็นเรื่อง virtue หรือคุณธรรม พัทธ์ธีราตีความหมายไปอีกด้านหนึ่ง โดยมองว่าการนำ virtue มาแปลเป็นคำว่าคุณธรรม แล้วผูกโยงกับศาสนา ทำให้ความหมายถูกแปรเปลี่ยนไป และห่างไกลจากมิติของการพูดคุยและถกเถียงปรัชญา

เช่นเดียวกับคำว่าพลเมืองประชาธิปไตย พัทธ์ธีรามองว่าสังคมไทยยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อความหมายของคำคำนี้ ซึ่งหากมีการเล่าเรียนวิชาปรัชญาตั้งแต่เด็ก ประเด็นนี้อาจไม่จำเป็นต้องมานั่งถกเถียงกันอีกถึงนิยามที่แท้จริงของความหมาย แต่ประเทศไทยเรานั้น กลับนำวิชาปรัชญาไปผูกกับวิชาศาสนา และให้นิยามของปรัชญาปนเปไปกับเรื่องศีลธรรมจรรยาตามหลักศาสนา

“มันทำให้เกิดสภาวะคลุมเครือ แต่ไม่เห็นบรรยากาศของการสนทนาว่าควรจะตั้งคำถามแบบไหน”

หลักประกันเสรีภาพ

ยอดพลกลับไปพูดถึงประเด็นเรื่องคำสั่งที่ออกโดยผู้นำสูงสุดของรัฐ โดยยกตัวอย่างสองเรื่อง คือเรื่องแรก เป็นคำสั่งในสมัยพุทธกาลของพระพุทธเจ้าที่ห้ามภิกษุทั้งหลายแสดงอิทธิฤทธิ์ แต่ตัวพุทธเจ้ากลับแสดงพุทธานุภาพออกมาเสียเอง ซึ่งเป็นประเด็นคำถามที่ยอดพลชวนให้วงเสวนาร่วมกันคิดว่า แม้แต่พระพุทธเจ้าที่ทรงเป็นผู้บัญญัติกฎดังว่า กลับไม่ผูกพันกฎนั้นกับตัวพระพุทธเจ้าเอง

ข้อต่อมาคือ หลักประกันความปลอดภัย โดยเอาคำพูดของ อีดี อามิน ประธานาธิบดีของประเทศยูกันดา ที่กล่าวไว้ว่า “ผมเชื่อว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมีจริง แต่ผมไม่ได้รับประกันเสรีภาพของคุณหลังจากที่คุณได้พูดแล้ว…” ซึ่งหากผู้นำรัฐยังพูดแบบนี้ ยอดพลมองว่าภายใต้ระบบแบบนี้ ภายใต้สังคมแบบนี้ ไม่เอื้อให้เกิดสังคมแห่งการถกเถียงด้วยเหตุและผล

“ถ้าเราเชื่อในสิ่งที่ไม่มีชีวิต มันจะก่อให้เกิดปัญหาตามมา แต่ถ้าเราทำให้ตัวหนังสือที่แบนๆ กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่จะสามารถที่จะตีความกันได้ มันเป็นสิ่งที่มีพลวัตต่อการที่เรานำข้อเท็จจริงมาสอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทางปรัชญาหรือระเบียบวิธีการใดก็ตาม ผมมองว่ามันทำให้การเรียนการสอนสามารถที่จะต่อยอดไปได้ไกล จนเราสามารถมีคำถามได้ว่ากฎที่ออกมาโดยผู้มีอำนาจแล้วไม่เป็นธรรม เราควรที่จะเคารพมันหรือไม่ แล้วเราควรที่จะมีสิทธิ์ปฏิเสธในการเข้าสู่กระบวนการตัดสินของผู้มีอำนาจเหล่านั้น…”


 

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า