มนต์รักอสูร: หนังชีวิต พิศาล อัครเศรณี

ผมชอบเวลาพูดถึงหนังไทยเก่าจะมีหนังแนวหนึ่งที่ติดตรึงเสมอ คือ ‘หนังชีวิต’ ถ้าเทียบในตระกูล (genre) ตามแบบหนังฝรั่ง หนังชีวิตที่ว่าก็คงใกล้เคียงกับหนังดราม่า (drama)

คำว่าหนังชีวิตนี้ถูกเรียกรวมๆ มาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งวันหนึ่ง พิศาล อัครเศรณี ได้สร้างแนวทางเฉพาะให้แก่หนังชีวิตขึ้นมาใหม่ ‘หนังตบจูบ’ นิยามอย่างสั้นคือ เป็นหนังที่ตัวเอกมักกระทำการรุนแรงกับนางเอกในแรกเริ่ม ก่อนลงเอยด้วยความเข้าใจกันในท้ายสุด แนวทางที่จัดจ้านถึงอกถึงใจนี้ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน และเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในทุกๆ ปีที่หนัง/ละครกลุ่มนี้โด่งดังขึ้นมา ว่าทำไมสังคมไทยถึงวนเวียนกับ ‘หนังตบจูบ’ เหล่านี้อยู่ได้?

ทั้งที่ในความเป็นจริง หนังตบจูบนั้นเคยมีมาก่อนพิศาลจะลงมือกำกับเรื่องแรก เลือดทมิฬ (2523) เสียอีก และมีมาอย่างยาวนานผูกพันลึกซึ้งกับสังคมไทยนับแต่พุทธศักราช 2500 เป็นต้นมา แต่เหตุใดพิศาลจึงกลายเป็นผู้สร้าง ‘หนังตบจูบ’ ยุคใหม่ ที่ไม่ใช่แค่ความบันเทิงชั่วครู่คราว หากยังบันทึกถึงการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์ทางการเมืองและสังคมในแบบที่ไม่เคยมีใครไปถึงมาก่อน

2500’s

ในขณะที่หนังไทยเข้าสู่ ‘ยุคทอง’ เนื้อหาหนังวนเวียนอยู่กับการหยิบนวนิยายและบทละครวิทยุเรื่องดังมาสร้างเป็นหนัง ถ่ายทำในระบบฟิล์ม 16 มม. ซึ่งต้นทุนต่ำกว่าการถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม. ตามมาตรฐานสากล ซ้ำยังถ่ายแล้วสามารถนำฟิล์มไปตัดต่อพร้อมฉายได้เลย อีกทั้งความนิยมในตัว มิตร ชัยบัญชา พุ่งสูงจนกว่าครึ่งของหนังที่ฉายในแต่ละปีนำแสดงด้วยเขาคนนี้ เพราะรับประกันรายได้ทั้งในกรุงเทพฯ และการเดินสายฉายตามต่างจังหวัด

หนังบู๊ชุด อินทรีแดง กลายเป็นบทประจำตัวมิตร สลับกับบทนักเลงในหนังบู๊ภูธรอีกนับร้อยเรื่อง แต่พ้นจากกลุ่มหนังบู๊ มิตรยังเป็นที่รู้จักจากหนังชีวิต อาทิ จำเลยรัก (2506) หัวใจเถื่อน (2507) ดาวพระศุกร์  (2509) ฟ้าเพียงดิน (2510) สกุลกา (2511) รวมไปถึงหนังของผู้กำกับ ดอกดิน กัญญามาลย์ ตั้งแต่ นกน้อย (2507) จนถึง ลมเหนือ (2512) ล้วนแล้วแต่เป็นหนังชีวิตที่วนเวียนอยู่กับเนื้อหาความรักต่างชนชั้น พระเอกจน นางเอกรวย นางเอกรวย พระเอกจน ผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง เข้าใจผิดกัน เกลียดกัน แล้วพบรักกันในท้ายสุด ฯลฯ

แม้จะมีหนังอย่าง จำเลยรัก, หัวใจเถื่อน และ สวรรค์เบี่ยง ทว่ารสมือของการเป็นหนัง ‘ตบจูบ’ อย่างที่คนดูในปัจจุบันคุ้นเคยกันก็ยังไม่ปรากฏชัดนัก เป็นเพราะหนังยังมีความตลกขบขันของดาราประกอบขาประจำอย่าง ประจวบ ฤกษ์ยามดี, สมพงษ์ พงษ์มิตร หรือแม้แต่ ดอกดิน กัลญามาลย์ อีกทั้งบทบาทที่ผู้สร้างมอบให้มิตรนั้นแบกรับความเป็นพระเอกตามขนบเต็มที่ ต้องเป็นคนดีสุภาพบุรุษ หรือหากมีเหตุทำผิดใดๆ ก็จะเป็นเพราะความเข้าใจผิด ไม่ใช่เกิดจากความดิบเถื่อนโดยกมลสันดานของตัวละครดังกล่าวเลย

ประการสำคัญคือ สภาพสังคมตกอยู่ในความอึมครึม รัฐบาลเผด็จการผลัดเปลี่ยนผู้นำสืบทอดอำนาจกันรุ่นต่อรุ่น ไม่มีการเลือกตั้งตลอดทศวรรษนี้ การพูด คิด วิพากษ์ สิ่งที่ตรงกันข้ามกับนโยบายรัฐนับเป็นความสุ่มเสี่ยงอย่างใหญ่หลวง หนัง นิยาย และเพลง จึงมีหน้าที่ปลอบประโลมผู้คน พาฝันไปสู่ดินแดนในจินตนาการที่ไม่มีเรื่องปวดหัวให้กวนใจอีกต่อไป

‘พระเอก’ หนังไทยยุคนั้นต้องแบกคุณค่าของความดีงามให้คนดูเทิดทูนบูชาไปพร้อมๆ กัน มิตรทั้งในและนอกจอจึงเป็นคนที่ดีพร้อมเสมอ ชีวิตของมิตรที่คนดูรับรู้คือชีวิตที่อยู่บนจอหนัง พระเอกคนอื่นๆ ก็เดินตามรอยเดียวกัน ขณะที่นางเอกล้วนเป็นผ้าพับไว้ตามค่านิยม ‘กุลสตรี’ อันดีงาม เพชรา เชาวราษฎร์, พิศมัย วิไลศักดิ์, ภาวนา ชนะจิต เหล่านี้กลายเป็นแม่แบบของผู้หญิงไทยแห่งยุคสมัย สวย เก๋ แฟชั่น แต่ก็ยังอยู่ในระเบียบอันดีงาม

หนังยุคนี้จึงทั้งบันเทิงและพาฝัน เหมือนนิยายร่วมยุคสมัยที่มุ่งมั่นพาคนดูหลีกหนีจากสถานการณ์การเมืองและสังคมในประเทศ ที่ปลายยุคเริ่มมีเค้าลางวิกฤตการณ์บางอย่างเกิดขึ้น นั่นคือการเปิดฉากสู้รบระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งแรกในวันที่ 7 สิงหาคม 2508 หรือที่รู้จักกันว่า ‘วันเสียงปืนแตก’

ช่วงเวลานั้น พิศาล อัครเศรณี กำลังเป็นผู้ประกาศข่าว นักจัดรายการ รวมทั้งพากย์และแสดงละครวิทยุ/โทรทัศน์ทางช่อง 4 บางขุนพรหม อาชีพข้างต้นปูทางให้เขาสู่อีกอาชีพหนึ่งที่ใกล้เคียงวงการหนังมากขึ้น นั่นคือการเป็นนักแสดงละครทางโทรทัศน์

2510’s

บนท้องถนนคลาคล่ำด้วยผู้คน นักเรียน-นักศึกษา-ปัญญาชนและคนใช้แรงงานต่างเดินขบวนเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ล้มล้างระบบเผด็จการที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน พวกเขาเรียนรู้แนวคิดทางการเมืองแบบใหม่ การเมืองที่ประชาชนเป็นใหญ่ มีสิทธิเสียงที่จะเลือกอนาคตของประเทศได้เอง หลายคนกลับจากเรียนต่อเมืองนอกเพื่อพบว่าประเทศบ้านเกิดล้าหลังกว่าที่คิด พวกเขาบอกเล่าแนวคิดทางการเมืองผ่านสื่อหลากหลาย ทั้งหนังสือ เพลง และหนัง

สังคมไทยเริ่มเรียนรู้ว่าหนังเป็นได้มากกว่าแค่ความบันเทิง ปี 2516 ปีเดียวกับที่เกิดเหตุ 14 ตุลา 16 หนังสองเรื่อง ตลาดพรหมจารีย์ และ เขาชื่อกานต์  ชวนให้ตั้งคำถามถึงสภาพสังคมที่พวกเขาอยู่ ฉุดให้คนดูกลับลงมาติดดิน เลิกฟุ้งฝัน เผชิญหน้ากับปัญหาที่ก่อตัวขึ้นรอบๆ ตัวพวกเขาจริงๆ เสียที ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ข้าราชการคอร์รัปชัน กฎหมายสองมาตรฐาน คนรวยมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนจน ฯลฯ

นับจากนั้นวงการหนังไทยก็มีแต่เดินหน้า ผละจากเนื้อหาน้ำเน่าซ้ำซาก ลดละเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หันมาให้ความสนใจกับปัญหาชีวิตปากท้อง เลิกเชิดชูความรักบริสุทธิ์ มุ่งสำรวจเส้นแบ่งศีลธรรมอันเลือนราง เกิดหนัง ‘โป๊’ ที่ไม่ได้หมายความแค่การโป๊เปลือยทางร่างกาย แต่ยังเปลือยสังคมและผู้คนที่วนเวียนใช้ชีวิตปากกัดตีนถีบระดับรากหญ้า หนังอย่าง เทพธิดาโรงแรม, ทองประกายแสด, ขัง 8, รอยมลทิน, สาวสิบเจ็ด พูดถึงประเด็นทางเพศ นางเอกในหนังไทยไม่ใช่ผ้าพับไว้อีกต่อไป การเปิดเปลือยเนื้อหนังกลายเป็นการแสดงออกซึ่งอิสรภาพ อิสระแห่งเรือนร่าง

หนังชีวิตที่ยังมีการสร้างอยู่ก็ดุเดือดขึ้น หมิ่นเหม่ และไม่ได้จบลงสวยงาม ‘สวัสดี’ ตามแบบหนังไทยยุคก่อน น้ำผึ้งขม เลือก สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ ดาวร้ายมารับบทพระเอกที่ต้องตบจูบและมีสัมพันธ์กับนางเอกอายุคราวลูก ความรักครั้งสุดท้าย เล่าถึงแม่ลูกติด (ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์) ที่ค้นหาความหมายของชีวิตผ่านการมีสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน ถนนนี้ชั่ว, สตรีที่โลกลืม พูดถึงชีวิตผู้หญิงที่แกว่งไกวอยู่บนเส้นแบ่งอันเลือนรางทางศีลธรรม ไม่มีผิดถูกอีกต่อไป

พิศาล อัครเศรณี เริ่มแสดงภาพยนตร์บ้างแล้ว ใน สกุลกา, สายเลือดเดียวกัน, เรือมนุษย์ แต่ยุคนี้ยังไม่ใช่พื้นที่ของเขา นี่คือยุคของพระเอกกล้ามโต สมบัติ เมทะนี ตามด้วยพระเอกคู่หู กรุง ศรีวิไล และ สรพงษ์ ชาตรี หนังบู๊ยังครองเมือง และยิ่งได้รับความนิยมสูงขึ้นอีกหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 หนังบู๊มาเป็นอันดับหนึ่ง เปิดศักราชด้วย คมเคียว ที่เป็นหนังบู๊ภูธรยุคใหม่เข้มข้นสะใจ วิพากษ์การเมืองและสังคมเผ็ดร้อนไม่แพ้หนังชีวิต ตัวร้ายเป็นนายทุนชั่ว นักการเมืองคอร์รัปชัน ข้าราชการท้องถิ่น ฯลฯ ที่คนดูรู้สึกคุ้นเคยพบเจอได้ในชีวิตจริง ดูแล้วอินและสะใจไปพร้อมกัน

ปลายทศวรรษนี้เองที่อีกเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ไม่เพียงแต่ทำลายชีวิตผู้คนและประชาธิปไตย แต่ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อหนังไทย ทำให้ ‘ยุคทอง’ หนังบู๊ต่อเนื่องอีก 10 ปี และจบยุคหนังชีวิตวิพากษ์สังคมไปโดยปริยาย เมื่อการเมืองมีบทบาทเหนือหนัง หนังไม่อาจรับใช้ผู้คนและอุดมการณ์ได้อีกต่อไป…

 

2520’s

“ตอนที่อาขึ้นมาเป็นพระเอก ในตอนนั้นมีพระเอกคนอื่นๆ อย่าง มิตร ชัยบัญชา, สมบัติ เมทะนี, ไชยา สุริยัน ซึ่งเขาเป็นพระเอกที่สมบูรณ์แบบกันหมด หล่อและหุ่นดี แล้วอาจะไปอะไรกับเขาได้ เพราะอาเตี้ยก็เตี้ย ดำก็ดำ บางทียังอ้วนอีก ก็เลยลองคิดฉีกแนวเพื่อให้เราเกิดขึ้นมาให้ได้ ในขณะที่พระเอกคนอื่นเขาจีบนางเอกกันแบบอ่อนหวาน ของเราก็ตบนางเอกจูบนางเอกเลยดีกว่า”

หนังเรื่องแรกที่ทำให้คนดูทั่วไปรู้จัก พิศาล อัครเศรณี ในฐานะพระเอกคือเรื่อง รักเอย ซึ่งสดใหม่ในยุคนั้น ด้วยคาแรคเตอร์เจ้าอารมณ์ ปากร้าย แต่จริงใจ และติดดิน มีความดิบเป็นธรรมชาติในตัว แตกต่างจากการเป็นพระเอกในอุดมคติที่ต้องตัวโตกล้ามใหญ่สุภาพบุรุษ ทำให้พิศาลแจ้งเกิดจากบทนำเรื่องแรกได้อย่างงดงาม ก่อนจะตอกย้ำคาแรคเตอร์เดิมนี้อีกครั้งในเรื่อง มนต์รักอสูร ซึ่งเรื่องนี้คือจุดเริ่มตำนาน ‘ตบจูบ’ ยุคพิศาลอย่างแท้จริง

มนต์รักอสูร กำกับโดย หม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรชัย ที่หลังเริ่มต้นทำหนังบู๊ตามสมัยนิยมอย่างเรื่อง เจ้าแม่ แล้วไม่ประสบความสำเร็จ ก็หันมาทำหนังชีวิตรัก เรื่อง รักเอย ได้รับความนิยมมาก จนทรงเลือกทำ มนต์รักอสูร ต่อทันที แม้จะมีต้นธารมาจากบทประพันธ์เก่าที่เคยทำเป็นหนังมาแล้วในปี 2497 และเป็นละครโทรทัศน์ในปี 2518 (พิศาลรับบทพระเอกในฉบับละครมาก่อนด้วย) แต่ด้วยรสชาติที่แปลกใหม่ ทำให้เป็นหนังรักที่ดิบเถื่อนผิดความรับรู้คนดูไทยโดยสิ้นเชิง

โดยเฉพาะฉากเปิดตัวพระเอก ที่เดินเข้าเฟรมในสภาพโทรม หนวดเครารกรุงรัง เสื้อผ้าชุ่มด้วยเหงื่อ ก่อนจะปะทะคารมกับนางเอก (เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์) อย่างดุเดือด ต่อปากคำด้วยถ้อยคำรุนแรง จบลงด้วยการขว้างปาและทำลายข้าวของ ราวกับว่าตัวละครพระเอกที่รับบทโดย พิศาล อัครเศรณี ได้เป็น ‘อสูร’ จริงๆ โครงเรื่องที่ดูประหนึ่ง Beauty and The Beast ที่นางเอกต้องตกเป็นทาสในเรือนพระเอก ถูกใช้งานกลั่นแกล้งสารพัด เนาวรัตน์เล่นได้น่าสงสารจับใจ รับกับการแสดงดุดันสมจริงในสไตล์พิศาล ทำให้หนังเรื่องนี้สร้างมิติใหม่ให้แก่หนังรักชีวิตไทย ทุกอย่างสุดโต่ง รุนแรงจริง ถึงเลือดถึงเนื้อจริง ความรักไม่ใช่สิ่งสวยงามอีกต่อไป แต่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคกันแบบถึงเลือดถึงเนื้อ

คาแรคเตอร์ดิบเถื่อนดุดันนี้กลายเป็นภาพจำของพิศาลไปในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พระเอกนักบู๊เริ่มโรยรา ยุคของพระเอกที่ใกล้เคียงชาวบ้าน เป็นมนุษย์ธรรมดาเดินดิน เข้ามามีบทบาทแทน สรพงษ์ ชาตรี, ไพโรจน์ สังวริบุตร, ปิยะ ตระกูลราษฎร์ และ จตุพล ภูอภิรมย์ คือกลุ่มพระเอกรุ่นเดียวกับพิศาลที่หนักไปทางเล่นหนังชีวิต หรือถึงจะไปเล่นหนังบู๊ แต่ก็สร้างชีวิตเลือดเนื้อให้แก่ตัวละครมากขึ้น เช่น เลือดทมิฬ  พิศาลรับบทตำรวจตระเวนชายแดน ที่กลับบ้านไปพบว่า พ่อแม่น้องสาวถูกนายทุนชั่วฆ่าล้างบ้าน เขาจึงลักพาตัวลูกสาวเจ้าพ่อไปทรมานทรกรรมในป่า เพื่อล้างแค้น ในเรื่องตอนที่พิศาลจับตัวเนาวรัตน์ได้แต่เธอพยายามขัดขืนบนรถจี๊ป พิศาลจึงถีบเธอตกรถอย่างไม่ปรานี!

เลือดทมิฬ  ยังเป็นหนังที่พิศาลกำกับ-นำแสดงเอง ยังคงมีงานหนังตบจูบที่ผสมบู๊บ้าง หนักชีวิตบ้างเข้าไปในเรื่อง โดยเฉพาะหนังในยุคปลายทศวรรษอย่าง ไฟรักอสูร, อุ้งมือมาร, หัวใจเถื่อน และ พิศวาสซาตาน คืองานที่เขาล้วนแล้วแต่ผลิตซ้ำภาพจำความเป็นคนดิบเถื่อนรุนแรงออกมา แต่ในภาพซ้ำเหล่านั้น กลับฉายภาพหนึ่งชัดมากขึ้นเรื่อยๆ

ภาพนั้นคือความแตกต่างระหว่างชนชั้นสุดขั้วของสังคมไทย ตลอดช่วงทศวรรษ 2520

ไฟรักในอุ้งมือซาตาน

ผลงานหนังของพิศาลตลอดทศวรรษ 2520 เต็มไปด้วยท่าทีของความรุนแรง แต่ไม่ใช่ความรุนแรงไร้สาระ เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว เป็นความรุนแรงระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เราอาจกล่าวได้ว่านี่คือ ‘แผลตกสะเก็ด’ หลังเหตุการณ์ทางการเมืองในทศวรรษก่อนหน้า และท่าทีที่เปลี่ยนไปสิ้นเชิงของการเมืองในทศวรรษนี้ จากที่เคยพูดได้กลับถูกห้ามให้พูด จากที่เคยมีโอกาสได้คิดและทำกลับถูกมัดมือขาให้ห้ามคิดทำนอกกรอบ กรอบที่คนทำหนังต้องหาที่ทางของตัวเองอยู่ให้ได้ และไม่เสียสิ่งที่ตัวเองอยากจะพูดด้วย

ผู้เขียนมองเสมอว่า พิศาล อัครเศรณี ในฐานะผู้กำกับหนังนั้น มีความสำคัญไม่แพ้ เพิ่มพล เชยอรุณ, ทรนง ศรีเชื้อ, คิด สุวรรณศร รวมไปถึง หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่หยิบความรุนแรงในสังคมมานำเสนอผ่านหนัง ทั้งความรุนแรงแบบจับต้องได้อย่างการเข่นฆ่าและเซ็กส์ จนถึงความรุนแรงแฝงเร้นที่มาพร้อมการกดขี่ทางชนชั้น-ฐานะ ช่องว่างมโหฬารระหว่างคนรวยกับคนจนก่อให้เกิดความอยุติธรรมที่ไม่มีพระเอกคนไหนสามารถแก้ไขได้ เป็นปัญหาเรื้อรังที่สุดท้ายตัวละครในหนังของพวกเขาล้วนประสบกับความพ่ายแพ้ สิ้นไร้หนทาง เช่นเดียวกับคนดูตลอดทศวรรษดังกล่าว

เลือดทมิฬ ผลงานกำกับเรื่องแรกๆ ของพิศาลที่เป็นแนวทางหนังตบจูบ ผสมหนังบู๊ภูธรร่วมยุค พูดถึงคนตัวเล็กๆ ที่หาญกล้าต่อกรเจ้าพ่อในท้องถิ่น ผิดแต่บทสรุปในเลือดทมิฬคือความจริงของชีวิต สุดท้ายพระเอกไม่สามารถลบล้างความรุนแรงที่ทำมาตลอดทั้งเรื่องด้วยคำว่า “ผมเป็นร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา” ได้เลย บทสรุปของหนังจึงทั้งเจ็บปวด รุนแรงและบาดลึกในความรู้สึกคนดู เมื่อเห็นพระเอก-นางเอกตัดสินใจยิงตัวตายเพื่อหนีความผิดที่ก่อมาทั้งหมด

ดวงตาสวรรค์ เป็นหนังไม่กี่เรื่องที่พิศาลกำกับแล้วเลือกเล่าเรื่องในวังวนคนชนชั้นสูง ครอบครัวผู้ดีเก่าที่กำลังแตกสลายเป็นเสี่ยงๆ ทั้งปัญหาทางการเงินและความสัมพันธ์ของพี่น้องในตระกูลที่หลงรักผู้หญิงคนเดียวกัน เด็กสาวที่ถูกเก็บมาเลี้ยงชื่อ แพน …ความรุนแรงในหนังเป็นเรื่องความรู้สึกล้วนๆ แทบไม่มีการลงไม้ลงมือเช่นหนังพิศาลเรื่องอื่นๆ

อุ้งมือมาร ผลงานหนังที่ผู้เขียนเห็นว่ากลมกล่อมดีที่สุดในกลุ่มหนังตบจูบ พิศาลเล่าเรื่องตังเกหนุ่มที่เรือซึ่งเขากู้ซื้อมากำลังจะถูกยึด จึงพยายามไปเจรจากับเจ้าของเงินกู้ทว่ากลับเจอเพียงลูกสาวแทน ด้วยความร้อนใจจึงจับตัวหล่อนบังคับไปหาพ่อเพื่อเจรจาเรื่องหนี้เรือ หนังผสมความเป็นหนังโรดทริป บุกตะลุยป่าเขาโดยพระเอกนางเอกต้องเอาชีวิตรอดทั้งจากความลำบากลำบนในป่าและการปะทะคารมกันเอง บทสนทนาเชือดเฉือนระหว่างพระเอกนางเอกนั้นอัดแน่นด้วยการถกถึงค่านิยมเรื่องคู่ครอง-ชนชั้น-รูปร่างหน้าตา นางเอกจบนอกเฝ้าแต่ดูถูกชีวิตพระเอกที่จนและทำงานหนัก ขณะที่เขาเอาเรื่องที่เธอช่างเลือกจนตกพุ่มม่ายมาล้อเลียนจนเสียความมั่นใจ

พิศวาสซาตาน แม้ไม่ใช่ผลงานกำกับเรื่องสุดท้ายของพิศาล แต่นี่เป็นผลงานเรื่องสุดท้ายในทศวรรษนี้ และเป็นผลงานในแนวทาง ‘หนังตบจูบ’ เพียงไม่กี่เรื่องที่หลุดพ้นจากเรื่องความรักไปสู่เรื่องตัณหาล้วนๆ เล่าเรื่องพระเอก (พิศาล) ที่หนีคุกมาอยู่ยังคฤหาสน์แห่งหนึ่งซึ่งมีแต่ผู้หญิงอยู่ล้วน และผู้หญิงทุกคนในที่นั้นล้วนปรารถนาในตัวเขา อันนำมาสู่การทรยศ โป้ปด ทำร้ายกันเองในหมู่พวกผู้หญิง แต่ละคนแสดงออกชัดเจนถึงความ ‘ต้องการทางเพศ’ จนนำไปสู่ประเด็นถกเถียงนอกโรงหนังมาแล้ว

“อย่างตอนทำ พิศวาสซาตาน ก็ไปนั่งทะเลาะกับกรรมการสภาสตรีแห่งชาติ เขาว่าทำไมพิศาลทำหนังแบบนี้ทำไมต้องโหดร้ายแบบนี้ เราก็บอกไปว่าคนที่เล่นเป็นตัวแสดงคนนั้นไม่ใช่พิศาล แต่เป็นนักโทษหนีคุก ก็เถียงกันไปจนสุดท้ายทะเลาะกัน เพราะคนเราแบ่งความรู้สึกไม่ออก”

ถ้ามีโอกาสได้ดูหนังพิศาลอีกครั้ง เราจะพบว่า พิศวาสซาตาน เป็นหนังตบจูบที่พลิกขนบครั้งใหญ่ที่สุดของพิศาล ในเรื่องตัวละครที่เขาได้รับนั้นแสดงตนเป็นคนดี อ่อนแอ และเปราะบาง เก็บซ่อนความอำมหิตใคร่รักไว้ใต้จิตสำนึก ผิดจากตัวละครเจ้าอารมณ์ ปากร้ายใจอ่อน ตรงไปตรงมา อย่างที่เขาเคยรับมาตลอดชีวิต เล่นกับความไว้เนื้อเชื่อใจในความดีของตัวละครที่คนดูคุ้นชินมาตลอด จนนำไปสู่บทสรุปชวนช็อก เมื่อตัวละครของพิศาลประสบอุบัติเหตุถูกตัดขาทั้งสองข้าง แต่ยังถูกกักขังให้อยู่ในคฤหาสน์แห่งนั้นต่อไป ในฐานะเครื่องบำเรอกาม

หนังตบจูบของพิศาลรุ่งเรืองและออกฉายตลอดช่วงทศวรรษ 2520 ผ่านช่วงเวลาแห่งความซับซ้อนของสังคมไทยที่เริ่มต้นทศวรรษด้วยสงครามกับคอมมิวนิสต์ การขึ้นสู่อำนาจของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พร้อมคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ที่ผ่อนปรนให้ผู้เคยถูกประณามเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และต้องหลบซ่อนตัวในป่า สามารถคืนเมืองกลับตัวได้โดยไม่ต้องรับโทษ ก่อนล่วงสู่ปลายทศวรรษที่เห็นเค้าลางปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่รออยู่

ความรุนแรงในหนังเองก็มีลักษณะหนักเบาผ่อนคลายตามสถานการณ์ทางการเมือง พร้อมๆ กันกับสถานการณ์หนังไทยโดยรวมที่เริ่มเจอปัญหาใหม่คือ การเข้ามาของวิดีโอเทป และยุคบูมของโทรทัศน์ ซ้ำหนังต่างประเทศยังพัฒนาก้าวกระโดดจนหนังไทยตามไม่ทัน เนื้อหาและทุนสร้างที่จำกัดทำให้สุดท้ายคนทำหนังเองหันลงทำละครโทรทัศน์แทน เช่นเดียวกับพิศาลที่เลือกรีเมคหนังดังในอดีตของตนเป็นละครต่อเนื่อง ตั้งแต่ มนต์รักอสูร, ไฟรักอสูร จนถึง อุ้งมือมาร

จากจุดเริ่มของหนังตบจูบที่ความรุนแรงเป็นแผลสะเก็ดทางการเมือง ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันลดรูปของความซับซ้อนประเด็นทางสังคม การเมือง และชนชั้นลง เหลือเพียงความพาฝันบันเทิงยามเย็นย่ำในจอแก้ว

นับจาก พิศวาสซาตาน ไม่มี ‘หนังตบจูบ’ ในความหมายของหนังพิศาลฉายโรงอีกต่อไป

“คำว่าพระเอกซาดิสต์ พระเอกตบจูบ ที่อาได้ฉายามา ส่วนหนึ่งก็รู้สึกภูมิใจว่าเราสร้างตรงนี้ขึ้นมาได้และทุกคนให้การยอมรับ เวลามีคนเรียกเราก็ภูมิใจเพราะมันสร้างให้เรามีชื่อ แต่ถามว่าชอบไหมไม่ชอบนะ เพราะมันไม่ใช่ตัวเราแต่มันคือจุดขายของเราต่างหาก และเวลาแสดงเราก็ต้องถอดใจเป็นตรงนี้เป็นตัวซาดิสต์ให้ได้ แต่เวลาอยู่บ้านเราเคยตีลูกสักแปะที่ไหนล่ะ เป็นพ่อที่ใจดีมาก ชีวิตจริงไม่เคยรุนแรงเลยเวลาอยู่กับครอบครัว แต่เวลาเราทำอะไรที่ค้านกับตัวเองแล้วได้รับความสำเร็จก็ต้องเดินต่อไปเท่านั้นเอง”

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ พิศาล อัครเศรณี จาก ‘พิศาล อัครเศรณี’ ต้นแบบพระเอกตบจูบ / เว็บไซต์ pantip.com

Author

ชาญชนะ หอมทรัพย์
ชาญชนะ หอมทรัพย์ เกิดในยุคโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเต็มเมือง ผ่านทั้งยุควิดีโอเทป ติดหนังจีนชุดจนถึงซีรีส์ Netflix ปัจจุบันทำงานเขียนบทภาพยนตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งไทย-เทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า