จงเป็นติ่งเกาหลีอย่างสร้างสรรค์

เรื่อง: ชลิตา สุนันทาภรณ์ / รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากสหรัฐอเมริกายืนยันที่จะติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD (Terminal High Altitude Area Defense System) อย่างเป็นทางการให้กับเกาหลีใต้เพื่อป้องกันขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือ คลื่นความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีก็ดูเหมือนจะยิ่งเกรี้ยวกราดมากกว่าเดิม

ไม่มีใครรู้ว่าระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ของสหรัฐแท้จริงแล้วมีนัยยะอะไรซ่อนเร้นอยู่หรือเปล่า แต่แน่นอนว่า จีนในฐานะที่ซี้กับเกาหลีเหนือ และระบบดังกล่าวของสหรัฐถูกติดตั้งที่เมืองซูจง เกาหลีใต้ซึ่งใกล้กับชายแดนจีน เราจึงเห็นท่าทีต่อต้านเกาหลีใต้ในประเทศจีนเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่สั่งแบนอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี ไล่ไปจนถึงยานยนต์ ห้างสรรพสินค้า อาหาร และธุรกิจท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ท่าทีดังกล่าวของจีนไม่ใช่เพิ่งเริ่มขึ้น เพราะกระแสนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เกาหลีใต้เริ่มต้นเจรจาข้อตกลงติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ร่วมกับสหรัฐอเมริกา เราเห็นกลุ่มบอยแบนด์เกาหลีอย่าง EXO ที่มีแฟนคลับมหาศาลในจีนถูกยกเลิกทัวร์คอนเสิร์ต และเราเห็นงานแฟนมีทติ้งของ คิมอูบิน และ ซูจี นักแสดงนำจากซีรีส์เรื่อง Uncontrollably Fond ถูกผู้จัดงานในจีนเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ทำเอาภาคเอกชนเกาหลีใต้กุมขมับ เพราะจีนคือตลาดที่ใหญ่ที่สุดของพวกเขา

ทว่าความไม่มั่นคงทางการเมืองก็ได้ค่อยๆ แทรกซึมไปสู่ความรู้สึกร่วมของประชาชนในแถบคาบสมุทรนี้ จนนำมาสู่ ‘กระแสไม่เอาเกาหลีใต้’ ที่ชาวจีนแสดงท่าทีต่อต้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

WAY ชวน ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพิธีกรรายการประเพทไทย ทางแชลแนลของประชาไท มาพูดคุยตั้งแต่ปัญหาความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ไปจนถึง ‘ความเป็นติ่ง’

ปองขวัญแสดงรสนิยมของตัวเองชัดเจนผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว และกับลูกศิษย์ลูกหาว่า เธอเสพ K-pop และสนอกสนใจอย่างมากถึงขั้นก้าวไปศึกษาเรื่องราวทางการเมืองที่แวดล้อมอยู่ทั่วทุกบริบท

ปองขวัญพูดถึงบทสนทนาทั้งหมดพร้อมกับหัวเราะก่อนเริ่มต้นว่า “จงเป็นติ่งเกาหลีอย่างสร้างสรรค์”

 

PART 1: เป็นการเป็นงาน

จากที่เห็นในข่าว เหมือนว่าจะเป็นปัญหาทางการเมืองของทั้งสองประเทศ แต่ทำไมเราถึงเห็นเทรนด์การตอบโต้ของจีนต่อเกาหลีใต้ในลักษณะของความขัดแย้งทางวัฒนธรรม

ความจริงแล้วตัวความขัดแย้งมันไม่ใช่ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม แต่เป็นความขัดแย้งทางการเมือง เป็นเรื่องของความมั่นคงของรัฐ และรัฐก็ทำให้คนมีความรู้สึกร่วมกับสิ่งนั้น ทีนี้มันเลยย้อนกลับและส่งผลไปยังด้านวัฒนธรรม

เมื่อปีที่ผ่านมา จีนเริ่มแบนศิลปินเกาหลีที่จะเข้ามาในประเทศตัวเอง โดยข้ออ้างที่รัฐบาลจีนอธิบายต่อประชาชนคือ วัฒนธรรมเกาหลีที่เข้ามาอาจส่งผลเสียและบั่นทอนวัฒนธรรมของจีนได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่นักวิเคราะห์พูดกันว่า เพราะเกาหลีใต้ส่งออกอุตสาหกรรมบันเทิงไปยังจีนเป็นจำนวนมาก และจีนเองก็เป็นตลาดใหญ่ เราจะเห็นเทรนด์ที่ว่าวงเกาหลีเริ่มมีสมาชิกเป็นคนจีนหลายวงมากขึ้น เช่น EXO หรือ GOT7 ถามว่าทำไม…ก็นี่เป็นตลาดใหม่ ไม่ใช่ญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นอิ่มตัวแล้ว

แต่แน่นอนว่าจะมาบอกโต้งๆ ได้ยังไงว่านี่คือการกีดกันทางการค้าอย่างหนึ่งเพื่อหวังผลทางการเมือง ซึ่งก็มีนักวิชาการเกาหลีใต้จำนวนมากวิเคราะห์ว่า จีนกำลังกดดันรัฐบาลเกาหลีใต้โดยตรง เพื่อให้ระงับการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ผ่านธุรกิจบันเทิงเกาหลีใต้

หมายความว่าอุตสาหกรรมบันเทิงหรือภาคธุรกิจมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลจีน

ต้องยอมรับก่อนว่า อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้กับตลาดจีนมีความใกล้ชิดกัน ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงหวังว่า ภาคธุรกิจเกาหลีใต้จะได้รับผลกระทบต่อการตัดสินใจของรัฐบาล จากการที่รัฐบาลจีนปิดตลาดใส่ จะเห็นได้ว่าหลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศแบนสินค้าวัฒนธรรมเกาหลีใต้ หุ้นของบริษัทบันเทิงดังๆ ของเกาหลีใต้ก็ร่วงกันระนาว

ล่าสุดที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าประชาชนจีนแบนสินค้าและห้างสรรพสินค้าลอตเต้ (Lotte) ที่เข้าไปในจีน เราเห็นศิลปินเกาหลีบางคนโพสต์รูปเกี่ยวข้องกับสินค้าลอตเต้ แล้วถูกชาวจีนที่เป็นแฟนคลับของพวกเขามาโวยวาย คือประเด็นของลอตเต้อยู่ที่ว่า การติดตั้ง THAAD ดันไปทำในพื้นที่ของลอตเต้ ดังนั้นวิธีการบังคับให้ลอตเต้ไปเจรจาอีกครั้งกับรัฐบาลก็คือ การแบนสินค้าและปิดห้างลอตเต้ เพื่อให้รัฐบาลเกาหลีใต้เปลี่ยนนโยบายต่อการติดตั้ง THAAD ใหม่ ซึ่งในตอนนี้เกาหลีใต้ก็ยังไม่มีมาตรการตอบโต้อะไร

เกาหลีใต้กับจีนเคยคุยกันก่อนไหม ก่อนที่จีนจะหันมาใช้ตัวแสดงภาคเอกชนมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

มีการเจรจาหลายครั้ง แต่เรามองว่า ตอนนี้เกาหลีใต้อยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเหมือนกัน เพราะเกาหลีใต้ส่งออกไปที่จีนเยอะมาก เป็นการลงทุนที่พึ่งพิงจีนค่อนข้างมาก ซึ่งทางรัฐบาลเกาหลีใต้เองก็อยากจะประนีประนอมกับจีนอยู่แล้ว แต่ภัยคุกคามกับเกาหลีเหนือเป็นภัยเร่งด่วนต่อหน้าจริงๆ ประเด็นนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และจีน เพราะการติดตั้ง THAAD เป็นสิ่งที่สหรัฐต้องการด้วย

การที่คาบสมุทรเกาหลีไม่มีเสถียรภาพ ส่งผลกระทบต่อตัวแสดงหลายตัวมาก ดังนั้นสหรัฐจึงสนับสนุนการติดตั้ง THAAD แทบร้อยเปอร์เซ็นต์ และยังเป็นระบบของตัวเองด้วย ถึงแม้ว่าจีนจะต่อต้านขนาดนี้แล้ว แต่เกาหลีใต้จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อประเด็นภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือเร่งด่วนกว่า

ก่อนหน้านี้เราจะเห็นข่าวเกี่ยวกับการเจรจาดีเลย์กันหลายฝ่าย เราจะเห็นประเด็นในการเจรจาว่าควรติดตั้ง THAAD หรือไม่ แต่สุดท้ายก็ต้องติดตั้ง ดังนั้นนโยบายที่จะบีบบังคับรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ก็คือ ภาคเอกชน ซึ่งเรามองว่าจีนฉลาดมาก และเป็นวิธีที่จีนใช้มาตลอด คือการกล่าวหาว่าการกระทำของประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศพันธมิตรของสหรัฐ ว่าก้าวร้าว จากนั้นจึงใช้วิธีการทางเศรษฐกิจมากดดัน ซึ่งจีนเคยทำแล้วในกรณีฟิลิปปินส์ แต่ถามว่าควรทำในโลกที่ยึดถือการค้าเสรีหรือเปล่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ทำไมอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีสามารถเข้าถึงคนจีน รวมถึงหลายๆ ประเทศได้

ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมและวัฒนธรรมบันเทิงของเกาหลีผ่านการทำการศึกษาและวิจัยอย่างรอบคอบ ว่าต้องวางภาพลักษณ์ วางเนื้อหาอย่างไรจึงจะเข้าถึงตลาดได้ ส่วนหนึ่งเป็นการ ‘สร้าง’ และการทำตลาดในลักษณะสินค้ามากกว่าการทำงานศิลปะ แต่ไม่ได้แปลว่าทั้งหมดไม่ใช่งานศิลปะนะ เพราะหลายครั้งการลองตลาดก็ทำให้งานออกมาแหวกแนวดี

สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตได้ก็คือ เกาหลีเลือกตลาดชัดเจน คือตลาดผู้หญิง ดังนั้นละครหรือเพลงจึงเจาะไปที่ตลาดผู้หญิง ผู้หญิงคือตัวเอกของละคร ทำให้เรารู้สึกสัมผัสได้ ส่วนที่สองที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือ ภาพยนตร์เกาหลีแทบจะทำตามสูตรสำเร็จของฮอลลีวูด K-Pop ก็คือ American Pop ดีๆ นี่เอง ไม่ได้แตกต่างแหวกแนวมากจนทำให้คนบริโภคยาก

จากสถานการณ์ตอนนี้ หากตลาดจีนถูกปิด และเราเห็นเทรนด์ที่ศิลปินเกาหลีเดินทางมาฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบถึงเรื่องการเมืองในแถบนี้บ้างไหม

ถ้ามองเฉพาะธุรกิจบันเทิงก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมาก ยกเว้นแต่ดารานักร้องเกาหลีเดินสายมาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น แต่ว่าจะกระทบไปถึงเรื่องการเมืองหรือเปล่า…ในระยะสั้นยังไม่เห็นความเป็นไปได้

เรารู้กันอยู่แล้วว่า ปัญหาที่จีนแบนเกาหลีใต้ไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรม แต่เป็นเรื่องการเมือง แต่เรายังไม่เห็นความเป็นปฏิปักษ์กันทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะการปกครองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความชาตินิยมสูงและค่อนข้างเป็นอำนาจนิยม ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าวันหนึ่งจะมีการประกาศต่อต้านวัฒนธรรมต่างชาติหรือเปล่า

ถ้ามีกรณีนั้นจริงๆ ก็อาจเป็นไปได้ว่าเกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย แต่ในระยะสั้นหรือระยะกลางยังไม่เห็น เพราะเอาเข้าจริงแล้วประเด็นที่แท้จริงของเกาหลีใต้คือ อยากให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้สึกว่า การที่เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์และสามารถยิงไปที่ไหนก็ได้ มันกระทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราจะสามารถเรียกอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเกาหลีที่ส่งออกไปต่างประเทศเป็นจำนวนมากว่าเป็น soft power ได้หรือไม่

อุตสาหกรรมวัฒนธรรมถือว่าเป็น soft power ไหม ต้องแยกดูทีละคำก่อน ย้อนกลับไปดูว่านิยามของ soft power คืออะไร อย่าง Soft Power ที่เขียนโดยโจเซฟ ไนย์ (Joseph Nye) อธิบายไว้ว่า คือ อิทธิพลในการบังคับให้ประเทศอื่นทำตามสิ่งที่ต้องการโดยไม่ต้องบังคับหรือจูงใจ

แล้วเราเคยเห็นเกาหลีใต้ได้อะไร หรือเคยเห็นเกาหลีใต้ได้สิ่งที่เขาต้องการโดยที่ไม่ได้บังคับหรือจูงใจแล้วหรือยัง ถ้ามองตามนิยามข้างต้น…เราว่ายัง เพราะสิ่งที่เกาหลีใต้ต้องการจากระบบการเมืองโลกยังไม่ชัดเจน

มีงานเขียนหลายชิ้นวิเคราะห์ว่า กระแส K-Pop หรือ ฮันรยู (หมายถึง ปรากฏการณ์ความนิยมวัฒนธรรมเกาหลีที่มาจากอิทธิพลของสินค้าวัฒนธรรมเกาหลี) เป็น soft power ของเกาหลีใต้ เพราะสามารถทำให้ทัศนคติของต่างชาติที่มองเกาหลีใต้เปลี่ยนไปจากเดิม ใช่…เกาหลีใต้ปรับทัศนคติคนทั้งโลกให้ไปในทางที่ดีขึ้น คนทั่วโลกเริ่มหันมาบริโภค K-Pop กันจนไปไกลถึงลาตินอเมริกา เราเห็นชาวละตินร้อง ‘โอปป้าๆ’ (oppa ภาษาเกาหลี แปลว่า พี่ชาย)

แต่ในเมื่อจุดประสงค์ทางการทูตของเกาหลีใต้ยังไม่ชัดเจน และยังไม่รู้ว่าต้องการแบบไหน โดยความเห็นส่วนตัวจึงมองว่า ไม่สามารถเรียกว่าเป็น soft power ได้ เพราะวัฒนธรรมเกาหลีจะเป็น power ก็ต่อเมื่อมีการใช้ power ถึงแม้ทุกคนจะจดจำภาพใหม่ของเกาหลีใต้ได้ แต่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมเกาหลีก็ยังไม่มีบทบาทในฐานะที่เป็น power

ประเด็นหลักของเกาหลีใต้คือ ต้องการให้ประเทศต่างๆ หันมาสนใจเรื่องภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ แต่ถามว่ามีตัวชี้วัดไหมว่าประเด็นเกาหลีเหนือจะเป็นประเด็นสำคัญต่อประเทศอื่นด้วย ส่วนตัวคิดว่ายังไม่ถึงจุดนั้น เห็นชัดๆ อย่างอาเซียนเองก็ยังไม่สนใจเกาหลีเหนือเท่าไรนัก

เป็นไปได้ไหมว่า เมื่อกระแส K-Pop ที่เติบโตขึ้นจากภาคเอกชนมีผลตอบรับที่ดี รัฐบาลจึงดึงมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ใช่ค่ะ คือกระแส K-Pop เติบโตขึ้นมาด้วยความบังเอิญ ไม่ใช่การวางแผนจากรัฐบาล คืออยู่ดีๆ ก็ติดตลาดขึ้นมา เมื่อเป็นแบบนั้นแล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้จึงให้การสนับสนุนกับกระแส K-Pop มากขึ้น มีนโยบายด้านวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น เช่น ถ้าศิลปินไปจัดแสดงต่างประเทศก็อาจได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล

ผลที่ได้จากกระแส K-Pop ส่วนหนึ่งเกิดจากการสนับสนุนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องของการขายสินค้าและวัฒนธรรมอย่างเดียว แต่เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้น ภาพลักษณ์ประเทศในสายตาคนทั่วโลกก็เริ่มดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นไม่ได้ทำให้ประเด็นที่เกาหลีใต้ต้องการให้คนทั่วโลกเห็นความสำคัญมาอยู่ในความสนใจของผู้ออกแบบนโยบายของประเทศนั้นๆ กล่าวคือ หลายประเทศยังไม่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

ความรู้สึกไม่ไว้วางใจในแถบคาบสมุทรเกาหลีในขณะนี้เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือมากน้อยแค่ไหน

ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีนี่เกี่ยวข้องเกาหลีเหนือโดยตรงเลยค่ะ

การที่ประเทศหนึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์แต่คาดการณ์การใช้ไม่ได้ มันทำให้ความมั่นคงของประเทศอื่นไม่แน่นอน แต่ต่อให้ไม่มีปัญหาเกาหลีเหนือ ประเทศในแถบนี้ก็เป็นปฏิปักษ์กันในด้านประวัติศาสตร์อยู่แล้ว เช่น จีนกับเกาหลีใต้มีความบาดหมางทางประวัติศาสตร์ร่วมกันอยู่ก่อนแล้ว เกาหลีใต้เป็นพันธมิตรทางการทหารที่สำคัญของสหรัฐ ก็สร้างความไม่ไว้ใจให้กับจีนซึ่งไม่ลงรอยกับสหรัฐได้

เกาหลีใต้เองก็ไม่ไว้วางใจจีน ในฐานะที่จีนมีความสนิทสนมกับเกาหลีเหนืออยู่มาก และที่ผ่านมาจีนก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนืออยู่หลายครั้ง ยกเว้นครั้งล่าสุด อาจเรียกได้ว่าพื้นที่คาบสมุทรเกาหลี หรือกว้างกว่านั้นคือเอเชียตะวันออกกำลังกลายมาเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญเลยก็ได้

ความรู้สึกไม่ไว้วางใจในทางการเมือง เป็นความรู้สึกร่วมของประชาชนด้วยไหม

ประเทศในแถบนี้ก็ไม่ได้มีความรู้สึกร่วมในอดีตที่ดีกันสักเท่าไหร่อยู่แล้ว ในปัจจุบันการที่เกาหลีเหนือขู่ว่าจะยิงขีปนาวุธวันเว้นวันแบบนี้ มันก็ยิ่งทำให้คนเกาหลีใต้รู้สึกไม่มั่นคง

อีกอย่างสองประเทศก็ยังคงอยู่ในสภาวะสงคราม วันดีคืนดีเกาหลีเหนือจะใช้วิธีการใดในการตอบโต้ก็ไม่อาจรู้ได้ เกาหลีเหนือจึงเป็นภัยคุกคามของเกาหลีใต้เสมอ

ในกรณีจีน เนื่องจากเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่สามารถควบคุมสื่อได้แทบเบ็ดเสร็จ รัฐบาลจีนจึงสามารถใช้สื่อในการปลุกความเชื่อของคนภายในประเทศได้ ประชาชนจีนอาจจะเริ่มรู้สึกไม่มั่นคงจากการที่เกาหลีใต้ติดตั้ง THAAD ก็ได้ ถ้าย้อนกลับไปดูจะเห็นภาพที่คนจีนร่วมมือกันต่อต้าน ไม่กินนู่นนี่ ไม่ใช้สินค้าของต่างประเทศ

อย่างกรณีล่าสุดเรื่องทะเลจีนใต้ คนจีนก็ลุกฮือขึ้นมาโพสต์ภาพลงอินสตาแกรมเกี่ยวกับ ‘เส้นประเก้าเส้น’ (nine-dash-line) ของจีนเต็มไปหมดเลย จริงๆ แล้ว แม้ว่าประชาชนจีนอาจจะไม่รู้ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นในตอนนี้มั่นคงหรือไม่มั่นคง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกไม่มั่นคงเพราะตัวระบบ THAAD แต่เป็นความไม่มั่นคงที่รู้สึกจากการสร้างกระแสของรัฐบาลมากกว่า

ความรู้สึกร่วมนั้นเกิดขึ้นมานานแค่ไหนแล้ว

อาจจะไม่ไกลถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 และอาจจะไม่ได้ใช้ประวัติศาสตร์ร่วมในการปลุกระดม

ยกตัวอย่างจากข้อพิพาทดินแดนในทะเลจีนใต้ ก็ไม่ได้ปลุกระดมความขัดแย้งในอดีต แต่ปลุกระดมว่าบริเวณ nine-dash-line ตรงนั้นเป็นของจีน แล้วคนก็มีความรู้สึกร่วมกันว่าเป็นของของจีน ถึงแม้ว่าอาจไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมจากตรงนั้นโดยตรง

ส่วนกรณีเกาหลีใต้กับจีนก็มองได้ว่า แค่การให้ข้อมูลว่า THAAD สามารถล้วงความลับที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของจีนได้มากแค่ไหนก็เพียงพอแล้วในการปลุกระดม

ฝั่งเกาหลีใต้เขาก็ไม่มีความเชื่อใจจีนตั้งแต่อดีตอยู่แล้ว แต่ในกรณีเรื่อง THAAD ความรู้สึกร่วมของเกาหลีใต้ไม่ชัดเท่าจีน เพราะขั้วตรงข้ามของเกาหลีใต้เป็นเกาหลีเหนือมากกว่าจีน และภายในประเทศก็ยังมีความคิดหลากหลายเรื่องสถานะของเกาหลีใต้ในการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในขณะที่จีนพุ่งมาที่เกาหลีใต้โดยตรง

ดูจากสถานการณ์การเมืองเกาหลีใต้ตอนนี้ที่เพิ่งถอดถอน ปาร์ค กึน เฮ จากการเป็นประธานาธิบดี อนาคตข้างหน้าสถานการณ์ระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือจะเป็นอย่างไร

ดูมีแนวโน้มว่าพรรคฝ่ายตรงข้ามจะขึ้นเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากคะแนนของ ปาร์ค กึน เฮ ตกลงไปมาก ในขณะที่ บัน คี มุน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แม้จะได้รับความนิยมจากประชาชนค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่สามารถลงสนามเลือกตั้งได้ เพราะหาเงินสนับสนุนตัวเองไม่ได้

สำหรับพรรคฝ่ายค้านเองนั้นมีความซ้ายกว่านิดหนึ่ง ดังนั้นแนวทางของนโยบายเกาหลีใต้ต่อเกาหลีเหนือเมื่อย้ายมาอยู่ฝ่ายซ้าย จึงค่อนข้างที่จะลดมาตรการการคว่ำบาตรลง เนื่องจากเป็นแนวทางของพรรคนี้อยู่แล้ว และน่าจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเกาหลีเหนือมากขึ้น

ถามว่าทำไม เพราะเขามองว่าเป็นการช่วยเหลือคนภายในประเทศเกาหลีเหนือด้วย คือประชาชนจะได้รับผลกระทบจากการโดนคว่ำบาตรลดลง โดยมีแนวคิดที่เชื่อว่า การมีความสัมพันธ์กับประเทศที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ จะทำให้คนเหล่านี้ต้องปรับตัวเข้าหาบรรทัดฐานของระบบเอง

หากพรรคฝ่ายค้านได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลจริง ท่าทีของจีนและสหรัฐต่อประเด็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะเป็นอย่างไร

เกาหลีใต้จะมีปัญหากับจีนน้อยลงแน่นอน คือความซับซ้อนของเรื่องค่านิยมหรือการเมืองระหว่างประเทศจะน้อยกว่าพรรคแกรนด์ เนชั่นแนล หรือพรรคเซนูริ ซึ่งมีความเป็น conservatism ฝั่งนั้นจะมีความตึงเครียดมากกว่า นอกจากนั้นเมื่อพรรคฝ่ายค้านขึ้นมาจะค่อนข้างอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจของทั้งสองประเทศมากกว่า คือไม่ได้เอาเรื่องการเมืองมาพูดเป็นหลัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลยคือ ถ้าไม่มีการกดดันคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ก็คงคุยกับจีนกันง่ายขึ้น หลายครั้งที่ผ่านมาที่การคว่ำบาตรเกาหลีเหนือไม่ได้ผล ส่วนหนึ่งมาจากการที่จีนไม่เข้าร่วมด้วย แต่การเจรจารอบล่าสุด เรามองว่าครั้งนี้น่าจะได้ผล เพราะจีนอาจเข้าร่วมด้วย ถึงแม้ว่าจีนยังทำการค้าบางอย่างกับเกาหลีเหนืออยู่ ถามว่าทำไมรอบนี้จีนถึงยอม เพราะว่าจีนได้รับผลกระทบจากปัญหาการอพยพเข้ามาของเกาหลีเหนือค่อนข้างมาก อย่าลืมว่าสองประเทศนี้เขาเป็นเพื่อนบ้านกัน

ส่วนสหรัฐอเมริกา ไม่จำเป็นว่าพอพรรคฝ่ายค้านขึ้นมาแล้วท่าทีต่อเกาหลีเหนือจะดีขึ้น เพราะว่าหลายครั้งสหรัฐต่อต้านนโยบายที่จะร่วมมือกับเกาหลีเหนือ เพราะสหรัฐมองว่าการทำแบบนั้นไม่สามารถทำให้เกาหลีเหนือสามารถเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองได้

เป้าหมายของสหรัฐจริงๆ แล้ว คือไม่อยากให้ระบบการปกครองแบบเกาหลีเหนือ (เผด็จการ) คงอยู่ นอกจากนั้นแล้วการร่วมมือกันยังส่งผลให้เกิดแรงกดดันน้อย ซึ่งทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบอบได้ มันก็แล้วแต่ว่า รัฐบาลสหรัฐในแต่ละช่วงเป็นใคร อย่าลืมว่านโยบายมาจากตัวบุคคล อย่างตอนประธานาธิบดี บิล คลินตัน ก็เคยเสนอให้กระชับมิตรกับเกาหลีเหนือ แต่ถ้าอยู่ภายใต้ทรัมป์ก็อาจมีปัญหา เพราะทรัมป์ไม่ได้อยากเอาเงินไปลงกับประเทศพันธมิตร แต่ทรัมป์ก็ต้องการเรื่องความปลอดภัยขั้นสูง และพยายามที่จะให้อิทธิพลของจีนลดน้อยลงด้วย

ในฐานะที่สหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรพี่ใหญ่ของเกาหลีใต้ การที่สหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในแถบนี้ สหรัฐได้อะไรบ้าง

ความขัดแย้งตรงนี้เป็นสงครามข้อมูลนะ สำหรับสหรัฐการติดตั้ง THAAD จะช่วยให้เกาหลีใต้ไม่โดนคุกคามจากเกาหลีเหนือ คือถ้าใช้ข้อมูลแบบนี้จากสหรัฐ ก็ชัดเจนว่า เป็นการรักษาความปลอดภัยให้กับเกาหลีใต้ และถ้ามองไปยังคุณสมบัติของ THAAD มันคือการป้องกัน เป็นระบบที่จะยิงขึ้นไปแล้วระเบิดตอนใกล้เจอขีปนาวุธ

ทีนี้ถ้าเราเอาวาทกรรมจากฝ่ายจีนก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง เวลาเราดู THAAD เราต้องดูทั้งระบบ เราไม่ได้ดูว่า THAAD ทำอะไรได้บ้าง แต่ต้องดูระบบที่เกี่ยวข้องกับ THAAD ด้วย แล้วระบบที่เกี่ยวข้องก็คือเรดาร์ มันสามารถมองเห็นไปยังระบบของจีนได้ จีนจึงกล่าวว่า เจตนาของสหรัฐไม่ใช่การป้องกันเกาหลีใต้ แต่เป็นการสอดแนมจีน จึงกลายเป็นการต่อสู้เชิง narratives ว่าของใครถูกมากกว่าหรือน้อยกว่ากัน เราไม่มีทางรู้ว่าสหรัฐต้องการอะไร แต่สิ่งที่สหรัฐต้องการแน่นอนคือ ความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี และไม่ให้ภูมิภาคนี้สู้กันเองจนเกิดความวุ่นวาย

พูดได้ว่าสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้อยากให้อิทธิพลของตัวเองหลุดจากเอเชีย?

มันเป็นลักษณะของประเทศมหาอำนาจ มหาอำนาจก็คงไม่อยากให้อิทธิพลตัวเองหายไป ไม่อยากให้สถานะตัวเองตกต่ำลง ในขณะเดียวกันก็ไม่มีประเทศไหนอยากให้อเมริกาหลุดไป เพราะฉะนั้นก็มีผลประโยชน์กันทั้งคู่

เป็นไปได้ไหมว่า เกาหลีเหนืออยากเป็นเหมือนอิหร่านที่ได้รับการยอมรับจากสหรัฐ และเข้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ หรือเกาหลีเหนือต้องการอะไรมากกว่านั้น

คิดว่าเกาหลีเหนือต้องการการยอมรับ (recognize) จากประเทศอื่นว่าเป็นรัฐที่มีนิวเคลียร์ การเป็นรัฐที่มีนิวเคลียร์มันเหมือนเป็นสถานะอย่างหนึ่งในเวทีการเมืองโลก ซึ่งจะมีสถานะสูงกว่ารัฐที่ไม่มี เพราะตอนนี้เกาหลีเหนือได้รับการ recognize ว่าคุณอยู่นอกเหนือจากสมาคมระหว่างประเทศ

มีนักวิชาการหลายคนที่มองว่า การกระทำของเกาหลีเหนือสมเหตุสมผล เพราะการทดลองยิงขีปนาวุธบ่อยๆ หรือการฆ่า คิม จอง นัม สามารถเรียกความสนใจจากคนทั้งโลกได้ ยังมีงานชิ้นหนึ่งที่เขียนว่า จริงๆ แล้วรัฐส่วนใหญ่ไม่ต้องการอะไรมากหรอก แค่อยากเป็นส่วนหนึ่งของ member of the club และถ้าดูจากกรณีอิหร่าน ก็ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเกาหลีเหนือถึงหัวเสีย

ในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นทั้งเพื่อนบ้านและตัวแสดงในสถานการณ์นี้ ญี่ปุ่นมีท่าทีอย่างไรบ้าง

ญี่ปุ่นก็มีความกังวลเรื่องเกาหลีเหนืออยู่แล้ว เพราะหลายครั้งเป้าการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือก็คือญี่ปุ่น และญี่ปุ่นเองก็มีระบบ THAAD ติดตั้งอยู่ถึงสองที่ แต่ความขัดแย้งจีน-เกาหลีใต้รอบนี้ ญี่ปุ่นไม่ได้แสดงท่าทีอะไร

Part 2: ส่วนตั๊ว ส่วนตัว

ย้อนถามเรื่องรสนิยม ในฐานะผู้ที่ชอบเสพเพลง/ละครเกาหลี (ติ่งเกาหลี) ทำไมถึงกลุ่มคนเหล่านี้ชอบโดนเหยียด ไม่ใช่แค่ในไทย แต่หลายประเทศทั่วโลก

ตอบยากนะ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน อันนี้เป็นประเด็นที่คนทั่วโลกถามนะ ลองเข้าไปในเน็ตแล้วพิมพ์ดูสิ ขึ้นมาเต็มเลย

สำหรับเราคิดว่าเป็นเพราะคนเชื่อว่า เพลง/ละครเกาหลีมันถูก manufactured มาก คือถูกสร้าง ไม่ใช่ศิลปะ ซึ่งถ้ามองแบบนี้ก็เหมือนกับที่คนเหยียดเพลงป็อปทั่วไปว่ามันไม่ใช่ของจริง ไม่แท้ แต่อ่านดูที่อื่น เห็นว่ามีเรื่องความเป็นเอเชียเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือพวกคนเอเชียที่โตเมืองนอกก็จะพยายามปฏิเสธว่าไม่ชอบ เพราะนี่มันเอเชียเกินไป เหมือนเป็นความพยายามในการปฏิเสธค่านิยมแบบเอเชีย แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า กระแสเกาหลีมาแรงมาก มาไกล มันทำให้เด็กๆ ต้องแห่ไปดู ไปรับที่สนามบิน ซึ่งก็คงมีคนมองว่า มันเกินไปหรือเปล่า…มั้งนะ

การเหยียดติ่ง แสดงให้เห็นอคติที่ถูกหล่อหลอมอยู่ด้วยใช่ไหม เช่น ความคลั่งชาติ ทุนนิยม อคติต่อเรื่องเพศและศัลยกรรม

ไม่แน่ใจเหมือนกัน เราไม่เคยศึกษาจริงๆ จังๆ ว่าการรังเกียจติ่งนี่ทำไมถึงรังเกียจ คนรังเกียจแต่ละคนก็คงมีเหตุผลต่างกันไป แต่แน่นอนในกรณีของไทยมันมีความพยายามในการเชื่อมความเป็นติ่งกับลักษณะที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆ เช่น พวกนี้คิดเองไม่เป็น ไม่สนใจการเมือง ขายชาติ ซึ่งดูให้ดีเรื่องพวกนี้ไม่เกี่ยวกันเลยสักอย่างนะ

ตามกระแสเกาหลี แปลว่า ตามกระแสเรื่องอื่นของเกาหลีด้วยเหรอ ก็ไม่ใช่นะ แต่ว่าตามปกติของคนเรา เวลาเราคิดอะไร เรามักจะเชื่อมโยงทุกอย่างเป็นแผงเดียวกัน ก็เลยกลายเป็นเหมายกเข่ง แล้วยกอะไรที่เป็นภาพลบให้เกี่ยวกับพวกติ่งเกาหลีหมด ดูสิ…ธรรมกายยังเกี่ยวกับเสื้อแดงได้เลย

คนไทยใช้เซ็ตคำศัพท์ไม่กี่คำในการจะโจมตีอีกฝ่าย ก็ไม่ชอบ ก็เกลียดมัน ก็โยงกับความไม่รักชาติ เราว่าคลังคำศัพท์ในการด่าคนมันน้อย ทุกอย่างมันเลยโยงกันไปหมด ถ้าเราเชื่อว่าคำศัพท์มันมีความหมายของมันและมีความหมายต่อเนื่องกับคนอื่น

อาจารย์เป็นติ่งนานหรือยัง แล้วชอบใครที่สุด

จริงๆ ฟังเพลงเกาหลีและดูละครเกาหลีมานานแล้วนะ เริ่มฟังเพลงเกาหลีตั้งแต่ Se7en โน่น ละครเรื่องแรกดู Autumn in My Heart คือเรียกว่าตั้งแต่รุ่นแรกที่เกาหลีเข้าไทยเลย สมัยมัธยมเพื่อนบังคับให้ท่องชื่อสมาชิกวงซูเปอร์จูเนียร์ แต่ก็ยังไม่เรียกตัวเองว่าติ่งนะ ฟังเพลงผ่านๆ แต่ไม่เคยตั้งใจฟัง ตั้งใจดู เพิ่งจะมานิยามว่าตัวเองเป็นติ่งเมื่อไม่นานนี่เอง

ระยะหลังพอมาเป็นอาจารย์แล้วมีบางช่วงเครียดมาก เรารู้สึกว่าเกาหลีเป็น comfort ที่ดี ก็เลยกลายเป็นติ่งนับตั้งแต่นั้นมา แล้วของพวกนี้มันเข้าแล้วเข้าเลย ออกไม่ได้ ก็เลยหันมาสนใจเรื่องอุตสาหกรรมบันเทิงและ soft power ของเกาหลีด้วย เริ่มจากซื้อหนังสือมาอ่าน และพยายามเข้าถึงโลกของมันที่มากกว่าเรื่องความบันเทิง

เนื่องจากเราเป็นติ่งอ่อนด้อยนะ ขอบอกว่ายังอ่อนมากเมื่อเทียบกับติ่งตัวแม่อื่นๆ ดังนั้นลักษณะการติ่งของเราคงไม่ชัดเจนขนาดนั้น คือเราไม่ได้มีวงที่เราติ่งชัดๆ แต่ถ้าบอกว่าติ่งใครนี่ก็แอบอาย เพราะมันมีแต่แก่ๆ ทั้งนั้นเลย เข้าไม่ถึงเพลงเด็กๆ น่ะ คือถ้าให้บอกว่าตอนนี้ชอบใครบ้างก็ Bigbang, Blackpink, JYJ, Akdong Musician จริงๆ ค่าย YG เอามาเหอะ ชอบหมด

การที่อาจารย์เปิดเผยตัวเองว่าเป็นติ่ง ส่งผลกระทบต่อการทำงานหรืออะไรไหม

ไม่กระทบนะ เราเองก็ไม่รู้ว่าความรู้สึกเหยียดติ่งมันเกิดขึ้นจากฝ่ายไหนมากกว่ากัน ระหว่างฝ่ายที่เหยียด หรือจากฝ่ายเราที่รู้สึกว่าจะถูกเหยียด ทั้งๆ ที่การเหยียดมันมีจริง แต่คนที่เหยียดก็คงกึ่งๆ แค่ดูถูกรสนิยมมากกว่าการเอามาเกี่ยวข้องกับคุณภาพการทำงานของเรานะ

แต่ที่รู้คือพอเราเป็นติ่งเกาหลีทำให้เราเข้ากับนักศึกษาได้มากขึ้น เหมือนภาษาที่ใช้เป็นภาษาเดียวกัน แล้วนั่นทำให้การสื่อสารในคลาสสัมมนาได้ดีขึ้น เราว่าเราแคร์ตรงนี้มากกว่า ไม่ได้แคร์ว่าใครจะเหยียดหรืออะไร เพราะเรื่องรสนิยมมันเรื่องของใครของมัน

ลิสต์หนังสือที่ชอบ

ปกติเป็นคนมีหนังสือที่ชอบยากน่ะ เหมือนเวลามีคนถามว่า ชอบภาพยนตร์เรื่องไหนที่สุด ก็ตอบยาก เพราะเป็นคนที่ obsessed กับอะไรเป็นอย่างๆ แล้วก็หายไว ดังนั้นหนังสือที่ชอบที่สุดอาจจะเปลี่ยนไปเร็วมากด้วย แต่ถ้า ณ วันนี้ก็ตามนี้

Geopolitics of Emotion โดย Dominique Moïsi
Please Look after Mom โดย Shin Kyung-sook

 

The Ring โดย Koji Suzuki (ทั้งซีรีส์นะ ไม่ใช่เล่มเดียว ชอบเล่มหลังสุดที่เฉลยว่าทั้งหมดเป็นโลกจำลอง มันล้ำมาก)
The Rise and Decline of Thai Absolutism โดย Kullada Kesboonchoo Mead
The Big Short โดย Michael Lewis

 

จากการปฏิวัติถึงโลกาภิวัตน์: ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกสู่โลกภาพยนตร์ โดย สรวิศ ชัยนาม

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า