รักที่จ่ายมา*

love1

เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพ: อนุช ยนตมุติ / antizeptic

 

ในวาระไฮ-ซีซันของเทศกาลมงคลสมรส WAY สืบเสาะภารกิจและหน้าที่อย่างหนึ่งในไตรภาคแห่งชีวิต สิ่งที่เรียกว่า ‘สินสอด’ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการแต่งงาน

หน้าที่ของสินสอดคืออะไร มูลค่าของสินสอดเท่าใดจึงเหมาะสม สินสอดมาจากไหน

เกณฑ์ทหาร/บวชพระ/แต่งงาน

ไตรภาคชีวิตก่อนเป็นผู้ใหญ่เต็มคนของชายไทย อาจฟังดูคลีเช เพราะอย่างน้อย 2 ใน 3 ภารกิจนี้ก็ไม่ได้เป็นชีวิตภาคบังคับประหนึ่ง ม.44 เพราะความคิดของสังคมได้เปลี่ยนไปจากเดิม การแต่งงานก็ดูจะเป็นทางเลือกที่มีตรอกซอกซอยให้เลือกเดินมากกว่าบนเมนสตรีท แต่หากเพศกำเนิดของคุณคือเพศชาย ไม่นาทีใดนาทีหนึ่งของชีวิตคุณต้องมีคำถามถึงพื้นที่ 3 แห่งนั้นที่ชีวิต (อาจ) ต้องเดินเข้าไป

 

1: เฒ่าแก่ทาบทาม

ผมมีโอกาสติดสอยห้อยตามน้องชายไป ‘ขอเมีย’ แต่หากพูดด้วยสำเนียงไทยกรุงเทพฯก็ต้องบอกว่า ‘สู่ขอ’ เช้าวันนั้นเขารวบรวมญาติพี่น้องเดินทางไปยังบ้านของฝ่ายหญิงที่อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นราว 1 ชั่วโมง ผู้ที่รับหมอบหมายเป็น ‘เฒ่าแก่ทาบทาม’ เตรียมเนื้อเตรียมตัวเตรียมคำพูดไว้ดิบดีตั้งแต่คืนก่อนพร้อมด้วยเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของมอลต์ ฮอบส์ และยีสต์

แต่ปริมาณแอลกอฮอล์จากเมื่อคืนรั้งตัวให้ผู้ทำหน้าที่ ‘เฒ่าแก่ทาบทาม’ ออกจากบ้านช้ากว่าที่ควร เช้าวัน ‘ขอเมีย’ ให้หลานชาย เขาจึงเดินทางไปถึงบ้านฝ่ายหญิงเป็นคนสุดท้าย เพื่อพบว่าหลานชายผู้เป็นว่าที่เจ้าบ่าวทำการเจรจาด้วยตนเองถึงข้อตกลงร่วมกันในเรื่องมูลค่าสินสอดและของหมั้นรวมถึงการจัดงานตามประเพณีกับญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงไปแล้วร่วม 30 นาที

เฒ่าแก่ทาบทามคราง ‘อืม’ หลังทราบผลการเจรจา

มูลค่าสินสอดจำนวนนี้ชวนให้ผมนึกเปรียบเทียบไปยังประสบการณ์ทางอ้อมของตนที่มีต่อมูลค่าของสินสอดของมิตรสหายรอบกาย มีทั้งความเหมือนและแตกต่าง ทั้งมูลค่าและที่หมายปลายทางของเงินก้อนนั้น

เงินสด 5 แสนบาท และทองหนัก 5 บาท คือมูลค่าสินสอดที่ครอบครัวทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน

img_3169

2: ห้าแสนเก้าพันสามร้อยสามสิบแปดบาท สิบเก้าสตางค์

เงินสด 5 แสนบาท และทองหนัก 5 บาท เป็นมูลค่าที่มาจากการตกลงระหว่างน้องชายกับญาติฝ่ายหญิง และอย่างที่เราต่างก็รู้กันว่าค่าสินสอดไม่มีมูลค่าตายตัว คำถามก็คือมูลค่าสินสอดเท่าไรจึงเหมาะสม

งานศึกษาเชิงประจักษ์เก๋ๆ ชิ้นหนึ่งจึงพยายามควานหาเทคนิคและเครื่องมือการประเมินมูลค่าที่ใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ งานศึกษาชิ้นนั้นชื่อ ‘ถ้าฉันจะแต่งงาน ควรจะได้รับ/จ่ายสินสอดเท่าไร’ โดยประเมินมูลค่าสินสอดด้วยแบบจำลองเฮดโดนิค โดย ภสุ ร่วมความคิด

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมในการต่อรองให้มีประสิทธิภาพ

เขาอธิบายว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ ‘สินสอด’ จัดเป็นราคาในทางเศรษฐศาสตร์รูปแบบหนึ่งของข้อตกลง แต่การให้สินสอดไม่ได้มีการซื้อขายผ่านตลาด (Non-Marketable Trade) จึงไม่มีราคาตลาด (Non-Market Price) และแน่นอนมูลค่าของสินสอดก็ไม่สามารถใช้วิธีการทั่วไปในการประเมินราคาได้

ราคาของสินสอดจึงถูกกำหนดผ่านการเจรจาต่อรอง ซึ่งไม่มีรูปแบบตายตัว บางกรณีพ่อแม่ฝ่ายหญิงก็อาจจะยกเงินสินสอดทั้งหมดให้แก่คู่บ่าวสาวก็ได้ หรือจะเป็นไปในทางตรงข้ามก็ได้เช่นเดียวกัน

เมื่อไม่มีราคากลาง ไม่มีราคาเปรียบเทียบ คำตอบของคำถามที่ว่าฝ่ายชายควรให้สินสอดแก่ครอบครัวฝ่ายหญิงเป็นมูลค่าเท่าไร และฝ่ายหญิงควรได้รับค่าสินสอดจากฝ่ายชายเป็นมูลค่าเท่าไร จึงกลายเป็นคำถามที่หาคำตอบได้ยากที่สุดคำถามหนึ่ง

ผู้ศึกษาเลือกหยิบ แบบจําลองเฮดโดนิค (Hedonic Pricing Model: HPM) ซึ่งมักถูกนํามาใช้ศึกษาราคาที่พักอาศัย ราคาที่พักอาศัยจะขึ้นอยู่กับคุณลักษณะหรือตัวแปรต่างๆ ได้แก่ ทัศนียภาพ ระยะทางจากใจกลางเมือง ขนาดของพื้นที่ และคุณลักษณะรอบที่พักอาศัย

ในการประเมินมูลค่าสินสอดโดยแบบจำลองเฮดโดนิคนี้ ผู้ศึกษาได้อธิบายว่า เขาได้ประยุกต์ตัวแปรต่างๆ เข้ากับแบบจําลอง โดยที่ราคาเฮดโดนิค (Hedonic Price) ในที่นี้ก็คือมูลค่าของสินสอด และคุณลักษณะหรือตัวแปรก็คือคุณสมบัติต่างๆ ของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง

ผู้ศึกษาอธิบายว่า การแทนค่าคุณลักษณะฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงลงไปในแบบจำลอง จะทําให้เกิดมูลค่าที่แตกต่างกัน โดยที่มูลค่าที่เกิดขึ้นจากการแทนค่าคุณลักษณะของฝ่ายชาย เรียกว่า ‘มูลค่าสินสอดที่ฝ่ายชายสามารถจ่ายได้’ และมูลค่าสินสอดที่เกิดขึ้นจากการแทนคุณลักษณะของฝ่ายหญิง คือ ‘มูลค่าสินสอดที่ฝ่ายหญิงพึงจะได้รับ’

หลังจากทำแบบสอบถามคู่แต่งงาน โดยให้กรอกคุณลักษณะและตัวแปรที่จะมีผลต่อการประเมิน เช่น ระดับรายได้ อายุ ภูมิลำเนา ระดับการศึกษา การแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว ภาระรับผิดชอบต่อครอบครัว ผู้ศึกษาทดลองนำตัวแปรของผู้ตอบแบบสอบถามลงไปในแบบจำลองสมการ 4 แบบ

ผลการศึกษาในแบบจำลองสมการเส้นตรง ซึ่งเป็น 1 ใน 4 แบบจำลองสมการ พบว่า เมื่อคู่แต่งงานมีระดับรายได้สูงขึ้น 1 บาทจะทําให้มูลค่าสินสอดเพิ่มขึ้น 2.20 บาท และเมื่ออายุของคู่แต่งงานสูงขึ้น 1 ปี จะทําให้มูลค่าสินสอดเพิ่มขึ้น 8,987 บาท ซึ่งระดับความแตกต่างของมูลค่าสินสอดขึ้นอยู่กับตัวแปร เช่น ภูมิลําเนา ระดับการศึกษา การแต่งงานเป็นลําดับแรกของครอบครัว การมีภาระรับผิดชอบต่อครอบครัว ขณะที่ทรัพย์สินมีผลน้อยมาก และภาระความรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายในการแต่งงานและอาชีพไม่มีผลต่อมูลค่าสินสอด

ในเว็บไซต์ setthasat ก็นำเสนองานศึกษาชิ้นนี้ และมีโปรแกรมคำนวณมูลค่าสินสอดตามแบบจำลองสมการเส้นตรง ตามรูปแบบสมการ ดังนี้

มูลค่าสินสอด = (2.2205 x รายได้ต่อเดือน) + (8,986.92 x อายุ) + (174,818.6 หากเป็นคนกรุงเทพฯ) – (454,350.5 หากจบการศึกษาไม่เกินมัธยม/ปวช.) + (227,064.1 หากแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว) – (134,160.8 หากมีภาระต้องดูแลครอบครัวอยู่) + (1,890,610 หากเป็นผู้บริหารระดับสูง)

ช่องกรอกข้อมูลในสมการดังกล่าวยั่วยวนใจผมยิ่งนัก หลังจากได้พบกับโปรแกรมคำนวณมูลค่าสินสอดแล้ว ผมนึกถึงน้องชายเป็นคนแรก อยากรู้ว่าสินสอดมูลค่า 5 แสนบาท กับทองคำหนัก 5 บาทของเขากับสมการดังกล่าว วิธีคิดแบบไหนจะเป็นข้อตกลงร่วมในการต่อรองที่มีประสิทธิภาพ

ผมสอบถามคุณลักษณะหรือตัวแปรจากเขา แล้วแทนค่าเข้าไปในสมการ

509,383.19 บาท คือ ราคาดุลยภาพจากการประเมินโดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์

หลังจากทราบตัวเลข ผมจึงแจ้งเจ้าตัว

“สมเหตุสมผล” สั้นๆ จากเขา

อืม – ก็ความรักน่ะนะ

love-23: อ่านภารกิจของ ‘สินสอด’ ผ่านแว่นตาเศรษฐศาสตร์

ภารกิจของสินสอดคืออะไร

ผมเดินทางไปพบกับ เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จุดประสงค์คือชวนอาจารย์เดชรัตมองเรื่องสินสอดผ่านแว่นตาทางเศรษฐศาสตร์

อาจารย์เดชรัต มองว่า ภารกิจของสินสอดจำแนกได้ 3 แบบ

3.1 ภารกิจของสินสอดแบบที่ 1: การตอบแทนปัจจัยการผลิต

ลักษณะของสินสอดแบบการตอบแทนปัจจัยการผลิต เกิดขึ้นในเงื่อนไขของสังคมที่ให้ความสำคัญกับแรงงาน ซึ่งถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของสังคมเกษตรกรรม สินสอดในลักษณะนี้เป็นการตอบแทนโดยตรง ครอบครัวฝ่ายหนึ่งมอบสินสอดให้ครอบครัวอีกฝ่าย ภารกิจของสินสอดในลักษณะนี้ถูกคิดบนฐานผลตอบแทนที่เกิดขึ้นทั้งจากการเลี้ยงดูในอดีต และ productive ที่จะเกิดจากแรงงานในอนาคต

“ถ้าเป็นแบบที่ 1 มันเป็นการแลกเปลี่ยนที่ใกล้เคียงการแลกเปลี่ยนโดยตรง คือเอาคนของฉันไป ลูกสาวฉันก็ต้องไปทำงานให้บ้านคุณ ก็จ่ายมา นี่คือการแลกเปลี่ยนเกือบจะโดยตรง เพียงแต่ไม่มีราคาตลาด” อาจารย์เดชรัต กล่าว

3.2 ภารกิจของสินสอดแบบที่ 2: ขับเน้นสถานภาพทางสังคมและทำหน้าที่เป็นตัวคัดกรอง

เป็นลักษณะที่ไม่ได้เป็นการตอบแทนโดยตรง แต่มีหน้าที่กลั่นกรองสถานภาพทางสังคม แต่ครอบครัวของฝ่ายรับสินสอดก็อาจจะไม่เก็บเงินจำนวนนี้ไว้ อาจมอบให้แก่คู่บ่าวสาว

ภารกิจของสินสอดในแบบที่ 2 ไม่ใช่ลักษณะของการแลกเปลี่ยน เพราะในกรณีนี้สำหรับอาจารย์เดชรัต การแลกเปลี่ยน คือ ‘การแต่งงาน’

“แต่การแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมและเอื้อให้สมหวังในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ก็ใช้สินสอดมาเป็นตัวปิดกั้น เหมือนตรามาตรฐาน เหมือน barrier to entry เหมือนเป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด ถ้าคุณจะมีแฟนที่อยู่ตลาดบน คุณต้องมีสิ่งเหล่านี้ก่อน สินสอดในลักษณะนี้ทำหน้าที่คล้าย status goods

“สินสอดโดยตัวมันเองไม่ได้เป็นตัวแลกเปลี่ยน เพราะสุดท้ายแล้วเงินก้อนนี้อาจจะยกให้คู่บ่าวสาวก็ได้ แต่พ่อแม่บางคนก็อาจจะเก็บไว้เองก็ได้ ถ้าเก็บไว้เองก็จะคล้ายแบบแรก แต่การที่พ่อแม่ส่งเงินคืนให้คู่บ่าวสาวก็จะไปคล้ายกับสินสอดในแบบที่ 3 ซึ่งผมจะอธิบายต่อไป เพราะฉะนั้นหน้าที่ของสินสอดในแบบที่ 2 และ 3 จึงก้ำกึ่งกัน”

อาจารย์เดชรัตมองว่า หน้าที่และภารกิจของสินสอดในสังคมไทยได้เปลี่ยนไป หน้าที่ของสินสอดในลักษณะที่ 2 มีบทบาทน้อยลง เพราะสังคมมีเครื่องมือในการสร้าง/ป่าวประกาศ/จัดลำดับสถานภาพทางสังคมแบบอื่นๆ

“ปัจจุบันผมคิดว่าพิธีเลี้ยงมงคลสมรสทำหน้าที่แทนสินสอดมากขึ้น คุณต้องการจัดงานเลี้ยงแบบนี้ คุณจัดงานที่โรงแรมกี่ดาว บุคคลที่มาเป็นประธานในพิธีคือใคร หรือแม้กระทั่งอาจจะขอพระราชทานฯ สิ่งเหล่านี้เป็นการจัดลำดับชั้นอยู่ในที เพราะฉะนั้นภารกิจของสินสอดในการจัดสถานภาพทางสังคมก็เลยมีความสำคัญน้อยลง ตัวเลขของสินสอดก็อาจจะมีความสำคัญน้อยลง เพราะสมัยก่อนพิธีเลี้ยงแบบไทยโบราณ ก่อนที่เราจะมีโต๊ะจีนนะ มันจะหรูยังไงก็ไม่ได้มากมาย ฉะนั้นสินสอดก็ยังทำหน้าที่สำคัญที่จะบอกว่าฝ่ายเจ้าบ่าวเขามีเท่าไร”

3.3 ภารกิจของสินสอดแบบที่ 3: จดทะเบียนบริษัทแห่งชีวิตคู่

ภารกิจของสินสอดในลักษณะนี้คือปรากฏการณ์ร่วมสมัยที่อาจารย์เดชรัตมองว่า ภารกิจของสินสอดในสังคมไทยมีลักษณะแบบนี้มากขึ้น ภารกิจของสินสอดในแบบที่ 3 ทำหน้าที่ทดสอบความพร้อมของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ไม่ได้มองว่าฝั่งหนึ่งต้องให้อีกฝั่งเสมอไป ภารกิจของสินสอดแบบที่ 3 นี้ พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายอาจจะตกลงยกเงินให้คู่บ่าวสาว เพราะฟังก์ชั่นคือการทดสอบความพร้อม

“สมมุติเราบอกว่า คุณควรจะมีเงินสัก 500,000 บาทก่อนที่จะอยู่ด้วยกัน จำนวนเงิน 500,000 บาทจึงเป็นเงินที่แสดงความสามารถในการที่ทั้งสองฝ่ายจะหาอะไรต่างๆ มาด้วยกัน เพื่อจะบอกกับครอบครัวทั้งสองฝ่ายว่าตนมีความพร้อม ซึ่งจะต่างจากแบบที่ 2 ตรงที่แบบที่ 2 ค่อนข้างผันแปรตามสถานภาพของคนนั้น

“สมมุติผมเป็นชนชั้นสูง ผมอาจจะเรียก 20 ล้าน ซึ่งเงิน 20 ล้านมันเกินขีดความพร้อมที่คนสองคนจะมีครอบครัวอยู่แล้ว แต่การเรียกสินสอดในลักษณะนี้คือเพื่อจัดลำดับชั้นทางสังคม แต่แบบที่สามไม่ได้ต้องการจะจัดลำดับชั้นทางสังคม แต่ต้องการให้คู่รักทั้งสองคนรู้สึกกันสักนิดนึง ว่าคุณควรจะมีความพร้อมในระดับนี้นะ คุณจึงจะมีความเหมาะสมที่จะใช้ชีวิตคู่กัน ซึ่งฝ่ายชายและหญิงอาจจะช่วยกันหาก็ได้ ไม่ได้เป็นภาระของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแบบในอดีตที่ผ่านมา

“ในทางเศรษฐศาสตร์ สินสอดแบบนี้คงเหมือนเงินทุนจดทะเบียนเริ่มต้นบริษัท ถ้าเราตั้งเงื่อนไขให้ลูกว่า คุณควรจะมีเงินทุนจดทะเบียนเริ่มต้นเท่าไร ถ้าคนสองคนจะก่อตั้งบริษัทชีวิตร่วมกัน คุณควรจะมีเงินทุนจดทะเบียนเริ่มต้นนะ แต่เมื่อหาเงินได้ก็นำเงินจำนวนนั้นมาให้คุณพ่อคุณแม่ดูสักนิดนึงก่อน ซึ่งก็เป็นการดูจากคุณพ่อคุณแม่ทั้งสองฝ่าย แล้วก็คืนไปให้คู่บ่าวสาวที่จะดำเนินบริษัทแห่งชีวิตคู่ต่อไป” อาจารย์เดชรัตบอก

img_1750

4: การเมืองเรื่องสินสอด

4.1 สินสอดกับสังคมนิยมสถานภาพ

ภารกิจของสินสอดในแบบที่ 3 กำลังกลายเป็นกระแสหลักในสังคมไทย มันเป็นประหนึ่งการตั้งต้นจดทะเบียนบริษัทชีวิตคู่ ตามสำนวนเศรษฐศาสตร์หวานๆ ของอาจารย์เดชรัต

แต่อาจารย์เดชรัตมองว่า การที่สินสอดทำหน้าที่ในการทดสอบความพร้อมของคู่ชีวิตใหม่ได้เริ่มแพร่หลายแทนที่สินสอดในฐานะเครื่องมือจัดลำดับสถานภาพทางสังคม แต่ไม่ได้หมายความว่า สถานภาพทางสังคมจะหมดไปจากสังคมไทย อาจารย์เดชรัตมองว่า สังคมได้ผลิตเครื่องวัดและพิสูจน์สถานภาพทางสังคมแบบอื่นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

“การวัดสถานภาพในสังคมปัจจุบันมีทั้งง่ายขึ้นและซับซ้อนขึ้น กรณีที่ง่ายขึ้นเราสามารถดูตัวแปรอื่นๆ ได้ เช่น ทำงานที่ไหน เรียนจบจากที่ไหน เพราะฉะนั้นเงินสินสอดจึงเป็นเรื่องรองลงมา เพราะเราสามารถวัดสถานภาพทางสังคมแบบอื่นๆ ได้ แต่มันก็ซับซ้อนขึ้นด้วย เพราะไม่ได้หมายความว่าคุณมีเงินแล้ว คุณจะมีความมั่นคงในอนาคตเสมอไป มันมีเรื่องความแตกแยกของครอบครัวที่อยู่ด้วยกันไม่ได้ ก็เลยทำให้หน้าที่สินสอดแบบที่ 2 ลดความสำคัญลงไป ก็กลายเป็นแบบที่ 3 มากขึ้น หรือแบบที่ 2 ผสมกับแบบที่ 3

“ผมเชื่อว่าสินสอดจะทำหน้าที่น้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าสังคมเราดีขึ้นหรืออะไรนะ เพราะเรามีวิธีการจัดชั้นสถานภาพแบบใหม่ๆ ถ้าถามผมสังคมจะใช้สถานภาพน้อยลง แต่เราอาจมีวิธีจัดชั้นสถานภาพด้วยวิธีใหม่ตั้งแต่ก่อนที่คนสองคนนี้จะได้เจอกันด้วยซ้ำ สังคมเราอาจจะจัดลำดับชั้นไว้เรียบร้อย เช่น สองคนนี้เรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำ สองคนนี้ทำงานบริษัทชั้นนำ ผมก็เลยไม่ได้คิดว่ามันแปลว่าจะดีขึ้น”

ระหว่างที่เราร่วมกันสำรวจภารกิจของสินสอดอยู่ในห้องหัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร อาจารย์เดชรัตได้เชื่อมโยงเรื่องสินสอด สังคมนิยมสถานภาพ และระบบสวัสดิการของสังคม ได้อย่างน่าสนใจ

“เราเป็นสังคมที่นิยมเกียรติ นิยมสถานภาพทางสังคม นิยมในฐานานุรูป สถานภาพในสังคมไทยเกี่ยวโยงกับการเข้าถึงทรัพยากรบางอย่าง ในขณะที่สังคมที่มีระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมในหลายมิติของชีวิต เขาไม่ต้องการสถานภาพเหล่านั้นในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ

“เช่น ค่านิยมที่เราบอกว่า ดีนะที่มีแฟนเป็นข้าราชการ เพราะจะได้ช่วยดูแลครอบครัว เพราะระดับสวัสดิการที่พิเศษกว่าของข้าราชการ หรือจะเป็นหมอ หรืออาชีพที่มีสถานภาพ แต่ในบางประเทศที่คนสามารถเข้าถึงสวัสดิการหรือสิทธิขั้นพื้นฐานโดยไม่ต้องใช้สถานภาพทางสังคม สถานภาพทางสังคมก็ไม่ได้มีความหมายมากกว่าไปกว่าความสามารถของแต่ละคน มันอยู่ที่ว่าคุณมีความสามารถมากน้อยแค่ไหน หรือมีนิสัยใจคอเข้ากันได้หรือไม่” อาจารย์เดชรัตกล่าว

4.2 สินสอดในทางการทูต

ทุกทางแยกของความสัมพันธ์ย่อมมีฝ่ายหนึ่งได้เปรียบและฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ อาจารย์เดชรัตชวนมองเรื่องการเจรจาเรื่องสินสอดที่เป็นธรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ ในสถานการณ์ปัจจุบันครอบครัวฝ่ายหญิงเป็นผู้กำหนดมูลค่าสินสอด ส่วนครอบครัวฝ่ายชายก็มีหน้าที่ต่อรอง เจรจา หรือรับฟัง

“ในสถานการณ์ปัจจุบัน การรับฟังเป็นการรับฟังในฐานะการให้เกียรติ เมื่อก่อนอาจจะเป็นการรับฟังในฐานะที่เราจะนำปัจจัยการผลิตหรือแรงงานเข้ามาอยู่ในบ้านเรา ผมมองว่ามันน่าสนใจ เพราะในทางเศรษฐศาสตร์ สมมุติเรามีความสัมพันธ์กันอยู่ แล้วบังเอิญต้องแยกทางกัน คำถามก็คือใครเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์กว่ากัน

“สิ่งนี้ถกเถียงกันได้นะครับ สมัยก่อนเราจะพบว่าผู้ชายเป็นฝ่ายได้เปรียบมากกว่า ทั้งในแง่เศรษฐกิจ ทรัพย์สิน และสังคม สังคมไทยก็ตั้งกติกาขึ้นมาว่า ฝ่ายที่ได้เปรียบก็ต้องยอมฝ่ายที่อาจจะมีโอกาสเสียเปรียบในอนาคต ในกรณีนี้คือการสมรส การให้ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายตัดสินใจมันช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่จริงๆ ก็ไม่ถึงกับมาก สิ่งสำคัญกว่าที่จะทำให้ความสัมพันธ์คู่รักคู่หนึ่งเท่าเทียมกัน เมื่อแยกกันแล้วฝ่ายหญิงไม่เสียเปรียบฝ่ายชาย ตรงนั้นน่าจะช่วยได้มากกว่า

“ผมตั้งประเด็นว่า เราต้องให้ฝ่ายหญิงเป็นคนให้คำตอบทั้งเรื่องมูลค่าสินสอดหรือการบริหารจัดการเรื่องสินสอด ถ้ามองจากมุมของเศรษฐศาสตร์ในทฤษฎีเกม ผมว่ามันส่งผลดีมากกว่า แต่ก็ไม่ได้เป็นคำตอบหรือหลักประกันว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ทุกอย่างรุ่งโรจน์ แต่มันก็ดีกว่า เพราะเราไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เราก็ให้ฝ่ายหญิงตัดสินใจ อย่างน้อยตอนตั้งท้องเขาก็เสียเปรียบ แล้วหากเลิกกันระหว่างท้องล่ะ? ฉะนั้นการให้ฝ่ายผู้หญิงตัดสินใจจะโอเคกว่า

“แต่ถึงที่สุด ผมมองว่า สังคมไทยจะต้องคลี่คลายไปสู่จุดที่ให้บ่าวสาวเป็นคนตัดสินใจเองทั้งหมด พ่อแม่ควรเป็นเพียงผู้แนะนำเฉยๆ ในกรณีที่เราคุยกันมาทั้งหมด พ่อแม่มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจ ซึ่งแสดงถึงความไม่พร้อมของอะไรบางอย่าง เหมือนพ่อแม่กังวลว่าลูกจะพลาด เราเลยต้องกั๊กอำนาจการตัดสินใจไว้ที่พ่อแม่”

4.3 การกระจายอำนาจในครัวเรือน

ครอบครัววิทยาคือองค์ความรู้ที่สังคมไทยไม่เคยมี

“ผมว่าส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเราไม่ได้มีโอกาสสอนเด็กเรื่องนี้ คำว่า ‘เรา’ ไม่ได้หมายถึงพ่อแม่นะ เราหมายถึง ‘ผู้ใหญ่’ ไม่มีโอกาสสอนเด็กเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เราไม่เคยรู้ว่าวิชาในชีวิตสมรสคืออะไร เราไม่เคยมีข้อมูลเหล่านี้ สินสอดแพงขึ้นแล้วมันมีผลต่อความสัมพันธ์มั้ย สถานะทางเศรษฐกิจมีผลต่อการอยู่ร่วมกันมั้ย หรือแม้แต่เรื่องทางเพศ รสนิยมทางเพศมีผลมั้ย เรื่องครอบครัววิทยาในเมืองไทยเหมือน black box เราต้องไปค้นหาเอาข้างหน้า

“สุดท้ายเราไปฝากอำนาจการตัดสินใจไว้กับพ่อแม่ ซึ่งก็มีประสบการณ์น้อยมากนะ ที่ผมพูดแบบนี้เพราะเราก็มีประสบการณ์ตรงคือเรากับภรรยา และประสบการณ์อ้อมคือคนรอบตัวเรา บวกกับลางสังหรณ์บางอย่างซึ่งมันอาจจะใช้ได้ก็ได้นะ แต่มันก็เป็นแค่ลางสังหรณ์ มันไม่ได้เป็นอย่างอื่น สิ่งที่เราขาดคือครอบครัววิทยา มันไม่ใช่เพศศึกษา แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ ครอบครัววิทยาควรพูดว่าครอบครัวในอนาคตที่พ่อเล่นเกม แม่ก็เล่นเกม ลูกก็เล่นเกม มันจะเป็นแบบไหน ซึ่งมันก็อาจจะไม่ได้แย่ถ้าเทียบกับกิจกรรมของพ่อในอดีตคือการกินเหล้า อะไรแบบนี้ครับ วิธีการแบบนี้เราไม่ได้สอนเลย หรือแม้แต่การจัดการทางการเงินครอบครัวเราไม่ได้สอน เราสอนเชิงปัจเจก คุณมีเงินคุณไปลงทุนสิ แต่การอยู่ร่วมกันมันเป็นยังไง เวลาคู่ความสัมพันธ์หนึ่งที่มีสถานะทางเศรษฐกิจต่างกันมันเป็นยังไง มีเคสไหนแล้วเขาจัดการยังไง

“ผมคิดว่าสิ่งนี้ทำให้พ่อแม่ในเมืองไทยยังต้องพยายามรักษาอำนาจไว้ เพราะเราไม่ได้คิดเรื่องการกระจายอำนาจ (หัวเราะ) เราไม่เคยเตรียมกระจายอำนาจให้ลูก มันก็เหลือแต่ปล่อยอำนาจกับรักษาอำนาจ เราเลือกรักษาอำนาจ แต่จริงๆ สิ่งที่เราควรเลือกคือการ empower” อาจารย์เดชรัตกล่าว

img_7239

5: วัฒนธรรมสินสอด

กลับมาที่ตัวละครของผม ‘น้องชาย’ กับมูลค่าสินสอดจำนวนเงินสด 5 แสนบาท และทองหนัก 5 บาท และความรักของเขา

มูลค่าสินสอดย่อมแปรผันไปตามยุคสมัย และบริบทที่แวดล้อมยุคสมัยนั้นย่อมมีส่วนในการนิยามทั้งมูลค่าและคุณค่าของสินสอด

ถ้าเขามีชีวิตอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 2480 ในสมัยสร้างชาติ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เร่งรณรงค์ให้หนุ่มสาวสละโสดเพื่อเพิ่มประชากร เพราะปัจจัยสำคัญที่รัฐไทยสมัยนั้นมองว่า เป็นขั้นบันไดก้าวสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจ ก็คือ การเพิ่มประชากร พลเมืองกว่า 40 ล้านคนคือเป้าหมายในการเป็นอำนาจของรัฐสมัยนั้น มาตรการผลักดันต่างๆ จึงออกมา เช่น เรียกร้องให้ฝ่ายหญิงเรียกสินสอดทองหมั้นแต่น้อย เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อชายโสดในการสมรส

การตั้งกระทรวงสาธารณสุขในปี 2485 รัฐจัดตั้งองค์กรส่งเสริมการสมรสขึ้นในกระทรวงเพื่อความสะดวกในการสมรส โดยคำนึงถึงความประหยัดเป็นสำคัญ รัฐยังได้จัดหาลู่ทางให้ชายและหญิงได้พบปะกันโดยการจัดตั้งสำนักงานสื่อสมรสด้วยแนวคิดที่ทุกคนมีหน้าที่สร้างชาติ การสมรสเป็นการสร้างชาติ สมรสเมื่อวัยหนุ่มสาว ทำให้ชาติเจริญ การสมรสที่มีหลักฐาน สร้างความมั่นคงแก่ชาติ และคู่สมรสที่มีสุขภาพดีทำให้ชาติแข็งแรง

ไม่เพียงแต่มาตรการจูงใจเท่านั้น รัฐบาลยังได้ออกมาตรการเชิงบังคับเพื่อจัดการผูกมัดให้หนุ่มโสดทั้งหลายต้องรีบแต่งงาน ด้วยการออกพระราชบัญญัติภาษีคนโสด พ.ศ. 2487 จัดเก็บที่อายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ภาษีนี้อยู่นอกเหนือจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งชายโสดต้องเสียเพิ่มอีกร้อยละ 10 ของภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย แต่ยกเว้นเก็บภาษีหญิงโสด

แต่ถ้าเขามีชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมอินเดียทางตอนเหนือแล้วล่ะก็ แทนที่เขาจะต้องให้สินสอดแก่ฝ่ายหญิง กลับเป็นฝ่ายหญิงต้องให้สินสอดแก่เขาแทน ซึ่งระบบ Dowry ที่ดำรงในอินเดียตอนเหนือ เป็นผลผลิตของระบบการสืบสายเครือญาติที่ให้ความสำคัญกับเครือญาติฝ่ายเดียว ในกรณีนี้ก็คือเครือญาติฝ่ายพ่อ

ลูกชายเท่านั้นที่จะสืบทอดมรดกหรือประกอบพิธีเผาศพบิดามารดาได้ เพราะมีความเชื่อว่าจะช่วยให้วิญญาณมีความปลอดภัย เดินทางไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ ลูกชายเท่านั้นที่จะได้รับค่า Dowry และครอบครัวฝ่ายหญิงต้องจ่ายให้ ซึ่งในบางครอบครัวที่ลูกชายมีสถานะทางสังคม เช่นรับราชการ เขาอาจจะมีค่าตัวประมาณ 1.5 ล้านรูปี

The National Crime ของอินเดียระบุว่า ปี 2555 มีคดีฆาตกรรมเจ้าสาวเพราะเงินสินสอดทั้งสิ้น 8,233 ราย ขณะที่ปี 2553 มีทั้งสิ้น 8,391 คดี เรื่องเล่ามากมายที่เกิดจากความตายโดยสินสอด หรือ Dowry Death คือความตายของหญิงสาวที่ถูกกดดันให้พวกเธอต้องตัดสินใจฆ่าตัวตาย หรือถูกทารุณร่างกายจากครอบครัวฝ่ายชายเพื่อรีดไถเงินค่าสินสอดเพิ่มมากขึ้น เหมือนไม่น่าเชื่อว่ามีเรื่องแบบนี้ในโลก

ทั้งๆ ที่อินเดียได้ออกกฎหมายห้ามการให้และรับสินสอดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961 แล้ว เพื่อเป็นการปกป้องผู้หญิงมุสลิมในอินเดียด้วย เพราะศาสนาอิสลามไม่ได้ใช้ระบบ Dowry อย่างอินเดีย พูดได้ว่าอาชญากรรม เศรษฐกิจ และระบบ Dowry ต่างก็สัมพันธ์กัน ยามเมื่อเศรษฐกิจของประเทศดี มูลค่าของ Dowry ที่ครอบครัวฝ่ายชายเรียกจากฝ่ายหญิงก็จะสูงตามไปด้วย

แต่ก็มีคำอธิบายของ Dowry ว่าความหมายดั้งเดิมเกิดจากธรรมเนียมที่ครอบครัวต้องแบ่งสมบัติให้ลูกๆ โดยเฉพาะลูกสาวที่จะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายชายหลังจากแต่งงานแล้ว สมบัติก้อนนี้ถือเป็นหน้าเป็นตาของครอบครัวฝ่ายหญิง เพื่อที่ลูกสาวตนจะได้ไม่เป็นภาระของครอบครัวฝ่ายชายมากเกินไป สอ เสถบุตร ก็แปลคำ Dowry ว่า ‘สินเดิมของฝ่ายหญิงที่นำติดตัวมาเพื่อสมรส’

แต่ถ้าเขามีชีวิตอยู่ในสังคมชาวมาไซในแอฟริกา เขาก็ต้องมีวัวให้มากๆ เพราะการมีวัวมากในสังคมเผ่ามาไซจะเป็นที่หมายปองของพ่อแม่ฝ่ายหญิง พ่อแม่ชาวมาไซมักจัดแจงการสมรสให้แก่บุตรสาวตั้งแต่เธอยังเป็นทารก เด็กหญิงจะถูกหมั้นไว้กับชายที่มีวัวมากพอจะจ่ายสินสอดที่ผู้เป็นบิดาเรียกร้อง เด็กสาวจะสมรสกับชายซึ่งมีอายุแก่กว่าเธอเองมากและเป็นภรรยาร่วมกับภรรยาคนอื่นๆ ในครัวเรือนของสามี

แต่ถ้าเขามีชีวิตอยู่ในศาสนาอิสลาม เขาก็จะต้องมอบ ‘มะฮัร’ หรือสินสอดแก่คนรัก แต่จะให้เท่าไร ในโองการระบุไว้ว่า และจงมอบมะฮัรหรือสินสอดให้แก่บรรดาหญิงด้วยความเต็มใจ แต่ถ้านางเห็นชอบที่จะให้สิ่งหนึ่งแก่พวกเจ้าจากมะฮัรนั้นแล้ว ก็จงบริโภคสิ่งนั้นด้วยความสบายใจและสุขใจเถิด (อัน-นิสาอ์ 4)

สินสอดของศาสนาอิสลามชวนให้รู้สึกถึงลักษณะนามธรรม ผมจึงถามเพื่อนผู้หญิงที่เป็นชาวมุสลิมถึงเรื่องสินสอดในศาสนาอิสลาม

“การแต่งงาน ง่ายมากค่ะ ต้องมีองค์ประกอบต่อไปนี้ คือ เจ้าสาว เจ้าบ่าว ผู้ปกครองเจ้าสาว คำเสนอ-คำสนอง และพยาน 2 คนที่หูไม่หนวก ตาไม่บอด และมีสติสมบูรณ์” เธอบอก

“สมัยนบีฯ ท่านเคยบอกชายคนหนึ่งที่อยากจะแต่งงานกับคนรักว่าให้ใช้แหวนเงินวงเดียวเป็นสินสอด แต่ชายคนนั้นก็ยังหาไม่ได้ ท่านนบีก็เลยแนะนำให้ชายคนนั้นสอนซูเราะฮ์บางบทในอัลกุรอานให้แก่สตรีที่จะแต่งงานด้วย แต่ชาวไทยมุสลิมโดยที่บ้านของฉันก็มีฝ่ายหญิงที่ทั้งเรียกและไม่เรียกสินสอดนะ บางคนทำงานดีก็เรียก 3-4 แสนก็มี แต่ถึงผู้หญิงไม่เรียกฝ่ายชายก็ให้อยู่ดี”

 

6: ว่าด้วยความรักมาตรา 1437

พล.ต.หลวงวิจิตรวาทการ ได้กล่าวถึงสินสอดและของหมั้นไว้ใน หนังสือ วิชาการครองรักครองเรือน ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2494 ว่า ของหมั้นเป็นของที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงเรียกจากฝ่ายชาย ของที่ผู้คนนิยมนำมามอบเป็นของหมั้นมักเป็นของมีค่า เช่น ทองรูปพรรณ แหวน เหตุที่ฝ่ายชายต้องให้ ‘ของหมั้น’ แก่ฝ่ายหญิงนั้น ก็เพื่อเป็นเครื่องรับประกัน เพราะมีไม่น้อยที่ถึงเวลาจะแต่งกันจริงๆ เจ้าบ่ายกลับกลัวฝนไม่ยอมแต่งงานเอาเสียดื้อๆ และการเป็นหม้ายขันหมากถือเป็นเรื่องสาหัสสำหรับลูกผู้หญิง ในกรณีที่มีเหตุให้ไม่ได้แต่งงานกันเพราะฝ่ายชาย ของหมั้นจะตกเป็นของฝ่ายหญิง

ส่วนสินสอดนั้น พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเรียกสินสอดเป็นพิธีเท่านั้น เรียกกันว่าเป็นค่าน้ำนม “สินสอดนี้จะเรียกไม่เกิน 40 บาท หากเรียกเกินกว่านี้ถือว่าเป็นการ ‘ขายลูกสาว’ ไม่ว่าครอบครัวทั้งสองฝ่ายจะมั่งมีขนาดไหนก็จะไม่ทำกัน”

ส่วนคำ ‘เงินกองทุน’ นั้นน่าสนใจ เพราะเป็นเครื่องแสดงฐานะของพ่อแม่ทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าฐานะดีจะเรียกกันสูง พ่อแม่ของทั้งฝ่ายชายและหญิงต้องให้เท่ากันทั้ง 2 ฝ่าย ในวันแต่งงานจะมีการแกะห่อนับจำนวนเงินกันเพื่อให้ผู้ที่มาร่วมพิธีเป็นพยาน เงินกองทุนที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงเรียกนั้นเป็นหลักประกันว่า ผู้ที่มาเป็นเขยสามารถเลี้ยงดูลูกสาวได้ไม่ด้อยไปกว่าที่พ่อแม่เลี้ยงดูมา และเงินกองนี้จะถูกยกให้กับคู่บ่าวสาวไปตั้งตัว

ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน นิยามความหมายของคำ ‘สินสอด’ ว่า ‘เงินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาที่จะแต่งงานเป็นค่าน้ำนม ข้าวป้อน’ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยก็ได้บัญญัติเรื่องสินสอดและของหมั้นไว้ในเรื่องครอบครัวโดยมีสาระสำคัญอยู่ในมาตรา 1437 ว่า

“การหมั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบทำให้ไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๑๒ ถึงมาตรา ๔๑๘ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

การให้และการรับสินสอดในสังคมร่วมสมัยค่อนข้างยืดหยุ่น เพราะเป็นการตกลงระหว่างครอบครัวทั้ง 2 ฝ่าย แต่หลักการของกฎหมายครอบครัวในประเด็นการหมั้นหมายและสินสอดนั้น เป็นข้อกำหนดถึงสถานะของทรัพย์สินที่ให้แก่กันไว้ในการสมรส ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ต้องถกเถียงกันหากเกิดปัญหาที่ไม่คาดฝัน และคุ้มครองคน (เคย) รักกันทั้ง 2 ฝ่าย

 

7: ตามหาร่องรอยของสินสอด

ผมพยายามสืบค้นร่องรอยของการให้สินสอด เท่าที่ควานหาพบเป็นข้อเขียนของพระยาอนุมานราชธน หรือ เสฐียรโกเศศ ในหนังสือ ประเพณีการแต่งงาน ซึ่งได้เล่าถึงวิวัฒนาการของการสมรส โดยรวบรวมและเรียบเรียงมาจากตำราของชาวตะวันตกไว้ว่า การแต่งงานมี 3 ลักษณะ

7.1: ฉุดคร่า

นี่คือประเพณีดั้งเดิมของมนุษย์ ข้อห้าม Incest taboo ที่เกิดในสังคมมนุษย์ ทำให้มนุษย์ต้องเสาะแสวงหาภรรยานอกตระกูลตัวเอง เนื่องจากผู้ชายไม่สามารถแต่งงานกับพี่น้องของผู้หญิงตนเองได้ จึงต้องแสวงหาภรรยาจากตระกูลอื่น แต่ก่อนที่มนุษย์จะมีวิวัฒนาการในการหาข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนพี่น้องหญิงชายกับกลุ่มอื่น หนทางในการแสวงหาภรรยา จึงเป็นการฉุด

คำ ‘มนุษย์ครั้งกระโน้น’ ของพระยาอนุมานราชธน ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นมนุษย์ช่วงไหนของเวลาในประวัติศาสตร์หรือเป็นเผ่าพันธุ์ใด แต่ก็ให้ภาพรวมๆ ว่าเป็นมนุษย์ที่ยังป่าเถื่อนอยู่ และมีทัศนคติว่าใครที่ผิดพวกผิดโคตรหรือสังกัดกันคนละเผ่าคนละพันธุ์กับตนแล้ว ถือว่าเป็นศัตรู การจะไปรักสาวของศัตรูก็ต้องฉุด แล้วการฉุดคร่าผู้หญิงย่อมสร้างความเจ็บใจแก่ครอบครัวและตัวผู้หญิงเองด้วย

ต่อมาเมื่อมนุษย์พัฒนามากขึ้น การประนีประนอมก็เริ่มเกิดขึ้น การประนีประนอมก็คือ เจรจาตกลงหรือร้องขอเอากับพ่อแม่คนที่ตนหมายปอง จนพ่อแม่สาวยอมยกให้โดย “ทำสัญญาซื้อขายหญิง สืบมาคือการเรียกร้องเอาเงินทองเป็นค่าสินสอดค่าน้ำนมกันทุกวันนี้”

พระยาอนุมานราชธน ยังอธิบายถึงเค้าลางของประเพณีประตูเงินประตูทองด้วย ว่าการแต่งงานของชาวมักกะสันซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะซิเลเบสเหนือเกาะชวา เมื่อเจ้าบ่าวนำขบวนขันหมากเดินทางไปถึงบ้านเจ้าสาว จะพบเครื่องกีดขวางที่เป็นอุปสรรคในการเดินเข้าไปยังเจ้าสาว อุปสรรคนี้ขจัดไปได้โดยจ่ายค่าผ่านทาง

ชาวเบงคาลีในอินเดียก็เช่นเดียวกัน ขบวนขันหมากจะถูกกั้นขวางจากบรรดาญาติฝ่ายหญิง ไม่ยอมให้เคลื่อนไปต่อจนกว่าจะยอมจ่ายค่าผ่านทาง หลายด่านอยู่เหมือนกัน จนกระทั่งด่านของเด็กๆ ที่จะขอค่าเรียนหนังสือจากเจ้าบ่าว เงินค่าผ่านทางนี้เรียกว่า ‘เฑลาภานคานิ’

7.2: เอาตัวเข้าแลก

หลังจากมนุษย์พัฒนาจากการฉุดคร่ามาเป็นธรรมเนียมการต่อรองและให้เงินทองเป็นค่าสินสอด หนังสือ ประเพณีการแต่งงาน อ้างถึงธรรมเนียมของชาวฮินดู ว่าก็มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ มนูธรรมศาสตร์ ว่าการใช้เงินจ่ายให้คนที่จะแต่งงานเป็นการแต่งงานอย่างอสูร

“แต่เมื่อฝ่ายชายไม่มีเงินทองก็ต้องรับใช้การงานที่บ้านฝ่ายหญิง ในวัฒนธรรมของชาวมอญ ชายต้องมาอยู่บ้านฝ่ายหญิงเป็นเวลา 3 ปี จึงจะได้แต่งงานกัน หรือบางวัฒนธรรมอาจใช้เวลานานกว่านั้น การกำหนดเงื่อนไขเวลาสัมพันธ์กับการประเมินมูลค่าในตัวฝ่ายหญิง หากฝ่ายหญิงมีรูปร่างงดงาม ค่าตัวหรือค่าสินสอดก็จะเพิ่มสูงขึ้น ผู้ที่จะไปฝากตัวเป็นเขยถ้ายากจน ก็ต้องรับใช้ทำงานเป็นเวลานานหน่อยเหมือนเป็นการผ่อนชำระเป็นงวดๆ”

แต่ขณะที่ฝ่ายชายทำงานรับใช้บ้านฝ่ายหญิง ก็ถือเป็นการดูใจไปด้วยว่าฝ่ายชายเอาถ่านไหม ทางปักษ์ใต้ถ้ามีการหมั้นหมายกันแล้ว ฝ่ายชายจะต้องไปรับใช้ที่บ้านฝ่ายหญิงจนกว่าจะถึงกำหนดวันแต่งงาน ไปเช้าเย็นกลับ แต่ถ้าไกลก็ต้องไปอยู่ประจำ โดยฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายเลี้ยงดู ชาวเขมรก็เช่นเดียวกันที่ฝ่ายชายต้องไปผ่าฟืน ตักน้ำ ให้ที่บ้านฝ่ายหญิง ส่วนประเพณีของชาวขมุ ใครที่มีลูกสาวสวยหรือมีลูกสาวหลายคนจะถูกมองว่าร่ำรวย เพราะหมายถึงการจะมี ‘บ่าว’ หรือหนุ่มโสด มารับใช้อย่างทาส ไถนาทำไร่ให้

ข้อมูลที่พระยาอนุมานราชธนเล่าไว้ น่าจะเป็นลักษณะสถานะความสัมพันธ์ของชายหญิงในอุษาคเนย์มากกว่าการที่ฝ่ายชายไม่มีเงินค่าสินสอดแล้วไปอาสาเป็นเขยด้วยการทำงานให้บ้านฝ่ายหญิง โครงสร้างทางสังคมอุษาคเนย์ที่มีระบบการสืบสายเครือญาติทั้งสองฝ่ายทำให้ผู้หญิงมีสถานะที่ดีกว่า หากเทียบกับผู้ในสังคมที่มีระบบสืบสายเครือญาติแบบฝ่ายเดียว อย่างผู้หญิงในจีนและอินเดีย

ในระบบการสืบสายเครือญาติทั้งสองฝ่ายนี้ ผู้หญิงจะมีสิทธิ์รับมรดก ทรัพย์สิน ที่ดินเท่าๆ กับพี่ชายหรือน้องชายของเธอ และยังสามารถควบคุมดูแลทรัพย์สินได้หลังแต่งงานไปแล้ว การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินระหว่างครอบครัวบ่าวสาวก็มักจะคาดหวังให้ครอบครัวฝ่ายชายจ่ายมากกว่าครอบครัวฝ่ายหญิง เพื่อตั้งเป็นสินสมรส ที่ครอบครัวฝ่ายชายต้องให้ครอบครัวฝ่ายหญิง ทำให้เด็กผู้หญิงในสังคมแถบนี้ไม่ได้เป็นภาระด้านการเงินแก่พ่อแม่ของตน การให้กำเนิดเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชายจึงมีคุณค่าเท่ากัน

7.3: รักบริสุทธิ์

การแต่งงานลักษณะสุดท้ายในวิวัฒนาการของมนุษย์ พระยาอนุมานราชธนใช้คำว่า ‘หญิงและชายแต่งงานด้วยความรักอันบริสุทธิ์ แต่ไม่ใช่ชนิดพิเศษสิเนหาแบบที่ชาวฮินดูเรียกว่า ‘คนธรรพวิวาห์’

คนธรรพ์ [คนทัน] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายว่า

ชาวสวรรค์พวกหนึ่ง เป็นบริวารท้าวธตรฐ (ทะตะรด) มีความชํานาญในวิชาดนตรีและขับร้อง

คนธรรพวิวาห์ หมายถึง การได้เสียเป็นผัวเมียกันเองโดยไม่แต่งงาน โดยปกติเมื่อคนธรรพ์รักชอบนางใดก็จะอยู่ด้วยกันโดยไม่จัดพิธีแต่งงาน จึงเกิดแบบอย่างที่เรียกว่าคนธรรพวิวาห์ คือ ได้เสียกันเอง


*หมายเหตุ:
  1. ชื่อ ‘รักที่จ่ายมา’ ดัดแปลงและเล่นล้อชื่อเรื่องสั้น รักที่หมายมา ของ อุษณา เพลิงธรรม
  2. ข้อเขียนชิ้นนี้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับ 80 โดยปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหาเพื่อเผยแพร่ครั้งนี้
อ้างอิงข้อมูล:
  • วิทยานิพนธ์ ‘ถ้าฉันจะแต่งงาน ควรจะได้รับ/จ่ายสินสอดเท่าไร’ การศึกษาเชิงประจักษ์การประเมินมูลค่าสินสอดด้วยแบบจำลองเฮดโดนิค โดย ภสุ ร่วมความคิด
  • วันแม่ในทศวรรษ 2480: เซ็กส์ ความรักกับความเป็น ‘แม่พันธุ์’ แห่งชาติ โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
  • เพศสภาวะในสุวรรณภูมิ โดย รองศาตราจารย์ปรานี วงษ์เทศ
  • อัศ-เศาะดาก (สินสอด) โดย มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์ แปลโดย ริซัลย์ สะอะ
  • แต่งงาน: งานนิพนธ์ชุดประเพณีไทย โดย เสถียรโกเศศ
  • gotoknow.org/posts/233435
  • arabnews.com
  • setthasat.com

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า