ชีวิตอยู่หนอื่น: เมื่อตัวละครไล่ล่า ‘คุน’ ตอนที่ 1

เรื่อง: จิระ อุ่นเรืองศรี / ภาพประกอบ: Shhhh

 

1

‘ซาวิเยร’ กระโดดผ่านต่างเข้าไปยังบ้านหลังหนึ่ง จับตัวสามี (ชายผู้สวมเครื่องแบบตำรวจ) ขังไว้ในตู้เสื้อผ้าคล้องโซ่แล้วล็อคกุญแจ ปากก็พร่ำสัญญาว่าจะพาเธอหนีไปด้วยกัน แล้วซาวิเยรเผลอหลับไป เขาตื่นขึ้นมาอีกครั้งในอีกความฝันหนึ่งท่ามกลางความหนาวเย็นของหิมะขาวโพลนในกระท่อมบนภูเขา

‘ซาวิเยร’ มีชีวิตด้วยการนอนและหลับฝันอย่างไม่รู้จบ เขามักจะกระโดดจากความฝันหนึ่งไปยังอีกความฝันหนึ่ง ความฝันและการผจญภัยคือกุญแจหลักในชีวิตของเขา เมื่อ ‘ซาวิเยร’ ย้อนกลับมาตื่นขึ้นอีกครั้งในความฝันแรก เขาก็พบว่า หญิงเจ้าของบ้านยังรอเขาอยู่เพื่อให้เขาทำตามสัญญา นั่นคือ การพาตัวเธอหนีไปด้วยกันในสถานที่อันไกลโพ้น ส่วนตัวสามี (ชายผู้สวมเครื่องแบบตำรวจ) เหลือเพียงซากโครงกระดูกแห้งกรังคาตู้เสื้อผ้าใบนั้น แต่ในที่สุด ‘ซาวิเยร’ ก็ทรยศต่อเธอด้วยการทิ้งเธอไปอย่างไม่ไยดี เขากระโดดไปในการผจญภัยครั้งใหม่ซึ่งรอเขาอยู่

‘ซาวิเยร’ เป็นตัวละครใน ‘งานเขียนร้อยแก้วเชิงกวีในห้วงเพ้อฝัน’ ของ จาโรมิล (เขายังไม่ได้ลงมือเขียนมันออกมาเป็นชิ้นงานเสียด้วยซ้ำ) เขาเพียงปล่อยให้มันเป็นกระแสความคิดไหลไปหล่อเลี้ยงความปรารถนาลึกๆ ของเขา การผจญภัยอันน่าตื่นเต้นนั้นเอง บางครั้งบางคราเขานำ ‘งานเขียนร้อยแก้วเชิงกวีในห้วงเพ้อฝัน’ ไปคุยโวกับแฟนสาว แล้วทั้งคู่ก็ร่วมฟุ้งเฟ้อเห่อสุขด้วยเพลงจูบด้วยกัน

เรามาดูตอนท้ายๆ ของ ชีวิตอยู่หนอื่น  ตอนที่จาโรมิลพลาดท่าเสียทีต่อการทะเลาะวิวาทในงานเลี้ยงสังสรรค์ของผู้กำกับฯสาว เขาโดนคู่ต่อสู้ (เป็นชายวัย 30) โยนบก ร่างของเขาร่วงมากองกับพื้น เมื่อเขาลุกขึ้นแล้วเดินไปเปิดประตูห้อง จาโรมิลพบว่า ‘ซาวิเยร’ กระโดดออกมาจากห้วงเพ้อฝันของเขา และกำลังโถมร่างทาบทับไปบนร่างของผู้กำกับฯสาว คนรักคนใหม่ของเขา ซาวิเยรทรยศต่อเขา เหมือนที่ซาวิเยรทรยศต่อหญิงสาวเจ้าของบ้าน เหมือนที่เขา จาโรมิล ผู้ทรยศต่อกวีนิพนธ์ และคนรักของตนเอง (สาวผมแดงผู้มีจิตใจดีงาม)

 

2

‘สัมพันธบท’ (intertextuality) และ ‘อภินวนิยาย’ (metafiction) เป็นกลวิธีที่นักเขียนในยุโรปในช่วงปลายๆ ศตวรรษที่ 20 นิยมหยิบมาใช้ในเรื่องแต่งของตน นพพร ประชากุล นักทฤษฎีทางวรรณกรรมคนสำคัญของเมืองไทยผู้ล่วงลับ อธิบายว่า ‘สัมพันธบท’ คือวิธี “การอ้างอิง พาดพิง และเชื่อมโยงตัวบทที่เขียน เข้ากับตัวบทวรรณกรรมอื่นๆ เพื่อเน้นย้ำว่าวรรณกรรมไม่ได้สะท้อนโต้ตอบกับความเป็นจริงภายนอกใดๆ แต่สะท้อนโต้ตอบกับวรรณกรรมด้วยกันเองแต่เพียงอย่างเดียว”

ส่วน ‘อภินวนิยาย’ หรือ ‘การเล่าเรื่องซ้อนเรื่องเล่า’ นั้น “เป็นการนำเอาขบวนการเขียนวรรณกรรมมาเป็นเนื้อหาของงานวรรณกรรม เพื่อให้ผู้อ่านตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า ตัวบทวรรณกรรมนั้นประกอบสร้างด้วยถ้อยคำ และกลวิธี” 

เรามาลองส่องสำรวจ ‘การเล่าเรื่องซ้อนเรื่องเล่า’ ที่ตรวจพบในงานเขียนประเภทเรื่องแต่งของนักเขียนตะวันตกร่วมสมัย และผลงานเหล่านั้นน่าสนใจใคร่นำมาลิ้มลอง ทั้งยังมีคนแปลมาเป็นภาษาไทยให้เราได้อ่านกันแล้วอย่างครบถ้วน ตัวอย่างเช่น

เรื่องของนักอ่านคนหนึ่งออกเดินทางตามหาบทที่สองของนิยายเรื่อง หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง (If on a winter’s night a traveler) ของ อิตาโล คาลวิโน (Italo Calvino) เมื่อเขาพบว่าหนังสือมีแต่บทที่หนึ่ง ปราศจากบทที่สอง และบทต่อๆ ไป นี่คือเนื้อหาหลักๆ  ของ หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง

เรื่องเล่าหกเรื่องต่างยุคต่างสมัย (เนื้อเรื่องเริ่มต้นตั้งแต่ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก่อนจะสืบสาวราวเรื่องไปยังในอนาคตอันไกลโพ้นหลังยุคที่อารยธรรมของมนุษย์ล่มสลาย) ผู้แต่งนำเรื่องเล่ามาแบ่งครึ่ง แล้วจัดเรียงเรื่องราวใหม่ ซ้อนเรื่อง เป็นชั้นๆ ใน เมฆาสัญจร (Cloud Atlas) ของ เดวิด มิทเชล (David Mitchel)

ดัดแปลงความโศกเศร้าและขมขื่นให้กลายเป็นเรื่องราวแบบเทพนิยายสำหรับเด็กเพื่อกลบเกลื่อนโศกนาฏกรรมของการเดินทางจากอินเดียไปยังโตรอนโต ประเทศแคนาดา ใน การเดินทางของ พาย พาเทล (Life of Pi) ของ ยานน์ มาร์เทล (Yann Martel)

ก่อนที่นักคิดนักเขียนในยุคช่วงปลายๆ ศตวรรษที่ 20 จะนำ ‘การเล่าเรื่องซ้อนเรื่องเล่า’ มาล้างหน้าประแป้งแล้วแต่งตัวในชุด ‘โพสต์โมเดิร์น’ แล้วนิยามมันใหม่ว่า ‘metafiction’ นั้น ‘การเล่าเรื่องซ้อนเรื่องเล่า’ ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าโบราณก่อนหน้านั้นแล้ว มันมาในรูปของ เรื่องเล่าเชิงมุขปาฐะ หรือนิทานปรัมปราที่เรียงไปตามรายทางของเส้นเวลากระจายไปในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ต่างยุคต่างสมัย ดังเช่น

ในยุคกรีกโบราณ (800 ปีก่อนคริสตกาล) นักกลอนคนหนึ่งร่ายมนต์เล่าเรื่องของเขาให้เป็นที่ประจักษ์ จนกระทั่งนักจิตวิเคราะห์ชื่อดังแห่งศตวรรษที่ 20 นำชื่อตัวละครเอกของเขาไปตั้งเป็นชื่อปมทางจิตวิทยา จาก โอดิสซีย์ (Odyssey) ของ โฮเมอร์ (Homer)

ในชมพูทวีป ศตวรรษที่ 11 เราตกอยู่ในเขาวงกตของเรื่องเล่าจากลมปากของอมนุษย์คล้ายค้างคาวผี ใน กถาสริตสาคร, นิทานเวตาล หรือ เวตาลปัญจวิงศติ, วิกรมจริต หรือ สิงหาสนทวาตริงศติกา (เล่มแรกภาษาไทยโดย เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เมื่อ พ.ศ. 2499 ส่วนสองเล่มหลัง แปลเป็นภาษาไทยโดย ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา จากต้นฉบับอักษรเทวนาครี ภาษาสันสกฤต โดยเฉพาะ นิทานเวตาล แปลครบทั้ง 25 เรื่อง)

ในยุคทองของมุสลิมในดินแดนอาหรับ (Islamic Golden Age ศตวรรษที่ 8-13) และเปอร์เซีย เราเฝ้าดูการลับสมองประลองปัญญาระหว่าง นางซาห์ราซัด ลูกสาวมหาอำมาตย์เอก กับ ซาห์เรีย กษัตริย์ผู้โหดเหี้ยม เป็นการเดิมพันด้วยชีวิตต่อชีวิต เรื่องต่อเรื่อง คืนต่อคืนใน อาหรับราตรี (One Thousand and One Nights – ไม่ปรากฏผู้แต่ง มีผู้แปลเป็นภาษาไทยไว้หลายสำนวน)

ในยุคที่กาฬโรคระบาดในยุโรป (ศตวรรษที่ 14 ) เรามีเรื่องเล่าเชิงสัปดนปนหรรษาของกลุ่มหญิงชายที่ผลัดกันเล่าเรื่องในระยะเวลา 10 วัน ให้เวลาผันผ่านไปอย่างไร้สาระและสิ้นหวัง ใน บันเทิงทศวาร (The Decameron) ของ โจวานนี บอคคาชโช (Giovanni Boccaccio) มีผู้แปลเป็นภาษาไทยไว้หลายสำนวน และมีใช้ในหลายชื่อด้วยกัน )

ในยุคกลาง (ศตวรรษที่ 16) เรามีเรื่องเล่าของนักโทษแห่งเซบียา ผู้พรรณนาถึงอัศวินวิปลาส และชาวนาเซ่อซ่าผู้ปวารณาตัวเป็นผู้รับใช้ ตราบกระทั่งอัศวินสิ้นลม ใน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน (Don Quixote) ของ มิเกล เด เซร์บันเตส (Miguel de Cervantes)

 

3

เมื่อเรานำเรื่องแต่งของ ’คุนเดอรา’ มาพินิจพิเคราะห์ เราจะพบว่าคุนเดอราเป็นผู้เชี่ยวชาญ ใน ‘สัมพันธบท’ และช่ำชองใน ‘อภินวนิยาย’ อันดับต้นๆ ของยุคสมัยก็ว่าได้ เขาใช้เทคนิคดังกล่าวด้วยลีลาแพรวพราวและพร่างพรู ดังตัวอย่างเช่น

คุนเดอราทำให้นักอ่านงุนงงหลงกล (เช่นเดียวกับที่ นิทซ์เช่ ทำให้เหล่านักปราชญ์ฉงนฉาย) ด้วยการเสนอแนวความคิดเรื่อง ‘การอุบัติซ้ำชั่วนิรันดร์’ (Eternal Return )

ไว้ในฉากเปิดเรื่องอันลือลั่นของ ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต (The Unbearable Lightness of Being) คุนเดอราใช้การอ้างอิง (สัมพันธบท) พาดพิงไปถึงแนวคิดของนิทซ์เช่ เพื่ออธิบายภาวการณ์ดำรงอยู่ของเหล่าตัวละครในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น โทมัส, ซาบินา เทเรซา และ ฟรานซ์ (แนวความคิดเรื่อง ‘การอุบัติซ้ำชั่วนิรันดร์’ ของนิทซ์เช่ ปรากฏอยู่ในงานเขียนเรื่อง The Gay Science, Thus Spoke Zarathustra และ The Will To Power)

ในส่วนของ ‘อภินวนิยาย’ คุนเดอราจงใจแทรกเส้นเรื่องของ โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ ให้โยงใยไขว้ทับบนเส้นเรื่องใหญ่ เลือนพรมแดนแห่งเวลามาอรรถาธิบายภาวะ ‘ความเป็นอมตะ’ ผ่านชีวิตและความรักของเกอเธ่ และสิ่งที่ถือเป็นไฮไลท์ในเซ็คชั่นนี้ก็คือ การนำ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ มาปรากฏในฉาก และร่วมสนทนากับเกอเธ่ ปล่อยให้สองผู้เป็นอมตะต่างยุคต่างสมัยได้มาถกเถียง ซักถาม ประชดประชัน กระทั่งเล่นหัวยั่วล้ออย่างขบขันด้วยจริตแบบปัญญาชน ใน อมตะ (Immortality)

เรากลับมาดูตัวบทใน ชีวิตอยู่หนอื่น กัน ‘สัมพันธบท’ ถูกนำมาใช้เพื่อการอ้างอิง พาดพิง อิงอาศัยฉากและชีวิตของบรรดากวีคนต่างๆ ของยุโรป เพื่อยั่วล้อ ถกเถียง ทำความเข้าใจ กระทั่งหักล้างการดำรงอยู่ ของตัวละคร (จาโรมิล) จนสิ้นสภาพ

ส่วน ’อภินวนิยาย’ นั้นคุนเดอราถึงกับอุทิศเนื้อที่ให้กับ ‘ซาวิเยร’ (ตัวละครในห้วงเพ้อฝัน) หนึ่งบทเต็มๆ เราจะเห็นได้ว่าเซวิเยรเป็นตัวละครที่มีความสุขที่สุด ชีวิตปราศจากกฎเกณฑ์ ในท้ายที่สุด ซาวิเยรได้แปรสภาพจากตัวละครในห้วงเพ้อฝันกลายเป็นตัวตนจริงๆ ออกมาหลอกหลอน แล้วย้อนมาทรยศต่อจาโรมิล ผู้สร้างเขามาอย่างเจ็บปวด


ย้อนอ่าน ชีวิตอยู่หนอื่น: ภาพเหมือนกวีหนุ่ม
ติดตาม ชีวิตอยู่หนอื่น: เมื่อตัวละครไล่ล่า ‘คุน’ ตอนที่ 2 ในสัปดาห์หน้า
อ้างอิงข้อมูลจาก: คุนเดอรา, มิลาน ชีวิตอยู่หนอื่น . แปลโดย  อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง. ปทุมธานี:กำมะหยี่, 2559.
นพพร ประชากุล,ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 1, กรุงเทพ ฯ:อ่าน, 2552

เกี่ยวกับผู้เขียน
จิระ อุ่นเรืองศรี เขียนกวี แฟนพันธุ์เที่ยงแท้และทานทนของ มิลาน คุนเดอรา กำลังเขียนนิยายชุด ทะเลใต้ ถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนที่เขาอิงอาศัยอย่างแปลกแยก

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า