ความไม่มั่นคงในอาหาร ภัยคุกคามอาเซียน

foodseminar-3

รูปแบบของสงครามแห่งยุคสมัยใหม่อาจไม่ใช่การไล่ล่าอาณานิคมหรือการแย่งชิงทรัพยากรของประเทศมหาอำนาจเหมือนอย่างในอดีต แต่อาจเกิดจากภัยคุกคามรูปแบบอื่นที่ซับซ้อนแยบยลกว่าเดิม ซึ่งความมั่นคงด้านอาหาร คือหนึ่งในวิกฤติของมนุษยชาติที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

เมื่อวันที่ 24-27 กรกฎาคมที่ผ่านมา นับเป็นอีกครั้งที่มีการรวมตัวกันแสดงพลังของเครือข่ายผู้บริโภค ในงานประชุมวิชาการมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ ‘กินเปลี่ยนโลก: บทบาทอาหารกับสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม’ โดยมีองค์กรร่วมจัด ได้แก่ มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ มูลนิธิเกษตรยั่งยืน (ประเทศไทย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพวิถีไทย

การประชุมครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสมาชิกจากองค์กรผู้บริโภคอาเซียน (SEZCC: Southeast Asian Consumer Council) จาก 7 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาแลกเปลี่ยนในเวทีแห่งนี้ ครอบคลุมตั้งแต่ปัญหาว่าด้วยความไม่ปลอดภัยของอาหาร การปนเปื้อนของสารเคมี สถานการณ์น้ำมันทอดซ้ำ นำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย และการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนการแสวงหาแนวทางความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียนต่อไป

 

 

foodseminar-6

+ วิกฤตอาหารลุกลามทั่วภูมิภาค

จากสถานการณ์ปัจจุบันทำให้เห็นแนวโน้มในอนาคตว่า ผู้บริโภคชาวไทยจะมีความเสี่ยงจากอาหารไม่ปลอดภัยมากขึ้นจนถึงขั้นวิกฤติได้ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งความไม่รู้ของผู้บริโภคเอง พฤติกรรมที่เร่งรีบ และการเอาเปรียบของผู้ประกอบการ ที่สำคัญคือห่วงโซ่ของการผลิตอาหารที่บิดเบี้ยวตั้งแต่ต้นทาง

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า วิถีการดำเนินในปัจจุบันบีบบังคับให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องเลือกรับประทานอาหารนอกบ้านและซื้ออาหารสำเร็จรูปมากขึ้น คิดเป็นกว่าร้อยละ 70 ของรายจ่ายค่าอาหารทั้งหมด โดยที่ไม่สามารถรู้ที่มาของแหล่งผลิตเลยว่าผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง

กิ่งกรชี้ว่า วิกฤตอาหารที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่แบ่งเป็น 3 แหล่ง คือ 1.เกษตรกรรายย่อยที่นับวันจะล้มหายไปจากระบบ ไม่สามารถอยู่รอดได้ภายใต้ภาวะขาดทุนและหนี้สิน 2.ระบบการผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง 3.วิกฤตผู้บริโภค ประสบปัญหาไม่มีทางเลือกในการกิน จากระบบผูกขาดของบริษัทผู้ค้ารายใหญ่ ทำให้ต้องพึ่งพาอาหารแช่แข็งมากขึ้น รวมถึงผู้บริโภคขาดความรู้ในการเลือกอาหาร แม้จะมีการติดฉลากบนบรรจุภัณฑ์ แต่ก็พบว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้เสี่ยงที่จะได้รับสารปนเปื้อนที่มีอันตรายต่อร่างกาย

“สิ่งที่ควรทำคือต้องจัดการอาหารทั้งระบบ โดยผู้บริโภคต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งต้องสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม จัดตั้งระบบสหกรณ์รายย่อย ควบคุมสารเคมีที่ต้นทาง นอกจากนี้ รัฐบาลควรเปิดตลาดทางเลือกให้เกษตรกรได้มีบทบาทมากขึ้น” เธอกล่าว

เช่นเดียวกับนานาประเทศที่ประสบปัญหาไม่ต่างกัน ดังเสียงสะท้อนของเครือข่ายผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียน ดังนี้

 

“แม้อินโดนีเซียจะมีแหล่งทรัพยากรเพียงพอ โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นอาหารหลัก แต่กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้สารเคมี ทำให้สิ้นเปลือง เกิดหนี้สิน และส่งผลเสียต่อผลผลิต”

ฮูซนา ซาฮีร์ นักวิจัยจากองค์กรผู้บริโภค ประเทศอินโดนีเซีย

 

 “มาเลเซียมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารจำนวนมาก แต่กลไกการผลิตอาจมีการปนเปื้อนและมีสารเคมีตกค้างโดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ ที่ผ่านมาชมรมผู้บริโภคปีนังพยายามแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคที่มีมานานกว่า 30 ปีแล้ว เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องวัตถุดิบปนเปื้อน”

หัทธิยา ฮาสซิม นักวิจัยจากสมาคมผู้บริโภคแห่งปีนัง ประเทศมาเลเซีย

 

“เกษตรกรของฟิลิปปินส์กำลังประสบปัญหาล้มละลายถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะการรุกคืบเข้ามาของข้าวโพดปรับแต่งพันธุกรรม (GMO) อีกทั้งส่งผลให้เป็นโรคหอบหืด ภูมิแพ้สารเคมี จึงอยากให้ภาครัฐหันมาส่งเสริมอาหารออแกนิกส์และสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น”

เจนนิเฟอร์ กุสต์ นักวิจัยจากองค์กรผู้บริโภคประเทศฟิลิปปินส์

 

“แม้ประเทศเวียดนามจะสามารถส่งออกข้าวได้มากถึง 3 ล้านตันต่อปี รองจากประเทศไทย แต่เทคโนโลยีการผลิตข้าวยังไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาครัฐควรต้องเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรใหม่ๆ ไม่พึ่งพาข้าวอย่างเดียว”

อลิซ ฟาม นักวิจัยจากองค์กรผู้บริโภค ประเทศเวียดนาม

 

foodseminar-4

+ ปรากฏการณ์น้ำมันทอดซ้ำระบาดหนัก

ประเทศไทยมีการใช้น้ำมันเพื่อประกอบอาหารจำนวน 1.2 ล้านตัน โดยน้ำมันที่เหลือจะถูกนำไปผลิตไบโอดีเซล แต่อีกส่วนหนึ่งจะถูกพ่อค้าหัวใสนำไปดัดแปลงแล้วขายให้พ่อค้าแม่ค้าในราคาถูก ซึ่งน้ำมันที่เสื่อมสภาพเหล่านี้มีส่วนประกอบของสารก่อมะเร็ง หากสูดดมจะส่งผลให้เกิดมะเร็งปอด หากรับประทานจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมทั้งสารโพลาร์ที่ก่อให้เกิดภาวะความดันในเลือดสูง

จากการติดตามเฝ้าระวังปัญหาการใช้น้ำมันทอดซ้ำ ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี พบว่า มีขบวนการลักลอบซื้อน้ำมันเก่าที่ใช้แล้วเหล่านี้ไปฟอกให้ใสเหมือนกับน้ำมันใหม่ แล้วบรรจุหีบห่อสวยงาม บางครั้งยังมีการลอกเลียนแบบตราสัญลักษณ์ของน้ำมันพืชที่ได้รับความนิยมทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งในความเป็นจริงแม้ว่าจะผ่านการฟอกแล้ว แต่สารก่อโรคทั้งหลายก็ยังคงอยู่เช่นเดิม

ภก.วรวิทย์ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อ 2 ปีก่อนพบว่ามีการออกบูธจัดแสดงเครื่องจักรในการฟอกน้ำมันเก่าที่ศูนย์การประชุมระดับชาติอย่างโจ่งแจ้ง จากเดิมที่มีการโฆษณาขายผ่านเว็บไซต์ของจีนเท่านั้น ที่สำคัญอุปกรณ์ดังกล่าวยังเป็นเครื่องจักรที่ไม่มีกฎหมายควบคุมเอาผิดได้

“เนื่องจากน้ำมันเก่าผ่านการฟอกจนใสเหมือนน้ำมันใหม่ ทำให้สังเกตได้ยาก ดังนั้นขอให้ประชาชนเลือกซื้อน้ำมันจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ส่วนน้ำมันเก่า แถมยังตียี่ห้อปลอมนั้น ส่วนใหญ่จะขายตามตลาดนัด แถวไซต์งานก่อสร้าง ราคาขายอยู่ที่ประมาณ 35-37 บาท” ภก.วรวิทย์ กล่าว

น้ำมันเก่าเหล่านี้นอกจากถูกเวียนกลับมาใช้ใหม่ในอาหารสำหรับคนแล้ว ยังมีการนำไปผสมอาหารสัตว์ ซึ่งจะทำให้สารก่อมะเร็งวนกลับมาสู่วงจรอาหารของมนุษย์อีกรอบโดยที่ไม่มีการควบคุม ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ประกาศห้ามใช้น้ำมันเก่ามาปรุงเป็นอาหารสัตว์เด็ดขาดตั้งแต่ปี 2547

“ขณะนี้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้การรับรองแล้วว่า น้ำมันทอดซ้ำเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข และต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ให้มีหน่วยงานเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ล่าสุดได้มีการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 100 แห่ง ในการนำน้ำมันใช้แล้วไปผลิตเป็นไบโอดีเซลต่อไป”

 

foodseminar-2

+ ป้ายสีแดง-เหลือง-เขียว สร้างระบบเตือนภัยบนฉลาก

แม้ ‘ฉลาก’ อาจเป็นเพียงปลายทางของกระบวนการผลิต แต่การติดฉลากคำเตือนบนสินค้าก็ถือเป็นปราการด่านสำคัญที่จะช่วยป้องกันอาหารไม่ปลอดภัยก่อนที่จะสินค้านั้นจะตกไปสู่มือของผู้บริโภค

คาริน แอนเดอร์สัน อาสาสมัครมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า หลังจากปี 2558 ที่ทุกประเทศก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ผลิตภัณฑ์ด้านอาหารจะถูกนำเข้าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การติดฉลากสินค้าจึงเป็นเรื่องที่ทุกประเทศควรให้ความสำคัญ

คาริน เสนอว่า มาตรฐานของฉลากที่ควรปรากฏอยู่บนบรรจุภัณฑ์ ควรมีองค์ประกอบ ดังนี้

  1. การแสดงวันหมดอายุ ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกันในกลุ่มประเทศอาเซียนให้สามารถเข้าใจตรงกันได้
  2. ส่วนประกอบของอาหาร ควรระบุสารเจือปนว่ามีปริมาณเท่าใด
  3. แจ้งรายละเอียดของการตัดแต่งพันธุกรรมให้ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจ
  4. บอกคุณค่าทางโภชนาการให้ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งควรระบุเป็นตัวเลขที่อ่านออกและเข้าใจง่าย
  5. ระบุแหล่งที่มาของอาหารให้ชัดเจน เพื่อป้องกันกรณีที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้
  6. ควรมีระบบเตือนภัยอาหาร หากผลิตภัณฑ์นั้นเสี่ยงต่ออันตราย โดยใช้สัญลักษณ์สีแดง-เหลือง-เขียว ซึ่งขณะนี้บางประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มมีการนำมาใช้แล้ว

ทางด้าน สัตยา ชาร์มา ผู้อำนวยการสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ประเทศอินเดีย กล่าวว่า ขณะนี้หลายประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งผู้บริโภคเริ่มมีความตื่นตัวและคาดหวังที่จะได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย โดยที่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้แปรรูปควรมีความรับผิดชอบ

เขาเสนอว่า แต่ละประเทศควรมีกฎหมายกำกับดูแลอาหารให้ชัดเจนและใช้หลักวิทยาศาสตร์มารองรับ ตลอดจนมีขั้นตอนการตรวจสอบ เฝ้าระวัง และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนให้รับทราบ ส่วนการจะออกกฎหมายเพิ่มเติมนั้นควรเปิดโอกาสให้ประชาชนและองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ทุกประเทศควรมีกองทุนระยะยาวด้านอาหารด้วย

ชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ คณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระบบการกำกับดูแลด้านอาหารของแต่ละประเทศมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค หน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคเกษตรกร ควรทำงานร่วมกันอย่างมีระบบ

“สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้คือ กฎหมายไม่ถูกนำมาปฏิบัติใช้ อีกทั้งยังไม่ครอบคลุม จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำแผนแม่บทระบบความปลอดภัยด้านอาหาร ส่วนผู้บริโภคก็ต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ตัวเอง”

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นในด้านความปลอดภัยเป็นหลัก เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือก รวมถึงการสร้างกลไกที่เข้มแข็ง ล่าสุดได้มีการจัดทำเว็บไซต์องค์กรผู้บริโภคเพื่อติดตามและเข้าถึงปัญหาต่างๆ

“ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดันวิถีการกินของประชาชนให้หันมาใส่ใจดูแลกันมากขึ้น หันมาบริโภคอาหารพื้นบ้าน ไม่เน้นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแช่แข็งมากเกินไป เนื่องจากเสี่ยงอันตรายจากสารปนเปื้อน และไม่รู้แหล่งที่มาในการผลิต”

ขณะที่ ชัยสิทธิ์ บุญกัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สคบ.มีส่วนร่วมในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนาระบบเตือนภัย อาทิ ห้ามเผยแพร่และจำหน่ายสินค้าอันตรายผ่านทางเว็บไซต์ การช่วยเหลือเยียวยาผู้บริโภคที่ประสบปัญหาจากการใช้สินค้า เฝ้าระวังสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นกลไกไกล่เกลี่ยหากผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

foodseminar-5

+ ผู้บริโภคต้องมาก่อน

บทสรุปส่งท้ายจากเวทีประชุมวิชาการในครั้งนี้ นำมาสู่ข้อเสนอร่วมกันว่า การแก้ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารนั้น ความปลอดภัยของผู้บริโภคต้องมาก่อนผลประโยชน์ด้านการค้า เพื่อความยั่งยืนของประชาคมอาเซียน

ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานกรรมการอำนวยการ สภาผู้บริโภคอาเซียน และประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข้อเสนอเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยทางอาหาร และการคุ้มครองผู้บริโภคในประชาคมอาเซียน โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

  1. สร้างความเข้มแข็งให้กับงานคุ้มครองผู้บริโภคในประชาคมอาเซียน ควรมีระบบเฝ้าระวังและรายงานเรื่องผลิตภัณฑ์เสี่ยง ให้สาธารณะสามารถเข้าถึงรายชื่อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้ โดยหน่วยงานรัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และเพิ่มตัวแทนผู้บริโภคเข้าร่วมในการตัดสินใจเรื่องมาตรการและนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในอาเซียน
  2. ความปลอดภัยด้านอาหาร ควรมีฉลากที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ฉลากสัญญาณไฟจราจรที่ใช้สัญลักษณ์สีแดง-เหลือง-เขียว รวมถึงการใช้มาตรการแบนสินค้าอันตรายในทุกๆ ประเทศในอาเซียน เมื่อมีประเทศใดประเทศหนึ่งแบนสินค้าดังกล่าว (one ban all ban) เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศในอาเซียนยกเลิกการใช้สารเคมีด้านการเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน (Carbofuran) เมทโทมิล (Methomyl) ไดโครโตฟอส (Dicrotophos) และอีพีเอ็น (EPN)
  3. ความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากประเทศในกลุ่มอาเซียนส่วนใหญ่เป็นประเทศเกษตรกรรม จึงควรมีการพัฒนาแนวปฏิบัติหรือมาตรฐานที่จำเป็นต่อการสนับสนุนและคุ้มครองเกษตรกรรายย่อยและการค้าในชุมชน

นับจากนี้ไป เมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเต็มรูปแบบ พลเมืองทุกคนในประเทศอาเซียนย่อมมีสิทธิได้รับการคุ้มครองโดยเท่าเทียมกัน

 

ข้อมูลอ้างอิง: มูลนิธิสุขภาพไทย

ที่มาภาพ: facebook.com/thaifoodforhealth

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า