ชาวเน็ตจีนวิจารณ์แบบเรียนเพศศึกษาว่าใช้ภาพประกอบสุด ‘โจ๋งครึ่ม’

credit: whatsonweibo.com

เกิดเสียงวิจารณ์อย่างล้นหลาม (อันที่จริงอาจเป็นคลื่นยักษ์ตัวอักษร) จากพลเมืองเน็ตประเทศจีน หลังแบบเรียนวิชาเพศศึกษา อธิบายเรื่องเพศสภาพ (gender) ความหลากหลายทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์ การกลั่นแกล้ง (bully) ที่มาจากเพศสภาพ ด้วยภาพประกอบที่สำนักข่าวต่างประเทศใช้คำว่า ‘โจ๋งครึ่ม’ (explicit)

ไทม์ไลน์ของข่าวชิ้นนี้เริ่มที่คุณแม่จากเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ถ่ายรูปภาพประกอบแบบเรียนที่ตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง (Beijing Normal University: BNU) ลงในโปรแกรม Weibo ของประเทศจีน ก่อให้เกิดพื้นที่ถกเถียงบนกระดาษไซเบอร์ตามมาอีกหลายหน้ากระดาน

ฟากหนึ่งตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสมของ ‘ภาพประกอบ’ และประเด็นความหลากหลายทางเพศ ที่มักถูกทำให้เบลอไปของประเทศจีน

ขณะที่อีกฟากเห็นว่า นี่คือก้าวย่างครั้งสำคัญของประเทศจีน ในการหยิบเรื่องเพศขึ้นมาพูด ด้วยการอธิบายว่า ทุกความหลากหลายคือเรื่องธรรมดา (normal phenomenon)

ไหนขอเปิดหนังสือดูหน่อยซิ

อาจใช้คำว่า ‘โจ๋งครึ่ม’ หรืออาจอธิบายด้วยคำว่า ‘เรื่องธรรมชาติ’ ก็ไม่ผิดนัก ภาพประกอบของหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยภาพสรีระของทั้งหญิงชาย อธิบายกลไกการทำงานของร่างกาย รวมทั้งการมีประจำเดือน

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้แตกต่างกันไปแล้วแต่ระดับชั้น แต่ทั้งหมดคือการบอกว่า ‘เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ’ และหนึ่งในบทเรียนของเรื่องนี้ คือการ์ตูนสั้นเรื่องหนึ่ง เล่าถึงบทสนทนาหนึ่งที่เด็กนักเรียนถามครูของพวกเขาว่า “ทำไมข้างบ้านของเขาจึงมีคู่รักชาย-ชาย อยู่ด้วยกัน”

คำตอบของครูมีว่า

“ผู้คนส่วนใหญ่อาจถูกใจในคนเพศตรงกันข้าม แต่ก็มีคนอยู่จำนวนหนึ่งที่ชอบใจในคนเพศเดียวกันนะ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ธรรมดามากเลย และเราจะบอกว่าพวกเขาเป็นตัวประหลาดก็ไม่ได้ด้วย”

credit: whatsonweibo.com

และเนื้อหาหลักๆ ในหนังสือชุดนี้ ยังทำความเข้าใจกับการถูกกลั่นแกล้ง ที่มีฐานมาจากความหลากหลายทางเพศด้วย ไม่เฉพาะการกลั่นแกล้งผู้หญิงโดยผู้ชาย แต่รวมถึงการกลั่นแกล้งจากผู้ชายที่เป็นผู้ชายต่อเด็กผู้ชาย และผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่กับเด็กผู้หญิงด้วย และการกลั่นแกล้งประเภทอื่นๆ ที่เราอาจเคยพบเจอจริงๆ ซึ่งทั้งหมดนี้อธิบายผ่านเรื่องเล่าในภาพประกอบ

ข้อโต้เถียงบนกระดาน Sina Weibo

นักศึกษาสื่อสารมวลชนคนหนึ่งที่ใช้ชื่อใน Sina Weibo ทวิตเตอร์ของจีน ว่า ‘Didi’ แสดงความเห็นไว้ว่า

“ใครๆ ก็รู้ว่าเรื่องเพศศึกษาในประเทศจีนนี้ถูกเก็บซ่อนไว้อย่างมิดชิด แทบไม่เคยมีใครพูดถึง แต่นี่คือก้าวสำคัญของประเทศจีนในเรื่องนี้เชียวนะ แต่เดี๋ยวก่อน…ทำไมใครๆ จึงไปโฟกัสแค่เรื่อง ‘ความโป๊ของภาพประกอบ’ และเรื่องอะไรเล็กๆ น้อยๆ กันเสียได้ล่ะ”

เธอยังวิจารณ์ต่อไปว่า การที่หนังสือเล่มนี้ใช้ภาพประกอบที่ผู้คนวิจารณ์ว่าโป๊ แต่มันคือการ normalize หรือทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ (เพราะมันเป็นเรื่องปกติ) ทำความเข้าใจโครงสร้างของร่างกาย อธิบายความแตกต่างของเพศชายและหญิงที่มาจากสรีระ

อย่างไรก็ตาม People’s Daily สื่อที่ทรงอิทธิพลของรัฐบาลจีน ก็ออกมาชี้แจงต่อข้อวิจารณ์ของพลเมืองเน็ตใน Weibo ว่า ภาพประกอบในหนังสือเล่มนี้ จะทำให้นักเรียนเข้าใจเรื่องเพศได้ง่ายขึ้น

และยังเขียนด้วยว่า การรับรู้ของเด็กในช่วงนี้ยังเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ (pure and unbiased) สายตาที่เด็กๆ มองร่างกายอันเปล่าเปลือยในหน้ากระดาษ คงไม่ตีความแบบเดียวกับเวลาที่ผู้ใหญ่มอง

 


อ้างอิงข้อมูลจาก: whatsonweibo.com
ecns.cn

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า