ขอให้ยกเลิกคำสั่งที่ 3 และ 4/2559 เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

IMG_0229SomnuckJ

เพราะเชื่อว่า หากเริ่มต้นที่ชุมชนเข้มแข็ง แล้วการจัดการสิ่งแวดล้อมก็จะตามมาเอง

จากต้นแบบ ‘ธรรมนูญชุมชนอ่าวอุดม’ ในจังหวัดชลบุรีบ้านเกิด กลายเป็นโมเดลจัดการชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่มีผลในทางปฏิบัติ สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก ถือว่ามีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างภาคประชาชนกับภาคเอกชนและกลุ่มทุนอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในการจัดการสภาพแวดล้อม และทุกๆ ฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างแท้จริง

แต่เมื่อ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3 และ 4/2559 ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 20 มกราคม 2559 สมนึกไม่ใช่คนเดียวที่เห็นว่าคำสั่งทั้งสองฉบับนี้จะส่งผลกระทบมหาศาลต่อความยั่งยืนในการจัดการชุมชนและสิ่งแวดล้อมของทั้งประเทศ เขาจึงออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนอีกนับ 100 องค์กร ในนาม ‘เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งสองฉบับนี้โดยเร็วที่สุด

 

มีหลายเรื่องที่ผังเมืองช่วยเราไว้ แล้วทำให้เราเจรจาได้ แต่คำสั่งสองฉบับนี้คือการรื้อ หรือเปิดช่องให้นายทุน ไม่ต้องเจรจา จะไปตั้งกิจการเหล่านี้ที่ไหนก็ได้

เวลาอธิบายคนกรุงเทพฯจะรู้สึกว่ามันไกลตัว แต่ที่ตำบลเชียงรากใหญ่ (จังหวัดปทุมธานี) ที่จะตั้งโรงไฟฟ้าขยะ มันใกล้แหล่งน้ำดิบของคนกรุงเทพฯมากนะ หรือคนกรุงเทพฯคิดว่าประปาจะทำน้ำสะอาดขึ้นมาได้ ก็ต้องลองดู 

จากที่ทำงานในเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ทำธรรมนูญอ่าวอุดม เพื่อการมีส่วนร่วมในการวางแผนการพัฒนาฐานทรัพยากรร่วมกันระหว่างชุมชนและเอกชน เน้นการพูดคุยเจรจามากกว่าการต่อต้านและความขัดแย้ง มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

จุดนี้ก็คือ มันมีคำสั่งพิเศษที่เป็นซูเปอร์ลอว์ประกาศขึ้นมา ทีนี้ถามว่า คนชลบุรี คนอ่าวอุดมจะกระเทือนไหม ก็กระเทือน เพราะต่อไปนี้ เราไม่สามารถจะบอกว่า พื้นที่สีม่วง (ในผังเมือง) เป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมได้อีกต่อไป พื้นที่สีเขียวก็มีโอกาสขึ้นโรงไฟฟ้าขยะ หรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติได้

มันมีที่ภาคตะวันออกจังหวัดหนึ่ง ไม่ขอเอ่ยชื่อ เขากำลังฟ้องคดีกันอยู่ เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหลายร้อยเมกะวัตต์ ปรากฏว่าไม่กี่วันหลังจากที่ประกาศคำสั่งที่ 3 และที่ 4/2559 คำสั่งที่ 4 จะมีผลต่อโครงการโดยตรง คือตั้งแต่ 20 มกราคมเป็นต้นมา สามารถตั้งได้เลย ไม่ผิดผังเมือง

เกี่ยวกับการทำ EIA ด้วยไหม

ไม่ใช่ EIA แต่กลายเป็นผังเมืองเปิด หรือเป็นการอนุญาตให้เขาทำในพื้นที่นั้นได้ ซึ่งจริงๆ เราไปฟ้องศาลปกครองว่าไม่ได้ เพราะติดกฎหมายผังเมือง แต่คำสั่งที่ 4/2559 เปิดกฎหมายผังเมือง สำหรับโรงไฟฟ้าทุกชนิด คือกิจการลำดับที่ 88

กิจการลำดับที่ 88 คนจะเข้าใจว่าโรงไฟฟ้าขยะอย่างเดียว แต่ความจริงไม่ใช่ รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ หรือโรงไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ก็ได้ อันนี้เราไม่ว่า โรงไฟฟ้าเทอร์ไบน์ก็ได้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ได้ เพราะทุกอย่าง ตามแผน PDP ปี 2015-2016 เรื่องคลังก๊าซ คลังน้ำมัน ก็ตั้งได้ เพราะอยู่ในกิจการ 88 ท่อก๊าซธรรมชาติ ก็อยู่ในกิจการนี้เหมือนกัน

ลำดับ 89 จะเกี่ยวข้องกับก๊าซธรรมชาติ ผลพลอยได้จากโรงไฟฟ้าขยะ ส่วน 101 คือโรงกำจัดน้ำเสีย สำหรับอุตสาหกรรม รวมถึงโรงเผาขยะกากอุตสาหกรรมอันตราย 105 คือบ่อฝังกลบขยะ 106 คือโรงงานรีไซเคิล รวมถึงการอัดแน่นเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) ที่รัฐบาลพูดถึง

ผังเมืองที่เคยป้องกันการตั้งโรงไฟฟ้าหรือโรงงานต่างๆ ก็ไม่มีผลอะไรแล้ว

จะเห็นได้ว่า ถ้าเรามีผังเมือง จะไปสร้างกิจการเหล่านี้ในพื้นที่บางพื้นที่ไม่ได้ แต่ทีนี้เราเปิดผังเมืองด้วยคำสั่งที่ 4/2559 แล้ว ก็ไปตั้งได้หมด พื้นที่สีเขียวเราก็จะมีกิจการบ่อฝังกลบขยะได้ โรงไฟฟ้าขยะได้ หรือมีโรงเผาขยะกากอุตสาหกรรมอันตรายได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ พวกเรากลัวมาก

แล้วทราบใช่ไหมว่า โรงไฟฟ้าขยะในประเทศไทย เขาวางแผนไว้ 53 โรง ปี 2559-2564 จะค่อยๆ ทยอยมา อย่างเชียงรากใหญ่ที่โดนไปแล้ว นั่นก็หนึ่งโรง ที่สำคัญคือ เชียงรากใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับบ่อผลิตแหล่งน้ำดิบของคนกรุงเทพฯ

SomnuckJ-re-1

ซึ่งคำสั่งทั้งสองฉบับ โดยเฉพาะคำสั่งที่ 4/2559 น่าจะกระทบกับชุมชนทั่วประเทศ

คำสั่งที่ 4/2559 มีผลต่อศาลด้วย กรณีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ จริงๆ เราจะชนะอยู่แล้ว แต่เอกชน เจ้าของโรงไฟฟ้าก็เอาคำสั่งที่ 4 มา ก็สร้างได้ ศาลยังไม่ตอบรับ แต่เรามีโอกาสแพ้สูง แล้วพอคดีแพ้ ชาวบ้านก็จะเขม็งเกลียวกับโรงงาน แทนที่จะใช้วิธีพูดคุยหรือเจรจากัน

อย่างที่ผมทำเรื่องธรรมนูญอ่าวอุดม ก็ต้องการให้ชุมชนกับอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งพอเป็นแบบนี้ ไม่รู้ว่าฝั่งอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนท่าทีหรือเปล่า

จะทำเรื่องการยกเลิกผังเมืองให้คนในเมืองหรือคนกรุงเทพฯเข้าใจและเข้าถึงได้อย่างไร

มันมีหลายเรื่องที่ผังเมืองช่วยเราไว้ แล้วทำให้เราเจรจาได้ แต่คำสั่งสองฉบับนี้คือการรื้อ หรือเปิดช่องให้นายทุน ไม่ต้องเจรจา จะไปตั้งกิจการเหล่านี้ที่ไหนก็ได้

ยกตัวอย่าง ถ้าผมลงทุนซื้อที่สีเขียวราคาถูกๆ สมมุติไร่ละ 50,000 แล้วเอาไปทำบ่อขยะ แบบนี้ก็ทำได้

เวลาอธิบายคนกรุงเทพฯจะรู้สึกว่ามันไกลตัว แต่ที่ตำบลเชียงรากใหญ่ (จังหวัดปทุมธานี) ที่จะตั้งโรงไฟฟ้าขยะ มันใกล้แหล่งน้ำดิบของคนกรุงเทพฯมากนะ หรือคนกรุงเทพฯคิดว่าประปาจะทำน้ำสะอาดขึ้นมาได้ ก็ต้องลองดู

 


น้อยไปมาก logo

คือซีรีส์เรื่องเล่า ว่าด้วยผู้คนในสาขาวิชาชีพต่างๆ พวกเขาเป็นใครหลายคน ทั้งทนายความ แพทย์ นักสิ่งแวดล้อม นักสันติวิธี นักดนตรี นักการละคร ฯลฯ

พวกเขาคือคนธรรมดา แต่ความตั้งใจและเนื้องานของพวกเขา ก่อให้เกิดมรรคผลต่อสังคม ไม่ว่าเจ้าตัวจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

บนเส้นทางที่แตกต่างหลากหลายนี้ พวกเขาแต่ละคนไม่ได้เดินเพียงลำพัง พวกเขามีเพื่อน เครือข่าย สหวิชาชีพต่างๆ เหล่านี้ ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อคนจำนวน ‘มาก’

‘น้อยไปหามาก’ คือซีรีส์เรื่องเล่า ที่มีทั้งรูปแบบบทสัมภาษณ์ขนาดสั้น สารคดี และหนังสารคดี ผลิตโดยทีมงานนิตยสาร WAY

ขอเพียงประกายจงลุกเป็นไฟพะเนียง

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า