Song of Lahore: พระเจ้าอยู่ในเสียงเพลง

Song_of_Lahore-open
เรื่อง: ณัฐกานต์ อมาตยกุล
ภาพ: songoflahoremovie.com

 

ลาฮอร์ในรูหู

ถ้าคุณกำลังห่อเหี่ยวกับสิ่งที่กำลังทำ ลองมาฟังบทเพลงของพวกเขา นักดนตรีแห่งลาฮอร์

เปล่า ไม่ได้บอกว่าจะเลิกห่อเหี่ยว แต่มันอาจเป็นห้วงเวลาชั่วโมงกว่าๆ ที่วิญญาณของคุณลุกขึ้นเต้นไปกับเสียงดนตรี

กลองระรัวเร็ว ตุ๋มป๊ะ! ตุ๋มๆ ตุ้ม ป้ะ! เหมือนหัวใจจะกระโดดออกมา เสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวปากีสถานประสานคลอ นุ่มนวลเหมือนสางเส้นผมแผ่วบนศีรษะของเราจนหลงเคลิ้ม

นี่เองดนตรีจึงเป็นที่หลงรักของคนทั่วโลก ไม่ว่ามันจะเป็นผลงานสร้างสรรค์จากวัฒนธรรมแบบไหน

มันไม่ได้ต้องการให้เราสนทนาตอบด้วยภาษาของมัน แค่โยกคอตาม ยิ้มมุมปาก และอาจเสริมทับด้วยคำว่า Yeah! เบาๆ

เมืองลาฮอร์ จากศูนย์กลางวัฒนธรรมดนตรีที่รุ่มรวยในราชวงศ์โมกุล มีนักดนตรียอดฝีมือมากมาย ก็กลายเป็นสถานที่เงียบร้างเสียงเพลงในปี 1977 หลังเกิดการปฏิวัติ เพราะผู้นำที่ตีความข้อห้ามในศาสนาอิสลามออกมาในรูปแบบที่เรียกว่า ‘สุดโต่ง’ ออกมาบังคับใช้ในประเทศ สั่งห้ามการบรรเลงดนตรีทุกชนิด เพราะมันผิดหลักศาสนาอันเคร่งครัด

จิตวิญญาณนักดนตรีที่สืบต่อมา 7 รุ่น ก็อ่อนแอลง

แต่ไม่ได้พังพลาย

มันอยู่ตรงนั้น ส่งเสียงเงียบๆ ในตึกอาคารมิดชิด ตามซอกมุมที่เจ้าหน้าที่รัฐอาจไม่เข้ามาระราน

สุดท้ายแล้วมันไม่มีทางเงียบลงได้…อย่างน้อยเสียงของมันจะบรรเลงต่อไปในหูของนักดนตรี และเรียกร้องให้มือหรือริมฝีปากของมนุษย์สักคนถ่ายทอดมันออกมา

ไม่ได้เจตนาจะขัดขืนคำสั่งรัฐ แต่มันไม่ใช่สสารที่จะบรรจุอยู่ใต้การคุมขังได้

เสียงขลุ่ยเศร้า

“พระเจ้าของผมอยู่ในนั้น”
นักเป่าขลุ่ยแห่งวงซาชาลว่า

พระเจ้าของแต่ละคนก็อยู่ในสิ่งที่เราศรัทธา

เขาค่อยๆ บรรจงเจาะรูขลุ่ยให้ตรงตำแหน่งและองศา สำหรับนักดนตรี การได้สร้างสรรค์เครื่องดนตรีด้วยตัวเองก็ทำให้มันมีค่าเทียบเทียมชีวิต เขาแนบขลุ่ยไม้กับอก “เพราะเราบอกเล่าเรื่องราวของโลกผ่านมัน”

บรรดานักดนตรีในวงซาชาล ทั้งนักไวโอลินรุ่นเก๋า มือกลองที่ฝึกปรือฝีมือกับพ่อตั้งแต่ยังเล็ก ชายเป่าแอคคอเดียนที่สืบสานเจตนารมณ์ของพ่อผู้จากไป และพ่อหนุ่มนักเป่าขลุ่ยคนนี้ พวกเขาโชคดีที่ตอบตัวเองชัดว่าศรัทธาในสิ่งใด

แต่พวกเขาโชคร้ายที่ถูกจัดวางในสังคมและยุคสมัยที่มองสิ่งนั้นเป็นปรปักษ์

การยอมรับจากโลก

เราอาจเคยเห็นมือกลองนิรนามตีกระป๋องสีเป็นจังหวะคึกคักสะท้านใจตรงแถวแยกราชเทวี
นักดนตรีแห่งลาฮอร์เหล่านี้เองก็มีโอกาสได้เจอวณิพกเช่นนี้ที่นิวยอร์คซิตี้ เขายืนมองด้วยความชื่นชม

“เป็นนักดนตรีไส้แห้งแบบเราเลย” พวกเขาพูดกันให้หัวเราะครืน

ใช่… แต่มันก็แอบเศร้า หากพวกเขาเกิดเร็วกว่านี้ ในยุคทองของนักดนตรีพื้นบ้าน ความสามารถของพวกเขาจะไม่สูญเปล่า

แล้วคุณล่ะ กำลังรู้สึกว่าความสามารถและความศรัทธาของตัวเอง อยู่ผิดที่ผิดทางไหม

ชวนให้นึกถึงบทหนึ่งในหนังสือ ความยุติธรรม ของ ไมเคิล แซนเดล ซึ่งอธิบายแนวคิดของ จอห์น รอลส์ คนที่ประสบความสำเร็จมักมองข้ามแง่มุมของความบังเอิญในความสำเร็จของพวกเขา คนส่วนใหญ่โชคดีที่มีคุณสมบัติซึ่งสังคมของเราให้ค่า อย่างน้อยก็ในบางมิติ…

…สมมุติว่าเรามีพรสวรรค์เหลือหลาย แต่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่ไม่ได้ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและช่างฟ้องร้องเหมือนกับสังคมอเมริกัน… พรสวรรค์ของเราจะทำอะไรได้? แน่นอนว่ามันไม่ช่วยให้เราไปได้ไกล …แต่เราจะมีคุณค่าน้อยลงหรือมีคุณธรรมน้อยกว่าที่เราเป็นอยู่หรือไม่

รอลส์ตอบว่าไม่…ในขณะที่เรามีสิทธิอันชอบธรรมน้อยลง (ได้ผลตอบแทนน้อยลง) เราไม่ได้มีคุณค่าน้อยลง

ขณะที่เรามีสิทธิอันชอบธรรมในประโยชน์ที่กฎกติกาของเกมสัญญาว่าจะให้เพื่อตอบแทนการใช้พรสวรรค์ของเรา ความคิดที่ว่าเราคู่ควรกับสังคมที่ให้ค่ากับสิ่งที่เราบังเอิญมีเหลือเฟือนั้นก็เป็นความคิดที่ผิดและหลงตัวเอง

เราอาจรู้สึกโดนตบหน้าเบาๆ เฮ้ย ตื่น อย่าเพิ่งเก็บข้าวของไปตามหาความฝันแบบนักดนตรีลาฮอร์
แต่ใครจะรู้ การยอมรับ บางทีก็ต้องมาจากการที่เรานำตัวเองไปอยู่ถูกที่ถูกเวลา

บางคนที่ดูหนังเรื่องนี้อย่างกังขาก็อาจบอกว่า นี่มันหนังที่คนตะวันตกทำให้คนตะวันออกอยากดั้นด้นไปค้นหาการยอมรับจาก ‘ชาติพันธุ์ที่เหนือกว่า’ ฟินไปกับเสียงปรบมือ ในประเทศที่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองยังมองชาวปากีสถานเหล่านี้ด้วยแววตาไม่วางใจ

โชคดีที่รอยยิ้มของนักดนตรีลาฮอร์ที่สดใสบอกพวกเราว่า มันไม่ใช่แค่นั้นหรอก

“ขอบคุณอัลเลาะห์ที่ทำให้เราเดินทางมาถึงอย่างปลอดภัย”

เพื่อที่ความศรัทธาของพวกเขาจะได้รับการผายมือเชื้อเชิญให้ไปบรรเลงอย่างสุดความสามารถ

song_of_lahore-cv

อัลเลาะห์ในเรา

“ขอบคุณอัลเลาะห์ที่ทำให้ผมมีดนตรีในจิตวิญญาณ ไม่ใช่การก่อสงคราม” ชายนักเป่าขลุ่ยพูด

พวกเขาอาจต้องการการยอมรับจากมนุษย์ชนชาติอื่นในฐานะมนุษย์ด้วยกัน ไม่ใช่ว่าใครเหนือกว่า และกล่าวอย่างขอไปทีว่า โอเค ดนตรีของนายดี เราจะอนุญาตให้พวกนายมีชีวิตอยู่ในสังคมโลกนี้ แม้ว่านายจะเป็นมุสลิมซึ่งเรามักคิดให้มันผูกติดกับการก่อการร้าย

โอ้ แน่นอน พวกเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย พวกเขาคือนักดนตรี และไม่ได้ต้องการการยอมรับที่จอมปลอม แบบละครเกี่ยวกับเด็กบ้านนอกเข้ากรุง

ขันติธรรมที่มองว่าต้องอดกลั้นนั้น เป็นความคิดที่มีความกดขี่อยู่ในตัว เพราะมาจากการมองว่าความแตกต่างคือความด้อยกว่า จึงต้องอดกลั้น งานของชิเชกเคยว่าไว้ทำนองนั้น

พวกเขาคงไม่ได้ต้องการให้คนอเมริกันผู้ให้กำเนิดแจ๊ส บอกแค่ว่า คนปากีฯพวกนี้เล่นแจ๊สได้ดี

สิ่งที่สำคัญสำหรับนักดนตรีแห่งลาฮอร์ อาจเป็นแค่การพยักหน้าแล้วบอกว่า ใช่เลย นี่ล่ะดนตรี ที่บอกว่าเราต่างเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น

และ Song of Lahore ก็อาจเป็นหนังที่ทำให้คุณน้ำตาคลอเมื่อกลับมานึกถึงศรัทธาของตัวเอง

 


เราเชื่อว่าอ่านถึงตรงนี้ คุณคงอยากหาโอกาสดูหนังเรื่องนี้ แต่น่าเสียดายที่กิจกรรมดูหนังสารคดีและฟังบรรยายต่อยอดเข้มข้น ‘DOC+TALK ครั้งที่ 2: Song of Lahore การเมือง ดนตรี ปากีสถาน’ โดย Documentary Club เมื่อ 31 สิงหาคม ที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นั้นจัดฉายเพียงรอบเดียว
ภาพยนตร์สารคดีสุดบันดาลใจของศิลปินชาวเมืองลาฮอร์ ผู้ผสมผสานลีลาพื้นบ้านเข้ากับท่วงทำนองแห่งแจ๊ส สรรค์สร้างผลงานที่นำพาพวกเขาและผู้ชมก้าวข้ามความล่มสลายของของศิลปะอันเป็นที่รักและสังคมอันเต็มไปด้วยความขัดแย้ง…ด้วย ‘ดนตรี’
สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสชมสารคดีและเสวนาในครั้งนี้ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวและข่าวสารการจัดฉายสารคดีครั้งต่อไปได้ที่ Documentary Club

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า