เพราะการเรียนเป็นเรื่องสนุก คนฟินแลนด์เลยชอบไปโรงเรียน

เรื่อง: อภิรดา มีเดช
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

จากที่เรียกน้ำย่อยกันไปใน #WAY91 ประเด็นระบบการศึกษาของฟินแลนด์ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกไม่น้อย

การบ้านน้อย กว่าจะมีสอบก็จบเกรด 12 ทุกคนเรียนโรงเรียนใกล้บ้านเพราะมาตรฐานไม่ค่อยต่างกัน ไม่มีโรงเรียนเอกชน รวมทั้งติวเตอร์หรือสอนพิเศษ เพียงเท่านี้ เราอาจคิดว่า นี่ก็เพียงพอแล้วที่ฟินแลนด์จะเป็นดินแดนในฝันของเด็กๆ

ถ้าจะให้สรุประบบการศึกษาฟินแลนด์แบบรวบรัดเข้าใจง่าย คีย์เวิร์ดคงอยู่ที่ ครู นักเรียน และการเรียนรู้อย่างมีความสุข

WAY มีโอกาสพูดคุยกับ ซูซันนา เอลต์วิค (Susanna Eltvik) ที่ปรึกษาด้านการศึกษา สถานทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย และ นุชวรี บุญคุ้มครอง Team Finland Assistant ที่มาช่วยเพิ่มเติมข้อมูลให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น

เรียนแบบฟินแลนด์ ถ้าจะให้ไทยแลนด์เลียนแบบ อย่างแรกคงต้องทำให้เด็กๆ สนุกที่จะได้เรียนรู้ และเน้นไปที่การพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน อีกอย่างที่ควรทำตามอย่างเคร่งครัดก็คือ เพิ่มเวลาพักระหว่างคาบเรียนให้มากขึ้น

แต่กว่าฟินแลนด์จะมาถึงจุดที่แก้ปัญหาการศึกษาของประเทศได้ผลเป็นที่น่าพอใจ พวกเขาก็ให้เวลาและทุ่มเทกับมันมาไม่ต่ำกว่า 40 ปี

การปฏิรูปการศึกษาในฟินแลนด์เริ่มต้นได้อย่างไร

ในปี 1963 รัฐบาลตัดสินใจว่าต้องทำอะไรสักอย่าง หลังจากเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป ในขณะที่สมาชิกประเทศอื่นๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ ขณะที่ฟินแลนด์อยู่ ‘ชายขอบ’ ของยุโรป

ฟินแลนด์ไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรเป็นพิเศษ แต่ทรัพยากรที่เรามีก็คือประชากรของเรา ดังนั้น รัฐบาลมีมติในปี 1963 ว่าถึงเวลาต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการศึกษา เพื่อให้ประเทศพัฒนาระดับความสามารถในการแข่งขัน ศักยภาพและประสบความสำเร็จในฐานะส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปในอนาคต

การเมืองในฟินแลนด์ก็มีการแบ่งเป็นฝักฝ่าย แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นร่วมกันและเห็นความสำคัญคือการศึกษา การศึกษาคือคำตอบสำหรับการพัฒนาประเทศ นี่จึงเป็นเป้าหมายร่วมกันของทุกฝ่าย

และนี่คือการเริ่มต้นการปฏิรูป

หลังจากนั้น การศึกษาก็พัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ ในปี 1973 ก็ตัดสินใจว่าจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาครู ในฟินแลนด์ อาชีพครูได้รับความนับถือเท่ากับแพทย์และนักกฎหมาย

เวลาทุกคนไปงานปาร์ตี้ค็อกเทล ถ้าถามว่าเขาหรือเธอทำอาชีพอะไร แล้วได้คำตอบว่าหมอหรือทนายความ คนก็จะเฉยๆ แต่ถ้าบอกว่าเป็นครู คนจะ โอ้! ซึ่งอาชีพครูในฟินแลนด์จะได้รับความนับถือเท่าๆ กับอาชีพแพทย์และนักกฎหมาย

ปฏิรูปการศึกษานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ระหว่างทางก็ต้องผ่านการพิจารณาร่วมกันว่าควรไปทางไหน แต่ในที่สุด เมื่อทุกคนมีเป้าประสงค์ร่วมกันก็ช่วยให้เราไปถึงจุดนั้นได้

ก่อนหน้านี้ ฟินแลนด์ก็จัดการการศึกษาแบบรวมศูนย์ สั่งการณ์ตรงมาจากรัฐบาล หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่าต้องทำอย่างไร แต่ต่อมา โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1980 ก็เริ่มมีการกระจายอำนาจไปสู่ระดับท้องถิ่น ชุมชน และโรงเรียนทุกแห่ง

ที่ฟินแลนด์ สิ่งที่คุณจะได้รับเหมือนกันคือ หลักสูตร แต่ทุกเมือง ทุกชุมชน และทุกโรงเรียนสามารถปรับแผนการเรียนการสอนได้ตามความเหมาะสม ไม่มีการบังคับว่าหนังสือเรียนจะต้องเป็นเล่มนั้นเล่มนี้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของครูหรือโรงเรียนแต่ละแห่ง อุปกรณ์ประกอบการสอนต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน คุณครูจะมีอิสระในการเลือกใช้ ถ้าถามว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็เพราะประเทศมุ่งเน้นระบบการผลิตครูเป็นสำคัญ

การให้ความเคารพนับถืออาชีพครูนั้นเกิดขึ้นอยู่แล้ว หรือมีขึ้นหลังการปฏิรูปการศึกษา

พวกเขาได้รับการยอมรับนับถืออยู่แล้ว เมื่อก่อนในแต่ละหมู่บ้านจะมีสามอาชีพหลักๆ คือ แพทย์ นักบวช และครู ที่ได้รับความเคารพนับถือ ดังนั้น ครูเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับนับถือมาตลอด แต่ในช่วง 1970 ที่มีการปฏิรูป จะมีการให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์เรื่องการศึกษามากหน่อย

ที่ฟินแลนด์ อัตราการแข่งขันของการเป็นครูสูงมาก มีผู้สมัครเพียง 10 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดที่จะได้เป็นครู ซึ่งบางครั้งคนที่พลาดหวังจากการเป็นครู เขาค่อยไปสมัครเป็นแพทย์

นุชวรี: มีเรื่องตลกที่เล่ากันมาคือ มีคนที่เก่งมากๆ ในซิลิคอนวัลเลย์ แล้วมีนักข่าวไปสัมภาษณ์ว่า ทำไมถึงโด่งดังในซิลิคอนวัลเลย์ เขาบอกว่า ตอนนั้นสอบครูแล้วไม่ได้ ก็เลยมาที่นี่

อยากทราบเกี่ยวกับสหภาพครู ว่ามีความเข้มแข็งแค่ไหน

สหภาพครูก็จะให้ความสำคัญกับสิทธิของครู ติดตามนโยบายด้านการศึกษา แล้วให้ความคิดเห็น ซึ่งก็เป็นสหภาพที่แข็งแรงมาก

ย้อนกลับไปก่อนจะปฏิรูปการศึกษา ฟินแลนด์จำเป็นต้องเป็นรัฐสวัสดิการก่อนหรือเปล่า        

มันก็ได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ฟินแลนด์คือหนึ่งในผู้แพ้สงครามและเราต้องชำระค่าปฏิกรรมสงครามแก่รัสเซีย ระหว่างที่มีการชำระค่าปฏิกรรมสงคราม เราก็พัฒนาอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน แต่เมื่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างเดียวที่เรามีคือคน เราจึงต้องหันมาพัฒนาการเรียนรู้

ช่วงทศวรรษที่ 1950-1960 ทุกวันที่มาโรงเรียน เด็กๆ อายุต่ำกว่า 18 ปีจะได้รับอาหารเที่ยงปรุงสุกใหม่ฟรีหนึ่งมื้อตลอดเทอม ตอนนี้โรงเรียนส่วนใหญ่จะเตรียมของว่างมื้อบ่ายสำหรับเด็กๆ ด้วย อย่างผลไม้ ขนมปัง หรือนม

เพราะเด็กๆ ที่ท้องหิว จะไม่มีสมาธิระหว่างการเรียน รัฐบาลจึงกำหนดเลยว่าเด็กๆ ทุกคนต้องได้รับอาหาร และควรเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ใช่อาหารขยะแน่นอน

จากหนังสารคดี Where to Invade Next ของ ไมเคิล มัวร์ เราได้ยินพ่อแม่ของเด็กพูดว่า โรงเรียนที่ดีที่สุดคือโรงเรียนใกล้บ้าน เพราะพวกเขามั่นใจได้ใช่ไหมว่าทุกโรงเรียนมีมาตรฐานเดียวกัน

มีความต่างเพียงร้อยละห้าเท่านั้นระหว่างโรงเรียนที่ดีที่สุดกับโรงเรียนอื่นๆ ทั้งหมด ในฟินแลนด์ เราไม่มีการจัดอันดับโรงเรียน

ครูทุกคนล้วนได้รับการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์เหมือนกัน และเป็นคณะที่มีการเรียนการสอนดีเยี่ยม ก่อนสมัครเป็นครูทุกคนต้องจบปริญญาโท นั่นจึงไม่สำคัญว่าคุณจะเรียนที่ส่วนใดของประเทศ เพราะทุกที่มีระบบการศึกษาไม่ต่างกัน

ครูที่นั่นเชี่ยวชาญการทำวิจัย พวกเขารู้วิธีจัดการความรู้ภาคทฤษฎีให้กลายเป็นการเรียนรู้ภาคปฏิบัติของเด็กๆ ยิ่งยุคนี้ที่มีอินเทอร์เน็ต ช่วยให้เราเข้าถึงงานวิจัยได้มากมาย ที่ฟินแลนด์เราเชื่อในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (live-long learning) แม้ครูจะสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้วก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเขาจะหยุดการเรียนรู้ และพัฒนาความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน

ตามกฎหมาย ทุกๆ ปี ครูทุกคนจะมีเวลาสำหรับการพัฒนาตัวเอง 3 วัน จากจำนวนชั่วโมงสอนทั้งหมด 1,600 ชั่วโมงต่อปี นั่นคือพวกเขาจะมีเวลาราว 80 ชั่วโมง แต่ไม่ใช่การไปเรียนเต้นนะ (หัวเราะ)

การพัฒนาตัวเองในที่นี้ เป็นการเสริมความเชี่ยวชาญหรือความสนใจของครูในด้านต่างๆ อาทิ เข้าคอร์สพัฒนาทักษะใหม่ๆ หรือการเข้าร่วมและเสนอผลงานในงานประชุมระดับนานาชาติ

สิ่งที่รัฐบาลฟินแลนด์ทำคือการกระจายอำนาจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมาตรฐานเดียว คือกำลังสงสัยว่า มันเริ่มมาจากความคิดที่ว่า ต้องกระจายการตัดสินใจลงไปในท้องถิ่นก่อน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมั่นใจว่าทุกท้องถิ่นทำได้ด้วย?

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเรื่องไหนมาก่อน แต่เมื่อคุณเชื่อมั่นและเชื่อใจในตัวครู หลักสูตรแกน (core curriculum) เพียงกำหนดไว้เบื้องต้นว่าเด็กๆ ระดับนี้ ต้องการเรียนรู้อะไรบ้าง จากนั้นครูแต่ละคนจะมีวิธีประเมินผลเด็กนักเรียนทุกๆ วัน โดยไม่ต้องมีการสอบ หรือการทดสอบเกิดขึ้นทุกวัน

โดยเฉพาะเด็กๆ ในชั้นเล็กๆ ครูคนหนึ่งจะมีโอกาสอยู่กับนักเรียนคนเดิมเป็นเวลา 2-4 ปี ทำให้มีโอกาสสังเกตพวกเขา ครูแต่ละคนจะรู้จักนักเรียนของตัวเองค่อนข้างดี และรู้วิธีที่จะเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเด็กคนนั้นมีการพัฒนาไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น ครูจะเริ่มต้นหาสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ มีปัญหาในการเรียนรู้ ว่าพวกเขามีปัญหาด้านความผิดปกติทางการเรียนรู้หรือไม่ หรือมีปัญหาทางบ้าน หรือเกิดอะไรขึ้นกับลูกศิษย์คนนั้น

ฉันและครอบครัวอาศัยอยู่แถบตะวันออกกลางนานพอสมควร แต่เมื่อตัดสินใจย้ายกลับไปฟินแลนด์ เราตัดสินใจกันได้ว่าจะย้ายไปเมืองไหน จากนั้นเราก็ซื้อบ้าน แล้วค่อยมองหาโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด ฉันมีลูกสามคนและพวกเขาเดินไปโรงเรียนเองทุกวัน

นุชวรี: ทุกคนไม่ต้องสอนอย่างเดียวกัน แต่เขาจะรู้คอนเซ็ปต์ วิธีการสอนอาจจะแตกต่างกันไป เพราะเขามั่นใจว่า ครูทุกคนมีมาตรฐานเดียวกัน

แล้วครูจะมีเวลากับนักเรียนอย่างใกล้ชิด ครูบางคนมีเวลา 2-4 ปีกับเด็กหนึ่งคน เขาจะรู้เลยว่า พัฒนาการของเด็กในแต่ละวันเป็นอย่างไร เขาไม่ได้เปรียบเทียบว่า คนนี้ต้องดีกว่าคนนี้ หรือใครต้องดีกว่ากัน แต่เขามองว่า ตัวเราเอง แต่ละวันพัฒนาขึ้นอย่างไร

คือเขาเชื่อว่า การวัดผลคือการดูว่า เราพัฒนาตัวเอง คนที่เรากำลังจะแข่งด้วยคือตัวเราเองเมื่อวาน ไม่ใช่เพื่อน

เพราะฉะนั้น นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ฟินแลนด์ไม่ได้มีการจัดอันดับโรงเรียนว่าที่ไหนเป็นอันดับหนึ่งสองสาม อันดับที่ดีที่สุดกับอันดับที่แย่ที่สุดจึงต่างกันแค่ห้าเปอร์เซ็นต์

แล้วถ้ามีเด็กที่เรียนรู้ไม่ทันเพื่อน ครูที่นั่นมีวิธีแก้ไขอย่างไร

เรามีครูพิเศษ และสิ่งที่ครูพิเศษทำก็คือ เมื่อมีเด็กนักเรียนที่เรียนช้ากว่าเพื่อน หรือมีเด็กที่เรียนรู้ไวกว่าคนอื่นๆ เพื่อจะสร้างสมดุล ไม่ให้เด็กหัวไวรู้สึกเบื่อเวลาอยู่ในห้องเรียน และทำอย่างไรให้เด็กที่เรียนรู้ช้ากว่าเพื่อนๆ ขยับขึ้นมาและพัฒนาการเรียนรู้ของเขา ครูพิเศษจะเรียกเด็กนักเรียนทุกคนให้เข้าไปพบ

ทุกคนจะไม่มีใครรู้ว่าใครเรียนเร็วหรือเรียนช้ากว่าคนอื่น สำหรับเด็กที่ตามเพื่อนๆ ไม่ทัน ก็มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาวิธีที่จะช่วยปรับระดับการเรียนรู้ให้ไล่เลี่ยกับเพื่อนๆ ซึ่งก็มีวิธีมากมายให้เลือกใช้ เพราะวิธีหนึ่งอาจจะเหมาะกับเด็กคนหนึ่ง แต่สำหรับเด็กอีกคน คงไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันได้

ฉันมีลูกสามคนและทุกคนแตกต่างกันมาก คนหนึ่งชอบพูดคุยและถกเถียง อีกคนชอบอ่านหนังสือ และคนสุดท้ายไม่ค่อยชอบทำอะไรสักเท่าไหร่ (หัวเราะ) ฉะนั้น วิธีเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนจึงไม่เหมือนกันเลย

เพราะเรามีครูที่มีมาตรฐานสูงมาก ครูจะเข้าใจและพยายามหาวิธีการสอนเด็กๆ ในห้องให้ดีที่สุด หลักสูตรมีไว้เป็นบรรทัดฐานก็จริง แต่จะสอนอย่างไรขึ้นอยู่กับครู และการเรียนรู้ของนักเรียนในห้องนั้นๆ เพราะแต่ละห้องก็มีการเรียนรู้ที่ต่างกันอีก

ในชั้นเล็กๆ ครูประจำชั้นจะรู้จักนักเรียนและตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่า จะเลือกวิธีใดเพื่อสร้างการเรียนรู้แก่เด็กๆ

ตกลงแล้ว ที่ฟินแลนด์มีสอบวัดผลครั้งเดียวจริงหรือ?

จริงค่ะ เรามีการสอบวัดมาตรฐานเพียงครั้งเดียว นั่นคือ หลังจบไฮสกูลหรือเกรด 12

นอกจากนั้น ก็มีการสอบย่อย อย่างเช่น สอบสะกดคำ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งการสอบย่อยเหล่านี้ อยู่ที่ครูผู้สอนจะจัดขึ้นในชั้นเรียน และมุ่งหวังว่านักเรียนจะทำได้ตามเป้า

หลายคนในเมืองไทยคิดว่าที่ฟินแลนด์ไม่มีการสอบ ซึ่งก็ใช่ ส่วนผลการเรียนที่ออกมาแต่ละปีเป็นส่วนผสมระหว่าง กิจกรรมในห้องเรียน ความร่วมมือในงานกลุ่ม พัฒนาการทางการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นเทอมถึงปลายเทอม รวมถึงงานนำเสนอหน้าชั้นเรียน และกิจกรรมอื่นๆ  ซึ่งไม่ได้รวมไว้ที่การสอบปลายภาคเพียงครั้งเดียว

จริงไหมที่เด็กๆ แทบไม่มีการบ้าน

เด็กๆ ที่นี่มีการบ้านนะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเด็กคนนั้นด้วย ทุกครั้งที่มีการบ้าน ก็หมายความว่า มีการเรียนรู้อะไรบางอย่างที่โรงเรียน จากนั้นจึงมีแบบฝึกหัดให้ทำ ถ้าเป็นเด็กหัวไว ยกตัวอย่างถ้ามีการบ้านคณิตศาสตร์ ก็อาจจะใช้เวลาเพียง 10 นาที แต่ถ้าไม่ค่อยถนัดเลขเท่าไหร่ เวลาทำการบ้านก็อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นครึ่งชั่วโมง แต่รวมๆ แล้วแต่ละวันใช้เวลาไม่มากนัก

ลูกสาวคนกลางของฉันค่อนข้างเรียนรู้ไว ตอนเรียนไฮสคูลใช้เวลา 75 นาทีจบบทเรียนหนึ่งบท 15-20 นาที คือเวลาที่เธอใช้ทำการบ้าน แต่ส่วนใหญ่เธอไม่ค่อยเอากลับมาทำที่บ้าน เพราะทำเสร็จตั้งแต่อยู่ที่โรงเรียน

ในฟินแลนด์ไม่มีติวเตอร์สอนพิเศษ หรือสถาบันกวดวิชา ดังนั้น ไม่ว่าจะเรียนอะไร ทุกคนจะได้เรียนจากโรงเรียนเหมือนกันหมด

แต่เวลาเรียนในโรงเรียนก็ไม่มากเลย?

ทุกๆ ปี จะมีการปรับตารางเรียน ซึ่งทำให้ฉันแปลกใจเมื่อกลับไปฟินแลนด์อีกครั้ง ยกตัวอย่างลูกของฉัน ในปีแรก (year 1 เทียบเท่าชั้นประถม 1- กองบรรณาธิการ) จะมีเรียนสามชั่วโมง คือ ตั้งแต่เก้าโมงถึงเที่ยง บางครั้งเขาอาจจะไปเรียนตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่ง แล้วเลิกเรียนตอนบ่ายสอง แต่หลังจากปีแรกไปชั่วโมงเรียนจะเพิ่มขึ้น

ตอนที่ลูกสาวฉันอยู่เกรด 7 เธอมีเรียนสัปดาห์ละ 24 ชั่วโมง (เฉลี่ย 4.8 ชั่วโมงต่อวัน) ชั่วโมงแรกที่โรงเรียนอาจจะเริ่ม 8  9 หรือ 10 โมงก็ได้ การเรียนแบ่งเป็น 5 ภาคเรียนหรือ 5 เทอมต่อปี หลังจบแต่ละเทอม ตารางเรียนก็จะเปลี่ยน ปกติเด็กๆ จะเรียน 6 วิชาต่อหนึ่งเทอม

เท่าที่ทราบมา การเรียนของเด็กๆ จะค่อนข้างเชื่อมโยงกัน หมายความว่าไม่ได้แยกวิชากันอย่างชัดเจน

การเรียนไม่ได้แบ่งเป็นรายวิชา (subject) แต่จะเน้นที่การทำโครงงาน (project-based learning)

ตัวอย่างน่าสนใจที่ได้อ่านมาก็คือ ครูเป็นคนตั้งโจทย์ในห้องเรียนว่า อะไรที่ทำให้นักเรียนมีความสุขบ้าง จากนั้นก็ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกัน แต่ละกลุ่มต้องไปหาคำตอบกันมาว่าอะไรทำให้พวกเขามีความสุขบ้าง หลังจากแลกเปลี่ยนความคิดกันในกลุ่ม พวกเขาต้องกลับไปสังเกตการณ์และขอความเห็นจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ปู่ย่าตายาย หรือเพื่อนบ้าน ด้วยคำถามนี้

ที่น่าสนใจคือ จากนั้นแต่ละกลุ่มก็ใช้เกม Minecraft ออกแบบเมืองแห่งความสุขที่พวกเขาได้จากการประมวลผลคำตอบที่ได้มาอีกที

นุชวรี: เป็นวิชาที่ได้เรียนรู้ทั้งการสอบถาม ปฏิสัมพันธ์กับคน การทำงานกันเป็นทีม และการใช้ ICT

ตัวอย่างที่ได้เรียนรู้คือ ครูตั้งโจทย์ว่า มีสัตว์อะไรที่ไม่ควรให้เข้าบ้านบ้าง แล้วนักเรียนก็ปั้นเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น จระเข้ ผึ้ง แมงมุม แล้วเน้นทำงานกันเป็นทีม ให้เด็กได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง ทั้งศิลปะ การนับเลข บางครั้งคุณครูพานักเรียนออกไปข้างนอก แล้วให้นับจำนวนผีเสื้อ ก็ได้นับเลขไปด้วย ได้เรียนวิชาธรรมชาติไปด้วย

พอจะยกตัวอย่างการเรียนรู้ของเด็กๆ เพิ่มเติมได้ไหม

ในชั้นเรียนเกรดต้นๆ เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ หิมะละลาย ต้นไม้ใบหญ้ากลับมาเจริญงอกงามอีกครั้ง ครูจะแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มๆ ให้ไปสังเกตดอกไม้หรือต้นไม้ แล้วให้เด็กๆ วัดความสูงทุกวันจันทร์ พวกเขาก็จะได้เรียนรู้ทักษะเรื่องการวัด จากนั้นอาจจะคุยกันว่า อะไรทำให้พืชต้นนี้โตได้เท่านี้ในสัปดาห์นี้

เด็กๆ สังเกตเห็นแสงแดด ก็อาจจะสงสัยว่าแสงแดดมีผลต่อการเติบโตของต้นไม้หรือเปล่า แล้วนอกจากแสงแดดยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกไหมที่ช่วยให้ต้นไม้โต จากการสังเกตก็อาจจะรู้ว่าต้นไม้ต้องการน้ำด้วย

และเมื่อพวกเขาออกไปเก็บข้อมูลต้นไม้หลายๆ ชนิด พวกเขาก็จะได้รู้จักชื่อต้นไม้ต่างๆ เพิ่มขึ้น ก็เหมือนกับได้เรียนชีววิทยา ภูมิศาสตร์ และเรื่องพืชพันธุ์ ไปพร้อมๆ กัน

เด็กๆ ในชั้นต้นๆ จะได้เรียนรู้เยอะมากผ่านการเล่น ไม่ใช่การท่องตัวอักษร หรือท่องสูตรคูณ แต่เป็นการเล่นเพื่อทำความเข้าใจ และครูทำให้เด็กๆ สนุกไปกับมันได้โดยไม่ต้องท่องจำ

นุชวรี: เราไม่ได้เน้นเรื่องการท่องจำ แต่เป็นการเรียนรู้ผ่านการเล่น โดยการเล่นของเรา ผ่านการคิดของครูมาแล้วว่า พอให้นักเรียนทำสิ่งนี้ เขาจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง เช่น ได้เรียนรู้การสังเกต การวัดตัวเลข นับตัวเลข ชีววิทยา คือจะได้เรียนทุกอย่างในหนึ่งครั้ง

แล้วการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยที่ฟินแลนด์เป็นอย่างไรบ้าง

ที่ฟินแลนด์การเรียนรู้ส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 จะเน้นไปที่ problem-based learning เราจะได้เรียนรู้ทฤษฎีจากการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง

สิ่งที่เกิดขึ้นในสัปดาห์แรกของคอร์ส คือ จะมีตัวแทนของบริษัทเข้ามาให้ข้อมูลที่มหาวิทยาลัย อย่าง IKEA คือหนึ่งในบริษัทที่ลงนามให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย นักศึกษาอายุ 20-22 จะได้คิดคอนเซ็ปต์เครื่องครัว และการออกแบบห้องครัวที่ IKEA โดย IKEA เป็นเจ้าของโปรเจ็คต์ที่มีโอกาสทำจริง

นักศึกษา 20 คนต่อคลาส จะแบ่งกันเป็นกลุ่ม จากนั้นก็มุ่งหน้าไป IKEA เพื่อขอสัมภาษณ์พนักงานขาย และลูกค้า กลับมาศึกษาเว็บไซต์ แล้วจากนั้นพวกเขาก็จะได้คิดไอเดียใหม่ๆ ให้ IKEA ที่ฟินแลนด์ ฉันได้อ่านคอนเซ็ปต์งานของนักเรียน 3-4 ชิ้นที่จะได้พัฒนาเป็นสินค้าของ IKEA จริงๆ

นี่คือ win-win situation ทั้ง IKEA ก็ได้ความคิดเห็นจากลูกค้า ลูกค้าในอนาคตที่อยู่ระหว่างตัดสินใจจะซื้อเครื่องครัว นักศึกษาก็ได้คิดสร้างสรรค์โปรเจ็คต์ที่มีความเป็นไปได้จริง ไม่ใช่เพียง case study จากหนังสือที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่เป็นโครงการจริงๆ ที่พวกเขาได้มีโอกาสลงมือทำ

ผู้สอนเองก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ IKEA ไปพร้อมกับผู้เรียน ซึ่งสามารถหยิบมาใช้สอนนักศึกษารุ่นต่อๆ ไปได้ ในคอร์สหรือวิชาเดียวกันจะมีหลายโปรแกรมให้เลือก อาทิ sale management, ICT และ computer science ขณะนี้มีบริษัท 25 แห่งให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและเปิดโอกาสแก่นักศึกษา

มีนักศึกษาสามคนได้จ๊อบช่วงปิดเทอมที่ IKEA IKEA เองก็มีโอกาสรับพนักงานใหม่ในอนาคต และนักเรียนก็อาจจะได้เงินจากการทำจ๊อบ แต่ถึงไม่ได้เงิน อย่างน้อยก็ได้สะสมประสบการณ์การทำงานจริง

ทราบมาว่าโอกาสทางการศึกษาในฟินแลนด์ไม่มีทางตัน นั่นคือ ไม่ว่าคุณจะเลือกเรียนสายสามัญ (academic) หรืออาชีวศึกษา (vocational) ก็สามารถสลับไปมาได้

ถ้าเด็กๆ อยู่เกรด 9 หรืออายุ 15-16 ปี เขาจะต้องวางแผนชีวิตแล้วว่าอยากจะทำอะไรต่อ นั่นคือจะเรียนต่อในสายสามัญ ซึ่งต้องเรียนไฮสกูลอีกสามปี หรือจะเบนไปเรียนอาชีวศึกษาในสายอาชีพ ซึ่งการตัดสินใจแบบนี้ ตัวเด็กเองอาจจะยังไม่ได้มั่นใจมาก อาจจะ 50/50 ด้วยซ้ำ

ก่อนหน้านี้ พ่อแม่อาจจะมีความคิดอยากให้ลูกๆ เรียนต่อในสายวิชาการ ซึ่งน่าจะมีอนาคตสดใสกว่า แต่เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนไป ช่างไฟฟ้า ช่างประปา เป็นอาชีพที่รายได้ดีมากที่ฟินแลนด์ แม้จะไม่ได้เรียนสายวิชาการ

บางครั้ง เด็กชายเกรด 9 บางคนอาจจะไม่พร้อมเรียนต่อในสายสามัญ เขาอาจจะอยากเรียนซ่อมมอเตอร์ไซค์ ซ่อมรถยนต์ ฯลฯ ก็อาจจะเลือกสายอาชีวะ

ตัวอย่างที่ดีคือ ลูกชายของพ่อแม่เพื่อน แม้เขาจะเก่งมาก แต่ไม่ค่อยตั้งใจเรียนเท่าไหร่ สิ่งที่เขาชอบมากคือรถยนต์ เขาจึงตัดสินใจเรียนต่อสายอาชีวะ เรียนได้สองสามปีไม่มีปัญหาอะไร แต่หลังจากนั้นเขาคิดว่าเขาต้องการความรู้เพิ่มเติมและอยากทดสอบตัวเองด้วย เขาจึงเลือกเรียนไฮสคูลภาคค่ำไปด้วย ตอนนี้เขาเป็นนักบินอยู่ที่ Finnair

ตอนแรกเขาอาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับสายวิชาการ จึงเปลี่ยนไปเรียนอาชีวศึกษา แต่หลังจากนั้นเมื่อคิดว่าต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม เขาก็ได้ประสบการณ์การทำงานจริงจากสายอาชีวะ

ในมหาวิทยาลัยที่ฟินแลนด์ คุณจะได้เรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องสอบอย่างเดียว แต่จะได้ความรู้จากการทำงาน และถ้าคุณสามารถพิสูจน์ได้ว่า คุณได้มันจากการทำงานจริงๆ คุณอาจจะไม่ต้องเรียนบางวิชาก็ได้

ผลการเรียนบางรายวิชาของนักเรียนบางคน อาจจะมีสัดส่วนของการทำงานจริงและได้รับการรับรอง (accredit) 10-20 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องสอบ

นุชวรี: คนฟินแลนด์เมื่อถึงจุดที่ต้องเลือกระหว่างจะไปสายอาชีพหรือจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย สมมุติรู้ว่าตัวเองอยากเป็นช่างยนต์มาก ก็ไปเรียนช่างยนต์ แต่ถ้าไปเรียนทางด้านนี้สามปีแล้วรู้สึกว่าชอบทางวิศวฯจังเลย ก็ยังสามารถไปต่อเข้ามหาวิทยาลัยด้านนี้ได้ คือไม่ใช่ว่าเลือกทางนี้แล้วจะจบแค่นี้ คือสามารถเปลี่ยนไปมาได้ โดยไม่มีทางตัน ซึ่งเป็นข้อดีของการศึกษาที่ฟินแลนด์

และเขาเชื่อในเรื่อง life-long learning คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่ว่าเรียนแค่ตามนี้ จบไฮสกูล จบมหาวิทยาลัย แต่ทุกคนจะเรียนตลอด ห้องสมุดมีทุกที่ในแต่ละเมือง

คนฟินแลนด์เชื่อในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแค่ไหน?

ทุกคนหาเวลาเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา นอกจากการเรียนรู้ที่ได้จากการทำงาน ยังมีการอบรมภายในองค์กรเพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ อยู่เรื่อยๆ

แล้วห้องสมุดที่ฟินแลนด์ ในความคิดคุณเป็นอย่างไร

เท่าที่เคยอยู่มาไม่ต่ำกว่าสิบประเทศ ฉันคิดว่าห้องสมุดที่ฟินแลนด์ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

คนฟินแลนด์พาเด็กๆ เข้าห้องสมุดตั้งแต่พวกเขายังไม่ทันหัดเดิน ในห้องสมุดจะมีมุมเล่านิทานสำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะ และพวกเขาเปลี่ยนธีมของมุมหนังสือเด็กบ่อยมาก

ที่นั่น เด็กๆ เข้าห้องสมุดด้วยตัวเอง เพราะมันมักจะอยู่ใกล้โรงเรียน เด็กๆ จะเข้าห้องสมุดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง นอกจากอ่านหนังสือ พวกเขาจะได้พูดคุยกับเพื่อนๆ อย่างถ้าเราอยู่เกรด 1 ก็จะมีลิสต์หนังสือต่างๆ มาให้ ทั้งแนววิทยาศาสตร์ วรรณกรรม ฯลฯ ถ้าวางแผนอ่านหนังสือทั้งหมดได้ในหนึ่งปี ก็จะได้ Reading Diploma for Year 1

หรือถ้าคุณกำลังมองหาหนังสือสักเล่ม แต่ห้องสมุดนั้นยังไม่มี เจ้าหน้าที่จะติดต่อห้องสมุดอื่นๆ ในเมืองรอบข้างเพื่อหาหนังสือมาให้ยืมจนได้ นอกจากหนังสือ ก็ยังมีนิตยสาร ซีดี และคอมพิวเตอร์ให้ใช้ด้วย

นอกจากการอ่านหนังสือ มีกิจกรรมนอกห้องเรียนอะไรน่าสนใจสำหรับเด็กๆ อีกบ้าง

ที่ฟินแลนด์ ฮ็อคกี้น้ำแข็งกับฟุตบอลฮิตมาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับเด็กๆ มากกว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่ฟินแลนด์ตอนนี้คงไม่ต่างจากที่อื่นๆ ทั่วโลก เพราะเด็กๆ ใช้เวลานั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนมากกว่าทำอย่างอื่น เมื่อเป็นแบบนี้ การเรียนพละศึกษา การขยับตัวและออกกำลังนั้นจำเป็นต่อการเรียนรู้และสุขภาพที่ดี จึงมีความพยายามที่จะเพิ่มชั่วโมงพละศึกษาในหลักสูตร

เพราะเชื่อว่า เด็กๆ สามารถนั่งนิ่งๆ ได้ประมาณ 30-40 นาที แล้วจากนั้นพวกเขาต้องการเวลาพัก ที่ฟินแลนด์ เราจะเรียนคาบละ 45 นาที และมีเวลาพัก 15 นาที และคุณต้องออกไปนอกห้อง แม้ว่าข้างนอกจะฝนตก หรืออุณหภูมิ -1 องศาเซลเซียส คุณก็ยังต้องออกไปข้างนอก

ถ้าอากาศไม่หนาวมาก คุณอาจจะเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเท เด็กบางคนอาจเล่นฟุตบอลในช่วงพัก ถ้าในหน้าหนาว ก็จะเล่นสเก็ตหรือสกี เพราะการจดจ่อกับอะไรบางอย่างจะลดลงเรื่อยๆ เหมือนที่ทุกคนรู้ว่า ถ้าเราต้องนั่งประชุมสองชั่วโมง ระหว่างนั้นก็คงจะอยากพัก และความคิดก็อาจจะไปอยู่ที่อื่น

ฉันคิดว่า ในโรงเรียนไทย นักเรียนควรจะมีช่วงพักบ้าง พวกเขาไม่ควรต้องเรียนหลายวิชาเกินไปในแต่ละวัน เพราะเราไม่มีทางจดจ่ออยู่กับมันได้ทั้งหมด

จากประสบการณ์และความสำเร็จด้านการศึกษาของฟินแลนด์ พอจะมีคำแนะนำสำหรับประเทศไทยบ้างไหม

อย่างที่บอก คุณควรให้พวกเขาพักบ้าง สมองคนเราไม่สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีกอย่างคือการที่ครูสามารถสังเกตเด็กๆ ที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติด้านร่างกาย อย่างปัญหาสายตา ปัญหาการได้ยิน ไปจนถึงอะไรที่ทำให้เด็กมีปัญหาในการเรียนรู้

ทุกปี เจ้าหน้าที่พยาบาลของโรงเรียนจะส่งแบบสอบถามมาที่ผู้ปกครอง เราต้องตอบคำถามและให้ข้อมูลของลูกๆ อย่างเช่น ลูกเข้านอนตอนกี่โมง เฉลี่ยแล้วในแต่ละอาทิตย์ลูกได้นอนกี่ชั่วโมง เขาตื่นนอนตอนกี่โมง ในวันหยุดเขาชอบทำอะไร ปกติลูกรับประทานอาหารเช้าหรือเปล่า ครอบครัวกินมื้อเย็นพร้อมกันไหม ส่วนใหญ่จะถามประมาณนี้

เพราะถ้าเด็กๆ หิว พวกเขาจะเรียนไม่รู้เรื่อง หรือถ้าเหนื่อยเกินไป อาจจะนอนดึกเพราะเล่นเกมคอมพิวเตอร์ทั้งวันทั้งคืน พวกเขาก็จะเรียนไม่รู้เรื่องเหมือนกัน

คำตอบเหล่านี้ก็ทำให้ผู้ปกครองต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น การเรียนรู้จะไม่มีประสิทธิภาพ หากเด็กๆ นอนหลับไม่เพียงพอ และจริงๆ กว่าครึ่งของเพื่อนลูกก็ไม่ค่อยกินมื้อเช้า ทั้งที่ร่างกายเด็กๆ ต้องการพลังงานในตอนเช้า

อีกอย่างที่ต้องพูดให้ชัดเกี่ยวกับฟินแลนด์ ที่นี่เด็กๆ มีหน้าที่ต้องไปโรงเรียนจนกว่าจะอายุ 16 ถ้าระหว่างนั้นคุณขาดเรียน และพ่อแม่ไม่รู้ว่าคุณไปไหน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะยื่นมือเข้ามาช่วย

อีกเรื่องหนึ่งก็คือการศึกษาก่อนวัยเรียน เพราะสมองเด็ก 95 เปอร์เซ็นต์จะพัฒนาอย่างมากในช่วง 5 ปีแรก ทักษะส่วนใหญ่สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ตั้งแต่เด็ก ที่ฟินแลนด์ คุณจะได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างผ่านการเล่น แต่ไม่ใช่เล่นเรื่อยเปื่อย เด็กๆ อาจยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของการเล่น แต่สิ่งเหล่านี้ผ่านการวิจัยมาแล้วอย่างดีและเด็กๆ ก็จะได้สนุกสนานไปกับมัน

ที่แนวคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตในฟินแลนด์เป็นไปได้ เพราะการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เป็นเรื่องสนุก การได้รู้จักอะไรใหม่ๆ จะช่วยพัฒนาทักษะใหม่ๆ ในชีวิต ซึ่งจะตรงข้ามกับการเรียนแบบป้อนใส่ปากที่ไม่เน้นปฏิสัมพันธ์ใดๆ จากผู้เรียน ถ้าหลังเลิกเรียนแล้วยังต้องไปเรียนพิเศษเพิ่ม โดยไม่มีเวลาพัก (ถอนหายใจ) การเรียนรู้ก็คงเป็นเรื่องยากและทำให้เราไม่อยากไปโรงเรียน

 

 

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า