Switch on Referendum: เปิดประชามติ สวิตเซอร์แลนด์

swiss ref 03 copy

เรื่อง: iLaw

 

สวิตเซอร์แลนด์ใช้ระบบประชาธิปไตยทางตรงผ่านการทำประชามติ ยาวนานกว่า 150 ปี ประชาชนชาวสวิสเข้าชื่อกันเสนอคัดค้านกฎหมายที่รัฐสภาออกหรือเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติได้ ซึ่งวิธีการนี้ช่วยรับประกันให้เสียงส่วนน้อยมีพื้นที่ในสังคม และไม่ใช่นานๆ จะมีครั้งหนึ่ง แต่สวิตเซอร์แลนด์กำหนดวันลงประชามติกันแทบทุกสามเดือน แต่ละครั้งมีหลายคำถาม ซึ่งรัฐบาลจะทำคู่มือที่มีความคิดเห็นสองฝ่ายแจกให้พลเมืองที่มีสิทธิลงคะแนนทุกค

สมาพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ใช้ ‘ประชาธิปไตยทางตรงสมัยใหม่’ (Modern Direct Democracy) นั่นคือระบบเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา ควบคู่กับการเปิดโอกาสให้พลเมืองมีสิทธิ์ร่วมตัดสินใจทางการเมืองได้โดยตรงผ่านรูปแบบต่างๆ โดยเชื่อว่า ระบบดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการกระจายอำนาจทางการเมืองสู่พลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ดียิ่งขึ้น

ระบบประชาธิปไตยทางตรงในสวิตเซอร์แลนด์โดดเด่นทั้งในแง่การให้พลเมืองมีสิทธิ์กำหนดประเด็นการเมืองหลากหลายด้าน ตั้งแต่สิทธิ์ทั่วไปจนถึงประเด็นความมั่นคงและการต่างประเทศ และในแง่ประสบการณ์อันยาวนาน เนื่องจากประชาธิปไตยทางตรงอยู่กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์มายาวนานกว่า 150 ปี ทำให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ใช้ระบบนี้มายาวนานที่สุดในโลก

กฎหมายสวิตเซอร์แลนด์ ให้ประชาชนมีอำนาจเข้าชื่อเสนอทำประชามติ ค้านกฎหมาย-แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประชาธิปไตยทางตรงในสวิตเซอร์แลนด์ในระดับชาติ อาจแบ่งออกเป็นสามรูปแบบหลัก

– การออกเสียงประชามติในประเด็นที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องทำประชามติ

เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าหากรัฐบาลหรือรัฐสภาต้องการเปลี่ยนแปลงในบางประเด็น เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงร่วม (collective security) หรือการเข้าร่วมองค์การที่มีอำนาจเหนือรัฐ (supranational organizations) เช่น สหภาพยุโรป จะต้องได้รับความเห็นชอบจากพลเมืองผ่านการทำประชามติเสียก่อน เรียกว่า ‘ประชามติภาคบังคับ’ หรือ Mandatory Referendum

สำหรับประชาชนชาวสวิตเซอร์แลนด์ แม้ว่าการทำประชามติรูปแบบนี้จะริเริ่มโดยรัฐบาล แต่เนื่องจากเป็นการทำประชามติที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ ‘ต้องทำ’ ซึ่งรัฐธรรมนูญนั้นถือว่ามาจากความเห็นชอบโดยประชาชน พวกเขาจึงถือว่า การทำประชามติที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเรียกร้องโดยรัฐบาล แต่เป็นเจตจำนงของชาวสวิสที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรกว่า ในประเด็นสำคัญใดบ้าง จะต้องตัดสินใจโดยการทำประชามติ

– การออกเสียงประชามติเมื่อประชาชนต้องการคัดค้านกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา

กฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์รับรองให้ประชาชนมีอำนาจเรียกร้องให้จัดทำประชามติขึ้นได้ เมื่อประชาชนไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่รัฐสภาเพิ่งบัญญัติใหม่หรือแก้ไขใหม่ เรียกว่า ‘ประชามติทางเลือก’ หรือ Optional Referendum โดยพลเมืองผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวนอย่างต่ำ 50,000 คน สามารถเข้าชื่อภายใน 100 วันหลังจากที่กฎหมายนั้นประกาศรับรองอย่างเป็นทางการโดยรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้จัดทำประชามติได้ การทำประชามติแบบนี้จึงเหมือนเป็นการคัดค้าน หรือวีโต้ (veto) การตัดสินใจของรัฐสภา โดยหากมีข้อเรียกร้องให้จัดทำประชามติแบบนี้ขึ้น กฎหมายฉบับใหม่จะยังไม่ใช้บังคับ จนกว่าจะได้รับการรับรองเกินครึ่งจากผู้มาออกเสียงประชามติก่อน

ประชาธิปไตยทางตรงในรูปแบบนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อำนาจในการวีโต้โดยพลเมืองเช่นนี้อาจทำให้อำนาจของรัฐภาตามระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนอ่อนแอลง และอาจทำให้กระบวนการออกกฎหมายไม่ราบรื่นเท่าที่ควร แต่ข้อดีของประชาธิปไตยทางตรงในรูปแบบดังกล่าวคือ การบังคับทางอ้อมให้รัฐสภาต้องระมัดระวังการตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนก่อนออกกฎหมายใดๆ และยังต้องทำกระบวนการให้เปิดเผยและโปร่งใส เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้กับพลเมือง

จากประสบการณ์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สถิติเผยแพร่โดยสำนักนายกรัฐมนตรี (Federal Chancellery) ชี้ให้เห็นว่า การเรียกร้องให้จัดประชามติในประเภทนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนักโดยนับตั้งแต่ปี 1874 อันเป็นต้นกำเนิดรัฐสวิตเซอร์แลนด์สมัยใหม่ จนถึงปลายปี 2015 รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายทั้งหมดกว่า 2,000 ฉบับมีกฎหมาย 180 ฉบับที่ประชาชนลงชื่อคัดค้านและเรียกร้องให้ทำประชามติ ซึ่งมีเพียง78 ฉบับที่ทำประชามติแล้วได้ผลลัพธ์ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐสภา[1]

– การออกเสียงประชามติเมื่อประชาชนเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

เรียกว่า ‘ประชามติที่เริ่มต้นโดยประชาชน’ หรือ Popular Initiative ในกรณีนี้ ประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนอย่างต่ำ 100,000 คนสามารถเข้าชื่อกัน โดยมีเวลารวบรวมรายชื่อภายใน 18 เดือน เพื่อจัดทำข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญได้ และข้อเสนอดังกล่าวจะถูกตัดสินใจด้วยการทำประชามติ

เมื่อมีการรวบรวมรายชื่อมายื่นเสนอแล้ว รัฐบาลจะเป็นผู้ตัดสินว่าข้อเสนอนั้นจะถูกนำมาจัดทำประชามติหรือไม่ โดยเกณฑ์พิจารณาหลักๆ คือ กระบวนการและรายชื่อในการเข้าเสนอชื่อนั้นครบถ้วนถูกต้องตามแบบหรือไม่ ข้อเสนอนั้นมีเนื้อหาขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญหรือไม่[2]

ประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า รัฐบาลค่อนข้างยืดหยุ่นในการตีความด้านเนื้อหา ส่งผลให้ข้อเสนอส่วนใหญ่ที่เข้าชื่อมาอย่างถูกต้อง รัฐบาลก็มักยินยอมให้นำไปทำประชามติ การทำประชามติในรูปแบบนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เสียงส่วนน้อยในสังคมได้นำเสนอประเด็นต่างๆ ที่อาจถูกเพิกเฉยจากพรรคการเมือง รัฐบาล หรือรัฐสภา สู่สาธารณะ ซึ่งประชามติในรูปแบบนี้ยังเกิดขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับรูปแบบอื่นๆ

ชาวสวิตเซอร์แลนด์เชื่อมั่นว่า ระบบประชาธิปไตยทางตรงของสวิตเซอร์แลนด์ที่พวกเขาใช้กันอยู่ แตกต่างจากการทำประชามติที่ริเริ่มจัดทำขึ้นโดยรัฐบาล (Plebiscite) ซึ่งมักจัดทำขึ้นเพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการตัดสินใจของผู้มีอำนาจเท่านั้น กล่าวคือ การทำประชามติของประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะเกิดขึ้นตามเจตจำนงของพลเมืองเท่านั้น หากรัฐบาลหรือรัฐสภาต้องการหาความชอบธรรมใดๆ พวกเขาไม่สามารถสั่งให้จัดทำประชามติขึ้นเองได้ และผลของการทำประชามติเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำตาม แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

swiss ref 01

ทำประชามติกันเป็นประจำ ปีละ 4 ครั้ง

การลงประชามติในระดับชาติของประเทศสวิตเซอร์แลนด์โดยทั่วไปแล้วเกิดขึ้นปีละสี่ครั้ง หากปีไหนมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรด้วย จำนวนครั้งของการลงประชามติจะลดเหลือปีละ 2-3 ครั้ง โดยการลงประชามติในแต่ละครั้ง ผู้ลงคะแนนจะไปออกเสียงหลายประเด็นในวันเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นการทำประชามติครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2559 มีการออกเสียงในวันเดียวกันห้าประเด็น ประกอบด้วยประชามติที่เกิดจากพลเมืองลงชื่อขอแก้รัฐธรรมนูญสามประเด็น และ ประชามติที่เกิดจากพลเมืองลงชื่อคัดค้านกฎหมายสองประเด็น

การไปออกเสียงประชามติของสวิตเซอร์แลนด์ทุกครั้ง ผู้มาใช้สิทธิ์สามารถตัดสินใจที่จะลงคะแนนเฉพาะในประเด็นที่ตนเองสนใจ และ ‘ปล่อยว่าง’ ในประเด็นที่ตนเองไม่ต้องการแสดงความเห็นก็ได้

รัฐบาลจะตัดสินใจและประกาศล่วงหน้าอย่างน้อยสี่เดือน ว่ามีประเด็นใดบ้างที่จะถูกบัญญัติให้เป็นวาระในการทำประชามติในแต่ละครั้ง ส่วนวันทำประชามติถูกกำหนดล่วงหน้ายาวกว่านั้นมาก เช่น จากข้อมูลที่แผยแพร่โดยสำนักนายกรัฐมนตรี พบว่า ณ ปัจจุบัน ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2016 วันลงประชามติได้กำหนดล่วงหน้าไว้แล้วจนถึงปี ค.ศ. 2034[3]การกำหนดและประกาศวันล่วงหน้าเช่นนี้ ช่วยให้พลเมืองที่ต้องการผลักดันและรณรงค์ประเด็นต่างๆ สามารถวางแผนการจัดกิจกรรม การรวบรวมรายชื่อ และการทำข้อเสนอได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างประชามติล่าสุด คนมาลงคะแนนกว่า 46 เปอร์เซ็นต์ ประชามติที่ประชาชนเสนอหัวข้อแพ้หมด

การทำประชามติครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2016 มีคำถามที่พลเมืองต้องช่วยกันตอบห้าข้อ ดังนี้

ประชามติที่เกิดจากพลเมืองลงชื่อขอแก้รัฐธรรมนูญ (Popular Initiative) สามประเด็น มีคำถามว่า

– เห็นชอบหรือไม่กับข้อแสนอให้รัฐบาลจะต้องให้หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแก่พลเมืองทุกคน ซึ่งประชาชน 76.9 เปอร์เซ็นต์ ออกเสียงคัดค้าน

– เห็นชอบหรือไม่ กับข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการบริการสาธารณะของภาครัฐ ตามข้อเสนอของกลุ่มรณรงค์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งประชาชน 67.6 เปอร์เซ็นต์ ออกเสียงคัดค้าน

– เห็นชอบหรือไม่ กับข้อเสนอให้รัฐบาลเพิ่มสัดส่วนของรายได้จากการเก็บภาษีน้ำมันแร่ไปใช้ในการสร้างถนน ซึ่งประชาชน 70.8 เปอร์เซ็นต์ ออกเสียงคัดค้าน

ประชามติที่เกิดจากพลเมืองลงชื่อคัดค้านกฎหมาย (Optional Referendum) สองประเด็น มีคำถามว่า

– เห็นด้วยหรือไม่ กับการที่รัฐสภาแก้ไขกฎหมายให้การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนการฝังตัวสามารถทำได้ถูกกฎหมาย (สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศสุดท้ายในยุโรปที่เรื่องนี้กฎหมายยังไม่อนุญาตให้ทำได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ฝ่ายอนุรักษนิยมต่อต้านมาโดยตลอด) ซึ่งประชาชน 62.4 เปอร์เซ็นต์ รับรองการออกกฎหมายของรัฐสภา

– เห็นด้วยหรือไม่ กับการที่รัฐสภาแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการขอลี้ภัยในสวิตเซอร์แลนด์ โดยพัฒนากระบวนการยื่นและพิจารณาขอลี้ภัยให้ง่ายขึ้น รวมถึงให้มีการตั้งหน่วยงานพิเศษที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งประชาชน 66.8 เปอร์เซ็นต์ รับรองการออกกฎหมายของรัฐสภา[4]

การออกเสียงประชามติครั้งล่าสุด ข้อมูลจากเว็บไซต์ของมูลนิธิระหว่างประเทศเพื่อระบบเลือกตั้ง (International Foundation for Electoral Systems: IFES) ระบุว่า มีผู้มาใช้สิทธิ์ประมาณ 46.3 เปอร์เซ็นต์[5]ของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งหมด ผลการออกเสียงทั้งห้าประเด็น การแก้ไขกฎหมายของรัฐสภาได้การรับรองทั้งหมด ในขณะที่ข้อเสนอที่พลเมืองริเริ่มให้ทำประชามติแพ้ทั้งหมด

เอกสารและข้อมูลประกอบการทำประชามติ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2008
เอกสารและข้อมูลประกอบการทำประชามติ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2008

รัฐบาลแจกคู่มือ รวมความคิดเห็นทั้งสองฝ่ายโดยไม่เซ็นเซอร์

การถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในช่วงก่อนการทำประชามติเป็นประเด็นที่รัฐให้ความสำคัญ เพราะการรับรู้ข้อมูลและข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของผลการทำประชามติ โดยรัฐบาลจะตีพิมพ์คู่มือประชามติ (referendum booklet) และส่งให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนทางไปรษณีย์ก่อนการมีประชามติอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ ในคู่มือการทำประชามติจะประกอบด้วยเนื้อหาของประเด็นที่จะลงประชามติในครั้งนั้นๆ ข้อคิดเห็น และข้อแนะนำต่อประเด็นดังกล่าว จากทั้งฝ่ายพลเมืองผู้เสนอประเด็น และฝ่ายรัฐอันประกอบด้วยรัฐบาลและรัฐสภา

ฝ่ายพลเมืองผู้เสนอประเด็นสามารถเขียนข้อคิดเห็นของตนเองลงในสมุดคู่มือได้ โดยรัฐบาลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อความนั้นได้ ยกเว้นข้อความเหล่านั้นมีลักษณะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือยาวเกินไป ซึ่งกรณีดังกล่าวก็เกิดน้อยมาก[6]

ในกรณีการทำประชามติที่เกิดจากประชาชนเข้าชื่อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ หลายครั้งฝ่ายประชาชนผู้นำเสนอร่างกับฝ่ายรัฐบาลจะมีความเห็นไม่ตรงกัน เพราะการทำประชามติประเภทนี้เกิดขึ้นจากประเด็นที่รัฐบาลหรือรัฐสภาเพิกเฉยไม่หยิบยกขึ้นมาทำงาน ส่วนกรณีการทำประชามติที่ประชาชนคัดค้านกฎหมาย ก็ชัดเจนว่าฝ่ายประชาชนผู้เสนอกับรัฐบาลจะเห็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งทำให้เอกสารคู่มือที่รัฐบาลพิมพ์แจกจ่ายนั้นมีความคิดเห็นที่หลากหลายรวมอยู่ด้วยกัน

ในช่วงรณรงค์ประชามติ ข้อมูลจาก The Initiative & Referendum Institute Europe (IRI Europe) ระบุว่า ผู้แทนราษฎรมักเขียนบทความแสดงความคิดเห็นของตนลงหนังสือพิมพ์ นักการเมืองมักจัดดีเบตสาธารณะ โดยเฉพาะในร้านอาหารและสนามกีฬา[7]ส่วนสื่อต่างๆ ก็สามารถแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ได้อย่างเสรี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลไม่มีการสนับสนุนทางการเงินกับฝ่ายประชาชนผู้เสนอร่างให้ทำกิจกรรมรณรงค์ ช่องโทรทัศน์และสถานีวิทยุของภาครัฐจึงยึดหลักการที่ว่าจะไม่แสดงความเห็นเฉพาะจากฝ่ายการเมือง แต่จะพยายามรายงานข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน[8]

ตามปกติแล้ว พลเมืองชาวสวิสที่อาศัยอยู่นอกประเทศสามารถลงคะแนนล่วงหน้าผ่านทางไปรษณีย์ และรับข้อมูลข่าวสารได้จากเว็บไซต์ติดตามประเด็นประชามติในภาษาต่างประเทศที่รัฐบาลจัดทำขึ้น นอกจากนี้ พวกเขายังสามารถแจ้งความจำนงไปที่เจ้าหน้าที่สถานทูตประเทศสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศนั้นๆ เพื่อขอรับการแจ้งเตือนพิเศษผ่านทางไปรษณีย์หรือทางข้อความโทรศัพท์มือถือก่อนการทำประชามติเกี่ยวกับข้อถกเถียงในประเด็นที่จะมีการทำประชามติ และการแจ้งเตือนวันลงคะแนนที่กำลังจะเกิดขึ้น[9]

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อระบบประชาธิปไตยทางตรงของสวิตเซอร์แลนด์

ประการแรก: ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมตัดสินใจโดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจ

หนึ่งในข้อวิพากษ์หลักต่อประชาธิปไตยทางตรงคือผลของการทำประชามติซึ่งเกิดจากการคิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัวของพลเมือง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเศรษฐกิจการเงิน หรือนโยบายประชานิยมที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก อาจนำมาซึ่งผลเสียต่อประเทศชาติโดยรวม

กระแสต้านดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์อย่างหนักในช่วงทศวรรษที่ 1990 หลังจากที่พลเมืองที่มาใช้สิทธิส่วนใหญ่ออกเสียงคัดค้านการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจยุโรปในปี 1992 ภาคธุรกิจต่างออกมาให้ความเห็นว่า ประชาชนอาจไม่สามารถวิเคราะห์และชั่งน้ำหนักได้อย่างเหมาะสมระหว่างค่าใช้จ่ายหรือสิ่งที่ต้องเสียในปัจจุบันกับผลประโยชน์ระยะยาวที่จะได้มา[10]

อย่างไรก็ดี ผลของการทำประชามติอีกหลายครั้งในสวิตเซอร์แลนด์หลายครั้งกลับค้านกับสมมุติฐานดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น ผลของการทำประชามติครั้งล่าสุด ที่ประชาชนคัดค้านการที่จะได้รับรายได้ขั้นพื้นฐานให้เปล่าจากรัฐบาล หรือในปี 1993 ที่ผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่ยินยอมให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในระดับสมาพันธรัฐ ซึ่งผลประชามติเรื่องการเก็บภาษีครั้งนั้นน่าสนใจ เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวถูกคัดค้านในการทำประชามติมาแล้วถึงสองครั้ง ในปี 1977 และ 1991แต่ครั้งที่สามกลับได้รับการยินยอมจากผู้ลงคะแนน โดยหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ผลเปลี่ยนไป อาจเกิดจากรัฐบาลไม่ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและความจำเป็นของการเก็บภาษีในครั้งก่อนๆ เท่าที่ควร[11]

ประการที่สอง: ประชามติอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิของคนส่วนน้อย หรือคนที่ไม่มีพลังทางสังคม

ท่ามกลางกระแสต่อต้านผู้อพยพในยุโรป ข้อเสนอโดยพลเมืองหลายครั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับมาตรการต่างๆ ในการจำกัดการเข้าประเทศของผู้ลี้ภัย หรือมาตรการที่จะทำให้การส่งผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศให้ง่ายขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งในประเด็นที่ทำประชามติในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 คือ ข้อเสนอให้ส่งชาวต่างชาติที่ทำผิดกฎหมายรุนแรงหรือทำความผิดแบบลหุโทษจำนวนสองครั้งภายในช่วงเวลา 10 ปีออกนอกประเทศทันที[12]ซึ่งชาวต่างชาติที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากผลการทำประชามติ ไม่ถูกนับเป็นพลเมือง และไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนในประเด็นนี้ด้วยซ้ำ แม้ผลประชามติออกมาว่าเสียงส่วนใหญ่คัดค้านข้อเสนอข้างต้น แต่ก็เป็นที่น่ากังวลว่า หากข้อเสนอในลักษณะชาตินิยมได้รับการรับรองในอนาคต ผลลัพธ์ย่อมกระทบต่อคนกลุ่มที่มีจำนวนน้อยกว่า รวมถึงคนที่มีพลังทางสังคมน้อยกว่าได้

ประการที่สาม: ข้อเสนอจากประชาชนส่วนใหญ่สุดโต่ง พอทำประชามติก็ไม่ผ่าน

ข้อเสนอในการทำประชามติในสวิตเซอร์แลนด์โดยเฉพาะรูปแบบที่มาจากการเข้าชื่อ 100,000 คนเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบบ่อยที่สุด มักจะมีลักษณะที่ค่อนข้างสุดโต่งที่ยากจะได้รับการรับรองจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ พบว่า นับตั้งแต่ปี 1891 ที่เริ่มเปิดโอกาสให้พลเมืองเข้าชื่อเสนอการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ จนถึงสิ้นปี 2015 มีการลงประชามติรูปแบบนี้ทั้งหมด 200 ครั้ง แต่มีการรับรองแค่ 22 ครั้งเท่านั้น[13]อาจกล่าวได้ว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ประมาณ 9 ใน 10 ของการทำประชามติในรูปแบบนี้มักออกมา ‘แพ้’ แต่จำนวนข้อเสนอเพื่อทำประชามติในรูปแบบดังกล่าวกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลัง

ปรากฏการณ์นี้อาจเกิดจากปัจจัยหลักสองเรื่อง เรื่องแรกคือ หลายครั้งที่แม้ว่าผลของประชามติจะออกมา ‘แพ้’ แต่รัฐบาลก็ปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายไปในแนวทางที่สอดคล้องกับข้อเสนอนั้น ยกตัวอย่างเช่น ข้อเสนอให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศปลอดกองทัพ และมีท่าทีทางการเมืองในทางสันติ ซึ่งถูกคัดค้านโดยเสียงส่วนใหญ่ในการทำประชามติในปี 1989 แต่ผลโหวตสนับสนุนข้อเสนอจำนวนมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์[14]ทำให้รัฐบาลริเริ่มการปฏิรูปกองทัพในเวลาต่อมา[15] ในแง่นี้ ประชามติจึงไม่ใช่เกมที่มีผู้แพ้หรือผู้ชนะฝ่ายเดียว หากเป็นการประนีประนอมปรับตัวร่วมกันในสังคม

เรื่องที่สองคือ แม้ว่าผลการทำประชามติจะออกมาแพ้หรือกระทั่งรัฐบาลไม่ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายไปในแนวทางที่ข้อเสนอเรียกร้อง บทบาทของประชามติในสวิตเซอร์แลนด์ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผลที่ออกมาก็คือ การทำประชามติเสมือนเป็นช่องทางผลักดันให้เกิดการถกเถียงประเด็นต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งทำให้สังคมการเมืองมีชีวิต เพราะก่อนจะมีการทำประชามติในประเด็นใด ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่างออกมาทำกิจกรรมรณรงค์นำเสนอข้อมูลและเหตุผลของตัวเองในประเด็นนั้นๆ ซึ่งการถกเถียงในประเด็นนั้นๆ ไม่ได้หยุดอยู่แค่วันลงประชามติเท่านั้น หากแต่กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่จะถูกถกเถียงต่อไปในอนาคต

ราล์ฟ คุนดิก (Ralph Kundig) หนึ่งในผู้นำการรณรงค์สนับสนุนข้อเสนอให้รัฐบาลจ่ายรายได้ขั้นพื้นฐานให้กับพลเมืองกล่าวไว้ว่า “แค่การดีเบตสาธารณะเริ่มเกิดขึ้นในประเด็นดังกล่าว ก็ถือเป็นชัยชนะแล้ว”[16]

 


 

ติดตาม ‘Switch on Referendum: เปิดประชามติ สวิตเซอร์แลนด์’ ฉบับตีพิมพ์ได้ใน นิตยสาร WAY ฉบับที่ 91
อ้างอิง:
[1]Federal Chancellery, The Swiss Confederation a brief guide 2016.Bern: Federal Chancellery, 2016,p. 17.
[2] Swiss Confederation, Federal Constitution, Chapter 2 Art. 139.
[3]Federal Chancellery, p. 16.
[4]5 June 2016 Swiss referenda results, Le News, 2016,http://lenews.ch/2016/06/05/5-june-2016-swiss-referenda-results, viewed 20 June 2016.
[5]IFES Election Guide l Country Profile: Switzerland, International Foundation for Election Systems, 2016, http://www.electionguide.org/countries/id/207, viewed 20 June 2016.
[6]Kaufmann, Bruno, Rolf Buchi and Braun, Nadja, Guidebook to Direct Democracy in Switzerland and Beyond, The Initiative & Referendum Institute Europe, Marburg,2008, p. 74-75.
[7]ibid, p. 75.
[8]ibid, p.75-76.
[9]ibid, p.76-77.
[10]ibid, p.80.
[11]ibid, p.82.
[12]Swiss voters reject nationalist plan to expel foreigners for minor crimes, The Guardian, 2016, viewed 20 June 2016.
[13]Federal Chancellery, p. 16.
[14]Milivojevic,Marco, The Swiss Referendum of 1989.Electoral Studies, vol. 9, no. 3, 1990, p. 257.
[15]Schmitt, Nicholas, Switzerland. Chap. in A Global Dialogue on Federalism Volume I: Constitutional Origins, Structure, and Change in Federal Countries, eds.Kincaid, John and Tarr, G.Alan,McGill-Queen’s University Press,2005, p.396.
[16]Swiss voters ‘reject basic income grant for all,’Aljazeera, 2016, , viewed 20 June 2016.

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า