ทอล์กโชว์ไม่มีขา: สุขเวลาพริบตาเดียว

เรื่อง: ณัชปกร นามเมือง / วีรวรรธน์ สมนึก

ทุ่มครึ่ง สยามสแควร์วัน ชั้น 7 คือหมุดหมายนัดพบของชาวเราเพื่อมาดูโชว์ของชายคนหนึ่งที่พวกเราเฝ้ามองห่างๆ ผ่านงานเขียนของเขา มากบ้างน้อยบ้าง เราต่างอยากแพ็คกระเป๋าออกเดินทางเพราะ ‘โตเกียวไม่มีขา’ หันมาใส่ใจเรื่องเล็กๆ ในสิ่งมหัศจรรย์ธรรมดา เคยเพ้อบ้ายามหลงรักใครแบบ ‘The Soundtracks of My Love’

หลังบทเพลงสรรเสริญฯ จบลง ไฟแสงสีเร่งเร้ารุกพร้อม หากจะมีการเปิดตัวการแสดงอะไรสักอย่างที่เจ๋งๆ ผมคิดว่าการเปิดตัวอย่างเป็นกันเองของ ‘ทอล์กโชว์ไม่มีขา’ นับว่ามีความพิเศษอยู่ไม่น้อย ด้วยการเปิดตัวผ่านการพิมพ์ตัวอักษรพูดคุยกับคนดู และหลายคนก็เป็นแฟนหนังสือ ซึ่งช่วยทำให้บรรยากาศคุ้นเคยกับ ‘นิ้วกลม’ กลับคืนมา…เตรียมตัวให้พร้อมว่าการเดินทางผ่านโลกของนิ้วกลมตลอด 10 ปี คืออะไร

 

เมล็ดพันธุ์ที่ดี vs สภาพแวดล้อมที่ดี

เรามักจะได้ยินวิวาทะทำนองนี้อยู่เสมอว่า คนจะดี ดีที่ตัว หรือเพราะการขัดเกลาทางสังคมกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ‘นิ้วกลม’ ไม่ได้มาตอบคำถามนี้ เพียงแต่ชี้ชวนให้เราเห็นว่า ‘ความจริงนั้นมีหลายชุด’ สุดแล้วแต่ว่าเราจะพบเห็นแบบไหนและเชื่อแบบไหนมากกว่ากัน

นิ้วกลมยกตัวอย่างสองกรณีที่เป็นด้านกลับซึ่งกันและกันออกมาเล่า โดยกรณีแรก คือ ‘พีเบิ่ง’ ซึ่งเป็นนักดนตรีไทยที่มุ่งมั่นจะเป็นนักระนาดเอกเบอร์หนึ่ง เขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้งอกงามในด้านนี้เป็นที่สุด เขาถูกครอบครัวฟูมฟักให้ตีระนาดมาตั้งแต่จำความไม่ได้ และในทุกๆ วัน ต้องซ้อมอย่างหนักไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง จนวันหนึ่งก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียน ‘เอ็กซ์เมน’ ทางดนตรีไทย และมีชื่อเสียงให้เป็นที่ประจักษ์เช่นทุกวันนี้ ซึ่งนี่คือ ตัวอย่างของสภาพแวดล้อมที่ดีที่ขัดเกลาคนคนหนึ่งให้งดงาม

แต่กรณีที่สองกลับแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว โดยเป็นเรื่องราวของ ‘จ๋อม’ กับ ‘ปอน’ สองแร็พเพอร์ที่กว่าจะกรุยทางมาสู่ดวงดาวได้นั้น พวกเขาต้องผ่านโมงยามที่เป็นเหมือนขุมนรกมาก่อน ทั้งสองอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีโอกาสออกนอกลู่นอกทางสูง นอกจากเพื่อนฝูงจะไม่เข้าเรียนหนังสือแล้ว เพื่อนของเขาก็ยังพัวพันกับยาเสพติดจนยากจะไถ่ถอน แต่เพชรก็คือเพชร เมื่อพวกเขาสองคนได้ฟังเพลงแร็พ ดนตรีก็ค่อยๆ เปลี่ยนชีวิตเขา และสุดท้ายพวกเขาก็งอกงามเป็นแร็พเพอร์ที่มีชื่อเสียงจนได้ และกลายเป็นเรื่องเล่าสุดบันดาลใจให้กับคนดู

ก่อนที่จะจบบทสรุปในส่วนนี้ ก็มีโชว์พิเศษของสองแร็พเพอร์หนุ่มผสมผสานกับมือระนาดเอกมาคั่นกลาง เนื้อหากระแทกกระทั้นหัวใจให้ลุกขึ้นสู้เป็นที่สุด และเมื่อเพลงจบลง นิ้วกลมบอกกับคนดูว่า สิ่งที่เขาเห็นก็คือ สภาพแวดล้อมที่ไม่ดีไม่สามารถเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ที่ดีได้

แน่นอน โครงสร้างของสังคมก็สำคัญ เราทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับโอกาสในชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างให้เราไม่พัฒนาตัวเอง แม้สภาพสังคมแวดล้อมจะไม่เอื้อให้เรางอกงามก็ตามที

 

อย่าเอาไม้บรรทัดของเราไปตัดสินคนอื่น

“เพราะเราไม่สามารถตัดสินใครจากสภาพแวดล้อมได้ จะเป็นการดีแค่ไหน ถ้าเราไม่เอาไม้บรรทัดของเราไปตัดสินคนอื่นก่อน” – คือข้อเรียกร้องและการตั้งคำถามกับคนดูจากนิ้วกลมในฉากถัดไปของโชว์ นิ้วกลมเปิดด้วยเรื่องเล่าอันแปลกประหลาดของน้องที่รู้จัก เขามีความพิเศษบางอย่าง และในความพิเศษนั้นมันมีเส้นบางๆ ระหว่าง ‘ความพิเศษ’ กับ ‘ความบ้า’ แต่แน่นอนทุกคนเกิดมาในสังคมที่ไม่เหมือนกัน เลี้ยงดูแตกต่างกัน ลักษณะพิเศษบางอย่างจะต่างไปบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งสำคัญคือ เราจะรับมืออย่างไรกับมันมากกว่า

นิ้วกลมพาเราไปทัวร์ประเทศต่างๆ บ้าง เหมือนไกด์ทัวร์ที่นำเราไปตามรอยเส้นทางชีวิตของตัวเอง ในแต่ละประเทศก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง ตอนเขาไปถ่ายรูปคนที่ประเทศสเปน ตอนนั้นเขาถูกประณามหยามเหยียดว่าละเมิดสิทธิในทันที แต่พอไปที่อินเดีย คนทั้งหลายกลับชื่นชอบกล้อง แม้แต่ลูกเด็กเล็กแดงก็อ้อนกล้องขอให้มีภาพถ่ายของตัวเอง ซึ่งนี่คือความแตกต่างระหว่างสองประเทศที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจ

มิใช่แค่นั้น เรายังต้องเดินทางไกลออกไปอีกนิดจนถึงเอธิโอเปีย ซึ่งจุดสนใจสำหรับผมก็คือ ‘ชนเผ่าโบดี้’ ซึ่งหากใครที่มองว่าความอ้วนไม่ดี เมื่อไปเห็นชนเผ่านี้ต้องกลับความคิดเสียใหม่ นั่นก็เพราะชนเผ่านี้มีลักษณะพิเศษว่า ในปีนี้จะมีอยู่เดือนหนึ่งที่ชนเผ่าจะเอาอาหารมากองรวมกันแล้วก็กิน กินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากใครกินได้มากที่สุดในปีนั้น เขาก็จะได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าเผ่า

จะเห็นได้ว่า เมื่อบริบทเปลี่ยน คุณค่าเปลี่ยน และแน่นอนเราไม่สามารถตอบได้ว่าคุณค่าใดดีกว่ากัน แต่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีพลวัตด้วยตัวมันเอง ให้เราได้เรียนรู้และตั้งคำถามต่อไป ซึ่งแน่นอน หลักคิดดังกล่าวนิ้วกลมนำมาปรับใช้ได้กับเรื่อง ‘เจเนอเรชั่น’ ได้เป็นอย่างดี

อาจจะกล่าวได้ว่าทอล์กโชว์ครั้งนี้ เป็นการผสมผสานละครเวทีเข้าไปด้วย เมื่อนิ้วกลมเลือกใช้การเล่านิทานผ่านการแสดงของตัวละครที่เป็นภาพสะท้อนของคนแต่ละเจเนอเรชั่น ไล่ตั้งแต่ X Y และ Z ซึ่งบทละครและนิทานก็วางได้อย่างสนุกสนานและแนบเนียนเพื่อให้เห็นทั้งข้อดีข้อเสียของคนแต่ละเจนฯ ก่อนจะนำไปสู่บทสรุปว่า “ถ้าคิดจะอยู่ด้วยกันแล้ว ความเข้าใจต่างหากที่สำคัญที่สุด”

 

ชีวิตที่ต้องกลิ้งหินขึ้นภูเขานั้นมีความหมาย

เมื่อไปวนเรื่องรอบตัวก็ต้องกลับมาที่ตัวเองบ้าง นิ้วกลมปรึกษากับคนดูว่า เคยเจอสถานการณ์แบบนี้บ้างไหมว่า เรามีชีวิตอยู่ไปทำไม ทำไมชีวิตช่างดูไร้กำลังใจ แม้จะมีคนที่เป็นที่รักและที่อยู่อาศัยรายรอบ แต่ชีวิตก็เฝ้าถามเสมอว่า “แล้วยังไงต่อ?”ผมไม่รู้ว่า มันเรียกว่าวิกฤติวัยกลางคนหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าหลายคนที่เดินทางไปจนถึงจุดหนึ่งแล้วจะเกิดคำถามในทำนองนี้ ซึ่งนิ้วกลมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่สิ่งสำคัญคือเขาพยายามหาทางออกให้ตัวเอง วิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งของเขาก็คือเปิดหนังสือ และหนังสือที่เขาเลือกเป็นของ ‘อัลแบร์ กามูส์’ ที่พานทำให้เขาหดหู่หนักขึ้น เมื่อนักเขียนคนสำคัญแห่งยุคสมัยให้คำตอบว่า ชีวิตคนเราก็เหมือนคำสาปของซิซีฟัส เมื่อเราต้องกลิ้งหินขึ้นภูเขาทุกๆ วัน เพื่อจะเห็นมันไหลลงมา ซึ่งกามูส์บอกว่า “ชีวิตแบบนั้นมันช่างไร้เหตุผลสิ้นดี”

แต่นิ้วกลมมองต่าง เมื่อหนังสืออีกเล่มช่วยเปลี่ยนมุมมองของเขา โดยหนังสือเล่มนั้นเป็นบทสนทนาระหว่างเพื่อนสองคน เพื่อนคนหนึ่งเพิ่งจะกลับมาจากศึกสงคราม เขาได้รับการยกย่องให้เป็นฮีโร่ แต่เมื่อต้องมาอาศัยอยู่บ้าน เขากลับกลายเป็นคนติดเหล้า ไร้แรงบันดาลใจ ทำให้เพื่อนของเขาคนหนึ่งเขียนจดหมายมาหา ซึ่งเพื่อนผู้หวังดีบอกกับชายผู้หมดไฟว่า เขายังจำได้ไหม ว่าอะไรที่ทำให้ชีวิตของเขามีความหมาย อะไรที่ทำให้ร่างกายพลุ่งพล่านเลือดสูบฉีด ซึ่งคำตอบก็คือ ‘ภารกิจ’ คนเราเมื่อมีภารกิจบางอย่างให้พิชิต ชีวิตก็ดูมีความหมายมากขึ้น

นิ้วกลมบอกกับคนดูว่า การผลักก้อนหินที่ดูไร้ความหมายนั้นไม่จริงหรอก เพราะก้อนหินนั้นต่างหากคือความสุข เมื่อเราได้ฝึกฝน ได้เรียนรู้ เราจะได้ผลักก้อนหินผ่านภูเขาอีกมากมาย เราจะได้แข็งแกร่งขึ้น เติบโตขึ้น ซึ่งมันเป็นส่วนสำคัญในชีวิต

ถึงตรงนี้ การแสดงก็ถึงคราวเลิกรา และนิ้วกลมได้ทิ้งท้ายไว้ให้คนดูอีกว่า “เลือกก้อนหินที่มีความหมาย แล้วเข็นมันให้สุดแรง”

 2016-11-16-talk2

สุขเวลาพริบตาเดียว

เมื่อการแสดงจบ ผมอมยิ้ม พลางคิดว่า นี่ไม่ใช่ทอล์กโชว์แบบที่เรารู้จัก นี่ไม่ใช่สแตนด์อัพคอมเมดี้ และนี่ไม่ใช่แค่การมาพูดเพื่อสร้างกำลังใจ ตอนเดินออกมาผมเลิกสงสัยว่า ทำไมเราถึงเป็นแฟนนิ้วกลมได้ยาวนานขนาดนี้อาจเป็นเพราะวิธีการถ่ายทอดของเขาที่ทำให้เห็นล่วงหน้าเลยว่า ‘เราเสมอกัน’ นิ้วกลมไม่ใช่ผู้ผูกขาดความจริง เขาไม่ได้เป็นนักคิดที่เป็นศาสดา เขาเป็นแค่นักเล่าเรื่องที่ซื่อสัตย์ มีแง่มุม และพร้อมถูกตั้งคำถามพร้อมกับวิ่งหาคำตอบ และในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ชิงด่วนตัดสินและทำความเข้าใจว่า ‘ความจริงบนโลกนี้มีหลายชุด’ ให้ต้องเรียนรู้อีกมาก

ทอล์กโชว์ครั้งนี้ ผู้ชมหลายคนอาจจะคุ้นเคยดีกับหนุ่มหน้าตี๋ผิวคล้ำคอยส่งยิ้มและมอบดอกไม้ผ่านคำพูดเพื่อส่งกำลังให้เราอยู่เสมอๆ แม้ผมจะไม่อยากบอกว่านั่นคือ ‘ไฮไลท์’ ของนิ้วกลม แต่ก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้อยู่ดีว่า นั่นคือสิ่งที่เขามอบให้คนรอบตัวมาตลอด 10 ปี และนี่คืออีกหนึ่งดอกไม้จากปากของเขาที่แสนงดงาม

ป.ล. หากจะให้ติอะไรสักหน่อยในโชว์นี้ก็คือ โฆษณาสินค้านานไปหน่อย และงานเลิกเร็วไปหน่อยเท่านั้นเอง

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า