The Act of Killing & The Acting of Killers

 

the-act-of-killing-poster

         

1

ประวัติศาสตร์เป็นเหมือนหลุมดำ แต่ประวัติศาสตร์ไม่ได้ดูดกลืนทุกสิ่งลงไปในมัน ประวัติศาสตร์ดูดกลืนเอาความอยากรู้ของผู้คนเข้าไป ดูดกลืนนักประวัติศาสตร์ และรวมถึงนักทำหนังสารคดี

The Betrayal (Nerakhoon) โดย เอลเลน คูราส และ ทะวีสุก พระสะวัติ

Enemies of the People โดย ร็อบ เลมกิน และ เต็ต สัมบัท

S-21: The Khmer Rouge Killing Machine โดย ริธี ปาห์น

ความทรงจำ-ไร้เสียง โดย ภัทรภร ภู่ทอง

รายชื่อหนังสารคดีข้างต้นคือส่วนหนึ่งของความพยายามขุดรื้ออดีต เผชิญหน้ากับความทรงจำบาดแผลยุคสงครามเย็น แน่นอน…มันเป็นบาดแผลร่วมของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลุมดำแห่งบาดแผลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลืนกินนักทำหนังสารคดีเข้าไป ก่อนที่จะคายพวกเขาออกมาเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจอดีต อย่างหนังสารคดี The Missing Picture ของ ริธี ปาห์น (Rithy Panh) และหนังที่เรากำลังจะพูดถึง

The Act of Killing โดย โจชัว ออพเพนไฮเมอร์

หนังตามติดกลุ่มแก๊งสเตอร์ที่มีการกระทำอย่างนักฆ่า ผู้มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นกับนโยบายกวาดล้างคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลอินโดนีเซีย

นอกจากเหล่านักฆ่าจะเผยกระบวนการและลีลาการสังหารอย่างพิถีพิถันราวกับเป็นนาฏกรรม น้ำเสียงของพวกเขาที่เล่าถึงการข่มขืนผู้หญิงก็ประหนึ่งเกียรติยศของความเป็นชาย

การตามติดกลุ่มนักฆ่าในหนังสารคดีเรื่องนี้ เป็นการตามติดด้วยวิธีพิสดารและประหลาดล้ำ

แทนที่จะให้พวกเขาเล่าวีรกรรมวัยหนุ่มแบบทอล์คคิ้งเฮด โจชัว ออพเพนไฮเมอร์ ผู้กำกับ The Act of Killing ได้เลือกใช้วิธีการหนังซ้อนหนัง ถ่ายทำกระบวนการทำหนังของแก๊งสเตอร์กลุ่มนี้ มันเป็นหนังเทียมของแก๊งสเตอร์ ว่าด้วยวิธีการฆ่า ทรมาน ทำลายล้างของกลุ่มนักฆ่าที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1965-66

 

30 กันยายน 1965

เพื่อทำความเข้าใจ The Act of Killing เราจำต้องหาแผนผังซึ่งกำหนดการกระทำของเหล่านักฆ่าเสียก่อน

เราพบบทความชิ้นหนึ่งของ อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ชื่อว่า ความทรงจำกับการเขียนประวัติศาสตร์เหตุการณ์เกสตาปู

กระบวนการกวาดล้างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย หรือ PKI ได้เริ่มขึ้นอย่างบ้าคลั่ง หลังเหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 1965 หรือ Gerakan September Tigapuluh เรียกโดยย่อว่าเหตุการณ์เกสตาปู (Gestapu)

รวบความอย่างย่นย่อ เหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 1965 คือชัยชนะของฝ่ายพลตรีซูฮาร์โต กองกำลังสำรองช่วยรบ (Komando Strategis Cadangan Angkatan Darat) ที่ทำรัฐประหารซ้อน ด้วยการเข้าควบคุมสถานการณ์การสังหารนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและบริวาร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ถูกคณะรัฐประหารกองกำลังดีโปเนอโกโร (Diponegoro) จับกุมตัวไป แต่หลังการรัฐประหารซ้อนของพลตรีซูฮาร์โต การสังหารครั้งนั้นถูกอ้างว่าเป็นฝีมือของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย

การใช้ความรุนแรงต่อสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียและผู้สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการสังหาร การทรมาน การจับกุมคุมขัง ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการกวาดล้างดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน มีการคาดคะเนกันว่าอยู่ระหว่าง 500,000 จนถึง 2,500,000 คน

สิ่งที่รัฐบาลอินโดนีเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีซูฮาร์โตกระทำก็คือการสร้างความทรงจำให้แก่คนอินโดนีเซียว่าเหตุการณ์เกสตาปูนั้นเป็นการพยายามทำการรัฐประหารโดย PKI โดยการใช้งานเขียนทางประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือทั้งในรูปหนังสือประวัติศาสตร์, แบบเรียนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังสร้างความทรงจำผ่านสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวหนังสือ ได้แก่ภาพยนตร์ อนุสาวรีย์ วันสำคัญ และพิธีกรรม

อ้างอิงข้อมูลจาก: ความทรงจำกับการเขียนประวัติศาสตร์เหตุการณ์เกสตาปู, อรอนงค์ ทิพย์พิมล 
อ่านบทความ ความทรงจำกับการเขียนประวัติศาสตร์เหตุการณ์เกสตาปู  

 

VIgGudxjpBb4jj_1_hd

2

ไม่ใช่ท่วงท่า ลีลา และวิธีการฆ่าที่ The Act of Killing ให้น้ำหนักความสนใจ แต่เป็นปฏิกิริยาของนักฆ่าที่มีส่วนอย่างขมีขมันในการสร้างหนังเทียมเรื่องนี้

อันวาร์ คองโก คือตัวละครหลักใน The Act of Killing เขาเป็นอันธพาลหน้าโรงหนังในเมืองเมดาน สุมาตราเหนือ อันวาร์เป็นคนรักหนัง เขามีนักแสดงในดวงใจหลายคน จอห์น เวย์น, เจมส์ ดีน เป็นต้น

เหตุการณ์ที่ปรากฏในหนังเทียมมีจุดอ้างอิงจากความทรงจำส่วนตัวในการฆ่าคนของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นวิธีการฆ่าที่ทำให้เลือดของเหยื่อไหลออกมาน้อยที่สุด การอำพรางศพ (เพื่อไม่ประเจิดประเจ้อเกินไป) บทสนทนาการสอบสวนก่อนฆ่า เสียงร้องทรมานของเหยื่อขณะได้รับความทรมาน วิธีการตาย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือความทรงจำส่วนตัวของอันวาร์และพรรคพวกที่มีต่อการกระทำในอดีต มันยังคงแจ่มชัดเหมือนเกิดเมื่อวาน

อันวาร์ คองโก ตอบคำถามพิธีกรสาวในรายการโทรทัศน์ถึงหนังเทียมที่พวกเขาร่วมกัน (ถูกหลอกให้) สร้างว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจในวิธีการฆ่ามาจากหนังแก๊งสเตอร์

นอกจากแรงบันดาลใจในวิธีการฆ่าที่มาจากหนังฮอลลีวูดแล้ว เขายังดูหนังชวนเชื่อที่สร้างโดยรัฐบาลอินโดนีเซีย หนังประเภทแรกดูเพื่อก่อแรงบันดาลใจ หนังประเภทหลังดูเพื่อสร้างความชอบธรรมในการฆ่าคนให้ตนเอง

พิธีกร: “ทำไมคนรุ่นใหม่ควรดูหนังเรื่องนี้คะ”

เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบกลุ่มปัญจศีล: “คนรุ่นใหม่ต้องจดจำประวัติศาสตร์ เพราะพระเจ้ายังต่อต้านคอมมิวนิสต์”

หนังสารคดีทำให้ผู้ชมที่นั่งอยู่ในโรงภาพยนตร์เมืองไทย รู้สึกประหนึ่งว่านั่งอยู่ในห้องทดลองทางจิตวิทยา สังเกตแววตาและเรื่องเล่าที่หลุดจากปากนักฆ่าในระหว่างที่พวกเขาย้อนความทรงจำไปถึงการกระทำของตนเอง ราวกับว่าเรานั่งอยู่ใน The Stanford Prison Experiment ในปี 1971

 

ความทรงจำอย่างเป็นทางการ

Sejarah Nasional Indonesia หรือ ประวัติศาสตร์แห่งชาติอินโดนีเซีย คือผลผลิตการเขียนประวัติศาสตร์ฉบับทางการของนูโกรโฮ (Nugroho) นักประวัติศาสตร์ภายใต้รัฐบาลซูฮาร์โต ในหนังสือประวัติศาสตร์ชุดนี้ให้ข้อมูลว่า PKI เป็นผู้ก่อเหตุในขบวนการ 30 กันยายน 1965

Perusahaan Film Nasional – PFN หรือ บริษัทภาพยนตร์แห่งชาติ ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Penghianatan G30S ขึ้นในปี 1981 โดยมี Arifin C. Noor เป็นผู้กำกับ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อว่า PKI เป็นผู้ทรยศที่อยู่เบื้องหลังขบวนการ 30 กันยายน 1965

แม้ว่าระบอบซูฮาร์โตจะสิ้นสุดลงไปแล้ว และได้เกิดสงครามประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบโต้การผูกขาดการเขียนประวัติศาสตร์ที่นำโดยรัฐมาตลอดระยะเวลาสามทศวรรษ แต่อย่างไรก็ตาม สถานภาพของ PKI ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าใดนัก แม้ว่ามีความพยายามที่จะพูดถึงการกระทำต่อ PKI อย่างโหดเหี้ยมอันเนื่องมาจากเหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 1965 อย่างเปิดเผยได้เป็นครั้งแรก รวมไปถึงมีการตั้งคำถามว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวกันแน่ แต่ภาพลักษณ์ของ PKI ในฐานะปีศาจร้ายก็ยากที่จะสลัดออกจากจินตนาการของคนอินโดนีเซียได้ 

ที่มา: บทความ ความทรงจำกับการเขียนประวัติศาสตร์เหตุการณ์เกสตาปู
ชมภาพยนตร์เรื่อง Penghianatan G30S

 

Emont-WhyWouldWeAdvertiseaCivilWar-1200

 

3

เราสามารถมองเห็นความทรงจำร่วมของผู้คนในหนังได้ผ่านการยอมรับการกวาดล้างในปี 1965-66 พวกเขายังคงใช้ชีวิตอย่างสุขสบายและพูดถึงการฆ่าในคราวนั้นเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐมนตรี หัวหน้าและกลุ่มเยาวชนปัญจศีลในชุดลายพรางหรือลายเพลิงไฟสีส้ม นักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นผู้ตระหนักในหน้าที่ของตนด้วยการทำให้พวกคอมมิวนิสต์ดูเลว สื่อสารมวลชนทางการที่ถามอันวาร์ คองโก ถึงแรงบันดาลใจในวิธีการฆ่า (ซึ่งน่าประหลาดใจว่ามันเป็นคำถามที่ถามโดยคนในศตวรรษที่ 21) และกลุ่มอันธพาล หรือ แก๊งสเตอร์

เครือข่ายนักฆ่าเหล่านี้ประสานเสียงกันพร้อมเพรียงว่า

“คำว่าแก๊งสเตอร์มาจากคำว่าฟรีแมน เราคือเสรีชนหาใช่อันธพาล ประเทศของเราต้องการเสรีชน”

 

อุบัติเหตุทางนิรุกติศาสตร์

รากศัพท์คำ ‘gangster’ ในอินโดนีเซียแปลว่า ‘preman’ ซึ่งมาจากภาษาดัตช์ ‘préman’ ในภาษาอังกฤษคือคำ ‘freeman’

เนเธอร์แลนด์เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในฐานะเจ้าอาณานิคมเหนืออินโดนีเซีย พวกเขาใช้แก๊งอันธพาลซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นในการทำงานสกปรกนอกกฎหมาย พวกเขาคัดเลือกคนที่ไม่มีที่ทางทางสังคม ไม่มีครอบครัว และคนกลุ่มนี้ที่ทำงานนอกกฎหมายก็ถูกรู้จักในนาม ‘préman’

หลังจากเนเธอร์แลนด์หมดอิทธิพลในอินโดนีเซียช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล่าเสรีชนก็ไม่ถูกนำมาใช้งาน จนกระทั่งรัฐบาลเผด็จการขึ้นครองอำนาจ ลูกหลานของอดีต ‘préman’ ในสมัยตกเป็นอาณานิคมได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาใหม่ และทำงานสกปรกเช่นเดียวกับเสรีชนรุ่นปู่รุ่นพ่อ เพียงแต่เปลี่ยนมาให้บริการรัฐบาลเผด็จการแทน

โจชัว ออพเพนไฮเมอร์ ให้สัมภาษณ์ว่า คำนี้เป็นอุบัติเหตุทางนิรุกติศาสตร์

“แต่ก็ไม่เชิงว่าจะเป็นอุบัติเหตุอะไรหรอก คำคำนี้ถูกทำให้ชอบธรรมในภาวะบ้านเมืองไร้ขื่อแป คำคำนี้จึงหมายถึงคนที่ทำงานสกปรกให้รัฐบาล แม้ว่าในภาษาอังกฤษจะหมายถึงนักเลง”

แต่ในอินโดนีเซีย อันธพาลคือเสรีชน

t13he-act-of-killing-poster

 

 

4

Yapto Soerjosoemarno
“ถ้าคนบอกว่ากลุ่มเยาวชนปัญจศีลคืออันธพาล กูก็คือโคตรพ่ออันธพาลตัวจริง” – ยัพโต ซูโรซูมาร์โน (Yapto Soerjosoemarno) ผู้นำกลุ่มเยาวชนปัญจศีล ประกาศต่อหน้ากลุ่มเยาวชนปัญจศีลนับพันคน

 

นอกจาก อันวาร์ คองโก หนังพยายามให้ความสนใจต่อปฏิกิริยาของนักฆ่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นมือขวาของเขา เพื่อนนักฆ่า นักข่าวที่เคยร่วมงานกวาดล้างคอมมิวนิสต์ ผู้นำกลุ่มเยาวชนปัญจศีล ซึ่งเป็นกลุ่มกำลังสำคัญในการกวาดล้างคอมมิวนิสต์

ในกระบวนการทำหนังเทียมของอันวาร์ คองโก และสหาย น่าสนใจว่าเหตุการณ์ในหนังนั้นกอปรขึ้นมาจากความทรงจำ วิธีการฆ่าในอดีตผุดขึ้นมาจากสมองในส่วนที่เก็บความทรงจำระยะยาว ขณะเดียวกันหนังที่แอบซ้อนถ่ายทำอยู่อีกชั้นอย่าง The Act of Killing ก็พยายามเฝ้าสำรวจความทรงจำที่พวกนักฆ่ามีต่อตัวเอง เฝ้าสำรวจการตีความตนเองในอดีตของพวกเขาจากมุมมองของปัจจุบัน

เพราะมนุษย์ตีความอดีตจากมุมมองของปัจจุบัน

ทุกวันนี้พวกเขาล้วนแก่ชรา อ้วนลงพุง มีภรรยาและลูกเล็กๆ ที่มีอนาคต มีหลานที่เขาพยายามสอนว่าอย่ารังแกสัตว์ มีลูกสาวที่เขาสอนว่า ถ้าไม่มีพ่อเจ้าต้องอยู่ให้ได้ กล้าเผชิญหน้ากับความจริง!

นี่คือที่อยู่ที่ยืนของนักฆ่าในปัจจุบัน

อาดี ซัลคาดรี (Adi Zulkadry) เพื่อนร่วมการสังหารของอันวาร์เดินทางมาจากต่างเมืองเพื่อร่วมถ่ายทำหนังเทียมเรื่องนี้ เขาเป็นคนที่มีการตีความอดีตของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ แม้จะเลือดเย็นไปเสียหน่อยก็ตาม

“การฆ่าคนเป็นอาชญากรรม วิธีการที่จะอยู่กับตัวเองให้ได้คือการหาความชอบธรรมให้ตัวเอง

เขาไม่เคยฝันร้ายเหมือนอันวาร์

“ผมน่าจะปิดตามันก่อนที่จะลงมือฆ่า แววตาคู่นั้นตามมาหลอกหลอนผม” อันวาร์ ผู้พบฝันร้ายบอกในหนัง

อาดี ซัลคาดรี ไม่เคยรู้สึกผิด เพราะเขาตีความการกระทำของเขาในมุมของผู้ชนะ การกระทำของเขานั้นได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว เป็นการกระทำที่ประวัติศาสตร์ฉบับทางการให้การรับรอง การกระทำของเขาคือความถูกต้องยึดครองพื้นที่ในสังคมกระแสหลัก ได้รับการต้อนรับจากมวลมหาชน

ระหว่างการถ่ายทำฉากการสอบสวนและทรมานคอมมิวนิสต์ เซาดวน ซิรีการ์ (Soaduon Siregar) นักข่าวท้องถิ่นเมืองเมดาน ซึ่งเมื่อสี่ทศวรรษก่อนสำนักงานของเขาเป็นที่ทำการฆ่าของเหล่าแก๊งสเตอร์ เขายืนมองการถ่ายหนัง เอ่ยขึ้นมาว่า “ผมรู้แล้วล่ะว่า ทำไมผมจึงไม่เคยรู้เลยว่าพวกคุณฆ่าคนในสำนักงานของเรา ก็เพราะพวกคุณนิ่งกันมาก นิ่งมากๆ”

“ตรรกะคุณดูแปลกๆ นะ ในเมื่อเราฆ่ากันในสำนักงานของคุณ คุณจะไม่รู้ได้ยังไง ข้างบ้านยังรู้เลย” อาดี ซัลคาดรี สวนนักข่าว

“ผมพูดจริงๆ ผมไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย”

 

ส่วนบุคคล

ความทรงจําส่วนบุคคล (personal memory) เป็นการจัดวางหรืออ้างถึงอดีตของปัจเจกบุคคลซึ่งมักกล่าวถึงสิ่งที่ตนเองกระทําในเวลาและสถานที่ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การจดจําเหตุการณ์ต่างๆ ของปัจเจกก็คือ การรับรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างชัดเจน การพูดถึงความทรงจําในอดีตของปัจเจกจึงเป็นการอธิบายการรับรู้ลักษณะและศักยภาพของตนเองในปัจจุบัน การรับรู้ตนเองของปัจเจกจึงมีความสําคัญ เพราะจะทําให้ปัจเจกสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงและอัตลักษณ์ของตนเองในอดีตที่แตกต่างจากคนอื่นได้

                          ที่มา: วิทยานิพนธ์ของ จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอน

 

suharto-cabaret-theactofkilling

5

ฉากการฆ่าในหนังเทียมเรื่องนี้โหดเหี้ยมในระดับที่นักฆ่าตัวจริงยังยอมรับว่ามันโหดมาก ภาพความโหดเหี้ยมที่หวนมาปรากฏอีกครั้งจึงทำให้การเลือกรับรู้เลือกจดจำอดีตของนักฆ่าแต่ละคนแตกต่างกัน

เซาดวน ซิรีการ์ เลือกที่จะบอกว่า ตนเองเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก

อาดี ซัลคาดรี เลือกที่จะยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองทำ และบอกตัวเองว่า มันคือประวัติศาสตร์ (ไปแล้ว)

อันวาร์ คองโก เลือกที่จะ (พยายาม) สำนึกผิด

 

ตุลาคม 1976

การรับรู้หรือความทรงจำของสังคมไทยกับอินโดนีเซียย่อมมีความต่างกัน หลังเหตุการณ์สังหารในเดือนตุลาคม 1976 ความภาคภูมิในหมู่ฝ่ายขวาก็กลับแปรเปลี่ยน

ก่อนการเลือกตั้งปี 2531 นางจงกล ศรีกาญจนา ลูกพรรคของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อวดโอ่สรรพคุณทางการเมืองของหัวหน้าพรรค ด้วยการโหมโฆษณาเกียรติประวัติ ว่าหัวหน้าพรรคของเขามีส่วนร่วมกับชมรมแม่บ้าน มีส่วนร่วมกับการชุมนุมลูกเสือชาวบ้านในวันที่ 6 ตุลาคม พวกเขาร่วมเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้ปลดรัฐมนตรีคอมมิวนิสต์ออกจากคณะรัฐมนตรี เกียรติประวัติของ พล.ต.จำลองในสายตาลูกพรรคคือการปลอมตัว สวมวิกผม แว่นดำ เข้าไปคอยชี้แนะผู้ปราศรัยในการชุมนุมของลูกเสือชาวบ้านที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่กี่กิโลเมตร

แต่ในปี 2531 พล.ต.จำลอง กลับไม่ขอรับเกียรติประวัติที่เคยกระทำในปี 2519 ด้วยการประกาศในที่ชุมนุมใหญ่ของพรรคพลังธรรม ว่าเขาไปชุมนุมในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ไม่พอใจการแสดงละครหมิ่นเหม่ของนักศึกษา กล่าวให้ชัด พล.ต.จำลอง ยืนยันว่าตนไม่ได้สาวเท้าเข้าใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเช้าวันนั้น

“เรื่องนี้สุดแท้แต่ใครจะคิด แต่สำหรับผม ผมมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ช่วยให้ประเทศไทยยังรักษาความเป็นประชาธิปไตยไว้ได้” พล.ต.สุตสาย หัสดิน อดีตเจ้าพ่อกระทิงแดง

“เวลาคนเอ่ยชื่อผม มักจะบอกว่าหัวหน้ากระทิงแดงที่ใช้ความรุนแรง ผมคิดว่าความรุนแรงมันเป็นอดีตไปแล้ว ทุกวันนี้ผมแก่มากแล้ว ผลกระทบมันมีทั้งทางดีและไม่ดี มันสลัดออกไปไม่ได้ และมันจะติดตัวผมไปจนวันตาย ในห้องสมุดยังมีชื่อผมอยู่เลย มันเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว ไม่สามารถจะลบออกได้” สมศักดิ์ ขวัญมงคล อดีตหัวหน้ากลุ่มกระทิงแดง

เหตุการณ์ที่กล่าวถึงการเลือกตั้งปี 2531 อ้างมาจากบทความ ความทรงจำกับประวัติศาสตร์บาดแผล กรณีการปราบปรามนองเลือด 6 ตุลา 2519, ธงชัย วินิจจะกูล
คำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.สุตสาย หัสดิน และสมศักดิ์ ขวัญมงคล มีที่มาจากนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 140 เดือนตุลาคม 2539

maxresdefault (2)

6

อันวาร์ คองโก เลือกที่จะสำนึกผิด?

ในช่วงท้ายๆ ของหนังสารคดี เขาสวมบทบาทเป็นเหยื่อที่ถูกลวดรัดคอในหนังเทียมที่ถูกหลอกให้สร้าง ระหว่างอยู่ในบ่วงลวดรัดรึง เขาค้นพบความรู้สึกของเหยื่อนับพันที่เคยฆ่า เขาดูหนังเทียมที่ตัวเองถ่ายทำ น้ำตารื้น เขาบอกว่า ตนหวาดกลัวบาปกรรม

ทั้งหมดเขาพูดต่อหน้ากล้องถ่ายหนังสารคดีของนักทำหนัง

เขาหวนกลับไปยังสถานที่เคยฆ่า สำรอกเอาความทรงจำบาดแผล (ในฐานะผู้กระทำ) ในท้องออกมา แม้ว่าหนังฮอลลีวูดจะสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นแก๊งสเตอร์นักฆ่าให้ แต่หนังชวนเชื่อของรัฐบาลเป็นเกราะกำบังความไม่ชอบธรรมในการฆ่าแก่เขา เขาเป็นคนรักหนัง ในยามชราเขามีโอกาสทำหนัง หนังที่เล่นเป็นตัวเอก หนังที่เล่นเป็นตัวเอง เป็นนักฆ่า หนังที่เขากำกับการแสดงทั้งบทผู้กระทำและถูกกระทำ เขาเล่นได้สมจริงทั้งบทโหดและบทคนกำลังจะตาย

เขาสร้างหนังจากความทรงจำ แล้วความทรงจำก็หักหลังเขา เขากลัวและฝันร้าย

หรือนี่คือส่วนหนึ่งของการแสดง อันวาร์ คองโก ชื่นชอบหนังฮอลลีวูด

อันวาร์ คองโก อาจจะชอบหนังที่มีพัฒนาการของตัวละคร หนังที่เปิดเรื่องด้วยการกระทำผิดบาปของตัวเอก แผลแห้งกรัง กาลเวลาจารึกแผลเป็น จมอยู่กับฝันร้าย จมอยู่กับความทรงจำบาดแผล และบั้นปลายก่อนเอนด์เครดิตจะขึ้น เขาก็รู้สึกผิด และสำนึกผิด หนังในหัวของอันวาร์ คองโก ได้จบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ตามสูตรหนังในรสนิยมของเขา

แต่ตอนจบของ The Act of Killing หนังสารคดีที่เขาได้สวมบทเป็นตัวเอกอย่างไม่รู้ตัว กลับไม่เป็นเช่นนั้น มันเป็นตอนจบที่ก่อให้เกิดการเริ่มต้นชำระสะสางประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกเล่ามาช้านาน มากกว่าจะเป็นจุดจบแบบมีสุข.

 

act-of-2

 

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า