สัดส่วนหนัง และวัฒนธรรมบนจอเงิน

เรื่อง: รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ / ภาพ: อนุช ยนตมุติ

11 มกราคม ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร กลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ จัดเวทีเรียกร้องต่อสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ในประเด็นการใช้กฎหมายกำหนดสัดส่วนภาพยนตร์ เนื่องจากโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ ซึ่งเป็นผู้ครองส่วนแบ่งและผูกขาดตลาดเกือบทั้งหมด มีจอฉายจำนวนมาก มีอำนาจกำหนดการฉายภาพยนตร์ได้ โดยเฉพาะเมื่อหนังใหญ่จากฝั่งฮอลลีวูดเข้ามา โรงภาพยนตร์จะฉายแต่หนังทำเงิน ทำให้ภาพยนตร์อื่นๆ ทยอยล้มหายตายจาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนังไทย จนเกิดข้อเรียกร้องให้ภาครัฐ ‘เร่งพาหนังไทยออกจากวิกฤตการณ์’ โดยอาศัย พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ฉบับปี 2551 ที่ระบุให้คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติมีหน้าที่จัดสัดส่วนภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์

ข่าวนี้เป็นกระแสดราม่า เมื่อเกิดคำวิจารณ์ว่า นี่เป็นการเรียกร้องให้รัฐเข้ามาอุ้มหนังไทยที่ไม่มีคุณภาพและไม่มีใครอยากเสียเงินเข้าไปดูหรือเปล่า? ซึ่ง สุภาพ หริมเทพาธิป ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Bioscope หนึ่งในผู้ร่วมเวที ให้คำตอบว่า ประเด็นหลักใหญ่ใจความไม่ใช่การเปิดพื้นที่ให้เฉพาะหนังไทย แต่คือ การสร้าง ‘วัฒนธรรมการดูหนัง’ ขึ้นมา

การเรียกร้องนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้หนังไทยได้เข้าฉายมากขึ้นเหมือนที่มีการพูดกันหรือเปล่า

คำว่าหนังไทยบางคนอาจจะมองว่ามันคือ ‘หนังไทย’ แต่สิ่งที่ผมกำลังพูดคือ อุตสาหกรรมหนังในประเทศไทย ซึ่งอุตสาหกรรมในประเทศมันประกอบด้วยหนังสารพัดหลายพันธุ์มาก แต่ว่ากฎหมายที่พูดออกมาเขาให้สิทธิ์กับหนังไทยเยอะ

ที่เรียกร้องหนังไทยให้ลดหนังต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้เวลาหนังใหญ่ๆ มาก็ 80 เปอร์เซ็นต์ และที่เราเรียกร้องคือ 20 เปอร์เซ็นต์ มันห่างกันอยู่ 60 เปอร์เซ็นต์ ถามว่าหนังไทยจะไปอุด 60 เปอร์เซ็นต์นี้ได้เหรอ มันอุดไม่ได้หรอก หนัง 30-40 เรื่องต่อปี ไม่มีทางไปอุดช่องโหว่เหล่านั้นได้

แต่สิ่งที่เรียกร้องหนังต่างประเทศไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ปกติหนังทั่วไปที่คนชอบๆ กัน ฉายได้ 10 เปอร์เซ็นต์ก็บุญแล้ว มันไม่ถึง ฉะนั้น เมื่อหนังไทยก็อุดไม่ได้ หนังเทศที่ใหญ่เกินความจำเป็นต่อเรื่อง อะไรคือสิ่งที่มาทดแทน

ที่ผมยกตัวอย่างตั้งแต่ต้นคือให้เห็นภาพ คือวงการหนังเกาหลีกับหนังไทยที่เริ่มๆ มาพร้อมๆ กัน ประเทศไทยมี 60 กว่าล้านคน ของเกาหลี 50 กว่าล้านคน ทำไมขนาดของอุตสาหกรรมมันใหญ่กว่ากันตั้ง 10 เท่า เป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถาม ทำไมเราไม่โตมาตั้งหลายปี แต่เขาโตเอาๆ ทำไมสัดส่วนของเราถึงเกิน 20 มาเนิ่นนาน จู่ๆ มันก็เหลือ 15 เหลือ 13 นี่เป็นเรื่องที่ตั้งคำถามว่าทำไมเราดูหนังกันเป็นแบบเดียว

พอเห็นบ้างไหมว่าอะไรเป็นสาเหตุ

ในกลุ่มคนทำงาน เราได้ข้อสรุปกันมาว่า เราไม่มีวัฒนธรรมการดูหนังที่เข้มแข็งเพียงพอ ฉะนั้นมันก็ต้องมีขั้นตอนที่เป็นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ที่จะต้องเดินกันต่อ แต่ระยะสั้นที่เราเห็นก็คือระยะที่มันเห็นอยู่ว่า ความหลากหลายมันถูกทุบทำลาย เราจะนำมันกลับคืนมาได้อย่างไร ก็คือว่า ช่องว่างที่มันถูกถมด้วยหนังประเภทเดียวมันก็ถูกเปิดออก

โควตาภาพยนตร์เป็นสิ่งที่จะเปิดมันออกได้ เราไม่ได้ห้ามหนังต่างประเทศเข้าฉายเกิน 100 เรื่อง เราไม่ได้ไปห้ามอย่างนั้น เราห้ามแค่หนัง 100 เรื่องมันไม่ควรกินพื้นที่ฉายเกินความจำเป็น จนกระทั่งปิดโอกาสหนังอื่น เราไม่ได้บอกว่า เมื่อเปิดแล้วหนังไทยจะเข้าไปเสียบแทน – ไม่ใช่ ไม่มีคำพูดไหนเลยที่บอกไปในทิศทางนั้น ตีความไปกันเองทั้งสิ้น

ถ้าทุกคิดตามก็จะรู้ว่า 30-40 เรื่องมันถมไม่ได้ไง แล้วเราก็ไม่ได้บอกว่าหนังต่างประเทศห้ามฉายนะ ช่องโหว่นั้นก็จัดโปรแกรมได้ตามปกติ คุณจะมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นในจอภาพยนตร์ในเมืองไทยที่จะปรากฏให้เห็น

นี่คือทั้งหมดทั้งปวงมันไปสู่จุดเดียวคือ การสร้างวัฒนธรรมการดูหนัง เราไม่อยากเห็นภาพที่ครั้งหนึ่งทุกคนบอก โอ้ย วงการหนังไทยเติบโตในยุคโรงหนังสแตนด์อโลน แล้ววันหนึ่งมันก็มีเชื้อโรคแพร่เข้ามา ที่ชื่อว่า วิดีโอ แล้วโรงหนังที่มีแบบคิดแบบเดียวกันทั่วประเทศเหล่านั้นเป็นยังไงบ้าง ตายเรียบ ถ้าวันนี้เรายังไปในจุดนั้นอีก ไม่รู้เชื้อโรคตัวใหม่จะชื่ออะไร ตายเรียบอีก จะมาบอกเราเป็นศัตรูกับโรงหนัง…ไม่ใช่ ผมกำลังช่วยชีวิตคุณอยู่ แต่คุณที่คุณกำลังทำมันจะนำไปสู่สภาพความอ่อนแอในระยะยาว

นี่คือสาระสำคัญ ถ้าเราพูดว่าวัฒนธรรมการดูหนัง สื่อไหนจะมา

ถ้าไม่ยกเรื่องทางกฎหมายมาควบคุม เราจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยตัวเองไหม

ไม่สามารถครับ เพราะว่าอำนาจการตัดสินใจในแง่ธุรกิจ เขา (โรงภาพยนตร์) ก็อาจจะอ้างธุรกิจ เขามีธุรกิจ การลงทุนนู่นนี่ มันก็จะไม่ได้อย่างที่เราต้องการ มันก็จะเป็นอย่างที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ เราก็เห็นอยู่

ผมเห็นเวลามีหนังใหญ่ๆ ฉาย ก็จะมีคนไปถ่ายจอแสดงรอบฉาย แล้วบ่นว่า คุณจะให้เราดูอยู่แค่นี้เหรอ ทำนองนี้ นี่ก็คือสิ่งที่หลายๆ คนก็รู้สึกอึดอัด แต่ก็เห็นมีคนมาเล่าให้ฟังว่า คนก็ก่นด่าว่าพวกเราก็ทำโน่นนั่นนี่ คือผมไม่ได้ไปปิดกั้นหนังเหล่านั้นเลย

คือเราก็ยังเชื่อว่า การดูหนัง การเสพหนัง มันจะดูได้อิ่มเอมที่สุดก็คือ การดูในโรงหนัง ฉะนั้น เราต้องหาทางที่จะทำให้โรงหนังอยู่รอด คนทำหนังอยู่รอด วัฒนธรรมการดูหนังมีความแข็งแรง การที่เราเห็นตัวเลขที่ stable อยู่ ไม่มีการเติบโต เป็นเรื่องที่น่าห่วงนะ ขณะที่จำนวนโรงหนังเพิ่มขึ้น ค่าตั๋วหนังเพิ่มขึ้น แต่รายได้มันกลับไม่ต่างกันในแต่ละปี มันเป็นเรื่องที่เขาต้องคิด

กฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าก็เช่นกัน?

อีกอย่างหนึ่งที่เป็นข้อเรียกร้อง ก็คือเรื่องของการแข่งขันทางการค้า ทุกวันนี้เรามีทางเลือกในแบบที่เขาเลือกให้ ก็เพราะว่าการแข่งขันทางการค้าไม่มี ผมชอบเปรียบเทียบว่า เมื่อก่อนมีค่ายมือถืออยู่ค่ายสองค่าย มันก็มีทางเลือกให้กับเราอยู่ไม่กี่ทาง การจะเปลี่ยนค่ายเป็นเรื่องยากเย็น เราก็ต้องยอมทนกับการให้บริการที่ไม่ถูกใจ ไม่ตอบสนองตัวเรา แต่พอมีค่ายมือถือเพิ่มขึ้น มันก็มีโปรโมชั่นให้เราเลือก หรือสุดท้ายเมื่อคุณไม่มีอะไรที่ตอบสนองเราได้ เราก็ย้ายไปหาค่ายที่ดีกว่า

ก็เหมือนกัน เมื่อก่อนนี้โรงหนังมีสามค่าย เราก็มีทางเลือกมากหน่อยในการจะดูหนัง แต่ละค่ายก็มีรูปแบบในการปฏิสัมพันธ์กับคนดูของตัวเองแตกต่างกันไป แต่เดี๋ยวนี้พอเหลืออยู่สองค่าย เราก็เห็นอยู่ว่า เราต้องเผชิญกับค่าตั๋วที่เพิ่มขึ้น เผชิญกับการใช้ชีวิตในโรงหนังที่เรารู้สึกว่ามันเกิดการใช้จ่ายโดยไม่รู้ตัว จะรู้ตัวอีกทีเงินก็หายไปจากกระเป๋าจำนวนไม่น้อยแล้ว ในแง่ผู้บริโภคเราควรตระหนักรู้ในสิ่งเหล่านี้ว่ากำลังถูกล้วงกระเป๋าอย่างไร เพราะการแข่งขันทางการค้า การค้าที่ไม่เป็นธรรมมันทำให้เรามีทางเลือกน้อยลง

ในส่วนของคนทำหนังอิสระ หนังเล็ก ถ้าไม่พึ่งพื้นที่โรงหนัง จะสามารถมีช่องทางเผยแพร่ช่องทางอื่นได้ไหม

ผมเองคงไปตอบแทนพวกเขาไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าคนทำหนังทุกคนอยากให้หนังตัวเองไปพบกับคนดูในโรงหนังมากกว่า ช่องทางอื่นเป็นช่องทางที่มาทดแทน ถ้าเราเลือกดูได้ เราเลือกดูหนังในโรง แต่ว่าเราไม่มีเวลา เราไม่มีโอกาส เราไม่สามารถเข้าถึง content นั้นได้ เราก็ต้องหาทางเข้าถึง ก็อาจจะต้องไปดูผ่านช่องทางอื่นๆ จะเป็นดีวีดี หรือดูออนไลน์ อะไรก็แล้วแต่ ที่มันเปิดโอกาสให้เราได้เข้าถึง แต่ถามว่าเป็นสิ่งแรกสิ่งหลักไหมที่จะทำให้เราได้อิ่มเอมกับหนังที่เราจะดู ก็ไม่ใช่ สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่ตัวช่วย ตัวทดแทน หนังมันควรต้องดูที่โรงเพราะว่าเจตนาของคนทำ เขาอยากให้หนังของเขามันทำปฏิกิริยากับคนดูหนังในโรง

คิดเห็นอย่างไรกับคำพูดที่ว่า หนังไทยทำตัวเองให้ตายหรือเปล่า ด้อยคุณภาพเกินไปหรือเปล่า

เราก็มักจะมองว่า เพราะคนทำหนังทำกันอย่างนี้เอง ถ้าคนไม่ดู ก็สมควรตายแล้ว แต่ถามว่า โดยระบบมันเอื้อให้เขาได้เติบโตไหม ระบบมันไม่ได้เอื้อให้เขาเติบโตนะ ถ้าระบบมันเอื้อให้เขาเติบโต คนทำหนังอิสระไม่ควรที่จะต้องวิ่งไปขอเงินจากกระทรวงต่างๆ ที่เจียดเม็ดเงินมาให้จำนวนน้อยนิด แล้วเขาต้องทนทำหนังไป เพื่อที่จะได้เล่าเรื่องที่เขาอยากจะเล่า เขาควรทำหนังแล้วมันมีผลตอบแทน เพื่อให้เขาได้ทำหนังต่อไปจากทุนเริ่มต้นที่เขามี แต่ทุกวันนี้ทำเสร็จปุ๊บ มันไม่มีคนดู เพราะวัฒนธรรมการดูหนังมันตกต่ำมากขนาดนี้

ฉะนั้น จะมาบอกว่า หนังมันห่วย หนังมันไม่ดี ได้ดูหรือยัง ไม่ได้ดูเพราะอะไร เพราะว่าวัฒนธรรมการดูหนังมันไม่แข็งแรงพอที่โรงจะมีความเชื่อว่า เมื่อเอาหนังไปหย่อนตรงนี้แล้วจะมีคนมาดู เพราะคนดูหนังโดยส่วนใหญ่ก็รู้จักแต่หนังประเภทเดียว มีความบันเทิงได้กับหนังแบบเดียว อันนี้คือสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างมาก

ต้องใช้เวลากี่ปีจึงจะเกิดการเปลี่ยนผ่าน เช่น คนทำหนังทำหนังได้น่าสนใจขึ้น คนดูมีวัฒนธรรมการดูหนังที่หลากหลายมากขึ้น

ระบบมัลติเพล็กซ์มันมาพร้อมกับการสร้างรูปแบบวิถีชีวิตในการดูหนังแบบใหม่ขึ้นมา การเซิร์ฟคนดูด้วยแนวความคิดที่ว่า มาเมื่อไหร่ต้องได้ดูเป็นสิ่งที่ส่งผลมาถึงวันนี้ ซึ่งมันต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2540 นี่ปี 2560 มันเกิดมา 20 ปี การจะฟื้นกลับไปสู่จุดเดิมที่เราเคยเป็น หมายถึงวัฒนธรรมการดูหนังที่มันแข็งแรงในสมัยหนึ่งที่เราดูหนังได้อย่างหลากหลาย ถ้ากระบวนการทำลายให้มาสู่จุดนี้ใช้เวลา 20 ปี เราก็มองว่า เรายังมีเวลาอีก 20 ปีที่จะไปสู่จุดนั้นได้ ไม่ช้าเกินไปเพราะว่าเราใช้เวลากับการที่ค่อยๆ กัดกร่อน 20 ปี การจะค่อยๆ กลับไปอีก 20 ปี ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินการคาดเดา แต่ถ้ามันไปถึงได้ใน 10 ปี ก็ถือว่าเป็นโชคดี เพราะมันอาจจะเกิดการร่วมไม้ร่วมมือของคนในอุตสาหกรรมที่มองเห็นปัญหาเหล่านี้

มีหนทางร่วมมือกันสร้างวัฒนธรรมการดูหนังอย่างไรได้บ้าง

สิ่งที่เราทำได้ก็คือต้องชี้ให้เห็น จริงๆ แล้วเราไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไร สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับหนังไทย ซึ่งถ้าบอกว่า มาสนับสนุนหนังไทยเดี๋ยวหนังเทศตาย ก็ขอบอกว่า ถ้าอย่างนั้นพวกผมตายก่อนครับ หนังเทศเหล่านั้นไม่ตายหรอก แต่ผมตายก่อนเลย เพราะที่ทำอยู่ทุกวันนี้มันล้วนแล้วแต่เกี่ยวกับหนังเทศทั้งสิ้น มันไม่ตายหรอกถ้าวัฒนธรรมการดูหนังมันแข็งแรง จะหนังเทศหนังไทย

เราอยากจะเป็นผู้นำ AEC เห็นประกาศกันจังเลยว่าอยากเป็นผู้นำ AEC เป็นผู้นำอะไรที่คุณไม่รู้จักหนังในกลุ่มที่คุณบอกว่าจะนำเขา คุณไม่ดูหนังเขมร หนังพม่า คุณไม่ดูหนังลาว มาเลเซีย คุณไม่ดูหนังสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ทำไมถึงบอกว่าไม่ดู ก็เพราะว่าหนังเหล่านี้ถ้ามาฉายเมืองไทยก็เจ๊งหมด ไม่มีตัวเลข

คุณไม่รู้จักเขา แล้วคุณจะไปนำเขาได้อย่างไร ถ้าอยากจะไปสู่จุดนั้น คุณต้องสร้างให้คนสามารถที่จะ entertain กับหนังเหล่านั้น ที่คนประเทศในแถบเดียวกันเขามีความสุขในการดูมัน คุณจะติดต่อสื่อสารกับเขา แต่คุณไม่รู้จักเขาเลย มันจะเป็นไปได้อย่างไร แล้วหนังนี่เป็นหนทางที่สั้นที่สุดที่เราจะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมๆ กัน หนังก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะมาช่วย

และข้อแถลงทั้งหมดเมื่อวานนี้ เราพูด ทุกคนอาจจะมองเห็นว่า เครื่องมือที่เราจะหยิบมาใช้ แต่เครื่องมือเหล่านั้นเป็นเครื่องมือที่เราจะนำมาใช้เพื่อสร้างให้เกิดวัฒนธรรมการดูหนังที่แข็งแรงขึ้นในประเทศนี้

 

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า