การเดินทางของเมล็ดข้าว ตอนที่ 2

 

IMG_0493

01 เกษตรอินทรีย์คืออะไร

โลกยุคปัจจุบัน นับว่าชีวิตคนมีความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องปากเรื่องท้อง ที่ว่ากันว่า ในจานทุกวันนี้ มีแต่สิ่ง ‘ดูคล้าย’ และเกือบจะเป็นอาหาร เท่านั้น

นู่นก็อันตราย นี่ก็มีสารปนเปื้อน นั่นก็มียาฆ่าแมลง – หนทางการหาของกินไม่ง่าย ขนาดปอกกล้วย ก่อนเข้าปากยังต้องหยุดคิดว่าปลอดภัยหรือเปล่า…คงไม่ดีแน่

ถึงจุดนี้ หากจะมองหาความปลอดภัย อาหารอินทรีย์คือทางเลือกใหม่ในการบริโภค แน่นอนว่าที่มาของอาหารอินทรีย์ ก็ต้องมาจากกระบวนการผลิตในระบบเกษตรกรรมแนวทางใหม่ที่เป็นอินทรีย์เช่นกัน

เกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) เป็นแนวคิดที่ถูกผลักดันขึ้นมาสวนกระแสเกษตรแบบอุตสาหกรรม แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ยังเป็นของใหม่สำหรับสังคมไทย เพราะบางคนมองคำว่า ‘อินทรีย์’ เป็นคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจเหมาเอาเองว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าธรรมดา หรือไม่ก็แค่เป็นอาหารปลอดสารเคมี ทั้งที่แท้จริงแล้วเกษตรอินทรีย์นั้น เป็นเรื่องของการรับรองมาตรฐานกระบวนการผลิตทั้งระบบ

พูดง่ายๆ การทำเกษตรอินทรีย์ คือ กระบวนการผลิตที่อาศัยปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด ในระดับไร่นา ไม่มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ อย่างปุ๋ยและยาฆ่าแมลง มีการบำรุงดิน และกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ ส่วนพืชเองก็ต้องไม่ผ่านการดัดแปรพันธุ์ (GMOs)

พ้นไปจากนาไร่ของเกษตรกรเมื่อข้าวเปลือกเดินทางถึงโรงสี ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องรับสีข้าวอินทรีย์เพียงอย่างเดียว จึงมีการคัดแยก มีระบบบันทึก ควบคุมดูแลการเก็บข้าวอินทรีย์ ไปจนถึงผู้ค้าก็ต้องมีกระบวนการที่ได้มาตรฐาน แยกการบรรจุออกจากข้าวทั่วไป ก่อนจะได้รับการรับรองว่าเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อส่งออกต่อไป

“ถ้าจะบอกผู้บริโภค มองในแง่ผลิตภัณฑ์ก็คือ ตั้งแต่เพาะปลูกจนถึงการบรรจุ ไม่มีการใช้สารเคมี เป็นการทำความเข้าใจแบบง่ายๆ”

เป็นความหมายที่ค่อนข้างกว้าง และการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังอยู่ในวงจำกัด สุรชัย จงพิพัฒน์ชัย ผู้จัดการฝ่ายส่งออก บริษัทนครหลวงค้าข้าว ขณะนั้น หนึ่งในผู้บุกเบิกโครงการข้าวอินทรีย์มาตั้งแต่เริ่มต้น อธิบายถึงนิยามเบื้องต้นของเกษตรอินทรีย์ สำหรับทำความเข้าใจกับทั้งผู้บริโภค และชาวนา

“เกษตรอินทรีย์ มีความหมายอยู่สองแง่ คือ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ คนไทยจะไม่ค่อยสนใจสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ จะสนใจแต่สุขภาพ เพราะฉะนั้นความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าอินทรีย์จะเบี่ยงเบนไปเป็นเรื่องกินแล้วดีต่อสุขภาพเท่านั้น อย่างข้าวกล้อง เขาจะรู้สึกว่าแค่กินข้าวกล้องก็จบกัน ไม่ต้องกินข้าวอินทรีย์ก็ได้ หรือข้าวสามสี ข้าวหอมนิล คนก็จะสนใจกันเพราะเป็นข้าวสุขภาพอย่างเดียว ไม่ได้สนใจว่าเป็นอินทรีย์”

 

เกษตรอินทรีย์มาตรฐานยุโรป

นครหลวงค้าข้าวมีคู่ค้าสำคัญ คือ บริษัท ริเซอร์เรีย มอนเฟอร์ราโต จำกัด จากอิตาลี ทำหน้าที่นำผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ไทยจาก ‘ทุ่งลอ’ พื้นที่ปลูกข้าวที่ได้รับการคัดเลือก รอยต่อระหว่างเชียงราย – พะเยา ออกสู่ตลาดโลก มาตรฐานสินค้าอินทรีย์ของสหภาพยุโรป หรืออียู จึงเป็นสิ่งสำคัญ

จริงๆ ก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เพราะเขาจะปรับให้เข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตของชาวนาไทย แต่จะมีข้อกำหนดอย่างที่ว่า คิดง่ายๆ เลยว่าไม่ต้องเอาอะไรข้างนอกเข้ามา แต่ทีนี้สิ่งที่อยู่ภายในก็ต้องดูว่าอะไรใช้ได้บ้าง อะไรใช้ไม่ได้ บางครั้งชาวนาอาจจะเข้าใจผิด คิดว่ายาฆ่าหญ้าที่ขายในหมู่บ้านเอามาใช้ได้ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่”

หนึ่งในหลายความเข้าใจผิดของชาวนาที่สุรชัยพบคือ ความหมายของนิยาม ‘ภายใน’ และ ‘ภายนอก’ เพราะบางครั้ง ยาปราบศัตรูพืช และปุ๋ยที่ขายอยู่ภายในหมู่บ้านก็ถูกมองว่าไม่ได้เป็นสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

นอกเหนือไปจากรายละเอียดที่ต้องถูกควบคุมมาตรฐานในทุกขั้นตอนการผลิต และราคาท้องตลาดที่สูงกว่าปกติ ความเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์เป็นหนึ่งเงื่อนปมสำคัญที่ทำให้ตลาดสินค้าปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพเหล่านี้ขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย เพราะประเทศไทยในขณะนั้น ยังไม่มีการทำระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์

“เวลาเราไปขายสินค้าในต่างประเทศ มันก็จะเป็นจุดขายเชิดหน้าชูตาของประเทศ ว่าเราทำเรื่องนี้มา 20 ปีแล้ว ตอนที่เราเริ่มต้นแรกๆ แทบจะไม่มีใครรู้จักข้าวอินทรีย์ ประสบปัญหามากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไม่รู้เลยว่า จะต้องมีเอกสารอะไรบ้างสำหรับการยืนยันสินค้าเกษตรอินทรีย์”

 

ต่อสู้กับวิธีการทำนาแบบเก่า

เป็นธรรมดาที่แนวคิดแบบใหม่ต้องถูกต้านด้วยวิถีเก่าๆ ถ้าเป็นด้านอื่นๆ เทคโนโลยีอาจเป็นผู้บุกรุก แต่ในบริบทแห่งท้องนา ยาและสารเคมีกลับยึดครองเป็นเจ้าพื้นที่ ในขณะที่อินทรีย์เป็นฝ่ายเข้ามาเยือน

การใช้เคมีภัณฑ์ในการเกษตรอาจไม่ใช่ปรัชญาท้องทุ่งที่ชาวนาคิดค้นขึ้นมา แต่เป็นแนวคิดของกลุ่มธุรกิจกสิกรรมขนาดใหญ่ ที่เติบโตมาพร้อมยุคอุตสาหกรรมการเกษตรเฟื่องฟู เมื่อการผลิตจำต้องถูกกระตุ้นให้ออกดอกผลรวดเร็ว ศัตรูพืชก็ต้องกำจัด ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง จึงทยอยสู่ตลาด บางครั้งก็เหมือนกึ่งๆ ยัดเยียด แม้เกษตรกรรุ่นปู่ รุ่นพ่อจะยืนกรานปฏิเสธ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยปัจจัยหลายอย่าง พวกเขาพบว่า โอกาสและหนทางไม่มีเหลือให้เลือกมากนัก

แนวคิดเกษตรอินทรีย์และเกษตรธรรมชาติ ซึ่งเคยเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชาวนาไร่สวนตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษกลับถูกกีดกันออกมา การจะกลับเข้าไปในพื้นที่เก่าแก่เป็นเรื่องยาก เหมือนการพุ่งเข้าใส่ป้อมปราการด้วยมือเปล่า ทั้งในมุมของชาวนา และผู้สนับสนุนเกษตรอินทรีย์

สุรชัย และผู้ร่วมบุกเบิกทั้งหมด มองเห็นปัญหานี้มาตั้งแต่แรก เพราะเมื่อใครเข้ามายึดพื้นที่เกษตรได้แล้ว ก็ยากที่จะปล่อยให้ผืนดินเป็นอิสระ

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เกษตรกรที่จะมาทำ ต้องทำด้วยใจ บางครั้งเขาคุ้นเคยกับวิธีธรรมดา อย่างเราจะบอกให้เกษตรกรภาคกลางมาทำเกษตรอินทรีย์ แต่เขาไม่ได้ปลูกข้าวด้วยแรงงานของตัวเองแล้ว เหมือนเป็นผู้จัดการนามากกว่า เขาโทรสั่ง วันนี้ไถนา พรวนดิน มีผู้รับเหมามาจัดการ วันนี้ดำนา โรยปุ๋ย กลุ่มนี้จะไม่มีทางเปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์ได้เลย เขาทำเพื่อรายได้ เพื่อผลกำไร ไม่ได้ทำเพื่อความยั่งยืน”

เมื่อเป็นการต่อสู้ของความเชื่อ ฝ่ายเคมีภัณฑ์เองก็มีผู้สนับสนุนเช่นกัน เมื่อนักส่งเสริมการเกษตร และคนในวงการข้าวอีกหลายคนมีความเชื่อว่า

“ปุ๋ยและยาคือสิ่งจำเป็น หากไม่ใช้สิ่งเหล่านี้ ผลผลิตทางการเกษตรจะไม่มีวันงอกงามได้อย่างที่คาด”

เมื่อแนวคิดนี้ถูกปลูกฝังลงลึก จนสารเคมีแทบจะกลายเป็นปัจจัยหลักที่ขาดไม่ได้ในการทำเกษตร แพคเกจปุ๋ยและยาเริ่มออกสู่ตลาด นานๆ เข้า ก็กลายเป็น ปุ๋ย ยา บวกเมล็ดพันธุ์

แทบไม่ทันตั้งตัว สุดท้ายวิถีชาวนาแบบเดิมๆ ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นแรงงานภาคเกษตร มีหน้าที่เพียงปักดำ เกี่ยว ร้ายที่สุดก็คือ ถูกผลักไสออกจากที่ทำกินของตัวเอง ต้องเข้าสู่ระบบเช่านา เป็นหนี้สินจนหมดตัวในที่สุด

แต่ไม่ใช่ว่าปุ๋ยและยา จากระบบนาเคมีจะเป็นกับดักที่มีฤทธิ์ร้ายเหมือนยาเสพติด ใช้แล้วเลิกไม่ได้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ชาวนาก็เริ่มรู้ตัวว่า สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบั่นทอนสุขภาพของเขา ขณะที่ราคาผลผลิตในตลาดแทบไม่ขยับ ปัจจัยภายนอกเหล่านี้กลับทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรหลายกลุ่มตัดสินใจลาขาด ต่างพากันทิ้งกระสอบปุ๋ย ขวดยา หันมาพึ่งพาหนทางแห่งเกษตรอินทรีย์ เช่นเดียวกับที่คนรุ่นก่อนๆ เคยทำ

“กลุ่มที่จะเปลี่ยนได้ คือ กลุ่มที่มีความคิดอยากจะพิทักษ์ผืนนานี้ไว้ให้ลูกหลานต่อไป กลุ่มนี้จะคุยได้ แล้วเขาก็อยากทำด้วย แต่เสียดายว่ายังมีจำนวนน้อย เรามีปัญหาเรื่องแรงงาน นอกจากตั้งใจทำแล้วก็ต้องมีนาเป็นของตัวเอง เพราะตอนนี้ชาวนาส่วนใหญ่เช่านาทำ”

ไม่ใช่แค่ในตลาดซื้อขายเท่านั้น ในชีวิตประจำวันของเรา เมื่อชีวิตเร่งรีบ การบริโภคก็ถูกลากจูงให้เพิ่มความสะดวกรวดเร็วเข้าไปด้วย แม้ยังไม่อ้างเรื่องฟาสต์ฟูด ก็ยากจะมีคนพูดถึงอาหารอินทรีย์

นโยบายส่งเสริมการบริโภคอาหารอินทรีย์ เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้คนหันมาคำนึงถึงความปลอดภัยเรื่องปากท้องมากขึ้น และอาจทำให้ตลาดอาหารปลอดภัยขยายตัวออกไปในวงกว้าง แต่ประเทศไทยยังไม่มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง มีเพียงโรงพยาบาล และโรงเรียนบางแห่งเท่านั้นที่ต้อนรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ แตกต่างจากบางประเทศ อย่างฝรั่งเศส ซึ่งออกเป็นข้อกำหนดสำหรับโรงเรียนอนุบาลและประถมว่า ต้องมีมื้ออาหารอินทรีย์ให้เด็กๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์

 

เกษตรอินทรีย์ของชาวนา

ความเป็นจริงตั้งแต่อดีต การทำเกษตรแบบเก่าแก่ยังอยู่คู่ชาวนา ทำเพื่อกิน เคารพผืนดิน สายน้ำ และแผ่นฟ้า เมื่อคนเป็นหนี้อาหารจากธรรมชาติ วัตถุอันตรายจึงเป็นอวิชชาเสมอมา เกษตรกรจึงแทบไม่ได้แตะต้องสารเคมีเลย ฉะนั้น การจะปรับเปลี่ยนทุ่งลอให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์จึงไม่ยากเกินความสามารถ

แต่ปัจจัยภายนอกรุมเร้ามากขึ้น ไม่เพียงแต่ยาและปุ๋ย นายทุนบางกลุ่มก็พยายามเข้ามากว้านซื้อที่นา ด้วยเป้าหมายการพลิกให้พื้นที่รอยต่อ ระหว่างอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย กับอำเภอจุน จังหวัดพะเยา กลายเป็นทุ่งธุรกิจอุตสาหกรรมค้าข้าวขนาดใหญ่

ภูมิคุ้มกันเดียวที่จะยึดเหนี่ยวกลุ่มชาวนาไว้ไม่ให้หวั่นไหวไปกับสิ่งยั่วยุเหล่านี้คือ อุดมการณ์เกษตรอินทรีย์

“ชาวนาที่ทำเกษตรอินทรีย์ ระบบเกษตรอินทรีย์จะสอนการใช้ชีวิต ไม่ใช่ทำนาอินทรีย์ใช้ปุ๋ยหมัก ไม่ใช้เคมีก็จบ นั่นคือฟาร์มของต่างประเทศ แต่ถ้าบ้านเราทุกอย่างจะเกื้อกูลกัน เราจะได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง เป็นการพึ่งพาตนเอง”

กาจ ปัญญาหล้า ประธานกลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านศรีจอมแจ้ง เรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์จากทุกขณะการใช้ชีวิต และการศึกษาเพิ่มเติม ด้วยความคิดแบบนักอนุรักษ์ ทำให้เขามองว่า เกษตรอินทรีย์จะเป็นทางรอดของอนาคต

“ถ้ามองกันเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาระบบนิเวศในนา ในป่าก็เหมือนกัน เราไม่ได้ไปทำลายสิ่งแวดล้อม”

เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว จากผืนนาเกษตรอินทรีย์ส่งผลไปสู่เรื่องใหญ่อย่างสิ่งแวดล้อมโลก บางครั้งดูเกินตัว และเกินกำลังกว่าชาวบ้านตาดำๆ จะสามารถเปลี่ยนระบบที่มีขนาดใหญ่มหาศาลได้

“งบประมาณในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมน่าจะเข้ามาเกื้อกูลตรงนี้ ที่ผ่านมาชาวบ้านทำกันเองก็ยาก มีไม่กี่กลุ่มในเมืองไทย ถ้าภาครัฐเข้ามาประกันราคา คือบวกเพิ่มให้ชาวบ้านที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นขวัญกำลังใจ ใครๆ ก็อยากทำเกษตรอินทรีย์

นั่นเป็นเพียง ‘สารกระตุ้น’ ชนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าชาวนาจะคอยความหวังจากฝ่ายบริหาร หรือรัฐเพียงอย่างเดียว เพราะหากไม่มีใครยื่นมือเข้ามา ลำพังชาวบ้านเองก็ต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตไปในทางนี้อยู่แล้ว

“ผมก็ต้องปรับหัวนา ปลูกหน่อไม้ ทำแปลงผัก ไว้กินตลอดปี นี่ก็คือส่วนหนึ่งของเกษตรอินทรีย์ ดังนั้น ผมว่าอนาคตมันไม่ได้ปิดตาย ถ้าหากคนได้รับการพัฒนาขึ้นมา แล้วภาครัฐเข้าไปส่งเสริม ผมว่าส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อม มันคุ้ม แม้แต่เมื่อก่อนใครมีที่ดินโฉนดปลูกป่า เขาก็จะมีงบสนับสนุนค่าปุ๋ย ค่ายา เพราะเป็นคนดูแลสิ่งแวดล้อม ในท้องนาเราก็ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน คือ รักษาระบบนิเวศในนาข้าว ซึ่งมันต้องทำอยู่ตลอด”

เมื่อคนปลูกข้าวสามารถหยิบฉวยอาหารสดสะอาดได้จากรอบบ้านโดยไม่ต้องเกรงสารเคมี สตางค์ที่จะต้องหมดไปกับการซื้อหากับข้าวกับปลาเข้าบ้านก็ลดลง เก็บเงินได้มากขึ้น สุขภาพก็ดีขึ้น ไม่มีอะไรเสียเลยสักอย่างเดียว

เกษตรอินทรีย์จึงเป็นทางรอดของเกษตรกรทุกคน ไม่ใช่แค่ชาวนาผู้ปลูกข้าวอินทรีย์แห่งทุ่งลอเท่านั้น

 

 

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า