the power of the UGLY FRUIT! ไม่สวยแต่รวยมาก

food-vegetables-cucumbers

ใช่ว่ามนุษย์ในศตวรรษที่ 21 จะถูกสังคมกดดันให้ ‘สวย’ อยู่เพียงผู้ด้วย สิ่งมีชีวิตตระกูล ‘ผักและผลไม้’ ก็เช่นเดียวกัน!

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ในการเมืองเรื่องอาหารที่ผ่านมา ก็มีขบวนการที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อการปลดปล่อยความรุนแรงที่เกิดจากการเลือกบริโภคอาหารเนื่องจาก ‘ความงาม’ อยู่พอสมควร

เป็นต้นว่า โครงการ ‘No Name Naturally Imperfect’ ในปี 2015, การเคลื่อนไหวของกลุ่มสหภาพยุโรปรณรงค์ต่อต้านอาหารเหลือทิ้ง ในปี 2014, การทยอยออกกฎหมายห้ามทิ้งอาหารในรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา และการห้ามไม่ให้ซูเปอร์มาร์เก็ตทิ้งอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายของประเทศฝรั่งเศสในปี 2016 – ต่างๆ เหล่านี้ ก็ยืนยันได้ว่า มีคนออกมาเคลื่อนไหวบ้างแล้วจริงๆ

แต่ทั้งหมดทั้งมวล นโยบายต่างๆ ที่ขับเคลื่อนออกมา ต่างเป็นไปเพื่อค้ำจุนอุดมการณ์ ที่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจและศีลธรรมเรื่องสิ่งแวดล้อมส่วนตัว หาได้เกิดขึ้นเนื่องจาก ‘คุณประโยชน์ที่แตกต่าง’ ในตัวมันเองไม่

หากนับแต่นี้ต่อไป – เฉพาะโลกของผลไม้ – ผู้คนอาจหันกลับมาพิจารณาผลไม้ที่ไม่สวยเหล่านี้อีกครั้ง เนื่องจากงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาเรื่องนี้ต่างให้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันว่า

ผลไม้ที่มีรอยบาก รอยช้ำ ปุ่มนูนต่ำบนผิวผลไม้ เท่ากับการที่ผลไม้เหล่านั้นบรรจุไว้ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ที่มากกว่า รสชาติหวานกว่า และบรรจุสารประกอบในผลไม้อื่นๆ ที่ช่วยปกป้องมนุษย์จากมะเร็งและโรคที่เกี่ยวกับหัวใจได้มากกว่า!

เธอไม่รู้หรอก ว่าฉันต้องผ่านการต่อสู้มามากแค่ไหน

งานวิจัยหลายเรื่องที่ศึกษาเรื่องแอปเปิลที่มีรูปร่างไม่งามตา* งานวิจัยเรื่องการติดเชื้อราของ ‘ใบไม้’ จากต้นแอปเปิล*, ต้นองุ่น* และพืชสมุนไพรแถบประเทศจีนและญี่ปุ่นที่ชื่อ Japanese knotweed* ให้ผลลัพธ์ที่คล้ายกันว่า

ยิ่งแอปเปิลผลนั้นไม่งามตามากเท่าไร เต็มไปด้วยตะปุ่มตะป่ำและชอกช้ำมากเท่าไร เจ้าแอปเปิลเหล่านั้นก็ยิ่งมีสุขภาพดีและเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อว่า ฟีนิลโปรพานอยด์ (phenylpropanoids) มากขึ้นเท่านั้น

กลับไปดูงานวิจัยเรื่องการติดเชื้อราของใบจากต้นองุ่น และใบของพืช Japanese knotweed ก็ให้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันว่า การที่ใบไม้ติดเชื้อรา ต่างก็ยิ่งเร่งเร้าให้เกิดการผลิตสารที่ชื่อว่า เรสเวราทรอล (resveratrol) สารต้านอนุมูลอิสระที่พบมากในองุ่น มากขึ้น ซึ่งเจ้าเรสเวราทรอลนั้นมีการศึกษาและรายงานกันมากว่า เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และโรคหัวใจได้

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

จากการศึกษาพบว่า ก็ในเมื่อผลไม้ต่างต้องต่อสู้เพื่อให้ตัวเองรอดชีวิตจากโรคของพืช จากสารเคมี จากอะไรก็ตามที่ส่งผลต่อความเป็นหรืออยู่ของเจ้าผลไม้เหล่านั้น มันก็ยิ่งต้องสร้างกลไกป้องกันตัวเองจากความตายให้มากขึ้น ด้วยการผลิตสารต้านอนุมูลอิสระในตัวเองที่ประกอบไปด้วย ฟลาโวนอยด์ (flavonoid), ฟีนอลิก (phenolic), แอนโทไซยานิน (anthocyanin) และแคโรทีนอยด์ (carotenoid) ให้มากขึ้นไปเท่านั้น

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ

หนึ่ง – หน้าตาและผิวพรรณของพวกเธอดูกล้าหาญและเข้มแข็งขึ้น เด็ดเดี่ยวมากขึ้น และไกลจากมาตรฐานความน่ากินที่มนุษย์ตั้งไว้มากขึ้น

สอง – ร่างกายของพวกเธอแข็งแรงเพราะเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ และมนุษย์อย่างเราๆ ก็จะหยิบกินคุณประโยชน์จากความแข็งแรงของพวกเธอได้มากขึ้น เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านชีววิทยาด้านสิ่งแวดล้อม เบรน วาร์ด มหาวิทยาลัยเคลมสัน (Clemson University) สหรัฐอเมริกา ชี้ว่า งานวิจัยชิ้นนี้ใช่ว่าจะบอกให้ผู้คนหันหลังให้กับอุตสาหกรรมการเพาะปลูกกระแสหลักของโลก หรือเลิกบริโภคผลไม้ที่ผิวพรรณและรูปร่างสวยงามไปเสียทั้งหมด เพราะผลผลิตที่ได้ของพืชผักมาจากหลากหลายปัจจัย

“ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือตัวพันธุ์พืชใดๆ แม้เป็นชนิดเดียวกันก็มีความหลากหลายในตัวมันเอง ที่ขึ้นอยู่กับยีน กับดิน น้ำ อากาศ และการดูแลของชาวสวนเอง

“แต่ใช่ ตามหลักฐานงานวิจัยหลายๆ ที่ ความเครียดที่เกิดจากการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดของต้นไม้ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้พืชพันธุ์เหล่านั้นผลิตสารต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อตัวพืชและคน” – เบรน วาร์ด

เพื่อไม่ให้การต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนไปด้วยศีลธรรมส่วนตัว งานวิจัยเหล่านี้อาจเปลี่ยนให้ ‘เทรนด์’ เรื่องการดูแลสุขภาพ ให้เพิ่มเรื่องการบริโภคบรรดาผลไม้ที่ไม่สวยเหล่านี้เข้าไปในเมนูอาหารด้วยก็เป็นได้


อ้างอิงข้อมูลจาก:
huffingtonpost.com
งานวิจัยผลแอปเปิลที่มีรูปร่างไม่งามตา โดยมหาวิทยาลัยลูบลิยานา ประเทศสโลวีเนีย ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเวียนนา ประเทศออสเตรีย
งานวิจัยการติดเชื้อราของใบไม้ต้นแอปเปิล โดย 

 

logo

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า