Tinder สำหรับอุรังอุตัง

สวนสัตว์ดัตช์มีความพยายามเพิ่มโอกาสการผสมพันธุ์ของอุรังอุตัง โดยเพศเมียสามารถเลือกเพศผู้ที่ตัวเองสนใจผ่านแท็บเล็ตได้ ก่อนที่จะให้จับคู่ผสมพันธุ์กัน

“บางทีการเจอกันครั้งแรกก็ไม่ได้เป็นไปได้ด้วยดีเสมอไป หลายครั้งเราต้องส่งสัตว์กลับไปสวนสัตว์เดิม โดยที่ยังไม่ได้จับคู่ผสมพันธุ์” โธมัส ไบโอนา นักชีววิทยาเชิงพฤติกรรมในสวนสัตว์อาเปนฮูล (Apenheul Primate Park) กล่าวกับนักข่าวท้องถิ่น NOS ในเนเธอร์แลนด์

Tinder เป็นแอพพลิเคชั่นหาคู่สุดฮิตในสมาร์ทโฟนที่มาแรงในขณะนี้ เมื่อเราโหลดแอพฯ และลงทะเบียนเรียบร้อย ก็จะปรากฏรูปเพศตรงข้ามที่เราสนใจ พร้อมกับประวัติคร่าวๆ ของอีกฝ่าย หากถูกใจ อยากทำความรู้จักต่อ ก็เลื่อนหัวใจไปทางขวา ถ้าไม่สนใจเลื่อนไปทางซ้าย และหากอีกฝ่ายสนใจเราเช่นกัน ก็แชทต่อได้เลย แต่ถ้าอีกฝ่ายไม่ เราก็จะไม่สามารถแชทกับเขาได้ กลายเป็นต้องกินแห้วแบบเงียบๆ

โดยการวิจัย Tinder สำหรับอุรังอุตัง (Tinder for Orangutans) ของมหาวิทยาลัยไลเดน (Leiden University) ในสี่ปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายที่จะเรียนรู้อารมณ์ในความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ด้วยกัน ผ่านอุรังอุตังเพศเมียอายุ 11 ปี ชื่อว่า ‘แซมโบจา’ ที่อาศัยอยู่ในสวนสัตว์อาเปนฮูล เมืองอาเปนฮูล ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเธอมีสิทธิ์ที่จะเลือกอุรังอุตังเพศผู้รูปหล่อจากทั่วโลกผ่านโครงการดังกล่าว

“อารมณ์เป็นวิวัฒนาการที่สำคัญ ถ้าหากคุณไม่เข้าใจอารมณ์ของสัตว์ป่าอย่างถูกต้อง มันก็จะกลายเป็นจุดจบของคุณได้” ไบโอนากล่าวย้ำ

“หลังจากดูรูปแล้ว อุรังอุตังก็จะกดปุ่มตรงหน้าจอ” เจ้าหน้าที่ในสวนสัตว์อธิบาย “ซึ่งวิธีนี้เราจะสามารถวัดความพึงพอใจของอุรังอุตังได้”

ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใช้แท็บเล็ต ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีโครงการชื่อ Apps for Apes ในสวนสัตว์ที่สหรัฐและแคนาดา โดยให้อุรังอุตังดูวิดีโออุรังอุตังด้วยกัน แล้ววาดรูปผ่านไอแพด แน่นอนว่าไอแพดไม่ได้แข็งแรงทนทานสำหรับการใช้งานของอุรังอุตัง จึงหักเสียก่อน

ก่อนหน้าการทดลองกับอุรังอุตังในโครงการวิจัย Tinder สำหรับอุรังอุตัง มีการทดลองความแข็งแรงของแท็บเล็ตกับลิงโบโนโบ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด และลิงโบโนโบก็ได้แสดงความสนอกสนใจอย่างมากเมื่อได้เห็นรูปกิจกรรมเพศสัมพันธ์ของคู่รักลิงโบโนโบด้วยกัน

แต่ปัญหาใหญ่ของการวิจัยในครั้งนี้กลับกลายเป็นการผลิตหน้าจอทัชสกรีนที่ต้องทำให้แซมโบจาสนใจ และมีความทนทานกว่าแท็บเล็ตทั่วไป ดังนั้น กรอบแท็บเล็ตสำหรับแซมโบจาจึงต้องผลิตจากเหล็ก อย่างไรก็ตาม แซมโบจาก็สามารถหักมันได้อยู่ดี ดังนั้น ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์และนักชีววิทยาทั้งหลายจะให้แซมโบจาผสมพันธุ์นั้น คงต้องไปผลิตแท็บเล็ตที่แข็งแรงกว่านี้เสียก่อน

ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาที่ค่อนข้างท้าทายน่าดู

 


อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com
theverge.com
phys.org

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า