สายไฟต้องหายไปจากโตเกียวก่อนโอลิมปิก 2020

 

ในพิธีปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่ริโอเดจาเนโร 2016 ญี่ปุ่นเปิดตัวรับไม้ต่ออย่างอลังการ พร้อมการปรากฏตัวของนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ในฐานะตัวแทนชาติเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งต่อไปในปี 2020

บราซิลได้รับเสียงวิจารณ์มากมาย และแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน จึงเป็นบททดสอบที่ญี่ปุ่นต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติเสียแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะการทำให้เมืองที่แออัดและวุ่นวายอย่างกรุงโตเกียวเป็นระเบียบมากที่สุด – โดยเริ่มจากการเอาสายไฟที่ระเกะระกะลงดิน

ยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าการเมืองโตเกียว หนึ่งในผู้เขียน No Power Pole Revolution พร้อมทุ่มงบกว่า 680 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำเสาไฟและสายไฟออกไปจากโตเกียว โดยมี Tokyo Electric Power Co. Holdings Inc. หรือ TEPCO ที่เคยรับมือหายนะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะเมื่อปี 2011 เป็นผู้ทำหน้าที่ย้ายเสาไฟนับแสนต้นในโตเกียวออก แทนที่ด้วยระบบเคเบิลใต้ดิน เพื่อให้โตเกียวเผยความงามแสงสีของบ้านเมืองได้อย่างไม่มีสิ่งใดบดบัง

โครงการเคลียร์เสาไฟออกจากโตเกียวถูกจุดเป็นประเด็นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 รวมถึงแผ่นดินไหวที่โกเบในปี 1995 ที่เสาไฟจำนวนมากล้มลงขวางถนน ทำให้หน่วยฉุกเฉินเดินทางไปได้อย่างลำบาก แต่มีปัญหาด้านงบประมาณ ขณะที่มีหลายมุมมองยังชี้ให้เห็นข้อดีของระบบเสาไฟ เช่น ทนทาน ง่ายต่อการซ่อมแซมหากเกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม หิมะตก หรือถนนพัง

แต่ตอนนี้ “ทั้งรัฐบาลและสาธารณชนต่างพูดว่า ญี่ปุ่นมีเสาไฟฟ้าและเสาไฟมากเกินไป เมื่อทียบกับประเทศอื่นๆ พร้อมๆ กับตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับญี่ปุ่นกันแน่” มาโกโตะ อิมาเบปปุ (Makoto Imabeppu) ผู้จัดการฝ่ายวางระบบของ TEPCO กล่าว “เราคิดว่า สถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้เอื้อให้เราบอกว่า เราไม่ทำเพราะเหตุผลด้านราคา”

แม้ญี่ปุ่นจะเคร่งครัดระเบียบในหลายด้าน แต่หากแหงนหน้าจะพบว่า มีสารพัดสายสัญญาณพาดผ่านเสาประมาณ 35 ล้านต้นจนวุ่นวาย ทั้งบนทางเท้า ข้างถนน เสาไม้ เหล็ก และปูน ทั้งที่การพัฒนาสาธารณูปโภคนำหน้าหลายๆ ชาติ แต่เพราะระบบสายสัญญาณบนเสาไฟ ทำให้ญี่ปุ่นล้าหลังกว่าปารีส ลอนดอน และฮ่องกง ที่นำสายไฟฟ้าลงดินหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ระบบไฟฟ้าทั่วประเทศของญี่ปุ่นเฉพาะเขตเมืองและถนนใหญ่มีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ใช้เคเบิลใต้ดิน แม้แต่เมืองหลวง 23 เขต (ward) ของโตเกียวก็ยังใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าใต้ดินแค่ 7 เปอร์เซ็นต์

ผู้ว่าฯโคอิเกะเคยรับมือกับแผ่นดินไหว 6.9 แมกนิจูด ที่โกเบเมื่อปี 1995 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 คน และนับจากปี 2017 ญี่ปุ่นมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวระดับ 7 แมกนิจูด ภายใน 30 ปี หากเกิดหตุการณ์เช่นนั้น เสาไฟจะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสร้างหายนะให้กับโตเกียว

เสาไฟเป็นศูนย์

“ฉันต้องการลดจำนวนเสาไฟในโตเกียวให้เป็นศูนย์” โคอิเกะกล่าวในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อธันวาคม 2016

โตเกียววางแผนจะย้ายสายไฟ 916 กิโลเมตรแรกลงใต้ดินก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2019 ตามด้วยสายไฟทั่วเมืองอีก 1,442 กิโลเมตรก่อนปี 2020 โดยค่าใช้จ่ายในการนำเสาไฟลงดิน 1 กิโลเมตร อยู่ที่ประมาณ 530 ล้านเยน หรือ 4.76 ล้านดอลลาร์ และจากการประเมินของกระทรวงที่ดิน งบประมาณรวมน่าจะสูงถึง 76,400 ล้านเยน ซึ่งรัฐบาลกลางและเทศบาลท้องถิ่นจะแบกรับค่าใช้จ่าย 2 ใน 3 ส่วนที่เหลือจะเป็นความรับผิดชอบของบริษัทผู้ให้บริการ เช่น TEPCO และ Nippon Telegraph & Telephone Corp.

TEPCO จะทำหน้าที่วางระบบใต้ดิน 100 กิโลเมตรต่อปี ก่อน 2019 ราคา 16.5 ล้านต่อปี อิมาเบปปุจาก TEPCO บอกว่า เป้าหมายระยะยาวของการกำจัดเสาไฟยังไม่มีเดดไลน์

“การนำสายไฟลงใต้ดินมีราคาแพงกว่าเดินสายไฟบนเสา 10 เท่า” อิมาเบปปุบอก “ซึ่งนั่นคือหนึ่งในปัญหาหลักของเรา”


อ้างอิงข้อมูลจาก: bloomberg.com
japantoday.com
linkedin.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า