พังทลาย ร่วงหล่น แตกสลาย: ในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงจึงเจ็บปวด

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น การเสียชีวิตของสองสาวที่ได้ชื่อว่าเป็น K-POP star ที่ใครๆ – โดยเฉพาะผู้ติดตามวงการนี้มาตั้งแต่ต้นปี 2000 ย่อมรู้จักพวกเธอเป็นอย่างดี การเลือกจบชีวิตด้วยตัวเองของ ซอลลี่ อดีตสมาชิกวง f(x) และ คู ฮารา อดีตสมาชิกวง KARA จึงก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวรุนแรงเกินกว่าจะเป็นคลื่นใต้น้ำ โดยเฉพาะประเด็น cyber bullying แต่สำคัญไม่แพ้กัน ประเด็นที่ยังเป็นกระจกใสครอบโครงสร้างสังคมเกาหลีใต้เอาไว้จนแทบมองไม่เห็น และนี่คือประเด็นที่บทความนี้จะกล่าวถึงต่อไป

‘วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่’ ที่กดทับทุกสิ่งจนทำให้บางคน (ไม่ว่าจะเพศไหน แต่มากที่สุดคงเป็นเพศหญิง) ต้องพังทลาย ร่วงหล่น และแตกสลาย

สังคมชายเป็นใหญ่… ใหญ่ขนาดไหน?

นับตั้งแต่ช่วงอาณาจักรโชซอนโบราณ ขณะที่จีนยังยึดครองคาบสมุทรเกาหลี ลัทธิขงจื้อได้เข้ามามีบทบาทต่อสังคมอย่างมาก ตั้งแต่ระดับชนชั้นปกครอง ค่านิยม แนวทางในการใช้ชีวิต ลำดับชั้นอาวุโส ความคิดและความเชื่อ ทั้งหมดนี้ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวเป็นความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่ กล่าวคือ ผู้หญิงสวยและฉลาดในยุคนั้นคือความฉลาดในงานบ้านงานเรือน สวยในลักษณะนั่งพับเพียบ สนับสนุนสามีและคลอดบุตรชายเพื่อมาสืบตระกูลต่อไป ขณะบทบาทของผู้ชายที่ดีคือการเป็นผู้นำครอบครัว ผู้ทำหน้าที่หารายได้จากนอกบ้าน เป็นหน้าเป็นตาให้สังคม

เขยิบมาใกล้กว่านั้น หลังจากที่โลกาภิวัตน์เดินทางมาถึงเกาหลีใต้ ส่งผลให้ตลาดแรงงานที่มีแต่ผู้ชายไม่เพียงพออีกต่อไป ผู้หญิงถูกผลักให้เข้าสู่ตลาดงาน เริ่มต้นจากการทำงานโรงงานไร้ฝีมือทั่วไป จากนั้น เมื่อเกิดกระแสและแนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก รัฐบาลก็เริ่มส่งเสริมให้ผู้หญิงได้รับสิทธิเท่าเทียมผู้ชาย ด้วยการเสริมสร้างความศิวิไลซ์ในเชิงความคิดเรื่องความเท่าเทียมแบบตะวันตก ประกอบกับความพยายามและแรงขับเคลื่อนของสังคม จากที่เคยเป็นประเทศที่ยากจนในเอเชีย ส่งผลให้ปัจจุบันเกาหลีใต้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ขณะที่หญิงสาวเกาหลีใต้ก็เริ่มได้เรียนหนังสือในระดับสูงมากขึ้น การศึกษาจึงกลายเป็นอีกหนึ่งขั้นบันไดของเพศหญิงในการก้าวให้หลุดพ้นจากกรอบชนชั้นเดิมที่มีอยู่

ผลลัพธ์จากการยกระดับการศึกษา และการรับความคิดตะวันตก ที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม ตัวเลขสถิติมากมายชี้ชัดว่า เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งยังได้เข้าร่วมองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) การรวมตัวของกลุ่มประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และมีระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ถึงอย่างนั้น World Economic Forum ระบุว่าตัวเลขเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศในเกาหลีใต้ยังคงสูงอยู่ โดยอยู่ในลำดับที่ 115 จากทั้งหมด 149 ประเทศ สอดคล้องกับรายงานจากกลุ่ม OECD เองที่ชี้ว่าผู้หญิงเกาหลีใต้มีอัตราการจ้างงานต่ำเป็นอันดับที่ 30 จากทั้งหมด 36 ประเทศ แม้ในเรื่องการศึกษาค่าเฉลี่ยของผู้หญิงเกาหลีใต้ในช่วงอายุ 25-34 ปี จะสูงที่สุดก็ตาม

จากตัวเลขข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า แม้กาลเวลาจะล่วงผ่านมานานจนแทบมองไม่เห็นต้นตอของความเชื่อเรื่องช้างเท้าหลัง เช่น ผู้หญิงต้องมุ่งมั่นและรักษาหน้าที่งานบ้านไว้ให้ดีที่สุด การเป็นแม่และเลี้ยงลูกคือบทบาทหลัก กิจการภายในครอบครัวต่างหากคือเรื่องของผู้หญิง แต่ความเชื่อทั้งหมดนี้ยังคงล่องลอยปกคลุมอยู่ ช่องว่างและความไม่เท่าเทียมทางเพศยังถูกถ่างให้ห่างยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะในโลกของการทำงานยุคใหม่ (ทั้งที่มูฟเมนต์ของผู้ใหญ่ในเกาหลีใต้ต้องการปลดแอกและยกระดับความเป็นอิสระของผู้หญิง) ก็ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาใหม่ เช่น การเลือกปฏิบัติ ความคาดหวังให้เป็นผู้หญิงต้องสวย ซ้ำหน้าที่ปรนนิบัติสามีและครอบครัวสามีก็ยังต้องมีให้เห็น

กับเรื่องดังกล่าว แม้แต่ ประธานาธิบดีมุนแจอิน ถึงกับพูดออกมาว่า คือ “ความจริงแสนน่าละอาย” ของชาวเกาหลีใต้

 

สังคมชายเป็นใหญ่… ใหญ่จนเบียดให้พวกเธอร่วงหล่น

#MeToo เริ่มเห็นกันจนคุ้นตา และรู้ว่ามันหมายถึงอะไร  เมื่อไหร่ก็ตามที่เห็น # นี้ นั่นหมายถึงใครสักคนกำลังพูดถึงการต่อสู้ของผู้หญิงในสภาพสังคมชายเป็นใหญ่ จริงอยู่ที่จุดเริ่มต้นของ #MeToo จะมาจากตะวันตก จากกรณี ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ (Harvey Weinstein) โปรดิวเซอร์ใหญ่ที่คุกคามทางเพศหญิงสาวหลายรายในวงการฮอลลีวูด

แต่สำหรับเกาหลีใต้แล้ว #MeToo ยังคงร้อนระอุมาถึงนาทีนี้ เมื่อพวกเธอเหล่านั้น ไม่มากก็น้อย ต่างเฉียดใกล้จนถึงได้รับประสบการณ์เลวร้ายจากวัฒนธรรมสังคมชายเป็นใหญ่

คู ฮารา (ซ้ายสุด) และเพื่อนสมาชิกวง KARA เมื่อตอนรับรางวัล Best Dance of the Year จากเพลง Honey ในงาน MAMA (MNet Asian Music Awards) ปี 2009 (Cr: KIYOUNG KIM on flickr)

จากกรณีของ คู ฮารา เมื่อเดือนกันยายน 2018 กลายเป็นคดีที่โด่งดังจนมาถึงวันนี้ เมื่อ คู ฮารา ถูกอดีตแฟนหนุ่มแจ้งความข้อหาทำร้ายร่างกาย ขณะที่เธอเองก็มีสภาพบอบช้ำและถูกทำร้ายร่างกายอย่างเห็นได้ชัดไม่ต่างกัน และเพราะฝ่ายชายข่มขู่ว่าจะแบล็คเมล์เธอด้วยการจะปล่อย sex tape ส่งผลให้เธอออกมาฟ้องร้องในข้อหาข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย และก่ออาชญากรรมทางเพศ

อย่างไรก็ดี หากดูจากสถิติแล้วคดีทำร้ายร่างกายแฟนหรือสามี-ภรรยาในเกาหลีใต้มีตัวเลขที่ค่อนข้างรุนแรง จากการศึกษาของ Korean Institute of Criminology เมื่อปี 2017 เผยว่า จากผู้ชาย 2,000 คน มีถึง 79.7 เปอร์เซ็นต์ เคยทำร้ายร่างกายแฟนตัวเองไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ นอกจากนั้นในอีก 71 เปอร์เซ็นต์ยังยอมรับว่าเคยสั่งห้ามและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ของแฟนอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่พวกเธอทำร่วมกับเพื่อนหรือครอบครัวก็ตาม มากกว่านั้นอีก 37.9 เปอร์เซ็นต์ ยังยอมรับว่าพวกเขาเคยคุกคามทางเพศ (sexual harassment) แฟนตัวเอง โดยแบ่งเป็นทางร่างกาย 36.6 เปอร์เซ็นต์ และทางจิตใจ 22.4 เปอร์เซ็นต์

ขยับมาดูตัวเลขในปี 2018 ที่บอกว่าสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าเดิม ข้อมูลของ Seoul Metropolitan Government ระบุว่า ผู้หญิง 1,770 คนจากทั้งหมด 2,000 คน หรือคิดเป็น 88.5 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกทำร้ายร่างกายจากสามีและแฟน โดย 22 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าพวกเธอถูกทารุณกรรมทางจิตใจ เช่น การข่มขู่ และอีก 10.7 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกทำร้ายร่างกาย เศร้ากว่านั้น ผู้หญิงเหล่านี้กลับบอกเล่าเป็นเส้นโดยเฉลี่ยว่า การทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นตั้งแต่คบกันในปีแรก

 

สังคมชายเป็นใหญ่… แล้วหญิงเป็นอะไร?

ซอลลี่เป็นอีกหนึ่งคนที่ยืนยันหนักแน่นในการเรียกร้อง ‘สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลในเรือนร่างของผู้หญิง’ การโพสต์รูป ‘โนบรา’ ลงอินสตาแกรมเป็นเรื่องที่เหล่าแฟนคลับที่ติดตามเธอมักเห็นเป็นประจำ แม้จะเกิดข้อโต้แย้ง และกระแสไม่เห็นด้วย โดยอ้างถึงความไม่เหมาะสมในการปฏิบัติตนเยี่ยงผู้หญิงในอุดมคติที่ต้องรักนวลสงวนตัว อย่าให้สาธารณชนเห็นเรือนร่างภายในร่มผ้า แน่นอนว่า ซอลลี่ยังคงท้าทายและเกือบจะเป็นการปั่นประสาทผู้คนที่ออกมาต่อว่าและด่าทอเธออย่างเสียหายอยู่เนืองๆ

หนึ่งในภาพบนอินสตาแกรมที่สนับสนุนสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลในเรือนร่างของผู้หญิง

ซอลลี่ถือเป็นไอดอลหญิงไม่กี่คนที่ยืนยันจะเพิกเฉยต่อกระแสชายเป็นใหญ่ ความคิด การแสดงออกและสิ่งที่เธอทำชวนให้หญิงสาวกลับมาตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงมีสิทธิในร่างกายตัวเองไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ซอลลี่ไม่ใช่ผู้หญิงคนเดียวในวงการบันเทิงที่ออกมาแสดงท่าทีในลักษณะอุดมการณ์เฟมินิสต์แล้วถูกสังคมรุมประณามจนถึงขั้นขู่ฆ่าให้ถึงตาย ไอรีน สมาชิกวง Red Velvet ที่อ่าน คิมจียอง เกิดปี 82 หนังสือที่ว่าด้วยการบอกเล่าความเจ็บช้ำของ คิมจียอง ที่ถูกสังคมชายเป็นใหญ่กดทับตั้งแต่เด็ก เธอก็ถูกสังคมต่อต้าน แฟนคลับบางคนยังออกมาเผารูปหรือตัดรูปเธอ ประกาศลั่นไม่สนับสนุนเธออีกต่อไป หรือในกรณีของ นาอึน สมาชิกวง APink ที่ใช้เคสโทรศัพท์มือถือเขียนว่า ‘Girl can do anything’ ก็ถูกชาวเน็ตและแฟนคลับบางคนออกมาโจมตีอย่างหนักจนเธอต้องลบรูปนั้นทิ้งไป

ไอรีน สมาชิกวง Red Velvet ถูกตัดรูปและเผาภาพจากกรณีอ่านหนังสือ คิมจียอง เกิดปี 82
นาอึน สมาชิกวง APink ถ่ายรูปกับเคสโทรศัพท์เจ้าปัญหา

สังคมชายเป็นใหญ่ สังคมหญิงเป็นใหญ่… แล้วความเท่าเทียมจะอยู่ตรงไหน?

นอกเหนือจากกระแสการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมและสิทธิของผู้หญิงที่เป็นไปอย่างดุเดือดตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมาในประเทศเกาหลีใต้ ปลายเดือนตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา ข้างๆ กับการประท้วง #MeToo ของผู้หญิงกว่า 10,000 คน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอะไรสักอย่างต่อคดีความรุนแรงทางเพศ และยกเลิกการใช้กล้องแอบถ่าย หรือ spy camera ก็มีกลุ่มการประท้วงของผู้ชายรุ่นใหม่เลือดร้อนอยู่ด้วย

“พวกเราเป็นกลุ่มที่เรียกร้องความยุติธรรมของจริง เราต่อต้านความเกลียดชัง และเราเชื่อในความเท่าเทียมทางเพศที่แท้จริง เฟมินิสต์ไม่ใช่เรื่องของความเท่าเทียมทางเพศอีกต่อไป แต่มันคือการเลือกปฏิบัติ เต็มไปด้วยความรุนแรงและความเกลียดชัง” คือสารจาก มูน ซังโฮ หัวหน้ากลุ่ม Dang Dang We กลุ่มที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของผู้ชาย

ปาร์ค หนึ่งในสมาชิก Dang Dang We บอกเล่ากับ CNN ว่าครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นผู้สนับสนุนเฟมินิสต์ แต่ตอนนี้เขาเริ่มไม่มั่นใจแล้วว่าผู้หญิงกำลังใช้การเคลื่อนไหวนี้กดให้ผู้ชายอยู่ต่ำกว่าพวกเธอ

“เวลาผู้หญิงใส่เสื้อที่เปิดเผยเนื้อตัว แน่นอนมันคือเรื่องของความรุนแรงทางเพศและอาจถูกมองว่าเป็นวัตถุทางเพศได้ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเธอเหล่านั้นก็เพลิดเพลินไปกับการดูรูปผู้ชายในทำนองเดียวกัน พวกเฟมินิสต์เองก็สองมาตรฐาน”

น่าสนใจกว่านั้น ดูเหมือนความร้อนแรงของกระแส #MeToo ยิ่งโหมให้ความขัดแย้งยิ่งลุกลาม เมื่อความคิดของกลุ่มดังกล่าวไม่ใช่แค่เสียงของคนไม่กี่สิบคน จากการศึกษาของ มา คยองฮี นักวิจัยด้านนโยบายเพศ (gender policy researcher) ที่ทำการสำรวจผู้ชายทั้งหมด 1,000 คน พบว่าผู้ชายช่วงวัย 20 มากถึง 76 เปอร์เซ็นต์ และผู้ชายวัย 30 อีก 66 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเฟมินิสต์

น่าสนใจกว่านั้น ในผลสำรวจเดียวกันยังได้มีการสอบถามว่าควรให้ผู้หญิงเข้ามาเกณฑ์ทหารด้วยหรือไม่ มากถึง 65 เปอร์เซ็นต์ ต้องการให้ผู้หญิงเกณฑ์ทหารเฉกเช่นเดียวกับผู้ชาย

“มันไม่ยุติธรรมเอาซะเลยที่จะให้เพศใดเพศหนึ่งในช่วงวัย 20 ต้องไปเกณฑ์ทหาร ช่วงเวลานี้ควรเป็นช่วงเวลาที่เราไล่ล่าความฝันมากกว่าสิ”

การศึกษาดังกล่าวยังพบอีกว่าผู้ชายวัย 20 กลับเห็นต่างและมองว่าปัจจุบันผู้หญิงต่างหากกำลังได้อภิสิทธิ์เหนือพวกเขาอยู่ เพราะไม่ว่าจะรัฐบาลหรือเอกชนทุกคนต่างก็หันสปอตไลท์ให้ความสนใจกับเพศหญิงกันมากขึ้น ขณะที่เพศชายบางกลุ่มยังต้องถูกกดให้อยู่ต่ำกว่า โดยเฉพาะเรื่องการเกณฑ์ทหารที่คยองฮีมองว่ารัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขความขัดแย้งที่ยาวนานดังกล่าวให้ได้

ปี 2018 San-E แรปเปอร์ชื่อดังชาวเกาหลี ได้ออกเพลงชื่อว่า ‘Feminist’ โดยมีเนื้อหาต้องการให้ผู้หญิงไปเกณฑ์ทหารเช่นเดียวกับผู้ชาย

“เราจำเป็นต้องหยุดบังคับความเป็นลูกผู้ชายให้กับผู้ชาย สังคมจำเป็นต้องช่วยเสาะหาความเป็นชายใหม่ที่เหมาะสม แทนที่จะต่อต้านผู้หญิง” คยองฮีทิ้งท้ายถึงความหวังต่อสังคม

เพราะไม่แน่ การตั้งคำถามและสร้างข้อถกเถียงเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในสังคมเกาหลีใต้ทุกวันนี้ อาจกลายเป็นค้อนชั้นดีในการทุบกระจกแห่งความเหลื่อมล้ำที่ครอบสังคมจนไม่มีใครมองเห็นให้พังทลายลงได้ในอนาคตก็เป็นไปได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
edition.cnn.com/2019/09/21/asia
edition.cnn.com/2019/01/31/asia
koreatimes.co.kr
telegraph.co.uk
straitstimes.com
prachatai.com

 

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า