ไส่ก่อน ไม่เดินเดี่ยว

Saigon-2

เรื่อง+ภาพ: ณัฐกานต์ อมาตยกุล

 

เหงี่ยวล้ำ คือ เยอะมาก

ไส่ก่อน (Saigon) เราอาจรักเธอเพราะเธอเป็นคนแปลกหน้า เพราะความแปลกทำให้เราหัวเราะกับข้อเสีย (?) ของเธอ และคิดว่ามันน่ารักชะมัด

กลิ่นควันในบรรยากาศที่ทำให้ต้องใส่หน้ากาก เสียงแตรหลายโทนที่ดังระงมในทุกค่ำคืน และกลับมาทักทายตั้งแต่หัวเช้า ในขณะที่ยังไม่ทันได้นอนเต็มตื่น

แต่นั่นล่ะ…เรายิ้ม เพราะมันเตือนว่าเรายังอยู่กับเธอในเช้าวันใหม่

ไส่ก่อน เธอทำให้เราเสี่ยงชีวิตและรักมันมากขึ้นในทุกครั้งที่ก้าวออกจากที่พัก ขึ้นซ้อนมอเตอร์ไซค์ หรือเดินข้ามถนน กองทัพมอเตอร์ไซค์ที่ขี่ตัดกันแบบไม่แคร์เส้นจราจร มันทำให้เราชื่นชมในทักษะการขับขี่ชั้นเลิศของคนที่นี่ แม้มันจะผิดกฎหมายจราจรสากลไปมากก็เถอะ แต่หนึ่งอาทิตย์ที่อยู่ที่นี่ ก็ยังไม่เห็นรถชนกันจะจะสักที เป็นธรรมดาของคนแปลกหน้า

ก่อนนั้นเราฟังข่าวลือเกี่ยวกับเธอ และเชื่อบางส่วน (บางครั้งความเชื่อเป็นสิ่งที่ต้องพกพาไว้เพื่อป้องกันตัว) ที่เขาว่าผู้คนชอบลักขโมย และคนขายของหรือคนขับซิกโล ชอบเซ้าซี้ ความจริงมันก็คงเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงที่ว่าไม่ได้สร้างความรำคาญให้เรามากอย่างที่เรากลัว แค่บอกปฏิเสธคนขายอย่างเด็ดขาด และจัดกระเป๋าเงินของตัวเองอย่างรัดกุม ทุกที่มันก็มีคนที่พร้อมจะฉกฉวยนั่นแหละ

ไส่ก่อน คนเขาอาจเบือนหน้าหนีกับภาพความเยอะยั้วะเยี้ยะของเธอ แต่เรากลับพบว่าในความเยอะมีอะไรให้เราขุดคุ้ยไปเจอแล้วหายเหนื่อย

 

Saigon-1

แซไหม: ประชากรสองล้อ

“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องฝึกสติ (mindfulness)”

จิหั่งหันมาพูด ก่อนไฟจราจรจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว ในแดดแปดนาฬิกา ช่วงเวลาเร่งด่วนที่ผู้คนออกไปทำงาน เรามองเห็นบรรดาหมวกกันน็อคสะท้อนแดดเรืองรองเรียงรายไปตามถนน เป็นภาพที่งดงามประหนึ่งคลื่นทะเลที่มีลูกมะพร้าวลอยฟ่อง เสียงท่อดังปุดๆ รอจังหวะออกตัวนี้มาสิบวินาทีได้แล้ว จิหั่งบิดเร่งเครื่องมอเตอร์ไซค์ออกตัวไปตามคลื่นกองทัพเหล่านั้น เสียงแตรดังตามมา เพราะรถบางคันต้องการเลี้ยวตัดหน้าพรรคพวกออกไป ในความชุลมุน ไฟเลี้ยวให้สัญญาณไม่ชัดเจนและทันใจเท่าการส่งเสียง จะเบรกจนล้อกระตุก หรือเร่งเครื่องแซงหน้า ก็เกิดจากการตัดสินใจในเสี้ยววินาที

เราพบจิหั่งครั้งแรกเมื่อสองปีที่แล้ว ในการฝึกปฏิบัติธรรมที่มีคนเวียดนามและคนไทยเข้าร่วม เราได้มาขอบ้านเธออาศัยอยู่ในนครโฮจิมินห์ แล้วพบว่ามีป้ายข้อความเตือนสติอยู่ในทุกมุมกิจกรรม ไม่ว่าจะอาบน้ำ ล้างจาน ดื่มชา ฯลฯ และยังมีห้องนั่งสมาธิที่คล้ายๆ กับห้องพระของคนไทย เธอมุ่งมั่นกับการปฏิบัติมาก ปฏิบัติ เพื่อการใช้ชีวิตจริง ในเมืองใหญ่

อันบ๋าว หนุ่มไส่ก่อน เพื่อนอีกคนที่เราพบจากการเข้าค่าย อาสาพาเราเที่ยวชมเมืองหนึ่งวันเต็ม เมื่อพบกันที่หน้าแฟลตของจิหั่ง เขายื่นหมวกกันน็อคให้เราแล้วตามด้วยผ้าปิดปากแบบใช้ครั้งเดียว เรารับมาพร้อมทำหน้างงๆ

เขาหัวเราะ “เพื่อรักษาสุขภาพนะ”

ใต้เบาะที่นั่งมีกล่องใส่ผ้าปิดปากนี้เป็นแพ็คใหญ่ มันคือไอเท็มสำคัญในการใช้ชีวิตในเมืองนี้

Saigon-3

แต่สำหรับชาวไส่ก่อนคนอื่นๆ ที่ต้องเจอควันท่อไอเสียทุกวันเช้าเย็น บางคนเลือกแบบผ้ามีลวดลาย สองข้างทางก็มีร้านขายผ้าปิดปากแบบนี้แขวนโชว์ให้เห็นเป็นระยะๆ กลายเป็นแฟชั่นไม่ต่างจากเคสไอโฟน

เตียน พนักงานธนาคาร ปักส้นสูงลงบนพื้นฟุตบาทเพื่อนำมอเตอร์ไซค์เข้าเทียบหน้าร้านขายเฝอ ที่นี่ห้างร้านต่างๆ จะมีพื้นที่หน้าร้านไว้เป็นพื้นที่จอดรถ พนักงานประจำร้านคอยท่าอยู่แล้ว เธอรับตั๋วระบุหมายเลขมา หย่อนใส่กระเป๋า ส่วนพนักงานเอาแท่งสีคล้ายชอล์คสีขาวขีดหมายเลขที่ว่าไว้บนหน้าปัดรถและเข็นรถเข้าช่องจอดที่ยังว่างอยู่ เมื่อกินดื่มเสร็จเรียบร้อย ก็ยื่นตั๋วเพื่อรับรถ ให้พนักงานช่วยเข็นออกมา

หากเป็นสถานที่อื่นๆ ที่ไม่มีพื้นที่จอดรถเป็นของตัวเอง เราจะเห็นล็อคจอดมอเตอร์ไซค์ ในเวิ้งกลางกลุ่มอาคาร หรือริมฟุตบาทที่เป็นที่จอดรถของเอกชน เขียนป้ายว่า “รับฝากรถ” คิดค่าบริการเริ่มต้นตั้งแต่ 2,000 ด่ง หรือ 3 บาท โดยใช้ระบบตั๋วที่คล้ายกับที่บอกไปข้างต้น แต่อาจไม่มีคนช่วยเข็น ถ้าเอามาใช้กับจักรยานในเมืองไทยด้วยก็น่าจะดี

บนท้องถนนที่มีมอเตอร์ไซค์เป็นประชากรส่วนใหญ่ การซื้อรถไว้ขับอวดรวยเป็นทางเลือกที่ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ ราวกับโดนคุกคามจากบรรดารถเครื่องรอบคันรถที่เคลื่อนไหวได้คล่องตัวกว่า และแม้จะบีบแตรประท้วงก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะมอเตอร์ไซค์คือคลื่นประชาธิปไตยที่โหวตว่าจังหวะไหน ใครจะไป และใครต้องจอดรอ

 

Saigon-6

จั๋มจี๋: ขยันไม่เลือกที่

หากการเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วนเป็นฝันร้ายที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต การได้งานเป็นฟรีแลนซ์ก็คือทางออกที่ประเสริฐ

ที่นี่มี coffee shop เก๋ๆ มากมาย ทั้งที่เป็นแบรนด์ดังเปิดหลายสาขา และที่เป็นร้านเล็กๆ ตกแต่งเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เช่น Kita Coffee ถนน เหงวียน หเวะ Morning café ถนนเลเหล่ย บ้างซ่อนตัวอยู่ตามชั้นสองของตึกแถว บ้างตั้งอยู่ในทำเลดีริมสวนสาธารณะมีต้นไม้สูงใหญ่ เป็นแหล่งรวมตัวของเหล่าคนทำงานอิสระ

หลายร้านยังขายแม้กระทั่งกาแฟท้องถิ่น ที่เป็นเอกลักษณ์ของเวียดนาม อย่าง ก่าเฟเสือด๋า หรือกาแฟนม ที่เสิร์ฟเคียงคู่กับชามะลิหอมๆ ที่เรามักเห็นคนนั่งดื่มบนเก้าอี้เตี้ยๆ ริมถนน

Urban station ร้านยอดฮิตในเขต 3 มีคนที่กำลังคร่ำเคร่งอยู่หน้าแลปท็อปอยู่หลายโต๊ะ พวกเขาสั่งอาหาร และเครื่องดื่มมานั่งกินยาวโดยไม่ต้องออกไปไหน บรรยากาศในร้านที่ปิดหน้าต่างเพื่อกันเสียงโหวกเหวกข้างนอก ก็ส่งเสริมให้มีสมาธิทำงาน

อันบ๋าว เป็นหนึ่งในฟรีแลนซ์เซอร์ด้านการตลาดออนไลน์ ระหว่างที่ผู้คนเข้าออฟฟิศ หากไม่อยู่ที่บ้าน เขาก็มาร้านประจำในเวลาที่สะดวก ไม่ต้องฟันฝ่ากองทัพมอเตอร์ไซค์ที่น่าสยอง แล้วลงมือทำงาน

การที่คนส่วนใหญ่ใช้พาหนะสองล้อ ยังว่าประหยัดพื้นที่และแก้ปัญหาจราจรไปมากแล้ว เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรบนท้องถนน แต่กับบางคน ขอเลือกไม่ต้องเดินทางไปไหนเลยดีกว่า ไม่เลือกที่ทำงาน แล้วยังมีโอกาสได้เลือกบรรยากาศดีๆ รอบตัว

 

Saigon-7

เหงื่อยเหวียด: คนเวียดไม่ใจร้าย

เมื่อเปิดดูในเว็บบอร์ดของคนไทย ยังพบว่ามีข้อครหาว่าคนเวียดนามเห็นแก่ตัว ชอบโกง เพราะผ่านสงครามมา หรือแม้แต่เพื่อนของเรายังเตือนแบบขำๆ ว่าไปเวียดนามให้ระวังระเบิด ถ้านับจนถึงวันนี้ สงครามเวียดนามได้จบไปหลายสิบปีแล้ว และบ้านเมืองเขาก็ก้าวไปตามสมัย ไม่ได้แช่แข็งอยู่ใต้สัญลักษณ์ค้อนเคียว คนรุ่นใหม่เติบโตมาแทนคนรุ่นเก่า และเข้าใกล้ความเป็นสากล อย่างน้อยก็ในระดับภูมิภาค มากขึ้นทุกที

ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ข้อหาว่า “เป็นคนญวน” ถูกใช้เพื่อโจมตีกันทางการเมืองในประเทศไทย ต่อให้มันจะไม่ใช่เรื่องจริง แต่ก็น่าสังเกตว่าการแปะป้ายเพื่อให้เขาเป็นชนชาติอื่น ก็ทำให้เรามีสิทธิปฏิบัติต่อเขาอย่างป่าเถื่อนได้แบบที่ไม่ตั้งคำถามกับความดี-ชั่วของตัวเอง และอคตินั้นคนฝังแน่น จนกระทั่งว่าคนไทยกี่รุ่นๆ ก็ยังคงขยาดเพื่อนบ้าน

เราเองก็อาจจะพกมันมาในดีเอ็นเอ ตอนย่ำสู่ดินแดนประเทศสังคมนิยม

อันถัด พนักงานโรงแรมกะกลางคืน วัย 24 ปี สอนการใช้เงินด่งซึ่งเต็มไปด้วยเลข 0 และสอนการพูดสั่งข้าวแบบเวียดนามสำเนียงใต้ เพื่อทำตัวเนียนเป็นคนท้องถิ่น ในกรณีที่อาจถูกโก่งราคา

อันบ๋าว อดีตนักข่าว พาเราเที่ยวด้วยมอเตอร์ไซค์ ออกเงินซื้อโปสการ์ดและแผนที่เมืองไส่ก่อนให้ อีกทั้งยังนำกล้องที่เราทำตกพื้นจนหมุนไม่ได้ ไปซ่อมที่ร้านในตรอกลึก ด้วยราคาย่อมเยา

Saigon-4

เจ้าหน้าที่ดูแลนักท่องเที่ยว ที่หันมาถามทันที่ว่ามีอะไรให้ช่วยหรือเปล่าโดยยังไม่ทันขอ ชวนคุยเรื่องประเทศไทย เป็นนายแบบให้ถ่ายรูปพร้อมเลือกฉากหลังเองเสร็จสรรพ และชมว่าเรา เย๋เทือง (น่ารัก)

คนขายน้ำมะพร้าว ที่แม้เราจะปฏิเสธไม่ซื้อ ก็ยังตะโกนไล่หลังด้วยรอยยิ้มว่า “Nice to meet you!” แล้วโบกมือข้างที่ไม่ได้หาบไม้คานให้อย่างกระตือรือร้น

หากวันนี้เธอยังคงกลัวคนไส่ก่อน

เธอก็ควรเริ่มกลัวตัวเองได้แล้ว

 

——————————————————–

พูดอย่างเวียดนามให้แนบเนียน

จิ, อัน = คำนำหน้าเพื่อเรียก พี่สาว และ พี่ชาย

เอย = คำต่อท้าย เมื่อเรียกใครสักคน เช่น ตุ่นเอย สมชายเอย

ย่ะ = คำตอบรับ ซึ่งสุภาพเทียบเท่าคำว่า ค่ะ

ฮั้ยยะ = ออกเสียงเมื่อพยายามทำอะไรสักอย่าง แม้แต่ผูกเชือกรองเท้า

เจ่ยเอย = อุทานด้วยความประหลาดใจ หรือหัวเสีย

เดินเดี่ยว = ซ้ำซาก น่าเบื่อ

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า