ทางถีบ

bike 01 copy

เรื่อง/ภาพ : โอปอล์ ประภาวดี

 

1. จักรยานและอุดมการณ์ประชาธิปไตย

ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง ถากถางอย่างไรก็เชิญ เรื่องกระแสจักรยานที่กำลังมาแรงสุดๆในตอนนี้ ฉันว่ามันเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะอย่างน้อยที่สุด กระแสจักรยานทำให้เกิด ‘ทาง’ ทางที่อย่างน้อยที่สุด (อีกที) จะสะท้อนหรือกระตุ้นเตือนให้เราได้ครุ่นคิดถึง ‘วิถีทางประชาธิปไตย’ ขึ้นมาบ้าง

อย่างน้อยๆ โครงการหรือนโยบายอันเกี่ยวกับจักรยานมันเป็นเรื่องที่ทำได้ในระดับท้องถิ่น ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่มากเกินไป ผู้นำ อปท. ต่างๆ สามารถนำเรื่องเหล่านี้ไปปรับใช้กับท้องถิ่นตัวเอง

แหะๆ…อย่างน้อยถึงไม่เป็นสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ก็พอจะเป็นสองล้อเขยื้อนนโยบายได้บ้างกระมัง ไม่ว่าจะนำมันไปเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ (ขอพูดคำแบบใหญ่ๆ โตๆ หน่อยน่า) ทางด้านสุขภาพ การออกกำลังกาย การคมนาคม เศรษฐกิจ ฯลฯ

หรือมากกว่านั้นคือการร่วมมือกันในท้องถิ่นเพื่อเปิดทางให้จักรยาน อันนำมาซึ่งอุดมคติอื่นๆ ในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอุดมคติเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ที่เสมอกัน ตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย (เอิ่ม…ฉันกำลังขนคลังคำใหญ่ๆ โตๆ มาระดมใช้ในคอลัมน์เล็กๆ ที่อาจมุ่งเน้นเรื่องเบาๆ สบายๆ เกี่ยวกับจักรยานและรักปั่นมากเพียงนี้เชียว?)

 

2. บน ‘ทาง’ เส้นเดียวกัน

แน่นอน ตัวอย่างเรื่องการทำนโยบายจักรยานให้เป็นผลในรูปธรรมนั้น จะไม่กล่าวถึงเรื่องราวอันลือลั่นของ เอ็นริเก เปญญาโลซา (Enrique Peñalosa) และ อันตานัส มอคคุส (Antanas Mockus) สองนายกเทศมนตรีเมืองโบโกตา เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย ไม่ได้เป็นอันขาด

ประสบการณ์จากการทำงานของสองนักการเมืองท้องถิ่นนี้ น่าจะได้รับการถ่ายทอดไปยัง อปท. ทั่วประเทศไทย[1] แล้วจะเห็นว่า การกระจายอำนาจการปล่อยให้กลไกการเลือกตั้งในท้องถิ่นเกิดขึ้นได้นั้น สัมพันธ์กันอย่างยิ่งกับการทำให้เกิดการใช้จักรยาน นักการเมืองท้องถิ่นสองคนนี้ทำให้เมืองที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่อันตรายติดอันดับโลก กลายมาเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อการสัญจรด้วยจักรยานและมีการใช้จักรยานติดอันดับสามของโลก ด้วยการทำนโยบายการวางผังจักรยานแบบบูรณาการ ชำแหละการใช้ที่ดิน สร้างทาง กระชากความจอมปลอมในการขี่จักรยานให้เป็นการสัญจรที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะ เอ็นริเก เปญญาโลซา นั้น เขาลงมือทำนโยบายนี้อย่างบ้าระห่ำ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า

ความสุขของมนุษย์คือการมีพื้นที่สาธารณะและการได้รับประโยชน์สุขจากนโยบายสาธารณะอย่างเสมอหน้ากัน

bike 02

3. ‘ทาง’ จักรยาน สำคัญกว่า ‘ตัวจักรยาน’

น่าเสียดายอยู่หน่อย ที่กระแสจักรยานที่มาแรงในสังคมไทยเวลานี้นั้น มักจะพูดถึง ‘ตัวจักรยาน’ ยามนี้เรามักจะสนใจไปที่จะซื้อจักรยานชนิดไหน อย่างไร ยี่ห้อใด ร้านไหน และขนรถไปถีบที่ไหนดี ทั้งที่การถีบจักรยานจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจริงได้นั้น คือการถีบในชีวิตประจำวัน การถีบในที่ใกล้ถิ่นฐานที่อยู่อาศัย ดังนั้นสิ่งที่เราให้ความสำคัญกำลังกลับหัวกลับหาง เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการถีบจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ ‘ตัวจักรยาน’ แต่อยู่ที่ ‘ทาง’

เมื่อมี ‘ทาง’ จึงจะมีการ ‘ถีบ’ ตามมา

และทางที่ว่านั้นควรจะเป็นทาง ที่นำพาให้คนรู้สึกเสมอภาคเท่าเทียม

ทางจักรยานที่จะรองรับทั้งรถจักรยานในชีวิตประจำวัน รถสำหรับคนออกกำลังกาย รถสำหรับประกอบอาชีพ จะถีบรถแบบไหนอย่างไรมา สามารถที่จะมาถีบในทางเหล่านี้ได้ และคนที่จะมีศักยภาพมองเห็นช่องทางได้ดีที่สุดก็คือ คนในพื้นที่ และคนที่เป็นผู้จัดสรรผลประโยชน์ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายก อบจ. นายก อบต. คนเหล่านี้คือเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ ‘ทางถีบ’ เกิดขึ้นได้จริงๆ เพราะรู้ดีอยู่แล้วว่าพื้นที่ตรงไหนในท้องถิ่นตัวเองที่มีต้นทุนเหลือเฟือในการเปิดเป็นทางจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นทางที่คนในท้องถิ่นอยากให้เปิด เป็นทางสัญจรสำหรับรถจักรยานของพวกเขาเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่แออัด เพื่อลดโลกร้อน เพื่อประหยัดเงิน หรือทางปั่นเพื่อออกกำลังกายชมธรรมชาติอันสวยงาม ปลอดภัย และร้านรวงเล็กๆ สองข้างทาง

แน่นอนหากเกิดทางเหล่านี้มากขึ้นจริงๆ จะส่งผลให้เกิดการเขยื้อนนโยบายในระดับประเทศตามมา และเป็นเรื่องที่น่ายินดีปรีดายิ่ง เพราะหลายๆ ท้องถิ่นเกิด ‘ทาง’ เหล่านี้แล้ว ทั้งที่เกิดเองอย่างเป็นธรรมชาติ และเกิดขึ้นเพราะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใส่ใจรายละละเอียดที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตคน

bike 04

 

4. หมุนล้อเลื่อน เพื่อเคลื่อนไหว

มหกรรมถีบจักรยานทั้งแผ่นดินผ่านไปแล้ว บันทึกลงกินเนสบุ๊คไปแล้ว เหมือนฝันที่เราได้เห็นภาพทางหลักต่างๆ ทั่วประเทศอุดมไปด้วยจักรยาน

แม้รุ่งเช้าเราก็เคล้าฝุ่นควันกันด้วยของเสียจากรถยนต์ดังเดิม

อย่าๆ อย่าเพิ่งเพลีย

กรุณาเหลือบมองไปยังมัน อนุสาวรีย์ที่ยังสะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแน่วแน่ของพวกเรา

เจ้าสองล้อรูปทรงปราดเปรียว ยังอยู่ตรงนั้น ในมุมหนึ่งของบ้าน

อย่าปล่อยให้จักรยานน้อยของเราเดียวดาย

ออกมาถีบ เมื่อถีบเราจะเห็นทาง

ไม่ว่าจะเป็นทางถีบ

ทางในการผลักเคลื่อนนโยบาย

ที่จะเป็นได้จริงๆ ใกล้ๆ ตัวด้วยการ ‘เคลื่อนขา พาใจไปถีบ’ ไปปรากฏตัวกันในพื้นที่ ถีบไปบอก อปท.

ลุกขึ้นมาประกาศความเป็นไทอย่าติดกับเงื่อนไขกับดัก

เป็นไทในการร่วมสร้างทาง ทางถีบใกล้บ้าน ทางถีบไปทำงาน

ออกไปเลย

ออกไปผลักและถีบให้กระจายทั้งนโยบายและจักรยาน!!!

 

หมายเหตุ: [1] อ้างอิงข้อมูลจาก ‘กว่าจะเป็นโบโกตา เมืองจักรยาน’ บทความของ ภัควดี วีระภาสพงษ์ เกี่ยวกับการสร้างเมืองจักรยานโดยนักการเมืองท้องถิ่น ในคอลัมน์ โลกใบใหม่ นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 331-333.

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า