UK Election 2017: เมื่อชะตาเมย์แขวนอยู่บนเส้นด้าย

ภาพประกอบ: Shhhh

 

ชวนอ่าน: ‘ทำไมต้องจัดเลือกตั้ง‘ ‘นโยบายต่างๆ ของสองพรรคใหญ่และ ‘ทำไมสก็อตแลนด์ต้องการแยกเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร’ 

 

การเมืองอังกฤษปีนี้ร้อนแรงและเป็นที่น่าจับตามองจากสายตาทั่วทุกมุมโลก แม้ผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาว่า พรรคอนุรักษนิยม นำโดย เธเรซา เมย์ ได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อย่างที่ใจต้องการ และนั่นคือความเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงว่า เธเรซา เมย์ จะทำอย่างไรต่อจากนี้ โดยเฉพาะประเด็น Brexit ที่เธอให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

ความมั่นใจในตอนแรกของเมย์และพรรคอนุรักษนิยมหายสิ้น จากที่เธอประกาศว่า จะจัดเลือกตั้งให้ทันก่อนการเจรจา Brexit ร่วมกับสหภาพยุโรป เนื่องจากการเลือกตั้งจะทำให้เธอสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและผลักดันกระบวนการ Brexit ให้เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วที่สุด แต่ทุกอย่างก็ผิดคาด เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาว่า การเมืองอังกฤษตกอยู่ในสภาวะ ‘สภาชะงักงัน’ (Hung Parliament)

การเลือกตั้งปี 2017 สร้างความแปลกใจให้กับนักวิเคราะห์ สำนักข่าว และสำนักโพลต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเธเรเซา เมย์ จะไม่ได้คะแนนเสียงข้างมากชนะขาดลอยตามที่วิเคราะห์กันไว้แล้ว เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานยังก้าวขึ้นมามีความนิยมสูสีได้เพียงไม่กี่สัปดาห์อีกด้วย

ทั้งหมดทั้งมวลจึงทำให้การเมืองอังกฤษน่าจับตามอง เมื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเมย์กำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น และใครจะเป็นผู้กำหนดทิศทางการเมืองอังกฤษต่อไป

สภาชะงักงัน (Hung Parliament) คืออะไร

เมื่อไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงข้างมากที่สุด ผลสุดท้ายสภาผู้แทนราษฎรจึงตกอยู่ในสภาวะ ‘สภาชะงักงัน’  นำมาสู่พรรคเล็กพรรคน้อยกลายเป็นผู้ชี้ชะตาหรือที่เรียกว่า ‘King Makers’ กล่าวคือ พรรคเหล่านั้นเป็นผู้มีอำนาจต่อรองสูงในการจัดตั้งรัฐบาล ที่บ้านเรารู้จักกันดีคือ ‘รัฐบาลผสม’

จำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหราชอาณาจักรมีทั้งหมด 650 ที่นั่ง จากประชาชนที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงใน 650 เขตเลือกตั้ง แต่พรรคที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียวจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า 326 ที่นั่ง ดังนั้นเมื่อไม่มีพรรคไหนจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เอง วิธีการที่จะตั้งรัฐบาลได้คือ พรรคอนุรักษนิยมและพรรคแรงงานจะต้องไปเจรจากับพรรคเล็กเพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน นั่นหมายถึง ทั้งสองต่างต้องแบ่งผลประโยชน์ทางการเมือง รวมถึงนโยบายต่อจากนี้ร่วมกับพรรคเล็กเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว การเลือกตั้งปี 2010 แม้พรรคอนุรักษนิยม นำโดย เดวิด คาเมรอน จะได้ที่นั่งในรัฐสภามากที่สุด แต่ก็ไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเองได้ ทำให้เกิดการเจรจาขึ้นทันทีหลังวันเลือกตั้ง ซึ่งตอนนั้นพรรคชี้ชะตาคือ พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Democracy Party) ซึ่งเมื่อผลออกมาท้ายที่สุด กลับกลายเป็น กอร์ดอน บราวน์ หัวหน้าพรรคแรงงานขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ถ้าเป็นสภาชะงักงันจริง พรรคอนุรักษนิยมที่มี เธเรเซา เมย์ เป็นหัวหน้าพรรค จะทำอย่างไรต่อจากนี้?

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า พรรคอนุรักษนิยมคงหนีไม่พ้นสภาวะดังกล่าว ดังนั้นแล้ว เมย์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าไปเจรจากับพรรคเล็กพรรคอื่น เพื่อให้ทันกับล้อหมุนเวลาของกระบวนการ Brexit ที่เริ่มต้นไปแล้ว โดยจะมีการเจรจาอย่างเป็นทางการร่วมกันระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐบาลอังกฤษในวันที่ 19 มิถุนายนที่จะถึงนี้ – เหลือเวลาอีกเพียง 10 วัน อังกฤษจะต้องจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพให้ทันก่อนการเจรจาจะเริ่มขึ้น

แม้ว่าพรรคของเธอจะสามารถรวบรวมพรรคเล็กจัดตั้งเป็นรัฐบาลได้ก็ตาม แต่สำหรับเธอแล้ว สภาชะงักงันนำมาสู่สภาวะที่พรรคอนุรักษนิยมไม่มีสิทธิ์ขาดมากพอที่จะดำเนินนโยบายตามที่ต้องการ กล่าวคือ รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ เพราะหากพรรคเล็กพรรคน้อยเหล่านั้นไม่เห็นด้วยกับแนวทางของเธอ โดยเฉพาะประเด็น Brexit นั่นถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่เมย์ต้องเผชิญและรีบตัดสินใจว่าจะก้าวต่อไปอย่างไร

เวลานี้ พรรคอนุรักษนิยมคงไม่อาจหันไปพึ่งพาคะแนนนิยมจากพรรคเสรีนิยมได้ เนื่องจาก ทิม ฟาร์รอน (Tim Farron) หัวหน้าพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรป เมย์จึงหันไปร่วมกับพรรค Democratic Unionist Party และที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาก็คือ Ulster Unionist Party โดยทั้งสองพรรคมาจากไอร์แลนด์เหนือ ที่เห็นด้วยกับนโยบาย Brexit อย่างไรก็ตาม คะแนนจากทั้งสองพรรคเมื่อรวมกันแล้วมีเพียง 10 ที่นั่งเท่านั้น ซึ่งก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่ดี

เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจริงหรือ?

มีความเป็นไปได้ว่า คอร์บินอาจก้าวเป็นนายกรัฐมนตรีแทนเมย์ เนื่องจากสภาชะงักงันจะทำให้คอร์บินดึงกลุ่มพรรคฝ่ายซ้าย เช่น พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย พรรคกรีน (Green Party) พรรคชาตินิยมสก็อตแลนด์ (Scottish National Party) มาจับมือกันจัดตั้งพรรครัฐบาลร่วมได้มากที่สุด แม้ว่าแนวคิดของพรรคแรงงานในประเด็น Brexit จะไม่ถึงขั้นต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยเหมือนพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่พรรคแรงงานก็อาจเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องก็มีความเป็นไปได้

ทำไมพรรคแรงงานถึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

กลยุทธ์สำคัญของพรรคแรงงาน และถือเป็นนโยบายดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ได้มากที่สุดก็คือ นโยบายยกเลิกการเก็บค่าเล่าเรียนระดับอุดมศึกษา อัดฉีดเม็ดเงินมากกว่า 6,300 ล้านปอนด์เข้าสู่ระบบการศึกษา ไม่ขึ้นภาษีผู้มีรายได้ต่ำกว่า 80,000 ปอนด์/ปี รวมถึงส่งเสริมสิทธิแรงงานให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคอร์บินประกาศว่า เขาจะทำตามนโยบายดังกล่าวทันทีที่พรรคแรงงานสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แม้นโยบายที่กล่าวมาจะถูกสื่อโจมตีว่าเป็นนโยบายล้าสมัย แต่ก็ใช่ว่าพรรคอื่นไม่เคยเสนอนโยบายนี้มาก่อน เพราะเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และไม่ควรลืมว่า นี่คือความต้องการพื้นฐานสำหรับใครหลายคน

นอกจากนั้นแล้ว เจเรมี คอร์บิน เองก็มีฐานแฟนคลับ (stans) ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เพียงนโยบายยกเลิกค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ได้ใจกลุ่มคนดังกล่าวอย่างเดียว แต่ความเบื่อหน่ายของกลุ่มคนรุ่นใหม่กับการเมืองแบบเก่า ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่มีความสำคัญไม่แพ้ Brexit ได้ เช่น สวัสดิการสังคม ส่งผลให้คอร์บินกลายเป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ทุกคนต่างคาดหวังว่า อย่างน้อยการเมืองอังกฤษต่อไปนี้อาจฉีกไปจากรูปแบบและกรอบเดิมๆ ก็ได้

เธเรซา เมย์ เดินเกมผิดอย่างไร

แม้ในช่วงแรกการรณรงค์หาเสียงของพรรคอนุรักษนิยม ผลโพลจะชี้ให้เห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า คะแนนความนิยมของเธออยู่ในอันดับสูงสุด แต่หลังจากนั้นไม่นาน ความนิยมของพรรคแรงงานก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนระยะห่างของทั้งสองพรรคแคบลง

แต่จุดที่ทำให้ เธเรซา เมย์ ต้องเสียศูนย์ คือ นโยบายสวัสดิการสังคมและระบบบริการสุขภาพ ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะภาษีผู้ป่วยความจำเสื่อม (dementia tax) อีกทั้งเธอยังชูเรื่อง Brexit มากเกินไป จนลืมใส่ใจไปว่า พรรคแรงงานชูนโยบายหาเสียงเกี่ยวข้องกับชีวิตคนทั่วไปได้ดีกว่า

หลายสำนักข่าว ต่างมองว่าเมย์เดินเกมผิด สุดท้ายเธอเองกลับต้องพ่ายแพ้ให้กับเดิมพันครั้งใหญ่ บ้างก็ว่า เมย์เดินสายรณรงค์หาเสียงในลักษณะที่ไม่เข้าถึงและเข้าใจประชาชนเหมือนกับที่คอร์บินทำ ผู้นำพรรคแรงงานจึงได้ใจคนรุ่นใหม่อย่างท่วมท้น เพราะต้องไม่ลืมว่า จำนวนชาวอังกฤษที่โหวตไม่เห็นด้วยกับ Brexit เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ถึง 48 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนั้นแล้ว เธเรซา เมย์ ยังปฎิเสธที่จะเข้าร่วมการดีเบตนโยบายทางโทรทัศน์ระหว่างการหาเสียง แม้จะให้เหตุผลว่า อยากพบปะกับผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนมากกว่าก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หลังผลการเลือกตั้งที่ออกมา สส. อาวุโสในพรรคอนุรักษนิยมออกมายืนยันว่า เธเรซา เมย์ ยังไม่มีเจตนาจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้จะมีแรงกดดันจากหลายฝ่ายในสภาก็ตาม

พรรคอื่นว่าอย่างไร?

พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย: ประกาศชัดเจนว่า จะไม่ยินยอมร่วมเจรจาทั้งกับพรรคอนุรักษนิยมหรือพรรคแรงงานเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม แม้พรรคเสรีนิยมจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคแรงงานจะดูเสถียรภาพมากกว่าก็ตาม

พรรคชาตินิยมสก็อตแลนด์: เปิดกว้างที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมมากกว่าพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย โดย นิโคลา สเตอร์เจียน (Nicola Sturgeon) หัวหน้าพรรคกล่าวกับสำนักข่าว BBC ว่า “หากเกิดสภาชะงักงันขึ้นจริง ทางพรรคเราคงมองถึงความเป็นไปได้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มที่มีความเป็นหัวก้าวหน้า เพื่อผลักดันนโยบายที่ก้าวหน้าต่อไป”

พรรคกรีน: หัวหน้าร่วมพรรค แคโรไลน์ ลูคัส (Caroline Lucas) กล่าวชัดเจนว่า จะจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคแรงงาน


อ้างอิงข้อมูลจาก: edition.cnn.com
edition.cnn.com
cnbc.com
jacobinmag.com
theguardian.com

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า