สหรัฐ-กัมพูชา หนี้นี้ใครจ่าย

ช่วงสงครามเวียดนาม เครื่องบิน B-52 ทิ้งระเบิดใส่กัมพูชา ครั้งนั้นสหรัฐให้เงินช่วยเหลือรัฐบาลพนมเปญเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงคราม แต่เรื่องเงินทองไม่เข้าใครออกใคร เมื่อสหรัฐบอกว่า นั่นคือ ‘การกู้ยืม’ และพวกเขาต้องการเงินจำนวนนั้นคืน

ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐพูดเรื่องเงินยืมก้อนนี้ เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่กัมพูชายืนกราน ‘ไม่จ่าย’ ด้วยเหตุผลว่า สหรัฐต่างหาก ที่สมควรเป็นฝ่ายต้องชดใช้ให้กับหายนะทั้งมวลที่เกิดขึ้นกับกัมพูชา

เมื่อสหรัฐบอกว่า ‘ให้กู้ก็คือให้กู้’ นายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นจึงส่งสัญญาณร้องขอไปยังรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ยกหนี้ก้อนนั้น อ้างอิงจาก The Cambodia Daily ฮุนเซ็นให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า “คุณโจมตีเรา แล้วยังต้องการให้เราจ่ายเงินอีก…”

เพราะมีพรมแดนติดเวียดนาม ระหว่างปี 1965-1973 สหรัฐทิ้งระเบิดกว่า 500,000 ตันใส่ภาคตะวันออกของกัมพูชาเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของเวียดกง ปี 1969 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน สั่งปูพรมระเบิดหนักขึ้น เพื่อซื้อเวลาให้ทหารสหรัฐถอนกำลังออกจากเวียดนามใต้ ขณะที่กลุ่มเขมรแดงกำลังสู้กับรัฐบาลกัมพูชา กระทั่งเมษายน 1975 สหรัฐออกจากกัมพูชาก่อนเขมรแดงยึดอำนาจ จากนั้นกัมพูชาก็เผชิญนรกในประวัติศาสตร์ ความอดอยาก การใช้แรงงาน สังหารหมู่ ประชาชน กว่า 2 ล้านเสียชีวิต

ในช่วงการทิ้งระเบิดอย่างหนัก ชาวกัมพูชาหลายหมื่นเสียชีวิต ทั้งเด็กและผู้หญิง ชาวนาและเกษตรกรหลบหนีทิ้งที่ทำกินออกจากพนมเปญ ทั้งประเทศจึงประสบภาวะขาดแคลนอาหาร สหรัฐให้การสนับสนุนรัฐบาล ลอนนอล ซึ่งกำลังต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ 274 ล้านดอลลาร์ ในโครงการ Food for Peace ซึ่งเป็นการพิจารณาร่วมของสองประเทศ เพื่อซื้อข้าว วีท น้ำมัน ฝ้าย เสื้อผ้า และเครื่องยังชีพอื่นๆ

ทศวรรษ 1990 กัมพูชาพ้นจากทศวรรษแห่งสงคราม สหรัฐเริ่มพูดถึงเงินที่พวกเขา ‘ให้กู้’ รวมดอกเบี้ยและเวลาที่ผ่อนผันมาจนถึงปัจจุบันคิดเป็นเงินประมาณ 500 ล้านดอลลาร์

ทางกัมพูชายังปฏิเสธการจ่าย เหตุผลคือ การเจรจากู้เงินครั้งนั้นไม่มีผลบังคับใช้และเป็นโมฆะ เพราะรัฐบาลของ ลอนนอล ทำผิดกฎหมายด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจจากเจ้านโรดมสีหนุเมื่อปี 1970 การเจรจาทางการเงินระหว่างประเทศครั้งนั้นไม่ควรมีผล และรัฐบาลใหม่ไม่สามารถรับมรดกหนี้สินที่รัฐบาลเก่าก่อไว้ได้

แต่ เจย์ เรแมน (Jay Raman) โฆษกสถานทูตสหรัฐประจำกัมพูชายืนยันว่า พวกเขาไม่มีกฎหมายที่สามารถยกหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีกำลังจ่าย เช่นเดียวกับทูตสหรัฐประจำกัมพูชา วิลเลียม ไฮด์ท (William Heidt) ที่เห็นว่า สหรัฐพยายามบรรลุข้อตกลงเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย – แต่แน่นอน การยกหนี้ไม่ได้อยู่ในออพชั่น

สหรัฐปฏิเสธคำขอของกัมพูชา แม้กัมพูชาจะเคยเป็นหนึ่งในชาติที่ยากจนที่สุดของโลก แต่ปัจจุบัน กัมพูชาขยับมาอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง

หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ฮุนเซ็นก็เริ่มเล่นเกมการเมือง แม้กัมพูชาจะรู้ว่าส่วนหนึ่งของระเบิดสหรัฐสมัยสงครามเวียดนามที่ไม่ทำงานอยู่ตรงไหนบ้าง แต่รัฐบาลก็ประกาศอพยพชาวบ้านเพื่อแสดงท่าทีเก็บกู้ระเบิดของสหรัฐ โดยสื่อฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลช่วยดันกระแสว่า การทวงหนี้เป็นความเจ้าเล่ห์ของสหรัฐ แต่บางคนกลับเห็นว่า ฮุนเซ็น พยายามกลบเกลื่อนเสียงต่อต้านจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามมากกว่า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์โซฟัล เอียร์ (Sophal Ear) นักวิชาการกัมพูชา-อเมริกัน จาก Occidental College ผู้ศึกษาเรื่องการเมืองการปกครองของกัมพูชา บอกว่า นี่เป็นการชิงเล่ห์เหลี่ยมระหว่างกัมพูชากับสหรัฐ และฮุนเซ็นกำลังเบี่ยงเบนสถานการณ์ปัจจุบันของกัมพูชาไปที่เหยื่อสงครามในอดีต ความยากจนและการไม่มีความสามารถในการจ่ายไม่ใช่ข้ออ้างที่มีเหตุผล สำหรับประเทศที่มีอัตราการคอร์รัปชันอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP และบรรดาผู้มีอำนาจใช้ชีวิตหรูหรา

นอกจากนนี้ยังมีอีกหลายเสียงให้ความเห็นน่าสนใจว่า ฮุนเซ็นพยายามตีตัวออกห่างจากสหรัฐ เพื่อสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน เพราะเงินจำนวนมหาศาลจากกลุ่มทุนจีนกำลังหลั่งไหลมาทำธุรกิจในกัมพูชา นอกจากนี้ ขณะที่อเมริกาตามทวงเงิน ปีที่แล้ว จีนกลับยกหนี้ 59 ล้านดอลลาร์ให้กัมพูชา แถมยังเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้อีกด้วย

“ฮุนเซ็น ไม่พอใจสหรัฐมาโดยตลอด จากการทิ้งระเบิด และการสนับสนุนเขมรแดงใน UN หลังความล้มเหลวในเวียดนามปี 1979” เซบาสเตียน สแตรนโจ (Sebastian Strangio) ผู้เขียน Hun Sen’s Cambodia กล่าว เช่นเดียวกับ ชางซอง (Chhang Song) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศในรัฐบาลลอนนอล ที่ยืนยันว่า สหรัฐควรยกหนี้ก้อนนี้ให้กัมพูชา เพราะสหรัฐทิ้งระเบิดใส่กัมพูชาจริง และ “เป็นพวกอเมริกันต่างหาก ที่ติดหนี้ชาวกัมพูชา”

แม้การยกหนี้ 500 ล้านดอลลาร์จะเทียบไม่ได้กับบาดแผลทางประวัติศาสตร์ของกัมพูชา แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับสหรัฐ ยังไม่เคยมีใครรับผิดชอบการทิ้งระเบิดใส่กัมพูชา ทั้งผู้ออกคำสั่งอย่าง ริชาร์ด นิกสัน และ เฮนรี คิสซิงเกอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคง (National Security Adviser: NSA) ผู้วางแผน ไม่เคยได้รับความผิดจากการสังหารชาวกัมพูชาจำนวนมากแม้แต่นิดเดียว


อ้างอิงข้อมูลจาก: japantimes.co.jp
straitstimes.com
apnews.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า