ประกาศข่าวดีแก่โรงเรียน: 5 วิธีง่ายๆ ทำอย่างไรให้เด็กกินผัก

credit: U.S. Department of Agriculture

นี่ไม่ใช่ความพยายามผลักดันข้อเสนอครั้งแรก ที่นักโภชนาการและนักพฤติกรรมศาสตร์ต่างพยายามค้นหาวิธีมากมายที่จะทำให้เด็กอยากกินแครอทมากกว่าลูกอม และเรื่องราวการต่อสู้เล็กๆ เพื่อให้เด็กกินผักผลไม้มีมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 จนถึงปัจจุบัน อัตรานักเรียนในสหรัฐมีน้ำหนักเกินมาตรฐานสูงขึ้นมากกว่าสามเท่า จากความเป็นจริงในข้อนี้เริ่มส่งผลให้เด็กๆ อเมริกันเป็นโรคอ้วนกันง่ายขึ้นและเสี่ยงที่จะเป็นโรคอื่นตามมา Wall Street Journal ได้หยิบยกข้อสรุปจากงานวิจัยหลายชิ้นที่เผยเทคนิคง่ายๆ ที่สามารถทำให้เด็กทานผักผลไม้เพิ่มขึ้น

และนี่ก็เป็นห้าข้อสรุปที่ค้นพบหลังจากนักวิจัยได้ทำการศึกษาว่ามันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทานผักของเด็กในหลายๆ โรงเรียน

1. เปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่

เมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา โรงเรียนแพทย์ในเมืองโฮเวิร์ดเคาน์ตี (Howard County) รัฐแมรีแลนด์ ได้นำ ‘ระบบสลัดบาร์’ มาทดลองกับเด็กชั้นประถม 3 โดยนำมาตั้งไว้บริเวณข้างหน้าโรงอาหาร โดยสลัดบาร์ดังกล่าวจะมีผลไม้ห้าชนิดและผักห้าชนิด แต่ละวันจะไม่ซ้ำกัน ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของสลัดบาร์ยังเป็นผักผลไม้ในท้องถิ่น และเด็กๆ ก็เคยเห็นหน้าตาของมันแล้ว แต่น่าประหลาดใจว่า เพียงแค่เปลี่ยนที่วางสลัดบาร์ จำนวนนักเรียนที่กินผักผลไม้กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การศึกษาล่าสุดจากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (Arizona State University) ค้นพบว่า ถ้าโรงเรียนนำสลัดบาร์ไปวางในจุดตำแหน่งที่เห็นได้ง่ายตรงบริเวณโรงอาหาร การบริโภคจะเพิ่มสูงถึงห้าเท่า สถานที่จึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่สามารถทำให้เด็กกินผักเพิ่มอย่างง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องลงแรงอะไรมาก

อีกกลยุทธ์ที่ได้ผลเช่นกันคือ แจกผักให้นักเรียนกินเล่นตอนพวกเขาหิวสุดๆ แทนที่จะแจกขนม เทรซี แมนน์ (Traci Mann) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยมินเนโซตา (University of Minnesota) ได้ทดลองให้เบบีแครอทหนึ่งถ้วยกับเด็กๆ ที่โรงเรียนประถมในเมืองริชฟิลด์ (Richfield) ก่อนถึงเวลารับประทานอาหารเที่ยง ผลปรากฏว่า นักเรียนกว่าครึ่งหนึ่งรับประทานกันอย่างไม่เกี่ยงงอน ส่งผลให้อัตรานักเรียนกินแครอทเพิ่มสูงขึ้น 10 ถึงเปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับนักเรียนที่กินแครอทเป็นประจำอยู่แล้ว

“การให้นักเรียนกินแครอทไม่ใช่เรื่องใหญ่ยากอะไร เราแค่จับไต๋ให้ได้ และให้พวกเขากินตอนหิวมากๆ หรือจัดให้มีการแข่งขันกินผัก แน่นอนว่าเด็กๆ ก็อยากเป็นผู้ชนะกันทั้งนั้น” แมนน์อธิบาย

2. วิชาการตลาด 101

การแอบซ่อนโภชนาการไว้ในอาหารเป็นเรื่องไม่ยาก สไลซ์ผลไม้สดให้บางๆ (ถ้าชิ้นใหญ่-นักเรียนส่วนใหญ่จะเขี่ยออก) หรือเปลี่ยนจากใช้ถาดอาหารเหล็กสีเงินเป็นถ้วยสีสันสดใสแทน ก็ทำให้นักเรียนเปลี่ยนนิสัยมาชอบกินผลไม้กันง่ายขึ้น

โรงเรียนประถมหลายแห่งใช้วิธีตั้งชื่อผักและผลไม้เท่ๆ ให้น่าสนใจ รายงานของนักวิจัยจาก Cornell Center for Behavioral Economics Smarter Lunchrooms movement เปิดเผยผลการเก็บข้อมูลว่า นักเรียนมักจะเลือกทานแอปเปิลที่ติดสติกเกอร์ตัวการ์ตูนเอลโม (Elmo) มากกว่าไม่ติดอะไรเลย นอกจากนี้ในงานวิจัยจากศูนย์คอร์แนลและอีกหลายๆ ที่ เสนอว่า ยังมีกลยุทธ์ทางตลาดอีกหลากหลายที่สามารถทำให้เด็กหันมาสนใจผักผลไม้ได้ เช่น การใช้จานใหม่หรือนำเทรนด์อาหารรูปแบบใหม่อย่าง food truck เข้ามาในโรงเรียน

ไฮดี เคสเลอร์ (Heidi Kessler) จาก Cornell Center บอกว่า “ถ้าคุณเสนอเมนูอาหารใหม่ๆ แล้วไม่ควรแค่วางไว้เฉยๆ แต่เราต้องลงมือทำให้น่าสนใจด้วย เพราะมนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์ที่มีความเคยชิน (creature of habit) คุ้นเคยแต่กับสิ่งเดิมๆ” เคสเลอร์แนะนำ

3. แกะรอยอาหารที่นักเรียนชอบรับประทาน

โครงการแกะรอยอาหารที่นักเรียนชอบกินเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ชิคาโก (University Medical Center in Chicago) และ Canyon Ranch Institute เมืองทูซอน รัฐแอริโซนา เกิดขึ้นในปี 2014 โดยศึกษาจากนักเรียนในโรงเรียนประถม ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่มีรายได้น้อย พนักงานในโรงอาหารจะสแกนบัตรนักเรียน และให้เด็กๆ เลือกเมนูผ่านหน้าจอทัชสกรีนเพื่อให้นักวิจัยได้เก็บข้อมูลและนำมาบันทึกผลการทดลองว่าเมนูไหนที่นักเรียนไม่ชอบกิน

ผลที่ได้คือ นักเรียนเลือกอาหารที่ไม่ได้คุณภาพเพียง 35 เปอร์เซ็นต์ เลือกกินผักและผลไม้ 73 เปอร์เซ็นต์ และนม 30 เปอร์เซ็นต์ โดยข้อค้นพบดังกล่าวเผยแพร่ทางวารสาร Journal of Nutrition Education and Behavior

สิ่งที่ทำให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมคือ การประสานงานกับผู้ปกครอง เมื่อครบหนึ่งสัปดาห์ นักวิจัยจะนำผลสรุปของนักเรียนแต่ละคนไปให้ผู้ปกครองดู ว่าวันหนึ่งบุตรหลานของพวกเขารับประทานอาหารไปกี่แคลอรี และมีปริมาณผักผลไม้เท่าไหร่ เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถชดเชยสารอาหารที่ขาดไปในมื้ออาหารที่บ้านแทน

“ปกติแล้วผู้ปกครองในชิคาโกไม่ค่อยสนใจว่าลูกของพวกเขารับประทานอะไรไปบ้างตอนอยู่ที่โรงเรียน” แบรด แอปเปลฮานส์ (Brad Appelhans) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันที่ Canyon Ranch Institute อธิบายเหตุผลว่าทำไมโครงการดังกล่าวจำเป็นต้องร่วมมือกับผู้ปกครอง

4. ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเชฟ

งานวิจัยจาก Harvard T.H. Chan School of Public Health ที่เผยแพร่ลงวารสารทางการแพทย์ JAMA Pediatrics เมื่อมีนาคม 2015 ได้ข้อสรุปว่า โครงการความร่วมมือระหว่างเชฟและโรงเรียนทั้งระยะสั้นและยาวสามารถทำให้นักเรียนเลือกกินผักและผลไม้พุ่งสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา ผลสำรวจจากสมาคมโภชนาการได้รายงานว่า โรงเรียนมากกว่า 18 เปอร์เซ็นต์ (เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ถึง 12 เปอร์เซ็นต์) เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเพื่อดัดแปลงและปรับปรุงเมนูอาหารในโรงเรียนให้ดูน่ารับประทานเพิ่มมากขึ้น

5. ย้ายผักมาไว้ในห้องเรียน

โรงเรียนโบลเดอร์วัลลีย์ (Boulder Valley School) ในรัฐโคโลราโด ได้ใช้กลยุทธ์พานักเรียนมาทัศนศึกษาสวนผักออร์แกนิคที่ปลูกเพื่อมานำมาทำอาหารในโรงเรียนของพวกเขา รวมถึงจัดกิจกรรมเก็บเกี่ยวเมนูอาหารเคียงที่เป็นผักของแต่ละเดือน รวมถึงให้สะสมการ์ดความรู้สนุกๆ เกี่ยวกับสวนผัก เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีระหว่างเด็กและผักผลไม้

ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลเด็กเมอร์ซี (Children’s Mercy Hospital) ในแคนซัสซิตี้ พยายามเน้นสุขภาพดีได้ด้วยอาหาร มีรายงานว่า ช่วงอายุ 5-7 ขวบเป็นช่วงที่เด็กพุ่งความสนใจมาที่ความรู้สึกของตัวเอง เช่น กลิ่นนี้คือกลิ่นอะไร? ผิวขรุขระหรือเรียบ? เป็นต้น และแม้แต่เด็กที่จุกจิกกับการกินที่สุดก็ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับรสชาติของผักและผลไม้ภายในหกเดือน

นอกจากนี้แล้วยังมีโครงการเพื่อสุขภาพที่ดีของนักเรียนในนิวยอร์ค ที่ชี้แนะนักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาล 30,000 คน ถึงวิธีในการอ่านและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ รวมถึงสาธิตการปรุงอาหารกับผักสดสะอาดโดยตรง ไม่ใช่แค่สอนให้ปรุงอาหารเป็นอย่างเดียว แต่สอนให้ทำเป็นนิสัย ยิ่งไปกว่านั้น โครงการนี้กำลังเริ่มขยายไปยังเคนตักกี และฟลอริดา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมองว่า การปลูกฝังให้เด็กมีความรู้และนำไปปฏิบัติจนติดเป็นนิสัยที่ดีนั้น มีประสิทธิภาพมากกว่าการให้เงินสนับสนุนอย่างที่รัฐบาลชอบทำเสียอีก


อ้างอิงข้อมูลจาก: wsj.com
 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า