Neuroscience Buddhist: การเดินทางสู่โลกประสาทวิทยาศาสตร์ขององค์ทะไลลามะ

vichakภาพประกอบ: Shhhh

 

เมื่อหลายปีก่อน องค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต พาพระทิเบตกลุ่มหนึ่งเข้าสำรวจโลกประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) เพื่อเรียนรู้ศาสตร์สมัยใหม่ ว่าด้วยการทำงานของสมองและระบบประสาทของมนุษย์ ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของโลก

“คนอเมริกันส่วนใหญ่ตระหนักดีว่า หากพวกเขาไปเล่นยิมหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอหลายครั้งต่อสัปดาห์ พวกเขาจะพบความเปลี่ยนแปลงในร่างกายอย่างเป็นระบบ…การฝึกสมาธิภาวนาก็เช่นกัน หากฝึกอย่างสม่ำเสมอ ก็จะส่งผลต่อจิตใจอย่างเป็นระบบ”  ดร.ริชาร์ด เดวิดสัน นักวิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน กล่าวถึงความสนใจที่เขามีต่อเทคนิคการภาวนาในพุทธศาสนา

แทนที่จะกล่าวอ้างคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่ออวดโอ่หรือข่มนักวิทยาศาสตร์ตะวันตก องค์ทะไลลามะกลับหยิบยื่นมิตรภาพ และพร้อมที่จะเอาตัวเองเป็นหนูทดลองให้แก่นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้น ไม่ใช่เพื่อต้องการพิสูจน์ความ ‘เหนือกว่า’ ของพุทธศาสนา แต่เพื่อเป็น ‘สะพาน’ ให้โลกทางศาสนาสามารถแลกเปลี่ยนเสวนากับโลกวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้อย่างเป็นกันเอง

การสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ทางจิต ช่วยให้เหล่าพุทธสาวกกับนักวิทยาศาสตร์เรียนรู้จากกัน และเป็นแรงบันดาลใจแก่กัน กระทั่งสามารถค้นพบ ‘ภาษาใหม่’ และหนทางทำความเข้าใจธรรมะที่สอดคล้องกับโลกวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้อย่างแท้จริง

“ท่านทะไลลามะมีความสนใจที่จะสำรวจการทำงานของสมองของพระที่ปฏิบัติภาวนาอย่างเข้มข้นมาเป็นเวลาหลายปี เพื่อจะพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำงานของสมองนั้นเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง หลังการฝึกภาวนาอย่างต่อเนื่อง” ดร.เดวิดสันกล่าว

ในหนังสือ จักรวาลในหนึ่งอะตอม (Universe in the Single Atom) องค์ทะไลลามะยืนยันถึงความสนใจและความเคารพที่ท่านมีต่อวิทยาศาสตร์ตะวันตก

ความเชื่อมั่นของข้าพเจ้าในการเดินทางเข้าสู่โลกวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ตั้งอยู่บนความเชื่อพื้นฐานของข้าพเจ้าที่ว่า หัวใจของวิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกับหัวใจของพุทธะ นั่นคือ การทำความเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งบนเส้นทางแห่งการทดลองและเสาะสำรวจอย่างมีวิจารณญาณ ชาวพุทธควรเปิดใจรับต่อหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่ามันจะขัดแย้งกับความเชื่อของชาวพุทธก็ตาม หากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าความเชื่อบางอย่างในพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ผิดจากความเป็นจริง เราก็ต้องยอมรับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์นั้น แล้วเลิกอ้างความเชื่อเหล่านั้นเสีย

ชาวพุทธต่างรู้จักคำสอนอนัตตาหรือความไม่มีตัวตนเป็นอย่างดี นั่นคือคำสอนที่ว่าไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แม้แต่จิตของเราก็เป็นกระแสที่แปรเปลี่ยนไม่หยุดนิ่ง ดร.อีวาน ธอมป์สัน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ยืนยันเช่นเดียวกัน

“จากมุมมองทางประสาทวิทยาศาสตร์ สมองและร่างกายต่างดำรงอยู่ในกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง ไม่มีสิ่งใดที่สอดคล้องกับแนวคิดของตัวตนอันถาวร มีงานวิจัยทางประสาทวิทยาชิ้นหนึ่งยืนยันว่า สำนึกของการมีตัวตนนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่ว่าปรากฏขึ้นในพื้นที่ทางกายภาพส่วนใดของสมอง สำนึกของการมีตัวตนไม่ได้เกิดขึ้นจำเพาะอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของสมอง ทว่าเป็นกระบวนการทางประสาทที่แปรผันไม่หยุดนิ่ง และสามารถแผ่ขยายออกไปได้ทั่วอย่างที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ตัวตน’ ที่ปรากฏอยู่ที่ใดที่หนึ่ง”

เป้าหมายของงานศึกษาวิจัยทั้งหมดนี้ไม่ได้อยู่ที่การพยายามพิสูจน์ความจริงเชิงอภิปรัชญา ทว่าการทำงานร่วมกันระหว่างพระทิเบตกับนักประสาทวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตกอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้นักวิทยาศาสตร์มุ่งความสนใจไปยังมิติของความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ความกรุณา (compassion) และความรักในเพื่อนมนุษย์ (altruism) ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติการตื่นรู้ที่แท้จริงของมนุษย์

ปี 2008 ทะไลลามะบริจาคเงินรายได้จากการขายหนังสือของท่านจำนวน 150,000 ดอลลาร์ ให้แก่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสหรัฐอเมริกา เพื่อก่อตั้งหน่วยงานวิจัยที่มีชื่อว่า CCARE (The Center for Compassion and Altruism Research and Education)

“เราหวังว่าจะสามารถออกแบบเทคนิควิธีการที่หลากหลายเพื่อนำไปใช้บ่มเพาะความรักความกรุณาในตัวเราเอง” นพ.เจมส์ โดตี ศัลยแพทย์ด้านประสาทวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้ง CCARE กล่าว “เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่เรากำลังศึกษาวิจัยอย่างลึกซึ้งถึงมิติของความรักความกรุณาในระบบประสาทของมนุษย์ และนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนามิติของความรักและความเข้าใจในเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งมวล ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของจิตใจที่ไปพ้นจากความเกลียดชังและอคติที่มนุษย์มีต่อกัน”

พุทธธรรมเดินทางจากอินเดียเข้าสู่ทิเบต ในช่วงที่พุทธศาสนามหายาน ‘แบบสถาบัน’ ในอินเดียกำลังเสื่อมถอย ด้วยความดิบเถื่อนของภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และภูมิศาสตร์ทางวัฒนธรรมของทิเบต ทำให้รูปแบบของพุทธศาสนาที่ถือกำเนิดขึ้นในดินแดนหลังคาโลกมีลักษณะต่างไปจากรูปแบบดั้งเดิม ความแตกต่างหาใช่การบิดเบือน ทว่าสะท้อนวิวัฒนาการของพุทธศาสนาแบบป่า สมณะเร่รอน คนชายขอบ คนนอกรีต คนบ้า ที่มีอิสรภาพในการแสวงหาหนทางเข้าถึงความจริงอย่างไม่มีขอบเขตเงื่อนไขทางวัฒนธรรมมาปิดกั้น

ด้วยเอกลักษณ์ความไม่เชื่องของผู้คนทิเบตนี่เอง ที่ทำให้พุทธศาสนาวัชรยานของทิเบตมีจุดเด่นอยู่ที่พลังการตื่นรู้ในทุกสถานการณ์ กับทุกประสบการณ์ กับทุกผู้คน ธรรมะไม่ใช่คำสอนที่เอาไว้ใช้ควบคุมชีวิต แต่ธรรมะ ‘คือ’ ชีวิต…อันไม่มีขอบเขตจำกัด

และขณะที่พุทธศาสนาเถรวาท ‘แบบสถาบัน’ กำลังเสื่อมถอยอยู่ในวัฏสงสารของสถานะและอำนาจชาวพุทธกลุ่มเล็กๆ อีกวัฒนธรรมหนึ่งกำลังพาพุทธศาสนาเดินทางออกจากโลกก่อนสมัยใหม่เข้าสู่โลกสมัยใหม่อย่างช้าๆ ด้วยความโกลาหลของโลกาภิวัตน์ ทุนนิยม ข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ต และโลกโซเชียลมีเดีย ทำให้พอคาดเดาได้ไม่ยากว่า รูปแบบของพุทธศาสนาที่กำลังถือกำเนิดขึ้นในโลกสมัยใหม่นี้ จะมีลักษณะต่างออกไปอย่างแทบจำเค้าเดิมไม่ได้

ขณะที่พุทธศาสนาในเอเชียกำลังอ่อนแอลง ด้วยการยึดมั่นถือมั่นในรูปแบบที่ปฏิบัติๆ กันมาอย่างคับแคบจนทำให้พุทธศาสนากลายเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำนาจนิยม ที่กดขี่และเหยียดผู้คนสมัยใหม่ที่คิดต่างเห็นต่างให้หลีกห่างออกจากศาสนาไปทีละน้อย…ณ อีกฟากหนึ่งของโลก พุทธศาสนาทิเบตกำลังเดินเข้าหาผู้คน บ่มเพาะมิตรภาพ และสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในพรมแดนที่ไม่เคยมีพุทธสาวกกลุ่มใดเคยเดินทางไปถึงมาก่อน

 

Author

วิจักขณ์ พานิช
เป็นคลื่นลูกใหม่ในหลายฐานะ ทั้งบทบาทด้านการตีความพุทธศาสนา จับสังเกตปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านแง่มุมทางจิตวิญญาณ วิพากษ์วิจารณ์ผ่านข้อเขียน ทำสำนักพิมพ์ 'ปลากระโดด' จนคลี่คลายบทบาทล่าสุดสู่ชีวิตแบบอนาล็อกบนพื้นที่ของ 'วัชรสิทธา' -- พื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า