ไปพ้นความเป็นพระ

คอลัมน์: ดูจิตจิต

เรื่อง: วิจักขณ์ พานิช

หากมองไปยังชีวิตพระด้วยสายตาอย่างกัลยาณมิตร ซึ่งความเป็นมิตรคือการพูดสิ่งที่ไม่อยากได้ยินและรู้จักตักเตือนในสิ่งที่เหมาะสม อาจกล่าวได้ว่าสถานะความเป็นพระทุกวันนี้ดูจะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นปัญหา ชีวิตพระเป็นชีวิตที่สุขสบายเกินไป ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ถาโถมปรนเปรอชีวิตทางธรรม จนบางครั้งส่งผลให้ทางธรรมสะดวกสบายยิ่งกว่าทางโลก

พระที่เติบโตมากับความเป็นพระตั้งแต่เด็กสามารถกลายเป็น ‘พระสปอยล์’ ได้ไม่ยาก ยิ่งหากคนรอบข้างพร้อมยกชูไปในทางปอปั้นและกราบกรานกันอย่างมืดบอดด้วยแล้ว พระก็ยากที่จะมีความเป็นพระ หรือหากเป็นพระก็เป็นพระที่ถูกจองจำไปตามบทบาทหน้าที่ ไม่มีอิสระที่จะเดินตาม passion ของความเป็นพระตามแบบที่ตนกำหนด

มิงเงอร์ รินโปเช เป็นตัวอย่างของพระที่เติบโตมาในสิ่งแวดล้อมแบบนั้น

Rinpoche-letter-featured

ท่านเป็นตุลกุรูปงาม ลามะไฮโปรไฟล์ในสายธรรมาจารย์กลับชาติมาเกิด ลูกชายคนสุดท้องของ ตุลกุ อูเจิน ธรรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ผู้คนให้ความเคารพอย่างสูง เมื่ออายุได้เพียง 36 ปี มิงเงอร์ รินโปเช ประสบความเสร็จในทุกสิ่งที่ ‘พระดี’ รูปหนึ่งพึงปรารถนา การศึกษาขั้นสูง การยอมรับและยกย่องจากชุมชนทิเบตในอินเดีย เนปาล และทิเบต เขาก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมมากมายทั้งในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา หนังสือ Joy of Living ของเขาติดอันดับหนังสือธรรมะ bestseller ในโลกตะวันตก ท่านเป็นพระหนุ่มรุ่นใหม่ที่น่าจับตา มีลูกศิษย์ลูกหาสาวกรวมถึง ‘แฟนคลับ’ ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก

ตั้งแต่เล็กจนโต รินโปเชถูกเลี้ยงดูมาอย่างดี ในโลกแห่งธรรมะท่านคือ ‘เจ้าชาย’ แห่งสายธรรมคากิว พระโพธิสัตว์แห่งความกรุณาผู้กลับมาดำเนินภารกิจในการปลดปล่อยเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์จากทะเลแห่งความทุกข์ อีกด้านหนึ่ง มิงเงอร์ รินโปเช ก็ใช้ชีวิตแสนสะดวกสบายในอารามใหญ่ รายรอบไปด้วยคนรับใช้จำนวนมาก ในฐานะธรรมาจารย์ ท่านเป็นที่รักของศิษย์และสาวก ชีวิตในแต่ละวันถูกรายรอบด้วยผู้คนจนแทบไม่มีเวลาส่วนตัว รินโปเชเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีกเมื่อผู้คนชาวตะวันตกตื่นเต้นกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการภาวนา ซึ่งเป็นโปรเจ็คท์ที่ท่านมีส่วนร่วมนอกเหนือไปจากการศึกษาในปรัชญาพุทธศาสนาขั้นสูง

มิงเงอร์ รินโปเช ยังใช้เวลารวมๆ แล้วกว่า 10 ปีในการเข้าฝึกภาวนาลำพัง สรุปแล้ว มิงเงอร์ รินโปเช คือพระเซเล็บชื่อดัง อีลีทชาวทิเบตผู้บรรลุความเป็นเลิศในทุกๆ ด้าน ตัวเลือกอันสมบูรณ์แบบสำหรับภารกิจการเผยแผ่พระศาสนาอันสำคัญยิ่ง กระนั้นยังมีสิ่งหนึ่งที่ มิงเงอร์ รินโปเช ไม่เคยมีโอกาสได้ทำในชีวิตนี้เลย นั่นคือ ‘ท่านไม่เคยเป็นอิสระ’

อาจกล่าวได้ว่าตลอด 30 กว่าปีในชีวิต รินโปเชเป็นพระที่ไม่เคยบวช และการบวชในที่นี้คือการบวชจากความเป็นพระอีกทีหนึ่ง เพราะตั้งแต่จำความได้ มิงเงอร์ รินโปเช ก็ต้องใช้ชีวิตอยู่กับบทบาทความเป็นพระและอาจารย์ที่ได้รับมาตั้งแต่เกิด รู้ตัวอีกทีหัวใจก็เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงปรารถนาที่จะค้นพบความหมายที่ลึกซึ้งของการบวชที่แท้ การบวชอันหมายถึง ‘การสละสู่ป่า’ การออกเผชิญหน้ากับความไม่รู้ การเดินทางอันปราศจากจุดหมาย และการผละออกจากพื้นยืนแห่งความปลอดภัยและความเคยชินเดิมๆ

ขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย ความโด่งดังของรินโปเชกำลังพุ่งสูงถึงขีดสุด…เช้าวันหนึ่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ​. 2011 มิงเงอร์ รินโปเช หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยบนโต๊ะทำงาน มีเพียงจดหมายฉบับหนึ่งถูกเขียนทิ้งไว้

 

ตั้งแต่อายุยังน้อย ฉันมีความปรารถนาอันลึกซึ้งที่จะใช้ชีวิตเพื่อการภาวนาอย่างเข้มข้น เดินท่องไปจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งโดยไม่มีที่พำนักถาวร บัดนี้ ฉันได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ บนคำชี้แนะของเหล่าธรรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตและจากแรงปรารถนาส่วนลึกที่สุดในหัวใจของฉัน

ด้วยศรัทธาและความเชื่อมั่นในสายธรรมกับแรงดลใจในการยังประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ฉันตัดสินใจที่จะออกร่อนเร่ไปอย่างไร้จุดหมายเพียงลำพังในเทือกเขาสูงห่างไกลผู้คน

แม้จะรู้ดีว่าไม่อาจเป็นได้อย่างครูบาอาจารย์ในอดีต ทว่าฉันขอเริ่มต้นการเดินทางครั้งนี้อันเป็นเหมือนภาพสะท้อนของครูบาอาจารย์เหล่านั้นเป็นการเลียนแบบอันซื่อตรงต่อตัวอย่างชีวิตอันยิ่งใหญ่ของท่านเหล่านั้น

ขอทุกคนโปรดอย่าได้ผิดหวังในการตัดสินใจครั้งนี้ของฉัน

 

มิงเงอร์ รินโปเช จากไปโดยไม่เอาทรัพย์สินใดๆ ติดตัวไปด้วย ไม่มีเงิน ไม่มีพาสปอร์ต ไม่มีโทรศัพท์มือถือสำหรับติดต่อ ไม่มีใครรู้ว่าท่านเดินทางไปที่ไหนและเป็นตายร้ายดีอย่างไร

การเดินทางเพียงลำพังอาจฟังดูแปลกและน่าตกใจสำหรับหลายคน ทำไมรินโปเชจึงตัดสินใจทำอะไรเช่นนั้น…ทว่าจริงๆ แล้วมันก็คือการเดินทางที่ชาวพุทธรู้จักกันดี เราเคยอ่าน เคยได้ยินกันมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เมื่อมันอยู่ในบริบทร่วมสมัย กับคนใกล้ชิด กับคนที่เรารู้จัก และกับคนที่เรารัก ความรู้สึกที่มีต่อการเดินทางแห่งจิตวิญญาณจึงสดใหม่ และ ‘จริง’ มาก

topTLC

ดอกเตอร์โดนัลด์ โลเปซ ศาสตราจารย์ด้านศาสนศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า “ตั้งแต่การล่มสลายของระบอบกษัตริย์ในทิเบต เมื่อ ค.ศ.​ 842  ลามะกลับชาติมาเกิดของทิเบตก็ทำหน้าที่ไม่ต่างจากชนชั้นนำ เหล่าตุลกุการศึกษาสูงเติบโตมาแทบไม่ต่างอะไรกับเจ้าชายที่ถูกเลี้ยงมาในวัง มิงเงอร์ รินโปเช ทิ้งความสูงศักดิ์ทั้งหลายไว้เบื้องหลัง เหมือนกับที่เจ้าชายสิทธัตถะทำไว้ การตัดสินใจอันท้าทายครั้งนี้คือการย้อนกลับไปสู่รากแห่งวิถีสมณะ”

กระนั้น งักปะ เชอเกียม ลามะโยคีชาวอังกฤษ ตั้งข้อสังเกตที่ต่างออกไปว่า ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใด เขาเชื่อว่า มิงเงอร์ รินโปเช จะได้รับการต้อนรับและดูแลเป็นอย่างดี “จะมีผู้คนที่เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนเขาในทุกที่ที่ไป ปัญหาใหญ่อาจอยู่ตรงที่ จะมีคนที่เข้ามาหามากเกินไป และเขาอาจต้องใช้เวลาพอสมควรในการหลบหนีจากพ่อยกแม่ยกเหล่านั้น”

วิถีของพระแบบไม่ประจำวัด ผู้ใช้ชีวิตเดินท่องไปจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ถือเป็นทางเลือกที่รู้จักกันดีในอินเดีย ส่วนในทิเบตก็มีแบบอย่างของโยคีผู้ยิ่งใหญ่อย่าง มิลาเรปะ ทว่าในสังคมลามะชั้นสูงของทิเบต วิถีชีวิตเยี่ยงนั้นถูกทำให้กลายเป็นแค่เรื่องเล่าในตำนานเท่านั้น การหายตัวไปของ มิงเงอร์ รินโปเช ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่แตกต่างกันไปทั้งตื่นเต้นและประหลาดใจ เนื่องด้วยทุกวันนี้ การเดินทางที่ลามะทิเบตใฝ่ฝันถึงมักเป็นการเดินทางข้ามวัฒนธรรมของพุทธศาสนาทิเบตสู่โลกตะวันตกเสียมากกว่า และนับวันมันก็ค่อยๆ กลายเป็นแฟชั่นอันเคยชินของการแสวงหาชื่อเสียง เสรีภาพ ความมั่งคั่ง หรือวิถีชีวิตเสรีนิยมแบบตะวันตก โดยมีธรรมาจารย์รุ่นก่อน อย่าง เชอเกียม ตรุงปะ หรือ โซกยัล รินโปเช เป็นไอดอล ทว่าพระหนุ่มอีกรุ่นอย่าง มิงเงอร์ รินโปเช กลับเลือกเส้นทางที่ต่างออกไป เขาเลือกที่จะละทิ้งชื่อเสียงเงินทอง และโอกาสมากมายที่มี สวนทางกับการเปิดเสรีสู่โลกสมัยใหม่ (ซึ่งเขามีประสบการณ์มาก่อนแล้ว) แล้วย้อนกลับไปค้นหาความดิบของ ‘จิตวิญญาณความเป็นพระ ตามแบบอย่างของธรรมาจารย์อีกกลุ่มที่ปฏิบัติตนในศีลของพระอย่างเคร่งครัด เช่น กาลู รินโปเช หรือองค์กรรมาปะ

“ในการเดินท่องไปนั้น เธอละทิ้งการยึดมั่น ไม่ใช่แค่ทรัพย์สินหรือความสะดวกสบาย แต่ยังรวมถึงสิ่งที่ลึกลงไปยิ่งกว่านั้น เช่น ภาพลักษณ์หรือสถานะ หรือเป้าหมายที่แน่ชัดว่าจะไปที่ไหน ในวิถีของผู้เดินท่องไป เธอไปยังที่ที่สถานการณ์พาเธอไป เธอรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า และนั่นคืออิสรภาพจากเงื่อนไขทางโลกทั้งปวง ขณะเดียวกันก็สะท้อนการปล่อยวางอย่างลึกซึ้งจากการยึดมั่นทางโลกด้วย” อนาเบลลา พิตกินส์ ศาสตราจารย์ด้านศาสนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้ศึกษาสายปฏิบัติของผู้สละสู่ป่าและโยคีผู้เดินท่องไป (renunciants/ wandering yogis) กล่าว

“จริงอยู่ที่ว่า หากไม่มีวัด ก็ไม่มีพุทธศาสนา และไม่มีความต่อเนื่อง…แต่การที่จะทำให้พุทธะมีชีวิต สายธรรมจำเป็นต้องได้รับแรงบันดาลใจจากความเป็นไปได้ที่กว้างใหญ่กว่านั้น” ในความเห็นของพิตกินส์ โยคีผู้เดินท่องไปคือต้นธารแห่งการตื่นรู้ที่สัมพันธ์อยู่กับชีวิตและสถานการณ์ที่เป็นมนุษย์ ด้วย passion และความกล้าหาญของโยคีเหล่านี้ การเดินทางของพุทธธรรมจึงแตกแขนงออกไปในแบบที่ไม่มีใครคาดคิด

ในขณะที่พระชาวทิเบตที่กำลังเผยแผ่พุทธธรรมในโลกตะวันตกมีแนวโน้มจะสลัดทิ้งความเป็นพระ เพื่อใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับผู้คน…มิงเงอร์ รินโปเช นำเสนออีกทางเลือกหนึ่งของการสลัดทิ้งความเป็นพระ เดินทางออกสู่ป่า เพื่อเป้าหมายเดียวกัน ทว่าในรูปแบบที่ต่างออกไป

*********************

หมายเหตุ: เรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนจากข้อมูลในเว็บไซต์สังฆะ Tergar / learning.tergar.org

บทความ ‘Mingyur Rinpoche, the millionaire monk who renounced it all’ โดย แมรี ฟินนิแกน จาก theguardian.com

Author

วิจักขณ์ พานิช
เป็นคลื่นลูกใหม่ในหลายฐานะ ทั้งบทบาทด้านการตีความพุทธศาสนา จับสังเกตปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านแง่มุมทางจิตวิญญาณ วิพากษ์วิจารณ์ผ่านข้อเขียน ทำสำนักพิมพ์ 'ปลากระโดด' จนคลี่คลายบทบาทล่าสุดสู่ชีวิตแบบอนาล็อกบนพื้นที่ของ 'วัชรสิทธา' -- พื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า