จัดอันดับสินค้าเฝ้าระวังทั่วไทย

bpa1

 

ท่ามกลางความหลากหลายของสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชนิดที่เราทุกคนต่างต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารหลัก อาหารเสริม ยาสมุนไพรรักษาโรค ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในบรรดาสินค้าที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดเหล่านี้ย่อมมีสินค้าที่ไม่ปลอดภัยปะปนอยู่ไม่มากก็น้อย

คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีสินค้าชนิดใดบ้างที่ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ สินค้าใดที่พึงหลีกเลี่ยง หรือสินค้าใดที่ไม่อาจไว้วางใจได้?

การสำรวจ รวบรวมปัญหา และจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัยที่วางจำหน่ายอยู่ในแต่ละพื้นที่ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้บริโภคได้รู้เท่าทัน เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจก่อนที่จะเลือกซื้อสินค้านั้นๆ

 

Deep fried prawns

+ เผย 10 อันดับสินค้าไม่ปลอดภัย

โครงการ ‘จัดลำดับความสำคัญสินค้าไม่ปลอดภัยในระดับภาค 4 ภาค’ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย (ภจท.) วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) และแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีการสรุปผลการจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัยทั้งในระดับจังหวัดและระดับภาคเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้กับผู้บริโภค และนำมาสู่มาตรการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

สำหรับรายงานผลการจัดลำดับสินค้าไม่ปลอดภัยในแต่ละภาค เบื้องต้นสามารถสรุปได้ 10 อันดับแรก ดังนี้

ภาคเหนือ ภาคกลาง
1. ขวดนมบีพีเอ 1. ยาที่ขายในสถานที่ไม่ได้รับอนุญาต
2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ‘ขาว-สวย-หมวย-อึ๋ม’ 2. เนื้อสัตว์ปนเปื้อนฮอร์โมน
3. น้ำมันทอดซ้ำ 3. สถานพยาบาลไม่ได้รับอนุญาต
4. ผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี 4. เครื่องสำอางผสมสารอันตราย บิ๊กอาย เหล็กจัดฟันแฟชั่นที่ไม่ได้รับอนุญาต สเตียรอยด์ผสมในผลิตภัณฑ์สุขภาพ
5. สมุนไพรใส่สเตียรอยด์ 5. เครื่องสำอางไม่ได้รับอนุญาต ปลาหมึกกรอบแช่ฟอร์มาลีน
6. โฟม 6. ผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี
7. อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง 7. ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักผสมสารอันตราย
8. อาหารปนเปื้อนเชื้อโรค 8. น้ำมันทอดซ้ำ
9. คุณภาพอาหารปรุงสุกและอาหารจานด่วน 9. ขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ (อกฟูรูฟิต) โฆษณาออนไลน์เกินจริง
10. การโฆษณาสินค้าและระบบซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต 10. ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักไม่มีหรือมีเลขที่ อย.ปลอม

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้*
1. ผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี 1. ผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี
2. เครื่องสำอางพบสารต้องห้าม 2. ครีมทาหน้าขาว
3. อาหารปนเปื้อนฟอร์มาลีน 3. น้ำมันทอดซ้ำ
4. สเตียรอยด์ในยาแผนโบราณ ยาชุด ยาอันตราย 4. ยาฆ่าแมลงในปลาเค็ม
5. ผลิตภัณฑ์สุขภาพโฆษณาเกินจริง 5. น้ำดื่มปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์
6. ยาอันตรายในร้านชำ 6. ลูกกลอนผสมสเตียรอยด์
7. น้ำมันทอดซ้ำ 7. ถั่วลิสงปนเปื้อนอัลฟาท็อกซิน
8. ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก/กาแฟ ปนเปื้อนยาอันตราย 8. อาหารเสริมปนเปื้อนไซบูทรามีน
9. น้ำดื่มบรรจุขวดไม่ได้มาตรฐาน 9. ฟอร์มาลีนในอาหารทะเล
10. ผลิตภัณฑ์อาหารไม่มีฉลาก และไม่ขออนุญาต อย. 10. กะปิใส่สีย้อมผ้า
(* เฉพาะจังหวัดกระบี่)

 

โครงการจัดลำดับความสำคัญสินค้าไม่ปลอดภัยฯ ไม่เพียงจะเป็นการกระตุ้นเตือนผู้บริโภคให้เกิดความตระหนักในการเลือกซื้อสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับ ‘ผู้ปฏิบัติงาน’ ทั้งในภาครัฐและภาคประชาสังคม ซึ่งมีหน้าที่จัดการดูแลปัญหาในด้านสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตของประชาชนในแต่ละจังหวัด

การมีฐานข้อมูลที่แม่นยำ เปรียบเสมือนแผนที่นำทางที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานในภาคส่วนต่างๆ สามารถเข้าถึงปัญหาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาใดก่อนหรือหลัง โดยเฉพาะในภาวะที่มีทรัพยากรจำกัด ทั้งด้านงบประมาณและกำลังคน

รูปแบบของการดำเนินการสำรวจและรวบรวมข้อมูลในโครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นตามมาตรฐานทางวิชาการ โดยมีหลักเกณฑ์การจัดลำดับสินค้าไม่ปลอดภัยที่ คคส. เป็นผู้พัฒนาขึ้น และนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละจังหวัดตามความแตกต่างหลากหลายของพื้นที่ ซึ่งก่อนที่จะเริ่มต้นดำเนินโครงการได้มีการจัดประชุมเภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์ร่วมกัน รวมถึงกำหนดกระบวนการและภารกิจของจังหวัดในการนำหลักเกณฑ์ไปใช้ ตลอดจนร่วมวางแผนการดำเนินให้สอดคล้องกันในระดับภาค กระทั่งสุดท้ายจึงปรากฏเป็นผลการจัดอันดับสินค้าไม่ปลอดภัยทั้งในระดับจังหวัดและระดับภาคที่สามารถนำไปเป็นแนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาต่อไปได้

 

carbofura

+ ถอดบทเรียนคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัด

โครงการจัดลำดับความสำคัญสินค้าไม่ปลอดภัยฯ บรรลุจุดประสงค์ด้วยดี โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภาค รวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดล้วนมีรูปแบบและขั้นตอนการดำเนินการที่น่าศึกษาติดตาม ดังกรณีตัวอย่าง อาทิ

  • เชียงใหม่

เริ่มจากการประชุมทำความเข้าใจในนิยาม ‘สินค้าไม่ปลอดภัย’ และพิจารณาครอบคลุมไปถึงบริการด้านสุขภาพและการโฆษณา โดยคำนึงถึงประเด็นปัญหาที่หน่วยงานรัฐหรือองค์กรผู้บริโภคให้ความสนใจ ปัญหาเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งสามารถประมวลข้อมูลสินค้าไม่ปลอดภัยได้ทั้งสิ้น 30 ประเด็นปัญหา

จากนั้นที่ประชุมจึงมีลงคะแนนสินค้าไม่ปลอดภัยในแต่ละรายการ โดยมีปัจจัยชี้วัด ได้แก่ อันตราย ความเสี่ยง ผลกระทบ จำนวนผู้ได้รับผลกระทบ และความถี่ นอกจากนี้ ยังกำหนดระดับความเสี่ยงของสินค้าไม่ปลอดภัยไว้ 4 ระดับ ได้แก่

ระดับ 1 ไม่รุนแรง อาจมีการโฆษณาเพียงบางช่องทางและไม่มีผู้หลงเชื่อ

ระดับ 2 รุนแรงน้อย เช่น การโฆษณาที่ขัดต่อวัฒนธรรม

ระดับ 3 รุนแรงมาก มีการเผยแพร่หลายช่องทาง หลอกลวง โอ้อวด ทำให้หลงเชื่อ

ระดับ 4 รุนแรงมากที่สุด เช่น มีการเผยแพร่หลายช่องทาง ทำให้หลงเชื่อ และมีการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมากทั่วจังหวัด

หลังจากลงคะแนนคัดเลือกสินค้าไม่ปลอดภัยได้ 10 อันดับแรกแล้ว ยังมีการจัดเรียงลำดับโอกาสในการแก้ปัญหา เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาให้แก่ผู้บริโภคในจังหวัดเชียงใหม่

 

  • นครสวรรค์

การค้นหาผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัย ตั้งหลักด้วยการแจกแบบสอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 200 ชุด จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาทำการจัดกลุ่ม ทั้งนี้ มีข้อสังเกตจากแบบสอบถามจำนวนมากที่มุ่งเสนอให้พิจารณาถึงกรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง เนื่องจากปัญหาดังกล่าวทำให้ประชาชนหลงเชื่อและสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

ที่ประชุมจึงได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้อย่างหลากหลาย ดังนี้

  1. ให้หน่วยงานสาธารณสุขจัดเวทีให้ความรู้แก่ผู้บริโภคผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ได้แก่ เฟซบุ้ค สื่อวิทยุ โทรทัศน์ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค
  2. จัดหน่วยบริการที่สามารถให้คำตอบแก่ผู้บริโภค กรณีที่มีความสงสัยในตัวผลิตภัณฑ์ต่างๆ
  3. มีการสื่อสารที่เข้าถึงผู้บริโภคในระดับหมู่บ้านและชุมชน ผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทย เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
  4. เน้นการรับเรื่องร้องเรียนกรณีการโฆษณาเกินจริง โดยใช้เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัด
  5. สร้างจิตสำนึกที่ดีแก่สื่อต่างๆ ในการเผยแพร่โฆษณา และให้ข้อเท็จจริงแก่ผู้บริโภค

 

  • มุกดาหาร

กรณีสินค้าไม่ปลอดภัยที่จังหวัดมุกดาหารพบว่า สินค้าที่มีความเสี่ยงสูงสุดส่วนใหญ่คือ สินค้าด้านการเกษตร โดยเฉพาะการตกค้างของสารเคมีและยาฆ่าแมลงในพืชผักผลไม้ เช่น พริกสด กะหล่ำปลี ต้นหอม ผักชี กระเทียม หอมแดง และพริกหยวก เป็นต้น รวมทั้งพบการใช้สารเคมีฆ่าหอยเชอร์รี่ในนาข้าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง และยังเป็นแหล่งต้นน้ำในการทำเกษตรกรรม

นอกจากนี้ ยังพบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย เช่น ยาแผนโบราณที่มีการโฆษณาผ่านทางวิทยุชุมชน โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง

ผลจากการประมวลข้อมูลดังกล่าวนำมาสู่ข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้

  1. ให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ การให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ ซึ่งแนวทางดังกล่าวต้องเข้าถึงตัวแกนนำชุมชน เพื่อให้เป็นปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างในชุมชน
  2. ออกตรวจร้านขายยา ร้านขายของชำ และตลาดนัดต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจจับยาปลอม หรือเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย
  3. ใช้มาตรการควบคุมและลงโทษสื่อวิทยุชุมชนที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย

 

  • กระบี่

รูปแบบการดำเนินการมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือในเครือข่าย โดยประสานไปยังหน่วยงานภาคต่างๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล รพ.สต. ชมรมร้านอาหารจังหวักกระบี่ สภาผู้บริโภคจังหวัด และสมาคมสตรีมุสลิม เพื่อระดมสมองและกำหนดกติกาในฏารคัดเลือกสินค้าไม่ปลอดภัยร่วมกัน

ผลการจากการประชุมทำให้ได้แนวทางจัดการปัญหาในปี 2558 ได้แก่

  1. การอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย
  2. อบรมให้ความรู้แก่ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
  3. ตรวจประเมินและให้คำแนะนำ ณ สถานที่ผลิต สถานที่จำหน่าย
  4. เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพของสินค้า
  5. ดำเนินคดี กรณีผลการวิเคราะห์ตกมาตรฐาน

 

จากบทเรียนการทำงานของเครือข่ายความร่วมมือในโครงการนี้ สะท้อนถึงความตื่นตัวของหลายหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค และแสดงให้เห็นถึงการสร้างกลไกการทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดประโยชน์ทั้งหลายย่อมตกอยู่ที่ประชาชนที่จะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและห่างไกลจากสินค้าหลอกลวง

เหนือสิ่งอื่นใด หากมีการส่งต่อข้อมูล ถ่ายทอดความรู้ เชื่อมโยงจากระดับจังหวัดไปสู่ภูมิภาค และสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคในวงกว้าง ย่อมมีโอกาสที่จะนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

 

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า