Watermark: ปล่อยให้ไหลไป

watermark-1
เรื่อง: ปริชาติ หาญตนศิริสกุล
ภาพ: watchwatermarkmovie.com /
thecreatorsproject.vice.com

 

เล่ากันมาว่า คนไทยและสายน้ำเป็นของคู่กัน…ในสมัยก่อนคนไทยมักสร้างบ้านริมน้ำ สัญจรทางน้ำ และมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันมากมาย

อันที่จริงไม่ต้องให้ใครมาเล่าก็ได้ เพราะทุกสิ่งอย่างทั้งคน สัตว์ ท้องฟ้า พระอาทิตย์ และพระจันทร์ ต่างก็เกี่ยวข้องกับน้ำด้วยกันทั้งนั้น

 

watermark-3

 

Watermark เปิดฉากด้วยทิวทัศน์ตระการตาในมุมสูงที่บอกเล่าสถานภาพน้ำในประเทศต่างๆ แล้วพาเราตามน้ำตามเรื่องตามราวในแต่ละที่ ทั้งสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก จีน อินเดีย และพาไปดูน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ แต่ละสถานที่มีปรากฏการณ์ทางน้ำแตกต่างกัน หลายประเทศมีน้ำใสไหลเย็นให้ใช้อย่างอุดม แต่บางประเทศกลับเหลือเพียงรอยแตกระแหงเป็นอนุสรณ์สถานที่สายน้ำเคยจรมา

ในบางประเทศแม่น้ำเป็นตัวแทนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่คนเคารพบูชา บางประเทศใช้แหล่งน้ำเป็นต้นทางของอุตสาหกรรมให้ธุรกิจของตนหมุนเวียนไป สำหรับคนบางกลุ่มน้ำเป็นที่ทำมาหาเลี้ยงปากท้องจากรุ่นสู่รุ่น และสำหรับบางคนน้ำก็เป็น ‘เอนเตอร์เทนเนอร์’ ที่น่าตื่นตา

แต่ทุกครั้งที่หนังฉายความรื่นเริงของคนกับแหล่งน้ำในเหตุการณ์หนึ่ง มันจะตัดฉับเข้าสู่เฟรมภาพที่ดูเศร้าสร้อยของอีกที่หนึ่ง

สำหรับฉัน…ความเศร้าที่สุดคือ วันหนึ่งแหล่งน้ำที่เราคุ้นเคยกลับกลายเป็นเพียง ‘ภาพจำ’ อย่างที่ชาวประมงคนหนึ่งบอกแก่ตนเองขณะเป็นสุขว่า ไม่มีอะไรเป็นตลอดกาล ซึ่งพ้องกับนักวิชาการอีกคนที่อธิบายเหตุผลของการทำวิจัยน้ำแข็งที่ขั้วโลกว่าสายน้ำทุกสายมีที่มาและที่ที่จะไป

แม้มนุษย์เป็นสัตว์ฉลาดที่หาวิธีใช้ทรัพยากรทางน้ำได้หลากหลาย แต่ทุกทวีปย่อมประสบปัญหาอุทกภัยที่มนุษย์ไม่อาจจยับยั้งได้ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น ทางฟากโลกตะวันตกก็ประสบปัญหา ยกตัวอย่าง แม่น้ำโคโลราโด (Colorado River) ที่มีทิศทางการไหลจากทวีปอเมริกาเหนือสู่ทวีปอเมริกาใต้ ลงสู่ทะเลสาบมี้ด (Lake Mead) ในลาสเวกัส และไหลออกทะเลในอ่าวแคลิฟอร์เนีย ผ่านมายังประเทศเม็กซิโก

โคโลราโดเป็นแหล่งกำเนิดของแกรนด์แคนยอน และเป็นแม่น้ำที่นักท่องเที่ยวหลายคนนิยมแวะเวียนมาล่องแก่งและชื่นชมทัศนียภาพความงาม ทว่าเนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง แม่น้ำโคโลราโดมีปริมาณน้อยลงจนไม่สามารถไหลไปสู่แหล่งน้ำในเม็กซิโกได้ และเหตุที่แม่น้ำโคโลราโดไหลผ่านหลายรัฐ จึงนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดประชุมและหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน

 

watermark-2

 

ขณะที่บางรัฐในสหรัฐแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำด้วยการออกมาตรการกดดันประชาชนให้อุปโภคน้ำน้อยลง เช่น ในเมืองลาสเวกัสและคลาร์คเคาน์ตี (Clark County) ก็นำการคิดค่าน้ำแบบขั้นบันไดมาใช้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างธุรกิจคาสิโนวางระบบการใช้น้ำอย่างประหยัดขึ้น

ดูเหมือนว่าขณะนี้สหรัฐและอีกหลายประเทศทั่วโลกต่างยกปัญหาการจัดการน้ำขึ้นเป็นปัญหาเร่งด่วน เพราะมนุษย์ขาดน้ำไม่ได้ อย่างไรก็ตามเรายังยืนยันคำเดิมว่า สิ่งที่เรารู้ ไม่ได้รู้เพื่อสร้างความหวาดกลัวแต่รู้เพื่อสร้างความตระหนัก และรู้เพื่อหาทางจัดการปัญหาอย่างถูกต้อง

เหมือนที่นักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งกล่าวว่า เมื่อคุณรู้ที่มาและที่จะไปของสายน้ำ คุณจะไม่กลัว

 


 

Watermark เป็นหนังสารคดีสัญชาติแคนาดา จัดฉายในงาน ‘Climate Change and Managing Our Relationship with Water’ โดยสถานทูตแคนาดา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
ปัญหาน้ำ…ปัญหากระบวนทัศน์ โดย พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ 

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า